แม้ว่าเราจะไม่เคยนอนหลับทับสิทธิ์กับทุกการเลือกตั้ง แต่ก็ใช่ว่าจะเข้าถึงข้อมูลการเลือกตั้งได้ง่ายๆ โดยเฉพาะการเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้
ยิ่งปีนี้การเลือกตั้งมีการเปลี่ยนแปลงไปจากปี 2562 เล็กน้อย ประชาชนก็ยิ่งต้องหาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจและจะได้ไปอธิบายให้ญาติผู้ใหญ่เข้าใจด้วยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้มีอะไรที่แตกต่างไปจากเดิม และคะแนนเสียงของเรานั้นจะไปอยู่ในส่วนไหน มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเลือกนายกรัฐมนตรีอย่างไรบ้าง
ไม่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกหรือครั้งที่เท่าไรของคุณก็ไม่ต้องเป็นกังวลไป เพราะ Urban Creature ได้รวบตึงข้อมูลที่จำเป็นมาอธิบายให้เห็นภาพและเข้าใจง่ายๆ ในโพสต์นี้แล้ว
ที่สำคัญ อย่าลืมตรวจสอบสิทธิ์เลือกตั้งของตัวเองที่ boraservices.bora.dopa.go.th/election/enqelection และตามไปดูผลงานเก่าๆ ประกอบการตัดสินใจเลือกผู้แทนที่ election66.wevis.info
01) รัฐสภา ประกอบด้วย 750 คน
โครงสร้างรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญปี 60 ประกอบไปด้วยสมาชิกทั้งหมด 750 คน แบ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 500 คน และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน
02) ต้องได้ ส.ส.เท่าไหร่ถึงจัดตั้งรัฐบาลได้
ตามปกติแล้ว การจัดตั้งรัฐบาลต้องมีจำนวน ส.ส.เกินครึ่งหนึ่งของที่นั่ง ส.ส.ทั้งหมดในสภา ดังนั้นพรรคที่ต้องการจัดตั้งรัฐบาลจึงต้องมี ส.ส.จำนวน 250 ที่ขึ้นไป
ในกรณีที่รวมคะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขตกับ ส.ส.บัญชีรายชื่อแล้วยังไม่ถึง 250 ที่ขึ้นไป ก็ต้องรวมคะแนนเสียงกับพรรคอื่นเพื่อจัดตั้งพรรคร่วมรัฐบาล
แต่เนื่องจาก ส.ว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งในรัฐบาลประยุทธ์ยังมีอำนาจในการลงคะแนนเสียงเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ดังนั้นหากพรรคการเมืองที่ต้องการเป็นรัฐบาลและไม่ต้องการร่วมพรรครัฐบาลกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ จะต้องได้ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 376 ที่ สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้โดยไม่รวมกับเสียง ส.ว. 250 เสียง
03) การแบ่งเขตเลือกตั้งในปี 2566
ในปี 2566 นี้ การเลือกตั้งแบ่งเขตออกเป็นทั้งหมด 400 เขต เพิ่มขึ้นจากเดิม 50 เขต ดังนั้นจึงจะมี ส.ส.จากการเลือกตั้งแบ่งเขต 400 คน
04) บัตรเลือกตั้งสองใบ
กลับมาอีกครั้งกับการ ‘เลือกคนที่รัก เลือกพรรคที่ชอบ’ เพราะการเลือกตั้งในครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งแบบคู่ขนานหรือระบบบัตรเลือกตั้งสองใบ โดยแบ่งเป็น
1) สีม่วง สำหรับ ส.ส.แบบแบ่งเขต โดยเป็นการเลือกตัวแทนเขตในการลงมือทำงาน และเป็นตัวแทนเสียงประชาชน
2) สีเขียว สำหรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ โดยเป็นการเลือกพรรคการเมืองที่ชื่นชอบในนโยบาย และต้องการให้เป็นพรรคตัวแทนเสียงประชาชน
05) ส.ส.มาจากไหนบ้าง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 500 คนที่จะเข้าไปอยู่ในสภานั้น แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ส.ส.แบบแบ่งเขต ที่ได้มาจากการชนะการเลือกตั้งในแต่ละเขตจำนวน 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) อีก 100 คน
06) คำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อยังไง
หลายคนอาจเกิดความสงสัยว่า หาก ส.ส.เขตได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้ว ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้นจะได้มาจากไหน
สำหรับการเลือกตั้งในปีนี้ การคิดคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อจะใช้สูตร ‘หาร 100’ ด้วยการนำเอาคะแนนจากบัตรเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อของทุกพรรค (บัตรสีเขียว) มาหารด้วยจำนวน ส.ส. 100 คน เพื่อหาคะแนนเฉลี่ยต่อ ส.ส.หนึ่งคน
เมื่อได้คะแนนเฉลี่ยมาแล้ว ก็นำคะแนนรวมต่อพรรคมาหารกับคะแนนเฉลี่ยที่คิดได้ก่อนหน้า เพื่อหาจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคนั้นๆ
ยกตัวอย่างเช่น คะแนนเลือกตั้งของ ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมดรวมกันได้ 30,000,000 หารด้วยจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด 100 คน จะได้คะแนนเฉลี่ย 300,000/คน
สมมติว่า พรรค A ที่ได้คะแนนเสียงทั้งหมด 9,000,000 เสียง เมื่อนำมาหารกับคะแนนเฉลี่ย 300,000 ก็จะได้ 30 เป็นตัวเลขของ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค A ที่จะได้เข้าสภา
07) พรรคไหน เบอร์อะไร
การเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองทั้งหมด 67 พรรคที่เข้าร่วมการเลือกตั้ง โดยเบอร์ของพรรคการเมืองนั้นจะนำไปใช้ในบัตรเลือกตั้งสำหรับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ (สีเขียว)
ทั้งนี้ เบอร์ของพรรคกับเบอร์ของ ส.ส.ในแต่ละเขตจะไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าท่องจำแค่เบอร์เดียว ให้จำเบอร์พรรคที่ชอบแล้วจำเบอร์ของ ส.ส.ที่อยากเลือกตั้งเข้าไปกาในคูหาด้วย โดยตรวจสอบเบอร์ของ ส.ส.ในเขตเลือกตั้งของตัวเองได้ที่ vote62.com/candidates
08) นายกมาจากไหน
การเลือกตั้งครั้งนี้นอกจากจะเป็นการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว ยังเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรีอีกด้วย ซึ่งนายกฯ ที่จะได้นั้นต้องมาจากการเสนอรายชื่อแคนดิเดตในช่วงก่อนเลือกตั้ง ไม่เกินสามคนต่อพรรคการเมือง
หลังจากเลือกตั้งไปแล้ว ส.ส.และ ส.ว.ในสภาต้องเลือกนายกฯ จากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในพรรคไม่ต่ำกว่า 25 คน และแคนดิเดตจะต้องได้เสียงสนับสนุนไม่ต่ำกว่า 375 เสียง ถึงจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี
Sources :
iLaw | bit.ly/3V38Zln
workpointTODAY | bit.ly/3mNu5qU