“ผู้หญิงข้ามเพศคือผู้หญิง” อั้ม เนโกะ - Urban Creature

บทความนี้มีประโยค “ผู้หญิงข้ามเพศคือผู้หญิง” 7 ประโยค

เทียบไม่ได้กับประโยค “ผู้หญิงข้ามเพศไม่ใช่ผู้หญิง” ที่พวกเธอทั่วโลกฟังมาตลอด เฉลี่ย 10 – 20 ปี ตั้งแต่จำความ ซึ่งคุณไม่สามารถนับนิ้วได้แน่นอนว่ากี่ครั้ง เพราะคงเกินแสนล้าน 

“ทำไมไม่เคารพความเห็นที่แตกต่าง พวกเรามีสิทธิ์ไม่ยอมรับผู้หญิงข้ามเพศเป็นผู้หญิง มันคือเสรีภาพทางความคิด” สังคมชายเป็นใหญ่อ้างแบบนั้น

ฮึ

ขอสบถแด่เสรีภาพทางความคิดที่กำลังผลิตซ้ำความรุนแรงต่อผู้หญิงข้ามเพศ ตั้งแต่คำพูดที่ทำให้เจ็บปวด ขยายไปสู่การเลือกปฏิบัติในสังคม แผ่กว้างไปถึงการกีดกันทางกฎหมาย

ถ้าเป็น ‘ไทย’ เข้าโรงเรียนก็ถูกบังคับสวมชุดไม่ตรงเพศสภาพ โตมาหน่อยถูกทำให้จนด้วยการกาหัวใบสมัครงานทั้งๆ ที่ยังไม่ได้อ่านความสามารถ แทบทุกเดือนต้องจ่ายสวัสดิการทางสุขภาพเองทั้งฮอร์โมนและค่าผ่าตัด ต่างจากฝรั่งเศส มอลตา แคนาดา และหลายประเทศแถบยุโรปที่การรักษาพยาบาลเหล่านี้ ‘ฟรี’

ไปให้สุดสำหรับประเทศนี้ที่ไม่มีกฎหมายคุ้มครองผู้หญิงข้ามเพศสักฉบับ ทั้งการเปลี่ยนคำนำหน้า การรับรองเพศสภาพในทะเบียนราษฎร์ หากถูกข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศ ก็ไม่สามารถเอาผิดผู้กระทำความผิดได้ 

ประโยคที่คุณพูดกันว่า “ผู้หญิงข้ามเพศไม่ใช่ผู้หญิง” แน่นอน คุณมีสิทธิ์คิดได้ในใจ แต่คุณไม่มีสิทธิ์แผ่ขยายความอัปยศนี้จนทำให้ผู้หญิงข้ามเพศเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับความรุนแรงและถูกฆ่าตายมากที่สุดใน ‘โลก’ และมีอายุขัยเฉลี่ยเพียง 35 ปี เพราะความรุนแรงทางเพศ สังคม เศรษฐกิจ และการไม่เข้าถึงการรักษาพยาบาล ที่ทำให้พวกเธอจบชีวิตลงด้วยการฆ่าตัวตาย (ข้อมูลจาก Acceptess-T องค์กรสิทธิเพื่อคนข้ามเพศ และช่วยเหลือผู้อพยพข้ามเพศในต่างแดน)

หากคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ได้ตามประสาปุถุชน จะทราบคำตอบว่าเหยื่อทางสังคมตัวจริงเป็นใคร

สนทนายาวประมาณ 5 หน้ากระดาษเอสี่ด้านล่างนี้มาจากเสียงของผู้หญิงข้ามเพศไทยซึ่งลี้ภัยไปฝรั่งเศสหลังรัฐประหาร 2014 เธอโดนสำนักพิมพ์ฉบับหนึ่งพูดถึงว่า “อยากให้โดนรุมลงแขกในคุกชาย” 

อั้มเนโกะ-ชุมนุม-ความเท่าเทียมทางเพศ
อั้ม เนโกะ ร่วมชุมนุมเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ

