Abang Adik หนังพี่น้องคนชายขอบในมาเลเซีย - Urban Creature

ภาพยนตร์จากประเทศมาเลเซีย คงไม่ได้เป็นสิ่งที่หาชมได้บ่อยนักในโรงหนังไทย อีกทั้งน่าจะมีภาพจำว่าต้องเป็นหนังที่นำเสนอความเป็นศาสนาอิสลามแน่ๆ ยังไม่นับรวมกฎการเซนเซอร์หนังที่เคร่งครัดเป็นอย่างมาก

ด้วยเหตุนี้ หลายๆ คนอาจจะเข้าใจผิด ไม่คิดว่า Abang Adik หนังที่คว้ารางวัลนักแสดงนำชายจากเวทีม้าทองคำ (Golden Horse Awards) ที่ได้ชื่อว่าเป็นออสการ์ของจีน ซึ่งมีตัวละครนำเป็นชาวจีนจะเป็นหนังมาเลเซียไปได้

มากไปกว่านั้น มันยังเป็นหนังแนวชีวิตรันทด ขื่นขม และโหดร้าย ที่ตัวละครต้องการจะหลีกหนีจากโชคชะตาอันต้อยต่ำในสังคม ตะเกียกตะกายหาหนทางไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าผ่านเส้นทางอันสุดแสนยากลำบาก ที่ไม่ว่ายังไงก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่พวกเขาจะหลุดออกจากวงจรเหล่านั้น เนื่องจากระบบสังคมกดทับพวกเขาอยู่

Abang Adik มาเลเซีย ผู้อพยพ ต่างด้าว ภาพยนตร์ หนัง พี่น้อง แรงงาน

เราแทบไม่เคยเห็นเรื่องราวลักษณะนี้จากฟากฝั่งของหนังมาเลเซีย ทั้งที่หนังแนวนี้ในระดับสากลถูกเล่ามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสถานที่และเวลา ยกตัวอย่าง Rosetta (1999) ของพี่น้อง Dardenne ที่ว่าด้วยเด็กสาวผู้พยายามต่อสู้เอาชีวิตรอดเพียงหวังแค่การงานที่มั่นคง, Lilya 4-Ever (2002) ของ Lukas Moodysson ที่เล่าถึงชีวิตเด็กสาวที่ถูกพ่อแม่ทอดทิ้งในเมืองที่เคยเป็นสหภาพโซเวียต และถูกหลอกไปค้าประเวณีในสวีเดน, An Elephant Sitting Still (2018) หนังจีนของ Hu Bo ผู้ล่วงลับ ที่ฉายภาพของกลุ่มคนหลากวัยที่หมดหวังกับเมืองของเขา หรือ A Sun (2019) หนังไต้หวันที่ชวนไปสำรวจชีวิตเด็กชายผู้เลือกเส้นทางชีวิตผิด จนกลายเป็นผลพวงติดชีวิตเขาไปตลอด

ในเมืองไทยเองปีล่าสุดก็มี RedLife (2023) ที่ฉายภาพกลุ่มคนในพื้นที่วงเวียน 22 แน่นอนว่าหนังประเภทนี้คงไม่ใช่อะไรที่จะมอบความบันเทิงหรือสร้างความสนุกสนานให้ผู้ชมแต่อย่างใด ดังนั้นการจะเชื้อเชิญให้ผู้ชมที่ถามหาความสนุกเข้าไปชมหนังประเภทนี้ย่อมเป็นความท้าทาย เพราะหลายคนคงคิดว่า จะดูหนังที่ไม่ได้สร้างความสุขและฉายภาพชีวิตอันทุกข์ระทมกันไปทำไม

แต่ไม่ว่าคำตอบที่ได้จะเป็นอย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของหนังแบบ Abang Adik ช่วยให้อย่างน้อยสังคมได้รับรู้ถึงชีวิตของคนชายขอบที่ไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไรมากมายในชีวิต และไม่ว่าจะประเทศที่เจริญแล้วหรือกำลังพัฒนา หนังประเภทนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่า ทุกพื้นที่ไม่ว่าที่ใดในโลกต่างมีปัญหาร่วมกัน นั่นคือ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมในชนชั้นแรงงาน และระบบรัฐที่ไม่ได้รองรับคนทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง

แม้ชีวิตไม่เหลืออะไร แต่ขอแค่ใครสักคนที่พร้อมอยู่เคียงข้าง

Abang Adik มาเลเซีย ผู้อพยพ ต่างด้าว ภาพยนตร์ หนัง พี่น้อง แรงงาน

Abang Adik มีความหมายว่า พี่ น้อง ในภาษามาเลเซีย เรื่องราวของหนังจึงว่าด้วยความสัมพันธ์ของสองพี่น้องชนชั้นแรงงาน พลเมืองชั้นที่สามในสังคม ที่กลายเป็นคนไร้สัญชาติเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชนหรือเอกสารที่บ่งบอกถึงการมีตัวตนของพวกเขา

