บาริสต้าวัยเกษียณ PaPa’ Chao Cafe - Urban Creature

แม้ว่ายุคนี้จะมี ‘ร้านกาแฟ’ เปิดใหม่เรื่อยๆ ทั่วทุกหัวระแหง ทั้งแบบสแตนด์อะโลนขนาดเล็ก ขนาดกลาง จนถึงแฟรนไชส์ของบรรดาแบรนด์ยักษ์ใหญ่ เยอะจนหลายคนมองว่าร้านกาแฟเกลื่อนเมืองแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจเครื่องดื่มคาเฟอีนยังคงฮอตฮิตในหมู่ผู้บริโภค และยังเป็นความฝันของใครหลายคนที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง

ภาพบรรยากาศคาเฟ่ที่อบอวลไปด้วยกลิ่นหอมของกาแฟ เสียงเครื่องบดที่ดังเป็นระยะๆ บาริสต้ายืนดริปกาแฟอยู่หน้าบาร์ ดูจะเป็นไดนามิกการทำธุรกิจที่เหมาะกับคนรุ่นใหม่ซะเหลือเกิน เพราะเจ้าของร้านกาแฟเปิดใหม่ที่เราเห็นส่วนใหญ่มีอายุราว 25 – 35 ปีเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว การทำกาแฟไม่จำกัดอายุ ใครๆ ก็มีคาเฟ่ของตัวเองได้ ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยเกษียณ

เชา-ชวลิต จริตธรรม เจ้าของร้าน PaPa' Chao Cafe

‘เชา-ชวลิต จริตธรรม’ คืออดีตผู้บริหารด้านทรัพยากรมนุษย์วัย 66 ปี ที่ผันตัวมาเปิดคาเฟ่เล็กๆ ชื่อ ‘PaPa’ Chao Cafe’ ในย่านแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ที่เขาปลุกปั้นมากับมือ ทำเองแทบจะทุกอย่างตั้งแต่ลงทุนทำร้าน คัดสรรเมล็ดกาแฟ บดกาแฟ จนถึงชงเครื่องดื่มส่งตรงถึงมือลูกค้า 

แม้ว่าก่อนเกษียณ ชีวิตการทำงานของเชาจะวนเวียนอยู่กับการบริหารคนเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับกาแฟมาแม้แต่น้อย แต่เพราะความเชื่อว่า ‘คนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้’ เมื่อถึงวันที่ต้องเป็นเจ้าของร้านกาแฟ เขาตั้งใจทำเต็มที่ และทำได้ดีด้วย จนตอนนี้ PaPa’ Chao Cafe มีอายุมากกว่า 4 ปีแล้ว แถมรสชาติกาแฟยังถูกปากคอกาแฟหลายคน ทำให้มีลูกค้าประจำแวะเวียนมาที่ร้านไม่น้อยเลย

ในสังคมไทยที่ค่านิยมของคนวัยเกษียณคือการพักผ่อนอยู่บ้าน หาโปรแกรมท่องเที่ยวไปเรื่อยๆ เชากลับขอเลือกเป็นคนส่วนน้อยที่ยังแอ็กทีฟ กล้าเรียนรู้ กล้าลงทุนทำธุรกิจที่ตัวเองไม่คุ้นเคย ทำไมเขาถึงคิดต่างจากคนอื่น จุดเริ่มต้นของการทำร้านกาแฟเกิดขึ้นตอนไหน และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการเป็นบาริสต้าวัยเกษียณคืออะไร ขอชวนทุกคนไปฟังคำบอกเล่าจากเชากัน