อั้ม เนโกะ คือหญิงสาวนักขับเคลื่อนทางประชาธิปไตยประจำฝรั่งเศสที่ฉันกำลังพูดถึง เธอทำงานที่ Acceptess-T 

“ผู้หญิงข้ามเพศคือผู้หญิง นักสู้ และนักปฏิวัติ” เธอย้ำ 3 ข้อ ก่อนจะเริ่มพูดคุย

01 ผู้หญิงข้ามเพศคือผู้หญิง

อั้มเนโกะ-ผู้หญิงข้ามเพศ
จุดยืนประชาธิปไตยของอั้ม เนโกะ คือ “ผู้หญิงข้ามเพศคือผู้หญิง”

อาร์เจนตินา สวีเดน เดนมาร์ก เนเธอร์แลนด์ โคลอมเบีย ไอร์แลนด์ มอลตา อินเดีย และฝรั่งเศสที่อั้ม เนโกะอาศัยอยู่ เป็นแค่ส่วนหนึ่งของประเทศที่คนข้ามเพศสามารถเปลี่ยนคำนำหน้าและเพศในทะเบียนราษฎร์ เพราะประเทศเหล่านั้นมองผู้หญิงข้ามเพศคือผู้หญิง และมองผู้ชายข้ามเพศคือผู้ชาย

“คนที่เข้ามาอ่านคอนเทนต์นี้อาจจะคิดว่าทำไมอั้ม เนโกะต้องพูดย้ำๆ ซ้ำๆ ว่าผู้หญิงข้ามเพศคือผู้หญิง ต้องว่ากันตามตรงว่า ไม่พูดไม่ได้ เพราะว่าในสังคมเหยียดเพศ ผู้หญิงข้ามเพศได้รับผลกระทบมากที่สุด 

“หนึ่ง เราโดนสิ่งที่เรียกว่า Misogyny หรืออาการเกลียดชังเพศหญิง สอง เราเจ็บปวดกับสิ่งที่เรียกว่า Transphobia หรืออาการเกลียดกลัวคนข้ามเพศ พอมารวมกัน กลายเป็น Transmisogyny ที่ผู้หญิงข้ามเพศจะถูกปรามาสทั้งในฐานะผู้หญิง และในสถานะข้ามเพศ

“สังคมที่เกลียดกลัวผู้หญิงข้ามเพศ ไม่ได้เกลียดกลัวโดยการที่บอกว่าเธอไม่ใช่ผู้หญิงอย่างเดียว แต่มันเป็นกระจกสะท้อนสังคมว่า Cis Women (ผู้หญิงที่มีเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด) ก็ถูกกดขี่ไปโดยปริยาย นึกภาพตามหลายคนบอกว่าผู้หญิงข้ามเพศไม่ใช่ผู้หญิงเพราะไม่มีมดลูก และมีลูกไม่ได้ นั่นก็บอกเป็นนัยๆ แล้วว่าผู้หญิงถูกทำให้เกิดมาเป็นเครื่องจักรผลิตลูก และให้คุณค่ากับผู้หญิงที่สามารถมีลูกได้เท่านั้น

“มากไปกว่านั้น ผู้หญิงข้ามเพศยังสะท้อนให้เห็นมายาคติที่กดขี่ผู้หญิงมาอย่างยาวนานเรื่องความงาม ว่าเป็นผู้หญิงต้องสวยตามค่านิยม ผู้หญิงข้ามเพศที่ได้รับการยอมรับต้องสวยกว่า Cis Women ราวกับมีมดลูกห้าอัน สวยจนทุกคนสามารถพูดเหยียดได้ว่า อยากยกมดลูกให้

“ดังนั้น จึงต้องบอกว่าผู้หญิงข้ามเพศคือผู้หญิง เพื่อย้ำว่าผู้หญิงข้ามเพศไม่มีความจำเป็นต้องปฏิบัติตามคำสบประมาท และไม่มีใครมีสิทธิ์พิพากษาว่าเราเป็นผู้หญิงหรือไม่ใช่จนกว่าจะได้รับการยอมรับโดยตรงทั้งทางสังคมและกฎหมาย”

