‘ชูเกียรติ’ ผู้เปลี่ยนขยะอาหารเป็นปุ๋ยธรรมชาติ - Urban Creature

ทุกคนจัดการเศษอาหารเหลือทิ้งหลังจบมื้ออาหารอย่างไร นี่คือคำถามที่เราอยากให้หยุดคิดกันสักประเดี๋ยวก่อนเริ่มอ่านย่อหน้าต่อไป 

หลายคนรวมถึงเราทิ้งเศษอาหารลงถังขยะ หรือบ้างสาดลงแม่น้ำลำคลอง เพราะคิดว่าเดี๋ยวมันก็ย่อยสลายไปตามกาลเวลา จนอาจลืมคิดว่าไป เศษอาหารก็เป็น ขยะ ชนิดหนึ่งเหมือนกัน 

กว่า 64% ของขยะมูลฝอย คือ ขยะอาหาร (Food Waste) ที่เกิดจากการกินทิ้งกินขว้าง หรือมาจากผู้ประกอบการ ร้านอาหาร ไปจนถึงตลาดสดที่ต้องเคลียร์ของให้สดใหม่ ของเหลือเหล่านั้นจึงกลายเป็นขยะอาหารจำนวนมากมาย ที่มองดูแล้วไร้ค่า แต่ ‘ชูเกียรติ โกแมน’ หนึ่งในทีมงานสวนผักคนเมืองไม่เชื่ออย่างนั้น เขาหยิบความรู้จากการเรียนด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ผสมผสานกับประสบการณ์ทำงานเป็นที่ปรึกษาการจัดการขยะระดับอุตสาหกรรม มาจัดการกับขยะอาหารในครัวเรือน แล้วเปลี่ยนสู่ปุ๋ยหมักธรรมชาติ

เราชวนชูเกียรติมาร่วมพูดคุยถึงการจัดการขยะอาหาร ขั้นตอนการทำปุ๋ยหมักที่ทุกบ้านทำได้ ความสำคัญของการแยกขยะ ตลอดจนช่วยไขความกระจ่างว่า ทำไมประเทศไทยถึงยังก้าวสู่สังคม Zero Waste ไม่ได้เสียที

ถังที่ 1 เห็นขยะ

ไม่ได้เพิ่งจะมาเริ่มทำงานด้านขยะ แต่ชูเกียรติอยู่ร่วมกับของเสียมานานกว่านั้น ตั้งแต่ตอนเรียน ก้าวแรกของการทำงาน ไปจนถึงหลังตัดสินใจลาออกมาเป็นคุณพ่อเตรียมเลี้ยงลูก

“สิบสามปีก่อน ผมตัดสินใจลาออกจากการทำงานเป็นที่ปรึกษาการจัดการขยะระดับอุตสาหกรรม เพราะภรรยาตั้งท้อง ผมกลับมาบ้าน เริ่มปลูกต้นไม้ ปลูกผัก เพราะลูกต้องใช้ ต้องกิน เลยปลูกโดยไม่ใช้สารเคมี ประกอบกับเราเห็นขยะ แล้วรู้สึกว่าต้องจัดการขยะในบ้านเราได้แล้ว เลยใช้ความรู้ด้านไบโอเทคที่เรียนมา ลองเปลี่ยนขยะอาหารในบ้านเป็นปุ๋ยหมัก แต่ทุกอย่างมันต้องเริ่มจากแยกขยะนะครับ”

ถังที่ 2 แยกขยะ

ชูเกียรติย้ำกับเรา สิ่งแรกที่อยากให้ทุกคนเปลี่ยนความเชื่อ คือให้เลิกคิดว่าหลังเก็บขยะไปแล้ว พนักงานเขาไม่แยกขยะ เพราะในความจริงระบบใหญ่มีการแยกขยะ เพียงแต่ไม่ได้ทำที่จุดเก็บ ไปคัดแยกที่จุดพักขยะแทน เพราะฉะนั้นการคัดแยกที่ครัวเรือน จะทำให้การแยกขยะมีประสิทธิภาพมากขึ้น และเขายังพยายามสื่อสารทุกครั้งที่มีโอกาสว่า จากปัญหาขยะมากมายที่ได้เห็น มีคำอยู่สองคำที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้ คือ ขยะในระบบ และ ขยะนอกระบบ