ฟากพี่ชายเป็นผู้พิการทางการได้ยินที่ใช้ชีวิตทำงานสุจริตอย่างปากกัดตีนถีบตามแต่จะมีให้ทำ และยอมรับในสถานะที่ตนเองเป็นอย่างจำยอม ส่วนฝั่งคนน้องเลือกไม่ยอมจำนนต่อความเป็นพลเมืองที่รัฐมอบให้ ทำงานลักลอบพาคนเข้าเมืองและบรรดางานที่ได้เงินมาอย่างรวดเร็วในวิธีการที่ไม่ถูกต้อง จนดูเป็นคนที่มีความขบถต่อสังคมก็ว่าได้

ทั้งสองคนอาศัยอยู่ท่ามกลางชุมชนแออัดของชนชั้นแรงงานและคนต่างด้าวในตลาดสดปูดู อันเป็นภาพที่ไม่น่าอภิรมย์ชมชื่นสักเท่าไหร่ ซึ่งตัวหนังสามารถเก็บเอารูป รส กลิ่น เสียงอันกักขฬะของย่านนี้มาถ่ายทอดให้ผู้ชมได้สัมผัสบรรยากาศเหล่านั้น ทำให้เห็นว่าภายในมุมเร้นลับที่ไม่ได้ถูกนำเสนอของบ้านเมืองประเทศมาเลเซีย ที่แม้จะมีความเป็นหนังเมโลดราม่าเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชม แต่ก็มิได้เผลอ Romanticized ชีวิตคนเหล่านี้ดั่งคนจากชนชั้นสูงมองลงมายังคนเบื้องล่าง จนกลายเป็นมหรสพของคนชายขอบให้คนมีฐานะได้เพลิดเพลิน

แก่นหลักของหนังเป็นการเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของคนสองคนที่แม้จะเป็นชีวิตที่ไม่ได้มีอะไรมากมายนัก ทว่าในโชคร้ายก็ยังมีโชคดีที่ทั้งสองพี่น้องยังเหลือกันและกัน ร่วมใช้ชีวิตให้ผ่านพ้นไปในแต่ละวัน ซึ่งนั่นทำให้เห็นว่า แม้ชีวิตจะทุกข์ระทมลำบากยากเข็ญเพียงใด ขอเพียงแค่ยังมีใครสักคนอยู่เคียงข้าง ความทุกข์เหล่านั้นก็อาจทุเลาลงบ้างไม่มากก็น้อย ไม่ต่างจากความสุขเล็กๆ ที่ Abang และ Adik ได้มีร่วมกันอย่างการกินไข่ต้มที่ตอกเปลือกด้วยหัวของทั้งคู่ แม้ว่าสองพี่น้องจะไม่ได้ลงรอยเห็นด้วยในทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกันก็ตาม

ความทุกข์ทรมานที่สุดไม่ใช่ความยากจน แต่เป็นการไร้ตัวตน ไร้สิทธิ ไร้เสียง

Abang Adik มาเลเซีย ผู้อพยพ ต่างด้าว ภาพยนตร์ หนัง พี่น้อง แรงงาน

การชมหนังเรื่องนี้ทำให้เราประจักษ์ว่า สิ่งที่ทุกข์ทรมานเสียยิ่งกว่าความยากจนคือการไม่มีตัวตนในสังคม เพราะการไม่มีสถานะใดๆ ไม่มีสิทธิ์ในการเข้าถึงสิ่งต่างๆ เช่นคนอื่น ทำให้เห็นว่ามันคือการมีชีวิตอย่างไร้ซึ่งอนาคต

ในขณะที่ Adik ผู้เป็นน้องชายยังมีโอกาสในการมีชีวิตที่ดีกว่าเดิมได้ ด้วยการมีหลักฐานการมีอยู่ชิ้นสำคัญอย่างใบสูติบัตรเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ตัวของ Abang ผู้ไร้เอกสารการยืนยันตัวตนความเป็นพลเมืองมาเลเซีย เนื่องจากสูญหายไปในกองเพลิงที่พรากเอาทั้งบ้านและพ่อแม่ไปจากเขา ทำให้ชายหนุ่มเปรียบเสมือนเงาที่ไร้ตัวตนไร้อนาคตไปโดยปริยาย ได้แต่เฝ้ามองผู้คนที่มีโอกาสไขว่คว้าการงานดีๆ เพราะเขาไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาเช่นคนอื่นๆ ไม่มีสิทธิ์เปิดบัญชีเก็บเงิน ไม่มีทางแต่งงานได้อย่างถูกกฎหมาย ซึ่งความไม่มีเหล่านี้ล้วนนำมาซึ่งสถานะหมดสิ้นความฝันที่จะมีครอบครัว แม้แต่สาวพม่าที่อยู่ข้างห้องยังถูกส่งกลับประเทศไปอยู่กับครอบครัวได้ แต่สำหรับ Abang นั้นกลับไม่เหลือสิ่งใดในชีวิต เพียงเพราะไม่มีกระดาษใบหนึ่งอยู่กับตัวเท่านั้น