อั้มเนโกะ-ชุมนุม-ประท้วง-ประชาธิปไตย
แทบทุกการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในฝรั่งเศส จะมี อั้ม เนโกะ ร่วมขบวน

อั้ม เนโกะเล่าประสบการณ์การทำงานในองค์กรเพื่อสิทธิให้ฟังว่า หลังจากที่เธอคอยมอนิเตอร์ดูความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อคนข้ามเพศ พบว่าจากสถิติ ผู้หญิงข้ามเพศเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับความรุนแรงและถูกฆ่าตายมากที่สุด อันดับหนึ่งคือบราซิล อันดับสองคือเม็กซิโก โดยมีตัวเลขสูงมากในทุกปี และไม่ต้องคาดเดาว่าทั้งหมดนี้เกิดจากการถูกเลือกปฏิบัติ ซึ่งในประเทศยากจนบางประเทศ ผู้หญิงข้ามเพศจำนวนมากต้องต่อสู้กับความยากจน ออกจากบ้านมาตั้งแต่อายุ 14 ปี เพราะถูกกีดกันจากครอบครัว ศาสนา สังคม และรัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนข้ามเพศถูกจองจำ เช่น ห้ามใช้ห้องน้ำ หรือไม่อนุญาตให้รับบริการต่างๆ ในสังคม 

สำหรับไทย ประเทศที่อั้ม เนโกะบอกว่าแม้จะไม่มีการฆ่าโดยตรง แต่การฆ่าทางสังคมอย่างเห็นได้ชัดน่ะมีร้อยเปอร์เซ็นต์ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคือมีจำนวนผู้หญิงข้ามเพศที่อพยพมาอยู่ยุโรปมากขึ้น เพื่อส่งเงินกลับไปให้ครอบครัว และต่อสู้กับความยากจน เนื่องจากถูกกีดกันจากระบบแรงงานไทย

“พูดมาถึงตรงนี้ คงมีคนคิดในใจว่า ก็เห็นผู้หญิงข้ามเพศบางคนบอกว่าทุกวันนี้ก็มีสิทธิ์ทางสังคมอยู่แล้ว จะเรียกร้องอะไรอีก โปรดพึงคิดเสมอว่า คนที่พูดแบบนี้ได้ คือคนที่บ้านมีฐานะ พร้อมสนับสนุน และไม่สนใจประชาธิปไตย คุณพอใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะพอใจ อย่าลืมว่าคุณไม่ตาย แต่ยังมีคนตายทุกวัน” เธอว่า

02 ผู้หญิงข้ามเพศคือนักสู้

อั้มเนโกะ-ผู้หญิงข้ามเพศ-AcceptessT-transWomen
อั้ม เนโกะ ทำงานในองค์กร Acceptess-T ซึ่งพบว่าผู้หญิงข้ามเพศมีอายุเฉลี่ยเพียง 35 ปี

มิถุนายนเป็นเดือน Pride ที่หลายคนมองว่าเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลอง ออกมาแต่งตัวเพื่อแสดงความภูมิใจในตัวเอง แต่แท้จริงแล้ว อั้ม เนโกะบอกว่า Pride คือปฐมบทการต่อสู้ของคนข้ามเพศอย่างแท้จริง

ปี 1969 ใน The Stonewall Inn มหานครนิวยอร์ก คือครั้งแรกของขบวนการต่อสู้ที่เรียกว่า Pride ซึ่งจุดประสงค์ที่ผู้หญิงข้ามเพศออกไปเดินขบวน ณ ตอนนั้น ไม่ใช่เพราะอยากแต่งตัวสวยๆ หรือเปิดเพลงเต้นรำ แต่ไปในฐานะ ‘นักสู้’ 

