บอส-สิทธิชาติ สุขผลธรรม ไม่ใช่คนเชียงใหม่ แต่เขาคือเจ้าของเพจ ‘Chiang Mai Urban Cyclist: ปั่นรถถีบในเชียงใหม่’ ที่อยากผลักดันให้การขับขี่จักรยานในเชียงใหม่นั้นปลอดภัย มีถนนหนทางและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เป็นมิตรต่อนักปั่นกว่าที่เคย
จะพูดว่าบอสชอบปั่นจักรยานจนต้องลุกขึ้นมาก่อตั้งเพจก็อาจพูดได้ไม่เต็มปาก แต่หากจะกล่าวว่าชายหนุ่มชินกับการใช้จักรยาน บวกกับความอินเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ติดตัวมาตั้งแต่วัยรุ่น นั่นอาจนับเป็นแรงจูงใจในการทำเพจได้ เพราะมากกว่าการเรียกร้องเรื่องถนนหนทางและความปลอดภัย เพจของบอสยังอยากผลักดันไปถึงการตั้งนโยบายและพัฒนาเมืองในสเกลใหญ่ ที่ผู้ได้ประโยชน์จะไม่ใช่แค่นักปั่น แต่คือคนเชียงใหม่ทุกคน
เวลา 3 ปีที่มาอยู่เชียงใหม่ทำให้คนที่ขับขี่จักรยานในชีวิตประจำวันเช่นเขามองเห็นอะไรบ้าง และแรงผลักดันหน้าตาแบบไหนที่ทำให้เขาเชื่อว่าเชียงใหม่จะเป็นเมือง Bicycle-friendly ได้ในที่สุด เรานัดเจอบอสเพื่อสนทนาเรื่องนี้กัน
แน่นอนว่าในวันที่นัดเจอ เขาปรากฏตัวพร้อมกับจักรยานคู่ใจที่ขี่ไปไหนมาไหนรอบเมือง
“เราเริ่มขี่จักรยานเพราะมันเป็นการเดินทางที่สะดวกและถูกที่สุด”
“เราสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่เรียนจบ ม.6 พอขึ้นมหาวิทยาลัยก็ไปอยู่ชมรมอนุรักษ์ งานหลักๆ ของชมรมคือจัดค่ายและแคมเปญ แต่จริงๆ มันเป็นเรื่องการปลูกจิตสำนึกให้คนเข้าใจประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่า
“พอเรียนปริญญาตรีจบ เราไปเรียนต่อโทด้านวิศวกรรมทางทะเลที่ฮาวาย ที่นั่นทำให้เราเริ่มขี่จักรยานเพราะมันเป็นการเดินทางที่สะดวกและถูกที่สุด เราใช้รถเมล์บ้าง แต่บางทีรถเมล์ก็ไม่ได้พาเราไปสุดทางที่อยากไป และบางทีมันก็ช้ากว่าขี่จักรยานเสียอีก
“ฮาวายเป็นเกาะที่เป็นมิตรกับคนขี่จักรยาน ด้วยเพราะต้นไม้เยอะ ถนนมีร่มเงา คนที่นั่นจึงใช้จักรยานกันค่อนข้างเยอะ ถนนจะมีเลนจักรยานโดยเฉพาะในบางพื้นที่ ส่วนโซนที่ไม่มีเขาก็จะมีป้ายเขียนว่า Share the Road เพื่อให้คนขับรถให้ทางกับคนขี่จักรยานด้วย แม้แต่บนรถเมล์ก็จะมีพื้นที่ให้วางจักรยานบนนั้น
“เราอยู่ฮาวายได้สามปี และกลับมาไทยตอนโควิดพอดี ทำงานเป็นวิศวกรในบริษัทน้ำมันอยู่พักใหญ่ แล้วก็มีความรู้สึกไม่อยากอยู่กรุงเทพฯ เพราะสำหรับเรา กรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ที่เดินทางเหนื่อย บ้านเราอยู่นนทบุรีใช้เวลาเดินทางหลายชั่วโมง ไหนจะเรื่องมลภาวะทางเสียงและสายตา เราเลยตัดสินใจย้ายมาอยู่เชียงใหม่ ทำงานเป็นนักวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศให้บริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่ง”
“เชียงใหม่มีคนที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน”
“เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีไซซ์ใกล้ๆ ฮาวาย ถนนหนทางและคนขับรถเป็นมิตรกว่ากรุงเทพฯ คนเชียงใหม่หลายคนจึงชอบขี่จักรยาน สิ่งที่หลายคนเข้าใจผิดคือ คนใช้จักรยานส่วนมากจะเป็นนักปั่นหรือนักกีฬาที่ปั่นขึ้นดอยหรือปั่นทางไกลเท่านั้น ซึ่งจริงๆ พวกเขาก็มีเยอะและปั่นกันบ่อย แต่ในขณะเดียวกัน เชียงใหม่ก็มีคนที่ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันอย่างผู้เฒ่าผู้แก่ที่ปั่นกันในชุมชน และคนจีนที่มาอาศัยอยู่นี่ก็ใช้จักรยานไฟฟ้ากันเยอะ
“เราคิดว่าตอนอยู่ฮาวายเราใช้จักรยานได้ อยู่นี่ก็คงใช้ได้ แต่พอได้มาใช้จริงๆ เราพบความยากลำบากประมาณหนึ่ง เช่น หากจะขี่ได้อย่างปลอดภัย เราต้องขี่เร็วให้เท่ากับรถบนถนน เพื่อให้เขาไม่เสียจังหวะ บางโซนขี่แล้วอันตรายมาก เช่น โซนคูเมือง เพราะถนนมีสามเลน ถ้าจะกลับรถทีก็ทำได้ลำบากเพราะต้องเข้าไปเลนด้านในสุด ส่วนเลนสำหรับขี่จักรยานจริงๆ ก็มีแต่โซนนอกเมือง
“ถ้าให้คะแนนความเป็นมิตรกับคนขี่จักรยาน เราคงให้เชียงใหม่สักสี่เต็มสิบ คนขี่จักรยานที่นี่ต้องมีสกิลและปรับตัวเข้าหารถ แต่ในเวลาเดียวกัน นโยบายและโครงสร้างพื้นฐานยังไม่เป็นมิตรขนาดนั้น”
“การดีไซน์ถนนก็เหมือนการดีไซน์บ้าน”
“ความคิดในการทำเพจปั่นรถถีบในเชียงใหม่ไม่เคยเกิดกับเรามาก่อน จนกระทั่งได้ไปร่วมกลุ่ม Critical Mass CNX ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชวนให้คนมาปั่นจักรยานร่วมกัน เพื่อให้คนในเมืองเห็นว่ามีคนเหล่านี้อยู่ การเข้าร่วมกลุ่มนี้ทำให้เราได้เห็นว่ามันมีคนที่พร้อมจะลงแรงทำอะไรบางอย่าง เพื่อทำให้การขับขี่จักรยานในเชียงใหม่ดีกว่าเดิม
“แต่ Critical Mass CNX ไม่ได้เป็นกลุ่มที่ผลักดันในระดับนโยบาย เราเลยคิดถึงการทำเพจที่จะพูดเรื่องนี้อย่างจริงจัง มีการทำกิจกรรมหรือนโยบายเชิงเรียกร้องมากขึ้น และเราคิดว่าการผลักดันนโยบายเรื่องนี้จะทำให้ทั้งคนขี่จักรยานและคนที่ไม่ได้ขี่จักรยานได้ประโยชน์ด้วยกัน
“สำหรับเรา การดีไซน์ถนนก็เหมือนการดีไซน์บ้าน ถ้าเราออกแบบให้นักกีฬาอยู่แล้วทำขั้นบันไดสูงๆ คนอื่นก็จะอยู่ไม่ได้ ในทางกลับกัน ถ้าเราออกแบบให้คนที่เปราะบางมากที่สุดอยู่ได้ คนอื่นก็จะอยู่ได้สบายหมดเลย กับเมืองก็เหมือนกัน ถ้าเราออกแบบให้คนใช้ถนนที่เปราะบางที่สุดอย่างคนขี่จักรยานหรือคนเดินเท้า คนอื่นจะปลอดภัยขึ้นไปอีก
“เพจของเราจึงเน้นบ่น สร้างความตระหนักรู้ และให้ข้อมูลเป็นหลัก เพราะเราเชื่อว่า ก่อนจะทำข้อเสนอหรือนโยบายเราต้องมีข้อมูลก่อน ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเรื่องถนนหนทางหรือบรรยากาศในการขี่จักรยาน เราอยากสื่อสารว่าทางแบบไหนที่ไม่ปลอดภัย ถ้าทำให้ทางปลอดภัยคนจะออกมาขี่จักรยานมากขึ้น ข้อมูลเหล่านี้จะต่อยอดกลายเป็นนโยบายได้ เราเลยเน้นการอัดคลิปวิดีโอที่ไม่ต้องตัดต่ออะไรมาก แค่เก็บบรรยากาศว่าเราเคยขี่ผ่านตรงนี้ และแต่ละช่วงปีมันเป็นยังไง
“จะเห็นได้ว่า จริงๆ เพจของเราพูดเรื่องจักรยานแหละ แต่ในการผลักดันว่าจะมีทางจักรยานที่ดี มันจะเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ด้านอื่นๆ ของเมืองด้วย ไม่ว่าจะเรื่องสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย หรือเศรษฐกิจ มีงานวิจัยหนึ่งบอกว่า ถ้าเมืองทำทางจักรยานและทางเท้าให้ดี จะกระตุ้นให้คนอยากออกมาเดินถนนมากขึ้น และทำให้ร้านค้าท้องถิ่นค้าขายดีขึ้นด้วย เราก็อยากเห็นแบบนั้น”
