“เป็นผู้ใหญ่ ทำไมยากจัง”
นี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่ผู้เขียนในฐานะนักจิตบำบัดได้ยินคนไข้บ่นให้ฟังบ่อยๆ ในชั่วโมงบำบัด ไม่ว่าจะด้วยความซับซ้อนที่มากขึ้นของความสัมพันธ์ การบริหารการเงิน กระทั่งการผ่านพ้นดราม่าในครอบครัว
และในวันนี้ เรื่องที่ผู้เขียนอยากชวนคุยเป็นพิเศษคือ ความยากในการเติบโตด้านอาชีพการงาน
ถ้ามาพิจารณาดูมุมมองที่คนแต่ละรุ่นให้ความหมายและคุณค่าแก่การทำงาน ก็ต้องบอกว่า จากบทความของ PubMed Central ได้พูดถึงชาว Gen Z หรือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงกลางยุค 90 ไปจนถึงต้นยุค 2010 ไว้อย่างน่าสนใจ
คุณลักษณะเด่นของคนกลุ่มนี้คือ มีความมั่นใจในตัวเองและมุ่งมั่นกับงานที่ทำสูง ต้องการจะพุ่งไปถึงงานในฝันให้ได้ และโหยหาโอกาสที่จะเพิ่มทักษะในสายงานที่ตัวเองรัก ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขาให้ความสำคัญกับการทำงานที่มีความยืดหยุ่น ไม่เคร่งเครียดจนเกินไป สุขภาพจิตพวกเขาต้องไหว เพราะชีวิตนอกเหนือจากสถานที่ทำงานก็สำคัญมากสำหรับพวกเขาเช่นเดียวกัน
ถ้าคนกลุ่มนี้รู้ตัวว่าไม่ชอบสิ่งที่ทำอยู่เมื่อไหร่ พวกเขาจะเปลี่ยนงานทันที สรุปโดยรวมคือ เป็นกลุ่มคนที่ทุ่มเทให้อาชีพในฝันสุดๆ แต่ก็ชัดเจนในจุดยืนมากเหมือนกันว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่ใช่ทางหรือไม่ใช่ที่ของตนแล้ว ก็พร้อมจะเดินจากไปเพื่อตามหาเส้นทางใหม่ที่คู่ควร
แต่ในยุคก่อนหน้าชาว Gen Z ที่เป็นคนวัยผู้เขียน หลายคนมักรู้สึกว่า พวกเราคือรุ่นคาบเกี่ยว คือใจหนึ่งก็อยากวิ่งตามฝัน สร้างคุณค่าในงานที่อยากแสดงออกมาให้ทุกคนเห็น แต่อีกใจหนึ่งก็เป็นเดอะแบกซะเหลือเกิน บางคนแบกภาระของครอบครัวในฐานะคนดูแลหลัก ส่วนบางคนแบก ‘ความหวังหรือความกดดัน’ ที่ครอบครัวโยนมาให้เราโดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว หรือกระทั่งเรานั่นแหละที่โยนให้ตัวเอง
จะเห็นว่าผู้คนรุ่นพวกเรามากมายที่ตั้งใจทำงานจนในที่สุดก็เหมือนจะเดินมาสู่ทางแยก ระหว่างเดินต่อไปให้สุด จนได้ตำแหน่งใหญ่โตหรือความน่าเชื่อถือในชื่อเสียงของเราจากสายงานที่ทำ แต่ก็ต้องแลกมากับภาระและความรับผิดชอบอันหนักอึ้ง เกิดเป็นการตั้งคำถามว่า แล้วเราจะเติบโตให้ตัวเองเหนื่อยขึ้นไปเพื่ออะไร
หรือจะยอมเดินออกมาเพื่อเยียวยาสุขภาพจิต และเรียนรู้คุณค่าตัวเองผ่านสิ่งอื่นที่ไม่ใช่ ‘หน้าที่การงาน’ ที่พวกเราโอบกอดมันไว้มาเนิ่นนาน
