บาดแผลจากคำว่า ‘กะเทย/ทอม’ เมื่อไม่ใช่คนข้ามเพศทุกคนอยากได้ยิน - Urban Creature

“สังคมพยายามบังคับเราให้แทนตัวเองว่า ‘กะเทย’ ด้วยการตัดสินจากคำนำหน้าในสูติบัตร ทั้งๆ ที่เราอยากให้เรียกว่า ‘ผู้หญิง’ มากกว่า เพราะนั่นคือเพศที่เราเป็นและรู้สึกมาตั้งแต่เกิด”

“ปัญหาในไทยคือคนไม่เปิดใจยอมรับว่าผู้ชายข้ามเพศเป็นผู้ชายคนหนึ่ง ชอบยัดเยียดคำว่า ‘ทอม’ โดยไม่ได้ถามความสมัครใจ ซึ่งเรารู้สึกแย่ เพราะเราก็เป็นผู้ชายคนหนึ่ง”

ประโยคแรกคือความรู้สึกของ กมลชนก สุทธิเภท ผู้หญิงข้ามเพศที่รู้ว่าตัวเองเป็นผู้หญิงคนหนึ่งมาตั้งแต่อนุบาล และประโยคที่ 2 มาจาก ริดดี้ สอนสมสุข ผู้ชายข้ามเพศที่มีความสุขตอนได้ใช้คำว่า ‘ครับ’ ลงท้ายประโยคมาตั้งแต่อายุ 4 ขวบ และมองตัวเองเป็นผู้ชายตั้งแต่นั้นมา

เธอและเขาบอกเราว่าสิ่งที่ทั้งคู่เป็นไม่ใช่การ wanna be แต่เป็นการ born to be ที่เกิดเป็นเพศหญิงและเพศชายทั่วไป ทว่าใบแจ้งเกิด บัตรประชาชน คำสรรพนาม สังคมรอบตัว กลับดูถูกและ (ดูเหมือน) จะมีสิทธิ์พิพากษาราวกับเป็นเจ้าของชีวิต คอยคัดค้านว่าความรู้สึกที่อยู่ในใจของทั้งคู่ เป็นได้แค่โลกสมมติ อีกทั้งบางคนยังพ่นประโยคทิ่มแทงใจราวกับอยากฆ่าคนข้ามเพศให้ตายทั้งเป็น

ชวนทุกคนร่วมกันกางหัวใจให้กว้างที่สุด แล้วมาหยุดการ ‘Misgender’ หรือการไม่ยอมรับอัตลักษณ์ทางเพศของคนข้ามเพศให้หมดไป เพื่อเปลี่ยนบทบาทให้คนที่มีสิทธิ์ตัดสินว่าใครเป็นอะไร เป็นหน้าที่ของเจ้าของร่างกายเพียงคนเดียว


01 Misgender คืออะไร ใช่การทำร้ายใจกันหรือเปล่า ?

จากการสำรวจโดย The 2015 U.S. Transgender Survey (USTS) องค์กรที่สำรวจชีวิตคนข้ามเพศในสหรัฐอเมริกาเพื่อให้สังคมตระหนักถึงความหลากหลายของคนข้ามเพศ พบว่าคนข้ามเพศถูกคุกคามทางคำพูดเมื่อเปิดเผยอัตลักษณ์ทางเพศ 46% และจากการศึกษาของ The International Society for Self and Identity (ISSI) องค์กรที่ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมและจิตใจของมนุษย์ พบว่าคนข้ามเพศเกิดบาดแผลในใจอย่างรุนแรงจากการโดน Misgender 32.8% ไม่เพียงเท่านั้น 29% ของคนข้ามเพศในออสเตรเลีย ยังหลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาลเมื่อเจ็บป่วย เนื่องจากไม่อยากถูกค้นประวัติว่าเพศกำเนิดของตนเป็นอย่างไร เพราะกลัวคำพูดจากบุคลากรในโรงพยาบาล เช่น “อ้าว นึกว่าเป็นผู้หญิงแท้ๆ ซะอีก” ลามไปถึงการเลือกปฏิบัติทางเพศ

