พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ : สื่อไทยเพื่อเพศเท่าเทียม - Urban Creature

กรกฎาคม 2021 Thaipublica.org รายงานว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไทยผลิตซีรีส์วายมากถึง 40 เรื่อง และในปีเดียวกันนั้น คาดว่าจะมีซีรีส์มากถึง 90 เรื่อง มองเผินๆ คุณคงคิดว่า ประเทศนี้เฟรนด์ลี่กับคนที่มีความหลากหลายทางเพศเอามากๆ แต่เปล่าเลย นี่เป็นเพียงฟิกชันในหนังสือ และสื่อเพื่อเอนเตอร์เทนเมนต์ ไม่ใช่เรื่องจริง 

เช่นเดียวกับมายาคติ ‘ไทยคือสรวงสวรรค์ของ LGBTQ+’ ที่ผลิตซ้ำพร่ำเพรื่อ แต่ในชีวิตจริงคือขั้วตรงข้าม คู่รักเพศเดียวกันยังลงเอยทางกฎหมายไม่ได้ มิหนำซ้ำชุมชนเพศหลากหลายยังคงเผชิญอคติ ถูกลิดรอนสิทธิซ้ำๆ โดยไม่มีกฎหมายหรือนโยบายมารองรับสิทธิที่ควรจะเป็น

จนทุกวันนี้ สังคมไทยยังสะสมการกดทับนานหลายเจเนอเรชัน มีการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมประเด็นเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อความเท่าเทียมทางเพศไม่มีจริง การเรียกร้องเรื่องซ้ำๆ จึงเป็นสัจธรรมของรัฐแห่งการเพิกเฉย

อั้ม-พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ ทรานส์คือผู้หญิง

นั่นคือเหตุผลที่ผลักให้ อั้ม-พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ สื่อมวลชนรุ่นใหม่ เดินหน้านำเสนอประเด็นซัปพอร์ตสิทธิความเท่าเทียมทางเพศตั้งแต่เธอเรียนจบปริญญาตรีด้านวารสารศาสตร์ อั้มเคยเขียนบทความสิทธิมนุษยชนจากประสบการณ์ส่วนตัวเรื่อง ประเทศไทย : ดินแดนสวรรค์ (หลอกๆ) ที่คนข้ามเพศถูกผลักออกได้ทุกวินาที จนได้รับรางวัล Writers that Matters : นัก (อยาก) เขียน เปลี่ยนโลก จากเวทีการประกวดของ Amnesty มาครอง

แม้การเปลี่ยนทัศนคติผู้คนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ทุกวันนี้อั้มตั้งใจทำงานสื่อ เพราะเชื่อมั่นว่าความคิดคนเปลี่ยนไปในทางที่เข้าอกเข้าใจกันได้ เธอคิดว่า สังคมและรัฐควรรองรับสิทธิเสรีภาพของคนอย่างเท่าเทียมกัน และหวังอย่างยิ่งว่าสักวันการทำงานสื่อสารของเธอจะเปลี่ยนโลกใบนี้ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

สื่อสารมวลชนยังสื่อสารปัญหา LGBTQ+ น้อยจนเกินไป

“เรารู้สึกว่าการผลิตซ้ำและสเตอริโอไทป์ LGBTQ+ มีมานานมากแล้ว อย่างถ้าสื่ออยากจะนำเสนอความตลกโปกฮา ก็จะสร้างตัวละคร LGBTQ+ ขึ้นมา

“หรือซีรีส์วายที่มีอยู่ในตลาดเยอะมาก ส่วนใหญ่ก็เป็นมุมมองของผู้กำกับคนหนึ่งที่สื่อสารโดยไม่ได้สอบถามรายละเอียดจากคนที่มีความหลากหลายทางเพศจริงๆ ขนาด LGBTQ+ ไปสมัครเป็นนักแสดงในซีรีส์ ก็ยังมีกรณีการถูกกีดกัน

อั้ม-พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ สื่อเพื่อความเท่าเทียมไทย

