loopers แพลตฟอร์มส่งต่อเสื้อผ้ามือสองที่ง่ายและช่วยโลก

หากใครที่ติดตามกระแสสังคมอยู่แล้วคงทราบว่าในช่วง 1 – 2 ปีมานี้ อุตสาหกรรมเสื้อผ้าและแวดวงแฟชั่นมักถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหัวข้อถกเถียงกันถึงการสร้างค่านิยมบริโภคนิยม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งจากขยะสิ่งทอไปจนถึงคาร์บอนฟุตพรินต์ในกระบวนการผลิตเสื้อผ้าใหม่แต่ละชิ้น 

นอกจากคนทำงานเพื่อสังคม แอ็กทิวิสต์ และคนมีชื่อเสียงที่ออกมาเรียกร้องเรื่องนี้แล้ว คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยก็ตื่นตัวกับปัญหานี้ เกิดเป็นบทสนทนาการพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงฮาวทูการลดการใช้แบรนด์ฟาสต์แฟชั่น (Fast Fashion) การใส่เสื้อผ้ายังไงให้ยั่งยืน และชี้แหล่งแลกเปลี่ยนกับซื้อ-ขายเสื้อผ้ามือสอง เพื่อหาทางดูแลรักษาโลกไปพร้อมๆ กับการสนุกกับการแต่งตัว

loopers

ถ้าเป็นในต่างประเทศ การแลกเปลี่ยนหรือซื้อ-ขายเสื้อผ้ามือสองคงไม่ใช่เรื่องยากอะไร หลายประเทศเองมีแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งต่อเสื้อผ้าและของมือสองให้คนได้เลือกใช้งาน จนกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปแล้ว แต่สำหรับบ้านเรา ดูเหมือนว่ายังมีตัวเลือกไม่มากนัก แหล่งซื้อขายที่มีก็ไม่ค่อยตอบโจทย์ผู้ใช้งานที่เป็นคนรุ่นใหม่เท่าไหร่ ไหนจะความยุ่งยากของการซื้อ-ขายที่มีรายละเอียดยิบย่อย ไม่ว่าจะเป็นคนขายถ่ายภาพเสื้อผ้าไม่ดี ระบุรายละเอียดไม่ครบ ซื้อมาแล้วใส่ไม่ได้ ไปจนถึงไม่กล้าซื้อเพราะไม่รู้ว่าเจ้าของก่อนหน้าเป็นใคร เป็นเสื้อผ้าคนตายหรือเปล่าก็ไม่รู้ ฯลฯ ทำเอาบางคนถอนหายใจล้มเลิกการซื้อเสื้อผ้ามือสองไปซะก่อน ทั้งๆ ที่ก็อยากลดการซื้อเสื้อผ้าใหม่เช่นกัน หรือสุดท้ายแล้วซื้อมาก็กลายเป็นขยะในตู้เสื้อผ้าเพราะวัดไซซ์ผิด แทนที่จะได้ใช้เสื้อผ้ามือสองวนไป แต่กลับต้องทิ้งไว้เพราะได้ของไม่ตรงปก

เพราะประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน เราจึงอยากแนะนำทุกคนให้รู้จักกับ loopers แพลตฟอร์มส่งต่อเสื้อผ้ามือสองหน้าตาดูดีที่เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

loopers

ความพิเศษของแพลตฟอร์มนี้คือ การทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจัดการ รวบรวม และส่งต่อเสื้อผ้าใช้แล้ว โดยที่ตัวผู้ซื้อ-ผู้ขายแทบไม่ต้องทำอะไรเลย แถมตัวเว็บไซต์เองก็ใช้งานง่ายเหมือนเว็บไซต์ขายเสื้อผ้ามือหนึ่งทั่วไปที่บอกรายละเอียดยิบย่อยอย่างชัดเจน แตกต่างจากปกติที่ร้านเสื้อผ้ามือสองเน้นการซื้อมาขายไป ไม่ถ่ายรูปหรือระบุรายละเอียดชัดเจนขนาดนี้ สอดคล้องกับสโลแกน ‘เราจะทำให้การส่งต่อเสื้อผ้าเป็นเรื่องง่าย ดีต่อใจ และดีต่อโลก’