หน้าร้าน ปาป้าเชา คาเฟ่

ก่อนเปิดร้านกาแฟ คุณทำอะไรมาก่อนบ้าง

ผมเคยลองทำหลายอย่าง เช่น แกะไม้ ทำเกษตร ฯลฯ มีช่วงหนึ่งหลังเกษียณใหม่ๆ ผมย้ายไปอยู่เชียงใหม่เป็นปีเลย ไปเป็นช่างทำขาเทียมให้ผู้ป่วยที่นั่น ซึ่งผมเคยช่วยงานมูลนิธิทำขาเทียมให้แก่คนพิการมาตั้งแต่สมัยก่อนเกษียณแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นช่างที่ต้องลงมือทำเอง ผมต้องรับผิดชอบคนไข้คนหนึ่งตั้งแต่ต้นจนจบ เราต้องวัดขนาดขาเทียม ต้องหล่อ แต่งขา และประกอบวัสดุเองทั้งหมด ที่สำคัญ ต้องทำให้ผู้ป่วยเดินได้ ช่วงนั้นก็มีโอกาสอาศัยอยู่ที่นั่นเป็นเวลานานพอสมควรและผลจากที่ไปทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดใส่ใจทุกขั้นตอน เมื่อทำได้สำเร็จตัวเราเองเกิดความมั่นใจขึ้นมาว่า ไม่ว่าอะไรเราตั้งใจเราต้องทำได้

แล้วเริ่มสนใจกาแฟตอนไหน

ช่วงอยู่เชียงใหม่ เรามีโอกาสดื่มกาแฟเยอะ เพราะสมัยนั้นเมื่อ 9 ปีที่แล้ว เชียงใหม่เป็นเมืองหลวงของกาแฟของประเทศไทยเรา จากนั้นก็เริ่มมีความอิน เริ่มรู้สึกว่ากาแฟมันไม่ได้ขมอย่างเดียวนี่หว่า พอเพื่อนแนะนำว่าร้านไหนดี เราก็ไปลองร้านนั้น ทีนี้พอเริ่มรู้จักคนทำกาแฟในเชียงใหม่ ผมก็ได้เรียนรู้และเข้าใจโลกของกาแฟมากขึ้น มีโอกาสเจอเจ้าของร้านกาแฟหลายร้าน รู้จักกับเจ้าของไร่กาแฟหลายแห่ง สนุกสนานกันไป

แต่ช่วงที่คลุกคลีกับวงการกาแฟที่เชียงใหม่ เรายังไม่ได้คิดทำร้านของตัวเองนะ จนกระทั่งแม่ป่วยหนัก เราก็กลับมาอยู่กรุงเทพฯ ด้วยความที่พี่สาวของผมคือคนที่ดูแลพ่อแม่มาตลอด ผมเลยคิดว่าต้องทำตัวให้พร้อมในการซัพพอร์ตคนในครอบครัวที่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราต้องพร้อมเสมอ ทุกเวลา

เชา-ชวลิต จริตธรรม เจ้าของร้าน PaPa' Chao Cafe

หลังคุณแม่เสีย ผมเลยชวนพี่สาวทำหมี่กรอบไปขายตามที่ต่างๆ รวมถึงตลาดนัด เป็นหมี่กรอบสูตรโบราณ เขาทำอร่อยมาก ส่วนผมช่วยขาย ช่วยทำการตลาด สองปีผ่านกิจการกำลังไปได้ดี พี่สาวก็เป็นมะเร็งระยะสุดท้ายจนทำไม่ไหว เลยถ่ายทอดวิธีการทำให้ซึ่งผมว่ามันยากสำหรับคนที่ไม่เคยทำมาก่อนอย่างเรา สุดท้ายเลยต้องเป็นคนทำหมี่กรอบและออกไปขายด้วย เรื่องนี้ก็เพิ่มความมั่นใจมากขึ้นอีกเมื่อลูกค้ายอมรับในสิ่งที่เราทำ

ในช่วงเวลาระหว่างนั้น ด้วยความที่ชอบกินกาแฟเป็นทุนเดิม ผมเลยไปเรียนดริปกาแฟจริงจัง เพราะอยากทำกาแฟตัวเองดื่มให้อร่อยขึ้น พอไปขายหมี่กรอบ ผมก็ทำกาแฟ Cold Brew ไปลองขายในตลาดนัด ชวนเพื่อนร้านค้า ชวนลูกค้าประจำที่ชอบหมี่กรอบเรามาชิม ทำให้มีเพื่อนฝูงที่ชื่นชอบกาแฟฝีมือผมเพิ่มขึ้นจากที่นั่น

