
Neighboroot
ใกล้ชิดย่านเหมือนเพื่อนบ้านที่คุ้นเคย ลงลึกถึงรากของเรื่องราวจากตัวจริง ที่จะทำให้ย่านกลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยเน้นเรื่องราวการพูดคุยกับคนในย่าน
‘Sound of Sisaket’ สร้างสรรค์เมือง ‘ศรีสะเกษ’ ให้คึกคักผ่านย่านที่มีแต่เสียงดนตรี
‘ศรีสะเกษ’ เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ไม่เคยอยู่ในแผนท่องเที่ยวของเรา และเชื่อว่าใครอีกหลายคนคงคิดเห็นเช่นกัน เพราะแดนอีสานใต้แห่งนี้ถูกนิยามว่าเป็นเพียง ‘ทางผ่าน’ หรือ ‘เมืองรอง’ แต่หากเอ่ยถึงความโดดเด่นของจังหวัดใกล้ลุ่มแม่น้ำมูลแห่งนี้ ก็ต้องบอกว่าเป็น ‘กีฬา’ เพราะที่นี่มีสวนสาธารณะและพื้นที่ทางธรรมชาติให้ผู้คนได้ใช้ออกกำลังกาย มีนักกีฬาที่มีชื่อเสียงทั้งด้านฟุตบอล มวย ยกน้ำหนัก วอลเลย์บอล ฯลฯ และยังเป็นเจ้าภาพจัดงานกีฬามานับครั้งไม่ถ้วน ทว่าอีกสิ่งหนึ่งที่อาจมีทั้งคนที่รู้และไม่รู้คือ ความสร้างสรรค์ของเมืองศรีสะเกษนั้นไม่ใช่มีเพียงแค่กีฬา แต่ยังมีเรื่องของ ‘ดนตรี’ ที่โดดเด่นไม่แพ้กัน และในช่วงวันที่ 25 – 27 สิงหาคม 2566 ที่นี่จะมีงาน ‘Sound of Sisaket (ซาวสีเกด) 2023’ ที่จะพาทุกคนไปสำรวจว่าเมืองศรีสะเกษนั้นใช้ดนตรีสร้างสรรค์เมืองได้อย่างไร ก่อนวันงานจะมาถึง คอลัมน์ Neighboroot ขอรับบทเป็นนักท่องเที่ยวพาไปรู้จักเมืองศรีสะเกษให้มากขึ้น ผ่านภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในเมือง บทสนทนาถึงความทรงจำที่ผ่านมา วิถีชีวิตปัจจุบันของจังหวัดแห่งหนึ่งในดินแดนฝั่งอีสาน และวิธีคิดในการพัฒนาเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ถ้าพร้อมแล้วออกเดินทางไปด้วยกัน เมืองศรีสะเกษเมื่อวันก่อนและวันนี้ ฝนโปรยยามบ่ายพรมน้ำให้ต้นไม้และผืนนาสองข้างทางเข้าตัวเมืองศรีสะเกษเขียวชอุ่มสบายใจ เมื่อเข้าสู่เมืองสิ่งแรกที่พบเห็นคือ ‘วงเวียนแม่ศรี’ ที่เป็นแลนด์มาร์กสำคัญของเมือง บริเวณนี้มีรูปปั้นของพระนางศรีสระเกศ รูปหล่อโลหะทองเหลืองรมดำที่เป็นดั่งสัญลักษณ์บอกให้รู้ว่ามาถึงเมืองศรีสะเกษแล้ว ตำนานใต้ฐานรูปปั้นเล่าว่า ‘พระนางศรี’ เป็นคนสัญชาติกล่อม (ขอมแท้) […]
ลัดเลาะ ‘ท่องธน’ ผจญภัยล่าขุมทรัพย์ ที่ซ่อนอยู่ใน ‘บางกอกใหญ่’
เชื่อว่านิยามคำว่า ‘ฝั่งธนฯ’ ของแต่ละคนมีความแตกต่าง แต่ไม่ว่าอาณาเขต ‘ธนบุรี’ ในความรู้สึกนึกคิดของคุณจะกว้างใหญ่เพียงใด เพียงแค่ฟากซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ไกลจรดทะเลบางขุนเทียน หรือยาวไปถึงชายแดนกรุงเทพฯ ติดปริมณฑลอย่างบางแค-หนองแขม ก็ตามที รู้หรือไม่ว่าทั้งหมดทั้งมวลนี้เริ่มที่ย่านบางกอกใหญ่ ศูนย์กลางการปกครองของกรุงธนบุรี ราชธานีเก่าของเมืองไทย คอลัมน์ Neighboroot คราวนี้เลยขออาศัยไกด์บุ๊กนำทางติดกระเป๋า พร้อมแอปพลิเคชันเกม ‘ท่องธน’ (Game of Thon) สวมบทนักผจญภัย โดยมีสมาชิกกลุ่มยังธนและผู้พัฒนาเกมเป็นคนนำทีม เปิดแมปฝั่งธนฯ ตะลุยบางกอกใหญ่ ในชุมชนวัดนาคกลาง หาขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ทั้งโบราณสถาน ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่สัญลักษณ์เมืองไทยอย่างพระปรางค์วัดอรุณฯ แต่ยังรวมไปถึงผู้คนริมคลองมอญและร้านรวงของคนในย่านที่เป็นเสมือน Hidden Gem หากอยากลองชิมลางร่วมตี้ แค่โหลดเกมและจัดทีมก็ออกมาร่วมสนุกได้ หรือหากอยากรู้จักฝั่งธนฯ แบบทะลุปรุโปร่ง หยิบไกด์บุ๊กท่องธนใส่กระเป๋าแล้วออกย่ำเท้าไปพร้อมกัน เมื่อจบภารกิจท่องธนครั้งนี้แล้ว ไม่แน่ว่าคำนิยามและความรู้จักของคุณที่มีต่อฝั่งธนฯ อาจเปลี่ยนไป เรานั่งย้อนเขียนถึงเรื่องราวการผจญภัยนี้ที่ฝั่งพระนคร มองย้อนออกไปริมแม่น้ำเจ้าพระยา เยื้องไปไม่ไกลคือ ‘วังเดิม’ ศูนย์กลางการปกครองของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กษัตริย์เพียงพระองค์เดียวของกรุงธนบุรี ที่ปัจจุบันเป็นพื้นที่ของกองทัพเรือ ติดกับวัดอรุณราชวรารามฯ หากอ้างอิงตามประวัติศาสตร์กระแสหลัก ภายหลังจากกรุงศรีอยุธยาสิ้นสภาพไป เกิดการสถาปนาเมืองแห่งใหม่ขึ้นมาไม่ไกลจากปากแม่น้ำเจ้าพระยา ราชธานีแห่งนี้ตั้งอยู่ได้ประมาณ 15 ปี ก่อนเกิดเหตุการณ์ทางการเมืองครั้งสำคัญที่ทำให้มีการย้ายเมืองหลวงมาตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำ […]
‘จักรพรรดิพงษ์’ ถนนทางผ่านย่านโรงพิมพ์หนังสือ ที่กำลังถูกปลุกให้ตื่นจากหลับใหล
ในวันที่ย่านเก่าอย่างนางเลิ้งและหลานหลวง เป็นปลายทางของผู้คนที่หลั่งไหลมาฮอปปิงคาเฟ่ที่ผุดขึ้นมากมายในพื้นที่ คืนความคึกคักกลับเข้ามาในพื้นที่โอลด์ทาวน์แถบนี้อีกครั้ง ไม่ต่างกับยุครุ่งเรืองของตลาดนางเลิ้งเมื่อครั้งอดีตที่เป็นจุดหมายของเหล่าหนุ่มสาวชาวพระนครมายาวนาน ใกล้ๆ กันยังมีอีกชุมชนหนึ่งตั้งอยู่ตรงกลาง ริมสองฝั่งของ ‘ถนนจักรพรรดิพงษ์’ ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมร้อยทั้งสองย่านที่ว่านี้เข้าด้วยกัน แม้วันนี้จะอยู่ในสถานะของทางผ่านจนหลายคนอาจมองข้ามไป หรือถูกเหมารวมไปอยู่เป็นส่วนหนึ่งของย่านข้างเคียง ทว่าจริงๆ แล้วตรงนี้ก็มีคาแรกเตอร์ที่โดดเด่นไม่น้อย เพราะแต่ก่อน บนถนนสายนี้เคยเต็มไปด้วยโรงพิมพ์และร้านหนังสือการ์ตูนในวันที่สิ่งพิมพ์เฟื่องฟู มีร้านทำผมบาร์เบอร์และซาลอนยุคเก่าตั้งเรียงรายกว่าสิบร้าน ไปจนถึงภาพชินตาอย่างร้านกล้วยแขกหลากหลายสีเอี๊ยมที่เป็นสัญลักษณ์ประจำย่านนี้ ชวนย้อนความหลังฟังเรื่องเล่าจากหลายปากเสียงของชาวชุมชนจักรพรรดิพงษ์ ถึงบรรยากาศในอดีตของย่าน พัฒนาการของร้านค้าและชุมชน ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ ที่กำลังปลุกให้ย่านทางผ่านที่หลับใหลค่อยๆ ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ถนนที่นำพระนามอันไพเราะของพระอนุชาของรัชกาลที่ 5 มาตั้งเป็นชื่อนั้น คือผลพวงส่วนหนึ่งของการพัฒนาเมืองเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว โดยตัดแยกมาจากถนนบำรุงเมือง ถนนสายแรกๆ ในสยาม เชื่อมกับถนนราชดำเนิน เส้นเลือดใหญ่ที่เชื่อมระหว่างโซนเมืองเก่าตรงพระบรมมหาราชวังกับเมืองใหม่ (ในสมัยนั้น) แถบดุสิต แต่แรกเลยแถบนี้ยังเป็นพื้นที่สวนตามประสาบรรยากาศชานเมือง กว่าจะมีอาคารพาณิชย์ตลอดสองฝั่งถนนจักรพรรดิพงษ์แบบที่เห็นกัน