ถึงอย่างนั้น หลายๆ ครั้งก็ไม่ใช่ว่าจะเลือกได้ง่ายๆ ทำให้ตามมาด้วยช่วงเวลา ‘ถ้าเราใจเด็ดกว่านี้ก็คงดีสินะ ไม่ต้องเสียเวลาลังเล ตัดสินเส้นทางชีวิตไม่ได้อยู่อย่างนี้’
ความโชคดีของรุ่นคาบเกี่ยวคือ พวกเรามีสิทธิ์เลือกอยู่ในพื้นที่ตรงกลางก่อน
มันง่ายที่มนุษย์คนหนึ่งจะเลือกตัดสินใจกับเรื่องเรื่องหนึ่งด้วยมุมมองที่ขาวสุดไม่ก็ดำสุด ดีสุดหรือไม่ก็แย่สุดไปเลย เพราะ ‘พื้นที่ตรงกลาง’ มักสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับสภาพจิตใจ หลายคนเลยอึดอัดเวลาพบว่าตัวเองยังตัดสินใจอะไรแบบเด็ดขาดไม่ได้ ยิ่งทิ้งไว้นานยิ่งกังวล รู้สึกเหมือนกำลังทำบางอย่างผิดไป
แต่การท่องอยู่ในพื้นที่ตรงกลางก็ไม่ใช่สิ่งน่ากลัวเสมอไป
คอยสังเกตการณ์ ค่อยๆ ซึมซับและตกผลึกสิ่งที่ต้องการจริงๆ เพราะสังคมตอนนี้สร้างแรงกระตุ้นให้ใครต่อใครต้องทำอะไรอย่างรีบเร่งมากพอแล้ว ค่อยๆ ดึงตัวเองออกมาจากความเครียดจุดเดียวของเส้นทางอาชีพที่อยู่ตรงหน้า หยุดพัก แล้วลองปล่อยใจไปกับอย่างอื่นก่อน จนกว่าภาพเส้นทางชีวิตต่อไปของเราจะชัดเจนขึ้นอย่างเห็นได้ชัดก็ได้
หากอยากจัดการกับความเสียใจ ต้องปล่อยตัวเองให้แช่อยู่ในความสูญเสียก่อน
กระบวนการ Grief หรือการจัดการสภาพจิตใจตัวเองเมื่อกำลังผ่านช่วงเวลาสูญเสียอะไรบางอย่าง มันคือการพยายามหาสมดุลในการแช่อยู่กับความเศร้า ไม่ว่าจะเศร้าเพราะเส้นทางอาชีพที่เราตั้งใจจะมุ่งไปไม่เห็นสวยงามเหมือนที่เคยเชื่อ เศร้าเพราะโดนเอาเปรียบจากคนที่ไม่เห็นค่าเราเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็นเจ้านายที่พอรู้ว่าเราทำงานได้เยอะและเร็ว ก็ให้งานเราเพิ่มแต่ค่าตอบแทนเท่าเดิม หรือจะเป็นเพื่อนที่ไม่ซาบซึ้งกับการช่วยเหลือจากเรา แต่กลับใช้ทักษะการเข้าหาคนของเขาสร้างความก้าวหน้าในอาชีพการงานผ่านหน้าเราไปเฉยเลย
บางครั้งการเผชิญหน้ากับความสูญเสียไม่ได้หมายถึงสิ่งที่จับต้องได้เสมอไป แต่เป็นการสูญเสียความจริงที่เราเคยเชื่อ โดยในตอนนี้เราเจอจังๆ กับตัวแล้วว่ามันแทบเป็นไปไม่ได้ หรือยากกว่าที่เคยคิดไว้หลายเท่า เช่น การเจอกับตัวเองว่า ยิ่งทำงานหนัก ยิ่งพัฒนาตัวเองมากแค่ไหน บางครั้งก็ไปได้ไม่ไกลเพราะ Human Skills หรือทักษะการเข้าหาคนเก่งพูดเก่งมีไม่เท่าคนอื่นเขา หรือบางคนอาจเจอว่า ตัวเองไม่ก้าวหน้าในสายงานนี้เท่าที่หมายมั่นไว้แค่เพราะเป็น Introvert หรือชอบเก็บตัว ไม่ได้ชอบสุงสิงกับใคร
การได้มารับรู้ว่าอาชีพในฝันของเรามันไปไม่ถึงเป้าหมายเพราะปัจจัยอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องงานเลย มันน่าเศร้าและน่าโมโหยิ่งนัก