ตอนนั้นเราไม่ได้กังวลว่าเราจะต่อยอดทำอะไรจากกาแฟ มีเพียงมั่นใจว่าเราสามารถทำกาแฟให้คนอื่นดื่มและชื่นชอบได้ เนื่องจากช่วงนั้นก็แทบไม่มีเวลามากนัก เพราะทำหมี่กรอบขาย ควบคู่กับทำกาแฟ Cold Brew ใส่ขวดแช่เย็นออกไปขายเพื่อนๆ โดยไม่มีหน้าร้าน ใช้วิธีขับรถไปส่งตามบ้าน ใช้ชื่อว่ากาแฟ ‘The Uncle’ 

จุดไหนที่ทำให้ตัดสินใจเปิดร้าน PaPa’ Chao Cafe

ช่วงนั้นลูกสาวออกจากประจำมา เขาชอบแต่งหน้า เรียนและรับแต่งหน้าทั้งแต่งหน้าเจ้าสาว รับปริญญา แต่งหน้าไปงานต่างๆ อยากเปิดสตูดิโอแต่งหน้าเป็นของตัวเอง เราก็หาสถานที่ จนมาเจอตึกแถวย่านแจ้งวัฒนะซอยสิบสี่กำลังว่าง ผมกับลูกสาวเลยปิ๊งไอเดียตกลงกันว่าให้พ่อทำร้านกาแฟข้างล่าง ลูกสาวทำขนมไปด้วย และให้ลูกทำสตูดิโอแต่งหน้าอยู่ชั้นบน เพราะเราจะได้ทำสิ่งที่ชอบไปพร้อมกัน

คุณเอาเงินทุนทำคาเฟ่มาจากไหน

ก่อนหน้านั้นไม่นาน ผมขายทรัพย์สินที่ลงทุนไว้ก่อนหน้าตั้งแต่ตอนไปอยู่ที่เชียงใหม่ ได้เงินมาก้อนหนึ่ง นอกจากนั้นผมยังมีเงินจากแหล่งอื่นๆ เช่น เงินจากการ Early Retire เงินที่เราเคยลงทุนใน RMF (กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ) และ LTF (กองทุนรวมหุ้นระยะยาว) เงินปันผลจากหุ้นที่เคยซื้อไว้ ฯลฯ 

ผมเริ่มออมเงินจริงจังตั้งแต่ช่วงอายุ 40 ปี เพราะตอนนั้นเราเริ่มตระหนักและเข้าใจคำพูดที่บอกว่า ข้าราชการมีเงินออมสำหรับวันข้างหน้า แต่คนทำงานเอกชนต้องออมตั้งแต่วันนี้เพื่อมีเงินใช้ในวันข้างหน้า ผมทำงานบริษัทเอกชนมาตลอด มีเงินเดือนอาจดูว่ามากกว่าคนทำราชการก็จริง แต่ผมมีค่าใช้จ่ายเยอะ ทั้งค่าบ้าน ค่ารถ ค่าเรียนลูก ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพราะฉะนั้นการเก็บออมก็มีต้องพยายามมีวินัยอย่างสูง

เชา-ชวลิต จริตธรรม เจ้าของร้าน PaPa' Chao Cafe กำลังชงกาแฟ

วินาทีที่ต้องลงทุนทำร้าน มีความกังวลอะไรมั้ย

ผมพอมีทุนอยู่บ้างแล้ว จึงไม่กังวลเท่าไหร่ เราเดินหน้าเลย เอาเงินที่รวบรวมไว้บางส่วนมารีโนเวตร้าน ผมไม่ได้ทำให้มันหวือหวาหรือลงทุนสูงเกินไป ของบางอย่างเราก็ซื้อมือสองมาใช้แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มหรือเปลี่ยนไปเรื่อยๆ 

อีกอย่างเวลาจะลงทุนกับอะไร ผมไม่ควักเงินตัวเองมาใช้ทั้งหมด ที่ผ่านมาเมื่อผมจะซื้ออะไรมูลค่าสูงๆเพิ่ม เราก็อาจขายทรัพย์สินบางอย่างที่จำเป็นน้อยกว่า หรือไม่ได้ใช้ออกไป บริหารจัดการมันหน่อยให้เหมาะสม เพราะท้ายที่สุดแล้ว ผมเชื่อว่าเรายังต้องมีเงินที่เตรียมไว้ใช้ยามฉุกเฉินเผื่อเกิดวิกฤตอะไรขึ้นมา จะได้พออยู่ไหว

