ในสายตาของคนที่รักของเซลล์เป็นชีวิตจิตใจ ไม่ว่าจะไปไหน ซื้ออะไร เรามักตาเป็นประกายเสมอเมื่อเห็นส่วนลด
แม้แต่อาหารที่กดสั่งเดลิเวอรีทุกวัน เชื่อว่าหลายคน (ที่เป็นคนแบบเรา) ไม่พลาดที่จะเช็กโค้ดโปรโมชัน บางครั้งถึงกับตั้งเวลาปลุกให้เข้าไปออเดอร์ช่วง Flash Sale ให้ทัน ฟังดูเหมือนจริงจังไปนิด แต่เราก็ทำถึงขนาดนั้นเลย
แต่จะดีกว่าไหมถ้าเราได้อาหารที่ลดราคาแบบสุดๆ แถมยังเป็นมิตรต่อโลกด้วย
เรารู้จักแอปพลิเคชัน Oho! ครั้งแรกราวกลางปีที่ผ่านมา ในฐานะแอปฯ สั่งอาหารที่ละลานตาไปด้วยการลดราคาอย่างน้อย 25 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เลขเปอร์เซ็นต์สุดว้าวนั้นจูงใจให้คนรักของเซลล์อย่างเราโหลดมาใช้ ก่อนจะพบว่าแอปฯ นี้มีความพิเศษมากกว่าราคาที่ลดแล้วลดอีกไปมากโข
แท้จริงแล้ว Oho! คือแอปฯ ขายอาหารเมนูป้ายเหลืองเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่แค่อาหารใกล้หมดอายุอย่างที่หลายคนเข้าใจกัน แต่บางเมนูมีความสดใหม่และคุณภาพอยู่ในระยะเวลาจำกัด ถ้าปล่อยไว้นาน คุณภาพนั้นจะดร็อปลงจนร้านค้าต้องจำใจทิ้งไป
Oho! เกิดขึ้นเพราะอยากช่วยแบ่งเบาภาระนั้นจากร้านอาหาร ทุกเมนูบนแอปฯ จึงลดราคาได้แบบจัดหนักจัดเต็มอย่างที่เห็น
ฟังดูเป็นโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจ แต่ลึกลงไปมากกว่านั้น ‘วริทธิ์ธร มังกรทองสกุล’, ‘สมิทธ์ ชัยชาญชีพ’ และ ‘Richard Armstrong’ ผู้ก่อตั้งทั้ง 3 คนตั้งใจอยากให้ Oho! เป็นแอปฯ ของคนรุ่นใหม่ที่อยากแบ่งเบาภาระโลกจากปัญหา Food Surplus หรืออาหารส่วนเกิน ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน
“เราตั้งชื่อแอปฯ ว่าโอ้โหเพราะอยากให้ลูกค้าเปิดแอปฯ มาแล้วว้าว ว้าวกับราคา ว้าวกับการลดโลกร้อน อาจดูไม่รีเลตกับ F&B (Food and Beverage) แต่มันคือประสบการณ์ที่เขาได้จากการเปิดแอปฯ” วริทธิ์ธรผู้เป็นหัวเรือใหญ่บอก ก่อนที่เขาและทีมจะช่วยกันเล่าย้อนความไปถึงจุดเริ่มต้น ความฝัน และการเดินทางที่ทำให้ Oho! เป็น Oho! ในวันนี้
โอ้โหอาหาร
วริทธิ์ธรไม่ใช่คนแปลกหน้าของวงการ F&B แต่อย่างใด ก่อนหน้านี้เขาเคยบริหารร้านอาหารญี่ปุ่นที่ขายทางออนไลน์โดยเฉพาะ และสิ่งที่สะกิดใจเขามาตลอดคือปัญหาเรื่องอาหารส่วนเกินที่ต้องเจอทุกวัน
“เราทำร้านโอมากาเสะเดลิเวอรี ต้องใช้วัตถุดิบพรีเมียมที่เก็บได้ราวเจ็ดวัน หลังจากนั้นจะกลายเป็นอาหารส่วนเกิน ราคาตกอยู่ที่สามพันห้าร้อยบาท แพงกว่าวัตถุดิบทั่วไปถึงสิบเท่า เราต้องคอยซัปพอร์ตค่าใช้จ่ายตรงนี้
“เราเห็นว่ามันเป็นปัญหาใหญ่ แต่ก็ไม่รู้ว่าต้องแก้ยังไง” ชายหนุ่มย้อนความ โชคดีที่ตอนนั้น สมิทธ์ผู้เป็นเพื่อนสนิทที่เคยไปเรียนมหาวิทยาลัยด้วยกันเล่าให้เขาฟังเกี่ยวกับแอปฯ ยอดนิยมอย่าง Too Good To Go ที่สร้างขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา Food Surplus และนั่นจุดประกายให้เขาอยากทำแอปฯ ของตัวเองขึ้นมาบ้าง