ไม่ว่าจะเติบโตไปทางไหน ทุกทางล้วนมีได้-เสียเสมอ
หากเผชิญสภาวะแบบนี้ ให้ค่อยๆ คลายตัวเองออกมาจากความคาดหวังที่หวังให้ตัวเองเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะคงตอบยากมากว่าทางไหนจะดีที่สุด มันก็มีแต่ทางที่เราเลือกนั่นแหละ
ทุกข้อมีสิ่งที่ชุบชูใจเรา และสิ่งที่บั่นทอนใจ ลองค่อยๆ ตรึกตรองว่าเลือกทางไหนที่เราจะทนอยู่ในความเจ็บนั้นได้อย่างสบายที่สุด ฟังดูประหลาดใช่ไหม เพราะความสุขของแต่ละตัวเลือก เราพร้อมโอบกอดรับมันอย่างง่ายดายอยู่แล้ว แต่อยากให้ลองพิจารณาดูความทุกข์ของแต่ละตัวเลือกว่า มีข้อไหนที่เราพอจะอยู่กับมันได้ง่ายกว่า
ยกตัวอย่าง เลือกไปต่อในเส้นทางสายอาชีพนี้ถึงแม้จะเจออุปสรรคที่มาจากการตัดสินใจของคนอื่น แต่เราก็ให้ค่างานนี้มากๆ สัมผัสได้จริงๆ ว่าประโยชน์ที่เราสร้างให้กับงานมีค่ากับใจเรา เราจึงพร้อมจะทนเจอความน่ารำคาญของคนบ้าง แม้ใจจะรู้สึกไม่ยุติธรรมก็ตาม
หรือจะเลือกเดินออกมาจากสายงานที่เราทุ่มเทมาตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ยอมรับจริงๆ ว่าถึงทางตันแล้ว เลือกทนอยู่กับความฝันตัวเองที่สลายไปต่อหน้าต่อตา แต่ยังดีกว่าทนอยู่ในงานที่รู้สึกว่าเป็นทางตัน เป็นต้น
และไม่ว่าเราจะเลือกอะไร จากเวลาทั้งหมดที่ใช้ในการตัดสินใจ ขอให้รู้ไว้ว่านั่นคือการตัดสินใจที่ถูกแล้ว
ค่อยๆ กลับมาหาสมดุลให้ชีวิต แม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ได้มีความสุขมากก็ตาม
หากเริ่มทำใจกับความสูญเสียในเส้นทางอาชีพของเราได้แล้ว ขอให้รู้ไว้เลยว่า นี่คือส่วนหนึ่งของการเติบโตที่มีความหมายมากๆ ต่อจิตใจของเรา
การเติบโตนั้นยากอยู่แล้ว ต่อให้เลือกแบบเดิมหรือแบบใหม่ก็มีความอึดอัดใจเหมือนกันหมด แต่จงเลือกความอึดอัดใจที่คู่ควรกับตัวตนของเรา เชื่อเถอะว่า ใช้เวลาสักหน่อยจะรู้เองว่าตัวเลือกไหนที่ทำให้หัวใจของเรากลับมาร่าเริงได้จริงๆ
มองโลกต่อไปข้างหน้าด้วยความสงสัย ตื่นเต้นกับชีวิต แทนการตัดสินไปแล้วว่าต่อไปคงไม่มีอะไรดีแน่ๆ
ค่อยๆ ให้เวลาตัวเองได้เปลี่ยนต่อมรับรสว่า รสชาติการเติบโตที่เป็นไปในทางนี้มันก็เข้าปากเราอยู่เหมือนกันแหละน่า
เป็นผู้ใหญ่มันยากจริงๆ แหละ
แต่การเป็นผู้ใหญ่ก็ไม่ได้ห้ามเราให้สบตากับความสุขบ้างนะ
เปิดใจสัมผัสกับความรื่นรมย์ทางใจใหม่ๆ ที่แม้จะต่างจากที่เคยเชื่อเอาไว้ แต่ก็ไม่ใช่ว่ามันจะไม่มีคุณค่าทางใจอะไรกับเราเลย
Source :
PubMed Central | ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC8844017