สำรวจความวายป่วงของสัตว์ป่าที่มาทำซ่าในเมืองมนุษย์ - Urban Creature

ในปี 1659 ตัวแทนจาก 5 เมืองตอนเหนือของอิตาลีรวมตัวกันพิจารณาคดีโดยมีจำเลยเป็น ‘หนอนผีเสื้อ’ ที่ถูกชาวบ้านร้องทุกข์ว่า หนอนเหล่านี้บุกรุกพื้นที่และลักทรัพย์จากสวนผลไม้ โดยมีการออกหมายให้หนอนผีเสื้อมารายงานตัวกับศาล

แน่นอนว่าไม่มีหนอนตัวไหนมาตามนัด แต่คดีก็ยังดำเนินการต่อไป และศาลตัดสินยอมรับสิทธิ์ให้หนอนผีเสื้อใช้ชีวิตอย่างอิสรเสรีและมีความสุข โดยจะต้อง ‘ไม่เบียดเบียนความสุขของมนุษย์’

Fuzz When Nature Breaks the Law

นี่คือหนึ่งตัวอย่างของคดีจากคำนำหนังสือ ‘ป่วนปุย เมื่อธรรมชาติทำผิดกฎมนุษย์’ ผลงานจาก ‘แมรี โรช’ นักเขียนขายดีของ The New York Times ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวความซับซ้อนในปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนและสัตว์ จากกระบวนการยุติธรรมที่แปลกประหลาด กับการใช้กฎหมายของมนุษย์ตัดสินการกระทำของเหล่าสัตว์ที่ไม่มีทางเข้าใจเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือศีลธรรมอันดี ไปจนถึงคดีลักทรัพย์ ก่อกวน หรือการฆาตกรรม ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา ที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกจากสิ่งมีชีวิตผู้ไร้เดียงสา

หากจะลดความอุกฉกรรจ์ลงมาหน่อย ก็คงเป็นปัญหาที่พบเจอได้ทั่วไปอย่างปัญหาสัตว์ที่ไม่ยอมข้ามถนนบนทางม้าลาย นกนางนวลที่ทำลายทรัพย์สินสาธารณะอย่างไม่มีเหตุผล สัตว์ฟันแทะที่บุกรุกอสังหาริมทรัพย์ หรือเจ้าลิงที่ฉลาดในการกลั่นแกล้งมนุษย์

เมื่อเหตุร้ายเกิดจากสัตว์ป่าแสนน่ากลัว มนุษย์บางคนก็ลุกขึ้นจับอาวุธทำร้ายสัตว์เหล่านั้น โดยไม่ได้ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามันใช่ผู้ร้ายตัวจริงหรือไม่ แมรีจึงพาเราเข้าสู่กระบวนการสืบสวนด้านนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการตามหาสัตว์ร้ายผู้กระทำความผิด และทวงคืนความยุติธรรมให้เหล่าสัตว์บริสุทธิ์

แกะรอยสืบสาวหาสัตว์ร้ายและทวงคืนความยุติธรรม

พบศพชายคนหนึ่งนอนตายอยู่ริมถนน สภาพศพเละเทะ เสื้อผ้าฉีกขาด คาดว่าเกิดจากการถูกสัตว์ป่าโจมตี คดีทำนองนี้มักเกิดขึ้นในตอนเหนือของประเทศแคนาดาและอเมริกาที่คุณพบสัตว์ป่าได้เป็นเรื่องปกติ แต่สัตว์ร้ายตัวไหนกันที่ก่อเหตุอุกฉกรรจ์ขึ้นกลางเมืองแบบนี้

ก่อนจะมาเขียนหนังสือเล่มนี้ แมรีเข้าอบรมหลักสูตร ‘WHART หรือ Wildlife Human Attack Response Training’ ซึ่งเป็นหลักสูตรการฝึกตอบสนองต่อภัยสัตว์ป่า เธอเล่าถึงขั้นตอนการอบรมและวิธีรับมือเมื่อเจอสัตว์ป่าหลากชนิดทั้งหมี หมาป่า กวาง และสิงโตภูเขา อีกทั้งยังอธิบายถึงวิธีปิดบ้านไม่ให้สัตว์เหล่านั้นเข้าบ้านหรือคุ้ยถังขยะของเรา

แต่อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ การ ‘สืบจากศพ’ เพื่อตามหาสัตว์ที่ออกมาทำร้ายมนุษย์ แมรีได้อธิบายถึงวิธีสังเกตร่องรอยจากศพ เช่น รอยฟัน รอยบาดแผล พฤติกรรมที่เกิดหลังจากเหยื่อเสียชีวิต โดยผู้ต้องสงสัยหลักส่วนใหญ่มักจะเป็นหมีสีน้ำตาล หมาป่า และสิงโตภูเขา

