Climate Anxiety ความเครียดจากวิกฤตโลกรวน - Urban Creature

สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนหนักและคาดเดายาก อาจทำให้คนเครียดและวิตกกังวลจากปรากฏการณ์นี้มากขึ้น จนถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง

ย้อนไปเมื่อปี 2018 ฝรั่งเศสเคยประกาศเป้าหมายที่จะปิดโรงงานถ่านหินทั้งหมดในประเทศภายในปี 2022 เพื่อต่อสู้กับ ‘การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก’ หรือ ‘Climate Change’ ซึ่งอีกราวสองเดือนก็ถึงเส้นตายแล้ว แต่ดูเหมือนว่าฝรั่งเศสจะทำตามแผนการไม่สำเร็จแน่ๆ เพราะอาจจำเป็นต้องกลับมาเปิดใช้โรงงานเหล่านี้ ท่ามกลางวิกฤตพลังงานที่กำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ

ด้านเมืองที่ท็อปฟอร์มเรื่องความยั่งยืนของโลกอย่าง โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ก็อาจรักษาสัญญาที่จะเป็นเมืองปราศจากคาร์บอนฯ แห่งแรกของโลกภายในปี 2025 ไม่ได้ เนื่องจากปัญหาเรื่องเงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาล

นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวตัวอย่างแผนการต่อสู้กับภาวะโลกร้อนที่ล้มเหลวของนานาชาติ ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยที่ควบคุมได้ยากอย่างการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ แต่ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่าหลายประเทศยังไม่เอาจริงเอาจังเรื่องโลกร้อนเสียที และมองว่าวิกฤตนี้คือเรื่องที่รอได้

เป้าหมายที่ถูกผัดวันประกันพรุ่ง นโยบายสิ่งแวดล้อมที่ถูกปัดตก และคำมั่นสัญญาของบรรดาผู้นำที่เป็นเพียงลมปาก ทำให้เราเริ่มรู้สึกกังวลและท้อมากขึ้นทุกที นึกภาพไม่ออกว่าทั่วโลกจะควบคุมอุณหภูมิที่มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ได้ยังไง และเป้าหมายของนานาประเทศที่ต้องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 จะเป็นเพียงแค่ความฝันที่ไม่มีวันเป็นจริงหรือเปล่า

Urban Creature ชวนทุกคนไปทำความรู้จัก ‘Climate Anxiety’ อาการวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤตโลกรวน ที่พบมากขึ้นเรื่อยๆ ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ จนพวกเขาไม่ขอนิ่งเฉย ลุกขึ้นมาเรียกร้องถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมด้วยตัวเอง

หายนะโลกร้อน คงหน้าตาประมาณนี้สินะ

Climate Anxiety เมื่อภาวะโลกร้อนทำให้คน ‘เครียดไม่ไหว’ จนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องด้วยตัวเอง

ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเห็นข่าวภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่ๆ เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น คลื่นความร้อนในยุโรป น้ำท่วมในปากีสถาน เฮอร์ริเคนเอียนในสหรัฐฯ น้ำแข็งขั้วโลกละลาย ฯลฯ ซึ่งคร่าชีวิตและส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของผู้คนเป็นล้านๆ แถมยังสร้างความเสียหายมหาศาลให้บ้านเมืองอีกด้วย

ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าวิกฤตเหล่านี้เกิดถี่ขึ้น และแต่ละครั้งยังทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หนึ่งในสาเหตุหลักคือ ‘การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศโลก’ หรือ ‘Climate Change’ โดยมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้นได้ออกมายืนยันว่า Climate Change ส่งผลให้โลกของเราเกิดปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์แบบฉับพลันบ่อยขึ้นและรุนแรงกว่าเดิมจริงๆ ทั้งยังคุกคามโลกของเราอย่างรอบด้าน ทั้งระบบนิเวศ ภาคการเกษตร รวมถึงระบบสาธารณสุข 

สถานการณ์และภัยพิบัติที่โลกเจอแบบรัวๆ ในปีนี้จึงไม่ต่างอะไรกับสัญญาณหายนะโลกร้อน ที่เตือนว่ามนุษย์จะเพิกเฉยต่อปัญหานี้ต่อไปไม่ได้แล้ว

เมื่อโลกรวนหนัก จนใจรับไม่ไหว

Climate Anxiety เมื่อภาวะโลกร้อนทำให้คน ‘เครียดไม่ไหว’ จนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องด้วยตัวเอง

สภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างหนักของโลกทำให้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าตัวเองอยู่เฉยไม่ได้แล้ว ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อรักษาโลกของเราให้น่าอยู่ขึ้น อย่างการปรับพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น ลดการใช้พลังงาน ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก พกกระบอกน้ำ แยกขยะ ปลูกต้นไม้ ฯลฯ แต่ขณะเดียวกัน ข่าวสารและกระแสสังคมที่โหมนำเสนอถึงวิกฤตธรรมชาติที่โลกเผชิญ ก็ทำให้คนจำนวนไม่น้อยใช้ชีวิตแบบที่ต้องนึกถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแทบจะตลอดเวลา จนอาจทำให้เหล่าคนรักษ์โลกทั้งหลายเครียดและวิตกกังวลได้เหมือนกัน

‘Climate Anxiety’ หรือ ‘Eco-anxiety’ คือความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ สิ่งนี้ไม่ใช่อาการป่วยทางจิต แต่เป็นความวิตกกังวลที่เกิดจากความไม่แน่นอนของอนาคต รวมถึงการเตือนภัยถึงสภาพอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลง อาการวิตกกังวลนี้มักตามมาพร้อมความรู้สึกเศร้า โกรธ รู้สึกผิด และละอาย ซึ่งล้วนส่งผลต่ออารมณ์ พฤติกรรม และความคิดของผู้คน

สำหรับวิธีการจัดการกับภาวะนี้ ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า Climate Change คือภัยคุกคามที่กำลังเกิดขึ้นจริงๆ จึงไม่แปลกที่คนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนที่แคร์เรื่องสิ่งแวดล้อม จะรู้สึกกังวลและหวาดกลัวต่ออนาคตที่ยังมาไม่ถึง ทว่าความน่ากังวลคือ อาการวิตกเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิต (Mental Health) ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ผลกระทบทางตรงที่ว่าอาจเป็นความเครียดเมื่อต้องเจอภัยพิบัติหรือคลื่นความร้อน ส่วนทางอ้อมอาจเป็นความกังวลหรือความเครียดเมื่อต้องพลัดถิ่น โยกย้าย หรือเผชิญกับภาวะความไม่มั่นคงทางอาหาร ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอีกทอดหนึ่ง

คนรุ่นใหม่จะไม่ทน ประท้วงเพื่ออนาคตสีเขียว

Climate Anxiety เมื่อภาวะโลกร้อนทำให้คน ‘เครียดไม่ไหว’ จนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องด้วยตัวเอง

แน่นอนว่าภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก แต่ถ้าต้องพูดถึงกลุ่มคนที่อาจได้รับผลกระทบระยะยาวมากที่สุด คงไม่พ้น ‘คนรุ่นใหม่’ ที่เริ่มมองเห็นหายนะครั้งใหญ่ที่กำลังคืบคลานมาหาพวกเขา

งานวิจัยของ The Lancet เปิดเผยว่า 84 เปอร์เซ็นต์ของเยาวชนและคนหนุ่มสาว อายุ 15 – 16 ปี มีความกังวลเกี่ยวกับ Climate Change ในระดับปานกลาง ขณะที่อีกกว่า 59 เปอร์เซ็นต์กังวลกับวิกฤตนี้อย่างมาก ซึ่งค่อนข้างสมเหตุสมผล เพราะบรรดา Generation Z หรือคนที่เกิดระหว่างปี 1997 – 2012 คือกลุ่มคนที่จะต้องรับช่วงอยู่บนโลกนี้ต่อไป และต้องรับมือกับผลพวงที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทั้งที่ไม่ได้เป็นคนก่อแบบเต็มๆ 

รายงานจาก UNICEF ปี 2021 คาดการณ์ว่า เด็กหนึ่งพันล้านคนจะตกอยู่ใน ‘ความเสี่ยงสูงมาก’ จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเด็กและคนวัยหนุ่มสาวมีความเสี่ยงพิเศษที่จะได้รับผลกระทบจากความเครียดเรื้อรัง และภาวะ Climate Anxiety ยังอาจทำให้เหล่าคนรุ่นใหม่เสี่ยงเกิดภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล รวมถึงความผิดปกติในการใช้สารเสพติดด้วย

เพราะไม่อยากเห็นอนาคตล่มสลายไปต่อหน้าต่อตา เหล่าคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เช่น เกรตา ธันเบิร์ก, วาเนสซา นากาเต, โดมินิก พัลเมอร์ ฯลฯ จึงออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ ถือเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ที่ออกมาเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจในโลกเร่งแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยเสียงของพวกเธอสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก และยังสร้างแรงบันดาลใจให้คนวัยเดียวกัน รวมถึงคนที่ตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม ลุกขึ้นมาสื่อสารเกี่ยวกับประเด็นนี้ด้วย

ยกตัวอย่างเมื่อปลายปี 2021 บรรดาคนรุ่นใหม่ได้ออกมาเดินขบวนประท้วงในการประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เพื่อเรียกร้องและกดดันให้บรรดาผู้นำโลกแก้ไขวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังกว่านี้ เพราะพวกเขาจะไม่ทนกับคำมั่นสัญญาที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงอีกต่อไป