จากเคยเป็นผู้บริหารมาตลอด วันหนึ่งต้องมาเป็นบาริสต้า พบเจอความยากลำบากหรือความท้าทายอะไรบ้าง

ช่วงแรกเมื่อเริ่มทำก็มีงงๆ มึนๆ  ปกติทำแต่กาแฟดริป อเมริกาโนทำนองนี้ แต่ก็คิดว่าน่าจะพอทำได้ ไม่น่ามีอะไรที่ต้องกังวล แต่ช่วงเปิดร้านใหม่ๆ มีคนสั่ง Macchiato กับเมนูอื่นพร้อมกัน เราพบว่าการสั่งการของสมองเราจะช้า งงๆ ที่ว่านี่คือไม่ใช่ทำไม่ได้นะ แต่กลายเป็นเพราะว่าเราต้องหมุนตัวทำหลายอย่างพร้อมๆ กัน แต่พอผ่านไปสักพักนึงราวๆ สองถึงสามเดือนก็เริ่มทำได้คล่องแคล่ว 

เชา-ชวลิต จริตธรรม เจ้าของร้าน PaPa' Chao Cafe กำลังชงกาแฟ

ผมเลยได้ข้อสรุปว่า เมื่อเราอายุมากขึ้นถ้าเราปล่อยตัวสบายๆ ตามวัย การทำงานของสมองจะค่อยๆ หายไปและอาจมีอาการสมองเสื่อมตามมาก็ได้ ซึ่งมันเป็นไปตามอายุอยู่แล้วเพราะไม่ค่อยได้ใช้งาน แต่พอได้ทำงานโดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ทั้งสกิลและเวลาที่จำกัดแบบเร่งรีบ มันจะเตือนตัวเราตลอดเวลา เราต้องคิดตลอด มือต้องสัมพันธ์กับความคิด เหมือนสมองเราได้ออกกำลังกายไปด้วยพร้อมๆ กัน

นอกจากได้ออกกำลังกายแล้ว มีเหตุผลอื่นที่คุณเลือกทำทุกอย่างในร้านเองอีกไหม

ไม่อยากมีค่าใช้จ่ายเยอะ เพราะถ้าค่าใช้จ่ายมากขึ้น แปลว่าผมต้องทำงานหนักขึ้น เคยมีคนเอาเครื่องคั่วเมล็ดกาแฟมาขายให้ในราคาถูก ผมก็ซื้อไว้นะ แต่ทุกวันนี้ยังเก็บไว้ ไม่ได้คั่วกาแฟเอง เพราะถ้าทำจริงๆ หลังปิดร้าน 5 โมงเย็น เราต้องไปอยู่กับงานคั่ว แล้วจะได้พักผ่อนนอนตอนไหนไม่แน่นอนตามเวลาที่งานเสร็จ ผมเลยเลือกที่จะไม่คั่วกาแฟเอง เพราะด้วยวัยเราแล้วมันต้องมีลิมิตร่างกายต้องการพักผ่อนให้เพียงพอ

พออยู่วงการนี้มานาน ผมพบว่าสมัยนี้เขาคิดกันว่าต้องมีเครื่องคั่วอยู่ในร้าน ต้องคั่วกาแฟเอง เหมือนเป็นสูตรสำเร็จว่าต้องทำเองตั้งแต่เอากรีนบีนมาคั่ว บวกกับทำยอดขายจากการขายเมล็ดกาแฟและอื่นๆ ด้วย แต่แพสชันของผมที่อายุมากแล้วกับคนรุ่นใหม่ไม่เหมือนกัน แพสชันของคนหนุ่มสาวยังมีเรื่องของความเจริญเติบโต ความก้าวหน้า ความมั่นคง แต่แพสชั่นของผมคือเอนจอยกับสิ่งที่ทำ ผมมีความสุขและสนุกกับสิ่งนี้โดยที่ไม่เข้าเนื้อตัวเองเกินไปกว่าที่เราทำเองได้

