สรุป 5 ประเด็นในการประชุม COP26 - Urban Creature

ถ้าพูดเรื่องการประชุม COP26 ที่จบไปราว 2 สัปดาห์อย่างย่อๆ คงต้องเริ่มที่ ‘อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change – UNFCCC)’ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 21 มีนาคม 1994 ซึ่งเป้าหมายหลักของอนุสัญญา UNFCCC นี้คือการป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับภูมิอากาศโลกด้วยการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ

กลุ่มประเทศที่ลงนามร่วมใน UNFCCC มีหน้าที่ต้องร่วมกันหารือ แลกเปลี่ยน และถกเถียงเกี่ยวกับ ‘สภาวะโลกร้อน’ เป็นประจำทุกปี และนี่คือที่มาของการประชุม COP หรือ Conference of the Parties ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรก 1 ปีหลังจากอนุสัญญามีผลบังคับใช้

หนึ่งหมุดหมายสำคัญของการประชุม COP ปีที่ 21 ณ กรุงปารีส ปี 2015 – ผู้นำโลกได้บรรลุ ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่มีผลผูกพันให้ทุกประเทศต้องควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และต้อง ‘เร่งพยายาม’ จำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสด้วย มาตรการที่แต่ละประเทศต้องมีส่วนร่วม หรือเรียกว่า Nationally Determined Contributions หรือ NDCs 

ตัวเลขที่ได้ยินกันเป็นเวลานานอย่าง ‘1.5 องศาฯ’ และมาตรการปลีกย่อยในหน้าหนังสือเรียนที่คุ้นเคย เริ่มต้นขึ้นจากตรงนี้ 

หมุดหมายสำคัญยังไม่จบแค่นี้ กลไกที่ถูกวางไว้ในการประชุมที่ปารีสคือทุกๆ 5 ปี ทุกประเทศจะประชุมหารือเพื่อตกลงมาตรการ NDC กันอีกครั้ง พูดง่ายๆ คือนอกเหนือจากมีเป้าหมายไม่ให้โลกร้อนขึ้นแล้ว เราต้องทำอะไรบ้างเป็นขั้นตอนไป ตั้งแต่หนึ่ง สอง สาม สี่ ฯลฯ 

นี่คือสิ่งที่ผู้นำโลกต้องคุยกันในการประชุม COP ครั้งที่ 26 หรือ COP26 ที่กลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ที่คุ้นหูกันในหน้าข่าวช่วงที่ผ่านมา ซึ่งการประชุมปีที่ 26 นี้แต่เดิมวางแผนว่าจะจัดในปลายปี 2020 แต่ด้วยสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนมาจัดในปี 2021 แทน

นับจาก COP21 ไปอีก 5 ปี – COP26 จึงเป็นการประชุมที่ทุกประเทศต้องมาร่วมกันหามาตรการ NDC ของแต่ละประเทศกันใหม่อีกครั้ง เพื่อไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นไปกว่า 1.5 องศาฯ ตามเป้าหมายเร่งด่วน

จากหลายปรากฏการณ์ผิดปกติทางธรรมชาติ การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สภาพอากาศแปรปรวน ไฟไหม้ป่าอันสาหัส น้ำทะเลหนุนสูง จนถึงกระแสการเคลื่อนไหวรณรงค์รักษาสภาพแวดล้อมทั่วโลก เหล่านี้หนีไม่พ้นหน้าข่าวในช่วง 2 ปีมานี้เลย ดังนั้นการประชุม COP26 จึงถูกตั้งเป้าว่าจะเป็นอีกหมุดหมายหนึ่งว่าผู้นำโลกจะพาขบวนรถจักรมนุษยชาตินี้ไปทางไหน

สู่แสงสว่างที่เป็นทางรอดข้างหน้า หรือตกหุบเหวลึก…เอ๊ะ 

นี่คือ 5 เรื่องเอ๊ะ ที่ Urban Creature รวบรวมไว้ จากการประชุม COP26 ที่ผ่านมา… 


อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลมีตัวแทนในที่ประชุมมากที่สุด

39,509 คือจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม COP26 ซึ่งเป็นตัวเลขเบื้องต้นที่ UN ประกาศออกมาก่อนประชุม ทั้งหมดแบ่งเป็นตัวแทนที่มาจากประเทศสมาชิก ประเทศสังเกตการณ์ (ที่ไม่ได้ร่วมลงนาม) ตัวแทนจาก UN และองค์การระหว่างประเทศ กลุ่ม NGO รวมถึงสื่อมวลชนด้วย 