“ยุคนั้นมีความไม่เข้าใจในสังคม ผู้หญิงข้ามเพศถูกเหมารวมว่าเป็นคนรักเพศเดียวกัน (Homosextuality) คิดว่าผู้หญิงข้ามเพศคือเกย์ หรือชายรักชาย ตอนนั้นอเมริกาจึงประกาศว่าผู้หญิงข้ามเพศ และเกย์ เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งคนข้ามเพศเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ออกมาประท้วงต่อต้านตำรวจ อย่าง Marsha P. Johnson ที่เป็นไอคอนหลักของขบวนการต่อสู้ ดังนั้นถ้าไม่มีคนข้ามเพศ จะไม่เกิด Pride และกลุ่มความหลากหลายทางเพศต่างๆ ก็จะไม่ลุกฮือขึ้นเหมือนปัจจุบัน”

สิทธิทางกฎหมายเพื่อคนข้ามเพศในยุโรปต่อสู้กันยาวนานมากกว่า 50 ปี จนได้รับการคุ้มครองทางค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ผ่าตัดแปลงเพศ รับฮอร์โมน เพราะประเทศเหล่านั้นมองว่าสวัสดิการที่ว่าคือชีวิต ไม่ใช่ความสวยงาม 

“การที่คนข้ามเพศกลืนเข้ากับโลกของ Cisgender จะทำให้เรามีตัวตน เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ถูกสังเกตได้ว่าข้ามเพศ ความรุนแรง ความยากจน การเมือง มันถาโถมเข้ามา ไม่ได้หมายความว่าต้องเหมือน Cis Women เท่านั้นถึงได้รับการยอมรับ แต่มันคือการต่อสู้กับตัวเองและสังคมเพื่อไม่ให้ถูกทำร้าย เป็นการลี้ภัยเพื่อให้อยู่รอดได้วันต่อวัน รัฐในหลายประเทศจึงเห็นความเจ็บปวดนี้ และเลือกสนับสนุนสวัสดิการรักษาพยาบาลให้ฟรี รวมไปถึงการรับรองเพศสภาพ”

อั้มเนโกะ-ต่อสู้เพื่อคนข้ามเพศและผู้อพยพ
นอกจาก อั้ม เนโกะ จะต่อสู้เพื่อคนข้ามเพศแล้ว ยังต่อสู้เพื่อผู้อพยพ LGBTQ+ ในต่างแดนอีกด้วย

ความชอบธรรมทั้งหมดล้วนมาจากการต่อสู้จากบรรพชนคนข้ามเพศในอดีตที่เดินขบวนปีต่อปี จนรัฐบาลยอมเปลี่ยนกฎหมายเพื่อมอบสิทธิพึงมี และส่งต่อให้ลูกหลานเหลนโหลนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี

นอกจากนี้คนข้ามเพศยังเป็นตัวแทนนักสู้เพื่อฉีกขนบการตัดสินเพศทางชีววิทยาหรือการใช้โครโมโซม XY มากำหนด เพราะบนโลกนี้มีเพศที่เรียกว่า Intersex หรือบุคคลที่มองไม่ออกว่ามีอวัยวะเพศเป็นเพศใด บางคนมีช่องคลอด แต่ไม่มีมดลูก บางคนมีทั้งจู๋ และจิ๋ม ฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการกำหนดเพศผ่านอัตลักษณ์ที่เลือกเองของปัจเจกบุคคลมากกว่า

“ไม่ใช่ผู้หญิงข้ามเพศทุกคนอยากแปลงเพศ แต่ถ้าอยากผ่าต้องได้ผ่า นั่นคือสิทธิอันพึงมีในฐานะมนุษย์ ในส่วนของคนที่ไม่อยากผ่า สังคมต้องเข้าใจว่าผู้หญิงมีความหลากหลาย ไม่จำเป็นต้องเป็นแม่ ดังนั้นพวกเธอจึงเป็นตัวปลดแอกว่าผู้หญิงไม่จำเป็นต้องมีมดลูกหรือจิ๋มก็ได้ เพราะจิ๋มวัดความเป็นผู้หญิงไม่ได้ ในเมื่อผู้ชายข้ามเพศบางคนก็มีจิ๋ม ซึ่งเขาก็เป็นผู้ชาย คนอื่นไม่ควรเสือก”