ก็ต้องรอจนถึงประมาณช่วงทศวรรษ 2490 หลังจากนั้นจึงเริ่มเป็นย่านการค้าที่มีร้านรวงต่างๆ เข้ามาจับจองพื้นที่เพื่อประกอบกิจการกันอย่างหลากหลาย นอกจากร้านทำผมแล้ว ก็มีร้านตัดเสื้อสูท ร้านทำฟันแบบโบราณ ทำแป้งประหน้า ร้านเอกซเรย์ ร้านขายเคมีภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งสลับสับเปลี่ยนเจ้าของอยู่ตลอด บ้างก็ย้ายไปที่อื่นแล้วในตอนนี้ บางห้องก็ยังมีลูกหลานอยู่กระทั่งปัจจุบัน ‘สุขศาลานางเลิ้ง’ อดีตสถานอนามัยของชาวกรุง “ชุมชนป้าไม่ใหญ่ แต่มีสตอรีเยอะ” ป้าจิ๋ว […]
ปลุกความสร้างสรรค์ที่ย่าน ‘เจริญรัถ’ แหล่งค้าหนังและอุปกรณ์งานคราฟต์ของกรุงเทพฯ
ถ้าอยากทำกระเป๋าหนังสักใบ หรือหาอะไหล่นำกลับไปทำงาน DIY ที่บ้านในวันที่ไอเดียพรั่งพรู เหล่านักประดิษฐ์ตัวยงหรือดีไซเนอร์มือฉกาจต่างแนะนำเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘เจริญรัถ’ คือคำตอบชนิดที่มาครบจบในที่เดียวได้ ย่านเจริญรัถ ใกล้กับวงเวียนใหญ่ ในฝั่งธนบุรี เรียกได้ว่าเป็นศูนย์รวมกิจการร้านค้างานหนังแบบครบวงจรที่ขึ้นชื่อลือชามานานหลายสิบปี ไม่ว่าจะเป็นร้านค้าหนังแท้และหนังเทียม สารพัดอุปกรณ์ตัด ตอก หรืออะไหล่ตกแต่งกระเป๋าให้สวยเก๋ ไปจนถึงร้านลับคมกรรไกรที่แทบไม่ค่อยเห็นแล้วในทุกวันนี้ ต่างแทรกตัวอยู่บนถนนเจริญรัถทั้งสิ้น คอลัมน์ Neighboroot ชวนสาวเท้าก้าวตามเจ้าของโรงเรียนสอนทำกระเป๋าบนถนนเจริญรัถ ฟังความเป็นมาของย่าน ทำความรู้จักร้านขายหนังและสารพัดอุปกรณ์รุ่นเก๋าที่เด็ดดวงสุดในย่าน จากปากของคนพื้นที่ที่คัดสรรมาให้แล้ว MHA Art & Craft : โรงเรียนสอนทำกระเป๋าหนังแห่งย่านเจริญรัถ “เคยพูดเล่นๆ ว่า ถ้าหาหนังแล้วที่อื่นไม่มี และที่นี่ก็ไม่มี ก็ไม่ต้องหาละ” เจ้าของ MHA Art & Craft โรงเรียนสอนทำกระเป๋าอย่าง ‘พี่แบงค์-บุญชัย บุญนพพรกุล’ บอกอย่างติดตลก ถึงนิยามความเป็นย่านเจริญรัถ ย่านค้าหนังอันเลื่องชื่อของไทย บทสนทนานี้เกิดขึ้นใต้ชายคาของตึกแถวที่เป็นทั้งโรงเรียนสอนทำกระเป๋า คาเฟ่ และประตูบานแรกก่อนเข้าสู่ถนนเจริญรัถ จากปากของทายาทโรงงานทำกระเป๋าหนังส่งออกและเจ้าของโรงเรียน เวิร์กช็อปสเปซสำหรับผู้สนใจและหลงใหลในงานหนัง ซึ่งเข้าสู่ขวบปีที่สิบแล้วในวันนี้ “ช่วงนั้นเกิดปรากฏการณ์ใหม่ คนสร้างแบรนด์เองง่ายขึ้นผ่านโซเชียลมีเดีย จังหวะนั้นก็เลยเกิดโรงเรียนของเรา […]
สำรวจ ‘เมืองทองธานี’ เมืองเล็กในเมืองใหญ่ที่ไม่เคยหยุดเติบโต
“ครั้งล่าสุดที่ไปเมืองทองคือเมื่อไรกันนะ” คนรักบ้านและสวนอาจตอบว่าเมื่อปลายปีที่แล้วที่งานแฟร์ คนรักรถน่าจะไปเดินเล่นงานมอเตอร์เอ็กซ์โปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน หรือหลายคนอาจไปคอนเสิร์ตของศิลปินที่ชื่นชอบเมื่อไม่นานมานี้ ‘เมืองทองธานี’ ไม่ได้ขึ้นชื่อแค่เรื่องอีเวนต์ที่จัดอยู่ตลอดทั้งปี แต่ยังมีที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียม ออฟฟิศ ร้านรวงยันห้างสรรพสินค้า ศูนย์ราชการ และสนามกีฬาประเภทต่างๆ โดยเฉพาะฟุตบอล กับการมีสโมสรประจำย่านที่มีแฟนคลับเข้าเส้นไม่ต่างจากสโมสรในต่างประเทศ ปกติแล้วคอลัมน์ Neighboroot มักจะชวนผู้อ่านลงพื้นที่ ย่ำตรอก ออกซอย สำรวจย่านต่างๆ ในเมืองหลวงเป็นหลัก แต่สำหรับครั้งนี้เราขอชวนออกไปปริมณฑลเพื่อนบ้านเมืองหลวง อัปเดตวิถีชีวิตชาวเมืองทอง กินอย่างคนเมืองทอง และเชียร์ฟุตบอลอย่างทีมเมืองทองฯ กันดูบ้าง ‘เมืองทองธานี’ เรียกว่าเป็นเมืองขนาดย่อมๆ ก็ไม่ผิดนัก หากเล่าอย่างคร่าวๆ เพื่อให้รู้จักที่มาที่ไปเร็วที่สุด โครงการอภิมหาโปรเจกต์มิกซ์ยูสนี้เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2533 จากความตั้งใจของบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน) ที่อยากสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ขยับออกมาในเขตชานเมือง ตามอย่างในฮ่องกง พื้นที่รวมๆ ในเมืองทองธานีสามารถแบ่งได้เป็น 2 โซนหลักคือ โซนที่อยู่อาศัย มีทั้งคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยว แบ่งซอยย่อยๆ แยกจากถนนใหญ่ไม่ต่างจากในเมือง วางแลนด์สเคปและผังเมืองในโครงการมาอย่างดี หากโซนแรกมีวิถีชีวิตที่เงียบๆ และไม่ค่อยพลุกพล่าน อีกฟากหนึ่งคงให้ความรู้สึกต่างออกไป เพราะโซนพื้นที่เชิงพาณิชย์-ศูนย์แสดงสินค้า จะคึกคักตลอดทั้งปี สถานที่ที่หลายคนคุ้นชินน่าจะเป็นชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพค […]
ทัวร์ย่าน ‘สุขุมวิท-บางนา’ แบบอินไซด์ทั้งสายกินสายเก๋าฉบับชาวสุนาเนี่ยน
ไม่กี่ปีมานี้ ‘สุขุมวิท-บางนา’ ได้ชื่อว่าเป็นย่านที่เติบโตและเปลี่ยนแปลงเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ สุขุมวิทเป็นย่านธุรกิจ CBD (Central Business District) ขนาดใหญ่ใจกลางเมืองที่เต็มไปด้วยวิถีชีวิตทันสมัย และแหล่งรวมคาเฟ่ทุกสไตล์ตามซอกซอยต่างๆ หรือเมื่อขยับออกไปอีกนิดแถบชานเมืองอย่างบางนา ก็เต็มไปด้วยหมู่บ้านจัดสรรและชุมชนเก่า รวมทั้งศูนย์รวมงานอีเวนต์ที่ไบเทค บางนา ที่คึกคักอยู่ตลอดปี เพราะสุขุมวิท-บางนา มีขนาดที่ใหญ่มาก ไหนจะยังมีย่านรองอย่างเช่น ลาซาล พระโขนง อุดมสุข ปุณณวิถี ฯลฯ ที่ล้วนอัดแน่นไปด้วยสถานที่และเรื่องราวต่างๆ อีกเพียบ สบโอกาสเปิดศักราชใหม่ คอลัมน์ Neighboroot ได้เจ้าบ้านย่านนี้อย่าง SUNAneighbormove แพลตฟอร์มออนไลน์น้องใหม่ที่ตั้งใจสร้างคอมมูนิตี้ย่าน ‘สุนา’ (สุขุมวิท+บางนา) ให้เป็นที่รู้จักและขับเคลื่อนชุมชนให้สนุกกว่าเดิม มาเป็นผู้พาออกสำรวจและทำความรู้จักความพิเศษของย่านนี้มากขึ้น ผ่านสถานที่ต่างๆ แบบพอเรียกน้ำย่อย เพื่อช่วยปรับมุมมองที่มีต่อย่านนี้ใหม่ เพราะโซนสุนายังมีอะไรมากมายที่ชวนให้ค้นหา ทั้งเรื่องราววัฒนธรรมย่อย ร้านรวงอาหารรสเด็ด และธุรกิจของคนในย่านที่กำลังโตวันโตคืน เป็นมูฟเมนต์ใหม่ๆ ที่กำลังเติมชีวิตชีวาให้ย่านนี้มีสีสันยิ่งขึ้นกว่าที่เคย เริ่มต้นวันดีๆ ที่ ‘Roots’ ร้านกาแฟเมล็ดไทยที่ใส่ใจตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ก่อนจะเริ่มต้นสำรวจย่านสุนา หากได้เครื่องดื่มเย็นๆ ปลุกความสดชื่นสักแก้วคงจะดีไม่น้อย พอดีกับที่ทางเพจ SUNA พาเรามาเริ่มต้นทริปที่ Roots […]
