วิวัฒนาการทางด่วน สู่ยุครื้อทิ้งเพราะทำเมืองพัง - Urban Creature

หากคุณอยากขับรถยนต์จากกรุงเทพฯ ไปเที่ยวทะเลที่ภูเก็ต ต้องใช้เส้นทางไหน หรือในช่วงเวลาสุดเร่งรีบบนท้องถนน ถ้าต้องการทางลัดที่จะให้ถึงที่หมายเร็วที่สุด ต้องทำอย่างไร เมื่อเจอคำถามแบบนี้ หลายคนคงนึกถึง ‘ทางด่วน’ เพื่อนแท้ยามคับขันของคนขับรถที่อยาก (รีบ) ให้ถึงจุดหมายนั่นเอง

ปัจจุบันหน้าที่หลักของทางด่วนคือ ร่นระยะการเดินทางให้สั้นลงและประหยัดเวลาของผู้ขับมากยิ่งขึ้น หากอธิบายให้เห็นภาพ เช่น การขับรถยนต์จากกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด หรือการเดินทางจากพื้นที่ในตัวเมืองไปชานเมือง ถ้าใช้ทางพิเศษนี้ การเดินทางก็จะราบรื่นและง่ายกว่าครั้งไหนๆ 

ยิ่งไปกว่านั้น ทางด่วนยังเป็นทางเลือกหนึ่งในการหลีกเลี่ยงรถติด สำหรับคนที่เดินทางไกล ต้องการความเร่งด่วน แค่ยอมจ่ายค่าผ่านทาง ใครๆ ก็เข้าถึงความรวดเร็วและความสะดวกสบายบนท้องถนนได้ทันที

‘สนามแข่งรถ’ แรงบันดาลใจที่ทำให้เกิด ‘ทางด่วน’

ในอดีตกว่าร้อยปีที่แล้ว จุดเริ่มต้นของ ‘ทางด่วน’ ได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘ความเร็ว’ ของการแข่งรถยนต์ในปี 1904 โดย William Kissam Vanderbilt นักธุรกิจสัญชาติอเมริกัน ผู้คลั่งไคล้การแข่งรถเป็นชีวิตจิตใจ คือตัวตั้งตัวตีในการจัดกิจกรรมแข่งรถชิงถ้วยรางวัล Vanderbilt Cup ในมณฑล Nassau County ประเทศสหรัฐอเมริกา

การแข่งรถยนต์สมัยนั้นค่อนข้างอันตรายชวนหวาดเสียว เพราะพวกเขาขับรถแข่งกันบนถนนในตัวเมืองที่ไม่ได้ออกแบบรองรับความเร็วของรถแข่งหรือทางโค้งเวลารถเลี้ยว จนทำให้เกิดอุบัติเหตุถึงชีวิต เมื่อเริ่มมีข่าวคราวคนเสียชีวิตจากการแข่งขันบ่อยขึ้น William จึงเริ่มคิดแล้วว่า ไม่ดีต่อการแข่งในอนาคตแน่ๆ เขาจึงริเริ่มสร้างถนนสำหรับการแข่งขันขึ้นมาใหม่ชื่อว่า ‘Long Island Motor Parkway’ เปิดใช้งานปี 1908

วิวัฒนาการทางด่วน

Long Island Motor Parkway ลักษณะคล้ายกับสนามแข่งรถในปัจจุบัน ถนนออกแบบให้มีทางเลี้ยวเอียงสำหรับองศาของรถยนต์ มีราวกั้นอุบัติเหตุจากภายนอก พื้นถนนพัฒนาเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กที่ทำให้รถวิ่งได้ไหลลื่นกว่าเดิม เพราะก่อนหน้านั้นวิ่งบนดิน และมีการควบคุมทางเข้าออกบนถนน 

เนื่องด้วยเป็นการสร้างถนนสำหรับรถยนต์ครั้งแรก องค์ประกอบหลายๆ อย่างอาจยังไม่สมบูรณ์หรือปลอดภัยเท่าที่ควร ทำให้ยังมีอุบัติเหตุจนถึงแก่ชีวิตเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ Long Island Motor Parkway จึงถูกระงับการใช้งานลงในที่สุดเมื่อปี 1910 อย่างไรก็ตาม ถนนดังกล่าวถือเป็นถนนสายแรกที่เป็นต้นแบบการออกแบบเส้นทางเพื่อใช้กับรถยนต์โดยเฉพาะ และถูกพัฒนาใช้กับทางด่วนในเวลาต่อมา 

ในปี 1924 ประเทศอิตาลีบุกเบิกสร้างทางด่วน ‘Autostrade’ เชื่อมระหว่างเมืองมิลานและเมืองวาเรซี ถนนมีลักษณะวิ่งเลนเดียวเป็นเส้นยาว สิ่งที่แตกต่างจากถนนเส้นอื่นคือ เป็นการทำทางด่วนในเชิงพาณิชยกรรม เริ่มมีการเก็บเงินค่าใช้งานทางด่วนและค่าโฆษณาในเชิงธุรกิจมากขึ้น 