“เราเป็น Trans ทำให้อินประเด็นเรื่องทรานส์เป็นพิเศษ อย่างทรานส์ไม่เคยแสดงบทนำเลย แต่คุณก็หากินกับบทนี้ โดยใช้ผู้หญิงตรงเพศกำเนิด (Cis Woman) มาแสดงแทนเรื่อยๆ และมีการสร้างอคติที่ว่า ทรานส์สวยมากจนผู้ชายสับสนว่าจริงๆ แล้วคนนี้เป็น Cisgender (ผู้ที่เพศกำเนิดตรงกับเพศสภาพ) หรือเปล่า ถ้าเราชอบจะผิดไหมนะ

“ตรงข้ามกับซีรีส์ต่างประเทศอย่าง Euphoria ที่ Hunter (นักแสดงหญิงข้ามเพศ) และ Zendaya ซึ่งกลายเป็นผู้หญิงสองคนที่ได้เป็นตัวเอกคู่กัน ถ้าประเทศไทยมีการสื่อสารรูปแบบนี้บ้าง ในระยะยาวจะส่งผลต่อกฎหมายเพราะทัศนคติของคนจะถูกหล่อหลอมในมุมมองใหม่ๆ ว่าความรักลื่นไหลได้ ไม่ใช่การผลักทรานส์ออกมา แล้วฉาบด้วยความคิดที่ว่า มึงคงจะไม่มีความรักแท้จริงได้หรอก หรือมึงไม่ควรมีสิทธิเทียบเท่าผู้หญิง เอ้า ถ้าจะอคติกันจนปิดหู ปิดตา งั้นลองเริ่มจากการมองทรานส์เป็นคนคนหนึ่งให้ได้ก่อน สิทธิของเขามันก็ต้องเท่าคนอื่นด้วยไง ไม่ใช่ถูกกดให้เป็นรองตลอด สื่อเองจึงควรทำการบ้านเรื่องนี้ให้มากขึ้นด้วย 

อั้ม-พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ สื่อเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ

“คอนเทนต์เรื่องความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ สมัยก่อนเราจะไม่ค่อยเห็นข่าวด้านสิทธิของชุมชนเพศหลากหลายสักเท่าไหร่ ดังนั้นต้องแยกระหว่างสื่อที่ทำคอนเทนต์เพื่อการรายงานอย่างเดียว กับการสื่อสารประเด็นเจาะลึก เพื่อทำความเข้าใจ LGBTQ+ จริงๆ ถ้ามองกันอย่างละเอียด สื่อบันเทิงต่างๆ ก็นำเสนอภาพ LGBTQ+ เหมือนกัน แต่จะสื่อสารได้อย่างเข้าอกเข้าใจหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่อง สำหรับสื่อที่ทำเรื่องความหลากหลายทางเพศจริงๆ แทบนับสำนักได้เลยว่ามีจำนวนกี่หัว บางครั้งความตื่นตัวเรื่องเพศจริงๆ อาจกระจุกตัวอยู่ในสังคม Twitter มากกว่าสื่อเสียด้วยซ้ำ 

“ยกตัวอย่างการรีพอร์ตเรื่องสมรสเท่าเทียม ส่วนใหญ่จะรายงานแค่ว่ามีอะไรเกิดขึ้น แต่ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดเพื่อทำความเข้าใจ ไม่ได้นำเสนอภาพรวมทั้งหมด มีแค่สื่อไม่กี่เจ้าที่จะบอกรายละเอียดว่าที่ผ่านมา LGBTQ+ ต้องเผชิญกับปัญหาสะสมรูปแบบไหน ถึงได้รู้สึกกดทับในประเด็นต่างๆ จนต้องออกมาเรียกร้องและผลักดันกฎหมาย

“เราคิดว่าข่าวและเนื้อหาเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศบ้านเรายังมีไม่มากพอ เท่าที่มีก็เป็นบางประเด็นที่เป็นไวรัลถึงจะกลายเป็นข่าวขึ้นมา อย่างเรื่องของเด็กข้ามเพศที่ถูกญาติตัดผมจนเป็นข่าวอยู่ช่วงหนึ่ง ก็มีแค่บางสื่อเท่านั้นที่วิเคราะห์ว่าสาเหตุจริงๆ ปัญหาเกิดจากอะไร”