ด้วยเหตุนี้ เราเลยชวนผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม เกด-พิชามาศ ชัยงาม และ กอล์ฟ-ศรัณย์ ศิริภัทรประวัติ ร่วมด้วยทีมงาน อัลเตอร์-ธัญณัฐ ทะรังศรี มาพูดคุยถึงสิ่งที่พวกเขาทำ ความตั้งใจ เบื้องหลังการคิดกับออกแบบ และเป้าหมายหลังจากนี้ของ loopers ในยุคสมัยที่เทรนด์แฟชั่นกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางที่มุ่งหน้าสู่ความยั่งยืนมากขึ้น

กอล์ฟ-ศรัณย์ ศิริภัทรประวัติ, เกด-พิชามาศ ชัยงาม และ อัลเตอร์-ธัญณัฐ ทะรังศรี

แพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ตัวเองและคนแบบเดียวกัน

ก่อนหน้านี้เกดและกอล์ฟคลุกคลีทำธุรกิจในอุตสาหกรรมสิ่งทออยู่แล้ว ทำให้เป็นผู้รับรู้และรับผลกระทบจากหลักคิดที่เน้นการผลิตเร็ว ผลิตไว และต้องราคาถูกที่สุดมาตลอด ซึ่งถ้าตัวโรงงานยอมรับข้อตกลงนี้ ย่อมส่งผลต่อต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการผลิตที่ต้องลดทอนไป ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างแรงงาน สวัสดิการ ระบบการจัดการในโรงงาน กระทั่งระบบความปลอดภัย เกดไม่เห็นด้วยกับความไม่ยุติธรรมในอุตสาหกรรมนี้ จึงเลือกที่จะทำงานกับลูกค้าที่เข้าใจแนวคิดของเธอเท่านั้น

“เราเก็บความไม่แฟร์ทั้งหมดที่คิดไว้ รวมถึงตั้งคำถามอยู่ตลอด เพราะมันไม่ใช่แค่ความไม่แฟร์ในเรื่องของโรงงานและแรงงาน แต่มันไม่แฟร์กับสิ่งแวดล้อมด้วย เลยทำให้เราอินเรื่องนี้เป็นพิเศษ เริ่มศึกษาหาข้อมูลจนนำไปสู่การเจอกับ Fashion Revolution Thailand และได้ฟังที่ครูลูกกอล์ฟ (คณาธิป สุนทรรักษ์) และมารีญา (มารีญา พูลเลิศลาภ) แชร์เรื่อง #wearวนไป ทำให้เอะใจว่าขนาดพวกเขาเป็นสตาร์ ออกงานบ่อยกว่า มีคนเสนอเสื้อผ้าให้มากมาย ยังออกมาพูดเรื่องนี้เลย แล้วทำไมเราจะทำบ้างไม่ได้”

เมื่อปีที่แล้วแฮชแท็ก #wearวนไป ยังเป็นกระแสแค่ในคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น แต่หลังจากที่ครูลูกกอล์ฟและมารีญาประกาศว่าจะไม่ซื้อเสื้อผ้าใหม่ในปี 2021 พร้อมกับแสดงให้เห็นจริงๆ ว่าทั้งคู่ทำได้ หญิงสาวที่ชื่นชอบการซื้อเสื้อผ้าอย่างเกดเลยกลับมาทบทวนสไตล์ตัวเองว่าอะไรที่ใช่-ไม่ใช่ แล้วจะจัดการกับสิ่งที่ไม่ใช่ได้ยังไงบ้าง สุดท้ายเมื่อพบว่าการบริจาคไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด และแพลตฟอร์มขายของมือสองในไทยที่มีก็ไม่รองรับความต้องการ เธอจึงอยากสร้างพื้นที่นี้ให้เกิดขึ้นเอง