สัมผัสอีกมุมของ อโศก ซุกซ่อนความสงบในย่านที่เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว
พูดถึงชื่อย่าน ‘อโศก’ เดาว่าภาพในหัวของใครหลายคนคงหนีไม่พ้นภาพเมืองและผู้คนที่พลุกพล่าน โดยเฉพาะถนนอโศกมนตรีซึ่งเป็นถนนสายหลัก ไปเมื่อไหร่จะได้เห็นภาพการจราจรที่คึกคักเสมอ อโศกถือเป็นย่านฮิตของคนทำงานและนักท่องเที่ยว มีบริษัทใหญ่ๆ และร้านรวงมากมายมาตั้งอาคารสำนักงานที่ย่านนี้และไม่เคยย้ายหนีไปไหน อาจเพราะช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ ย่านสุขุมวิทเคยเป็นศูนย์กลางทางธุรกิจของกรุงเทพฯ ย่านที่อยู่ใกล้กันอย่างอโศกจึงได้รับอิทธิพลมาอย่างไม่อาจปฏิเสธ จนเกิดเป็นแหล่งรวมอาคารสำนักงาน ร้านอาหาร และสถานที่แฮงเอาต์ของคนกลางคืนมากมาย ย่านอโศกยังขึ้นชื่อเรื่องการเป็นย่านที่คอนโดมิเนียมเยอะ ด้วยอาคารสำนักงานของออฟฟิศหลายแห่งมากระจุกตัวอยู่ในย่าน ประกอบกับเป็นโลเคชั่น Interchange ของรถไฟฟ้า BTS สถานีอโศก และ รถไฟใต้ดิน MRT สถานีสุขุมวิท ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเดินทาง ย่านอโศกจึงได้รับความสนใจจากนักลงทุนที่ขยันมาปลูกคอนโดฯ ในย่านกันอย่างคึกคัก แต่สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือ โลเคชั่นใจกลางเมืองอันพลุกพล่าน ย่านอโศกยังมีด้านสงบเงียบที่เหมาะจะใช้เวลาพักผ่อนในวันสบายๆ ได้อย่างมีคุณภาพ คอลัมน์ Neighboroot คราวนี้ เราจึงอยากชวนลัดเลาะเข้าไปในย่านอโศก พาทุกคนไปสำรวจแหล่งเช็กอินที่เป็น Hidden Gems และวิถีชีวิตปกติธรรมดาของชาวอโศกที่อาจไม่เคยเห็น จิบม็อกเทลยามเย็นในบาร์ลับสไตล์ฮาวาย Calm Kraam บนชั้นสองของโรงแรม Tints of Blue Residence ในซอยสุขุมวิท 27 มีบาร์ลับซ่อนอยู่ จะใช้คำว่าบาร์ลับก็ไม่ถูก เพราะ Calm Kraam […]
สัมผัสวิถีชนบทในเมืองหลวงที่ ‘ชุมชนวัดจำปา’
ภาพจำของหลายคนที่มองมายังกรุงเทพฯ คือเหล่าตึกสูงระฟ้า รถราติดหนึบ และมลพิษจากย่านใจกลางเมือง แต่จริงๆ แล้ว กรุงเทพฯ ยังมีส่วนของชานเมืองรอบนอกที่ยังคงสภาพวิถีชีวิตดั้งเดิม เป็นชาวสวนผลไม้ที่ผูกพันกับสายน้ำลำคลอง อากาศสดชื่น และบรรยากาศที่แทบไม่ต่างอะไรกับต่างจังหวัด ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ‘ตลิ่งชัน’ หนึ่งในเขตชานเมืองทางฟากตะวันตกของกรุงเทพฯ ที่หลายคนอาจคุ้นหูจากการเป็นทางผ่านลงภาคใต้ทางถนนเพชรเกษม หรืออาจพอได้ยินมาบ้างจากการเป็นแหล่งรวมคาเฟ่และร้านอาหารบนถนนบรมราชชนนีและถนนราชพฤกษ์ แต่ถัดเข้ามาจากถนนใหญ่หลายสายที่ตัดผ่านเขตนี้ ยังมีชุมชนเล็กๆ กลางสวนและบ้านจัดสรร ที่ยังคงเสน่ห์และวิถีชีวิตดั้งเดิมมากว่าร้อยปี จากเงาของตึกสูงที่ตกลงมาบนถนนใหญ่ใจกลางเมือง เปลี่ยนเป็นร่มเงาต้นไม้ที่ทาบลงบนถนนสายเล็กๆ ของชุมชนและบนผิวน้ำในคลองที่ใสสะอาด เรือหางยาววิ่งเสียงดังลั่นคุ้งน้ำเป็นสัญญาณต้อนรับ เหนือยอดไม้แทบไม่เห็นตึกสูง ฉากหลังของบ้านเรือนไทยเป็นท้องฟ้าสีสดใส ไร้ทัศนะอุจาดรบกวนเหมือนในเมือง ท่ามกลางเสียงจากธรรมชาติที่ได้ยินอยู่ตลอดเวลา เชื่อหรือไม่ว่าภาพเช่นนี้เห็นได้ด้วยการเดินทางจากในเมืองมาไม่นานนัก