“การแก้ปัญหา Food Waste หรือ Food Surplus น่าสนใจสำหรับเรา เพราะมันเป็นการสร้าง Win-win Situation ให้กับทุกฝ่าย ทั้งผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจใหญ่หรือเล็กแค่ไหน พวกเขาย่อมต้องเจอปัญหาอาหารส่วนเกินเสมอ”
ถึงแม้จะได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจาก Too Good To Go แต่วริทธิ์ธรก็ยืนยันว่า พวกเขาอยากให้ระบบการทำงานของ Oho! ไม่เหมือนกับแอปฯ สุดฮิตแอปฯ นั้นเสียทีเดียว
“เราคิดว่าโมเดลแบบนั้นยังไม่ตอบโจทย์คนไทยในหลายแง่ ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าถามว่าให้คุณสั่งอาหารล่วงหน้าแปดถึงเก้าชั่วโมงเพื่อรอทานอาหาร คุณจะรอไหม ก็คงไม่รอ เพราะทุกวันนี้เวลาจะกินอะไร เรายังอยากให้มันมาถึงภายในครึ่งชั่วโมงด้วยซ้ำ”
เพื่อให้ Oho! แมตช์กับพฤติกรรมการกินของคนไทยมากที่สุด พวกเขาต้องสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายเพื่อทำความเข้าใจก่อนลงมือทำ ซึ่งกลุ่มเป้าหมายในที่นี้ไม่ได้หมายถึงลูกค้าเพียงเท่านั้น แต่ยังหมายถึงร้านอาหารที่จะชวนเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มด้วย
“ในฝั่งของร้านค้า เราได้ทำความเข้าใจธรรมชาติของอาหารที่มีเวลาจำกัด เช่น ฟาสต์ฟู้ดต้องส่งถึงลูกค้าให้ได้ไม่เกินสี่สิบห้านาที ไม่งั้นคุณภาพอาหารจะไม่เหมือนเดิมแล้ว” พอได้รู้อย่างนี้ พวกเขาจึงอยากออกแบบระบบให้มีบริการเดลิเวอรีเหมือนแอปฯ สั่งอาหารทั่วไป “หรืออย่างฝั่งของลูกค้า พวกเขาก็ไม่สามารถรอได้นาน เพราะฉะนั้น On-demand Service ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก”
Oho! ตั้งใจว่าอยากมีเมนูอาหารในแอปฯ ที่ครอบคลุมร้านอาหารหลายประเภทมากที่สุด ไล่ตั้งแต่สตรีทฟู้ด เบเกอรี ไปจนถึงร้านอาหารเชนดังบนห้างฯ เพราะพวกเขาเชื่อว่า ไม่ว่าร้านไหนๆ ก็มีอาหารส่วนเกินเหมือนกันทั้งนั้น
โอ้โหราคา
จากสถิติของ UN บอกว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ถูกผลิตขึ้นในโลกจะกลายเป็นขยะอาหาร ที่น่าตกใจกว่านั้นคือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยถือเป็นประเทศที่มี Food Waste ต่อประชากรสูงที่สุด เนื่องจากเป็นฐานการผลิตอาหารที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งหากคิดเป็นมูลค่าแล้ว ราคาที่เราต้องจ่ายกับขยะอาหารเหล่านั้นอาจสูงถึง 6 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
วริทธิ์ธรบอกว่านี่คือปัญหาใหญ่ที่เราต้องช่วยกันแก้ทีละจุด ซึ่งจุดแรกที่ทีม Oho! อยากแก้คือการลดปริมาณอาหารที่ถูกผลิตและต้องขายให้หมดภายในเวลาจำกัด