พอได้ไอเดียคร่าวๆ เกดก็นำเรื่องนี้ไปคุยกับกอล์ฟและเริ่มต้นทำแพลตฟอร์มทันที โดยระหว่างทางทั้งคู่ได้ขอความช่วยเหลือและปรึกษากับคนใกล้ตัวที่สนใจประเด็นเสื้อผ้ามือสอง ตลอดจนได้เจอกับ Fashion Revolution Thailand และได้อัลเตอร์ อาสาสมัครที่จัดงานแลกเปลี่ยนเสื้อผ้า Swap Shop และ Clothes Swap Party มาช่วยงาน บวกกับศึกษาความสำเร็จจากโมเดลของต่างประเทศ ทำให้มั่นใจว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ต้องมีทางไปต่อได้แน่นอน

งาน Clothes Swap Party

loopers จึงเป็นแพลตฟอร์มที่แตกต่างจากมาร์เก็ตเพลสออนไลน์ทั่วๆ ไป เพราะเกดกับกอล์ฟได้รวบรวม Pain Point ที่ทั้งคนขาย-คนซื้อของมือสองต้องเจอ มาแก้ปัญหาให้ในที่เดียว ด้วยการทำหน้าที่เป็นตัวกลางตั้งแต่ส่งรถไปรับสินค้าที่บ้าน ตรวจสอบคุณภาพสินค้า ถ่ายรูปสินค้า โพสต์ภาพและระบุรายละเอียดบนหน้าเว็บไซต์ จัดเก็บสินค้าเพื่อรอจำหน่าย แพ็กสินค้า ไปจนถึงการจัดส่ง

“เนื่องจากเป็นคนผลิตเสื้อผ้า เรารู้ว่าเสื้อผ้าแต่ละตัวออกแบบมาให้ใช้ในจำนวนครั้งที่เยอะอยู่แล้ว อีกอย่างเราก็ใส่ใจในการเลือก การดูแล เวลาส่งต่อก็อยากส่งต่ออย่างใส่ใจ เราอยากให้คนที่ได้เสื้อผ้าของเราไปได้ใช้งานจริงๆ เพราะฉะนั้นเราถึงต้องถ่ายรูปสินค้าให้ออกมาดี ระบุรายละเอียดอย่างแบรนด์ ไซซ์ เนื้อผ้าให้ชัดเจน เพราะเราไม่อยากให้คนซื้อไปพอใส่ไม่ได้ก็กลายเป็นขยะอีก 

“เรารู้สึกว่าเรารักเสื้อผ้าทุกตัวที่ได้รับ เราคัดเองวัดเอง ก็อยากให้มันได้อยู่ในตู้เสื้อผ้าที่ได้ใช้งานต่อ เราเลยมองว่า loopers คือแพลตฟอร์มส่งต่อเสื้อผ้าที่เคยรักให้ถูกรักอีกครั้งและอีกหลายๆ ครั้ง เพื่อให้มันเป็นลูปไปเรื่อยๆ เพราะเสื้อผ้าทุกตัวถูกสร้างขึ้นมาแล้ว ใช้ทรัพยากรไปแล้วทั้งแรงงานและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สิ่งที่เราจะช่วยโลกได้มากที่สุดคือการใช้ของที่มีอยู่ให้มีอายุนานที่สุด” 

เราต้องส่งต่อเสื้อผ้าอย่างใส่ใจ

ในช่วงแรกเกดกับกอล์ฟนำไอเดีย loopers ไปขายให้คนใกล้ตัวที่แต่งตัวเก่ง ใช้ของดี มีเสื้อผ้าเยอะ จนได้รับเสื้อผ้ามือสองมาส่งต่อจำนวนหนึ่ง ทำให้สามารถเปิดใช้งานเว็บไซต์ได้ ทว่าทั้งคู่ก็อยากรู้อีกว่าถ้าเป็นคนไกลตัวอย่างอินฟลูเอนเซอร์ที่มีเสื้อผ้าเยอะมากๆ แล้ว เขาจะยังซื้อไอเดียแพลตฟอร์มนี้อยู่ไหม