เธอชวนสังคมไทยตั้งคำถามขณะหยิบคุกกี้กินที่บ้านพักในฝรั่งเศสว่า สิทธิคนข้ามเพศจะได้มาโดยการรอรัฐบาลสงเคราะห์ ชนิดที่ว่าอยู่ดีๆ รู้สึกใจดีให้สิทธิได้ง่ายๆ จริงเหรอ คนในสังคมต่างหากที่ต้องลุกขึ้นมาตระหนักและช่วยกันต่อสู้กับรัฐที่ไม่อยากให้คนข้ามเพศได้รับการยอมรับ เพราะเมื่อใดที่ผู้หญิงข้ามเพศเรียกร้องจะถูกหาว่าเยอะ และหัวรุนแรง ทั้งที่จริงแล้ว คนที่กดขี่จนผู้หญิงข้ามเพศถูกเลือกปฏิบัติตั้งแต่เกิดจนตายคือผู้ที่กระทำความรุนแรง

“ไม่ต้องบอกว่าผู้หญิงข้ามเพศเปลี่ยนเพศจะไปหลอกผู้ชาย เพราะคนที่เป็นเหยื่อจากความรุนแรงจริงๆ โดนตี ทำร้าย ข่มขืน คือผู้หญิงข้ามเพศ คุณกำลังจะเปลี่ยนแปลงให้คนที่เป็นเหยื่อจริงๆ กลายเป็นคนผิด ทั้งๆ ที่คุณคือผู้กดขี่”

03 ผู้หญิงข้ามเพศคือนักปฏิวัติ

อั้มเนโกะ-ประท้วงเพื่อสิทธิ Sex Worker
อั้ม เนโกะ ประท้วงเพื่อสิทธิ Sex Worker ในงานประชุมนานาชาติ AIDES ที่ Amsterdam

ไล่สายตาอ่านมาจนถึงบทที่สาม ‘นักปฏิวัติ’ คือคีย์เวิร์ดที่อยากสื่อสารในบทนี้

เรารู้กันอยู่แล้วว่าทุกการปฏิวัติมีหมุดหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลง แต่กว่าจะถึงวันนั้น ขวากหนามที่ผู้หญิงข้ามเพศต้องเจอ มีอยู่ร้อยแปดพันข้อ

มองผ่านเลนส์ทุนนิยม การเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ได้มาซึ่งการเป็นตัวเอง รัฐต้องสนับสนุน เพื่อให้พวกเธอรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม จ่ายภาษีอย่างมีความสุข เดินไปทำงานโดยไม่ต้องคิดว่าวันนี้ฉันจะอยู่รอดจากคำครหาหรือเปล่า

มองผ่านเลนส์สังคมนิยม หากจะทำให้ผู้หญิงข้ามเพศมีกำลังใจในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ และโลดแล่นในสังคมผ่านความสามารถของพวกเธอ ต้องเริ่มต้นจากการที่ทำให้ผู้หญิงข้ามเพศมีความสุขก่อน ไม่ใช่ว่าทุกคนมีรัฐสวัสดิการ แต่คนข้ามเพศไม่ได้รับบริการอะไรเลย ต้องพะวงหน้าพะวงหลัง ดูกระเป๋าตังค์ตัวเองว่าฉันมีเงินพอจะใช้จ่ายเพื่อการเป็นตัวเองหรือไม่ ยิ่งสังคมกีดกันพวกเธอไม่ให้รับบริการทางการแพทย์ฟรี พวกเธอยิ่งลำบาก เพราะไม่ได้รับโอกาสทางรายได้ หางานยาก บางคนต้องไปทำงานสุ่มเสี่ยงเพื่อแลกเงิน รัฐจึงต้องช่วยเหลือเรื่องนี้

อั้มเนโกะ-ผู้หญิงข้ามเพศ
อั้ม เนโกะ เคลื่อนไหวทางการเมืองและประชาธิปไตยในฝรั่งเศสทุกครั้งที่เป็นไปได้