ก่อนเราจะเปิดอกคุยกันเรื่อง Misgender อย่างจริงจัง เราอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจคำว่า ‘คนข้ามเพศ (Transgender)’ เสียก่อน เพราะเขาและเธอคือผู้ถูกกระทำบนสนามอารมณ์ของคนในสังคมวันนี้ ซึ่ง Transgender คือ ร่มใหญ่ที่อธิบายคนที่มีเพศสภาพ การใช้ชีวิต และการนิยามตัวตน ต่างจากเพศกำเนิด แบ่งออกเป็น Trans man หรือ ผู้ชายข้ามเพศ ที่เกิดมาโดยใช้คำนำหน้าว่า ‘เด็กหญิง’ ในใบแจ้งเกิด แต่ใช้ชีวิตเป็นผู้ชาย และมีจิตใจหรือรูปลักษณ์ภายนอกเป็นผู้ชายยามโตขึ้น และ Trans women ผู้หญิงข้ามเพศ ที่เกิดมาโดยใช้ ‘เด็กชาย’ แต่ใช้ชีวิตเป็นผู้หญิง และมีจิตใจหรือรูปลักษณ์ภายนอกเป็นผู้หญิง

ส่วนตัวร้ายที่บั่นทอนความมั่นใจและทำลายสภาพจิตใจคนข้ามเพศที่เราจะพูดถึงเรียกว่า ‘Misgender’ หรือ การที่คนข้ามเพศเปิดเผยเพศกำเนิดของตนกับคนในสังคม แล้วโดนแปะป้ายด้วยคำพูดและการกระทำที่ทำให้เขาหรือเธอเป็นแบบเพศกำเนิด หรือ เพศที่สังคมอยากจะเรียก ไม่ใช่สิ่งที่ตัวคนข้ามเพศ ‘เลือกจะเป็น’ หรือ ‘เลือกให้เรียก’ แต่อย่างใด เช่น เรียกผู้ชายข้ามเพศว่าผู้หญิงหรือทอม เรียกผู้หญิงข้ามเพศว่าผู้ชายหรือกะเทย และรวมไปถึงการล้อชื่อ ‘เก่า’ หรือชื่อแรกตอนกำเนิดของคนข้ามเพศ

อ้าว แล้วคนที่เขาพอใจจะถูกเรียกว่าทอมหรือกะเทยล่ะ ผิดเหรอ ? คำตอบคือไม่ผิด เพราะนั่นคือสิทธิ์ส่วนบุคคลของแต่ละคน เพราะฉะนั้นหากเราเจอคนที่ชอบให้ถูกเรียกว่าทอมหรือกะเทยเยอะกว่าคนที่อยากให้เรียกว่าผู้ชายหรือผู้หญิง เราก็ไม่มีสิทธิ์เหมารวมว่าทุกคนจะเป็นแบบเดียวกันหมด แต่ต้องไม่ลืมเปิดใจรับฟังคนที่เขาไม่ชอบให้เรียก หรือมองว่าเขา ‘ผิด’ ด้วยเช่นกัน เพราะหัวใจของการหยุด Misgender คือการเคารพในสิ่งที่ตัวบุคคลอยากให้เรียกนั่นเอง

“เพื่อนเราหลายคนพอใจที่จะถูกเรียกว่ากะเทย แต่พอเราเป็นคนกลุ่มน้อยที่อยากให้เรียกว่า ‘ผู้หญิง’ กลับโดนหาว่าไม่ยอมรับความจริง โลกสวย แอ๊บแบ๊ว ซึ่งมันเหนื่อยและบั่นทอนจิตใจมาก บางครั้งพอเขาไม่มองเราเป็นผู้หญิงเราก็ถูกปฏิบัติแย่ๆ ใส่ ทั้งๆ ที่ภายนอกเราก็ไม่ต่างอะไรจากผู้หญิงแล้ว” นี่แหละการถูก Misgender ที่กมลชนก ผู้หญิงข้ามเพศโดน