“เราไปหา ทับทิม-มัลลิกา จงวัฒนา ที่คนติดตามเป็นล้าน แน่นอนเขามีโพเทนเชียลที่จะปล่อยของเอง แค่โพสต์ก็มีคนซื้อแล้ว แต่ปรากฏว่าเขาชอบไอเดียเรามาก เพราะเขาก็เป็นคนรักษาของ และอยากให้การส่งต่อเกิดคุณค่าจริงๆ เขาก็เลยร่วมจอยน์ส่งเสื้อผ้ามาให้เรา อาจเพราะเขารู้แหละว่าการขายมันไม่จบที่ไลฟ์แน่ มันต้องมานั่งตอบลูกค้า วัดสเปก ส่งของ รอโอนเงิน ส่งเลขแทร็กกิ้ง แต่กับ loopers หน้าที่เขาคือแค่คัดของแล้วรอเราไปรับเท่านั้นเลย พอเสื้อผ้าขึ้นเว็บไซต์แล้วเขาก็แค่ส่งลิงก์ให้คนที่อยากได้ มันสะดวกกับเขา แล้วเราเองก็ได้เสื้อผ้าดีๆ มาส่งต่อ” เกดเล่าด้วยรอยยิ้ม

loopers

ในฐานะคนที่สนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม กอล์ฟเองก็คำนึงถึงประเด็นนี้อยู่เสมอ เขารู้ว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอทำลายโลกเป็นอันดับสองรองจากอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ขณะเดียวกันเทรนด์โลกก็ค่อยๆ เปลี่ยนไปจากคนเจนฯ Y และเจนฯ Z ที่ค่อนข้างใส่ใจสิ่งแวดล้อม เห็นได้จากอัตราการซื้อเสื้อผ้ามือสองที่สูงขึ้นทุกปีๆ ซึ่งการทำแพลตฟอร์มนี้ถือว่าตอบความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและการทำธุรกิจยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน

แต่ถึงจะชัดเจนด้านไอเดียและคอนเซปต์แล้ว เมื่อลงมือทำงานจริง เกด กอล์ฟ และอัลเตอร์ ก็มีสิ่งที่ต้องเรียนรู้และปรับตัวไม่น้อย อย่างช่วงแรกพวกเขาถ่ายภาพเสื้อผ้าได้แค่วันละ 20 ตัวเท่านั้น ทั้งยังต้องวัดไซซ์ กรอกรายละเอียดต่างๆ แต่หลังจากช่วยกันปรับการทำงาน ก็สามารถถ่ายภาพเพิ่มได้เป็นหลักร้อยชิ้น

“เราเติมทุกอย่างไม่ว่าจะเงิน อุปกรณ์ เทคโนโลยี อย่างเดียวที่ไม่เติมคือคน เพราะเราบอกกันไว้ว่าถ้าไม่ถึงจุดหนึ่งจะไม่เติมคน มันจำเป็นจริงๆ ที่จะต้องรู้ปัญหาทุกอย่างด้วยตัวเอง อย่างตอนนี้เราจับเองทุกอย่างก็จะรู้ปัญหาตั้งแต่คุยกับ Seller ตอนรับเสื้อผ้ามา เจอสภาพเสื้อผ้าแบบไหน เสื้อผ้าแบบนี้ต้องวัดยังไง ต้องรีดก่อนไหม ถ่ายรูปยังไง ถึงขนาดทำเป็นคัมภีร์ในองค์กรเลย” เกดอธิบาย

ฟังดูเป็นงานที่ยากและหนักหนาไม่น้อย แต่พวกเขายืนยันว่าจะไม่ลดมาตรฐานการทำงานลงเด็ดขาด เพราะเป้าหมายหลักของ loopers คือการแมตช์เสื้อผ้าให้เจอกับคนที่ต้องการจริงๆ ถ้าข้อมูลไม่ครบถ้วนหรือกำกวม สุดท้ายเสื้อผ้าชิ้นนั้นก็จะกลายเป็นขยะในตู้ของอีกคนอยู่ดี ซึ่งพวกเขาไม่ต้องการให้เป็นแบบนั้น