“คนข้ามเพศไม่ใช่ตัวละครฉาบฉวย เป็นสีสัน หรือเป็นศิลปะตัดแปะในสังคม พวกเราคือนักปฏิวัติโดยแท้

“เราจะเห็นได้ว่าผู้หญิงข้ามเพศในไทยหลายคน ถูกกดขี่มากจนยอมให้เขากด คิดว่ามีที่ยืนทุกวันนี้คือมีสิทธิ์ที่ดีแล้ว ถ้าเรียกร้องเดี๋ยวคนอคติอีก นี่คือความจริงที่ว่าถูกกดขี่จนชิน รู้สึกชินกับการเป็นทาส แต่หากมองให้ลึกลงไป ผู้หญิงข้ามเพศอีกหลายคนไม่มีที่ยืนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการถูกกีดกันออกจากงาน พอไม่มีเงิน ต้องไปเป็น Sex Worker ซึ่งประเทศไทยเสี่ยงมาก เพราะไม่มีการปกป้องคุ้มครอง โดนข่มขืนมาต้องกลืนน้ำตา เพราะเป็นอาชีพผิดกฎหมาย และถูกเหยียดเพศซ้ำอีกว่าสมควรโดนแล้ว

“สิ่งที่อั้มอยากจะบอกคือ หากอยากเห็นสังคมเปลี่ยน ผู้หญิงข้ามเพศต้องออกมารวมตัวกันเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม เราไม่จำเป็นต้องจำยอมต่อระบบนายทุนที่ผลักคนข้ามเพศให้จมอยู่กับความยากจน ต้องคอยทุบกระปุกออมสินเพื่อเอาเงินมาจ่ายบริการทางสุขภาพเพราะรัฐไม่ใส่ใจ ทุนนิยมจึงเป็นศัตรูของเรา หลายคนต้องหนีออกจากบ้าน ถูกครอบครัวทำร้ายร่างกายและจิตใจ เรียนหนังสือถูกบังคับตัดผม ทำให้เรารู้สึกแปลกแยก บางคนยอมสู้ นอนริมถนนเพราะไม่อยากจ่ายค่าที่พัก เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินที่สามารถจ่ายความเป็นตัวเองได้”

คิดว่าทำไมกฎหมายเพื่อคนข้ามเพศในไทยถึงยังไม่เกิดเสียที? ฉันถาม

‘สั่นคลอน’ เป็นนิยามคำตอบที่เธอกำลังจะเผย

“การให้คนข้ามเพศเปลี่ยนคำนำหน้า เปลี่ยนเพศตามทะเบียนราษฎร์ และให้สวัสดิการทางสุขภาพฟรี คือการสั่นคลอน Cisgender เพราะพวกเขาถูกท้าทาย หากคนข้ามเพศมีตัวตนขึ้นมา เท่ากับว่าสังคมมันเท่าเทียมกัน มีสิทธิ์ทางกฎหมายเท่ากัน ถูกยอมรับอย่างแท้จริง ซึ่งสังคมไม่อยากให้เราเป็นส่วนหนึ่ง เพราะคิดว่าเราจะไปแย่งพื้นที่ของ Cis Women จริงๆ แล้วไม่ใช่ มนุษย์ทุกคนมีพื้นที่ในแบบของตัวเอง 

“ประเด็นหนึ่งที่น่าพูดถึงคือสังคมเหยียดเพศพยายามไม่ยอมรับผู้หญิงข้ามเพศเป็นผู้หญิง ด้วยการนำผู้หญิงตรงเพศกำเนิดมากดทับเราอีกที ด้วยการบอกว่านี่ของจริง นี่ของปลอม ทั้งๆ ที่พวกเราเป็นเหมือนพี่สาวน้องสาวกัน เราถูกเลือกปฏิบัติเหมือนกัน Cis Women ต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งกฎหมายทำแท้งเสรี ซึ่งในฝรั่งเศสทำแท้งฟรีแล้ว เหมือนกับให้สิทธิคนข้ามเพศฟรีเลย เพราะเขามองว่าผู้หญิงทุกรูปแบบต้องได้รับสิทธิเท่ากัน

