ในยุคที่หนังสือและผู้คนดูจะห่างไกลกัน แต่รู้ไหมว่ามีหลายเมืองทั่วโลกใช้หนังสือเล่มน้อยใหญ่มาขับเคลื่อนเมืองให้มีชีวิตชีวา และดึงดูดหนอนหนังสือให้อยากตบเท้าเข้ามาเปิดหูเปิดตาดูสักครั้ง ซึ่งเราขอชวนทุกคนไปสัมผัส ‘6 เมืองหนังสือ’ ที่จะพาด่ำดิ่งสู่โลกแห่งตัวอักษร กลิ่นกระดาษ และบรรยากาศชวนให้หยิบหนังสือขึ้นมาอ่านสักเล่มสองเล่ม
Paju, South Korea
เมืองที่มีสำนักพิมพ์มากกว่า 200 แห่ง
‘เกาหลีใต้’ เป็นอีกหนึ่งประเทศผู้รันวงการสิ่งพิมพ์โลกให้ยังมีลมหายใจ โดยรัฐบาลกับเอกชนร่วมกันเนรมิต ‘เมืองพาจู’ ให้เป็น ‘Paju Book City’ ซึ่งไม่ได้มาแบบเล่นๆ เพราะตั้งใจให้ที่นี่เป็นเมืองแห่งหนังสือ ด้วยการยกสำนักพิมพ์กว่า 200 แห่งมาไว้ในที่เดียว เพื่อให้คนในแวดวงสิ่งพิมพ์ได้ใกล้ชิดกัน สร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน และแบ่งปันความรู้ด้านสิ่งพิมพ์ให้แก่นักท่องเที่ยว
แถมยังดึงดูดผู้คนด้วยการออกแบบวิวทิวทัศน์ผ่านพื้นที่สีเขียว ซึ่งหลอมรวมศิลปะจากสถาปัตยกรรมอันโดดเด่น จนออกมาเป็นห้องสมุดที่มีหนังสือกว่า 5 แสนเล่ม โรงพิมพ์ ร้านหนังสือ มิวเซียม หอศิลป์ โรงแรม คาเฟ่ และมีพื้นที่เพื่อจัดเทศกาลหนังสือในทุกๆ ปี โดยสิ่งที่น่าปลื้มใจคือ เมืองหนังสือพาจูสามารถสร้างรายได้กว่า 1 พันล้านเหรียญต่อปี เป็นเครื่องบ่งบอกว่าแดนกิมจินั้นไม่ได้มีดีแค่ K-POP
Jimbocho, Japan
ย่านที่คนชอบหนังสือเก่าต้องตกหลุมรัก
บินลัดฟ้ามาที่ย่านเล็กๆ อย่าง ‘จิมโบโช’ ณ เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นแหล่งจำหน่ายหนังสือมือสอง สิ่งพิมพ์ และวัตถุโบราณ จนได้ชื่อเป็นย่านหนังสือที่คลาสสิกและใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งเป็นย่านที่หนอนหนังสือและนักสะสมรู้จักกันมานานกว่า 100 ปี
เหตุผลที่ทำให้จิมโบโชเป็นย่านหนังสือเก่า มาจาก ‘ชิเกะโอะ อิวะนะมิ’ ลาออกจากการสอนมหาวิทยาลัยมาเปิดร้านหนังสือมือสอง และสำนักพิมพ์ Iwanami Shoten โดยสร้างชื่อด้วยการจัดพิมพ์นวนิยายเรื่อง ‘โคะโคะโระ’ จากปลายปากกาของ ‘นัทซึเมะ โซเซะคิ’ จนขึ้นหิ้ง ทำให้แฟนนิยายต่างแห่กันมาตามหาหนังสือที่นี่ จนปัจจุบันย่านนี้มีหนังสือรวมกันกว่า 10 ล้านเล่ม จากร้านหนังสือกว่า 180 ร้าน และเป็นจุดหมายปลายทางชั้นดีในการตามหาหนังสือหายาก
Helsinki, Finland
เมืองที่ให้ความสำคัญกับห้องสมุด
‘ฟินแลนด์’ ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีการศึกษาดีที่สุดในโลก ผู้คนมีความสุขที่สุดในโลก คุณภาพชีวิตก็ติดท็อปๆ ของโลก มาจนถึง ‘วัฒนธรรมการอ่าน’ ที่หยั่งรากลึกอยู่ในสายเลือดของคนฟินแลนด์ จนได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีคนใช้ห้องสมุดสูงที่สุดในโลก!
