เข้าสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง 66 แล้ว เพราะเหลือเวลาอีกแค่ไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น ก็จะถึงช่วงเวลาตัดสินชะตาชีวิตคนไทยในอีก 4 ปีข้างหน้า
ที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอจุดยืนและนโยบายของเหล่าพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างการเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านสาธารณสุข ด้านค่าครองชีพ มาเยอะแล้ว Urban Creature จึงอยากพาทุกคนไปดูนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของพรรคการเมืองที่มีชื่อติดโพลใหญ่ๆ และน่าจับตามองกันบ้าง
เพราะเราคงมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนไม่ได้แน่ๆ หากผู้มีอำนาจไม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม และปล่อยให้ประชาชนใช้ชีวิตท่ามกลางเมืองหม่นๆ ที่เต็มไปด้วยฝุ่นควัน รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคต
พรรคภูมิใจไทย เบอร์ 7
ประเดิมด้วยพรรคแรกกับการไล่จากเลขเบอร์น้อยไปยังเลขมาก กับ ‘พรรคภูมิใจไทย’ ซึ่งนำโดย ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ ที่ปัจจุบันนั่งแท่นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
‘พูดแล้วทำ’ คือสโลแกนที่พรรคภูมิใจไทยนำมาชูสำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้ และเมื่อเราเข้าไปดูข้อมูลนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมก็พบว่า ตัวพรรคไม่ได้เซตนโยบายสิ่งแวดล้อมไว้อย่างชัดเจนนัก แต่มีนโยบายที่เกี่ยวกับพลังงานเข้ามาแทน นั่นคือ นโยบายพลังงานสะอาด ลดรายจ่ายประชาชน
เพราะมองว่าค่าใช้จ่ายด้านพลังงานทั้งค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้าคือภาระใหญ่หลวงที่ประชาชนต้องแบกรับ และกระบวนการผลิตพลังงานเหล่านี้ยังก่อให้เกิดมลภาวะ อากาศพิษ ทำร้ายสุขภาพประชาชน และเป็นต้นเหตุของโลกร้อน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชน
พรรคภูมิใจไทยจึงเสนอนโยบายผ่าน 2 โครงการ นั่นคือ ประชาชนจะได้รับสิทธิ์เข้าร่วมโครงการใช้หลังคาบ้านติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใช้ในบ้านเรือนตัวเอง คิดเป็นกระแสไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 450 บาทต่อเดือน และส่งกระแสไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้ขายให้แก่รัฐบาลผ่านระบบของการไฟฟ้า
นอกจากนี้ ประชาชนที่นำบ้านเข้าร่วมโครงการติดตั้งโซลาร์เซลล์ฟรี ยังได้สิทธิ์ซื้อมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าบ้านละ 1 คันในราคา 6,000 บาท ด้วยระบบผ่อนชำระเดือนละ 100 บาท เป็นเวลา 60 เดือน และสามารถใช้เครดิตพลังงานเติมกระแสไฟฟ้า โดยไม่ต้องจ่ายค่าพลังงานสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า
ดูรายละเอียดนโยบายเพิ่มเติมได้ทาง bhumjaithai.com/policy/80668
พรรคชาติพัฒนากล้า เบอร์ 14
‘นโยบายเศรษฐกิจ’ คือหลักคิดที่ ‘พรรคชาติพัฒนากล้า’ ใช้ชูจุดเด่นของตัวเองมาโดยตลอด ภายใต้การนำของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ‘กรณ์ จาติกวณิช’
นั่นจึงส่งผลให้นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของพรรคไม่ได้มุ่งตรงที่สิ่งแวดล้อมเพียวๆ แต่เป็นสิ่งแวดล้อมที่มาพร้อมเศรษฐกิจ หรือเศรษฐกิจสีเขียว ตามที่พรรคได้หาเสียงไว้ โดยกรณ์ได้กล่าวว่า “เราพร้อมที่จะทำเรื่องยาก เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้กับพี่น้องประชาชน”
นโยบายที่ว่านั้นเน้นไปที่การปฏิรูปพลังงาน ซึ่งจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียน ที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตด้วย โดยเป้าหมายของพรรคคือ ขยายพื้นที่ป่าของประเทศเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ หรือ 26 ล้านไร่ของประเทศ ด้วยการใช้นวัตกรรมทางนโยบาย ผ่านการออกพันธบัตรป่าไม้มูลค่า 65,000 ล้านบาท สร้างรายได้ให้ประชาชน ทั้งการขายพืชเศรษฐกิจและคาร์บอนเครดิต
พรรครวมไทยสร้างชาติ เบอร์ 22
สำหรับพรรคนี้ ไม่ใช่แค่นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม แต่นโยบายต่างๆ ก็น่าจะเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาประชาชนแล้ว เนื่องจากเป็นพรรคที่นำโดย ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ ที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ มากว่า 8 ปี
