คนไทยกินอะไรก็ได้ แต่ทำไมดื่มนมแล้วท้องเสีย - Urban Creature

เรามักเห็นข่าวบนโซเชียลมีเดียอยู่บ่อยครั้งว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวประเทศไทยมีอาการท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษหลังจากชิมเมนูเด็ดของบ้านเรา ไม่ว่าจะเป็นส้มตำ ยำ ของดอง ที่ล้วนมีของดิบ ของสด และของหมักดองเป็นส่วนประกอบหลัก

หรือแม้แต่ผักบางชนิดที่มีพิษอ่อนเมื่อกินแบบดิบๆ อย่างถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี ถั่วงอก หรือมะเขือเทศ ยังถูกนำมาประกอบอาหารอยู่บ่อยๆ โดยไม่ส่งผลอะไรกับกระเพาะอาหารของคนไทยเลยแม้แต่น้อย

ดูเหมือนว่าคนไทยจะกินได้แทบทุกอย่าง แต่สิ่งที่คนไทยจำนวนไม่น้อยแพ้คือ ‘นมจากสัตว์ทุกชนิด’ ที่มักทำให้เกิดอาการปวดท้องและท้องเสีย ซึ่งมีสาเหตุจาก ‘ภาวะแพ้แล็กโทส’ ทำให้เราอดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมอาการแพ้น้ำตาลชนิดนี้ถึงเกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก และถ้ายังอยากดื่มนมแต่ไม่อยากปวดท้องจะมีทางไหนที่ช่วยได้บ้าง

Lactose Intolerance

คนไทยกินอะไรก็ได้ แต่ตกม้าตายเมื่อดื่มนม

ไม่ว่าจะเป็นของดิบ ของสด ของดอง คนไทยสามารถนำวัตถุดิบเหล่านี้มาประยุกต์จนกลายเป็นอาหารยอดฮิตที่กินเมื่อไรก็ได้ ตราบใดที่ขั้นตอนการประกอบอาหารสะอาดและถูกสุขลักษณะ ก็ไม่ต้องเป็นกังวลว่าจะท้องเสีย

แต่ถ้าเป็น ‘นมสด’ ที่หน้าตาดูไม่เป็นพิษเป็นภัย กลับเป็นสิ่งที่ทำให้หลายคนดื่มแล้วต้องรีบมองหาห้องน้ำรอทุกครั้ง เพราะมักมีอาการตามมาอย่างปวดท้อง ท้องอืด มีลมในท้อง หรืออาจจะถึงขั้นท้องเสียเลยก็ได้ ซึ่งอาการเหล่านี้เกิดจาก ‘การแพ้แล็กโทส’ ซึ่งเป็นน้ำตาลที่อยู่ในนมจากสัตว์ทุกชนิด ทำให้หลายคนเลี่ยงการดื่มนมแทนที่จะเสี่ยงขับถ่ายผิดปกติ

เหตุผลนี้จึงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทยมีอัตราการดื่มนมต่ำมากเมื่อเทียบกับชาติอื่น โดยข้อมูลล่าสุดจากกรมอนามัยเผยว่า ในปัจจุบันนี้คนไทยดื่มนมเพียง 21.5 ลิตร/คน/ปี ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีอัตราการบริโภคนม ดังนี้

– เกาหลีใต้ 29.5 ลิตร/คน/ปี

– ญี่ปุ่น 32.8 ลิตร/คน/ปี

– สหภาพยุโรป 53.28 ลิตร/คน/ปี

– สหรัฐอเมริกา 62 ลิตร/คน/ปี

– อังกฤษ 89.6 ลิตร/คน/ปี

– ออสเตรเลีย 93.6 ลิตร/คน/ปี

จากตัวเลขทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า ประเทศในฝั่งเอเชียนั้นมีอัตราการดื่มนมค่อนข้างต่ำกว่าทวีปอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด จึงอาจสันนิษฐานได้ว่า ไม่ได้มีแค่คนไทยที่แพ้แล็กโทสจนท้องไส้ไม่พร้อมดื่มนม

เพราะเป็นคนเอเชียถึงมียีนแพ้แล็กโทส

ข้อมูลจาก Intermountain HealthCare พบว่า การแพ้แล็กโทสเป็นเรื่องของพันธุกรรม โดยจะแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติ ซึ่งชาวแอฟริกาและเอเชียมีอาการแพ้แล็กโทสกว่า 75 – 95 เปอร์เซ็นต์ของประชากร ขณะที่ชาวยุโรปเหนือมีอัตราการแพ้แล็กโทสน้อยกว่า 18 – 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากร

โดยงานวิจัยในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ยังพบว่า เมื่อ 7,000 ปีก่อน ชาวยุโรปไม่สามารถย่อยแล็กโทสได้เช่นกัน จนเกิดวิวัฒนาการทางร่างกายที่สามารถรักษายีนแล็กเทสในการย่อยแล็กโทสให้ทำงานได้ตลอดไป จึงเกิดข้อสันนิษฐานหนึ่งที่คาดว่าในอดีตมนุษย์จากฝั่งยุโรปมีนมเป็นแหล่งอาหารสำคัญมาก่อนฝั่งเอเชีย รวมไปถึงกินอาหารที่มีส่วนผสมของนมเป็นหลัก จนทำให้ร่างกายของชาวยุโรปตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีภูมิคุ้มกันและคุ้นชินกับน้ำนมมากกว่าชาวเอเชียก็ได้

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนเอเชียทุกคนจะแพ้แล็กโทส เพราะหากใครที่ดื่มนมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เด็กจนโต ร่างกายก็จะสามารถสร้างน้ำย่อยสำหรับย่อยแล็กโทสขึ้นมาได้ จนทำให้ดื่มนมได้โดยที่ไม่ต้องเป็นกังวลเรื่องท้องเสียเหมือนกับคนอื่นๆ

แพ้แล็กโทส ≠ แพ้นมวัว

หากใครท้องเสียทุกครั้งที่ดื่มนม อาจเกิดจากอาการ ‘แพ้แล็กโทส’ ไม่ใช่ ‘แพ้นมวัว’ เพราะการแพ้แล็กโทสนั้นเกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถย่อยแล็กโทสซึ่งเป็นน้ำตาลที่อยู่ในนมได้ ทำให้เกิดอาการท้องอืด ปวดท้อง หรือท้องเสียหลังจากที่ดื่มนมเข้าไปประมาณ 30 นาทีเป็นต้นไป โดยอาการเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ เพราะร่างกายจะสูญเสียความสามารถในการย่อยสลายแล็กโทสเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นตอนปลาย ทำให้ย่อยแล็กโทสได้น้อยลงจนถึงขั้นไม่สามารถย่อยได้อีกต่อไป

ส่วนการแพ้นมวัวนั้นเกิดจากการแพ้โปรตีนที่อยู่ในนม ที่จะส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ ผื่นขึ้นตามร่างกายเหมือนกับอาการภูมิแพ้ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต มักพบในทารกหรือเด็กเล็กเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งหากใครมีอาการเหล่านี้ก็ต้องเลี่ยงการดื่มนมและผลิตภัณฑ์จากนม รวมถึงอาหารต่างๆ ที่มีส่วนผสมของนมด้วย

นมมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ถ้ากินนมวัวไม่ได้จะทำยังไง

อย่างไรก็ตาม นมถือเป็นแหล่งอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่การฝืนดื่มนมจนท้องเสียเพื่อแลกกับสารอาหารก็อาจจะไม่คุ้มค่าเท่าไรนัก ปัจจุบันจึงมีนมทางเลือกอื่นๆ อีกมากมายเพื่อที่คนแพ้แล็กโทสจะได้ไม่ขาดสารอาหารที่ควรได้รับ

ทางเลือกหนึ่งคือการกินผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนม อย่างเช่น ชีสหรือโยเกิร์ต แทนการดื่มนมโดยตรง เพราะอาหารเหล่านี้มักจะผ่านกระบวนการหมักที่ทำให้แล็กโทสในนมย่อยสลายไปแล้ว ทำให้ชาวแพ้แล็กโทสยังสามารถกินผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ แต่หากยังกังวลว่าจะทำให้ปวดท้องได้ก็อาจจะหลีกเลี่ยงไปดื่มนมจากพืชหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น นมอัลมอนด์ นมโอ๊ต หรือนมถั่วเหลืองแทน

ส่วนใครที่ยังอยากดื่มนมวัวอยู่ก็สามารถเลือกเป็นนมที่ปราศจากแล็กโทส (Lactose Free) ซึ่งเกิดจากกระบวนการนำนมวัวไปผ่านการย่อยสลายน้ำตาลให้หมดไป แต่ยังคงคุณค่าของน้ำนมเอาไว้อย่างครบถ้วนและยังช่วยให้ย่อยง่ายกว่าเดิม จึงอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้กลุ่มคนแพ้แล็กโทสได้รับสารอาหารจากนมได้โดยไม่ต้องพึ่งอาหารเสริมอื่นๆ

Sources :
Bangkokbiznews | tinyurl.com/4bujpj8r
DSM | tinyurl.com/mw28zdf8
Intermountain Healthcare | tinyurl.com/2v5he8ym
MedlinePlus | tinyurl.com/nhd8vn3c
New Scientist | tinyurl.com/5dpr4fvc
Science ABC | tinyurl.com/yc3kwxu9
SCIplanet | tinyurl.com/2sen9d33
Tetra Pak | tinyurl.com/5ndx537c
กระทรวงสาธารณสุข | tinyurl.com/2s3untfz

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.