ขยะในระบบ คือขยะที่เราคุยกันเชิงตัวเลข เช่น วันนี้กรุงเทพฯ จัดการขยะได้วันละสิบล้านกิโลกรัม เป็นเศษอาหารหกสิบเปอร์เซ็นต์ หมายความว่า มันถูกจัดเก็บ เลยรู้ว่ามีปริมาณเท่าไหร่ และเมื่อถูกจัดเก็บ จะถูกจัดการ คือเอาไปฝังกลบ เพราะฉะนั้นขยะพวกนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบมากต่อสิ่งแวดล้อม เป็นขยะนอกระบบที่ไม่ได้ถูกจัดการมากกว่าที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่เวลาเราขึ้นเสวนา คนจะขึ้นด้วยสถิติขยะต่างๆ ว่ามีเยอะจนทำให้เต่าตาย จริงๆ แล้วมันคือข้อมูลคนละชุดกัน เลยเปรียบเทียบไม่ได้ การจัดการปัญหาที่เป็นอยู่เลยบิดเบี้ยว ผมเลยคิดว่า ต้องทำให้ขยะนอกระบบกลับเข้ามาอยู่ในระบบ จะได้ถูกจัดการ ซึ่งการเริ่มต้นมันง่ายๆ มาก คือการแยกขยะ

“เพราะทุกวันนี้หลายบ้านยังทิ้งขยะแบบ 1 Can คือทุกอย่างลงถังเดียว เมื่อระดับครัวเรือนไม่แยกขยะ การแยกขยะในระบบใหญ่เลยทำยากขึ้น แล้วขยะก็กลายเป็นของไร้ค่า ทั้งที่ถ้าแยกดีๆ เศษอาหารหนึ่งถุง พลาสติกรีไซเคิลหนึ่งถุง หรือขยะอันตรายหนึ่งถุงแล้วแปะประเภทบอกไว้ มันก็จบแล้วครับ”

ถังที่ 3 ขยะอาหาร 

“ถ้าเรามานั่งคุยกันเรื่อง การแยกขยะกัน คุณรู้ไหมว่าขยะอะไรที่ไม่น่ามองมากที่สุด” เขาโยนคำถามปลายเปิดให้เราแวะคิด ก่อนเริ่มเฉลยคำตอบของคำถามที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อน 

“ขยะที่มีปัญหามากที่สุดคือ ขยะอาหาร ครับ หนึ่งคือมันไม่น่ามอง มันน่ารังเกียจด้วยซ้ำไป คนส่วนใหญ่ไม่อยากจัดการ สองมันเป็นตัวที่ทำให้ขยะอื่นเสื่อมมูลค่า เพราะถ้าเราแยกขยะเศษอาหารออกไปแล้ว ขยะอื่นๆ จะมีมูลค่ามากขึ้น เช่น พลาสติกถ้าเลอะแกงส้ม จะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลก็ต้องล้างก่อน นั่นหมายถึงการเพิ่มต้นทุน แล้วตัวขยะอาหารจริงๆ มีมูลค่าอยู่นะ เช่น เอาไปทำไบโอแก๊สสำหรับต้มน้ำ หรือผลิตไฟฟ้า แต่ยังไม่มีใครลงทุนกับระบบแบบนี้ เพราะสิ่งที่เราพูดทั้งหมดมันจะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าคุณไม่แยกขยะ”

ได้คำตอบของคำถามข้อแรก ชูเกียรติเปิดด้วยคำถามต่อไปที่ว่า “คุณเคยคิดหรือเปล่าว่า จุดเด่นของขยะอาหารไทยคืออะไร”

“คำตอบคือ ความหลากหลายของวัตถุดิบ ถ้าสังเกต ส่วนใหญ่คนไทยไม่เคยกินกับข้าวอย่างเดียวเลยในแต่ละมื้อ เรามีทั้งผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ กระดูก น้ำแกง เพราะประเทศไทยอยู่ในโซนร้อน เราเสียเหงื่อมาก จึงต้องมีอาหารพวกน้ำแกงมาชดเชยน้ำที่เสียไป ถ้าเทียบกับอาหารเมืองนอกมีแค่ขนมปังกับไข่ ซึ่งความหลากหลายจะทำให้ความชื้นในอาหารสูง ดังนั้นเมื่อมีความหลากหลายผสมกับความชื้น แล้วเราตีโจทย์แตก เราจะออกแบบระบบของปุ๋ยหมักได้ต่อไป”

