Chook แอปฯ เดลิเวอรีอาหารโฮมเมด - Urban Creature

วันนี้ ที่ออฟฟิศ Urban Creature มีข้าวกลางวันฟรี เป็นเมนูแกงเขียวหวานเนื้อของร้าน ‘บ้านศรีโบว์’ ที่นอกจากจะใช้เนื้อวัวที่ตุ๋นจนเปื่อยเป็นวัตถุดิบหลัก น้ำแกงยังมีสีเขียวกว่าแกงเขียวหวานทั่วไป ไม่ได้ปรุงพลาดหรือใส่เครื่องแกงเยอะเกินไป แต่เป็นสูตรลับเฉพาะของคนทำที่บอกว่า แกงเขียวหวานบ้านเขาต้องเขียวแบบนี้เท่านั้น

แกงเขียวหวานของร้านบ้านศรีโบว์ไม่ได้หาซื้อที่ไหนก็ได้ ถ้าไปเสิร์ชในแอปฯ สั่งอาหารทั่วไปคงไม่เจอ ยกเว้นแอปฯ เดียวที่ทางร้านเปิดขายชื่อ Chook

Chook คือแอปฯ สั่งอาหารน้องใหม่ที่เปิดตัวในยุคที่ตลาดแอปฯ เดลิเวอรีแข่งขันกันอย่างดุเดือด แต่เอกลักษณ์ที่ทำให้ Chook โดดเด้งมากกว่าแอปฯ ไหน คือการเป็นแอปฯ ที่ขายเฉพาะเมนูโฮมเมดเท่านั้น

แกงเขียวหวานของร้านบ้านศรีโบว์ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ในแอปฯ ยังมีเมนูและร้านอาหารจากครัวประจำบ้านอีกนับร้อยให้เลือกสรร ความน่ารักคือร้านเหล่านี้ไม่ได้มีหน้าร้านจริงจัง และเชฟผู้ปรุงเมนูเหล่านั้นอาจไม่ได้ทำอาชีพเชฟจริงจัง แต่เป็นคนธรรมดาๆ ที่ทำอาหารอร่อย และอยากแชร์สูตรอาหารโฮมเมดในบ้านตัวเองให้คนอื่นกินบ้าง

เบื้องหลังแอปฯ ที่ธรรมดาแต่พิเศษนี้เป็นยังไง Vincent Kao ผู้ก่อตั้งแอปฯ มีนัดกับเราที่ออฟฟิศ Urban Creature เพื่อเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ฟัง

ไม่ใช่แค่เล่า แต่ชายหนุ่มยังขอเลี้ยงมื้อกลางวัน แน่นอนว่ามันคือเมนูแกงเขียวหวานร้านบ้านศรีโบว์ หนึ่งในเมนูอาหารโฮมเมดซึ่งเปิดขายในแอปฯ ที่เขาสร้างขึ้นมานั่นเอง

อาหารประจำครอบครัว

“ทุกคนมีเรื่องราวเกี่ยวกับอาหารที่บ้านของตัวเอง” คือประโยคที่จุดประกายให้วินเซนต์ริเริ่มสตาร์ทอัปชื่อ Chook

ไม่ต่างจากเราทุกคน วินเซนต์มีความทรงจำเกี่ยวกับอาหารประจำบ้าน เมนูที่เขาไม่เคยลืมคือไก่ทอดสูตรลับที่คุณแม่กับคุณยายทำให้กินบ่อยๆ ในวัยเยาว์

“มันเป็นไก่ทอดที่ไม่เหมือนที่ไหน อมน้ำมันน้อยกว่าและรสชาติดีกว่า ผมชอบมันมากกว่าไก่ทอดในร้านอาหารดังๆ เสียอีก” ชายหนุ่มย้อนความด้วยรอยยิ้ม แล้วเล่าต่ออีกว่า นอกจากเมนูไก่ทอดที่โปรดปราน บ้านของเขายังมี ‘ลูกชิ้นแคะ’ ที่ถึงจะเป็นเมนูทั่วไปซึ่งหาได้ในไต้หวัน แต่สูตรลูกชิ้นที่บ้านของเขาก็ไม่เหมือนบ้านไหนๆ

“ผมคิดมาตลอดว่ามันมีร้านอาหารที่ทำเมนูนี้ได้ แต่ปรากฏว่าคิดผิด นี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผมเสียใจที่สุดในชีวิต เพราะถ้าผมไม่ได้อยู่บ้านกับยายและแม่ ผมก็จะไม่ได้ลิ้มรสชาตินั้นอีกแล้ว”