แม้ในเว็บไซต์ของพรรคจะไม่ได้มีเนื้อหานโยบายที่อธิบายอย่างชัดเจนว่า ‘พรรครวมไทยสร้างชาติ’ ต้องการพาประเทศไทยไปยังทิศทางไหน แต่จากถ้อยคำของผู้ลงสมัคร ส.ส. การดีเบต และป้ายหาเสียงต่างๆ ก็ทำให้เราพอจับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของพรรคได้ว่า มีการผลักดันแนวคิดเปลี่ยนขยะเป็นเงิน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนเก็บขยะ และแยกขยะอย่างเป็นระบบ รวมถึงสร้างรายได้จากการขายขยะ
นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงการบังคับใช้กฎหมายควบคุมจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 และเข้าร่วมเจรจากับผู้นำใน 2 ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาวกับเมียนมา เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ทั้งยังพยายามออกนโยบายผลักดันให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นอีกด้วย
พรรคประชาธิปัตย์ เบอร์ 26
สำหรับพรรคที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยอย่าง ‘พรรคประชาธิปัตย์’ ที่มีหัวหน้าพรรคคือ ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ มองว่า ความยั่งยืนคือทิศทางโลกที่ไม่มีใครฝืนได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านเศรษฐกิจ การเกษตร พลังงาน หรือสิ่งแวดล้อม จึงมุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืน
แม้ว่าในแผน 16 นโยบายหลักของพรรคจะไม่ได้ระบุถึงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเด่นชัด แต่ในการปราศรัย หัวเรือใหญ่และตัวแทนพรรคก็ได้พูดถึงการบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่ต้องจริงจังและเข้มงวดขึ้น รวมถึงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ทางพรรคยังมีการตั้งคณะทำงานศึกษานโยบายสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการเพิ่มศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้จัดการขยะให้ได้ รวมถึงการจัดทำแนวเขตป่า และออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลงให้เสร็จสิ้นภายใน 4 ปี เพื่อความยั่งยืนในการทำมาหากินของประชาชน ทั้งยังเป็นการป้องกันพื้นที่ป่าที่อาจโดนรุกราน
พรรคเพื่อไทย เบอร์ 29
แม้จะมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่แยกออกมาอย่างชัดเจน นั่นคือ ทวงคืนอากาศสะอาด แก้ปัญหา PM 2.5 ทุกต้นตอ ด้วยการผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน โดยมีการแบ่งระยะการทำงานออกเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ‘พรรคเพื่อไทย’ ภายใต้การนำของหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมในด้านอื่นๆ อีก
จากนโยบาย 19 ด้านที่เซตไว้ เพื่อไทยได้มุ่งเน้นที่การบริหารจัดการน้ำ ด้วยการทำให้น้ำต้อง ‘ไม่ท่วม ไม่แล้ง’ และ ‘ประชาชนต้องมีน้ำดื่ม น้ำใช้’ ตลอดปี ผ่านการเพิ่มพื้นที่ชลประทาน สร้างทางระบายน้ำลงสู่ทะเล ใช้ระบบน้ำใต้ดินทั้งบ่อตื้นและบ่อลึก ไปจนถึงจัดตั้งแผนจัดการลุ่มน้ำเจ้าพระยา
นอกจากนี้ยังมีนโยบายพลังงานที่ทางพรรคจะปรับลดราคาพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้าทันที สนับสนุนพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก รวมถึงเร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนเพื่อเพิ่มแหล่งก๊าซธรรมชาติราคาถูก และสามารถสร้างรายได้ให้ภาครัฐด้วย
ดูรายละเอียดนโยบายเพิ่มเติมได้ทาง ptp.or.th/นโยบาย
พรรคก้าวไกล เบอร์ 31
นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของ ‘พรรคก้าวไกล’ ภายใต้การบริหารจัดการโดยผู้นำพรรค ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แบ่งออกเป็นหลายหมวดหมู่ย่อย ตั้งแต่การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม จัดการต้นตอก๊าซเรือนกระจก รับมือกับวิกฤตสภาพอากาศ ขยะเป็นศูนย์ เป็นต้น
ทำค่าไฟให้แฟร์ เปิดตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้าเสรี คือนโยบายแรกๆ ที่เราจะได้เห็นเมื่อเข้าไปยังหน้าเว็บไซต์รวมนโยบายของพรรคก้าวไกล นอกจากนี้ยังมีการจัดการให้ภาคการเกษตรลดการเผา ภาคอุตสาหกรรมต้องมีการเปิดเผยข้อมูลมลพิษและก๊าซเรือนกระจก รวมถึงกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเหล่านี้ ควบรวมไปถึงการขนส่งสาธารณะที่ส่งเสริมให้ใช้พาหนะพลังงานไฟฟ้า เป็นต้น