แต่จากรายงานของ Global Witness – NGO ระหว่างประเทศที่จับตามองเรื่องสิ่งแวดล้อม-ทรัพยากรธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ได้เปิดเผยว่าลิสต์รายชื่อผู้เข้าร่วมการประชุม COP26 ทั้งหมดนั้นมีรายชื่อของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของบริษัทอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน) อยู่ถึง 503 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่รวมกันแล้วมากกว่าตัวแทนจากแต่ละประเทศเสียอีก 

เช่น ประเทศที่มีผู้แทนในการประชุมมากที่สุดอย่างบราซิล มีจำนวนทั้งหมด 479 คน ประเทศตุรกีมีผู้แทนในการประชุมอยู่ที่ 376 คน ประเทศกานามี 337 คน ฟิลิปปินส์มี 23 คน ตัวเลข ‘503’ ของกลุ่มผลประโยชน์ที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลกลับมีจำนวนมากกว่าผู้แทนจากประเทศหนึ่งๆ เสียอีก 

ตัวเลข ‘503’ นี้ไม่ได้หมายความว่าตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์นี้ไม่ได้รวมกลุ่มกันและสร้างเป็นกลุ่มใหม่ขึ้นมา แต่เป็นการรวบรวมจากรายชื่อแยกย่อยในกลุ่มตัวแทนที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด

จากตัวเลขสถิติบอกเราว่า กระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์นั้นมีสัดส่วนถึง 89 เปอร์เซ็นต์ของทั้งหมด และในจำนวนนี้เป็นแหล่งที่มาของพลังงานทั้งโลกกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ในเดือนกันยายน 2564 ที่ผ่านมา งานวิจัยจากวารสาร Nature ชี้ว่า ถ้าไม่อยากให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นไปกว่า 1.5 องศาฯ แล้วล่ะก็ พวกเราจะ “ต้องหยุดการขุดเจาะ” เชื้อเพลิงฟอสซิล ภายในปี 2050 เพื่อให้น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ 60 เปอร์เซ็นต์ และถ่านหินถึง 90 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนทั้งหมดให้อยู่ในแหล่งธรรมชาติดังเดิม 

นี่เป็นประเด็นที่นักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมตั้งคำถามว่า ในเมื่อสิ่งที่ต้องทำเพื่อไม่ให้โลกร้อนไปกว่านี้ต้องขัดผลประโยชน์กับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างแน่นอน แล้วทำไมการประชุม COP26 ที่เป็นหมุดหมายสำคัญของอนาคตโลกใบเดียวของเรานี้ จึงมีผู้ที่ต้องรู้ว่าตัวเองต้องเสียประโยชน์แน่ๆ มาร่วมตัดสินใจด้วยล่ะ?

ลองแทนคำว่า ‘ผู้แทนจากบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิล’ เป็น ‘สมาชิกวุฒิสภา’ ดูสิ เขาจะโหวตรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอให้ยุบ ส.ว.ไหมล่ะ ดูสิ อาจจะคล้ายๆ กันนั่นแหละ

2
แพะรับบาป (แทนประเทศร่ำรวย) ที่ชื่อ ‘Phase Down’ 

รูปธรรมที่สำคัญที่สุดของการประชุม COP26 ครั้งนี้คือ ‘Glasgow Climate Pact’ หรือข้อตกลงภูมิอากาศกลาสโกว์ ซึ่งรวบรวมสาระสำคัญ ข้อตกลง และความร่วมมืออย่างคร่าวๆ ที่ผ่านการเจรจาและแลกเปลี่ยนตลอดการประชุม 2 สัปดาห์ของตัวแทนทุกระดับ 

หนึ่งในสิ่งที่เป็นประเด็นสำคัญในหน้าข่าวสารคือ ในช่วงโค้งสุดท้ายของการประชุม ผู้แทนจากประเทศจีนและอินเดียผลักดันให้ปรับถ้อยคำในข้อตกลงเกี่ยวกับ ‘การเปลี่ยนผ่านรูปแบบการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียน’ 