สำหรับวินเซนต์ อาหารโฮมเมดไม่ได้มีดีแค่ความอร่อย สดใหม่ และดีต่อสุขภาพเท่านั้น มันยังหมายถึงความรัก วัฒนธรรม และความทรงจำที่เขามักจะนึกถึงอยู่บ่อยๆ

“อีกเมนูหนึ่งที่ยายของผมชอบทำคือแผ่นแป้งถั่วดำทอด (Savoury Black Bean Cake) แม่เคยเล่าให้ฟังว่า เมื่อก่อนแกทำขายในตลาดเช้า และทุกวันแม่จะต้องตื่นตั้งแต่เช้าตรู่ไปช่วยยายขาย แม้จะเป็นช่วงเวลาที่หนักหนาของพวกเขา แต่เรื่องนี้ก็เป็นเครื่องเตือนใจที่บอกผมว่าอาหารโฮมเมดเป็นสินค้าที่ดึงดูดคนอื่นๆ ให้เข้ามาสนใจได้ มากกว่านั้น มันคือการเปิดโอกาสให้ใครสักคน-เช่นยายของผม-ที่อาจไม่ได้เป็นเชฟหรือเคยเรียนทำอาหารมา ให้หารายได้จากอาหารประจำบ้านของตัวเอง

“นั่นตอบคำถามว่าทำไม Chook ถึงสำคัญกับผมมาก เพราะเราอยากแชร์เรื่องราวของเชฟประจำบ้านเหล่านี้ ซึ่งเราเรียกเขาว่า ชุกกีส์ (Chookies) และเปิดโอกาสให้คนอื่นได้ลองชิมรสชาติที่ไม่เคยได้ลองบ้าง” ชายหนุ่มบอก

อาหารประจำแอปฯ

เพราะเคยเป็นหัวเรือด้านการตลาดให้บริษัทของกินและอาหารเสริมในอเมริกา ยุโรป และเอเชียอยู่หลายปี ประกอบกับมีประสบการณ์​ในบริษัทสตาร์ทอัปมาพอสมควร วินเซนต์จึงมีแว่นตาของนักธุรกิจที่รู้จักวิเคราะห์ตลาด และเขาก็ไม่ลืมหยิบมันมาใช้ในวันที่เปิดสตาร์ทอัปของตัวเอง

ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือดของแอปฯ เดลิเวอรีอาหารในเมืองไทย ชายหนุ่มชาวไต้หวันยังมองเห็นเพนพอยต์บางอย่าง

“การขาดสิ่งใหม่ๆ และการสร้างความแตกต่าง” คือสองอย่างแรกที่วินเซนต์จับสังเกตได้ เขาบอกว่าในไทย คุณสามารถเจอร้านอาหารร้านหนึ่งได้ในหลายแอปฯ และมักจะมีราคาไม่ต่างกัน แล้วแต่ว่าในแต่ละแพลตฟอร์มจะเก็บค่าบริการเพิ่มเท่าไหร่

“ถ้าคุณคิดดีๆ แอปฯ เหล่านี้ก็ไม่ต่างไปจากสมุดหน้าเหลืองแบบดิจิทัล พวกเขายกร้านอาหารมาไว้บนออนไลน์และทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องใหม่ในสองถึงสามปีที่ผ่านมา แต่ไม่ใช่กับตอนนี้แล้ว ในอนาคตแอปฯ เดลิเวอรีเหล่านี้อาจต้องตอบคำถามว่าอะไรคือ ‘คุณค่า’ ที่เขาเพิ่มเข้าไปในแอปฯ และพวกเขาจะสร้างผลประโยชน์ให้กับสังคมได้ยังไง”

เพนพอยต์อีกข้อคือ ระบบการโฆษณาที่ร้านค้าจะต้องจ่ายเงินให้แอปฯ เพื่อขึ้นหน้าแรกให้ลูกค้าเห็นได้ง่ายๆ ทำให้มีแต่ร้านที่ทุนหนาเท่านั้นที่ทำได้ และโอกาสการขายของร้านเล็กๆ ก็จะน้อยลง

