ไทยแก้ปัญหาหมาจรได้แล้ว! l URBAN เจอนี่ EP.7

ใครเดินตามท้องถนนหรือชุมชนบ่อยๆ คงเคยเห็นสุนัขจรจัดที่น่าสงสาร ไร้เจ้าของดูแล และไม่มีที่พักพิง ถ้าโชคดีหน่อยพวกมันจะได้รับอาหารและการดูแลจากผู้ใจบุญในพื้นที่ แต่ถ้าโชคชะตาไม่เข้าข้าง เพื่อนสี่ขาเหล่านี้มักถูกทิ้งให้หิวโซ เดินเตร็ดเตร่จนอาจเจ็บป่วยหรือตายได้ ด้วยความรักที่มีต่อเพื่อนสี่ขา ทำให้เกิดโครงการ ‘จรจัดสรร’ โครงการสุนัขชุมชน ที่ติดตั้งที่พักพิงเพื่อสุนัขจรจัดด้วยสถาปัตยกรรมขนาดเล็กน่ารัก และวันนี้ถือเป็นโอกาสที่ดี Urban เจอนี่ จะพาไปเจอกัน จรจัดสรร พูดคุยถึงแนวคิด และความเป็นมา และสิ่งที่จรจัดสรรทำ ทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้นและยกระดับสวัสดิการของทั้งคนและสุนัขให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร ติดตามได้จาก Urban เจอนี่ Ep. นี้กัน!

Notre Dame’s New Landscape โปรเจกต์ออกแบบพื้นที่นอกมหาวิหารนอเทรอดาม ที่เต็มไปด้วยต้นไม้และฟังก์ชันเพื่อคนเมือง

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2562 เกิดเหตุไฟไหม้มหาวิหารนอเทรอดาม (Notre Dame) ศาสนสถานอายุ 850 ปีในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่สร้างความตกใจและความเสียดายให้คนทั่วโลก เพราะเพลิงที่ลุกไหม้สร้างความเสียหายให้ศาสนสถานอายุหลายศตวรรษแห่งนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากโครงสร้างส่วนใหญ่ทำจากไม้ หลังจากเกิดเหตุ ฝรั่งเศสก็เริ่มแผนซ่อมแซมบูรณะตัวอาคาร ซึ่งคาดว่าอาจต้องใช้เวลาฟื้นฟูนานถึง 5 ปี ควบคู่ไปกับการเปิดประกวดแข่งขันด้านการออกแบบเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมหรือบริเวณโดยรอบมหาวิหารขึ้นมาใหม่ โดยเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 คณะกรรมการได้ประกาศรางวัลผู้ชนะเลิศอันดับหนึ่งคือ โปรเจกต์การออกแบบที่พัฒนาโดยภูมิสถาปนิก Bas Smets, บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมและผังเมือง GRAU และบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านมรดกทางสถาปัตยกรรม Neufville-Gayet  การออกแบบพื้นที่โดยรอบมหาวิหารนอเทรอดามของทีมนี้มีจุดประสงค์หลักเพื่อเชื่อมโยงสถานที่ทางประวัติศาสตร์ กับแม่น้ำแซนที่โอบล้อมมหาวิหารให้ใกล้ชิดกันมากขึ้น จัตุรัสที่อยู่หน้ามหาวิหารถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่เปิดโล่ง ช่วยให้ด้านหน้าของอาคารสูงเด่นเป็นสง่ากว่าเดิม และเพิ่มต้นไม้สีเขียวขจีที่รายล้อมอาคารและให้ร่มเงาแก่พื้นที่นั่งเล่น  ส่วนบริเวณด้านหลังของมหาวิหารจะถูกรวมเข้ากับสวนที่อยู่ติดกัน เปลี่ยนเป็นสวนสาธารณะริมแม่น้ำขนาดใหญ่ที่ทอดยาว 400 เมตร และจะมีการปลูกต้นไม้ใหม่เพิ่มถึง 131 ต้น กลายเป็นพื้นที่สีเขียวที่เหมาะแก่การเดินเล่นหรือนั่งพักผ่อนหย่อนใจเป็นที่สุด นอกจากนี้ ผู้ออกแบบยังติดตั้งระบบระบายความร้อนให้แก่พื้นด้วยการใช้ม่านน้ำความหนาเพียง 5 มิลลิเมตร ซึ่งจะช่วยลดอุณหภูมิได้หลายองศาฯ อีกทั้งยังทำให้กำแพงโดยรอบมหาวิหารสะท้อนแสงแวววับ และกลายเป็นจุดถ่ายรูปสวยๆ สำหรับนักท่องเที่ยวด้วย อีกหนึ่งการออกแบบที่น่าสนใจคือ การเปลี่ยนลานจอดรถที่อยู่ใต้จัตุรัสด้านหน้ามหาวิหารให้เป็นสถานที่ต้อนรับแขกขนาดใหญ่กว่า […]