จากร่างเดิมในช่วงแรกเริ่มของการประชุมระบุว่าจะใช้คำว่า ‘Phase-out หรือยกเลิกการใช้, ปลดระวาง’ เชื้อเพลิงถ่านหิน (Coal) และยกเลิกการสนับสนุนทางการเงิน (Subsidies) เชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไม่มีประสิทธิภาพ แต่ท้ายที่สุดถ้อยคำกลับลดระดับให้เป็นเพียง ‘Phase Down – หรือลดการใช้’ เชื้อเพลิงถ่านหิน แทน 

นี่เป็นประเด็นสำคัญที่เกิดการวิพากษ์วิจารณ์การเปลี่ยนท่าทีของสองประเทศในช่วงท้ายการประชุม อย่างไรก็ตามหากมองเรื่องนี้โดยเชื่อมกับการเมืองระหว่างประเทศ เสียงวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีของจีนและอินเดียมักมาจากกลุ่มประเทศ ‘พัฒนาแล้ว’ อย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ซึ่งสุดท้ายก็ได้รับการตีแผ่โดยสื่อกระแสหลักในกลุ่มประเทศเหล่านี้ 

แน่นอนว่าท่าทีของจีนและอินเดียสมควรได้รับการวิจารณ์ แต่ Sam Knights นักกิจกรรมในกลุ่ม Extinction Rebellion ที่รณรงค์และเคลื่อนไหวด้านวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เขียนบทความลงนิตยสาร Jacobin และชวนมองสถานการณ์นี้โดยเชื่อมโยงให้เห็นภาพใหญ่คร่าวๆ 2 ด้าน หนึ่ง ระหว่างกลุ่มร่ำรวย และ สอง กลุ่มประเทศฐานะระดับปานกลางและยากจน Knights พยายามชี้ให้เห็นว่าการพุ่งเป้าโจมตีการลดน้ำหนักในข้อตกลงนี้เป็นเพียงแค่การหาแพะรับบาปของกลุ่มประเทศโลกที่หนี่งเท่านั้น 

เพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น Knights ชี้ให้เห็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าในการประชุม COP15 ที่โคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมื่อปี 2009 ได้มีข้อตกลงให้การสนับสนุนเงินทุนเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพแวดล้อมจากประเทศร่ำรวย (เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เป็นต้น) ให้กับกลุ่มประเทศยากจนเป็นจำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ 12 ปีผ่านไป ประเทศร่ำรวยกลับไม่ได้ทำตามสัญญาทั้งการจ่ายเงินไม่ครบจำนวนและบ้างให้ในรูปแบบเงินกู้ที่ต้องใช้คืน 

หนักไปกว่านั้น ในการประชุม COP26 ครั้งนี้ไม่ได้ยกเรื่องเงินทุนสนับสนุนประเทศยากจนนี้ขึ้นมาบนโต๊ะเจรจาแต่อย่างใด แต่กลับมีเพียงเนื้อหาว่าจะสร้าง ‘บทสนทนาร่วม (Dialogue)’ เพื่อมีมาตรการต่อไปในอนาคต แต่ลองนึกภาพกลุ่มประเทศยากจนที่ระดับน้ำสูงขึ้น ผู้คนต้องอพยพย้ายที่อยู่ หรือภัยพิบัติทางธรรมชาติสาหัสมากกว่าเดิมหลายเท่า ดังนั้นการริเริ่มบทสนทนาอาจไม่ทันเสียแล้ว 

น้ำหนักของการวิพากษ์วิจารณ์ท่าทีนี้ของจีนและอินเดียจึงต้องดูควบคู่ไปกับบริบทอื่นที่เกิดขึ้นในการประชุมเช่นกัน และหากจะเชื่อมโยงให้เห็นกับ ‘ความเอ๊ะ’ ข้อแรกที่จำนวนผู้แทนที่โยงกับผลประโยชน์ของบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลมีจำนวนรวมกันมากที่สุดแล้ว การเปลี่ยนถ้อยคำในข้อตกลงเช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่


ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ‘สุทธิ’ เป็นศูนย์…ห้ะ อะไรนะ?

ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการประชุม COP26 เราคงได้ยินคำศัพท์คำนี้บ่อยครั้งมากกว่าปกติ ทั้งจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรี ไปจนถึงผู้นำภาคธุรกิจต่างๆ นั่นคือคำว่า ‘Net Zero’ 

ผู้นำโลกหลายประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป สหราชอาณาจักรได้ให้สัญญานโยบาย ‘Net Zero’ นี้ภายในกรอบเวลาปี 2050 ทั้งสิ้น (ยกเว้นประเทศไทย)

ความหมายของมันคือการลดปริมาณปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลทวีความรุนแรงของวิกฤตสภาพแวดล้อมให้จำนวน ‘สุทธิ’ เป็นศูนย์ แต่สิ่งที่ต้องมาขยายให้แน่ใจคือคำว่า ‘สุทธิ’ หรือ ‘Net’ 

หากมองให้ลึกลงไป คำว่า ‘สุทธิ’ หรือ ‘Net’ นี้ หมายความว่าปริมาณอะไรสักอย่างที่เกิดขึ้นหลังจากหักลบด้วยอะไรสักอย่าง ในกรณีของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้น ‘Net Zero’ จึงหมายความว่า ตัวเลขที่เป็นศูนย์เกิดจากการนำเอาปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยสู่บรรยากาศ หักลบด้วยจำนวนก๊าซเรือนกระจกที่สามารถดูดซับกลับมาได้ เช่น ถ้าประเทศไทยมีป่าจำนวน X ไร่ ดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้จำนวน Y ตัน ถ้าประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจก Y ตัน จะเท่ากับว่าไทยมีการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ 

Holly Jean Buck นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ผู้เขียนหนังสือ Ending Fossil Fuels: Why Net Zero is Not Enough ได้ชวนจินตนาการโลกที่เป็น Net Zero อย่างแท้จริง (หากทุกประเทศทำสำเร็จ) เธอเรียกโลกเช่นนี้ว่า ‘Cleaner Fossil World’ นั่นคือเป็นโลกที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบสะอาด เช่น ถ้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศ จะมีพื้นที่ป่า หรือเทคโนโลยีดักจับเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ต่อ

ประเด็นที่ Buck ชี้ให้เห็นคือ ‘Net Zero’ มันสวยหรูก็จริง แต่มันก็ทำให้หลุดโฟกัสออกไปเรื่อยๆ จากสาเหตุสำคัญของวิกฤตสภาพแวดล้อม นั่นคือการขุดเจาะและพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล 

แล้วอนาคตของโลกที่ไม่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลล่ะ จะเป็นไปได้ไหม?


สัญญา (ไปงั้นๆ แหละ) ของรัฐบาลไทย

เอาล่ะ หลังจากที่พูดถึง COP26 ในภาพรวมกันแล้ว ทีนี้เรากลับมาที่ประเทศไทยกันบ้าง ผู้นำประเทศของเราให้คำสัญญาอะไร แล้วสิ่งที่ทำจริงหลังจากการประชุมนั้นเป็นยังไง

ส่วนหนึ่งของถ้อยแถลงต่อที่ประชุม COP26 ของประยุทธ์ จันทร์โอชาเป็นดังนี้ : “วันนี้ผมมาพร้อมกับเจตนารมณ์ที่เป็นความท้าทายอย่างยิ่งว่าประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ และทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 หรือก่อนหน้านั้นด้วยการสนับสนุนจากความร่วมมือระหว่างประเทศและกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญา”

หากลองถอดรหัสคำพูดสั้นๆ ใน 4 นาทีของคำกล่าวทั้งหมดดู มันจะหมายถึงอะไร นั่นคือ หนึ่ง ประเทศไทยสัญญาว่าจะบรรลุ ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050’ และ สอง จะบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2065 (Net Zero รวมไปถึงก๊าซเรือนกระจกอื่นนอกจากคาร์บอนไดออกไซด์) 

แต่ถ้าลองเปรียบเทียบไทยกับภาพรวม ประเทศส่วนใหญ่ใน COP26 ได้ตกลงเงื่อนไขเวลา Net Zero ไว้ที่ปี 2050 ทั้งนั้น แต่ของไทยกลับช้ากว่าประเทศอื่นไปกว่า 15 ปี นอกจากนั้นทางการไทยก็ไม่ได้ลงนามในข้อตกลงปลีกย่อยอย่างการลดการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation) ในปี 2030 หรือข้อตกลงลดการปล่อยก๊าซมีเทนเป็นจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2030 และแม้แต่ข้อตกลงว่าด้วยการหยุดการใช้ถ่านหินก็ไม่มีรายชื่อของประเทศไทยเลย 

