วัยรุ่นเกาหลีใต้เก็บตัวจนภาครัฐหาทางพากลับสู่สังคม - Urban Creature

ปัจจุบัน ‘การใช้ชีวิตสันโดษ’ หรือ ‘การแยกตัวอย่างโดดเดี่ยว’ กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมเกาหลีใต้ ถึงแม้ว่าเบื้องหน้าที่เราเห็นผ่านซีรีส์หลายเรื่องจะสะท้อนให้เห็นว่า แดนกิมจินั้นเต็มไปด้วยความเจริญในมิติต่างๆ ผู้คนดูมีชีวิตชีวา รวมถึงมีกิจกรรมมากมายที่เอื้อให้เหล่าวัยรุ่นชาวเกาหลีได้ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในกรุงโซลยังมีคนรุ่นใหม่อีกจำนวนไม่น้อยที่เลือกจะเก็บตัวอยู่แต่ภายในบ้าน ตัดขาดจากโลกภายนอก และออกจากบ้านเป็นครั้งคราวเท่านั้น

ซึ่งรัฐบาลเกาหลีใต้เองก็เล็งเห็นว่า การแยกตัวออกจากสังคมนั้นส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและใจของเหล่าวัยรุ่น มากไปกว่านั้น ปรากฏการณ์นี้ยังมีผลกระทบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากตัวเลขของประชากรวัยทำงานจะลดลง หนึ่งสาเหตุสำคัญเกิดจากเยาวชนไม่สามารถเข้ากับสังคมได้ เพราะใช้ชีวิตอยู่กับความโดดเดี่ยวมาเป็นเวลานาน

คอลัมน์ City in Focus จึงอยากจะชวนไปดูปัญหาและผลกระทบที่เกิดจากการเก็บตัวของคนรุ่นใหม่ในเกาหลีใต้ ไปจนถึงการแก้ปัญหาของภาครัฐที่ตั้งใจพาเหล่าวัยรุ่นผู้เก็บตัวอย่างโดดเดี่ยวให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างที่ควรจะเป็น

สาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นเกาหลีกลายเป็นคนเก็บตัว

South Korea Youth Isolation

จากการสำรวจของรัฐบาลเกาหลีใต้พบว่า มีชาวเกาหลีอายุ 19 – 39 ปีที่ใช้ชีวิตแบบ ‘โดดเดี่ยวและสันโดษ’ โดยมีคำนิยามของคนกลุ่มนี้ว่า เป็นคนที่อาศัยอยู่แต่ในพื้นที่จำกัด อยู่ในสภาพที่ขาดการเชื่อมต่อจากสังคมภายนอก ไม่ค่อยออกไปไหนเป็นเวลานานกว่าหกเดือน และมีปัญหาในการใช้ชีวิตอย่างเห็นได้ชัด

ตามรายงานของกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวเผยว่า ประมาณ 3.1 เปอร์เซ็นต์ หรือ 350,000 คนของกลุ่มนี้มาจากครอบครัวยากจน เป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาปิดกั้นตัวเองตั้งแต่ยังเด็กจากการโดนบุลลี่ในสังคมโรงเรียน หรือเผชิญกับความรุนแรงในครอบครัวจนทำให้ออกจากบ้านได้ยาก ส่งผลให้เกิดปัญหาการสื่อสารและการพูดคุยกับคนนอกตามมา

South Korea Youth Isolation

ทว่าสาเหตุไม่ได้เกิดจากปัญหาในครอบครัวอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความวิตกกังวลทางสังคม ความเครียด การตกงาน ปัญหาการหางานยาก ปัญหาด้านจิตใจ และความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้คนเหล่านี้ต้องปลีกตัวออกมาเพื่อหลีกหนีการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ในสังคมด้วย

ผลกระทบของการแยกตัวอย่างโดดเดี่ยว

South Korea Youth Isolation

หากมองผ่านๆ การแยกตัวออกมาจากสังคมอาจทำให้ขาดทักษะการใช้ชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่ความจริงแล้วมีวัยรุ่นหลายคนที่ได้รับการประเมินว่ามีสุขภาพย่ำแย่ ทั้งร่างกายไม่มีเรี่ยวแรง เติบโตช้าจากการขาดสารอาหาร ได้รับโภชนาการที่ไม่สมดุลเพราะใช้ชีวิตแปลกไปจากปกติ ยิ่งไปกว่านั้น งานวิจัยในปี 2015 ยังพบว่า ความโดดเดี่ยวทางสังคมยังเป็นอันตรายมากกว่าโรคอ้วนถึงสองเท่า แถมยังเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอีกด้วย