“อย่างตอนที่เราทดลองใช้เว็บไซต์ในทีมและเพื่อนๆ กันเอง เพื่อทดลองระบบ ปรากฏว่าคนรอบตัวก็แชร์ให้ด้วยความสนับสนุน ระหว่างประชุมก็มียอดสั่งซื้อเข้ามาจากคนแปลกหน้า เราก็เซอร์ไพรส์มากที่ลูปแรกมันเกิดขึ้นจากคนที่เข้าใจคอนเซปต์ของ loopers จริงๆ ไม่ใช่จากหน้าม้าหรือเพื่อน ซึ่งเรามองว่าเป็น Perfect Match เพราะเสื้อผ้าที่คนนั้นซื้อไปเป็นของเพื่อนสนิทเราที่ดูแลเสื้อผ้าดี ตอนเพื่อนรู้ว่าของชิ้นแรกที่ขายได้เป็นของเขาก็ดีใจมาก เพราะที่ผ่านมาเพื่อนเรารู้สึกผิดกับเสื้อผ้าชิ้นนั้นมาตลอดที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว พอมีคนซื้อไปก็เหมือนมันได้มีชีวิตอีกครั้ง แฮปปี้ทั้งฝั่งคนส่งต่อและคนได้รับ”

นอกจากนี้ยังมีลูกค้าที่ซื้อแล้วกลับมาซื้อซ้ำในปริมาณที่มากขึ้น ทั้งยังได้รับฟีดแบ็กในทางบวกทั้งสิ้น พอเห็นอะไรแบบนี้ ทั้งสามคนก็ดีใจและมีแรงทำงานต่อไป

ช้อปง่าย ปลอดภัย แถมได้ดูแลโลก

ด้วยการคิดและออกแบบมาอย่างละเอียดแล้วว่าอะไรคือสิ่งที่ดี ง่าย สะดวกที่สุดสำหรับผู้ใช้งานทั้งฝั่งผู้ซื้อ-ผู้ขาย ทำให้ loopers เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้งานง่ายมากเหมือนกับกำลังช้อปปิงในออนไลน์สโตร์เสื้อผ้ามือหนึ่งทั่วไป

ใครที่อยากส่งต่อเสื้อผ้ามือสอง แค่เข้าไปในเมนู sell with us ถ้าโอเคกับนโยบายของแพลตฟอร์มก็กรอกแบบฟอร์มและนัดหมายพูดคุยกับเกด เพื่อสร้างความมั่นใจด้านข้อมูลและความปลอดภัยในการนำไปอ้างอิงเป็นข้อมูลในเว็บไซต์ต่อไปว่าเสื้อผ้าชิ้นนี้เป็นของใครมาก่อน

“ก่อนหน้าจะเปิดเว็บ เราทำรีเสิร์ชมาพบว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้สึกสบายใจที่จะซื้อของต่อจากแหล่งที่รู้จัก ถ้าคนใช้งาน loopers รู้ว่า Pre-owner เสื้อผ้าชิ้นนี้คือใคร น่าจะสบายใจขึ้น ก็เลยลง Instagram พวกเขาไว้ด้วย แล้วถ้าชอบสไตล์เสื้อผ้าคนไหนก็ตามไปดูได้เลย เพราะเราอยากทำให้เป็นคอมมูนิตี้” เกดอธิบาย

ส่วนในฝั่งผู้ซื้อ ในเว็บไซต์จะมีฟิลเตอร์กรองให้ว่าต้องการอะไร ตั้งแต่ประเภทเสื้อผ้า แบรนด์ จนถึงไซซ์ ชอบตัวไหนก็ชำระเงินได้เลย “นอกจากนี้ สินค้าแต่ละตัวจะมีตัว ​Sustainable บอกว่าใช้น้ำ ไฟ คาร์บอนเท่าไหร่ โดยในการซื้อนั้นๆ จะเก็บประวัติรวมไว้ว่าเราเซฟพลังงานและทรัพยากรไปเท่าไหร่แล้วเมื่อเทียบกับการซื้อของมือหนึ่ง” กอล์ฟเสริม

loopers

ที่ต้องทำให้ดีและค่อนข้างละเอียดเข้มงวดขนาดนี้เพราะทั้งสามคนต้องการให้ loopers เป็นคอมมูนิตี้ที่สร้างความตระหนักรู้ต่อการใช้เสื้อผ้าด้วย เห็นได้จากคอนเทนต์เรื่องการดูแลเสื้อผ้าเพื่อยืดอายุการใช้งานที่แพลตฟอร์มพยายามให้ความรู้ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียอยู่เสมอ