02 คำพูดที่แหลมคมกว่ากรรไกร อะไรบ้างเข้าข่าย Misgender

ถ้าให้เริ่มจากภาพใหญ่ของการ Misgender เราขอยกตัวอย่างกรณี J.K. Rowling นักเขียนนิยายและผู้ประพันธ์ภาพยนตร์ Harry Potter ที่สร้างจินตนาการโลกเวทมนตร์ให้กับเด็กน้อยใหญ่อย่างมหาศาล ทว่าแฟนๆ ที่ผูกพันกับ Harry Potter กลับผิดหวังในตัวเธออย่างมาก เมื่อเธอแสดงแนวคิด ‘ผู้หญิงข้ามเพศ ≠ ผู้หญิง’ ด้วยการทวีตข้อความบนทวิตเตอร์ส่วนตัวถึงบทความจากเว็บไซต์ devex ที่ใช้คำเรียกผู้หญิงว่า ‘คนที่มีประจำเดือน’ เพื่อเคารพผู้หญิงข้ามเพศว่าไม่ได้แบ่งแยกพวกเธอจากการเป็นผู้หญิง ซึ่ง J.K. วิจารณ์ว่า “คนที่มีประจำเดือน ฉันมั่นใจว่าเมื่อก่อนต้องมีชื่อเรียกสำหรับคนพวกนี้ ใครช่วยตอบฉันหน่อย Wumben ? Wimpund ? Woomud ? (ล้อเลียนคำว่า Women ถ้าแปลเป็นไทยก็อารมณ์ ผู้ฉิง หรือ ปู้หยิง)” หลังจากที่ J.K. ทวีตแบบนั้น นักแสดง Harry Potter อย่าง Daniel Radcliffe และ Emma Watson ก็ออกมาปกป้องผู้หญิงข้ามเพศด้วยการทวีตให้กำลังใจและแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของ J.K. เพราะผู้หญิงข้ามเพศ = ผู้หญิง

การกระทำของ J.K. คือแนวคิด Transphobia หรือ แนวคิดที่ปิดกั้นคนข้ามเพศด้วยทัศนคติติดลบ และไม่ยอมรับคนข้ามเพศว่าเป็นชายและหญิงทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่มักยกเรื่องทางชีววิทยาหรือเรื่องทางกฎหมายมาคัดค้าน เช่น คำนำหน้าบัตรประชาชน การมีหรือไม่มีประจำเดือน และการนำโครโมโซม XY, XX มากำหนดว่ามีโครโมโซมแบบไหนก็ต้องเป็นเพศนั้นไปตลอดชีวิต

หากเขยิบมายกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวให้เข้าใจการใช้ถ้อยคำที่สื่อถึงการ Misgender มากขึ้น เราขอเริ่มที่สถาบันครอบครัวที่ไม่ใช่ทุกบ้านจะยอมรับลูกในแบบที่ลูกเป็น โดย ‘ริดดี้’ ผู้ชายข้ามเพศที่เรามีโอกาสได้คุยเล่าให้ฟังว่า ตอนเขาบอกที่บ้านว่าจะ Transition หรือทำการข้ามเพศจากหญิงเป็นชาย เช่น การตัดหน้าอกและแปลงเพศ เขาโดนที่บ้านบอกว่าเป็น ‘ปีศาจ’ คอยพูดเสมอว่าสิ่งที่เขาเป็นอยู่มันบาป หรือในอนาคตอาจจะ ‘กลับใจ’ ไม่ได้แล้ว ซึ่งคำเหล่านี้เป็นการสรุปเอาเองว่าริดดี้คิดอย่างไร และเปิดเผยตรงๆ เลยว่า ‘ไม่ยอมรับให้เป็นผู้ชาย’ ด้วยการตัดสินจากมายาคติของตัวเอง

