จี๊บ-เทพอาจ กวินอนันต์ ผู้ร่วมชุบชีวิต Lido Connect - Urban Creature

“เราไม่ค่อยปล่อยโอกาสเท่าไหร่ ถ้ามีอะไรที่ทำได้หรือรู้สึกว่าทำแล้วไม่ขัดกับตัวเอง ส่วนใหญ่จะทำหมด”

‘จี๊บ-เทพอาจ กวินอนันต์’ บอกเล่าให้เราฟัง เมื่อถามว่าทำไมผู้บริหารในแบบฉบับของเขาถึงมีสารพัดสิ่งที่ต้องจัดการเต็มไปหมด

จี๊บเล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้เขาแบ่งการงานของชีวิตเป็นสองส่วนหลักๆ หนึ่งคือ ฝั่งเครื่องดื่ม ที่มีทั้งการดูแลในส่วนที่อิมพอร์ตเข้ามา อาทิ Budweiser, Hoegaarden ฯลฯ และสร้างโรงงานผลิตสุรา Thai Spirit Industry Co.,Ltd. ที่ผลิตคราฟต์เบียร์ยี่ห้อขุนแผน และมีบริษัท รอยัล เกทเวย์ จำกัด ดูแลการจัดจำหน่ายเครื่องดื่ม Full Moon, โซจูยี่ห้อคอมเบ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนสอนต้มเบียร์อุดมคติ รวมถึงธุรกิจร้านอาหาร HOBS เป็นต้น

การงานส่วนที่สองคือ ฝั่งงานเอนเตอร์เทนเมนต์ เขาทำงานบริหาร 8 ค่ายเพลง นำโดย LOVEiS Entertainment และอีก 7 ค่าย ได้แก่ marr, LIT Entertainment, kiddo records, PROM+, Juicey, HolyFox, LABo รวมถึงตัวเขาเองก็เป็นศิลปินในนาม Jeep TK อีกด้วย

และเขายังเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนเปลี่ยนแปลงลิโดในวันวานให้กลายเป็น ‘ลิโด้ คอนเน็คท์’ (Lido Connect) อย่างที่เห็นและเป็นอยู่เช่นทุกวันนี้ ทั้งยังทำอีกหนึ่งสิ่งที่ดูสวนกระแสกับยุคสมัยคือ การเปิดคลื่นวิทยุ Flex 104.5 ขึ้นมา

วิธีการที่เขาใช้บริหารธุรกิจทั้งหมดคืออะไร คอลัมน์ Visibility ขอชวนไปพูดคุยกับเขาในฐานะผู้บริหาร ผู้มีแนวคิดการทำงานด้วยหลักคิดที่บอกว่า ต้องเปิดโอกาสและทำความเข้าใจคนรุ่นใหม่ และโอบรับสิ่งใหม่ๆ ในขณะที่ไม่หลงลืมความสำคัญของสิ่งเก่าที่มีประโยชน์

‘ให้โอกาส เข้าใจสิ่งใหม่ และไม่ลืมสิ่งเก่าที่มีประโยชน์’ จี๊บ-เทพอาจ กวินอนันต์ ผู้บริหารที่ร่วมชุบชีวิต Lido Connect

ทำธุรกิจเยอะขนาดนี้ ในแต่ละวันคุณต้องทำอะไรบ้าง

พอกระโดดเข้ามาทำงานฝั่งเอนเตอร์เทนเมนต์ ตอนนี้เริ่มมีเวลามากขึ้นกว่าตอนที่ทำงานฝั่งเครื่องดื่มอย่างเดียว เพราะวางรากฐานให้งานเครื่องดื่มได้ในระดับหนึ่งแล้ว คนที่ทำงานด้วยกันก็เป็นเพื่อนๆ ซะส่วนใหญ่ เขาก็บริหารจัดการได้ จะมีมาขอไดเรกชันให้ตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ บ้างเท่านั้น ทำให้มีเวลามากขึ้น

ทุกวันนี้ก็นั่งอยู่ตรงนี้ (พื้นที่นั่งเล่นในค่าย LOVEiS) ได้เจอน้องๆ ที่ทำงาน เจอน้องๆ ศิลปิน รู้สึกเป็นอีกโลกหนึ่งที่ไม่ได้เป็นโลกของธุรกิจจ๋าจนเกินไป ได้นั่งรอพบเจอพูดคุยกับคนอื่นๆ เราจะรับพาร์ตดูแลด้านหลังของพวกเขา ชีวิตความเป็นอยู่เป็นยังไง เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ไปถึงหรือยัง มีปัญหาอะไรยังไง ช่วยให้เขาได้พ้นปัญหาต่างๆ ไปให้ได้ด้วยตัวของพวกเขาเอง