นอกจากนั้น อย่างที่เล่าไปในส่วนที่แล้ว นิยามของ Net Zero คือจำนวนการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เท่ากับ ปริมาณที่ดูดซับจากชั้นบรรยากาศโดยพื้นที่สีเขียวหรือเทคโนโลยีสุดล้ำ แต่หากลองเทียบกับบริบทของไทยในช่วง 7 ปีมานี้ก็ได้ การรักษาพื้นที่สีเขียวมักจะตามมาด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเช่น นโยบายทวงคืนผืนป่า หรือ ประเด็นของพื้นที่บางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ยังไม่พักไปพูดถึงเทคโนโลยีดูดคาร์บอน แต่ในกรณีพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC กลับเปลี่ยนผังเมืองในเขตพื้นที่สีเขียวและตั้งเขตอุตสาหกรรมได้โดยลัดขั้นตอนการประเมินทางสิ่งแวดล้อม

คำถามจึงกลับไปที่คำสัญญาว่าจะลดนู่นลดนี่จะทำได้จริงหรือไม่ หรือต่อให้ทำได้จริง ใครเป็นคนได้ ใครเสียประโยชน์มากกว่ากัน?


COP ไปต่อ หรือ พอแค่นี้?

จากความเอ๊ะ งงสงสัยทั้งหมดจากการประชุม COP26 ที่ผ่านมา ตั้งแต่ตัวเลขผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล การเปลี่ยนคำว่า ‘Phase Out’ ให้เหลือแค่เพียง ‘Phase Down’ จนถึงคำสัญญาการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่ดูผิวเผินและไม่ได้พุ่งตรงไปที่ปัญหาใจกลางวิกฤต (คงไม่ต้องพูดถึงส่วนของไทยเนอะ) จนนำมาสู่คำถามสำคัญว่าการประชุมแบบนี้ยังคงต้องมีต่อหรือไม่ หรือหยุดแค่นี้ดี? แล้วกระบวนการแบบไหน ถึงจะมีประสิทธิภาพจริงๆ ต่อการหยุดยั้งวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ตอนนี้?

หากลองกวาดสายตาออกนอกห้องประชุม ผู้ชุมนุมกว่าแสนคนรวมตัวบนท้องถนนเมืองกลาสโกว์เรียกร้องให้ผู้นำโลกที่รวมตัวในการประชุมเร่งแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพแวดล้อม

System Change not Climate Change – เปลี่ยนระบบสังคม ไม่ใช่เปลี่ยนสภาพภูมิอากาศ” 

Planet Before Profit – อนาคตของโลกต้องมาก่อนผลประโยชน์” 

Stop Fossil Fuels – หยุดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเดี๋ยวนี้” 

ข้อความเหล่านี้ในป้ายประท้วงสื่อสารตรงไปตรงมา ชัดเจน แต่ก็ขัดแย้งกันอย่างสุดขั้วกับสิ่งที่เกิดขึ้นในห้องประชุม

จะมีการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานอย่างไร? แล้วอนาคตแบบไหนที่อยากให้เป็น? 

ไม่แน่ว่าคำตอบไม่ได้อยู่ในห้องประชุมของผู้นำใส่สูท ผูกไท แต่อยู่ในท้องถนนที่ประชาชนตาดำๆ ลุกขึ้นมาส่งเสียงเพื่อกำหนดชีวิตและชะตากรรมของโลกด้วยตัวเอง 


Sources:

BBC | https://bbc.in/3rahpdJ
Common Dreams | https://bit.ly/3nTjd8N
Conference of the Parties (UNFCCC) | https://bit.ly/3HU9IOM
Ending Fossil Fuels: Why Net Zero Is Not Enough (Extract) | https://bit.ly/310uECq
Glasgow Climate Pact (UNFCCC) | https://bit.ly/3oZUGOE
Provisional List of Participants at COP26 (UNFCCC) | https://bit.ly/2ZoRTG5
Sam Knights on Jacobin | https://bit.ly/3xodSJK
Thailand Shows Lack of Commitment (Bangkok Post) | https://bit.ly/32trQP3
The Broken 100-billion Promise (Nature) | https://go.nature.com/3p3UcqK
The Conversation | https://bit.ly/3l9klU4
Unextractable Fossil Fuels in 1.5C World (Nature) | https://go.nature.com/2ZnXf4i
Washington Post | https://wapo.st/3HSQCs8
What Was Thailand Doing at COP26 (The Diplomat) | https://bit.ly/3cNIR8q
ถ้อยแถลงของประยุทธ์ จันทร์โอชา | https://bit.ly/3lavpAi

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.