ถังที่ 4 ปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร

เกริ่นมาตั้งแต่ชื่อเรื่องว่า ชูเกียรติคือคนที่เปลี่ยนเศษอาหารเป็นปุ๋ยหมักด้วยวิธีธรรมชาติ เราจึงถามถึงรายละเอียด และวิธีการของปุ๋ยหมักที่ทำตามได้ทุกบ้าน เพื่อมาถ่ายทอดให้คุณที่กำลังอ่านอยู่ได้นำไปทำตามหลังจากแยกขยะแล้ว

“ผมเริ่มจากการตั้งโจทย์ว่า เมื่อก่อนเราออกแบบระบบการจัดการน้ำเสียวันละห้าพันลูกบาศก์เมตรในโรงงานอุตสาหกรรมได้ ทำไมขยะในบ้านวันละหนึ่งกิโลกรัมเราจะจัดการไม่ได้ แล้วด้วยความที่เรียนไบโอเทคมา เลยได้เรียนจุลชีววิทยาทุกตัว ไม่ว่าจะจุลชีววิทยาอาหาร จุลอุตสาหกรรม จุลเกษตรก็เรียน ไปจนถึงกระบวนการการเปลี่ยนแปลงทางชีววัตถุ เพราะฉะนั้นเลยนำสิ่งที่มีติดตัวทั้งหมด มาทดลองทำปุ๋ยหมัก

“วิธีการทำปุ๋ยหมักดั้งเดิม มันพื้นฐานมากๆ เพียงแต่ว่าคุณจะปรับอย่างไร คือสูตรปุ๋ยหมักดั้งเดิมใหญ่ใช่ไหม แต่เมืองเล็ก เพราะฉะนั้นเราต้องใช้งานออกแบบระบบมาช่วย เริ่มจากตัวปุ๋ย กระบวนการของการทำปุ๋ยหมักสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ อากาศ โดยผมใช้เศษอาหารอย่างที่บอกไป แต่ต้องหั่นให้เป็นชิ้นเล็กๆ เพื่อง่ายต่อการย่อย ผสมกับดินปลูกในสัดส่วนที่เท่าๆ กันแล้วคลุกให้แห้ง เพราะถ้ามีความชื้นสูงอากาศจะน้อย แล้วการย่อยสลายจะไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อคลุกแล้วให้นำไปใส่กล่องปุ๋ยหมัก อาจเติมน้ำตาลทรายเพิ่มเพื่อช่วยย่อย พอสองถึงสามวันก็มาเปิดแล้วกลับอีกทีหนึ่ง เพราะการกลับคือการเพิ่มอากาศ”

สำหรับการออกแบบกล่องปุ๋ยหมัก เขาใช้เวลาพัฒนาถึง 5 ปี เริ่มจากใช้ขวดน้ำขนาด 1.2 ลิตร ขยับมาเป็น 6 ลิตร คอยเก็บข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ แล้วเมื่อได้จุดที่ลงตัว ก็นำมาใส่กับงานดีไซน์ และการออกแบบระบบที่ทำตามได้ไม่ยาก

กล่องพลาสติกกับท่อประปา คือพระเอกหลักของกล่องปุ๋ยหมัก ชูเกียรตินำมาออกแบบระบบอย่างเอื้อต่อผู้ทำงานหลักในการทำปุ๋ย อย่างจุลินทรีย์ ดังนั้นในกล่องจึงถูกออกแบบให้มีอากาศภายในกล่อง และต้องมิดชิด

“กล่องต้องมิดชิด แต่ข้างในต้องการอากาศ สองสิ่งนี้ทำงานตรงข้ามกันครับ เลยต้องมีระบบเอาอากาศจากข้างนอกสู่ข้างใน เพื่อรักษาสภาพภายในให้สมบูรณ์ด้วยท่อ และกล่องนี้ เมื่อเต็มแล้ว ปล่อยกระบวนการย่อยประมาณสักสิบสี่ถึงยี่สิบเอ็ดวัน เพื่อลดความเป็นพิษที่จะเกิดกับพืช เช่น แก๊สแอมโมเนียที่มีผลต่อการยับยั้งการเกิดรากพืช ก็จะได้ปุ๋ยหมักในรูปแบบของดินปลูกที่สมบูรณ์ ใช้ปลูกได้ร้อยเปอร์เซ็นต์”

ถังที่ 5 ตระหนักรู้ 

ฟังถึงตรงนี้ เราได้รับความรู้มากมายเพิ่มในสมอง บางข้อมูลคือชุดความรู้ใหม่ที่เพิ่งเคยรู้ บางข้อมูลคือเรื่องที่ทุกคนเคยรู้แต่ปล่อยปละละเลย นั่นหมายถึงว่า ความตระหนักเรื่องขยะยังไม่แข็งแรงพอ