คุณแบ่งสัดส่วนในชีวิตยังไงกับการเป็นศิลปิน นักธุรกิจ และผู้บริหาร

เราคิดว่าบางทีไม่ต้องแบ่งชัดเจนขนาดนั้น เพราะการอยู่แบบผสมผสานสนุกกว่า ถ้าแบ่งแยกเลยมันจะไม่ได้รับอีกมุมหนึ่ง ทำงานบางทีต้องมีหลากหลายมุม ยิ่งวันนี้เราอายุเท่านี้ ถ้าไม่รู้จักประสานกับคนอื่นๆ หรือคนรุ่นใหม่ เราจะอยู่ยังไง

เราอยากบริหารอย่างมีศิลปะมากกว่า อย่างค่ายเพลงค่ายย่อยๆ ก็ให้ศิลปินไปเป็นหัวหน้าค่าย ไปเป็น CEO และเมื่อเขาได้เป็นศิลปินแล้วและวันนี้จะไปบริหาร เราก็จะสอนและถ่ายทอดดีเอ็นเอนี้ให้ทุกคน

คุณใช้วิธีคิดแบบไหนในการบริหารธุรกิจสองขานี้ มันเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

ฝั่งเครื่องดื่มเราทำมา 20 ปี มันก็ถึงจุดที่ปล่อยวางได้ระดับหนึ่ง หมายถึงมีคนเข้ามาทำงานแทนเราได้บ้างแล้ว ส่วนฝั่งเอนเตอร์เทนเมนต์ก็เหมือนเป็นโลกใหม่ของเรา ต้องให้เวลาตรงนี้เยอะหน่อย ซึ่งเราไม่ได้ทิ้งสิ่งที่ปล่อยวาง ยังทำอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่อะไรที่รูทีน อะไรที่มันต้องเซ็นทุกวัน เราจะไม่ทำ กลับกันเราจะให้นโยบายแล้วให้เขาเอาไปขยาย หรือใครจะเสนอนโยบายมาก็ได้ แล้วเราจะช่วยดูช่วยเคาะว่าจะเอาหรือไม่เอา ถ้าไม่ได้ยากมากก็ให้พวกเขาเคาะกันเอง เราพยายามลบล้างระบบศูนย์กลางมากๆ ไม่ได้อยากเป็นวันแมนโชว์อีกแล้ว

เพราะวันแมนโชว์มันไม่ได้สร้างอะไรให้ใครเลย มันสร้างให้แต่ตัวเอง คุณต้องสร้างให้คนรอบๆ มากกว่า เพราะเมื่อคุณสร้างได้เมื่อไหร่ คุณก็จะสบายไปด้วย เพราะจะมีคนที่เคมีเข้ากันและทำงานได้อย่างแข็งแรงอยู่รอบตัวเต็มไปหมด

‘ให้โอกาส เข้าใจสิ่งใหม่ และไม่ลืมสิ่งเก่าที่มีประโยชน์’ จี๊บ-เทพอาจ กวินอนันต์ ผู้บริหารที่ร่วมชุบชีวิต Lido Connect

ถ้าเปรียบเป็นแนวเพลง คุณเป็นผู้บริหารสไตล์ไหน

เป็นแนวเพลงร็อกแต่ท่อนกลางมีแรป คือเราเป็นคนรุนแรง แปลว่าทำอะไรก็ต้องทำจริง ไม่ชอบคนเหยาะแหยะ ไม่ชอบคนไม่ตั้งใจ ไม่ชอบคนไม่พยายาม มันเป็นส่วนหนึ่งของร็อกที่ต้องดันไปให้ได้ แต่ในส่วนของแรปก็เป็นอีกแบบหนึ่ง ไม่ใช่การดึงดันไปทางเราอย่างเดียว ต้องเปิดใจรับอีกฝั่งหนึ่ง ฟังแล้วเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้างก็ไม่เป็นไร เวลาฟังเพลงของแรปเปอร์ เราไม่ได้เข้าใจทุกคำที่เขาร้อง แต่เราก็พยายามเข้าใจและให้เกียรติ เพราะสิ่งที่ทำนั้นเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง เราก็พยายามเอาสองสิ่งนี้มาผสมรวมอยู่ในอันเดียวกัน