เพนพอยต์สุดท้ายซึ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ ร้านอาหารที่อยู่บนแอปฯ ล้วนต้องมี ‘หน้าร้าน’ วินเซนต์มองว่า การมีหน้าร้านคืออุปสรรคใหญ่ที่ทำให้เราพลาดโอกาสจะได้ชิมฝีมือคนทำอาหารอร่อยไปหลายคน เพราะมันต้องใช้ต้นทุนเงิน เวลา และการบริหารร้าน

สำหรับคนที่ไม่ได้อยากเปิดร้านอาหารเป็นงานประจำ แค่คิดก็เหนื่อยแล้ว

Chook เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขเพนพอยต์เหล่านี้ ในฐานะแอปฯ อาหารโฮมเมดที่ใช้ง่าย ฟรี และเปิดโอกาสให้คนมีพรสวรรค์ด้านการทำอาหารมาเปิดร้านของตัวเองเท่าที่มีแรง โดยไม่ต้องเสียเงินและเวลาไปกับการทำหน้าร้านเลย

อาหารประจำถิ่น

เพราะชื่อ Chook มาจากคำว่า Chef และ Cook

มิชชันของแบรนด์ฯ จึงเป็นการชูโรงสองคำนี้ ผสมกัน และปรุงมันให้โดดเด่นและดึงดูดไม่ต่างจากอาหารจานหนึ่ง

“Chook คือคอมมูนิตี้ที่จะช่วยไฮไลต์และบอกเล่าเรื่องราวของคนทำอาหารโฮมเมดและจานเด็ดของพวกเขา ช่วยจูงใจให้ลูกค้าได้สนับสนุนโลคอลเชฟ เพื่อนบ้าน กัลยาณมิตร ไปจนถึงคนในครอบครัว” เจ้าของแบรนด์เล่าความตั้งใจ

ที่บอกว่าช่วยบอกเล่าเรื่องราว เขาหมายความอย่างนั้นจริงๆ เพราะนอกจากหน้าตาแพลตฟอร์มที่เป็นมิตร ให้ผู้ใช้ได้กดสั่ง กดดูได้อย่างสะดวกสบาย ระบบของ Chook ยังมีการใส่สตอรีของคนทำ รวมถึงสตอรีของเมนูแต่ละเมนูลงไปให้กดอ่านได้ง่ายๆ

“ถ้าคนกินรู้เรื่องราวเหล่านี้มากขึ้น เข้าใจมันในมุมที่ลึกขึ้น ผมเชื่อว่าการกินอาหารมื้อนั้นจะพิเศษขึ้นมา พวกเขาจะอิ่มเอมกับความทุ่มเทและคุณค่าที่คนทำใส่ลงไปในแต่ละจาน มากกว่าการโฟกัสหาดีลหรือโปรโมชันอาหารในแอปฯ แบบที่เคยเป็นมา”

ยังไม่หมดเท่านั้น ความพิเศษที่ทำให้ Chook แตกต่างจากแอปฯ อาหารอื่นคือเงื่อนไขอันเรียบง่าย นั่นคือ ร้านและคนทำอาหารที่อยู่บนแอปฯ จะต้องเป็นคนทำอาหารจากบ้าน (Cook from Home) เท่านั้น บางคนอาจไม่มีหน้าร้านเลย ทำอาหารจากในบ้านจริงๆ หรือบางคนอาจจะเปิดหน้าร้านเล็กๆ อยู่ใต้ถุน ส่วนชั้นบนเป็นบ้านที่ใช้อยู่อาศัยก็ได้เหมือนกัน

และอย่างที่บอกว่าแต่ละร้านไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านหรือทำธุรกิจร้านอาหารจริงจัง เช่นนี้แล้ว ไม่แปลกเลยที่เราจะได้เห็นเจ้าของร้านใน Chook เป็นฟรีแลนซ์ผู้ทำงานที่บ้านที่อยากหารายได้เพิ่ม หรือบางคนก็เป็นพนักงานออฟฟิศกะกลางวันที่อยากสลับบทบาทมาเป็นเชฟหลังเลิกงาน

อาหารประจำชาติ

หลายคนอาจสงสัยเหมือนเราว่า ทั้งๆ ที่วินเซนต์ไปทำงานมาแล้วหลายประเทศ ทำไมเขาจึงเลือกเปิดตัว Chook ในไทย หรืออย่างน้อยก็เลือกไทยในฐานะประเทศแรกที่ Chook จะบุกตลาด