“ไม่มีผู้มีมดลูกคนไหนอยากท้องเพื่อทำแท้ง และไม่มีผู้หญิงข้ามเพศคนไหนอยากผ่าตัดแปลงเพศเพราะความสนุก ทุกอย่างต้องแลกมาด้วยผลกระทบทางฮอร์โมนหรือความเสื่อมโทรมทางร่างกายจากการเปลี่ยนแปลงทั้งนั้น”

อั้ม เนโกะเสริมด้วยความโกรธต่อว่าสิ่งที่รัฐไทยทำอยู่คือการสร้าง Pinkwashing หรือการยอมรับ LGBTQ+ แบบปลอมๆ เพราะกฎหมายเลือกปฏิบัติในไทย เธอบอกว่า “ไม่เคยทำเหี้ยอะไรได้เลยจริงๆ”

04 การตายไม่ใช่ละครหลังข่าว แต่เป็นชีวิตจริง

ปี 2021 ยังมีผู้หญิงข้ามเพศถูกเลือกปฏิบัติอยู่ เสียงของอั้ม เนโกะลอดผ่านทางโทรศัพท์ว่า ทั้งหมดที่เธอพูดมาไม่ใช่ทฤษฎี หรือการสั่งสมความรู้จากตำราเรียน แต่มันมาจาก Based on True Stories ของเธอและผู้หญิงข้ามเพศทั่วโลก

“เมื่อวานอั้มเพิ่งไปเดินขบวนเคลื่อนไหวมา มีป้าชาวฝรั่งเศสคนหนึ่ง เขาบอกเราว่าขอบคุณมากที่ทำเพื่อคนรุ่นใหม่ เพราะสมัยก่อนรุ่นป้าไม่มีสิทธิ์อะไรเลย ตอนนี้แม้ป้าจะมีบ้านแล้ว แต่ดึกๆ ยังคิดในใจอยู่เลยว่า จะมีอีกกี่ชีวิตที่ไม่ได้รับโอกาส ยืนอยู่บนความหนาวเหน็บ น้ำฝนซัดเข้าตัว ยิ่งเป็นผู้อพยพแล้ว พวกเธอจะเป็นอย่างไรกันบ้าง”

ประเด็นทางสิทธิของผู้หญิงข้ามเพศ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงน้อยในสื่อกระแสหลัก และการเมืองกระแสหลัก อั้ม เนโกะอธิบายว่า LGBTQ+ ในไทย ส่วนใหญ่จะเรียกร้องให้เกิดสมรสเท่าเทียมเพียงอย่างเดียว เพราะบางคนในคอมมูนิตี้ได้รับสิทธิพิเศษในฐานะ Cisgender

“ตัวอักษร LGBQ+ ยกเว้น T ได้ Privilege ในฐานะที่ดูผ่านๆ อาจจะไม่รู้ว่าเป็น สังคมจะปฏิบัติต่อคุณเหมือนผู้ชายและผู้หญิง Cisgender ทั่วไป ถ้าคุณไม่ Come out ออกมา นั่นทำให้สมรสเท่าเทียมยังมีความก้าวหน้ามากกว่ากฎหมายรับรองเพศสภาพ เพราะสังคมคิดว่า โอเค แต่งงานกันไป แต่อย่ามาเปลี่ยนเพศเลย หลอกลวง ไม่ยอมรับความจริง แย่งพื้นที่ชาวบ้าน

“T จึงถูกทำให้เป็นตัวละครลับที่ไม่ถูกผลักดันกฎหมายเทียบเท่าการแต่งงาน แม้ว่าคุณแทบจะมีโอกาส Come out น้อยกว่าเพศอื่นมาก คนในคอมมูนิตี้ LGBQ+ บางคนอยากจะ Come out ด้วยความกล้าของตัวเองเมื่ออายุครบเท่านี้ แต่ผู้หญิงข้ามเพศยี่สิบสี่ชั่วโมงของพวกเธอไม่สามารถเลือกเวลาเปิดเผยอะไรได้เลย โดนเช็กประวัติและบัตรประชาชนตั้งแต่เดินมาแล้ว”