ปัจจุบันแม้ว่าตัวแพลตฟอร์มเพิ่งจะเปิดให้บริการไม่ถึงเดือน แต่กระแสตอบรับก็เป็นที่น่าพึงพอใจ ไม่ว่าจะยอดจำนวนเสื้อผ้าในเว็บไซต์เองหรือ Seller หน้าใหม่ที่ติดต่อมาขอจอยน์ด้วย และยอดสั่งซื้อที่เกิดขึ้น แต่ถึงอย่างนั้น loopers ก็ยังมีสิ่งที่ต้องการอยู่

“เราต้องการเสื้อผ้าที่หลากหลายประเภทมากขึ้น เนื่องจากเราไม่ได้วาง Position ว่านี่คือร้านขายเสื้อผ้ามือสองวินเทจหรือร้านขายชุดราตรีออกงาน เราแมสแต่เป็นพรีเมียมแมส จุดประสงค์เราคือเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณต้องการเสื้อผ้าใหม่ คุณต้องนึกถึงเรา ซึ่งถ้าคนจะนึกถึงเรา แปลว่าเราต้องมีเสื้อผ้าเยอะมากพอให้เลือก ในเว็บตอนนี้ก็มีความหลากหลายแต่ก็ยังไม่ที่สุด เรามีสิบไซซ์ 2ss ถึง 5xl ความหลากหลายของประเภทก็มีแล้วแต่ไม่ได้เยอะ แบรนด์ก็มีถึงร้อยกว่าแบรนด์ แต่ถ้าจะเป็น Top of Mind ของคนที่ซื้อเสื้อผ้าเพิ่ม เราต้องมีเยอะกว่านี้ หวังว่าคนที่อยากส่งต่อเสื้อผ้าก็จะนึกถึงเราเช่นกัน” 

loopers

ทำให้การส่งต่อเสื้อผ้ามือสองเป็นเรื่องปกติ

ในอนาคต loopers มีแพลนที่จะขยายอาณาจักรของมือสองไปให้ไกลกว่าแค่เสื้อผ้า แต่จะรวมไปถึงกระเป๋า รองเท้า เครื่องประดับ และอื่นๆ เพียงแต่ตอนนี้ที่ยังทำไม่ได้เพราะเกดกับกอล์ฟต้องการศึกษาวิธีการเก็บรักษาของเหล่านี้ให้ดีก่อน ขณะเดียวกันพวกเขาก็อยากเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไปด้วย

“เรามีเฟสอยู่ว่าถ้าได้ถึงเท่านี้จะจัดการอะไรบ้าง ต้องใช้เงิน คน ระบบ เทคโนโลยีอีกเมื่อไหร่ เพราะสุดท้ายถ้ามันโกแมสจริงๆ เราสามารถทำระบบแวร์เฮาส์ได้ มันจะสะดวกมาก มองว่าเราไม่จำเป็นต้องใช้คนเยอะ แต่เอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย” กอล์ฟเล่าถึงแผนการที่วางไว้

ระหว่างนี้พวกเขาจะพยายามให้ความรู้เรื่องการส่งต่อเสื้อผ้ามือสองต่อไป เพื่อทำให้คนรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น ไม่ใช่แค่คนเจนฯ Z ที่เข้าใจเรื่องนี้อยู่แล้วเท่านั้น “เราคุยกันอยู่ตลอดว่าจะสื่อสารแบบไม่ผลักให้ใครเป็น Outsider จะไม่ชี้ว่าใครที่ซื้อเสื้อผ้าฟาสต์แฟชั่นหรือใช้พลาสติกเป็นคนไม่ดี เราจะสื่อสารกับทุกคนด้วยเรื่องเดิมอย่างมีความเห็นอกเห็นใจ ขณะเดียวกันเราก็ต้องเช็กกันเองด้วยเพราะบางทีอาจจะเข้มงวดเกินไป บางทีคนรับสารเขาเพิ่งรับสารครั้งแรก ดังนั้น เราต้องทำให้ทุกครั้งเหมือนเป็นการสื่อสารครั้งแรกเสมอๆ” เกดบอก

loopers

ส่วนใครที่เพิ่งเริ่มสนใจแนวคิดการใช้เสื้อผ้ายังไงให้รักโลกและตอบความต้องการของตัวเอง อัลเตอร์ที่เรียนด้านแฟชั่นและสนใจเรื่องนี้มาเป็นเวลานานก็ให้คำแนะนำแบบที่เราเองก็จะนำไปใช้ด้วยเช่นกัน