“ดนตรีอยู่ที่ไหนก็ได้” – ‘ลภ เวลาเย็น’ ผู้จัดงานดนตรีที่อยากชวนทุกคนไปฟังเพลงกันซักแดด

ดนตรีมีหลากหลายแนวเพลง รูปแบบการเล่นดนตรีก็แตกต่าง การแสดงดนตรีย่อมไม่เหมือนกัน ในร้านเหล้า ผับ บาร์ คาเฟ่เป็นแบบหนึ่ง บนเวทีคอนเสิร์ต ในพื้นที่สาธารณะเป็นอีกแบบหนึ่ง ในงานตลาดนัดหรือเทศกาลดนตรีก็อีกแบบหนึ่ง ต่างรสนิยมและความสุนทรีย์ เป็นปัจเจก ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าจะเลือกแบบไหน ประเด็นที่สำคัญกว่าคือ ในประเทศไทยมีทางเลือกในการฟังเพลง ดูดนตรีกันสักกี่รูปแบบ จากผลกระทบของโรคระบาด ทำให้สองสามปีที่ผ่านมารูปแบบการจัดงานดนตรีต้องปรับเปลี่ยน ลดขนาด เว้นระยะห่าง ไม่แออัด ฯลฯ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้นึกถึง ‘ซักแดด’  ซักแดดคืองานดนตรีที่ใช้พื้นที่ในจังหวัดราชบุรีเป็นที่จัดงาน บริหารโดยทีมผู้จัดงานชื่อ ‘เวลาเย็น (Velayen)’ โดยมี ลภ-วัลลภ แก้วพ่วง เป็นหัวหน้าแก๊ง เขาเล่าว่า ซักแดดเกิดขึ้นมาพร้อมการปรับตัวในรูปแบบวิถีชีวิตใหม่หลังโรคระบาดมาเยือน เวลาเย็นกับการชวนไปซักแดด ก่อนจะไปฟังเรื่องของซักแดด เราอยากพาไปรู้จักกับหัวหน้าแก๊งเวลาเย็นกันก่อนสักนิด ลภเป็นคนบางแพ จังหวัดราชบุรี เรียนประถมฯ ต่อมัธยมฯ แถวบ้านได้ปีเดียว ก็เปลี่ยนมาต่อเทคนิคฯ ช่างไฟ ที่โพธาราม กระทั่งปี 2546 เขาก็เข้ากรุงเทพฯ มาเรียนวิศวกรรมไฟฟ้าที่เทคนิคกรุงเทพฯ จนเรียนจบออกมาใช้วิชาช่างไฟสร้างตัวอยู่ในเมืองหลวงราว 15 ปี ก่อนเปิดบริษัทรับเหมาเป็นของตัวเอง และตัดสินใจวางแผนกลับไปอยู่บ้านอีกครั้ง ปี […]

คุยเรื่องศาสนายังเวิร์กอยู่ไหมในหมู่คนเมือง กับ พระมหานภันต์ | Unlock the City EP.05