อย่างหุ่นจำลองที่แมรีใช้ในการอบรมนั้นมีส่วนของใบหน้าหายไป และผิวหนังถูกลอกออก ซึ่งเธออธิบายว่าเกิดจากการกัดแล้วกัดอีกซ้ำๆ ไม่ใช่การกัดเข้าจุดตายแบบการล่าเหยื่อ และไม่มีส่วนไหนถูกกินเป็นอาหาร แปลว่าสัตว์ตัวนั้นไม่ได้ฆ่าเพื่อกิน แต่น่าจะเป็นพฤติกรรมการป้องกันตัว ดังนั้น ‘ฆาตกร’ ในคดีนี้ก็คือสัตว์ที่ก่อบาดแผลขนาดใหญ่และไม่ได้กินคนเป็นอาหารหลักอย่างหมีสีน้ำตาล ไม่ใช่หมาป่าหรือสิงโตภูเขา หากเราดักจับหมีผู้ต้องสงสัยและตรวจ DNA เศษชิ้นเนื้อมนุษย์ในปากของมันได้ก็เป็นอันปิดคดี

แต่ไม่ใช่สัตว์ป่าที่เป็นผู้ร้ายเสมอไป มีบางคดีที่การสืบศพสามารถช่วยหมีน้อยผู้น่าสงสารให้พ้นผิดได้ อย่างคดีการพบศพคนข้างถนนที่มีร่องรอยการถูกกินจากหมี ทำให้หมีที่อยู่ละแวกใกล้เคียงตกเป็นผู้ต้องสงสัยทันที แต่ความจริงก็ปรากฏ เมื่อผลชันสูตรบอกว่าชายคนนั้นเสียชีวิตจากการเสพยาเกินขนาด และเจ้าหมีผู้ไร้เดียงสาเพียงแค่ผ่านมาแวะกินซากเนื้อแคลอรีสูงเท่านั้น

เราไม่อยากจะคิดว่าในอดีตที่ยังไม่มีการสืบศพด้วยหลักนิติวิทยาศาสตร์ที่ดี จะมีสัตว์ผู้บริสุทธิ์ถูกโบ้ยความผิดให้กลายเป็นแพะในคดีมากน้อยแค่ไหน แต่นี่เป็นเพียงปลายเหตุของปัญหาการบุกรุกเมืองของสัตว์ป่า ซึ่งก่อให้เกิดคำถามที่ว่า ทำไมสัตว์ป่ามากมายถึงมาก่อคดีในพื้นที่ที่อยู่ของมนุษย์ หรือในความจริงแล้วเมืองของเราต่างหากที่ขยายไปทับที่อยู่สัตว์ป่า

เมื่อมนุษย์ขยายเมืองรุกล้ำป่า ทำให้สัตว์ป่าต้องบุกรุกเข้าเมือง

คำถามง่ายๆ ว่า ทำไมสัตว์ป่าถึงมาเดินเพ่นพ่านตามเมือง คำตอบง่ายๆ เช่นกันคือ พวกมันลงมาหาอาหารกิน เนื่องจากการขยายตัวของเมืองที่ไปทับพื้นที่เดิมของสัตว์ทำให้แหล่งอาหารที่เคยมีหายไป พวกมันจึงต้องจำใจแวะเวียนมาเข้าเมืองเหมือนนักท่องเที่ยว เช่นเดียวกันกับมนุษย์ที่เมื่อเข้าไปยังต่างถิ่นครั้งแรกก็จะมีความเขินอายเป็นธรรมดา แต่ถ้าได้อยู่อาศัยสักพักก็จะรู้สึกคุ้นชิน และความรู้สึกนั้นจะเลื่อนสถานะจากแค่แวะมาเป็นครั้งคราวกลายเป็นอยู่ถาวรแทน

เหล่าสัตว์สามารถเรียนรู้และตามหาแหล่งอาหารในเมืองได้ไม่ยากจากประสาทสัมผัสที่ดีเยี่ยม หากได้ลิ้มลองอาหารมนุษย์หรืออาหารสุนัขหนึ่งครั้ง ก็ย่อมมีครั้งที่สองและสามตามมา จากครั้งแรกที่กลัวมนุษย์ พวกมันจะค่อยๆ คุ้นชิน ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงอันตรายของพวกเรา เพราะในบางครั้งสัตว์ที่ไม่กลัวมนุษย์อาจเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางน่ากลัว ยกตัวอย่าง ‘เสือดาว’ ในอินเดียที่กลายมาเป็น ‘เสือกินคน’