อั้ม-พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ ผู้หญิง

หน้าที่ของสื่อคือการเปิดประตูสู่โลกแห่งความหลากหลาย

“เราคิดว่าเป็นสื่อต้องมีอินไซต์ จะทำประเด็นไหนต้องขุดรากของมันออกมา อย่างเรื่องความหลากหลายทางเพศในโทรทัศน์ ช่อง Mass Media ยิ่งหาดูได้ยากมาก หรือเวลานำเสนอ คุณใส่ความเห็นของ LGBTQ+ เข้าไปมากแค่ไหน หรือให้แอร์ไทม์สำหรับข่าวเหล่านี้น้อยเกินไปหรือเปล่า

“เรื่องที่เราเคยทำคอนเทนต์ส่วนมากเป็นเรื่องของ Gender เช่น คำเรียกกะเทย-ทอม ไม่ใช่ว่าทุกคนจะชอบใจ หรือการให้ความสำคัญกับ Consent ว่าเขาโอเคที่จะให้คุณเรียกเขาว่าแบบไหน, Sexual Harassment ในผู้หญิง, สิทธิของผู้หญิงที่จะเลือก No Bra, ปัญหาเรื่องประจำเดือน และสิทธิด้านผ้าอนามัย, เซ็กซ์เป็นเรื่องธรรมดาที่พูดคุยกันได้, ทรานส์ก็คือผู้หญิง, สิทธิของนักเรียนแพทย์ออทิสติก, การละเมิดสิทธิมนุษยชนผ่านการตัดผม, ความเท่าเทียมของหญิงรักหญิง, การบุลลี่เรื่องศัลยกรรม รูปร่างหน้าตา และประเด็นอื่นๆ 

อั้ม-พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ นักเขียน นักข่าว

“เมื่อก่อนอั้มไม่เคยเชื่อว่าตัวเองจะขีดเขียนเพื่อเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่หลังๆ ก็เริ่มมีความหวังขึ้นมา เพราะรู้สึกยิ้มได้และใจฟู เวลามีการตอบกลับและอธิบายให้คนที่ชอบเหยียดเพศเข้าใจ อย่างเราทำงานประจำในสื่อออนไลน์ ที่สื่อสารในเรื่องสิทธิของผู้หญิง คนจะเข้ามาถกเถียงกันเยอะมากๆ บางคนที่เห็นว่าเป็นเรื่องเพศก็จะปิดกั้น และเข้ามาด่าทันที ส่วนตัวเรารู้สึกเป็น Pain Point อย่างหนึ่ง เพราะคนยังอ่านไม่จบแต่ตัดสินใจด่าก่อน ซึ่งจะมีคนเข้ามาเถียงว่าต้องอ่านให้จบ แล้วทำความเข้าใจดีๆ อาจจะเก็ตปัญหาเหล่านี้มากขึ้นก็ได้

“ทุกวันนี้ ถือเป็นเรื่องดีแล้วที่สื่อต่างๆ หันมาทำเรื่องนี้กันมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอ และยังต้องลงลึกกับประเด็นให้มากขึ้นด้วย ถ้าอยากให้ประเด็นไปได้ไกล และมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น พวกเราก็ต้องทำงานต่อไปแบบไม่หยุด ซึ่งต้องเลือกด้วยว่ารูปแบบไหนนำเสนอแล้วเกิดประโยชน์กับสังคม อย่างเรื่องสมรสเท่าเทียมก็ต้องพูดจนกว่าจะมีการ Action เกิดขึ้น แต่บางสื่อกลับไปรายงานข่าวเรื่องการจดทะเบียนสมรสในเพศเดียวกันแบบปลอมๆ ที่ไม่ได้รับสิทธิทางกฎหมาย ซึ่งไม่ได้นำไปสู่อะไรเลย และยังทำให้คนเข้าใจผิดด้วยว่า เฮ้ย ก็จดทะเบียนได้แล้วนี่ 

“เรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลง และทำความเข้าใจคือเรื่องคำเหยียด LGBTQ+ เพราะตอนนี้ ไม่ใช่เมื่อสิบปีที่แล้ว ที่ไม่มีใครออกมาให้ความรู้มาก่อน เพราะส่วนหนึ่งบนหน้าสื่อจะใช้คำโดยไม่คำนึงถึงความละเอียดอ่อนทางเพศ เช่น คำว่า ‘เพศที่สาม’ คือเราต้องจัดลำดับกันด้วยเหรอว่า เพศที่หนึ่ง สอง หรือสาม ซึ่งตรงนี้สะท้อนว่า ในบางสื่อยังไม่ได้ทำความเข้าใจ หรืออัปเดตสิ่งเหล่านี้มากเพียงพอ

อั้ม-พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ ผู้หญิงสวย

“ประเด็นถัดมาคือ สื่อชอบประโคมข่าวให้การเป็น LGBTQ+ น่าตื่นเต้น นี่ไม่ใช่เรื่องตื่นเต้น เรื่องพิเศษ หรือเรื่องน่าแปลกประหลาด แต่เป็นเรื่องธรรมชาติมากๆ เราไม่ควรมาจับผิดใครว่า มึงเป็นหรือเปล่าเนี่ย ยิ่งดาราที่ถูกมองว่าเป็นเกย์ ถ้าเกิดเรารู้ว่าเขาเป็นจริงๆ แล้วจะเกิดอะไรขึ้น มันได้ประโยชน์อะไร เขาต้องตอบคำถามนี้ด้วยเหรอ แสดงว่าสื่อมีอคติเรื่องนี้หรือเปล่า ทำไมคิดว่าต้องจับโป๊ะให้ได้ว่าคนนี้เป็นเกย์ หรือเป็นเพศอื่นๆ”

สื่อคือนักเคลื่อนไหว เพื่อให้ชีวิตทุกคนดีขึ้นทุกวัน

“ในระดับองค์กรสื่อ โจทย์ที่ทุกคนต้องแก้ไขร่วมกันคือ เราจะเปลี่ยนทัศนคติของคนที่เข้ามาทำงานสื่อสารมวลชนยังไง เรารู้สึกว่าต้องทำประเด็นนี้เพิ่มขึ้น และต้องทำต่อเนื่อง นั่นเป็น Key สำคัญเลยนะ ถ้าสื่อต้องการเปลี่ยนสังคมให้ดีจริงๆ ต้องเปลี่ยนจากมายด์เซตคนในแวดวงก่อนเป็นอันดับแรก อย่างน้อยๆ ถ้าไม่เข้าใจ ก็ต้องเคารพสิทธิกัน เพราะในความเป็นจริงสิทธิ LGBTQIA+ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ต้องมีโดยไม่ต้องเรียกร้องด้วยซ้ำ แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้มีสิทธิเท่าเทียมกันเลย

“ถ้ามีคนบอกว่าทำไมพวกคุณเรียกร้องอะไรเยอะกันจริง มันแสดงให้เห็นว่าคนก็ยังคงเหยียดกันอยู่วันยังค่ำ กรณีแบบนี้ จะทำให้รู้สึกหดหู่มาก เพราะเราตั้งใจพูดให้คนเข้าใจเพื่อให้ทัศนคติเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น 

อั้ม-พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ นักเคลื่อนไหว

“เราทำงานมาสามปี สิ่งที่เหมือนเดิมก็คือคนที่ไม่เข้าใจยังมีอยู่จำนวนมาก อย่างประเด็นที่เราทำเรื่อง คุณ ‘อั้ม เนโกะ’ ชิ้นนั้นก็โดนคอมเมนต์ในทางลบเยอะมาก โดนด่าว่ามึงจะมาทำให้ทรานส์เป็นผู้หญิงได้ยังไงกัน เราเสียใจและจิตตกมากๆ เพราะความจริง คนที่เป็น Transphobia ก็ยังคงฝังใจกับความคิดแบบเดิม