บรรยากาศของที่นี่ไม่ต่างอะไรจากสวนที่พบเจอได้ในจังหวัดอื่นๆ ผิดแต่ว่าที่นี่อยู่ในเขตของกรุงเทพฯ เมืองหลวงของประเทศที่นับวันจะหาพื้นที่สีเขียวได้ยากขึ้นทุกที หลักฐานความเจริญของย่านตลิ่งชันที่ ‘วัดจำปา’ เราเดินเข้าสู่รั้ววัดจำปา พบกับ ‘พี่ดุ่ย-ทวีศักดิ์ หว่างจันทร์’ ตามนัดหมาย ประธานชุมชนวัดจำปาต้อนรับขับสู้ด้วยไมตรีจิต ก่อนนำเราตรงไปยังอุโบสถวัดจำปา พร้อมทั้งเล่าสารพัดเรื่องราวของวัดโบราณคู่ชุมชนแห่งนี้ โดยเฉพาะเหล่าของดีมีราคา และของจากในราชสำนัก “หน้าบันอุโบสถประดับอ่างล้างหน้างานยุควิกตอเรีย สมัยรัชกาลที่ 4 ตอนนี้พบสองที่คือวัดจำปากับพระนครคีรี ที่นู่นสีเขียว ที่นี่สีชมพู อาจจะก่อนหรือหลังรัชกาลที่ 4” พี่ดุ่ยชวนเราเงยหน้ามองที่สิ่งอันซีนอย่างแรก เมื่อเข้าไปด้านในอุโบสถก็พบกับของอีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือลูกกรงเหล็กสีทองด้านหน้าพระประธานในอุโบสถ […]
ท้าพิสูจน์ย่าน ‘ประตูผี’ จากชุมชนริมกำแพงพระนครสู่ย่านสตรีทฟู้ดที่ดังไกลไปทั่วโลก
เมื่อพูดถึงย่านหลอนๆ ในความทรงจำของคนกรุงเทพฯ คิดว่าคงหนีไม่พ้น ‘ย่านประตูผี’ ส่วนหนึ่งของโซนเมืองเก่าในเกาะรัตนโกสินทร์ ที่มีเรื่องราวเล่าขานมาอย่างยาวนานถึงเรื่องชวนขนหัวลุก อย่าง ‘แร้งวัดสระเกศฯ เปรตวัดสุทัศน์’ ที่ตกเย็นเมื่อไร ผู้คนในยุคต้นพระนครต่างหวาดกลัว และไม่อยากย่างกรายผ่านย่านนี้ ท่ามกลางความมืดและเรื่องราวจากอดีต ทุกวันนี้ บรรยากาศของความน่ากลัวเปลี่ยนเป็นแสงไฟจากร้านค้าแผงลอยและร้านอาหารในอาคารพาณิชย์ต่างๆ รวมถึงความเงียบที่กลับกลายเป็นความคึกคักของเหล่านักชิมมากหน้าหลายตา ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ที่แวะเวียนกันมาลิ้มลองรสชาติอาหารต่างๆ ของย่านนี้ คอลัมน์ Neighboroot ชวนผู้อ่านแง้มประตูบ้านย่านประตูผี ตามหาแสงไฟร้านค้าของย่านในค่ำคืนก่อนวันฮาโลวีน สำรวจการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่แยกสำราญราษฎร์ไปจนถึงป้อมมหากาฬ กับบทบาทใหม่ที่ได้รับขนานนามในฐานะแหล่งรวมร้านอาหารเจ้าดังระดับโลกและสตรีทฟู้ดขึ้นชื่อ ที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในทุกวัน และกลบความสยองขวัญของย่านที่หายไปจนเหลือเพียงตำนาน ประตูผี คือหนึ่งในย่านหลอนๆ ของชาวพระนครช่วงต้นกรุง เพราะเป็นทางที่นำศพของผู้เสียชีวิตในเขตกำแพงเมือง ออกไปฌาปนกิจยังวัดสระเกศฯ ที่อยู่ด้านนอกคูเมือง โดยเฉพาะช่วงที่มีอหิวาตกโรคระบาดหนัก ก็ใช้เส้นทางนี้ลำเลียงศพออกไปแบบไม่หวาดไม่ไหว ต้องวางศพเกลื่อนลานเมรุวัดสระเกศฯ จนเป็นที่มาของคำว่า ‘แร้งวัดสระเกศฯ’ ที่โฉบลงมากินศพ เป็นที่สยดสยองและร่ำลือกันในหมู่ชาวพระนคร ต่อมาย่านประตูผีได้เติบโตควบคู่ไปกับการตัดถนนบำรุงเมือง ถนนรุ่นแรกๆ ของเกาะรัตนโกสินทร์ที่ใช้เทคนิคการสร้างอย่างชาวตะวันตก ซึ่งคงสร้างทับเส้นทางขนศพในอดีตนี่แหละ พร้อมทั้งมีการปลูกสร้างเป็นอาคารพาณิชย์แบบชิโน-โปรตุกีสอยู่ตลอด 2 ฝั่งถนน ตั้งแต่เสาชิงช้าจนถึงแถบประตูผี แต่ปัจจุบันถูกรื้อหาย กลายเป็นบริเวณแยกสำราญราษฎร์ ร้านรวงต่างๆ จึงเริ่มเข้ามาจับจองพื้นที่ กลายเป็นย่านการค้าอีกแห่งของกรุงเทพฯ มีตลาดใหญ่ชื่อว่า […]