ธรรมะและศาสนายังเวิร์กอยู่ไหมในหมู่คนเมือง? ที่ผ่านมา ศาสนาพุทธและพระสงฆ์ได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมไทยมากขึ้น ทั้งในแง่ของความไม่เหมาะสม ตรวจสอบความโปร่งใสได้ยาก ทำให้มีข่าวคราวเกี่ยวกับแวดวงศาสนาให้เห็นอยู่ไม่น้อย เหตุการณ์เหล่านี้อาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลให้พฤติกรรมของคนเมืองยุคใหม่ที่ดูเหมือนจะนับถือศาสนาน้อยลงเรื่อยๆ ท่ามกลางค่านิยม นโยบาย และกฎหมายที่ยังอ้างอิงกับพุทธศาสนา แล้วศาสนาต้องปรับตัวอย่างไร รัฐและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องดูแลจัดการยังไงบ้าง Unlock the City เอพิโสดนี้ ‘พนิต ภู่จินดา’ ชวนคุยกับ ‘พระมหานภันต์’ ประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (มูลนิธิ สกพ.) พระสงฆ์ผู้ที่พยายามปรับและนำเสนอหลักธรรมให้มีความร่วมสมัย อย่างการไลฟ์สอนเรื่องการทำความเข้าใจความหลากหลายของสังคม และการที่พระสงฆ์ต้องปรับตัวให้ใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น ทำให้ไม่ว่าจะเพศไหนวัยใด เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุก็ฟังได้อย่างเพลิดเพลิน แถมยังได้แง่คิดดีๆ ไปใช้ในชีวิต ติดตามฟัง Urban Podcast ได้ทาง Podbean : https://bit.ly/3uIWNdx  Youtube : https://bit.ly/3P6cq6N Apple Podcast : https://apple.co/3cchdoz Spotify : https://spoti.fi/3cbhdVS 

อีกครั้งแล้วสินะที่ฉันต้องโยกย้าย เตรียมบอกลา ‘ร้านหนังสือเดินทาง’ ย้ายร้านจากถนนพระสุเมรุ สิ้นปี 65

หากได้มีโอกาสต้องไปทำธุระหรือมีแพลนเดินเที่ยวเล่นแถวถนนพระสุเมรุ เรามักจะแวะเวียนไปร้านหนังสือที่หน้าร้านตกแต่งด้วยโต๊ะเก้าอี้น่ารัก จักรยานเก่าๆ หนึ่งคัน และชั้นวางที่อัดแน่นไปด้วยโปสต์การ์ด เพื่อเข้าไปเลือกหาหนังสือถูกใจสักเล่มก่อนนำกลับบ้าน หรือใช้เวลานั่งทอดหุ่ยอ่านหนังสือบนชั้น 2 ที่เป็นส่วนคาเฟ่ ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึงร้านหนังสือเดินทาง (Passport Bookshop) ของ ‘หนุ่ม-อำนาจ รัตนมณี’ ที่ตั้งอยู่บนถนนสายพระสุเมรุมานานกว่า 16 ปี ฟังดูเป็นเวลาที่ยาวนาน และนักอ่านหลายคนคงมีโอกาสมาเยี่ยมเยียนที่นี่อยู่หลายครั้ง แต่ขณะเดียวกัน อาจมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ทราบว่าร้านหนังสือเดินทาง เคย ‘ย้าย’ ร้านมาแล้วครั้งหนึ่งจากถนนพระอาทิตย์ หลังจากเปิดจำหน่ายหนังสือเป็นเวลา 4 ปี นั่นแปลว่าหากรวมเวลาที่ร้านหนังสือแห่งนี้เปิดให้บริการก็นับได้ 20 ปีพอดิบพอดี แต่ใครจะไปรู้ว่าเวลาที่พอให้เด็กคนหนึ่งเติบโตเป็นหนุ่มสาวจำต้องสิ้นสุดลง เพราะร้านหนังสือเดินทางได้ประกาศว่าจำเป็นต้องย้ายร้านเป็นคราที่สองในสิ้นปีนี้ เนื่องจากอาคารที่ใช้เป็นตัวร้านถูกเวนคืนเพื่อทำสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน นั่นทำให้ทีมงานในร้านต้องเตรียมตัวเก็บข้าวของ เพื่อความพร้อมและสะดวกในการขนย้าย อย่างที่ทราบกันว่าจุดเด่นของร้านหนังสือแห่งนี้คือ การตกแต่งและบรรยากาศที่น่ารัก อบอวลไปด้วยความรู้สึกอบอุ่น แต่มากไปกว่านั้น สิ่งที่ทำให้ร้านคงอยู่ได้เรื่อยมาคือมิตรภาพของเจ้าของร้านหนังสือและนักอ่านทั้งขาประจำและขาจร จนหลายครั้งก่อให้เกิดความผูกพันขนาดที่มีคนยกให้เป็นหนึ่งในสถานที่แห่งความทรงจำ บ้างก็ส่งของขวัญและหนังสือมาให้เจ้าของร้าน บ้างก็ขอใช้พื้นที่ร้านเป็นสถานที่ในการขอแต่งงานด้วยซ้ำ นี่ยังไม่นับรวมหนังสือหลากหลายประเภทที่อัดแน่นตามชั้นวาง และสิ่งละอันพันละน้อย เช่น โปสต์การ์ด สมุด กระเป๋า งานศิลปะ ฯลฯ ที่เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์สำคัญของร้าน ทำให้ใครที่หลงเข้าไปล้วนไม่ได้กลับออกมาแบบตัวเปล่า […]