ส่วนที่เป็นด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ทางพรรคก็มีนโยบายผลักดันพื้นที่สีเขียว ทบทวนแผนจัดการบริหารน้ำ แบนพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ยกเลิกการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ จัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังด้านสิ่งแวดล้อม สนับสนุน พ.ร.บ.อากาศสะอาด และข้อปลีกย่อยอื่นๆ อีกมากมาย นับว่าเป็นพรรคหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างละเอียดและครอบคลุม
ดูรายละเอียดนโยบายเพิ่มเติมได้ทาง election66.moveforwardparty.org/policy/collection/PolicyCategory/52
พรรคไทยสร้างไทย เบอร์ 32
‘พรรคไทยสร้างไทย’ ที่นำโดย ‘สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์’ ขายนโยบายครอบคลุมทุกวัย ทุกภาคส่วน ซึ่งหากโฟกัสที่นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมจะพบว่า พรรคค่อนข้างให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาประเด็นนี้อยู่เหมือนกัน
จัดการแก้ไขปัญหาฝุ่นทุกด้าน ทั้งด้านการเกษตร การจราจร ขนส่งสาธารณะ และการเดินทาง คือนโยบายการจัดการปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่พรรคชูโรง ซึ่งภายใต้ร่มใหญ่นี้ก็มีรายละเอียดของมาตรการรองรับไว้แล้ว เช่น เอาผิดกับคนเผาป่าอย่างจริงจัง สนับสนุนผู้ประกอบการที่เป็นโรงงานผลิตรถโดยสารและรถยนต์ไฟฟ้า หรือให้สิทธิ์หักลดหย่อนภาษีที่ดินแก่เจ้าของที่ดินที่สมัครใจเข้าร่วม ‘โครงการสวนสีเขียวที่เที่ยวชุมชน (Volk Green Park)’ เป็นต้น
มากไปกว่านั้น ทางพรรคยังผลักดันกฎหมายและมาตรการเพื่อรับมือกับ Climate Change เช่น ผลักดันให้มีการบังคับใช้พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ บังคับให้มีการเปิดเผยและจัดส่งข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายโรงงาน บังคับใช้การเก็บภาษีคาร์บอน และพัฒนานวัตกรรมกับเทคโนโลยีที่รองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ดูรายละเอียดนโยบายเพิ่มเติมได้ทาง thaisangthai.org/party-policies
พรรคพลังประชารัฐ เบอร์ 37
ครั้งนี้ ‘พรรคพลังประชารัฐ’ กลับมาพร้อมกับหัวเรือใหญ่คนใหม่ ‘พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ’ ที่มานั่งตำแหน่งหัวหน้าพรรค และชูสโลแกนก้าวข้ามความขัดแย้ง หวังอาสาเข้าไปแก้ไขปัญหาของประชาชน
แนวทางนโยบายของพรรคแบ่งออกเป็น 3 ด้าน โดย 2 ด้านที่เป็นฝั่งเศรษฐกิจและสังคมนั้นมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมประกอบอยู่ด้วย เช่น เมืองอัจฉริยะสีเขียว กับการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคน และการสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ อุตสาหกรรมหมุนเวียน นวัตกรรมสีเขียว (BCG) เพื่อตอบโจทย์ ‘การพัฒนาอย่างยั่งยืน’ ครอบคลุมถึงการเกษตรและอาหาร การแพทย์และสุขภาพ พลังงานและการท่องเที่ยว
นอกจากนี้ยังมีการมุ่งเน้นไปที่การบริหารจัดการน้ำโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำ แหล่งน้ำสำรอง และแหล่งน้ำทางเลือก ไปจนถึงการแก้ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และจัดทำผังน้ำชุมชน ควบรวมถึงการจัดการที่ดินให้ประชาชนมีที่ดินทำกินของตัวเอง
พรรคสามัญชน เบอร์ 51
ถึงแม้ว่าการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว ‘พรรคสามัญชน’ จะได้รับคะแนนเลือกตั้งเพียง 5,321 คะแนน แต่ ‘วาดดาว’ หรือ ‘ชุมาพร แต่งเกลี้ยง’ หัวหน้าพรรคคนใหม่ก็ไม่ยอมแพ้ ต้องการเข้าสภาไปแก้ไขกฎหมายและผลักดันให้คนเท่ากัน โดยนอกเหนือจากกล้าชนกฎหมายที่ปิดกั้นเสรีภาพอย่างตรงไปตรงมาแล้ว นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของพรรคก็เป็นที่น่าจับตามอง
เนื่องจากคนทำงานส่วนใหญ่ในพรรคเป็นนักกิจกรรมที่ขับเคลื่อนมูฟเมนต์ทางสังคมอยู่เรื่อยๆ ทำให้นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมจะให้น้ำหนักไปที่ ‘คน’ เป็นหลัก ยกตัวอย่างการสนับสนุน พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมือง และ พ.ร.บ.คุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เพื่อส่งเสริมความเชื่อและวิถีชีวิตคนอยู่กับป่า การปฏิรูปกฎหมายป่าไม้ แบ่งแนวเขตให้ป่ากับชุมชนแยกออกจากกันอย่างชัดเจน
และนอกจากการผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด ยกเลิกพลังงานสกปรก สนับสนุนพลังงานสีเขียว ห้ามนำเข้าขยะมลพิษ พรรคสามัญชนยังชูนโยบายทะเลมั่นคง หยุดการประมงทำลายล้าง รวมถึงบังคับใช้กฎหมายการประมงว่าด้วยการห้ามจับสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่ากำหนดอย่างจริงจัง