พอยุคสมัยเปลี่ยนไป หลักคิดของผู้บริหารเปลี่ยนแปลงไปบ้างมั้ย

เราว่ามันเป็นรากเหง้านะ มันปรับเปลี่ยนในดีเทลแต่โครงสร้างหลักยังคงต้องเป็นเหมือนเดิม เช่น เราจะบอกน้องๆ ทุกคนว่า อย่าพูดอะไรที่ทำไม่ได้ อย่าพูดไปก่อน เพราะอะไรที่พูดไปแล้วเราต้องมั่นใจว่าทำได้ แล้วต้องทำ ต้องจริงใจกับคนรอบข้าง เพราะสิ่งที่เราพูดไปสำคัญมาก ศิลปินหรือใครบอกอะไรก็ตาม คุณต้องทำให้ได้นะเว้ย

แม้ในใจจะบอกว่าทำได้ชัวร์ แต่ถ้ายังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็อย่าพูด เราคิดว่าหลักการนี้สำคัญ ส่วนเรื่องอื่นๆ อย่างความพยายามหรือวินัย ทุกยุคทุกสมัยต้องมีอยู่แล้ว เพียงแต่จะเปลี่ยนแปลงในดีเทล

ยุคนี้มีผู้ใหญ่ที่ชอบว่าเด็กๆ ที่ทำงาน 2 – 3 เดือนแล้วเปลี่ยนงานว่า ไม่มีความพยายาม ไม่อดทน แต่สำหรับเรารู้สึกว่าความอดทนของเรากับน้องๆ หรือคนอื่นๆ มันต่างกัน และชอยส์ของเรากับเขาก็ต่างกัน วันนั้นเราไม่มีชอยส์หรือมีชอยส์น้อย วันนี้เด็กมีชอยส์เยอะขึ้น ทุกอย่างล้วนเป็นองค์ประกอบที่อาจทำให้พวกเขาอยู่ได้ถึงสามเดือนก็เก่งแล้ว คือผู้ใหญ่ไปพูดให้เขาฟังว่าตัวเองทำงานยังไงได้ แต่จะไปบังคับให้เขาทำไม่ได้ ไม่ถูกต้อง

จี๊บ เทพอาช

แล้วผู้บริหารอย่างคุณแก้เกมนี้ยังไง เวลาเจอเด็กที่ทำงานได้ไม่นานก็ไป

ให้ดูว่าหนึ่ง เราให้อิสระการทำงานเขาได้แค่ไหน สองคือ ทำให้เขาเห็นได้จริงๆ หรือเปล่าว่าสิ่งที่เขาทำมันดีกับตัวเขายังไง ถ้าให้แล้ว ดีแล้ว ทำทุกอย่างแล้วไม่ได้ ไม่ได้ก็คือไม่ได้ ไม่เป็นไร ไม่ว่าอะไรด้วย

แต่ ณ ปัจจุบัน ยอดคนที่เข้ามาทำงานในเครือที่เราเป็นคนจัดการและเปลี่ยนงานภายในเวลาไม่นานมันมีต่ำมาก

ใช้วิธีการแบบไหนหรือมีเคล็ดลับอะไรพิเศษ

เราคิดว่ามันคือการสอนให้ผู้ใหญ่เข้าใจเด็ก เมื่อเด็กไม่ก้าวร้าว หาวิธีให้เขาอธิบายดีๆ บอกเขาว่าทุกอย่างมีศิลปะของมัน ยึดประโยชน์สูงสุดไว้ ไม่ว่าจะไปทางไหน จะพูดอะไร อย่าหลุดจากหลัก เดี๋ยวผู้ใหญ่ก็เข้าใจเอง