ชายหนุ่มยิ้ม ก่อนจะตอบเราว่า “ประเทศไทยมีคนทำอาหารที่มีพรสวรรค์เยอะมากๆ ซึ่งมีแค่ไม่กี่ประเทศที่พอจะเทียบได้ อาหารโฮมเมดของคนไทยนั้นเต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ เห็นได้ชัดจากวิธีการทำและรสชาติ อาจกล่าวได้ว่า อาหารโฮมเมดดีๆ ของไทยสามารถแข่งกับภัตตาคารดีๆ ได้เลย

“เหตุผลอีกข้อคือ มุมมองของคนทั่วไปที่มีต่ออาหารโฮมเมดไทยนั้นดีมาก คนไทยมองว่าอาหารโฮมเมดนั้นอร่อยพอๆ กับร้านอาหารหลายร้าน และผู้คนก็ยอมจ่ายเงินเพื่อซื้อมัน ผมคิดว่ามีไม่กี่ประเทศที่จะเป็นแบบนี้นะ”

นอกจากนั้น วินเซนต์มองว่าคนไทยยังมี ‘จิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการ’ ที่เข้มข้น 

“ตอนผมยังทำงานในบริษัท ผมไม่เคยเจอเพื่อนร่วมงานที่ไหนที่เหมือนกับเพื่อนร่วมงานคนไทย ซึ่งนอกจากงานหลักแล้วยังทำธุรกิจเสริมได้อีก สิ่งที่ผมชื่นชมคนไทยมากๆ คือพวกเขามักจะมองโลกในแง่ดี”

อาหารประจำบ้าน

Chook เปิดตัวครั้งแรกบน LINE OA เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีทั้งระบบสั่งอาหารแบบพรีออเดอร์และเรียลไทม์ โดยจำกัดการบริการอยู่ในกรุงเทพฯ แต่จะค่อยๆ ขยายพื้นที่ให้บริการให้กว้างขึ้นในอนาคต เช่นเดียวกับจำนวนของร้านค้าและคนทำอาหารในแอปฯ ที่พวกเขาอยากสนับสนุนให้มีเยอะขึ้น

(แอบขายไว้ตรงนี้สักนิดว่า ค่าดำเนินการที่ Chook หักไปนั้นย่อมเยากว่าแอปฯ อื่นมาก คนทำอาหารจะได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่าแน่นอน)

“Chook อยากเป็นจุดเริ่มต้นและจุดให้บริการเดียวของร้านอาหารโฮมเมด งานของเราจึงเป็นการสื่อสารเรื่องราวของคนทำอาหารและจานของพวกเขา ไม่ว่ามันจะเป็นจานที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น สูตรอาหารที่แต่ละบ้านทุ่มเทความคิดสร้างสรรค์และแพสชันลงไป หรือเมนูสดใหม่ที่มีส่วนผสมและวิธีการทำไม่เหมือนที่ไหน” วินเซนต์บอกเป้าหมาย

“ในอนาคต เราอยากทำให้ Chook เป็นแอปฯ ทางเลือกสำหรับการสั่งอาหารโฮมเมดในเอเชีย แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เราต้องดึงตัวเชฟประจำบ้านที่ไม่มีใครรู้จักมาร่วมงานกัน สร้างการรับรู้ในไทย และพยายามสร้างฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนให้ได้” เช่นว่า ระบบการแจ้งเตือนเมื่อร้านโฮมเมดดังๆ กลับมาออนไลน์ในแอปฯ อีกครั้ง หรือการให้ชุกกีส์สามารถไลฟ์สตรีมระหว่างทำอาหาร ให้ลูกค้าได้เห็นพรสวรรค์ของพวกเขาแบบเต็มตา

สำหรับวินเซนต์ หนทางข้างหน้าของ Chook ยังอีกยาวไกล แต่สิ่งที่ผลักดันให้เขายังทำต่อได้ทุกวันคือฟีดแบ็กที่อบอุ่นหัวใจจากทั้งฝั่งลูกค้าและคนทำงาน

“มันน่าพึงพอใจมากๆ เลยครับที่ได้ยิน และสำหรับผม มันคือตัวชี้วัดที่บ่งบอกว่ายังมีพื้นที่สำหรับอาหารโฮมเมดในหัวใจของผู้คนเสมอ” ชายหนุ่มยิ้ม


ใครสนใจติดตาม Chook ได้ทางเว็บไซต์

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.