วิวัฒนาการทางด่วน

การสร้างทางด่วนเริ่มเป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง ทำให้หลายประเทศเริ่มสนใจการสร้างถนนให้รถวิ่งในเมือง หนึ่งในนั้นคือเยอรมนี ที่ได้ลงมือสร้าง ‘Autobahn’ ซึ่งถือเป็นถนนทางด่วนสายแรกของโลกปี 1942 เพราะในเชิงทฤษฎี นักวิชาการให้ความเห็นว่า มีองค์ประกอบของทางด่วนเหมาะสม เช่น ควบคุมการเข้าออกบนถนนได้ สามารถขับรถด้วยความเร็วสูง มีสิ่งกีดกั้นป้องกันอุบัติเหตุ มีข้อจำกัดควบคุมในการใช้ยานพาหนะ และมีหลายเลนบนท้องถนน

วิวัฒนาการทางด่วน

Autobahn ถูกสร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้การปกครองของระบอบนาซี สมัยนั้น Adolf Hitler ผู้นำเยอรมนีตั้งใจสร้างถนน Autobahn มาใช้ทางทหารและเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง เกิดความเสียหายในเมืองและถนนมากมาย รวมถึงอำนาจทางทหารลดบทบาทลง จึงทำให้ Autobahn ถูกพัฒนาเป็นทางด่วนสำหรับรถยนต์วิ่งสัญจรเป็นหลัก จากนั้นหลายประเทศในแถบยุโรปก็เริ่มสร้างทางด่วนตามมา ขยายไปสู่ภูมิภาคเอเชีย และมาถึงบ้านเราในที่สุด

วิวัฒนาการทางด่วน

ทางด่วนไทย สร้างเพื่อแก้รถติด

ประเทศไทยมีโครงการทางด่วนเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1975 หลังจากรัฐบาลไปศึกษางานต่างประเทศ จึงสนใจและนำมาปรับใช้แก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ รวมถึงช่วยขนส่งสินค้าระหว่างเมืองให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และจัดตั้งโครงการทางด่วนเส้นแรกชื่อว่า ‘โครงการทางด่วนขั้นที่ 1’ แล้วจึงมาเปลี่ยนภายหลังเป็น ‘ทางพิเศษเฉลิมมหานคร’ โดยผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการคือ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย 

โครงการทางด่วนขั้นที่ 1 เป็นถนนขนาดใหญ่แบ่ง 6 ช่องจราจรวิ่งเชื่อมกรุงเทพฯ มีทั้งหมด 3 ระยะ ได้แก่

1. ทางด่วนสายดินแดง-ท่าเรือ ระยะทางประมาณ 8.9 กิโลเมตร
2. ทางด่วนสายบางนา-ท่าเรือ ระยะทางประมาณ 9.6 กิโลเมตร
3. ทางด่วนสายดาวคะนอง-ท่าเรือ ระยะทางประมาณ 10.3 กิโลเมตร

หลังจากสร้างทางพิเศษเฉลิมมหานครสำเร็จ ก็มีแพลนสร้างทางพิเศษอื่นๆ เช่น ทางพิเศษศรีรัช หรือทางพิเศษฉลองรัช เพื่อแบ่งเบาจราจรทางพิเศษเฉลิมมหานคร และสร้างโครงข่ายคมนาคมทางพิเศษของเมืองให้เป็นระบบ ซึ่งทุกวันนี้ทางพิเศษไทยมีทั้งหมด 11 แห่ง และปัจจุบันประเทศไทยยังมีแพลนขยายทางด่วนต่ออีกหลายสิบโครงการในต่างจังหวัด

วิวัฒนาการทางด่วน

2022 ยุคล่มสลายของทางด่วน

กลับมาที่ยุคปัจจุบัน ในปี 2022 เกิดการพัฒนาเมือง เศรษฐกิจ และการคมนาคมอย่างก้าวกระโดด สังเกตได้จากการสัญจรของคนสมัยนี้มีทางเลือกหลากหลายในการเดินทาง เช่น นั่งรถไฟฟ้า ขี่จักรยาน หรือขึ้นรถโดยสารประจำทาง รวมถึงเทรนด์การพัฒนาเมืองยังส่งเสริมการสร้างพื้นที่เมืองให้เชื่อมต่อกัน กระตุ้นการเกิดสังคมใกล้บ้าน เดินทางสะดวก ใช้เวลาไม่นาน และลดการใช้รถยนต์ เพราะฉะนั้น ทางด่วนที่เคยเป็นเส้นทางสัญจรหลักของคนขับรถยนต์ในอดีต จึงอาจไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนส่วนใหญ่ในยุคนี้อีกต่อไปแล้ว 

