ผักDone แบรนด์กระถางหมักเศษอาหาร DIY - Urban Creature

ตามประสาคนเมืองผู้ใช้ชีวิตอยู่กับห้องสี่เหลี่ยม เราโหยหาธรรมชาติเป็นพิเศษในวันที่ใจเหี่ยวเฉา ทุกครั้งที่รู้สึกหมดแรงทำอะไร เสียงน้ำ สายลมแผ่ว และสีเขียวเติมพลังเราได้ในหลายมิติ 

‘นิต้า-มานิตา วิวัฒน์เศรษฐชัย’ ก็เป็นอย่างนั้น

ถ้าถอดตำแหน่งเจ้าของแบรนด์สินค้าและบริการจัดการขยะอาหารออกไป ชีวิตของมานิตาก็ยังน่าสนใจสำหรับเราอยู่ดี เพราะหลังจากเรียนจบปริญญาตรีด้านชีวการแพทย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล เธอก็ค้นพบว่าสิ่งที่อยากทำไม่ใช่การรักษาโรคภัย แต่เป็นการดูแลตัวเองเพื่อให้ได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ นั่นคือเหตุผลให้เธอเบนสายมาศึกษาเรื่องอาหาร จิตใจ และสิ่งแวดล้อม

มานิตาเข้าไปทำงานในบริษัทเอกชนได้ 3 ปี ก่อนจะลาออกมาใช้ชีวิตของตัวเองโดยไม่อยากพึ่งเงินตรา ความฝันสูงสุดคือการใช้ชีวิตแบบโจน จันได 

2 ปีหลังจากนั้น เธอปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินคือเครื่องมือหนึ่งในการใช้ชีวิต แต่การจะหาเงินมาอย่างไร นั่นคือคำถาม

คำถามนั้นกลายเป็นที่มาให้เธอสร้าง ‘ผักDone’ แบรนด์รักษ์โลกที่มีเป้าหมายในการเชื่อมให้คนเมืองได้เห็นความสำคัญของธรรมชาติและทรัพยากรหมุนเวียน ผ่านสินค้าและบริการในการจัดการขยะอาหาร โดยมีสินค้าไฮไลต์เป็นกระถางดินเผาหมักอาหารที่ผู้ใช้งานนำไปหมักแบบ DIY ได้เอง โดยไม่ต้องกังวลเรื่องพื้นที่ วิธี และกลิ่นเหม็น

ผักDone แบรนด์กระถางหมักเศษอาหาร DIY

“เราเห็นความสำคัญของต้นไม้ รู้ว่าการไม่มีมันอยู่เป็นยังไง”

เหตุผลในการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างของคนคนหนึ่งอาจเป็นอะไรก็ได้ แต่สำหรับมานิตา ‘ต้นไม้’ คือคำที่เปลี่ยนมุมมองและรูปแบบการดำเนินชีวิตของเธอ

ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่เธอจะก่อตั้งผักDone มานิตาในวัยเด็กอาศัยในบ้านหลังเก่าที่ถึงแม้จะตั้งอยู่กลางกรุงเทพฯ แต่ล้อมรอบไปด้วยพื้นที่รกร้างและร่มเงาของต้นจามจุรีข้างบ้าน ช่วงชีวิตในวัยเยาว์ของเธอจึงผูกโยงกับสีเขียวอย่างแยกไม่ออก

“มีต้นจามจุรีต้นหนึ่งอยู่ข้างบ้าน อีกต้นอยู่ด้านหลัง” เธอย้อนความให้ฟัง “มันร่มเย็นมาก ตอนนั้นไม่ได้ Appreciate มัน จนกระทั่งข้างบ้านเขาย้ายเข้ามาแล้วตัดต้นไม้ออก เหตุการณ์นั้นทำให้เรารู้สึกเลยว่านี่คือ Global Warming ในสเกลบ้านเรา เพราะพอเขาตัดต้นไม้ออกแล้วเปลี่ยนเป็นผนังคอนกรีต เรารู้สึกได้เลยว่าบ้านเราร้อนขึ้นทันที ร่มเงาไม่มี ฝุ่นเยอะมาก

“แต่ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดอยากทำเพื่อสังคมหรืออะไร แค่อยากมีพื้นที่ที่มีต้นไม้ เราเห็นความสำคัญของต้นไม้ เห็นประโยชน์ของมันโดยตรง และรู้ว่าการที่ไม่มีมันอยู่เป็นยังไง เหตุการณ์นั้นจุดประกายให้เราตั้งเป้าว่าอยากหาเงินเพื่อซื้อที่แล้วปลูกต้นไม้ล้อมรอบ คิดเด็กๆ แบบนั้นเลย”

