3 ประเทศกับมาตรการการเดินทางสำหรับการประชุมนานาชาติ - Urban Creature

ตั้งแต่สัปดาห์ก่อนลากยาวจนมาถึงสัปดาห์นี้ ดูเหมือนจะเป็นช่วงเวลาแห่งการประชุมระดับนานาชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มกันที่ ASEAN Summit ประเทศกัมพูชา ตามมาด้วย G20 ประเทศอินโดนีเซีย และล่าสุดคือ APEC ที่ประเทศไทยได้กลับมาเป็นเจ้าภาพต้อนรับบรรดาผู้นำโลกอีกครั้ง

เมื่อมีบุคคลสำคัญจากหลายประเทศมาร่วมงาน การเดินทางจึงเป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่ละเลยไม่ได้เด็ดขาด ทางเจ้าบ้านต้องหาวิธีจัดการดูแลเรื่องนี้ให้ปลอดภัยและสะดวกสบายแก่แขกผู้มาเยือนมากที่สุด

สำหรับประเทศไทยเอง ก็มีการเตรียมตัวเพื่อต้อนรับการประชุมครั้งใหญ่นี้อย่างยิ่งใหญ่ด้วยเช่นเดียวกัน แต่หลังจากที่มีการแจ้งแผนจำกัดการใช้งานถนนและเส้นทางโดยรอบศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ก่อนวันงานเพียงหนึ่งสัปดาห์ ไหนจะการประกาศปิดถนนกับข้อห้ามมากมายที่ออกมาระหว่างช่วงที่จัดการประชุม ก็ยิ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามมากมายถึงความเดือดร้อนต่อการเดินทางของคนทำงานและผู้พักอาศัยในบริเวณนั้น ที่ต้องแบกรับผลกระทบเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ

คอลัมน์ Curiocity ชวนไปติดตามกันว่า ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันที่มีการประชุมทั้งในกัมพูชา อินโดนีเซีย และไทย สามประเทศเจ้าภาพนี้มีมาตรการการจัดการจราจรเพื่อต้อนรับแขกสำหรับการประชุมครั้งใหญ่นี้อย่างไร แล้วใครที่ได้รับผลกระทบบ้าง

the traffic adjustment arrangement

ASEAN Summit กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา

การประชุม ‘ASEAN Summit’ หรือ ‘การประชุมสุดยอดอาเซียน’ เป็นการประชุมประจำปี ภายใต้หัวข้อ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของประเทศสมาชิกต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ปีนี้ถือเป็นการประชุมครั้งที่ 40 และ 41 จัดขึ้นที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ตั้งแต่วันที่ 10 – 13 พฤศจิกายน 2565 โดยมี 9 ประเทศอาเซียน และผู้นำจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย

ก่อนการประชุมเกิดขึ้น ทางการกัมพูชาได้จัดการการจราจรด้วยการแจ้งให้ประชาชนเตรียมตัวและรับรู้ล่วงหน้าว่ามีเส้นทางไหนที่ใช้สำหรับการเดินทางของเหล่าผู้นำบ้าง และมีเส้นทางไหนที่สามารถเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดการกีดขวางการจราจรได้ ทั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้ออกประกาศปิดถนนทั้งหมด เพื่อไม่ให้กระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน เพียงแต่ขอความร่วมมือไม่ใช้ถนนในช่วงที่มีขบวนการเดินทางของผู้นำประเทศต่างๆ เท่านั้น เมื่อขบวนผ่านไปแล้วประชาชนก็ใช้ถนนได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ได้มีชายชาวเกาหลีใต้ถูกควบคุมตัว เพราะฝ่าฝืนคำสั่ง เดินข้ามถนนในช่วงเวลา 15 – 20 นาทีก่อนที่ขบวนรถผู้นำเกาหลีใต้จะขับผ่านเส้นทางดังกล่าว แต่ยังไม่มีรายงานเพิ่มเติมว่ามีการลงโทษจากเหตุการณ์นี้หรือไม่

G20 Bali Summit บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย

‘G20’ หรือ ‘Group of Twenty’ เป็นการประชุมของผู้นำสหภาพยุโรปและอีก 19 ประเทศ โดยเป็นการพูดคุยถึงความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการเงิน สำหรับปีนี้ G20 จัดขึ้นที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ตั้งแต่วันที่ 15 – 16 พฤศจิกายน 2565

ทางเจ้าภาพอย่างอินโดนีเซียได้ประเมินสถานการณ์จากการประชุมครั้งก่อนหน้า พบว่าการจราจรที่ติดขัดคือปัญหาหลักของผู้แทน G20 นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการสัญจรของประชาชนและนักท่องเที่ยว ปีนี้อินโดนีเซียจึงมีการเตรียมแผน ‘Traffic Engineering Management (MRLL)’ เพื่อป้องกันการจราจรติดขัดบนท้องถนนที่ผู้แทน G20 ใช้ระหว่างร่วมงาน