“ถ้าพัฒนาดีๆ เราว่าเชียงใหม่จะขึ้นชื่อและเทียบกับที่อื่นได้เลย”
“นโยบายเกี่ยวกับจักรยานที่เราอยากให้เกิดกับเชียงใหม่มีสองเรื่องหลัก นั่นคือ เรื่องเลนจักรยานกับร่มเงา เราอยากให้มีเลนจักรยานโดยเฉพาะ และอยากให้ปลูกต้นไม้เยอะกว่านี้ โครงสร้างพื้นฐานมีแค่นั้นเลย ส่วนเรื่องจุดจอดจักรยานเป็นเรื่องเสริม ถ้ามีก็ดี
“แต่ต้องยอมรับว่า ถ้ามีเลนจักรยานปุ๊บ ถนนจะเล็กลง เพราะถนนเชียงใหม่ไม่ได้ใหญ่ ส่วนมากจะเป็นถนนหนึ่งถึงสองเลนเท่านั้น ผลกระทบเชิงลบในช่วงแรกคือ ถ้าถนนมีพื้นที่น้อย รถจะติดขึ้นแน่นอน หลายคนอาจรู้สึกไม่สะดวกสบายมากขึ้น แต่เราว่าข้อดีคือมันอาจจะทำให้คนใช้รถยนต์น้อยลงด้วย เพราะคนจะปรับพฤติกรรมตามปริมาณรถติด อาจจะไม่ถึงขั้นใช้จักรยานแต่ใช้มอเตอร์ไซค์หรือเรียกบริการรถรับส่งแทน และเมื่อรถยนต์ส่วนตัวน้อยลง น้ำมันก็ผลาญน้อยลง มลภาวะทางอากาศก็น้อยลง ถนนก็เสื่อมช้าลง
“ยอมรับว่า ณ ตอนนี้ ภาพที่เราอยากเห็นยังเป็นไปได้ยาก เพราะ อบจ. หรือเทศบาลเขายังไม่มีงบลงทุนส่วนนี้ ที่สำคัญคือยังไม่มีวิสัยทัศน์ เราเลยรู้สึกว่า ถ้าจะผลักดันเรื่องขนส่งหรือจักรยานจริงๆ การดำเนินงานโดย อบจ. ท้องถิ่นอาจไม่เพียงพอ ต้องเป็นรัฐส่วนกลางที่ต้องจัดสรรงบมายังหัวเมืองใหญ่ ซึ่งต้องเป็นงบที่เป็นภาระผูกพันห้าถึงสิบปี เพราะดูอย่างกรุงเทพฯ กว่าจะมีรถไฟฟ้าใช้ทุกวันนี้ เขาทำกันมาเป็นสิบยี่สิบปี ขาดทุนกันมาเป็นสิบปีกว่าจะเห็นตัวเลขสีเขียว
“แต่ระหว่างรอ เราก็เชื่อว่าประชาชนแบบเราทำอะไรบางอย่างได้ ไม่งั้นเราก็คงไม่ทำเพจนี้ขึ้นมา (หัวเราะ) เราอาจจะออกมาใช้จักรยานกันมากขึ้นเพื่อให้เกิดการมองเห็นว่ามีคนใช้จริง หรืออย่างน้อยก็อย่าขัดขาคนที่เรียกร้องเรื่องนี้ อย่างก่อนหน้านี้ที่เขาเรียกร้องเรื่องรถเมล์กัน ก็จะมีคนมาขัดขาว่าไม่ได้ใช้หรอก (หัวเราะ) เราไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น
“หลายคนติดภาพว่าเชียงใหม่คือเมืองสโลว์ไลฟ์ เราอยากเห็นเชียงใหม่หลุดออกจากกรอบนั้นและสู้กับเมืองอื่นๆ ทั่วโลกได้ เพราะตอนนี้เวลาคนพูดถึงเมืองใหญ่ คนจะนึกถึงฮ่องกง สิงคโปร์ กรุงเทพฯ นิวยอร์ก อะไรพวกนี้ แต่เราคิดว่าเชียงใหม่มีต้นทุนหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติหรือการเป็นเมืองครีเอทีฟ ถ้าพัฒนาดีๆ เราว่าเชียงใหม่จะขึ้นชื่อและเทียบกับที่อื่นได้เลย
“เราคิดว่าเมืองควรจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้ทำให้เมืองทึบขึ้นหรือร้อนขึ้น หรือทำให้คนจ่ายเงินค่าน้ำมันเยอะขึ้น เราอยากเห็นเชียงใหม่ลงทุนกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นที่ ลดรายจ่ายคน พัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น ซึ่งเรื่องการเดินทางเป็นส่วนหนึ่ง ถ้าเรามีตัวเลือกการเดินทางที่หลากหลายและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่านี้ ก็เป็นเรื่องที่ดีกับคนเชียงใหม่”