แต่ขณะเดียวกัน ผู้ใหญ่ก็ต้องไม่ฟังอย่างเดียว ต้องเคารพและยอมรับในสิ่งที่จะเกิดขึ้น คุณต้องเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการนั้น เช่น คุณเป็นคนขอให้เขาทำ เป็นคนให้เขาลองผิดลองถูก ถ้าลองมาแล้วถูกก็ดีไป แต่ถ้ามันผิด ต้องไม่ตัดหางเขา คุณต้องออกมายืนว่า เราเป็นส่วนหนึ่ง เป็นทีมเดียวกัน รับผิดชอบร่วมกัน ให้เด็กรู้สึกอุ่นใจว่าคุณไม่ทอดทิ้งเขา และถ้าเด็กทำได้ดีให้ยืนปรบมือแบบไม่ต้องอายใครเลย ป่าวประกาศได้เต็มที่ว่าเด็กคนนี้เป็นคนทำงานนี้

แต่ทั้งหมดนี้ต้องสอนให้เด็กให้เกียรติคนอื่นด้วย เด็กเองก็ต้องยอมรับในเรื่องนี้ ถ้าอยากให้ผู้ใหญ่ฟัง ให้ถามตัวเองว่าฟังเขาหรือยัง มันต้องแลกกัน

‘ให้โอกาส เข้าใจสิ่งใหม่ และไม่ลืมสิ่งเก่าที่มีประโยชน์’ จี๊บ-เทพอาจ กวินอนันต์ ผู้บริหารที่ร่วมชุบชีวิต Lido Connect

คุณคิดว่าปัจจัยใดที่ทำให้เด็กกับผู้ใหญ่เข้าถึงกันยากในยุคนี้

ผู้ใหญ่ชอบบอกว่าตัวเองอาบน้ำร้อนมาก่อน อีโก้จัด เคยทำอะไรสำเร็จมา ส่วนที่ไม่สำเร็จกูไม่บอกใครหรอก (หัวเราะ) แต่กลับกันเราชอบบอกทุกความพินาศ เล่าให้เด็กฟังว่าอันไหนที่ทำแล้วล้มเป็นหมา เขาจะได้เห็นมุมที่ผู้ใหญ่ล้มมาก่อน เพราะใครๆ ก็เคย

ส่วนเด็กคงคล้ายกัน อย่าอีโก้จ๋า ไม่รู้ก็ถาม เรารักคนที่ชอบถาม แต่ผู้ใหญ่ก็ต้องพร้อมบอกนะ หากมีเด็กบางคนที่เงียบไม่ถาม นั่นอาจมาจากหลายเหตุผล อาจจะด้วยอีโก้หรือความไม่กล้า ถ้าเป็นความไม่กล้าก็ต้องเป็นหน้าที่เราที่ต้องทำให้เขากล้าที่จะถาม เป็นเพื่อนพวกเขาให้ได้

แล้วในหมวกผู้บริหาร คุณใช้แนวคิดแบบไหนเข้าไปทำงานกับคนรุ่นใหม่

ทุกวันนี้ปัญหาเรื่องช่วงวัยเป็นสิ่งสำคัญ การเข้าใจพวกเขาอาจไม่เพียงพอ ต้องเคารพความคิดซึ่งกันและกัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นที่ลิโด้ ค่ายเพลง หรือการทำงานที่ไหน เราพยายามมากๆ ที่จะให้ความสำคัญเรื่องนี้

งานที่มอบหมายให้พวกเขา ถ้าไม่ติดปัญหาเราให้เขาทำของเขาเองเลยนะ ยกเว้นว่าติดปัญหาอะไรที่เขาเอื้อมไม่ถึง ไปไม่ได้ ต้องการคอนเนกชันหรือไอเดียบางอย่าง ก็เข้ามาปรึกษาเรา แต่เราจะเปิดให้เด็กคิดมาเลยว่าอยากทำอะไร

สมัยก่อนโลโก้อันหนึ่งหรือตัวอักษรตัวหนึ่ง ต้องมาหาผู้ใหญ่เลยว่าจะเอาแบบไหน เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แล้ว มีบ้างบางทีที่เด็กส่งมาให้เราดู เขาก็คงกลัวว่าจะใช้ได้มั้ย ส่วนเราจะตีกลับให้ไปเลือกเองอยู่ดี เพราะถ้าให้เราเลือกมันก็ลำบาก อายุจะ 50 แล้ว แต่ยูกำลังทำของขายเด็ก ยูก็ไปเลือกของยูเอง อันไหนที่ยูชอบก็ไปโหวตกัน ถ้าทำแล้วเสียหายแต่อยู่ในสโคปที่เรารับได้ก็ไม่เป็นไร นั่นแปลว่ามีการให้ทดลองทำจริง

