จัดคอนเสิร์ต 1 ปี ปล่อยคาร์บอนฯ 4 แสนตัน - Urban Creature

ปัญหาภาวะโลกร้อน (Global Warming) เป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกต่างตื่นตัว เพราะสภาพแวดล้อมทุกวันนี้อยู่ในช่วงวิกฤต โลกมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น และสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงหนัก (Climate Change) ส่งผลให้ความเป็นอยู่ของทุกสิ่งมีชีวิตและสภาพแวดล้อมทุกพื้นที่แปรเปลี่ยนไปตามๆ กัน

คำว่า ‘ทั่วโลกตื่นตัว’ ในที่นี้ ไม่ใช่แค่เรื่องใหญ่ระดับชาติที่เหล่าผู้นำประเทศกังวลเท่านั้น แต่มันยังลงลึกไปถึงหน่วยย่อยในทุกอุตสาหกรรมและการใช้ชีวิตของทุกคน เพราะทุกกิจกรรมของมนุษย์ล้วนก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนทั้งสิ้น ทั้งทางตรงและทางอ้อม 

ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้ชีวิต การทำธุรกิจ อุตสาหกรรม ภาคการผลิต การบริการ หรือสิ่งบันเทิงอย่าง ‘คอนเสิร์ต’ ก็เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ทำให้เกิดโลกร้อนไม่แพ้กัน ยิ่งหลังผ่านพ้นช่วงกักตัว คอนเสิร์ตก็กลับมาจัดขึ้นบ่อยครั้ง และมีคนให้ความสนใจจำนวนมาก เพราะทุกคนต่างโหยหากิจกรรมและความบันเทิงนอกบ้านที่ห่างหายไปนานหลายปี ในทางกลับกัน ปัญหาโลกร้อนยังคงมีอยู่และเกิดสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงหนักจากฝีมือมนุษย์อย่างต่อเนื่อง

จัดคอนเสิร์ต 1 ปี ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 400,000 ตัน

จัดคอนเสิร์ต ปล่อย Carbon Footprint

ปัจจุบันหลายองค์กรในอุตสาหกรรมพยายามควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ก๊าซมีเทนหรือคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยลงตามเป้าหมายที่กำหนด จึงต้องมีค่ากลางในการประเมิน และเกิดการจัดทำ ‘Carbon Footprint’ หนึ่งวิธีการวัดและประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วยขององค์กร โดยคิดตั้งแต่การผลิต การใช้งาน และการกำจัดของเสีย คำนวณออกมาเป็นตัวเลขหน่วยกรัม กิโลกรัม หรือตัน เพื่อนำผลลัพธ์ไปจัดการและบริหารการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในองค์กรได้ตามเป้าหมายที่กำหนด

รายงาน Tyndall Centre for Climate Change Research ของประเทศสหราชอาณาจักร ปี 2021 เผยว่า การจัดคอนเสิร์ต 1 ปีในประเทศสหราชอาณาจักรปล่อย Carbon Footprint จำนวนมหาศาลประมาณ 400,000 ตัน/ปี หากเปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ ลูกบอลลูนยักษ์ประมาณ 400,000 ลูกลอยอยู่บนท้องฟ้าที่อัดแน่นไปด้วยก๊าซเรือนกระจก มากไปกว่านั้น การจัดคอนเสิร์ตแต่ละครั้งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 19,000 กิโลกรัมหรือน้ำหนักประมาณช้าง 6 ตัว 

รายงานยังกล่าวอีกว่า การจัดคอนเสิร์ต 1 ครั้งปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบทุกขั้นตอน ตั้งแต่ช่วงประชาสัมพันธ์ไปจนถึงขายสินค้าหลังคอนเสิร์ตจบ โดยสถานที่จัดคอนเสิร์ตคือส่วนประกอบที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดถึง 34 เปอร์เซ็นต์, รองลงมาคือการเดินทางของคนดูคอนเสิร์ต 33 เปอร์เซ็นต์, การผลิตสินค้า 12 เปอร์เซ็นต์, ที่อยู่อาศัยของคนดู ทีมงาน และศิลปิน 10 เปอร์เซ็นต์, การเดินทางของศิลปิน 9 เปอร์เซ็นต์ และการประชาสัมพันธ์ 2 เปอร์เซ็นต์  

จัดคอนเสิร์ตในพื้นที่ VS จัดคอนเสิร์ตออนไลน์ 

จัดคอนเสิร์ต ปล่อย Carbon Footprint

ในช่วงไวรัสระบาด หลายอุตสาหกรรมต้องปรับตัวรูปแบบการทำงานเชิงออนไลน์เต็มตัว รวมถึงการจัดคอนเสิร์ตเองก็หันมาทำแบบออนไลน์มากยิ่งขึ้น หลายคนจึงตั้งคำถามว่า การจัดคอนเสิร์ตรูปแบบออนไลน์จะเป็นทางเลือกในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลงได้จริงหรือไม่ 

งานวิจัย The Sustainability of Online Concert and Live Concert ของประเทศจีน ปี 2021 เผยว่า ผลสำรวจการปล่อย Carbon Footprint จากการจัดคอนเสิร์ตของวงบอยแบนด์ชื่อดังในประเทศจีน เปรียบเทียบระหว่างการจัดคอนเสิร์ตในพื้นที่ (Live Concert) และการจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ (Online Concert) หนึ่งครั้ง พบว่า