เมื่อสิทธิขั้นพื้นฐานหล่นหาย มันก็มากพอที่จะทำให้ชีวิตของเขาหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง ไร้ที่พึ่ง ไร้หนทางที่จะไป สำหรับเราแล้ว สิ่งนี้สะท้อนถึงความล้าสมัยในระบบรัฐที่ยังคงใช้ระบบเก่าในการรองรับชีวิตคนคนหนึ่ง และยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อคนคนนั้นเป็นผู้พิการที่ไม่สามารถได้ยินและเปล่งเสียงได้ ซึ่งอีกนัยหนึ่งคือการสะท้อนสถานะทางสังคมในฐานะของผู้ที่ไม่สามารถครอบครองสิ่งใดเป็นของตนเองได้เลย แม้แต่สุ้มเสียงของเขาเอง

ทั้งนี้ ต้องชื่นชมการแสดงระดับถวายชีวิตของ อู๋คังเหริน ที่ลดหุ่นตัวเองกว่า 10 กิโลกรัม รวมถึงวิธีการสื่อสารด้วยภาษามือและแสดงท่าทีราวกับเป็นผู้พิการทางการได้ยินอย่างเป็นธรรมชาติ ยังไม่นับการที่เขาลงไปคลุกคลีอยู่ในตลาดปูดูจนผู้คนในตลาดเริ่มมีท่าทีการพูดแบบตะโกนดุด่าใส่เขา เพราะคิดว่าเขาคือคนงานในตลาดแห่งนี้ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่พลเมืองทั่วไปและนักท่องเที่ยวจะไม่มีวันได้พบเจอ แต่คนชนชั้นแรงงานได้รับอยู่ในทุกๆ วัน

ตัวตนที่ไม่มีความหมายจะถูกสังคมกดทับและกลืนกินไปในที่สุด

Abang Adik มาเลเซีย ผู้อพยพ ต่างด้าว ภาพยนตร์ หนัง พี่น้อง แรงงาน

ตลอดทั้งเรื่องนั้น ตัวละครทั้งสองถูกเรียกด้วยสถานะความเป็น พี่ชาย และ น้องชาย ผ่านคำว่า ‘Abang’ และ ‘Adik’ โดยไม่มีการเอ่ยถึงชื่อแซ่ที่แท้จริงของตัวละคร ผู้ชมไม่มีสิทธิ์ที่จะรับรู้ตัวตนที่แท้จริงของพวกเขา

ปรากฏการณ์นี้เป็นตัวบ่งบอกถึงความไร้ตัวตนที่ถูกบริบทสังคมมาเลเซียกลืนกิน (สัดส่วนประชากรส่วนใหญ่ 60 เปอร์เซ็นต์เป็นชาติพันธุ์มลายู เป็นชาวจีนเพียงอีกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์) และเปลี่ยนตัวตนของพวกเขาไปเป็นเพียงแรงงานที่ไม่ได้มีค่าให้จดจำ วันใดวันหนึ่งที่พวกเขาหายสาบสูญหรือถูกส่งกลับไปยังประเทศบ้านเกิด จะไม่มีใครล่วงรู้ถึงชะตากรรมเป็นตายร้ายดีได้เลย

ประเด็นเรื่องการไร้ตัวตนและถูกแทนที่ด้วยภาพลักษณ์ที่สังคมมอบให้นี้ สะท้อนถึงการที่ประเทศมาเลเซียทอดทิ้งพลเมืองที่ไม่ใช่ชนชาติมาเลเซียอย่างไร้เยื่อใย ยิ่งเมื่อสังคมมาเลเซียเต็มไปด้วยพลเมืองชนชั้นแรงงานที่มีหลากเชื้อชาติหลายวัฒนธรรม แต่ไม่ได้มีระบบรองรับผู้คนเหล่านั้นเลยแม้แต่น้อย แม้หนังเรื่องนี้จะฉายภาพหลักไปที่ตัวละครสองพี่น้องที่เป็นคนเชื้อชาติจีน แต่ก็ยังมีตัวละครอื่นๆ ที่เป็นคนหลากหลายเชื้อชาติอย่างอินเดียหรือพม่าปรากฏในเรื่อง รวมถึงสิ่งต่างๆ เบื้องหลังที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมความเชื่อที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือเสียงอาซานจากมัสยิดของศาสนาอิสลามที่สอดแทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง เกิดเป็นภาพพื้นที่ที่มีชีวิตอันหลากหลายมากมายอยู่ร่วมกัน ซึ่งสายตาของผู้คนอาจทอดไปไม่ถึงพวกเขา หนังเรื่องนี้จึงเป็นการเผยมุมที่น้อยคนจะตั้งใจมอง ทั้งที่เป็นปัญหาที่ประเทศฝั่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประสบพบเจอกันอย่างเป็นสากล