องค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ประกาศใช้ ‘มอญดูดาว’ เป็นเพลงประจำมหา’ลัย แทนเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง

เป็นอีกครั้งที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กลายเป็นที่พูดถึงบนโลกโซเชียลมีเดีย หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง ทั้งในกรณีของการยกเลิกประกวดดาว-เดือน ยกเลิกระบบโซตัส หรือการอนุญาตให้บัณฑิตที่เข้ารับปริญญาแต่งตัวตามเพศวิถีได้ และในครั้งนี้ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ อมธ. ได้ประกาศให้ใช้ ‘เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว’ แทนเพลงประจำมหาวิทยาลัยเดิมอย่าง ‘เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง’ ในทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นโดย อมธ.  ความเปลี่ยนแปลงครั้งล่าสุดเกิดขึ้นหลัง อมธ. ทำแบบสำรวจประชามติของประชาคมธรรมศาสตร์ที่ให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของการจัดกิจกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะในการเลือกเพลงประจำมหาวิทยาลัยอันเป็นการแสดงออกที่สำคัญถึงอัตลักษณ์ การก่อกำเนิด และการเชิดชูประวัติศาสตร์การต่อสู้ของมหาวิทยาลัย โดยแบบสำรวจครั้งนี้มีเพลงที่เข้ารับการคัดเลือกทั้งหมด 3 เพลง ได้แก่ เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาว, เพลงมาร์ช มธก. และเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ซึ่งจากจำนวนผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 5,168 คน มีคนที่เลือกเพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาวกว่า 51.9 เปอร์เซ็นต์  ทำให้ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา อมธ. เห็นควรประกาศให้ใช้เพลงประจำมหาวิทยาลัยทำนองมอญดูดาวแทนเพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง ในทุกกิจกรรมที่จัดขึ้นโดย อมธ. ตามเจตนารมณ์ของประชาคมธรรมศาสตร์ นับแต่นี้ต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนเพลงประจำมหาวิทยาลัย ไม่ได้หมายความถึงการยกเลิกเพลงเดิมหรือทำให้หายไปถาวร เพราะมีการชี้แจงทางจดหมายจากมหาวิทยาลัยเรื่องการใช้เพลงมหาวิทยาลัย ที่ระบุว่า ​​“เพลงพระราชนิพนธ์ ยูงทอง เป็นเพลงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้คุณค่าและความสำคัญสำหรับงานพิธี พิธีการ และงานที่เป็นทางการของมหาวิทยาลัย และยังคงถือปฏิบัติเช่นนั้นโดยมิได้มีการเปลี่ยนแปลง” […]

ญี่ปุ่นเพิ่มโทษกฎหมายดูหมิ่นติดคุก 1 ปี ปรับสูงสุด 8 หมื่นบาทเพื่อลดปัญหา Cyberbullying