การจัดคอนเสิร์ตในพื้นที่รองรับคนได้ประมาณ 18,000 ที่นั่ง และปล่อย Carbon Footprint ทั้งหมดประมาณ 17,900 กิโลกรัม กำไรจากการจัดคอนเสิร์ตประมาณ 4.2 ล้านบาท แตกต่างจากการจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ที่รองรับคนได้มากกว่า 700,000 คน และปล่อย Carbon Footprint ทั้งหมดประมาณ 144,000 กิโลกรัม กำไรจากการจัดคอนเสิร์ตประมาณ 12 ล้านบาท 

สาเหตุที่การจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่าการจัดคอนเสิร์ตในพื้นที่หลายเท่าตัว เพราะว่าคนส่วนใหญ่ดูคอนเสิร์ตออนไลน์ผ่านแล็ปท็อปส่วนตัวที่บ้านมากถึง 54 เปอร์เซ็นต์, คอมพิวเตอร์ 32 เปอร์เซ็นต์, โทรทัศน์ 10 เปอร์เซ็นต์ และโทรทัศน์แบบโปรเจกเตอร์ 4 เปอร์เซ็นต์ เหล่านี้ต้องใช้ไฟฟ้ามากถึง 49,900 กิโลวัตต์หรือปล่อย Carbon Footprint ทั้งหมดประมาณ 44,200 กิโลกรัม เทียบกับการจัดคอนเสิร์ตในพื้นที่ที่ใช้ไฟฟ้าในเวทีปล่อย Carbon Footprint ทั้งหมดประมาณ 3,320 กิโลกรัมเท่านั้น

คอนเสิร์ตแบบ ‘ออนไลน์’ ยั่งยืนกว่า ‘ออฟไลน์’

จัดคอนเสิร์ต ปล่อย Carbon Footprint

หากวิเคราะห์จากภาพรวมดังกล่าวจะพบว่า การจัดคอนเสิร์ตในพื้นที่ปล่อย Carbon Footprint น้อยกว่าเนื่องจากจำนวนคนดูต่ำกว่าแบบออนไลน์หลายเท่า แต่ถ้าเทียบค่าเฉลี่ยการปล่อย Carbon Footprint ต่อหัวจะพบว่า คนที่ดูคอนเสิร์ตออนไลน์ปล่อย Carbon Footprint ประมาณ 0.2 กิโลกรัม/คน น้อยกว่าคนที่ดูคอนเสิร์ตในพื้นที่ที่ปล่อย Carbon Footprint ประมาณ 1 กิโลกรัม/คน เพราะมันรวมค่าบัตร เวทีการแสดง และการเดินทาง ต่างจากแบบออนไลน์ที่ไม่มีปัญหาเรื่องพวกนี้นับรวมไปด้วย

หากมองในมุมการปล่อย Carbon Footprint ต่อหัวจะพบว่า การจัดคอนเสิร์ตออนไลน์เป็นแนวทางที่ลดก๊าซเรือนกระจกได้ยั่งยืนมากกว่า แถมในด้านผู้ประกอบการยังสามารถทำกำไรได้หลายเท่า เพียงแต่ควบคุมเรื่องการรองรับจำนวนคนที่พอเหมาะและเทคโนโลยีที่ทันสมัย เนื่องจากกระบวนการจัดคอนเสิร์ตออนไลน์สามารถทำผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ ซึ่งลดการใช้พลาสติกและการเดินทางของคนหมู่มากให้น้อยลงได้

แม้ว่ารูปแบบการจัดคอนเสิร์ตออนไลน์จะช่วยลด Carbon Footprint ต่อหัวน้อยลง แต่ก็ต้องยอมรับว่า การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับการจัดคอนเสิร์ตออนไลน์ให้มีประสิทธิภาพไม่แพ้บรรยากาศการจัดคอนเสิร์ตในพื้นที่ยังทำได้ยาก ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง และใช้เวลาในการปรับพฤติกรรมของคนดูสักพัก จึงทำให้ปัจจุบันการจัดคอนเสิร์ตในพื้นที่ยังเป็นที่ต้องการอยู่

ขณะเดียวกันก็เริ่มมีหลายวงดนตรีหันมาสนใจเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง เช่น Coldplay, Harry Styles, The 1975, Ninja Tune, Billie Eilish หรือ Tame Impala ที่มีแพลนลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกน้อยลง และใช้อุปกรณ์การผลิตต่างๆ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น จนกลายเป็นกระแสใหม่ในอุตสาหกรรมดนตรีในทุกวันนี้และต่อไปในอนาคต ที่ปลูกฝังให้ทุกคนไม่เพียงแค่รักในเสียงดนตรี แต่ก็ต้องรักในสิ่งแวดล้อมของพวกเราอีกด้วย

Sources :
Carbon Credits | shorturl.asia/7DTFE
The Guardian | shorturl.asia/tWD6E
The Sustainability of Online Concert and Live Concert | shorturl.asia/N1fSh

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.