การยังคงสิ่งเก่าให้อยู่ได้ในปัจจุบัน สำหรับคุณเป็นเรื่องยากหรือง่ายแค่ไหน

จริงๆ ไม่ว่าจะเก่าแค่ไหน หรือเจนฯ ไหน ถ้ามันมีประโยชน์มันก็อยู่เอง ถ้ามันไม่มีประโยชน์มันก็ไป ไม่ว่าจะเป็นสิ่งปลูกสร้างใหญ่โต ร่ำรวยมหาศาลแค่ไหนก็ตาม ถ้ามันไม่มีประโยชน์กับใครมันก็หายไปเอง เพราะฉะนั้นหน้าที่เราคือทำให้มันมีประโยชน์

‘ให้โอกาส เข้าใจสิ่งใหม่ และไม่ลืมสิ่งเก่าที่มีประโยชน์’ จี๊บ-เทพอาจ กวินอนันต์ ผู้บริหารที่ร่วมชุบชีวิต Lido Connect

จากสิ่งเก่า ‘ลิโด’ สู่สิ่งใหม่ ‘ลิโด้ คอนเน็คท์’ คุณตั้งใจให้ความเปลี่ยนแปลงนี้สร้างประโยชน์อย่างไร

เมื่อก่อนเราไปลิโดเพื่อดูหนัง ช้อปปิง เดินเล่นข้างล่าง นัดเจอเพื่อน สมัยนั้นจะมีรถเท่ๆ ที่ไม่ค่อยได้เจอตามท้องถนนมาจอด เราก็ชอบไปดู และเมื่อก่อนลิโดเป็นแหล่งที่รวมของอิมพอร์ตประหลาดๆ มาขาย เพราะสมัยก่อนยังไม่มีห้างฯ ดังต่างๆ เหมือนทุกวันนี้ ถ้าอยากได้กางเกง แว่นตา ก็ต้องไปแถบๆ นั้น แต่ภาพหนึ่งที่รู้สึกไม่ค่อยดีคือ แถวนั้นค่อนข้างเป็นที่อับ มืด น่ากลัว ดูไม่ค่อยปลอดภัย ระบบรักษาความปลอดภัยยังไม่ทันสมัย กล้องวงจรปิดยังไม่มี

ลิโดในยุค 80 – 90 มีอารมณ์ของสถาปัตยกรรมย้อนยุค ถ้ามองจากวันนี้เราเสียดายมันมากๆ ถ้าต้องโดนทุบ ก็เลยพยายามเข้าไปรักษามันไว้ เราอยากให้ลิโด้เป็นศูนย์รวมกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานอาร์ตหรือศิลปะแขนงไหนก็ตาม มีโซนขายของช้อปปิงเหมือนที่เคยมี แต่ตรงพื้นที่ส่วนกลางเราอยากให้มีพื้นที่การแสดงงาน เช่น งานเพนต์ งานรำ หรือกิจกรรมแปลกๆ ก็ได้ เพราะบางวัฒนธรรมเด็กๆ ยุคนี้ไม่ได้เห็นแล้ว

เราคิดว่าอย่างน้อยที่นี่ก็ยังเปิดโอกาสให้คน แถมมันไม่ได้อยู่ไกลหรือเข้าถึงยาก และเราก็ไม่ได้ไปตั้งอยู่ที่ไหนไกลหรือเข้าถึงยาก และในสยามก็มีเด็กเยอะ แต่มันไม่จำเป็นต้องมีแค่เด็ก ผู้ใหญ่ก็มาร่วมด้วยได้

คาดหวังหรืออยากเห็นอะไรจากพื้นที่ตรงนี้

อยากให้คนไม่ลืม วันนี้เราทำให้ลิโด้ยังมีชีวิตต่อไป ก็อยากให้ช่วยออกมาใช้งานกัน มาใช้ฟังก์ชันมันเยอะๆ มาดูคอนเสิร์ต มาฟังน้องๆ พี่ๆ มารับแรงบันดาลใจ เด็กๆ หลายคนที่เคยมาแสดงที่นี่ เราก็ดีใจที่วันนี้พวกเขามีชื่อเสียงแล้ว