อั้มเนโกะ-เรียกร้องสิทธิ์-กฎหมายคนข้ามเพศ
อั้ม เนโกะ และผู้หญิงข้ามเพศจำนวนมากในฝรั่งเศสไม่เคยหยุดเรียกร้องสิทธิ์ที่พึงมี

เช่นเดียวกับสถานการณ์ทุกวันนี้ ในขบวนการประชาธิปไตย ยังพบมุกเหยียดคนข้ามเพศเสมอ ความรุนแรงที่พูดนั้น ไม่ต่างจากเผด็จการที่ทำต่อประชาชน ปากบอกสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่กลับเหยียบคนข้ามเพศเพื่อให้ตัวเองสูงขึ้น

“Check your privilege กันให้มากๆ หากในอนาคตสมรสเท่าเทียมผ่าน แต่คุณยังปล่อยให้คนข้ามเพศต้องทนทุกข์ทรมานเพราะไม่มีการรับรองเพศสภาพ คุณจะไม่ต่างจากเผด็จการที่ไม่รู้ว่ากำลังกดขี่เราอยู่ ดังนั้นการแก้ไขอันเป็นรูปธรรมคือต้องเปิดเวทีให้ผู้หญิงข้ามเพศเป็นที่พูดถึงในการเมืองกระแสหลักสักที” อั้ม เนโกะเน้นย้ำ

มีอะไรอยากฝากถึงรัฐบาลไหม? 

“ไม่รู้จะหวังพึ่งอะไรได้ไหม เพราะขนาดโควิด-19 ยังบริหารไม่ได้ ประเด็นคนข้ามเพศคงไม่เห็นหัว แต่ถ้าคุณอ่านอยู่ กรุณาฟัง ส.ส. ฝ่ายค้านฝั่งประชาธิปไตยด้วย มันมีการร่างกฎหมายที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิทธิคนข้ามเพศอยู่

“พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่ออกมาจากรัฐบาล นั่นไม่ใช่สิ่งที่ LGBTQ+ ต้องการนะ รัฐบาลและทุกพรรคการเมืองต้องฟังเสียงจากขบวนการเคลื่อนไหวของคนตัวเล็ก ตัวน้อย นักเคลื่อนไหวภาคพื้นดิน ว่าพวกเขาต้องการอะไรกันแน่”

อั้มเนโกะ-ประชาธิปไตยจงเจริญ
อั้ม เนโกะ และคนไทยในฝรั่งเศสร่วมแสดงจุดยืนเรียกร้องประชาธิปไตย

เธอเพิ่มวอลุ่มเสียงให้ฮึกเหิมตอนใกล้จบบทสนทนาว่า “การเมืองกระแสหลักต้องแตะให้ถึงทั้งเรื่องกษัตริย์ ทหาร นักการเมือง รัฐสวัสดิการ และต้องไม่ลืมบุคคลที่ถูกกดขี่ทั้ง Cis Women ผู้หญิงข้ามเพศ LGBTQ+ คนพิการ คนจน คนชายขอบ ไม่เช่นนั้นวงเวียนการต่อสู้ไม่มีทางจบลงแน่นอน”

นักประชาธิปไตย คือนักต่อสู้เพื่อสิทธิเท่าเทียมในทุกอณู ไม่ว่าจะเล็กแค่ไหนก็ต้องสนใจ

เพราะถ้าไม่สน โปรดอย่าเรียกตัวเองว่านักประชาธิปไตย แต่จงเรียกตัวเองว่าบุคคลผู้สวมหมวกประชาธิปไตยใบปลอมก็พอ

“ผู้หญิงข้ามเพศคือผู้หญิง” ประโยคสุดท้ายที่อั้ม เนโกะฝาก

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.