ฟังเรื่องเล่าจากชาว ‘บ้านปูน’ แหล่งผลิตสรรพสินค้าเมดอินฝั่งธนบุรี
ในวันที่สะพานพระราม 8 พัฒนาพื้นที่จนกลายเป็นพับบลิกสเปซอีกแห่งของชาวฝั่งธนฯ รวมถึงนักเรียน-นักศึกษาในละแวกใกล้เคียง ที่หากแดดร่มลมตกเมื่อไร ก็มักพากันมานั่งทอดสายตาที่สวนริมแม่น้ำ ยืดแข้งขาออกกำลังกายที่สวนสาธารณะ เล่นฟุตซอลในสนามใกล้ๆ หรือลานกว้างใต้สะพานที่แปรเปลี่ยนเป็นลานสเก็ตบอร์ดให้เด็กๆ ได้ออกมาวาดลวดลายโชว์ลีลากันสนุกสนานทุกค่ำคืน ทว่าหากไม่ใช่คนที่คลุกคลีอยู่แถบนี้อาจไม่รู้เลยว่า พื้นที่ติดกันนี้มีชุมชนโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ที่โดดเด่นเรื่องงานหัตถกรรมต่างๆ และของกินของใช้นานาชนิดตั้งอยู่ในชื่อ ‘บ้านปูน’ ขณะที่น้ำเหนือกำลังไหลลงมา สมทบกับน้ำทะเลหนุนสูง น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเริ่มปริ่มขอบกระสอบทรายใต้สะพานพระราม 8 เราเริ่มต้นทริปวันนี้ที่ด้านหน้าแนวกำแพงเก่า ปูนที่เคยฉาบหลุดล่อนออกมาจนเห็นแนวอิฐก่อ ค่อยๆ ผุพังทลายไปตามกาลเวลา เหลือเพียงเรื่องราวความเป็นมาที่แทบจะเลือนหาย ติดอยู่บนป้ายสีซีดจาง ‘กำแพงวังเจ้าอนุวงศ์’ หรือที่เรียกกันภาษาปากว่าวังเจ้าลาว เป็นหลักฐานของการเข้ามาอยู่อาศัยของเจ้านายจากกรุงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ที่มาปลูกบ้านเรือนประทับยามที่ต้องเดินทางเข้ามาทำธุระยังกรุงเทพฯ ในช่วงรัชกาลที่ 3 ถือเป็นแลนด์มาร์กสำคัญหนึ่งที่อยู่คู่บ้านย่านนี้ จากกำแพงวังในวันนั้น กลายเป็นเส้นแบ่งอาณาเขตของชุมชนบ้านปูนกับพื้นที่สะพานพระราม 8 ในวันนี้ ทอดตัวเลียบไปกับที่พักอาศัย โดยมีทางเข้า-ออกเล็กๆ ด้านบนเป็นป้ายสีเขียวเขียนชื่อระบุชัดว่า ‘ชุมชนบ้านปูน แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร’ อยู่ที่ปลายกำแพงริมแม่น้ำ เยี่ยม ‘บ้านปูน’ แหล่งผลิตสรรพสินค้าย่านฝั่งธนฯ ชื่อเสียงเรียงนามของบ้านปูนไม่ได้มีที่มาซับซ้อน ว่ากันง่ายๆ คือมาจากการที่มีโรงทำปูน วัตถุดิบสำคัญกินคู่กับหมาก ตั้งอยู่ด้านในชุมชนมาตั้งแต่ช่วงต้นกรุงฯ ขณะที่อีกกระแสหนึ่งบอกว่าเพิ่งมาตั้งในช่วงรัชกาลที่ 4 […]
ทอดน่องท่องย่าน ‘แขกตานี’ ตามหาร่องรอยชาวมลายูในบางกอก
เหลียวซ้ายหันขวาพบว่ากลุ่มคนและวัฒนธรรมอิสลามอยู่ใกล้ตัวเรามากๆ หรือถ้าหากเจาะจงให้แคบลงเฉพาะในเมืองหลวง ลองเปิดแผนที่กรุงเทพฯ ดู ก็ปรากฏชื่อของมัสยิดตั้งอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในโซนเมืองเก่าที่เราเจอว่ามีกลุ่มคนมุสลิมตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยกันหลายพื้นที่ นอกจากศาสนสถานและอาคารสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นสะดุดตา คำศัพท์ต่างๆ ที่ภาษาไทยหยิบยืมมาใช้ อาหารรสชาติเป็นเอกลักษณ์ ยังมีมรดกอีกหลายอย่างที่ตกทอดและแทรกตัวอยู่ท่ามกลางวิถีชีวิตของคนไทยจนอาจไม่ทันนึกถึง นับว่าเป็นการผสานความหลากหลายของผู้คนที่อยู่ในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี คอลัมน์ Neighboroot คราวนี้ขอติดสอยห้อยตามเพจ Halal Life Magazine นิตยสารออนไลน์ของกลุ่มพี่น้องมุสลิม ไปทอดน่องท่องย่านในกิจกรรม ‘ย่ำตรอก ออกซอย ตามรอยบ้านแขกตานี’ ที่ชวนออกเดินทางสำรวจ ‘ย่านแขกตานี’ ชุมชนดั้งเดิมของคนมลายูที่อพยพมาจากภาคใต้ตั้งแต่ต้นกรุงฯ ตามหาร่องรอยต่างๆ ของแขกมลายูบริเวณนี้ เช่น อาคารบ้านเรือน ชื่อบ้านนามถิ่น อาหารการกิน และมัสยิดศูนย์รวมจิตใจของผู้คนแถบนี้ ที่ตั้งอยู่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในเกาะรัตนโกสินทร์ที่สำคัญ เรายังได้กูรูด้านประวัติศาสตร์มุสลิมในประเทศไทยอย่าง ‘อาจารย์ศุกรีย์ สะเร็ม’ และผู้รู้อีกหลายๆ ท่าน มาเป็นผู้พาเดินเที่ยวและช่วยเติมเต็มเรื่องราวต่างๆ ของคนมุสลิมในกรุงเทพฯ ให้ชัดเจนขึ้นอีกด้วย ถิ่นฐานย่านแขก ชุมชนคนมลายูในบางกอก ไม่ไกลจากถนนข้าวสาร แสงสีคู่กรุงเทพฯ ยามค่ำคืน และใกล้ๆ กันกับบางลำพู ช้อปปิงเซ็นเตอร์รุ่นเก่าของเกาะรัตนโกสินทร์ แต่เดิมแถบนี้เคยเป็นหมู่บ้านของพี่น้องชาวมุสลิมที่ตั้งบ้านเรือนอาศัยกันอย่างหนาแน่น ประกอบกิจการร้านค้ากันเรียงรายทั่วย่าน แต่ปัจจุบันหากเดินสำรวจดูโดยไม่มีผู้รู้คอยนำทาง อาจไม่ทราบเลยว่าที่นี่เคยเป็นถิ่นฐานบ้านชาวมลายู เพราะเหลือเพียงชื่อกับร่องรอยไม่กี่อย่างที่บ่งบอกถึงเท่านั้น […]
เดินเล่น-ชิม-ชม ที่ ‘ยมจินดา’ ย่านเมืองเก่าใจกลางจังหวัดระยอง
เมื่อพูดถึง ‘ระยอง’ หลายคนอาจนึกถึงอีเวนต์สนุกๆ อย่างฟูลมูนปาร์ตี้ที่เกาะเสม็ด ราชินีผลไม้อย่างมังคุด น้ำปลาแท้รสเด็ดที่ต้องซื้อทุกครั้งที่ไปเยือน หรือแม้กระทั่งอนุสาวรีย์สุนทรภู่ที่เป็นเสมือนแลนด์มาร์กของจังหวัดนี้ แต่นอกจากจุดเด่นต่างๆ ที่เรายกตัวอย่างมา ระยองยังมีอีกหนึ่งมนตร์เสน่ห์อย่าง ‘ยมจินดา’ ย่านเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และยังวางตัวขนานไปกับแม่น้ำระยอง แม่น้ำสายสำคัญที่หล่อเลี้ยงชุมชนมากว่า 100 ปี หากพูดง่ายๆ ‘ยมจินดา’ เปรียบได้กับย่าน ‘เจริญกรุง’ ของกรุงเทพฯ เนื่องจากยมจินดาเป็นถนนสายแรกของระยอง ชุมชนเก่าแก่ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมือง แหล่งที่ดินทำกินของชาวจีนโพ้นทะเล รวมไปถึงที่ตั้งของบ้านขุนนางและคหบดีในอดีต ทำให้ตลอดระยะทางกว่า 600 เมตรของถนนสายนี้เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรม อาหาร และศิลปะพื้นถิ่นที่หลากหลาย มีเอกลักษณ์ แต่สามารถอยู่รวมกันได้อย่างกลมกลืน วันนี้ คอลัมน์ Neighboroot จึงขอพาทุกคนออกนอกกรุงเทพฯ ไปอีกนิด เลยชลบุรีไปอีกหน่อย มุ่งหน้าสู่ตัวเมืองระยองเพื่อร่วมกันสำรวจย่านยมจินดา ผ่านกิจกรรม ‘Co-Create YOMJINDA’ ที่จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ซึ่งเป็นกิจกรรมทดลองพัฒนาพื้นที่ ต่อยอดให้ย่านเมืองเก่าแห่งนี้ ก้าวเข้าสู่การเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่จะทำให้การเดินทางมาระยองของใครหลายๆ คน เป็นเรื่องที่น่าสนใจมากขึ้นกว่าแค่การมาทะเล ศาลเจ้าแม่ทับทิมระยอง | พื้นที่แห่งศรัทธาของคนไทยเชื้อสายจีน […]