Fuzz When Nature Breaks the Law

ปกติแล้วเสือดาวไม่ใช่สัตว์ที่พบได้ปกติตามเมือง แต่ในชนบทของอินเดียมีเหตุคนเสียชีวิตจากเสือดาวจำนวนมาก สาเหตุเกิดจากแปลงเกษตรที่เคยขยายเข้าไปในพื้นที่ป่าถูกปล่อยทิ้งร้าง ทำให้เกิดพุ่มไม้จำนวนมาก และเสือดาวก็ใช้พุ่มไม้เหล่านี้เป็นแหล่งซุ่มโจมตี อีกทั้งการเลี้ยงสัตว์แบบปล่อยทุ่งของชาวบ้านก็กลายมาเป็นเหยื่อชั้นดีล่อให้แมวยักษ์ออกล่าลึกเข้ามาในเขตมนุษย์เรื่อยๆ

สิ่งที่น่าเศร้าคือเหยื่อส่วนใหญ่มักเป็นเด็กเล็กที่เดินเล่นไปมาหรือกลับมาจากโรงเรียน ด้วยความทุรกันดารและขาดโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้การเดินทางช่วงโพล้เพล้เป็นเรื่องเสี่ยงตาย ชาวบ้านหลายครอบครัวจึงเรียกร้องให้มีรถโรงเรียนคอยรับส่งเพื่อความปลอดภัยของลูกหลาน ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของการดำเนินชีวิตของชาวบ้านเท่านั้น แต่ปัญหาเสือดาวกินคนยังสะท้อนถึงประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลได้ด้วย

ขณะเดียวกัน นอกจากต้องคอยระแวงว่าจะถูกเสือดาวกินแล้ว อุบัติเหตุจากสัตว์ข้ามถนนก็พบบ่อยไม่แพ้กัน เพราะเหล่าสัตว์กินพืชอย่างกวางและช้างที่ดูไม่มีพิษภัยต่อมนุษย์ก็สร้างปัญหาให้ปวดหัวอยู่ไม่น้อย เมื่อถนนส่วนใหญ่ตัดผ่านพื้นที่ป่าและทางเดินสัตว์ ทำให้ในขณะที่คนใช้ถนนกำลังขับรถความเร็ว 90 กม./ชม. จู่ๆ ก็มีสิ่งมีชีวิตกระโดดตัดหน้าและชนเข้ากับรถอย่างเต็มแรงอยู่บ่อยครั้ง

กวางเหล่านี้ไม่เคยสนใจดูไฟจราจรหรือมองซ้ายขวาก่อนข้ามถนนอยู่แล้ว หรือบางทีคุณอาจโชคร้ายไปเจอช้างโขลงใหญ่กำลังข้ามถนนด้วยซ้ำ อย่าเผลอไปบีบแตรหรือก่อกวนพี่ใหญ่เขาล่ะ ไม่อย่างนั้นช้างที่มีน้ำหนักกว่า 4 – 7 ตัน อาจตกใจหรือหงุดหงิดจนมาไล่เหยียบคุณขึ้นสวรรค์โดยไม่ทันรู้ตัว

ในเมื่อเราเจอปัญหาสัตว์ป่าป่วนทั่วเมืองแบบนี้ โดยเฉพาะระดับที่เลยเถิดไปถึงการเสียชีวิตของมนุษย์ แล้วการแก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสมควรเป็นอย่างไร ควรกำจัดสัตว์เหล่านั้นหรือเราปรับตัวเพื่ออยู่กับมันแทน?

กำจัดหรือปรับตัว สองทางเลือกกับปัญหาสัตว์ป่าป่วนเมือง

‘เมื่อทำผิดต้องถูกลงโทษ’ หลักยุติธรรมที่แสนเข้าใจง่ายของกฎมนุษย์ แต่สัตว์ตาดำๆ กลับนั่งเอียงคอ ก็การประกาศความผิดให้ลิงที่กำลังป่วนเมืองฟังดูเป็นเรื่องไร้สาระ เพราะมันไม่มีทางเข้าใจ แต่กฎหมายดันกลายเป็นหลักสากลของโลกที่มนุษย์นำมาใช้เป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการกำจัดสิ่งมีชีวิตที่ขัดขวางชีวิตอันผาสุกของเรา

ปัญหาลิงป่วนเมืองไม่ได้มีอยู่แค่ในลพบุรี แต่ยังมีในประเทศอินเดียที่กำลังประสบปัญหานี้เช่นกัน ด้วยนิสัยที่คาดเดาไม่ได้ ความไม่เป็นมิตรที่จ้องจะกลั่นแกล้งและขโมยของ ทำให้ลิงเหล่านี้ค่อนข้างสร้างความน่ารำคาญให้ผู้คน จนเริ่มมีการสนับสนุนนโยบายกำจัดเจ้าจ๋อ