ในหลายประเทศ นักวิชาการผังเมืองเริ่มมีความคิดเห็นว่า ทุกวันนี้ทางด่วนไม่ได้ช่วยแก้ปัญหารถติดได้อย่างยั่งยืน และมันยังเป็นการสนับสนุนให้คนใช้รถยนต์มากยิ่งขึ้น ซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศตามมา ขณะเดียวกัน ทั่วโลกต่างพยายามรณรงค์ให้คนในประเทศหันมาใช้ขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นอีกหนึ่งความพยายามในการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน

วิวัฒนาการทางด่วน

ด้านการพัฒนาเมือง ทางด่วนเปรียบเสมือนกำแพงสูงเป็นแนวยาวที่ทำให้พื้นที่เมืองรอบข้างแยกขาดออกจากกัน เนื่องจากทางด่วนเป็นพื้นที่ถนนขนาดใหญ่ รถวิ่งเร็ว มีกำแพงและรั้วกั้นสูง ทำให้สังคมในพื้นที่รอบข้างถูกตัดขาดทางสังคมไปโดยปริยาย

ในมุมของผู้อยู่อาศัยเองก็ได้รับผลกระทบจากทางด่วนเช่นเดียวกัน เช่น มลพิษทางเสียงของรถยนต์ มลพิษทางอากาศ หรือมลพิษทางสายตา ที่อาจไม่ค่อยรื่นรมย์มากนักสำหรับคนพักอาศัย หากจะค้าขายใกล้พื้นที่ทางด่วนก็ดูจะเป็นทำเลมุมอับที่ลูกค้าเข้าถึงยากอีกด้วย

วิวัฒนาการทางด่วน

พักหลังมานี้หลายประเทศเริ่มวางแผนรื้อถอนทางด่วนอย่างจริงจัง รวมถึงพัฒนาพื้นที่สาธารณะที่คนทุกกลุ่มเข้าถึงง่าย และเชื่อมต่อพื้นที่เมืองเข้าด้วยกัน เช่น เมืองในสหรัฐอเมริกากว่า 30 แห่งวางแผนจะรื้อทางด่วนทิ้งและพัฒนาเป็นโครงการสาธารณะ อย่างถนนทางด่วน Harbor Drive ในเมืองพอร์ตแลนด์ เปลี่ยนพื้นที่ทางด่วนริมแม่น้ำให้กลายเป็นสวนสาธารณะให้ผู้คนและนักปั่นจักรยานได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน

ฝั่งเอเชีย เชื่อว่าใครๆ ต้องรู้จักคลองชองเกชอนประเทศเกาหลีใต้ เดิมทีเป็นคลองระบายน้ำหลักของเมือง แต่ถูกถมพื้นที่เป็นทางด่วนยกระดับ เวลาผ่านไปก็ค้นพบว่าทางด่วนไม่ได้ช่วยแก้ไขเรื่องจราจร แถมยังทำให้แม่น้ำและทัศนียภาพเน่าเสีย รัฐบาลจึงได้รื้อทางด่วนและพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะริมคลอง จนได้รับผลตอบรับดี ทั้งการค้าขายรอบข้างคึกคัก คนออกมาเดินเล่น และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของประเทศ

วิวัฒนาการทางด่วน

สำหรับประเทศไทยอาจจะยังไม่มีโครงการดังกล่าวชัดเจน มิหนำซ้ำยังมีแพลนสร้างทางด่วนเพิ่มขึ้นอีก แต่จากการศึกษาประวัติศาสตร์ของทางด่วน ก็น่าตั้งคำถามไม่ใช่น้อยว่า โครงการทางด่วนในประเทศไทยยังจำเป็นต้องมีหรือไม่ บางความคิดเห็นเสนอว่า ในบริบทไทยยังจำเป็นต้องมีทางด่วน เนื่องจากระบบคมนาคมของเรายังไม่ครอบคลุมมากนัก แต่บางมุมมองก็มองว่ามันทำให้เมืองเสื่อมโทรม

อย่างไรก็ตาม ครั้งหนึ่งทางด่วนก็เคยเป็นนวัตกรรมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ที่ช่วยแก้ไขปัญหาจราจรตามวิถีชีวิตของผู้คนในสมัยนั้น แต่เมื่อยุคสมัยและสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป โครงสร้างพื้นฐานก็ควรปรับเปลี่ยนตาม ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างเหมาะสมเช่นเดียวกัน

Sources :
ArchDaily | shorturl.asia/p0ydT
Britannica | shorturl.asia/9yUw2
DW | shorturl.at/eouI9
Silpa-Mag | shorturl.asia/pSWcm
The Chicane | shorturl.at/gN357
The New York Times | shorturl.asia/g48Jl
ลงทุนศาสตร์ | shorturl.asia/pK2oe

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.