ป้ายเมนูร้าน PaPa' Chao Cafe

ดังนั้น เหตุผลที่ผมไม่เอาคนมาช่วยเพราะไม่อยากมีค่าใช้จ่ายเยอะ แล้วยิ่งมาเจอโควิดนานสองปีกว่า ถ้ามีคนช่วยจริงๆ เขาอาจลำบาก เพราะร้านต้องปิดๆ เปิดๆ ผมคิดว่าตัวเองตัดสินใจไม่ผิด มันคือแพสชันในแบบของเรา อีกอย่างพอได้ทำหลายอย่าง มันก็สนุกกับการค้นคว้าไปเรื่อยๆ เพื่อพัฒนางานของเรา

 PaPa' Chao Cafe

คิดว่าอะไรที่ทำให้ลูกค้าชอบร้านของคุณ

ลูกค้าจะบอกว่าอร่อย (หัวเราะ) พวกเขาชอบกินกาแฟที่เป็นตัวตนของผม รสชาติสไตล์แบบผม ซึ่งผมเลือกกาแฟและวิธีการเป็นแบบของเราเพราะว่าเราชอบแบบนี้ เป็นมาตรฐานของร้านเลย เพราะเราไปเรียน ไปชิม ไปทำ พัฒนาอะไรหลายอย่าง จนพบว่าอย่างนี้คืออร่อย อร่อยในความหมายที่เราและลูกค้าเราพอใจตรงกัน

อีกเหตุผลคือผมขายในราคาที่ดีต่อลูกค้า อย่างกาแฟพิเศษหรือสเปเชียลตี้ ผมขายไม่แพงลูกค้าสามารถเข้าถึงได้ไม่ยาก ยิ่งถ้าลูกค้าชอบเขาก็มาทานได้บ่อยๆ เพราะคิดว่าชีวิตมันน่าจะเป็นเรื่องของการแชร์ ถ้าเราแบ่งปันให้กัน คนที่มาร้านก็แฮปปี้กับเรา เราก็แฮปปี้กับเขา

 PaPa' Chao Cafe
กาแฟ เชา-ชวลิต PaPa' Chao Cafe

ผมเอนจอยกับการอยู่ในร้านกาแฟมาก เพราะนอกจากได้ทำกาแฟแล้ว ตัวกาแฟยังเป็นมากกว่ากาแฟนะ มันหมายถึงการสื่อสารถึงกันได้ มันคือมิตรภาพเราได้เพื่อน มิตรสหาย อย่างเมนู Papa Blend เป็น House Blend ที่เราผสมกาแฟดีๆ อย่างตั้งใจ ผมขายแก้วละ 60 บาท อยากทำให้คนกินแล้วอร่อย คุ้มค่า เพราะฉะนั้นสำหรับผมกาแฟมันมีความหมายมาก

คุณทำงานแทบจะตลอดทั้งวันเลย ไม่รู้สึกเหนื่อยจนอยากหยุดบ้างเหรอ

มีช่วงเหนื่อยเหมือนกัน ช่วงปีที่สองที่ทำร้าน ลูกสาวก็งานเต็มมือ ส่วนใหญ่ผมเลยต้องอยู่ร้านทั้งวัน เช้าถึงเย็น พอถึงระดับหนึ่งยืนแล้วเมื่อยมาก ผมเลยเปลี่ยนเวลาทำงานชั่วคราว วันพุธกับวันศุกร์ขอเปิดสายหน่อยเป็น 10 โมงเช้า ตอนเช้าจะได้ไปปั่นจักรยาน อยากให้กล้ามเนื้อมันได้ยืดจนผ่านไประยะหนึ่งก็กลับมาเป็นปกติ

แน่นอนว่ามันต้องมีเหนื่อยอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เบื่อ เพราะรู้สึกว่าตัวเองอาจทำพลาดบ้าง บางทีมือไม้สั่น ก็ต้องเทแก้วนั้นทิ้ง ช่วงหลังๆ หูเริ่มไม่ค่อยดี ต้องขอให้ลูกค้าเขียนให้หน่อย มีคนบอกให้ผมลองใช้เครื่องช่วยฟัง ผมเคยพยายามแล้วแต่ใส่แล้วไม่ค่อยสะดวกกับการทำงานเพราะอยู่กับเครื่องบดทั้งวัน พอบดกาแฟที เสียงมันก็ยิ่งดังเข้าไปในเครื่องช่วยฟัง ผมเลยอยู่อย่างนี้ดีกว่า ปรับตัวให้ได้ตามธรรมชาติ