“เมื่อเราทุกคนพูดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม จะมีไอดอลเป็นญี่ปุ่น ยุโรป สแกนดิเนเวีย แต่ลองกลับไปดูสิ สิ่งแวดล้อมพวกเขาดีได้ เพราะเริ่มจากการคัดแยกขยะในระดับครัวเรือนทั้งนั้นครับ ซึ่งประเทศไทยพูดถึงน้อยมาก ไปเน้นการจัดการที่ปลายน้ำแทน หันมาใช้ถุงผ้า ใช้จานย่อยสลายได้ แต่นั่นเป็นวิธีการหนึ่งของการลดขยะครับ ไม่ได้ช่วยให้บางคนตระหนักคิดถึงการแยกขยะ หรือลดขยะ แต่มันหมายถึง คุณยังทำพฤติกรรมเดิมได้ โดยที่รู้สึกผิดกับโลกใบนี้น้อยลง ดังนั้น ผมว่าเราอย่าเพิ่งหวังไปถึงจุด Zero Waste เลย แค่ Less Waste ให้ได้ก่อน

“เพราะบ้านเรายังขาดการให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะ ยิ่งสเกลเมืองคือเรื่องใหญ่และยิ่งยาก ถามว่าทำให้เกิดขึ้นได้ไหม มันทำได้ แต่สิ่งสำคัญที่เราละเลยคือการให้ความรู้ และคนในสังคมทุกวันนี้ตื่นตัวจริงจังแค่ไหน ซึ่งเอาเข้าจริงผิวมากๆ ผมยกตัวอย่าง ทุกวันนี้เราปฏิเสธการใช้ถุงพลาสติก ห้างฯ ไม่มีถุงให้ใส่ของ กลายเป็นว่าใครรับถุงพลาสติก คือคนไม่รักโลก แต่เวลาคุณทิ้งขยะ ก็ไปซื้อถุงดำมา เห็นไหม คุณไม่เอาถุงพลาสติกนะ แต่เอาเงินไปซื้อถุงดำ สู้เรารับถุงพลาสติก แล้วเอามารียูสใส่ขยะไม่ดีกว่าเหรอ ดังนั้นพลาสติกไม่ใช่ปัญหาครับ คนที่ใช้พลาสติกโดยไม่ตระหนักคิดมากกว่าที่เป็นปัญหา เห็นความย้อนแย้งไหม”

ชูเกียรติเสริมต่อว่า อีกหนึ่งเรื่องที่ประเทศไทยไม่ได้สร้างจิตสำนึกให้เด็กตระหนักรู้ว่า ขยะเป็นของคนที่ทำให้เกิดขยะ ดังนั้นทุกคนต้องรับผิดชอบขยะของตัวเอง ไม่ใช่ให้นายกฯ มาบอกว่า ต้องเพิ่มบทเรียนเข้าไปในหลักสูตร ให้เด็กเอาขยะกลับบ้าน แต่ทุกคนต้องช่วยกันทำ โดยเฉพาะผู้ใหญ่ ต้องเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็นว่า คุณต้องแยกขยะ ต้องรู้ว่าแยกขยะแล้วไปไหน ทำให้จริงจัง ไม่ใช่ฉาบฉวย แล้วเด็กจะเรียนรู้จากผู้ใหญ่เอง 

“ปัญหาสิ่งแวดล้อมอยู่ใกล้กับทุกคนมากนะครับ เพียงแค่ไม่มีคนฉายภาพให้เห็นชัดว่าใกล้ตัวเราแค่ไหน แล้วถ้าขยะจัดการได้ จะเกิดประโยชน์อย่างไร เพราะฉะนั้นผมถึงอยากให้ทุกคนเริ่มแยกขยะ นี่คือสิ่งที่สำคัญและง่ายที่สุดแล้วครับ”

การพูดคุยกับพี่ชูเกียรติครั้งนี้ ทำให้เราได้หยุดคิด และเหมือนนั่งส่องกระจกมองตัวเอง ว่าทุกวันที่เราใช้ชีวิต สะพายถุงผ้า พกขวดน้ำ หรือเตรียมกล่องข้าวไว้ใส่อาหาร แต่เราลืมคิดถึงสิ่งที่สำคัญกว่านั้นอย่างการแยกขยะไปหรือเปล่า ซึ่งถ้าทำได้ มันคงเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมของโลกทั้งใบให้ดีกว่าเดิมได้อีกหลายเท่าตัว ทุกคนว่าไหม

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.