ไทยก็ตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่จะแก้ปัญหาได้จริงไหม

Climate Anxiety เมื่อภาวะโลกร้อนทำให้คน ‘เครียดไม่ไหว’ จนต้องลุกขึ้นมาเรียกร้องด้วยตัวเอง

กลับมาที่ประเทศไทย แม้ว่ากระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในบ้านเราจะเกิดขึ้นช้ากว่าประเทศอื่นๆ แต่ต้องยอมรับว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คนไทยเริ่มตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม และความกังวลต่อวิกฤตโลกร้อนก็ดูมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ 

ผลสำรวจของบริษัท Marketbuzz ร่วมกับวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2022 ภายใต้หัวข้อ ‘คนไทยสนใจสิ่งแวดล้อมหรือไม่’ พบว่าคนไทยมองปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นที่สำคัญมากเป็นอันดับสอง (37 เปอร์เซ็นต์) รองจากปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น (44 เปอร์เซ็นต์)

มากไปกว่านั้น คนไทยกว่า 62 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขา โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี โดยมีความกังวลต่อปรากฏการณ์นี้มากถึง 76 เปอร์เซ็นต์

ที่ผ่านมา ชาวไทยหลายคนเองก็พยายามปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อสร้างความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ซื้อเสื้อผ้าใหม่น้อยลง รีไซเคิลผลิตภัณฑ์ ใช้ยานพาหนะขนาดเล็กลง ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เลือกอาหารออร์แกนิก ฯลฯ แต่ก็ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีไลฟ์สไตล์รักษ์โลกแบบนี้ได้ เพราะเอาเข้าจริงสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งหลายมีราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับค่าครองชีพและสินค้าทั่วไปที่คนส่วนใหญ่เอื้อมถึง

ส่วนในแง่ธุรกิจ เหล่าบริษัทน้อยใหญ่ได้ปรับวิสัยทัศน์และนโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนมากขึ้น เราจึงได้เห็นแคมเปญ กิจกรรม หรือแม้แต่สินค้าตัวใหม่ที่เน้นเรื่อง ‘สิ่งแวดล้อม’ และ ‘ความยั่งยืน’ เป็นหลัก 

และที่น่าสนใจคือ มีธุรกิจและสตาร์ทอัปของคนรุ่นใหม่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ที่เริ่มต้นจากแนวคิดที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมล้วนๆ เช่น Reviv แพลตฟอร์มเย็บซ่อมและตกแต่งเสื้อผ้าออนไลน์ Loopers แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนกับซื้อขายเสื้อผ้ามือสอง รวมถึงแอปพลิเคชันสั่งอาหาร Oho ที่มุ่งลดปัญหาอาหารเหลือทิ้ง

แต่ถ้าถอยมามองในภาพใหญ่ระดับประเทศ รัฐบาลไทยก็มีหมุดหมายเรื่องสิ่งแวดล้อมที่พยายามทำให้เกิดขึ้นจริงอยู่เหมือนกัน อย่างเมื่อปี 2021 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศในที่ประชุม COP26 ว่าไทยพร้อมแก้ปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มตัว ผ่านนโยบายการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี 2065

ฟังดูเป็นเป้าหมายที่ทรงพลังมากๆ แต่หากมองตามความเป็นจริงแล้ว หมุดหมายนี้อาจทำสำเร็จได้ยาก หากพิจารณาจากปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วไปที่ยังแก้ไขไม่ได้สักที เช่น ฝุ่น PM 2.5 ไฟป่า ปัญหาขยะ โรงงานอุตสาหกรรมใช้สารเคมีและพลังงานสูง ฯลฯ นอกจากนี้ เรายังไม่เห็นนโยบายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังจากรัฐบาลชุดนี้เลย 

ต้องติดตามกันต่อว่าประเทศไทยของเราจะทำตามเป้าหมาย Net Zero ได้หรือไม่ หรือคนไทยรุ่นใหม่ต้องเผชิญกับภาวะ Climate Anxiety เพิ่มขึ้นจากความเครียดอื่นๆ ที่หนักหนาพออยู่แล้วในชีวิตประจำวัน

Sources : 
Anadolu Agency | t.ly/4tT5
BBC | t.ly/NhKn
DW | t.ly/VKoAJ
EPA | t.ly/EC7z
EPPO | t.ly/9BUK
Harvard Health Publishing | t.ly/dou8
NPR | bit.ly/3T58IM8
Prachatai | bit.ly/3DPt9YO
Thairath | bit.ly/3FBMTRd
The Providence Journal | t.ly/HsS-
UN | bit.ly/3FCqmDU
World Economic Forum | t.ly/jf5O
YouTube : Our Changing Climate | t.ly/vvxO

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.