ในช่วงรอยต่อระหว่างตอนนั้นกับปัจจุบัน มานิตาขยันไปเข้าร่วมอบรมเรื่องเกษตรยั่งยืนและใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับต้นไม้เสมอ ถึงขั้นที่ว่าเธอสนใจเรียนรู้ทักษะการดำรงชีวิตอยู่กับธรรมชาติโดยไม่ต้องพึ่งพาเงิน อาจเพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา เธอโตมากับภาพของคุณพ่อผู้ทำงานอย่างหนักเพื่อเงินมาทั้งชีวิต แต่พอถึงจุดหนึ่งที่สถานการณ์ของบริษัทย่ำแย่ คุณพ่อที่เป็นพนักงานผู้ซื่อสัตย์กลับโดนบีบให้ออกจากงาน

“มันทำให้เรารู้สึกว่าระบบทุนนิยมแบบนี้จะพังในวันหนึ่ง เราเห็นจริงๆ ว่าพอบริษัทเดือดร้อน คนตัวเล็กๆ แบบเราได้รับผลกระทบก่อนใคร”

ภาพเดียวกันนี้ย้อนกลับมาหามานิตาอีกครั้งตอนที่เธอทำงานในบริษัทนมพาสเจอร์ไรซ์แห่งหนึ่ง ซึ่งถึงแม้จะไม่ได้โดนเลย์ออฟ แต่ก็ทำให้เห็นว่าเวลาผ่านมาสิบปี วิถีเดิมๆ ของโลกการทำงานก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง เธอจึงตัดสินใจลาออก

“เราไม่อยากทำงานหาเงินไปจนตาย เราอยากใช้ชีวิตดีๆ ไม่จำเป็นต้องทำงานหนัก ตอนนั้นเราคิดแบบ Extreme เลยนะ คือคิดว่าจะออกมาอยู่แบบไม่พึ่งพาเงินเลย”

ผักDone แบรนด์กระถางหมักเศษอาหาร DIY

“เงินเป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่การหาเงินยังไงนั้นสำคัญกว่า”

โชคดีว่าตอนนั้นมานิตารู้จักรุ่นพี่คนหนึ่งที่ปลูกบ้านย่านชานเมืองไว้ และใจดีให้เธอได้เข้ามาพักอาศัยแบบฟรีๆ บ้านหลังนี้แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติแบบที่เคยฝัน มีพื้นที่ให้ได้ทดลองขุดบ่อ ปลูกผักกินเอง ทำสบู่ แชมพู และของใช้ทุกอย่าง โดยไม่ต้องพึ่งเงินสมใจ

“จนถึงจุดหนึ่งที่รู้สึกว่าบางทีก็อยากไปเที่ยวบ้าง อยากกินข้าวนอกบ้านบ้าง แต่ไม่มีรายได้ เราค้นพบว่าตัวเองไม่จำเป็นต้องปฏิเสธเงินขนาดนั้น เงินเป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่การหาเงินยังไงนั้นสำคัญกว่า เราเลยคิดถึงการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับสิ่งที่เราทำ ถ้าปลูกผักเราก็ขายผัก ปลูกเห็ดก็ขายเห็ด หรือขายแชมพู น้ำยาล้างจาน ก็ลองทำช่วงหนึ่ง” 

แบรนด์แรกที่มานิตาเข็นออกมาคือสบู่ธรรมชาติชื่อ Mori Homu เป็นคำญี่ปุ่นที่เธอจับมาผสมเอง ให้ความหมายว่า ‘บ้านป่า’

“แต่พอทำแล้วพบว่าสบู่ธรรมชาติมันมีคนทำอยู่แล้ว รู้สึกว่าของเราก็ไม่ได้แจ่มเจ๋งกว่าใคร เป็นแค่ของที่เราทำและมีความสุขที่ได้ใช้เอง คิดแล้วว่ามันไม่ใช่ ไม่มีแรงขับ ประจวบเหมาะกับตอนนั้น ด้วยความที่ไม่มีตังค์และปลูกผักกินเอง เราอยากได้ดินที่ดี ซึ่งเศษอาหารคือปุ๋ยชั้นดีในการบำรุงดิน เราเลยไปขอขยะอาหารจากตลาดหน้าปากซอยมาหมักดู”

ผักDone แบรนด์กระถางหมักเศษอาหาร DIY

โดยไม่คาดคิด การนำขยะอาหารมาทำปุ๋ยกลายเป็นแรงบันดาลใจให้มานิตาสร้างแบรนด์ที่ 2 “เราเริ่มอินกับเรื่องขยะมากขึ้น ได้รู้ว่าถ้าเราไม่ไปขอ ขยะอาหารที่เห็นทุกวันจะถูกส่งต่อไปยังบ่อฝังกลบ เรารู้สึกเสียดายว่าถ้าเอาสารอาหารของดินไปทิ้งอยู่เรื่อยๆ แล้วดินจะมีคุณภาพได้ยังไง ก็เลยอยากทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับขยะอาหาร”