ดำเนินงานมาจนถึงวันนี้ ลิโด้เป็นพื้นที่ทางโอกาสได้อย่างที่พอใจแค่ไหน

60 – 70 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากเราไม่ได้บริหารพื้นที่ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ยังต้องมีการประสานร่วมงานกับคนอื่นๆ ทำให้มีมุมมองของคนอื่นๆ ที่ทำงานร่วมกับเราด้วย ซึ่งเราก็เข้าใจเขาเพราะทุกคนต่างมีมุมมองที่ตัวเองอยากทำ

แต่ในฐานะคนทำงาน เราอยากให้ลิโด้ไปให้สุดกว่านี้ในอนาคต อยากมีกิจกรรม อยากช่วยเด็กๆ มากกว่านั้น สำหรับเราลิโด้ไม่ใช่สถานที่ที่เอาไว้หาเงิน มันเป็นพื้นที่ที่เอาไว้ให้โอกาสผู้คน

Lido Connect
Photo by Lido Connect

แล้วการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คุณคิดว่าจะทำให้ลิโด้ตามทันยุคสมัยและเป็นส่วนหนึ่งของผู้คนได้อย่างไร

เราเปลี่ยนโดยที่ไม่ให้รู้สึกว่าเปลี่ยน แปลว่าโครงสร้างสถาปัตยกรรมเราทำให้ทุกอย่างยังคงไว้เช่นเดิม แต่คอนเทนต์ที่อยู่ข้างในเราใช้ระบบหมุนเวียน นั่นแปลว่า ต่อให้สถานการณ์ไหนเป็นยังไง เราพร้อมจะหมุนมันเข้าไป แต่ขณะเดียวกัน เราที่เป็นเจ้าของพื้นที่ก็จะใส่ความออริจินัลไปบ้าง ไม่ใช่ว่าต้องเป็นคอนเสิร์ตที่ไฮเทคตลอดเวลา หรือเป็นภาพวิชวลที่ล้ำทันสมัยอยู่ตลอด มันต้องผสมผสานกัน

คนที่มองจากภายนอกจะเห็นรูปทรงสถาปัตยกรรมดั้งเดิม แต่คนที่เคยเข้าไปก็จะรู้ว่าข้างในมีกิจกรรมต่างๆ มากมาย ยิ่งคนที่เคยไปดูคอนเสิร์ตจะรู้ว่ามีกิจกรรมแบบนี้อยู่ ซึ่งหายากและยังไม่ค่อยเห็นว่ามีที่ไหนทำ หรือต่อให้มีเราก็ไม่ถือว่าเป็นคู่แข่ง เพราะเราชื่นชอบ ดีออก คนเก่งๆ มีเยอะ แต่ประเทศนี้ไม่มีพื้นที่ให้พวกเขา หรือต่อให้มีพื้นที่แต่ค่าใช้จ่ายก็สูงจนเขาไปไม่ไหว หรือถ้าตัวพื้นที่ไปไหวคนซื้อก็ซื้อไม่ไหวอยู่ดี เราจึงพยายามทำให้ราคาเป็นมิตร มันก็ดูชิลขึ้น

เราอยากให้ลิโด้เป็นสถานที่ที่ผสมผสาน เป็นเหมือนใยแมงมุมที่เชื่อมใครต่อใครได้ มันถึงได้ชื่อว่า Lido Connect เพราะเอาไว้เชื่อมโยงผู้คนให้เกิดการผสมผสาน

เชื่อมั่นแค่ไหนว่าลิโด้จะเติบโตแข็งแรงและมีความยั่งยืน

เราเชื่อว่าคนที่เคยมีประสบการณ์ร่วมกับลิโด้ในยุคที่เราทำ ก็จะมีความทรงจำเหมือนที่เราผ่านลิโด้ในยุคก่อนมา แต่ความทรงจำของคนที่มาในยุคนี้จะไม่ใช่ลิโด้ที่เป็นแหล่งน่ากลัว เพราะจะพบกับความสดใส สดใหม่ และเราก็หวังว่าการที่เขาแค่เข้ามาเดินเล่นที่นี่โดยไม่ต้องเข้ามาทำกิจกรรมใดๆ ก็ได้ แค่นั้นก็น่าจะทำให้เขามีแรงบันดาลใจไปดำเนินชีวิตได้ ซึ่งเราคิดว่าถ้าเป็นแบบนั้น มันจะหยั่งรากลึกเองโดยปริยาย แม้ว่าในอนาคตลิโด้จะอยู่หรือไม่อยู่แล้วก็ตาม

ลิโด้ lido connect
Photo by Lido Connect

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.