“คนที่บ้านถามผมว่าทำไมไม่คิดถึงหัวอกพ่อแม่ ไม่รักกันเลยเหรอ บางครั้งก็บอกว่าผมเห็นแก่ตัวทำสิ่งที่ผิดธรรมชาติ ทำสิ่งที่ผีปีศาจล่อลวง ถ้าคิดไม่ได้ก็ให้รับกรรมไป ซึ่งผมโกรธมาก แอบไปร้องไห้คนเดียวบ่อยๆ แต่อย่างไรก็ไม่มีใครมาเปลี่ยนอะไรผมได้หรอกครับ เพราะนี่คือตัวผม” ริดดี้บอกเรา

ไม่ใช่แค่สถาบันครอบครัวเท่านั้นแต่ในสถาบันการศึกษาและที่ทำงานก็ยังพบเจอการ Misgender อยู่ไม่น้อย เช่น การที่อาจารย์บางท่านเรียกหยอกล้อนักเรียน/นักศึกษาว่า “นายคนนั้นอะ เป็นผู้ชาย ทำไมไม่เข้าห้องน้ำชาย” หรือการที่คนในที่ทำงานพูดว่า “เป็นผู้หญิงทำไมใส่กางเกงล่ะเธอ” การใช้ภาษาบรรยายคนข้ามเพศแบบนี้ คือการนำบริบทที่สื่อถึงเพศกำเนิดมากล่าวถึงบุคคลที่มีเพศสภาพเปลี่ยนไปแล้ว รวมไปถึงการใช้สรรพนามคำว่า นาย, เขา, He, Him กับผู้หญิงข้ามเพศที่มีลักษณะเป็นผู้หญิง และการใช้ เธอ, She, Her กับผู้ชายข้ามเพศที่สามารถลดความมั่นใจของบุคคลนั้นๆ ได้ไม่น้อย

คุณว่ายุติธรรมไหม ที่พวกเธอและเขาต้องถูกลดทอนความเป็นตัวเองจากคำตัดสินของคนในสังคม ?

03 กางใจให้กว้างพอ อย่ารอที่จะให้เกียรติใคร

สังคมที่น่าอยู่สำหรับเรา คือการที่ทุกๆ คนควรได้รับการสนับสนุน ยอมรับ ถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และเป็นสังคมที่ทำให้รู้สึกว่าในวันพรุ่งนี้ มะรืนนี้ หลายเดือนข้างหน้า หรืออีกหลาย 10 ปี ก็ยังอยากลืมตาตื่นขึ้นมาใช้ชีวิตบนโลก มีแรงที่จะเจือรอยยิ้มบนใบหน้า มิใช่การเปื้อนหยดน้ำตาจากการถูกเหยียด

ลองวางปากกาที่ใช้ขีดเขียนชีวิตคนอื่น มาสวมแว่นตามองหัวใจของคนข้ามเพศ และให้เกียรติเขาและเธอผ่าน 4 ข้อเล็กๆ ที่จะช่วยคุณเลี่ยงการ Misgender ได้ดี

01 ไม่สรุปเอาเองว่าใครเป็นอะไร – คุณต้องรู้ก่อนว่าคนข้ามเพศตรงหน้าคุณนิยามตัวเองว่าเป็นอะไร ผู้หญิง ? ผู้ชาย ? กะเทย ? ทอม ? ซึ่งถ้าคุณไม่ถามก็คงไม่รู้แน่ๆ หากคุณและคนข้ามเพศคนนั้นสนิทกันมากพอ การถามตรงๆ ถือเป็นการให้เกียรติอย่างหนึ่ง หรือถ้าไม่กล้า ลองถามคนที่คิดว่าสนิทกับคนข้ามเพศคนนั้นดูก็ได้