“นึกภาพง่ายๆ อย่างซูเปอร์มาร์เก็ต ทุกวันพวกเขาจะมีเวลาในการขายไม่กี่ชั่วโมง สินค้าที่เหลือจากนั้นก็กลายเป็น Waste หรือสินค้าป้ายเหลืองที่ผู้บริโภคอยากซื้อ แต่สิ่งที่เราไม่สามารถทำได้คือการขับรถไปซื้อสินค้าป้ายเหลืองเหล่านั้น เพราะทุกร้านก็มีเวลาปิดไม่เท่ากัน
“สิ่งที่เราทำคือนำขั้นตอนเหล่านี้มาอยู่บนออนไลน์ อย่างวันนี้ผู้บริโภคสามารถนั่งอยู่ที่บ้าน เปิดแอปฯ แล้วสั่งอาหารแบบชิลๆ ได้เลย”
และเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเป็นแอปฯ อาหารทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Oho! ยังมีระบบ Carbon Tracker ที่คอยนับว่าแต่ละออเดอร์ช่วยลดคาร์บอนให้กับโลกไปเท่าไหร่ มากกว่านั้น แอปฯ ยังมีฟีเจอร์เฉพาะตัวชื่อ Surprise Box หรือกล่องเซอร์ไพรส์ที่ลูกค้าจะไม่รู้ว่าเมนูที่ได้รับคืออะไร เพราะร้านค้าเป็นผู้รับหน้าที่เลือกอาหารมาให้อย่างละนิดอย่างละหน่อยใส่กล่องส่งถึงบ้าน ซึ่งหากมองลึกลงไปแล้ว มากกว่าความตื่นตาตื่นใจและอาหารคุณภาพดี นี่คือวิธีที่ร้านค้าสามารถบริหารจัดการกับอาหารส่วนเกินที่มีได้อย่างชาญฉลาด
โอ้โหร้านค้า
“การเป็น Food App เกิดใหม่ที่ต้องแข่งขันกับแอปฯ สั่งอาหารมากมายในยุคนี้ คุณทำให้ผู้ประกอบการร้านอาหารเปิดใจให้คุณได้ยังไง” เราตั้งคำถาม
“การที่คุณจะเป็น Marketplace ได้ สิ่งแรกที่ต้องมีคือผู้ขาย เพราะถ้าคุณสร้างโปรดักต์มาแล้วแต่ไม่มีคนขาย ใครจะใช้ของคุณล่ะ” วริทธิ์ธรเกริ่นก่อนตอบยิ้มๆ
“ในขั้นตอนการดีลกับร้านค้า เราต้องไม่ได้เป็นแค่วิตามิน แต่ต้องเป็นยาแก้ปวดให้เขาเลย ไม่งั้นเขาไม่เอาเรา ถามร้านค้าว่าทำไมเขาถึงจอยน์กับเรา ทั้งที่เขาจอยน์แอปฯ อื่นๆ อยู่แล้วตั้งสี่ห้าแอปฯ เพราะเราเป็น Solution ให้เขาด้าน Food Waste ยิ่งร้านไหนมีอาหารส่วนเกินเยอะเรายิ่งเป็นยาแรงให้กับเขา”
วริทธิ์ธรเล่าว่าสิ่งที่จูงใจให้เจ้าของร้านค้ามาจอยน์กับ Oho! คือการทำให้พวกเขา ‘สบาย’ ที่สุด ผ่านการอำนวยความสะดวกของทีมงานและฟังก์ชันต่างๆ ในแอปฯ ยังไม่นับรวมการอธิบายให้พ่อค้าแม่ขายมั่นใจว่าการมาเป็นพาร์ตเนอร์กับ Oho! จะช่วยให้พวกเขาลดปริมาณขยะอาหารได้จริง ผ่านระบบคัดกรองสินค้าที่มีเงื่อนไขว่า ทุกเมนูต้องเป็นเมนูส่วนเกินที่ร้านค้าอยากระบายออก
ความสนุกคือ ร้านค้าแต่ละร้านสามารถกำหนดได้ว่าแต่ละวันจะขายจำนวนเท่าไหร่ แถมยังออกแบบออเดอร์ได้ตามใจ เช่น ขายเมนูนั้นแบบลดราคาจัดเต็มหรือผูกเป็นเซตกับเมนูอื่นเพื่อจูงใจลูกค้าได้ง่ายขึ้น
“กว่าจะได้ร้านค้าแรกมาอยู่ในแอปฯ เราใช้เวลาเป็นสัปดาห์นะ จากร้านที่หนึ่งมาสิบเป็นเรื่องยาก แต่พอจากสิบไปร้อยมันก็ง่ายขึ้น เพราะเราเรียนรู้และเข้าใจว่าพวกเขาต้องการอะไรกัน แล้วเราก็พัฒนาตามโจทย์นั้น”