ญี่ปุ่นเพิ่มโทษกฎหมายดูหมิ่น ติดคุก 1 ปี ปรับสูงสุด 8 หมื่นบาท เพื่อลดปัญหา Cyberbullying Cyberbullying หรือการกลั่นแกล้ง การให้ร้าย การด่าว่า การข่มเหง หรือการรังแกผู้อื่นทางโซเชียลมีเดียต่างๆ น่าจะเป็นปัญหาใหญ่ที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบ เห็นได้จากข่าวการพุ่งสูงของยอดผู้เสียชีวิตที่เป็นเหยื่อจากการบุลลี่ทางออนไลน์ ในฐานะที่ญี่ปุ่นติดอันดับประเทศที่มีการบุลลี่รุนแรงเป็นอันดับต้นๆ บวกกับการจากไปของ ‘ฮานะ คิมูระ’ (Hana Kimura) นักมวยปล้ำและนักแสดงเรียลลิตี้โชว์ทางเน็ตฟลิกซ์ ที่ถูกโจมตีด้วยการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปลักษณ์ในโลกออนไลน์ เมื่อปี 2563  เหตุการณ์นั้นทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นเพิ่มกฎหมายการ ‘ดูหมิ่น’ ในโลกออนไลน์ให้มีโทษมากขึ้น โดยตัวกฎหมายฉบับใหม่นี้ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยกำหนดให้ผู้ที่มีความผิดต้องจำคุกสูงสุดถึง 1 ปี และมีโอกาสจ่ายค่าปรับถึงสามแสนเยนหรือคิดเป็นเงินไทย 80,000 บาท ซึ่งขยับเปลี่ยนแปลงจากโทษเดิมที่ผู้กระทำความผิดจะถูกจำคุกไม่เกิน 30 วัน และปรับเพียง 2,600 บาท  ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ให้นิยามของการดูหมิ่นว่าเป็นการดูถูกผู้อื่นโดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเขาคนนั้น ตรงกันข้ามกับการหมิ่นประมาท ที่เป็นการดูถูกผู้อื่นบนข้อเท็จจริงที่เจาะจงไปยังบุคคลที่สาม เซย์โฮ โช (Seiho Cho) ทนายคดีอาญาในญี่ปุ่นให้ความเห็นต่อผู้สื่อข่าวจาก CNN […]

รวม 5 ธุรกิจสายบุญยุคใหม่ อยู่ที่ไหนก็ทำบุญได้ ถ้าใจเราพร้อม

ชาวพุทธผู้รักการทำบุญต้องถูกใจสิ่งนี้! ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเวลาไปทำบุญเมื่อใจพร้อม เพราะหลายครั้งร่างกายก็อาจไม่พร้อม และธุระการงานแผนการณ์ครอบครัวก็อาจทำให้แพลนออกจากบ้านไปทำกิจกรรมทางพุทธศาสนาของหลายคนต้องหยุดชะงัก บุญก็อยากทำ แต่จะให้ออกจากบ้านก็ไม่สะดวกจริงๆ จะทำอย่างไรดีล่ะทีนี้ วันนี้ Urban Creature จึงรวบรวม 5 ธุรกิจสายบุญรูปแบบใหม่ ที่จะมาปฏิวัติวงการการทำบุญแบบเดิมๆ ก้าวเข้าสู่ New Normal แห่งพุทธศาสนา ให้ชีวิตคุณกับศาสนาใกล้กันแค่ปลายนิ้วสัมผัส ไม่ต้องไปถึงวัดก็สามารถทำกิจกรรมที่หลากหลาย ทั้งการจัดหาออร์แกไนเซอร์จัดงานบุญ ตักบาตร กรวดน้ำ ถวายสังฆทาน หรือปล่อยปลา ได้ง่ายๆ  ธุรกิจเสริมบุญยุคใหม่ที่เราคัดสรรมามีอะไรบ้าง ไปติดตามพร้อมกันได้เลย! 01 | รักทำบุญ : ออร์แกไนเซอร์งานบุญ ประเดิมธุรกิจสายบุญแรกไปกับ ‘รักทำบุญ’ ธุรกิจออร์แกไนเซอร์ที่รับจัดงานบุญทุกรูปแบบครบวงจร ที่ Urban Creature ได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์ คุณเอ-ฐปนวัชร์​ วิศรุตธรรม เจ้าของกิจการมาก่อนหน้านี้ รักทำบุญได้ผันตัวจากออร์แกไนเซอร์งานแต่ง มาเป็นออร์แกไนเซอร์งานบุญ ที่จัดเตรียมตั้งแต่สถานที่ นิมนต์รับ-ส่งพระ รวมถึงจัดการขั้นตอนระหว่างการทำงานบุญ และงานเลี้ยงอาหารหลังจบพิธีการแบบ One Stop Service ครบจบในที่เดียว ไม่ต้องรบกวนที่บ้านให้ลำบากใจอีกต่อไป ที่สำคัญ […]