“แต่ก็คิดว่าไม่เป็นไร การส่งสารไปเพียงครั้งเดียว คนอาจยังไม่เข้าใจในทันที มันเป็นไปไม่ได้ที่จะล้มกระดานทุกอย่าง เพื่อให้ทุกคนเข้ามาโอบรับคนทุกเพศ เราต้องเข้าใจว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ ส่วนหนึ่งเพราะสื่อแทบไม่ได้พูดเรื่องนี้มากเพียงพอ และยังแบ่งแยกประเด็นทรานส์ออกมาตลอด จะมีสักกี่ข่าวที่พูดถึงทรานส์ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งบ้าง

“ปัจจุบันไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้ในสื่อมากนัก และหลายคนเองก็ยังไม่ค่อยรู้ เราพบว่าเครือข่ายทรานส์เรียกร้องเรื่องสิทธิต่างๆ มานานแล้ว ทั้งเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ การรณรงค์เรื่องกฎหมายเมื่อทรานส์ถูกข่มขืน ซึ่งยังเอาผิดผู้ชายไม่ได้ในบางครั้ง เพราะถือว่าไม่ใช่ช่องคลอดโดยกำเนิด

“เราต้องการขับเคลื่อนเรื่องนี้ เราพูดประเด็นนี้มานานมากๆ แล้ว แต่คนอาจยังไม่สนใจเท่าที่ควร แต่เราคิดว่าคนเป็นสื่อไม่ควรลืมปัญหาทุกประเด็น ตอนนี้ไม่ได้มีแค่เรื่องสมรสเท่าเทียมเท่านั้น แต่ยังมีปัญหาเรื่องสิทธิอื่นๆ ที่ต้องพูดถึงกันอยู่เสมอ แม้แต่ในโลกที่หนึ่ง คนก็ยังคงถกเถียงกันไม่จบ เพราะฉะนั้นการสื่อสารตรงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลาต่อเนื่องยาวนานหลายปี ต้องพูดกันต่อไปจนกว่าคนจะเข้าใจได้มากขึ้นจริงๆ

อั้ม-พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ วงการสื่อ

“เราคิดว่ากฎหมายประเทศไทย ควรนำร่องประเด็นความแตกต่างหลากหลาย เพื่อลดอคติของคน ช่วยหล่อหลอมทัศนคติในการมองคนให้เข้าใจกัน และเพื่อคุ้มครองสิทธิความหลากหลายทางเพศ ซึ่งถ้ามีกฎหมายคนก็จะทำผิดน้อยลงด้วย แต่ในขณะที่ตอนนี้ยังไม่มีกฎหมายออกมา เราก็ต้องขับเคลื่อนให้เกิดกฎหมายจริงๆ ต่อไป และจำเป็นต้องทำงานสื่อสารควบคู่กัน เพื่อให้คนในสังคมเหยียดและอคติต่อกันน้อยลงด้วย เราพยายามผลักดันประเด็นต่างๆ ออกไปให้ไกลที่สุด ซึ่งต้องขอบคุณหลายๆ สื่อที่พยายามทำความเข้าใจตรงนี้ด้วย 

“หลายๆ ครั้ง LGBTQ+ ต้องวิ่งเข้าหาแสงไฟ จำเป็นต้องทำให้ตัวเองมีแสง เพื่อให้นักข่าวหันมาสนใจแล้วนำปัญหาไปทำข่าว เพราะถ้าไม่ไวรัลก็ไม่มีคนสนใจ เช่น ข่าวครู LGBTQ+ คนหนึ่งที่ออกมาตั้งสเตตัส พูดถึงเรื่องการแต่งกายที่ไม่สามารถแต่งตรงกับเพศวิถี จนมีคนแชร์ต่อเยอะมาก เขาถึงได้รับความสนใจ แต่ผลสุดท้ายเขาก็ไม่ได้เป็นครูอยู่ดี อย่างกรณีของ อาจารย์เคท ครั้งพิบูลย์ ก็ต่อสู้ด้วยตัวเองจนได้รับสิทธิเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยอย่างที่ควรจะเป็น แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้จะทำได้สำเร็จ”

ลบล้างอคติเพื่อทลายกำแพงที่กีดกันเรื่องเพศ

“เราไม่เคยถูกกีดกันทางเพศ อาจเพราะอยู่ในสังคมที่โอเค แต่จะมีประเด็นเรื่องเราเป็นทรานส์ สภาพแวดล้อมทางสังคมทำให้เรารู้สึกว่าต้อง Come Out แทบตลอดเวลา