นอกจากสุขภาพกายแล้ว การแยกตัวจากสังคมยังนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตอย่างภาวะซึมเศร้าและอาการอื่นๆ ทางด้านจิตใจที่เกิดจากการใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยว จนสูญเสียบทบาททางสังคมและปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ช้าลง และทำให้ความมั่นใจในการเข้าสังคมลดลงกว่าเดิมด้วย

South Korea Youth Isolation

ซึ่งปัญหาสุขภาพจิตเหล่านี้อาจซ้ำเติมปัญหาของเกาหลีใต้ที่มีตัวเลขผู้ป่วยซึมเศร้าและอัตราการฆ่าตัวตายสูงอยู่แล้ว โดยรายงานในปี 2564 ระบุว่า ประเทศเกาหลีใต้มีผู้เข้ารักษาภาวะซึมเศร้ามากถึง 933,481 คน และในปีเดียวกันก็มีคนเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายถึง 13,000 คน คิดเป็นจำนวน 26 รายต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งถือได้ว่าเป็นอัตราที่สูงที่สุดในเอเชียเลยทีเดียว

แม้ว่าตัวเลขเหล่านี้จะไม่ได้ระบุชัดว่าเกิดจากการตัดขาดจากโลกภายนอกทั้งหมดหรือไม่ แต่ข้อมูลข้างต้นก็ได้อธิบายไว้แล้วว่า การปลีกตัวออกจากสังคมนั้นมีส่วนทำให้สภาพจิตใจย่ำแย่ เพราะฉะนั้นหากยังปล่อยให้ภาวะการแยกตัวออกจากสังคมเกิดมากขึ้นเท่าไร ความเสี่ยงที่ตัวเลขผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจากภาวะซึมเศร้าจะเพิ่มสูงขึ้นก็อาจจะมีมากขึ้นตามไปด้วย

เกาหลีใต้พาวัยรุ่นกลับสู่สังคม

South Korea Youth Isolation

เมื่อเห็นว่าการซ่อนตัวจากสังคมส่งผลอย่างมากต่อสุขภาพทั้งกายและใจของอนาคตของชาติ เมื่อเดือนเมษายน 2566 ทางรัฐบาลเกาหลีใต้จึงได้ประกาศมาตรการใหม่เพื่อแก้ปัญหานี้ นั่นคือ การมอบเงินกว่า 650,000 วอน หรือราว 16,600 บาทต่อเดือน ให้กับกลุ่มวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 9 – 24 ปีที่แยกตัวออกมา เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางจิตใจ อารมณ์ และการเติบโตที่ดี รวมถึงกระตุ้นให้วัยรุ่นเหล่านั้นได้ออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านและกลับเข้าสู่สังคม ไม่ว่าจะกลับไปเรียนหรือหางานทำก็ตาม

โดยมาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมาย Youth Welfare Support Act ที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยเหลือกลุ่มที่ปลีกตัวออกจากสังคมอย่างรุนแรง แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวจะได้รับเงินสนับสนุนก้อนนี้ ต้องเป็นผู้ที่อยู่ในเกณฑ์และเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด เช่น คนที่มีปัญหาในการปรับตัวเข้ากับสังคม คนที่ครอบครัวมีปัญหาทางการเงิน หรือคนที่มีปัญหาทางสุขภาพจิตอย่างรุนแรง เป็นต้น จึงจะสามารถรับเงินสนับสนุนนี้ในการใช้จ่ายสำหรับค่าครองชีพ ค่าอุปกรณ์การเรียน และค่าประสบการณ์ทางวัฒนธรรม

ไม่ใช่แค่การพาวัยรุ่นออกมาพบปะสังคมเท่านั้น แต่รัฐบาลเกาหลีใต้ยังหวังว่านโยบายนี้จะมีส่วนช่วยเพิ่มจำนวนประชากรวัยทำงานกลับสู่ตลาดแรงงาน เพราะถึงแม้ว่าเศรษฐกิจในประเทศจะพุ่งสูงขึ้น ขณะเดียวกัน เกาหลีใต้ก็กำลังประสบปัญหาการว่างงานของเยาวชนในระดับที่สูงด้วยเหมือนกัน

Sources :
American Psychological Association | bit.ly/2lVX1xl
BangkokbizNews | bit.ly/42IIAvK
CNN | cnn.it/44Liaem
Next Shark | bit.ly/44J7bSJ
Statista | bit.ly/3nVkcYN
The Korea Herald | bit.ly/3HWt2fV
Time | bit.ly/3HX9AQ4

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.