ชมเครื่องดูดฝุ่นสีทองดูดประชาธิปไตย ในนิทรรศการ ‘ฝ่าละออง’ วันนี้ – 28 ส.ค. 65 ที่ VS Gallery

เมื่อปี 2020 ‘จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์’ นักเขียนเจ้าของผลงานวรรณกรรมวิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองได้จัดนิทรรศการศิลปะ ‘คิดถึงคนบนฝ้า (Our Daddy Always Looks Down on Us)’ ที่ชวนคนปีนบันไดขึ้นไปชะโงกมองว่าข้างบนฝ้าเพดานที่คนมองแล้วซาบซึ้งจนน้ำตาไหลมีอะไรอยู่กันแน่ ครั้งนี้เขากลับมาอีกครั้งกับนิทรรศการ ‘ฝ่าละออง (From Dawn Till Dust)’ ที่กล่าวได้ว่าเป็นภาคต่อของความแสบสันนี้  โดยทั้งสองนิทรรศการต่างเป็นชื่อเรื่องสั้นของจิรัฏฐ์ที่จะตีพิมพ์ในชื่อหนังสือ ‘รักในลวง’ ช่วงปลายปี 2565 นี้ ‘ฝ่าละออง’ คือนิทรรศการที่สร้างจากเสี้ยวหนึ่งของเรื่องสั้นในชื่อเดียวกัน กล่าวถึงเจ้าหน้าที่รัฐผู้ขยันและซื่อตรงในหน้าที่ แต่สุดท้ายผลตอบแทนของความจงรักภักดีนั้นกลับกลายเป็นเรื่องราวน่าอดสูและสยองขวัญ นัยของนิทรรศการ คือการเน้นย้ำให้คนดูย้อนกลับมาสำรวจภูมิทัศน์หลายแห่งในกรุงเทพฯ ที่ถูกรัฐพยายามจะเปลี่ยนความหมาย รวมถึงทำลายมัน ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นอนุสรณ์สถานที่เชื่อมโยงไปยังคณะราษฎร เช่น ลานพระบรมรูปทรงม้าที่เคยมีหมุดคณะราษฎรวางอยู่ แต่ตอนนี้ถูกล้อมรั้วไปแล้ว หรือวงเวียนหลักสี่ที่เคยเป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่ตอนนี้ถูกรื้อทิ้งจนไม่เหลือเค้าเดิม กลายเป็นสถานีรถไฟฟ้า  จิรัฏฐ์บันทึกฟุตเทจเหล่านี้ด้วยการนำเครื่องดูดฝุ่นไปดูดตามสถานที่นั้นๆ และนำมาเล่าซ้อนกับเรื่องสั้น O-Robot ที่ล้อไปกับนิยายเรื่อง 1984 โดย จอร์จ ออร์เวลล์ อีกทีหนึ่ง โดยนำเสนอผ่านโทรทัศน์ 6 จอ ที่ล้อไปกับหลัก 6 […]