02 เรียกชื่อและสรรพนามปัจจุบันที่คนข้ามเพศใช้ – หากคุณรู้ว่าคนข้ามเพศตรงหน้าคุณใช้ชื่ออะไรในปัจจุบัน ให้เรียกแบบนั้นไปตลอด แม้คุณจะรู้ชื่อเก่าของเขาหรือเธอก็ตาม การใช้สรรพนามอย่าง เขา (He/Him/His) และ เธอ (She/Her) ก็เช่นกัน ต้องคอยถามไถ่ก่อนจะพลั้งพูด (ข้อนี้สำคัญมาก) ยังรวมไปถึงภาษาในบทสนทนาบางประการที่อ่อนไหว เช่น การเรียกกลุ่มคนรวมๆ ว่า สาวๆ (Ladies) หรือ หนุ่มๆ (Guys) ก็ควรสังเกตว่าคนในกลุ่มทั้งหมดนั้นรู้สึกโอเคทั้งหมดหรือไม่ หากเป็นแค่รายบุคคลเราอาจพอเข้าไปถามตัวต่อตัวได้ แต่หากเป็นกลุ่มก้อนที่เราไม่ได้สนิทเป็นพิเศษก็เป็นไปได้ยากในการถาม ฉะนั้นเลือกจะ ‘เลี่ยง’ การบรรยายลักษณะ แล้วเปลี่ยนมาใช้คำว่า ‘เพื่อนๆ’ หรือ ‘ทุกคน’ แทน แบบนี้น่ารักกว่าเยอะ ! นอกจากนี้หากรู้แล้วว่าเขาอยากให้เรียกคำแบบไหน ให้เรียกแบบนั้นไปเรื่อยๆ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง จะทำให้ติดเป็นนิสัย และช่วยลดอาการ ‘เผลอหลุด’ ได้ด้วย

03 เลี่ยงการนำหลักการทางโครโมโซมมาตัดสินเพศ – ข้อนี้เราเห็นคนในโลกออนไลน์คอมเมนต์ค่อนข้างมากว่าโครโมโซม X คือ ผู้หญิง โครโมโซม Y คือ ผู้ชาย จริงอยู่ที่มันถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ แต่การออกมาพิมพ์ว่า ผู้หญิงข้ามเพศไม่ใช่ผู้หญิงเพราะมีโครโมโซม Y และผู้ชายข้ามเพศไม่ใช่ผู้ชายเพราะไม่มีโครโมโซม Y ในตัว ถือเป็นการกดทับทางเพศว่า คนข้ามเพศ ไม่มีอยู่จริง และไม่ควรได้รับการยอมรับตามเพศที่เขาและเธอข้ามมา การเลือกที่จะ ‘ไม่พูด’ จึงย่อมดีกว่าการพูดทุกเรื่อง แต่ไปทำร้ายจิตใจใครว่าไหมล่ะ ? งั้นลองเปลี่ยนมาใช้ประโยคใจดีกับเขาอย่าง “ถึงคุณจะมีหรือไม่มีโครโมโซม Y นั่นไม่ได้สำคัญ เพราะตอนนี้คุณก็เป็นผู้ชายคนหนึ่ง” แบบนี้คงต่อรอยยิ้มให้ผู้ชายข้ามเพศได้ไม่น้อย

04 คำขอโทษที่ดีที่สุดคือการกระทำ – หากรู้ตัวว่าตัวเองทำผิด ให้จัดการกับความคิดตัวเองเสียก่อนว่าต่อจากนี้ควรแก้ไขคำพูดอะไรบ้าง เพราะการขอโทษเพื่อให้คนข้ามเพศยกโทษทันที อาจยากไปเสียหน่อยเมื่อเทียบกับรอยแผลที่ฝังลึกเข้าไปในใจมาอย่างยาวนาน ฉะนั้นเดินหน้าต่อ แล้วใช้คำพูดและการกระทำที่ถูกต้องในครั้งต่อไป ซึ่งเราเชื่อว่าการเคารพและให้เกียรติใครสักคน อย่างจริงใจ สักวันคนๆ นั้นจะสัมผัสได้แน่นอน

“ผมมองว่าสังคมจะน่าอยู่ขึ้นมาก ถ้าทุกคนรู้จักเคารพตัวตนของคนอื่น และไม่ชี้นิ้วกำหนดเพศที่เขาไม่ได้ต้องการและไม่มีวันจะเป็น” ริดดี้ ชายข้ามเพศกล่าว


Sources :
https://bit.ly/31fdHkd
https://bit.ly/33w3Rx0
https://bit.ly/2PjoILY
https://bit.ly/30qLub1

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.