Fuzz When Nature Breaks the Law

การฆ่าพวกมันโต้งๆ อาจเป็นวิธีที่ง่าย แต่คงเป็นภาพอันโหดร้ายที่ต้องเห็นศพกองพะเนินของสัตว์เผ่าคล้ายมนุษย์ อีกทั้งยังผิดศีลธรรมอย่างแรงในประเทศที่เชื่อในบาปบุญ การฆ่าล้างบางจึงถูกตัดออกไปและนำไปสู่การคุมกำเนิดครั้งใหญ่แทน ซึ่งจะสามารถลดประชากรลิงในเมืองได้จริง แต่นั่นก็หมายถึงการต้องทนอยู่กับลิงเหล่านี้อย่างต่ำ 5 – 6 ปีถึงจะเห็นผลลัพธ์

บางคนเสนอให้ย้ายลิงทั้งหมดไปอยู่ที่อื่น แต่ด้วยจำนวนที่แท้จริงนั้นไม่แน่นอน และการย้ายฝูงลิงจำนวนมหาศาลขนาดนั้นคงเป็นเรื่องยาก หนำซ้ำยังเหมือนเป็นการไปทำลายระบบนิเวศพื้นที่ใหม่แห่งนั้นอีกด้วย หนทางเดียวตอนนี้คือการจำใจอยู่กับมันและหวังว่าการคุมกำเนิดจะได้ผล

แต่บางครั้งสันติวิธีก็ไม่ใช่ทางออก เพราะในประเทศแสนสงบอย่างนิวซีแลนด์กลับมีกฎหมายให้ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สัตว์บางชนิดได้

ย้อนไปในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ชาวยุโรปนำกระต่ายเข้ามาในนิวซีแลนด์เพื่อสร้างความเพลิดเพลินในการล่าพวกมัน แต่นั่นกลับสร้างปัญหาใหญ่ให้ไร่สวนของชาวบ้าน พวกเขาจึงแก้ปัญหาด้วยการนำ ‘เพียงพอนหางสั้น’ เข้ามาในนิวซีแลนด์ เพราะหวังให้พวกมันมากำจัดกระต่ายตามธรรมชาติ

Fuzz When Nature Breaks the Law

จุดหักมุมคือ นอกจากกระต่ายจะอยู่อย่างสงบดีและไม่ได้รับผลกระทบใดๆ แล้ว เพียงพอนหางสั้นเองยังไปขโมยกินเหล่าลูกนกพื้นถิ่นอย่าง ‘เพนกวินตาเหลือง’ จนเสี่ยงสูญพันธุ์ ทำให้มนุษย์ต้องรีบแก้ปัญหาที่ตนก่อขึ้น ด้วยการประกาศให้เพียงพอนหางสั้นกลายเป็นนักล่าที่ต้องถูกล้างเผ่าพันธุ์ในนิวซีแลนด์ภายในปี 2050 เพื่อป้องกันการสูญพันธุ์ของเหล่าเพนกวินตาเหลืองและนกพื้นถิ่นอื่นๆ

ถึงอย่างนั้น ในหลายประเทศที่ยังคงมีปัญหาสัตว์ป่าเข้ามาก่อกวนชีวิตคน ประชากรบางส่วนก็ไม่สามารถย้ายไปอยู่ที่อื่นได้ และจำใจต้องอยู่กับสัตว์ป่าที่แสนอันตราย ทำให้หลายเมืองต้องมีการสร้างรั้วไฟฟ้าป้องกันสัตว์ป่า สร้างทางเดินสำหรับสัตว์ข้าม การพยายามคุมกำเนิดหรือแม้แต่การฆ่าพวกมัน ซึ่งวิธีเหล่านี้ทำได้เพียงแค่ทุเลาปัญหาลงเท่านั้น เพราะเมืองก็ยังคงเติบโตตามจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายบทบาทผู้รับผิดชอบคงหนีไม่พ้นมนุษย์ที่พยายามควบคุมจำนวนสัตว์และแก้ปัญหาที่จับมือใครดมไม่ได้

แม้ว่าแมรีจะไม่ได้นำเสนอวิธีการจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างเด็ดขาด แต่เธอเองก็พยายามเสนอวิธีแก้ไขปัญหาที่เป็นวิทยาศาสตร์ และสิ่งที่พอเป็นไปได้สำหรับมนุษย์และสัตว์ป่าในการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน เพื่อให้ ‘ป่า’ และ ‘เมือง’ สามารถอยู่ร่วมกันแบบ ‘ห่างๆ’ ได้อย่างเต็มใจ

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.