และในปี ค.ศ. 2019 ฟินแลนด์ฉลองครบรอบ 100 ปี ด้วยการมอบห้องสมุดยักษ์ใหญ่ Helsinki Central Library Oodi ให้เป็นของขวัญแก่ชาวเมือง ผ่านการโหวตซึ่งมาจากความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง โดยออกแบบให้เป็นพื้นที่แห่งการใช้ชีวิต ทำอะไรได้มากกว่าแค่มานั่งอ่านหนังสือ เพราะนอกจากการสถาปัตยกรรมจะเตะตาแล้ว ยังออกแบบมาให้เป็นพื้นที่สำหรับทุกคน เช่น มีโรงหนัง คาเฟ่ เครื่องพิมพ์สามมิติ โซนพบปะสังสรรค์
หากไม่นับห้องสมุด Oodi ที่เมืองหลวงเฮลซิงกิ ฟินแลนด์ก็มีห้องสมุดคุณภาพเพื่อประชาชนอยู่ทั่วทุกมุมเมือง เรียกได้ว่าที่ไหนมีคนอาศัยอยู่ ที่นั่นย่อมมีห้องสมุด ซึ่งเป็นบริการขั้นพื้นที่ฐานที่ชาวฟินแลนด์ต้องได้รับ
Hay-on-Wye, Wales
ดินแดนที่ใช้หนังสือสร้างเมืองให้มีชีวิต
‘เฮย์ ออน ไวย์’ ประเทศเวลส์ ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหนังสือแห่งแรกของโลก จนกลายเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ทั่วโลกหยิบหนังสือขึ้นมาสร้างเมืองให้มีชีวิต โดย ‘ริชาร์ด บูธ’ ชายผู้เดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดที่เฮย์ ออน ไวย์ และรู้สึกแปลกใจที่เห็นบ้านเมืองตัวเองช่างว้าเหว่ ซึ่งบูธเติบโตมากับกองหนังสือ บวกกับได้รับมรดกเป็นอาคารหลังเก่า ทำให้ในปี ค.ศ. 1962 เขาทุ่มทุนเปิดร้านหนังสือโดยนำเข้าหนังสือจากห้องสมุดจากอเมริกาที่ปิดตัวลง
จากเมืองที่เงียบเหงาก็เริ่มมีร้านหนังสือเพิ่มขึ้นหลายสิบร้าน โดยเฉพาะการมีเทศกาลวรรณกรรมและศิลปะ Hay Festival of Literature & Arts เป็นของตัวเอง ซึ่งดึงดูดให้คนรักสิ่งพิมพ์ทั่วโลกตบเท้าเข้ามาได้มากกว่าแสนคนในแต่ละปี เรียกได้ว่าเป็นอีเวนต์ที่ยกระดับเวลส์และเมืองเฮย์ ออน ไวย์ ให้มีเสน่ห์มากยิ่งขึ้น
Redu, Belgium
สวรรค์ของคนรักหนังสือในเบลเยียม
‘Redu’ เมืองเล็กๆ ในเบลเยียมที่ยังคงอนุรักษ์งานช่างฝีมือด้านหนังสือให้อยู่คู่วงการสิ่งพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนร้านเย็บหนังสือที่ใช้เทคนิคดั้งเดิม การครีเอทงานศิลปะจากฝีมือช่างทำกระดาษแฮนด์เมด การมีมิวเซียมเพื่อแสดงงานสิ่งพิมพ์ ไปจนถึงคนรุ่นใหม่ที่เปิดเกสต์เฮาส์ คาเฟ่ และร้านหนังสือให้เป็นพื้นที่ของทุกคน
นอกจากนี้ แนวคิดของเมืองเฮย์ ออน ไวย์ ก็บันดาลใจให้ ‘โนล อองซโลต์’ นักหนังสือพิมพ์ชาวเบลเยียมกลับมาบ้านเกิดที่เมือง Redu หลังจากไปชมเมืองเฮย์ ออน ไวย์ ซึ่งเขาเขียนจดหมายถึงตัวแทนขายหนังสือหลายเจ้าให้มาเปิดร้านหนังสือที่หมู่บ้านเล็กๆ ของเขา จนมีร้านหนังสือเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นปลายทางในการจัดเทศกาลหนังสือแทบทุกปี
Bhilar, India
เมืองหนังสือแห่งแรกของอินเดีย
อีกหนึ่งเมืองที่หยิบไอเดียของเฮย์ ออน ไวย์ มาใช้ จนกลายเป็นเมืองหนังสือแห่งแรกของอินเดีย ก็คือ เมือง Bhilar แห่งรัฐมหาราษฏระ ซึ่งเกิดขึ้นโดยหน่วยงานท้องถิ่นที่ตั้งใจให้เมืองหนังสือแห่งนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น และต้องการเผยแพร่การใช้ภาษาทางการของรัฐอย่างภาษามราฐีปกติแล้วที่นี่ถือเป็นเมืองเกษตรกรรมที่กว่าร้อยละ 90 ทำไร่สตรอว์เบอร์รี
การเพิ่มบทบาทให้ Bhilar เป็นเมืองหนังสือ พร้อมชวนศิลปินท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ รัฐก็เชื่อว่าจะทำให้เมืองมีสีสัน และมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น โดยทุ่มทุนซื้อหนังสือหลากหลายแนวที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเมืองและภาษามราฐีกว่าหมื่นรายการ ซึ่งนำไปวางตามจุดต่างๆ ของเมือง และในอนาคตก็จะมีการเพิ่มหนังสือภาษาฮินดูและอังกฤษเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
Sources
Paju Book City
The Guardian
CNN
All About Japan
Book Riot
TCDC
The Guardian
ThaiPost
New Statesman
Hay-on-Wye
Chicago Tribune
Solosophie
The Word Magazine
The Guardian
Hindustan Times
Firstpost