KOHLER วิวัฒนาการของการอาบน้ำแบบเหนือชั้น ที่ให้ตัวเราเป็นดั่งศิลปิน

เรื่องราวในประวัติศาสตร์เป็นส่วนสำคัญให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนา เพียงเกร็ดเล็กน้อยในชีวิตประจำวันของคนยุคก่อน กินข้าว เดินเล่น นอน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ไม่พ้นแม้กระทั่งการ ‘อาบน้ำ’ ที่ในอดีตมีเรื่องราวน่าสนใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นยุโรปช่วงต้นศตวรรษที่ 16 ผู้คนเชื่อกันว่าการอาบน้ำในโรงอาบน้ำที่เหมือนอ่างขนาดใหญ่เป็นอันตราย เพราะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค หรือการอาบน้ำเป็นเพียงพิธีกรรมทางศาสนาที่นานๆ ครั้งถึงจะอาบ เราจึงได้รับรู้เกร็ดเล็กน้อยชวนหยีของบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างสมเด็จพระราชินีนาถอิซาเบลที่ 1 แห่งกัสติยา (Isabella I of Castile) ได้ทรงยอมรับว่าตลอดพระชนม์ชีพ พระองค์สรงน้ำเพียงแค่สองครั้งเท่านั้น หรือพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส (Louis XIV) กษัตริย์ที่ได้ฉายาว่า พระวรกายเหม็นที่สุดในโลก ทุกเช้าจะใช้น้ำหอมครึ่งขวดเพื่อปกปิดกลิ่นพระวรกาย เรื่องราวทั้งหมดนี้ จึงเกิดการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่จะมาแก้ปัญหาในส่วนต่างๆ และเปลี่ยนแปลงบริบทการอาบน้ำ ซึ่ง ‘ฝักบัว’ ก็เป็นนวัตกรรมในเรื่องราวสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ Urban Creature จับมือกับ KOHLER อยากพาทุกคนเข้าสู่ห้องเรียนสังคม ย้อนอ่านต้นกำเนิดของฝักบัวกันสักเล็กน้อย และจนปัจจุบัน KOHLER พัฒนาคอลเลกชันใหม่ ชุดฝักบัวอาบน้ำ & วาล์วคอนโทรล รุ่น ‘Statement & Anthem […]

ชุดนักเรียนไทย สะท้อนความเท่าเทียม หรือซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ?

คุณคิดว่าชุดนักเรียนไทยยังจำเป็นต้องใส่อยู่หรือไม่? หลังจากข่าวกระทรวงมหาดไทยมอบหมายผู้ว่าฯ ทุกจังหวัดสำรวจครอบครัวที่ขาดแคลนเครื่องแบบนักเรียน และจึงจะระดมกำลังภาคีเครือข่ายต่างๆ ในจังหวัดจัดหาชุดเครื่องแบบให้ ซึ่งแน่นอนว่าวิธีนี้เป็นการแก้ไขปัญหาเพียงชั่วคราว และอาจไม่ได้ช่วยคลายปมให้ถูกจุดในระยะยาวเท่าไหร่นัก สำหรับเด็กไทย ชุดนักเรียนคือเสื้อผ้าที่ต้องใส่แทบทุกวัน แถมเครื่องแต่งกายยังมีหลายรูปแบบ เช่น ชุดลูกเสือ ชุดเนตรนารี ชุดพละ หรือเสื้อผ้าใส่ในวันพิเศษอย่างชุดกีฬาสี ชุดผ้าไหมไทย หรือชุดอาเซียนร่วมใจก็มี ความหลากหลายของชุดตามมาด้วยราคาที่ต้องจ่ายเองแสนหนักอึ้ง สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ที่ซบเซาและค่าครองชีพที่พุ่งสูงมากกว่าเคย 8,840 บาท/คน ค่าชุดนักเรียน (ขั้นต่ำ) ที่พ่อแม่ต้องจ่าย จากการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลราคาเฉลี่ยเครื่องแบบนักเรียนไทยเบื้องต้น ชุดนักเรียน 3 ชุด ชุดลูกเสือ/เนตรนารี 1 ชุด และชุดพละ 1 ชุด เริ่มจากวัยอนุบาลประมาณ 1,697 บาท วัยประถมศึกษาประมาณ 1,949 บาท และวัยมัธยมศึกษาประมาณ 2,180 บาท รวมกับค่าใช้จ่ายจุกจิก เช่น เครื่องประดับชุดนักเรียน ชุดกิจกรรม กระเป๋า และรองเท้า ตีรวมเป็นเลขกลมๆ ประมาณ 1,000 บาทคูณสามวัยการศึกษา สรุปได้ว่า หากคุณเป็นผู้ปกครองเด็กคนหนึ่งต้องเก็บเงินเผื่อค่าชุดนักเรียน […]