เชา-ชวลิต จริตธรรม เจ้าของร้าน PaPa' Chao Cafe กำลังชงกาแฟ

ตั้งเป้าว่าจะทำอาชีพนี้ไปถึงอายุเท่าไหร่

ไม่ได้ถึงขนาดตั้งเป้าไว้ ผมจะประเมินจากสุขภาพและร่างกายของตัวเอง จริงๆ ผมทำบ้านสวนไว้ที่อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เตรียมพร้อมไว้สำหรับช่วงที่หมดพลังงาน ใจสู้แต่ร่างกายไม่ไหว เป็นบ้านหลังเล็กๆ เอาไว้อยู่แบบเรียบง่าย ปัจจุบันก็ไปพักที่นั่นบ้างช่วงวันหยุด แต่ยังไม่อยากย้ายไปถาวร 

อีกเหตุผลคือ ผมยังติดลูกค้าแต่ละคนที่คอยแวะเวียนมาหา ร้านหยุดทุกวันจันทร์ก็จะไปสวนตั้งแต่เย็นวันอาทิตย์ วันจันทร์ตื่นมาทำอาหารใส่บาตรพระ ปลูกและดูแลต้นไม้ กลับมาร้านตอนเย็นวันนั้นหรือไม่ก็เช้ามืดวันอังคาร แล้วก็เข้าร้านพอดี

เชา-ชวลิต จริตธรรม เจ้าของร้าน PaPa' Chao Cafe กำลังชงกาแฟ

สุดท้ายนี้คุณอยากแนะนำอะไรให้ทั้งคนรุ่นใหม่และคนวัยเกษียณที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง 

สำหรับคนวัยเกษียณเหมือนกัน ผมว่าต้องดูแลสุขภาพให้แข็งแรงก่อน พอร่างกายแข็งแรงแล้วค่อยหาอะไรทำไปเรื่อยๆ สม่ำเสมอ เดี๋ยวจะรู้เองว่าเราควรทำอะไรต่อได้เอง

ส่วนคนรุ่นใหม่ ผมซัปพอร์ตให้ทำธุรกิจนะ อยากให้ลงมือทำ แต่ต้องจริงจัง อย่ายอมแพ้กับมันง่ายๆ คิดแล้วต้องไตร่ตรองนิดหนึ่ง อย่าตัดสินใจอะไรง่ายเกินไป เพราะถ้าง่ายเกินไป สุดท้ายแล้วคุณพลาดอาจเสียกำลังใจได้

สมัยก่อนมันจะมีคำถามที่ว่า รักสิ่งที่ทำหรือเปล่า แต่เดี๋ยวนี้มันอาจไม่ต้องถึงขนาดนั้น แต่ต้องถามตัวเองว่าชอบมั้ย มีสกิลพอมั้ย ทำอะไรมันต้องฝึกฝน อย่างผมทำกาแฟ ผมทำให้คนชิมตั้งเยอะกว่าจะได้ทำขายจริง

ไม่ว่าคนรุ่นไหน ทุกคนทำทุกสิ่งได้ตามที่อยากทำถ้าเราจริงจัง มุ่งมั่นเต็มที่ครับ


บทความนี้สนับสนุนโดย บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน พรินซิเพิล จำกัด ผู้เชี่ยวชาญการลงทุนระดับโลก ให้บริการด้านการลงทุนครบวงจรทั้งกองทุนรวม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล เพื่อช่วยเหลือผู้คนให้บรรลุเป้าหมายด้านการเงินและการใช้ชีวิตอย่างที่ตั้งใจ ตามแนวคิด For All It’s Worth ชีวิตที่คุ้มค่า ชีวิตที่เลือกได้ เพราะนอกจากความมั่นคงทางการเงิน ความมั่นใจในการใช้ชีวิตในแบบที่อยากเป็นก็สำคัญไม่แพ้กัน 

ติดตามข่าวสาร ความรู้ และดูข้อมูลกองทุนเพิ่มเติมจาก บลจ.พรินซิเพิล ได้ทุกช่องทางออนไลน์ 

Facebook : https://www.facebook.com/principalthailand
YouTube : https://www.youtube.com/c/PrincipalThailand
Line : @PrincipalThailand
Website : https://www.principal.th/

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 02-686-9595

ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า (กองทุน) เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.