หนึ่งในแผนการที่น่าสนใจของ MRLL คือการจำกัดการจราจรด้วยการวิ่งรถตามเลขทะเบียนคู่-คี่ โดยปล่อยให้รถยนต์ที่มีป้ายทะเบียนลงท้ายด้วยเลขคู่ใช้ถนน 10 สายตามที่ทางการกำหนดในวันที่ตรงกับปฏิทินเลขคู่ และสลับการใช้งานกันสำหรับวันที่เป็นเลขคี่ ตั้งแต่วันที่ 11 – 16 พฤศจิกายน 2565 โดยมีข้อยกเว้นสำหรับรถฉุกเฉิน เช่น รถพยาบาล รถดับเพลิง รวมถึงรถของทางราชการ และไม่มีการลงโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน เพราะถือว่าเป็นการขอความร่วมมือ เพื่อให้ทุกคนในประเทศได้มีส่วนร่วมในการต้อนรับผู้แทนกลุ่ม G20 ครั้งนี้ด้วย

แต่ก่อนจะใช้มาตรการนี้ในวันจริง ทางการอินโดนีเซียได้ทดลองใช้วิธีนี้แล้วเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสามารถทำได้จริง

APEC กรุงเทพฯ ประเทศไทย

ปิดท้ายกันที่ ‘Asia-Pacific Economic Cooperation (APEC)’ หรือ ‘การประชุมของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก’ ที่มีสมาชิกทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ 

สำหรับปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุม โดยจัดขึ้นที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 18 – 19 พฤศจิกายน 2565 แต่จะเริ่มเข้าสู่สัปดาห์ APEC ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายนเป็นต้นไป

การเตรียมตัวสำหรับการประชุม APEC ครั้งนี้ ทางรัฐบาลได้แจ้งล่วงหน้าว่าจะใช้เส้นทางไหนสำหรับการสัญจรของผู้เข้าร่วมประชุมบ้าง และเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนออนไลน์รับบัตรผ่านเพื่อใช้เส้นทางต่างๆ ถึงอย่างนั้นการลงทะเบียนก็ยังไม่ครอบคลุมและไม่สามารถจัดการได้ทันเวลา เพราะมีผู้พักอาศัยบริเวณโดยรอบเส้นทางที่กำหนดปิดตกค้างเป็นจำนวนมาก จนต้องขยายเวลาให้ลงทะเบียนได้จนถึงวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้

ทั้งนี้ ทางการได้ปิดการจราจร 2 เส้นทาง ได้แก่ ถนนรัชดาภิเษก ตั้งแต่แยกอโศกมนตรี-แยกพระราม 4 กับถนนดวงพิทักษ์ (ตลอดสาย) ตลอด 24 ชั่วโมง และปิดการจราจรเป็นช่วงๆ (เวลา 18.00 – 06.00 น. ของวันถัดไป) ตั้งแต่วันที่ 16 – 19 พฤศจิกายน ซึ่งการปิดถนนครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนหลายส่วน เพราะหลายเส้นทางเป็นเส้นที่การจราจรติดขัดเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และถึงแม้ว่าจะมีประกาศให้วันที่ 16 – 18 พฤศจิกายนเป็นวันหยุดพิเศษของทางราชการก็ตาม แต่บริษัทเอกชนก็ยังคงทำงานกันตามปกติ และต้องใช้เส้นทางที่ถูกปิดเป็นหลักด้วย

นอกจากเส้นทางบนถนนแล้ว ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่ล้วนส่งผลกระทบต่อประชาชน เช่น งดให้บริการ MRT จอดรับ-ส่งผู้โดยสารที่สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 16 – 19 พฤศจิกายน 2565, ปิดให้บริการสวนเบญจกิติ วันที่ 14 – 16 พฤศจิกายน 2565 รวมถึงปิดสกายวอล์กจากแยกเฉลิมเผ่าไปจนถึงเกษรพลาซ่า วันที่ 17 – 19 พ.ย. 2565 ตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย

จากการประชุมทั้งสามแห่งจะเห็นได้ว่า มีเพียงประเทศไทยที่เลือกปิดถนนเพื่ออำนวยความสะดวกให้ตัวแทนจากนานาชาติ จริงอยู่ที่ว่าภาพลักษณ์ของประเทศเป็นสิ่งสำคัญ แต่การดำรงชีวิตของคนในประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ ที่กินเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ แต่การจัดการปัญหาที่ปลายเหตุดูเหมือนจะไม่ใช่ทางแก้ที่ถูกต้องเท่าไรนัก แถมยังส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนอีกด้วย

จะเป็นไปได้หรือไม่หากการประชุมนานาชาติครั้งต่อไป ประเทศไทยอาจเตรียมแผนการจัดการจราจรที่อำนวยความสะดวกให้ทั้งประชาชนในประเทศและแขกผู้มาเยือนพร้อมๆ กัน หรือความจริงแล้วทางการควรใส่ใจปัญหาการจราจรอย่างจริงจัง และหาทางแก้ไขอย่างถาวรให้ได้ เพื่อที่ทุกคนจะได้ใช้ถนนร่วมกันอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นประชาชน ผู้นำประเทศ หรือคนที่ใหญ่กว่านั้นก็ตาม


Sources :

Antara News | bit.ly/3Ao7Zii, bit.ly/3AnGtSe 
Coconuts I bit.ly/3hMlBxt 
Money Buffalo | bit.ly/3Gr9wIj  
PPTV | bit.ly/3Oa2Z6R 
Thai PBS | bit.ly/3Aq1fk3 
Thairath | bit.ly/3EA45p7 
The Jakarta Post | bit.ly/3tUrBY1 
VOD English | bit.ly/3AlWBnd, bit.ly/3GjKlaJ

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.