อีกหนึ่งแรงผลักดันสำคัญคือการเข้าร่วมโครงการ Banpu Champions for Change โครงการที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมมาแข่งขันกันเพื่อชิงเงินรางวัล ซึ่งจากโครงการนั้น มานิตาได้รับคำแนะนำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ภายใต้โจทย์ว่าจะสร้างเครื่องมือเกี่ยวกับปุ๋ยและดินได้อย่างไร

เธอคิดไปถึงอุปกรณ์หมักเศษอาหาร และใช่-นั่นต่อยอดให้เธอทำ ‘ผักDone’ แบรนด์ให้บริการจัดการเศษอาหารและจำหน่ายสินค้าหมักขยะที่ให้คนเมือง DIY ได้เองในเวลาต่อมา

ผักDone แบรนด์กระถางหมักเศษอาหาร DIY

“เราอยากให้คนเมืองกับธรรมชาติได้อยู่ใกล้ชิดกัน”

แน่ล่ะว่าการหมักขยะไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ ทั้งในไทยและต่างประเทศมีวิธีการตั้งกองหมักปุ๋ยมาเนิ่นนานและหลากหลายรูปแบบ 

“แต่ปัญหาส่วนใหญ่ของคนเมืองคือพวกเขาไม่มีพื้นที่ ไม่มีดิน ทำให้ไม่สามารถตั้งกองหมักปุ๋ยได้ เราอยู่กันอย่างแออัดแล้วจะจัดการขยะได้ยังไง”

มานิตาคิดถึงโมเดลการหมักขยะที่มิดชิด ให้คนเมืองได้ใช้อย่างสะดวกสบาย ซึ่งหลังจากศึกษาโมเดลของอุปกรณ์หมักขยะจากไทยและต่างประเทศ เธอก็พัฒนาอุปกรณ์หมักขยะหลายรูปแบบไปพร้อมๆ กัน ทั้งกล่องหมักขยะจากพลาสติกมือสอง ถังเลี้ยงไส้เดือน ถังหมักขยะไฟฟ้า มาสู่ถังหมักขยะจากดินเผาที่มานิตารู้สึกเหมือนได้เจอ ‘เนื้อคู่’

เหตุผลนั้นเรียบง่ายเนื่องจากถังหมักขยะนี้ใช้ทุนน้อยกว่าแบบอื่นๆ และเน้นการใช้ดินธรรมชาติที่มีคุณสมบัติในการเก็บความชื้น ลดความแฉะในการหมักขยะอาหาร

ผักDone แบรนด์กระถางหมักเศษอาหาร DIY

“โปรดักต์นี้ตอบความเป็นผักDone มากๆ เพราะจริงๆ เราไม่ได้วางตำแหน่งตัวเองว่าอยากทำเรื่องขยะเป็นหลัก แต่อยากให้คนเมืองกับธรรมชาติอยู่ใกล้ชิดกัน อุปกรณ์นี้เป็นวัสดุธรรมชาติ มีความสวยงาม และเปลี่ยนทัศนคติกับมุมมองเกี่ยวกับขยะของคนด้วย”

เล่าถึงตรงนี้ มานิตาก็หยิบ ‘ปั้นปุ๋ย’ กระถางหมักขยะดินเผามาสาธิตให้เราดู ตัวกระถางทำจากดินเหนียว แบ่งเป็น 2 ชั้นหลักๆ คือชั้นล่างที่เป็นฐานโล่ง ใช้เขี่ยปุ๋ยที่ได้จากการหมักออกมาใช้ ส่วนชั้นบนเป็นพื้นที่ในการหมักซึ่งมีดินตั้งต้นรองก้นอยู่ ความพิเศษคือ ถ้าใครอยากมีพื้นที่หมักอาหารมากกว่าหนึ่งชั้นก็สามารถต่อกระถางชั้นบนเพิ่มขึ้นไปได้

วิธีการใช้ก็ง่ายแสนง่าย หลังจากกินข้าวเสร็จ แค่นำเศษอาหารที่เหลือมาสับเป็นชิ้นๆ แล้วเทลงไปคลุกกับดินตั้งต้น ปิดฝาเพื่อป้องกันกลิ่นแล้วรอประมาณ 1 เดือน ก็จะได้ปุ๋ยหมักจากเศษอาหารสีเข้มที่นำไปบำรุงต้นไม้ต้นไหนก็ได้ แถมมีประโยชน์ช่วยฟื้นฟูสภาพดินในระยะยาว 