ไม่พูดไม่ใช่ไม่รู้สึก! บ.ญี่ปุ่นปิ๊งไอเดียทำป้ายบอกพลังกาย พลังใจ ที่เหลืออยู่ ให้พนักงานสื่อสารกันโดยไม่ต้องพูด

ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ต้องเผชิญแรงกดดันและความเครียดจากปัญหารอบตัวอย่างเศรษฐกิจ การเมือง สังคม โรคระบาด รวมไปถึงปัญหารายวันจากที่ทำงานและเรื่องส่วนตัว แต่เพราะบทบาททางสังคมและหน้าที่การงานที่ต้องรับผิดชอบ หลายคนจึงไม่สามารถระบายปัญหาหนักอกหนักใจให้ใครรู้ได้ ทำได้แค่เก็บความรู้สึกที่หนักอึ้งเหล่านั้นไว้กับตัวเอง เพราะเหตุนี้ Onken บริษัทผลิตสิ่งพิมพ์และผลิตภัณฑ์อะคริลิกสัญชาติญี่ปุ่นจึงปิ๊งไอเดียทำ ‘ป้ายบอกระดับพลังงาน’ แจกให้พนักงานในบริษัทใช้ติดเสื้อเพื่อบอกให้คนอื่นรู้ว่าพลังงาน พลังใจ ของพวกเขาในช่วงเวลานั้นๆ เหลืออยู่เท่าไหร่ ทางบริษัทเปิดเผยว่า ขั้นตอนผลิตเจ้าป้ายติดหน้าอกชิ้นนี้ทำได้ง่ายและรวดเร็ว เพียงแค่พิมพ์ข้อความลงบนแผ่นอะคริลิกขนาดใหญ่ จากนั้นก็ใช้เครื่องเลเซอร์ตัดแบ่งให้เป็นป้ายขนาดเล็ก โดยข้อความบนป้ายจะระบุระดับ ‘Hit Point’ หรือหน่วยวัดพลังชีวิตของตัวละครในเกม ที่ถูกนำมาใช้แทนพลังงานที่เหลืออยู่ของคนคนนั้น ป้ายชนิดนี้มีให้เลือกทั้งหมด 3 ระดับ ระดับพลังงานสูงสุดคือสีเขียว (10,000/10,000 พลังชีวิต) รองลงมาคือสีเหลือง (3,899/10,000 พลังชีวิต) ต่ำสุดคือสีแดง (15/10,000 พลังชีวิต) พนักงานสามารถเลือกป้ายมาติดเสื้อตามระดับพลังงานและความรู้สึกในตอนนั้น เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้พนักงานสื่อสารสภาพร่างกายและจิตใจให้คนอื่นรับรู้โดยไม่ต้องเอ่ยคำใดๆ ในทางกลับกัน ป้ายนี้ยังกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนร่วมงานได้ด้วย เพราะมันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของบทสนทนาระหว่างเหล่าพนักงานที่ไม่ค่อยมีโอกาสคุยกันเท่าไหร่ พวกเขาอาจถามสารทุกข์สุกดิบกันจากการดูป้ายของอีกฝ่าย ทำให้บรรยากาศในบริษัทสดใสและมีชีวิตชีวามากขึ้น Onken เปิดเผยว่าพนักงานในหลายแผนกชื่นชอบไอเดียและเริ่มติดป้ายระหว่างทำงานกันแล้ว นอกจากนี้ ทางบริษัทยังแชร์รูปป้ายบอกระดับพลังงานลงบนทวิตเตอร์ ซึ่งกระแสตอบรับจากโลกออนไลน์ก็ดีเกินคาด ผู้คนส่วนใหญ่ชื่นชมและสนใจแนวคิดนี้ บางคนแสดงความคิดเห็นว่า ถ้าเอาป้ายบอกสเตตัสแบบนี้ไปใช้ในโรงเรียนหรือในโรงพยาบาลได้ก็คงจะดีไม่น้อย ใครอยากเป็นเจ้าของป้ายบอกระดับพลังงานสุดครีเอทีฟนี้คงต้องรอกันอีกหน่อย เพราะตอนนี้บริษัทอยู่ในขั้นแรกของการผลิตสินค้า คาดว่าจะเริ่มวางจำหน่ายได้ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม […]

1 139 140 141 142 143 355

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.