“สำหรับเราการเป็น LGBTQ+ ไม่จำเป็นต้องพิสูจน์อะไรเลย ยิ่งในองค์กรหรือสถานที่ทำงาน มันมีขั้นตอนตั้งแต่การกรอกใบสมัครแล้ว พอเราเข้ามาทำงานจริง เพื่อนร่วมงานบางคนจะมีการสอดส่องว่า เธอเป็นเพศอะไรกันแน่ จับผิดสังเกตเรื่องส่วนสูง เป็นผู้หญิงทำไมสูงขนาดนี้ล่ะ มึงเป็นผู้หญิงจริงใช่ไหม นั่นคือกรอบที่คนมีมายด์เซตฝังหัว หรือเป็นบรรทัดฐานสังคมแบบเดียวที่มองว่าผู้หญิงต้องตัวเล็กเท่านั้น มันทำให้เราต้องถูกกดทับทั้งในฐานะผู้หญิงและทรานส์คนหนึ่ง ทั้งที่ในความเป็นจริง มันเป็นเรื่องปกติมากๆ เพราะฉะนั้นไม่ต้องตั้งคำถามก็ได้

อั้ม-พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ เสรีสื่อไทย

“ในตอนนี้ เราคิดว่าพนักงานที่มีเพศหลากหลายได้พื้นที่ของเขาน้อยเกินไป ข้อเสนอที่เราคิดว่าควรมีคือระบบ HR และนโยบายของบริษัทเองก็ควรมีการตั้งกฎที่ไม่กีดกันทางเพศ เวลาประกาศรับสมัครงาน ก็สามารถระบุให้ชัดเจนได้เลยว่ายินดีเปิดรับคนทุกเพศ เพื่อไม่ให้คนที่เข้ามาทำงานต้องคาดเดาว่าคุณต้องการรับเราไหม แต่ถ้าเป็นไปได้ ก็อยากให้ LGBTQ+ เข้าไปทำงานอยู่ในทุกแผนกได้ อย่างวงการสื่อ ควรมีพื้นที่ให้เขาได้ออกกล้องอย่างมั่นใจ เพราะตอนนี้เรายังไม่ค่อยเห็นผู้สื่อข่าวที่มีความหลากหลายทางเพศมากนัก เท่าที่เห็นจะมีการจำกัดอยู่ในโต๊ะข่าวบันเทิง และถูกสเตอริโอไทป์ว่า ต้องมีคาแรกเตอร์ขี้เมาท์ ตลก จิกกัด

“โดยส่วนมาก เราจะเห็นคนเพศหลากหลายทำงานอยู่เบื้องหลัง อย่างเช่นการเป็นนักเขียนหรือคอลัมนิสต์ เพราะฉะนั้น ถ้ามีพื้นที่ในทุกตำแหน่งได้ก็คงดี รวมถึงเรื่องการทำนโยบายบริษัทที่ต้องดูแล Gender Balance ให้ดี และต้องใส่ใจทุกคนอย่างเท่าเทียมกันด้วย”

เมื่อสิทธิทางเพศคนไทยเริ่มเท่าเทียม สื่อ LGBTQ+ จะขยับสู่พรมแดนเนื้อหาใหม่ๆ

“เรารู้ว่ามันอุดมคติมากๆ แต่ถ้ามีความเท่าเทียม ก็จะแฮปปี้มาก เราคงโล่งใจขึ้น ได้ออกไปทำงานประเด็นอื่นบ้าง เราอาจจะได้เขียนเรื่องผู้หญิงและ LGBTQ+ ไทยในแง่ใหม่ๆ อย่างเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางเพศ เพราะตอนนี้ ความไม่เข้าใจในสังคมทำให้เรายังต้องพูดเรื่องการคุกคามทางเพศ ความรุนแรงทางเพศ และสิทธิของผู้มีประจำเดือนซ้ำๆ อยู่บ่อยๆ 