วริทธิ์ธรยังบอกอีกว่า ความท้าทายหลักที่มองข้ามไม่ได้เลยคือ การพัฒนาซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพื่อให้แอปฯ ของพวกเขาเป็นที่รู้จักและตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อยๆ มากกว่านั้นคือการทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญและเข้าใจในเป้าหมายหลักของ Oho! นั่นคือการลดขยะอาหารให้ได้มากที่สุด
โอ้โหท้าทาย
ความท้าทายยังไม่จบลงเพียงเท่านั้น เพราะหากถอยออกมามองในภาพใหญ่ การเป็นสตาร์ทอัปที่สร้างโดยคนตัวเล็กไม่กี่คน ก่อตั้งขึ้นในสังคมที่อาจยังไม่ได้อินเรื่อง Food Waste หรือ Food Surplus เท่ากับประเทศอื่นๆ บนโลก แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
“มันท้าทายมากนะ อย่างแรกเลยถ้าพูดถึงคำว่า Food App ทุกคนจะคิดถึง Food Delivery แล้วถามว่าแอปฯ Food Surplus ของเราแตกต่างจากแอปฯ ที่มีไหม ในเชิงความเป็นจริงมันทั้งต่างและเหมือนไปพร้อมกัน ซึ่งเรามีแผนจะพัฒนาให้ไปถึงจุดที่เราต่างจากแอปฯ อื่นๆ มากกว่านี้เยอะ แต่แค่ต้องใช้เวลา
“อย่างที่สอง เปรียบเทียบกับประเทศทางยุโรป เขามีมาตรการภาษีกับซูเปอร์มาร์เก็ต ถ้าคุณทิ้งอาหาร คุณโดนเก็บภาษี มันเลยทำให้ผู้ประกอบการใส่ใจ เขาต้องทำยังไงก็ได้ไม่ให้เกิด Food Waste ขึ้น ซึ่งถ้าเราไปอยู่ในประเทศอื่น อาจมีโอกาสที่ร้านค้าหลายๆ ร้านจะให้ความร่วมมือกับเรามากกว่านี้”
แต่ถึงจะจูงใจให้ร้านค้าหลายร้อยร้านมาเป็นพาร์ตเนอร์ได้ วริทธิ์ธรกับทีมก็ต้องเจอกับคำปฏิเสธเป็นปกติ เพราะมีปัจจัยอีกมากมายที่ทำให้ร้านค้าหลายร้านไม่มาร่วมกับ Oho!
เหตุผลอันดับหนึ่งคือเรื่องของการจัดการอาหารส่วนเกินที่ร้านต้องมีการแทร็กปริมาณอาหารอย่างเป็นระบบ ตามมาด้วยเรื่องการอัปโหลดข้อมูลอาหารส่วนเกินในแต่ละวัน หากร้านนั้นมีหลายสาขาและอาหารส่วนเกินที่มีไม่เหมือนกัน ก็อาจต้องใช้เวลาในการจัดการ ยังไงก็ตาม ปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยระบบ ‘กล่องสุ่ม’ ที่ร้านค้าสามารถจัดแจงอาหารส่วนเกินมาใส่กล่องได้ตามสถานการณ์จริง
“ความท้าทายอีกข้อคือการให้ความรู้กับผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคบางคนยังไม่เข้าใจว่าบริการของเราจะช่วยโลกได้ยังไง สิ่งที่เราบอกเขาคือไม่เป็นไร ไม่เข้าใจไม่เป็นไร แต่สิ่งที่คุณจะได้แน่ๆ คือราคาของอาหารที่ถูกลง แล้วเราค่อยๆ Educate กันต่อไป
“เรามองว่าการทำธุรกิจ Sustainability ในไทย ต้อง ‘ให้’ ลูกค้าก่อน โดยที่เขาไม่จำเป็นต้องรู้หรอกว่ากำลังทำอะไรอยู่ ให้เขาใช้และได้ Educate ตัวเองไปพร้อมๆ กัน มันเป็น Additional Value ที่เขาได้รับนอกจากการประหยัดเงิน แล้วถ้าเขาเข้าใจมากขึ้น ชอบมากขึ้น ก็จะเกิด Loyalty ในการทำสิ่งที่ดี เขาก็อยากสนับสนุนเราต่อ
“การทำ Sustainability บางครั้งมันวัดผลไม่ได้หรอก แต่สิ่งที่ทำให้อยากทำต่อคือความรู้สึกดีที่ได้ทำ และความรู้สึกดีๆ นั้นก็เป็นความรู้สึกที่ประเมินมูลค่าไม่ได้เช่นกัน”
ดาวน์โหลดแอปฯ Oho! ได้ที่ bit.ly/3WshSEG