บทสรุปที่ชวนย้อนมองปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรม

Abang Adik มาเลเซีย ผู้อพยพ ต่างด้าว ภาพยนตร์ หนัง พี่น้อง แรงงาน

ในฐานะผู้ชม แน่นอนว่าหนังอาจมีโครงสร้างของบทที่ตั้งใจเซตติงขึ้นมาอยู่บ้าง เพื่อให้เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้งานในการสร้างอารมณ์เรียกน้ำตาคนดู ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะทรงพลังและบีบคั้นหัวใจเหลือแสน

ถึงอย่างนั้น อีกสิ่งที่ประกอบสร้างให้หนังเรื่องนี้โดดเด่นคือการแสดงของ อู๋คังเหริน ในบทพี่ชาย ที่ถ่ายทอดการแสดงเป็นผู้พิการทางการได้ยินแบบสุดชีวิต จนทีแรกเราเข้าใจว่าเขาคือผู้พิการจริงๆ ก่อนจะมารู้ทีหลังว่าเป็นนักแสดงไต้หวันที่กำลังมาแรง ส่วน แจ็ค ตัน ในบทน้องชาย ที่การแสดงอาจไม่ได้แพรวพราวเทียบเท่า แต่ก็มีเสน่ห์ให้ผู้ชมอยากเอาใจช่วยตัวละครนี้อย่างไม่น่าเชื่อ แม้ว่าการดำเนินชีวิตของเขาจะผิดที่ผิดทางไปก็ตาม

ขณะเดียวกัน ในบางท่าทีของหนังทำให้รู้สึกเหมือนว่าทั้งสองคนนี้กำลังทริบิวต์ให้ตัวละครของ เหลียง เฉาเหว่ย และ เลสลี จาง ในหนังดัง Happy Together (1997) ด้วยอุปนิสัย ความสัมพันธ์ที่ตัดกันไม่ขาด และองค์ประกอบที่หนังแอบใส่เข้ามา ซึ่งหากใครเป็นแฟนตัวยงของ หว่อง กาไว ก็คงจะสังเกตเห็นไม่ยาก เพราะทั้งสองเรื่องนี้ต่างว่าด้วยชีวิตคนผู้ไปเป็นแรงงานต่างชาติที่ชีวิตไม่เหลือสิ่งใดมากนอกจากการได้อยู่ร่วมกัน

มากไปกว่านั้น ไม่บ่อยนักที่เราจะได้มีโอกาสเห็นหนังจากมาเลเซียที่ได้รับรางวัลใหญ่ และมีโอกาสเข้าฉายในบ้านเราแบบกระแสหลัก (อาจจะมีคนบางกลุ่มที่คุ้นกับหนังทรงผีอิสลามแบบ Munafik (2016) หรือ Roh (2019) อยู่บ้าง แต่แม้แต่หนังที่ไปเป็นที่ชื่นชมที่เมือง Cannes อย่าง Tiger Stripes (2023) ยังไม่เป็นที่พูดถึงในไทยเท่าที่ควร) ทั้งนี้ เพราะ Abang Adik ไม่ได้เป็นหนังทรงรางวัลที่ดูยากจนเกินไป แต่ยังมีความน่าติดตามของชะตากรรมตัวละครที่น่าเห็นใจ มิฉะนั้นคงไม่กลายเป็นหนังทำเงินถล่มทลายทั้งที่มาเลเซียและไต้หวัน

เหนืออื่นใด สาระสำคัญคือหนังพูดประเด็นที่หลายๆ ประเทศรวมถึงไทยเองประสบพบเจอเป็นสากล ดังนั้นเมื่อดูจบ เราอาจจะมองย้อนและตั้งคำถามไปถึงชีวิตคนชายขอบอย่างแรงงาน คนต่างด้าว และคนอพยพที่ก็มีบทบาทสำคัญในสังคม แต่สำหรับสังคมนั้น พวกเขาเป็นใครสักคนที่สำคัญพอที่ผู้คนและรัฐจะชายตามองเห็นพวกเขาบ้างไหม

Abang Adik มาเลเซีย ผู้อพยพ ต่างด้าว ภาพยนตร์ หนัง พี่น้อง แรงงาน

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.