มานิตายังแอบกระซิบเคล็ดลับกับเราว่า ถ้าใส่พวกเศษผักลงไปจะใช้บำรุงต้นผักได้ดี หรือถ้าใส่ดอกไม้ลงไปจะบำรุงดอกได้ดี 

ผักDone แบรนด์กระถางหมักเศษอาหาร DIY
ผักDone แบรนด์กระถางหมักเศษอาหาร DIY

“สิ่งแวดล้อมกับคนเมืองควรจะเชื่อมต่อกัน มันควรเป็นวิถีชีวิต”

มากกว่ากำไรจากการขายโปรดักต์ที่เลี้ยงชีพให้อยู่รอดได้ มานิตาพบว่าสิ่งที่ทำให้เธอยังผลักดันผักDone ให้ไปต่อได้คือ ฟีดแบ็กของลูกค้า

“ลูกค้าหลายคนบอกเราว่าเขารู้สึกมหัศจรรย์มากที่ได้เห็นขยะเหม็นเน่ากลายเป็นดินดำๆ ที่หอม ปั้นปุ๋ยทำให้เขารู้สึกหวงแหนขยะอาหารมากขึ้น บางคนไม่ยอมให้เศษอาหารไปอยู่ในถังขยะเลย บางคนก็เอาขยะของเพื่อนบ้านมาหมัก หรือบางคนเห็นกระถางก็ถามว่าคืออะไร สวยดี น่าใช้ คือต่อให้เขาไม่ได้มาด้วยธงที่อยากจัดการขยะ แต่การได้มาเห็นสิ่งที่เราทำมันเชิญชวนให้เขาอยากทำตาม

“เราไม่อยากบอกว่าตัวเองคือนักสิ่งแวดล้อมรักษ์โลก เพราะเราคิดแบบเอาตัวเองเป็นที่ตั้งหมดเลย แต่พอทำผักDone เราสัมผัสได้ถึงความต้องการของคนเมืองที่อยากช่วยเปลี่ยนแปลงโลก เห็นผู้คนที่เข้ามาขอบคุณเราที่ทำโซลูชันแบบนี้ ขอบคุณที่ทำให้เขารู้ว่าเศษอาหารก็มีประโยชน์ เรารู้สึกว่าจริงๆ คนพร้อมจะเปลี่ยนแปลง แต่เขาแค่ไม่รู้ว่าทำยังไง” หญิงสาวบอก

“คิดยังไงกับคำพูดที่ว่า การมีไลฟ์สไตล์แบบรักษ์โลก มีแต่คนมีเงินเท่านั้นที่ทำได้” เราโยนคำถาม

“อันนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่อยากเปลี่ยนเหมือนกัน” มานิตาตอบเร็ว “จริงๆ เราก็ยังก้าวข้ามคำพูดนี้ไม่ได้ เห็นด้วยในระดับหนึ่งว่าหลายกิจกรรมรักษ์โลกต้องใช้เงิน แต่ก็เป็นชาเลนจ์ที่เราอยากจะเปลี่ยนให้คนทุกระดับสามารถทำสิ่งนี้ได้” 

เธอเล่าให้ฟังต่อว่า Pain Point นี้เป็นสิ่งที่อยากขยับขยายไปทำเรื่องอื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องขยะอาหารเช่นกัน อย่างอีกโปรเจกต์ที่เธอกำลังทำควบคู่ไปพร้อมกับผักDone คือการปรับปรุงบ้านที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างขึ้นในงบประมาณจำกัด ให้คนเห็นว่าการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้รักษ์โลกนั้นไม่ต้องใช้เงินเยอะและเป็นไปได้

“เราคิดว่าสิ่งแวดล้อมกับคนเมืองควรจะเชื่อมต่อกัน มันควรเป็นวิถีชีวิตเลยล่ะ เพราะปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้น ทั้งสุขภาพ โรคภัย และอะไรต่างๆ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นเพราะเราตัดขาดธรรมชาติด้วย ทำไมเราถึงต้องไปเที่ยว ไปเดินป่า เพราะส่วนหนึ่งมันคือการเติมพลังไง 

“การอยู่แต่ในกล่องสี่เหลี่ยมทำให้สภาพจิตใจเราย่ำแย่ และการที่เราไม่แคร์เรื่องสิ่งแวดล้อมเลยก็อาจทำให้เกิดปัญหาในสเกลใหญ่ตามมา ซึ่งวันหนึ่งมันย่อมส่งผลกระทบกับเราแน่ๆ” มานิตาทิ้งท้าย

ผักDone แบรนด์กระถางหมักเศษอาหาร DIY

ติดตามข่าวสารของผักDone ได้ทางเพจเฟซบุ๊ก

Writer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.