“วิธีที่ดีที่สุดคือการใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้มีไซเคิลนานที่สุด ใช้จนเกินอายุของมันและนำไปรียูสเพื่อใช้แบบอื่นๆ ต่อ พูดง่ายๆ ว่าไม่ต้องซื้อใหม่เลย แต่เรารู้แหละว่ามันเป็นไปไม่ได้เพราะมนุษย์ก็ต้องการที่จะพัฒนาตัวเอง อยากได้การยอมรับจากคนอื่น เทรนด์หรือแฟชั่นมันคือสิ่งที่ทำแล้วเรารู้สึกดีขึ้น ดังนั้นจะทำยังไงให้ตัวเองรู้สึกดีและมี Self-love แต่งตัวสวยไม่ทำร้ายโลก เราก็ต้องใช้ของจากคนอื่นที่เป็นไซเคิลที่เขาใช้แล้ว โดยเราไปต่อไซเคิลยืดอายุการใช้งานของมัน 

“อย่าลืมว่าทุกสิ่งที่ขายใน loopers ตอนนี้คือของที่ถูกผลิตมาแล้ว และไม่ได้ก่อให้เกิดกระบวนการคาร์บอนฟุตพรินต์ใหม่ มันเป็นอีกหนึ่งวิธีในการพัฒนาให้แฟชั่นเราไปต่อได้ โดยที่สามารถ Fashionable และ Sustainable ไปพร้อมๆ กัน เสื้อผ้าที่เราได้รับก็มีแบรนด์ฟาสต์แฟชั่นหรือแบรนด์ที่ผลิตเป็นแมสโปรดักต์ แต่เราจะไม่ไปบอกว่าเสื้อผ้าชิ้นนี้ไม่ดีแล้วทิ้งกลายเป็นขยะ เราต้องต่อไซเคิลมันให้นานและใช้อีกหลายๆ ครั้งให้มากที่สุดต่างหาก”

loopers

แม้ฟังดูเป็นเรื่องยากสำหรับนักช้อปหลายคน แต่เกดเองที่เคยซื้อเสื้อผ้าเยอะๆ มาก่อนก็ยืนยันว่าทำได้จริง และเป็นสิ่งที่ทุกคนควรทำ ซึ่งเธอหวังว่าแพลตฟอร์มที่กำลังทำอยู่นี้จะช่วยส่งเสริมมูฟเมนต์การส่งต่อเสื้อผ้ามือสองในไทยให้เข้มแข็งขึ้น

“เราหวังว่า loopers จะเป็น Marketplace ที่ใครก็ได้มาเปิดตู้เสื้อผ้าตัวเอง และขายได้อย่างง่าย คนรับก็รับด้วยความชัดเจน แต่กว่าจะไปถึงจุดนั้น เราฝันสูงไว้ว่าเราอยากเซตมาตรฐานของการส่งต่อเสื้อผ้ามือสองให้คนที่อยากจอยน์คอมมูนิตี้เราว่าต้องทำให้ได้เท่านี้ เพื่อที่เขาจะรักษาคุณภาพเสื้อผ้าที่ใส่ให้ดีที่สุด ณ ตอนใช้งาน เมื่อส่งต่อก็จะได้ส่งต่ออย่างยืดอายุการใช้งานของมันให้นานที่สุด 

“เราอยากให้การที่ใครๆ ก็ดูแลเสื้อผ้าและส่งต่อให้กันกลายเป็นเรื่องปกติ เพราะมันไม่ได้ดีแค่กับเราเท่านั้น แต่ยังดีกับคนอื่นและโลกด้วย”

สำหรับใครที่สนใจอยากส่งต่อเสื้อผ้ามือสองกับ loopers สามารถลงทะเบียนเว็บไซต์ได้ที่ https://loopers.shop หรือติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง Facebook : Loopers และ Instagram : loopers.shop

loopers

Writer

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.