“เพราะเรื่องพวกนี้ยังต้องพูดต่อไป และต้องทำออกมาเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมและความเท่าเทียมอย่างแท้จริง เราไม่ควรเบื่อเลย แม้จะพูดจนปากเปียกปากแฉะแค่ไหนก็ต้องทำ เพราะถ้าไม่พูดเลยก็จะไม่เกิด Action เรื่องพวกนี้คนทุกเพศสามารถเข้ามาช่วยกันทำได้ และต้องเข้าใจในปัญหาจริงๆ ด้วย

อั้ม-พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ สื่อเพื่อความเท่าเทียมทางสังคม

“รัฐบาลเองก็ต้องร่วมมือกับประชาชน เพราะในตอนนี้ เรื่องพื้นฐานอย่างคนจะรักกันยังไม่ได้รับสิทธิทางกฎหมายเลย ดังนั้นรัฐก็ต้องพิจารณาการทำงานของตัวเองด้วย อย่างสิทธิของ LGBTQ+ คุณก็ต้องฟังปัญหาจากปากของเขาโดยตรง ไม่ใช่ไปฟังและตัดสินใจกับคนในสภาที่เป็น Cisgender กันเอง เพราะถ้าไม่เกิดการรับฟังอย่างตั้งใจ ก็จะไม่มีวันเข้าใจ แม้แต่เคส พ.ร.บ. คู่ชีวิต ก็ทำให้เห็นว่า คุณไม่ได้เข้าใจปัญหาของเราจริงๆ 

“ทุกวันนี้เราเขียนเพื่อ Empower อยากให้ผู้หญิงมีเสียงมากขึ้น เราสนับสนุนเรื่องสิทธิของผู้หญิงและคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากๆ อยากจะบอกทุกคนว่า พวกเราทำได้ และพวกเรามีสิทธินะ เราพูดได้ตั้งแต่ยังเด็กด้วย เรามีศักยภาพได้มากกว่าที่เราเคยโดนกดมา นี่คือสาเหตุที่ต้องพยายามทลายกรอบเดิมๆ ด้วยการตั้งคำถาม เช่น ทำไมผู้หญิงจะพกถุงยางไม่ได้ ทำไมต้องเรียบร้อย ทำไมต้องร้องขอสิ่งที่ควรได้

“เราแฮปปี้ที่ได้ทำมากๆ เพราะส่วนหนึ่งก็ได้เอมพาวเวอร์ตัวเองไปด้วย เราควรแข็งแกร่งเพื่ออยู่บนโลกใบนี้ต่อไป แม้บางวันเราอ่อนแอ แต่บางวันเราก็กลับมามั่นใจได้ ถ้าคุณเลือกมาเป็นสื่อ ไม่ว่าจะช่องทางไหนก็ตาม โดยเฉพาะใน Mass Media คุณไม่ควรนำเสนออะไรเพียงด้านเดียว เพราะคนส่วนใหญ่ก็เสพข่าวจากตรงนั้นอยู่ เราจะทำยังไงให้สังคมนี้ดีขึ้น นี่เป็นคำถามสำคัญที่ทุกคนต้องตั้งคำถามให้ตัวเองและคนรอบข้างเรื่อยๆ แม้จะมีคนมาปิดปาก สกัดขา หรือไม่เห็นด้วย ก็ต้องไม่หยุดทำ” 

อั้ม-พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ สมรสเท่าเทียม
  • Fact Box
  • อั้ม-พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ เคยเป็นนักเขียนประจำ Urban Creature
  • ปัจจุบันเธอทำงานประเด็นผู้หญิงและความหลากหลายที่ Mirror Thailand สื่อที่ตั้งใจ Reflect • Embrace • Empower ให้ชีวิตทุกคนได้รับสิทธิอย่างเท่าเทียมโดยปราศจากอคติ
  • พัชญ์สิตาเคยเขียนบทความหลากหลายประเภทให้สื่อหลายๆ สำนัก อาทิ The Cloud, a day magazine และ Rice Media Thailand
  • ติดตามผลงานปัจจุบันของพัชญ์สิตาได้ที่ Mirror Thailand

Writer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.