ชาวยุโรปเตรียมตัว ‘หนาว’ จากวิกฤตพลังงาน - Urban Creature

ใกล้สิ้นปี 2022 แล้ว แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจทั่วโลกจะไม่ดีขึ้นเร็วๆ นี้ เพราะแม้ว่าบรรดาธุรกิจจะเริ่มกลับมาลืมตาอ้าปากได้บ้างแล้ว หลังเจอวิกฤตโควิด-19 ซัดไปหลายระลอกในช่วงเกือบสามปีที่ผ่านมา แต่แสงแห่งความหวังของหลายประเทศกลับต้องดับลง แถมอาจมืดมิดกว่าเดิมเสียด้วย เพราะดันถูกซ้ำเติมด้วยเหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครนที่ลากยาวมานานกว่า 7 เดือน

ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนอาจฟังดูเหมือนเรื่องไกลตัว แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลย เพราะสงครามนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลก ทั้งทางตรงและทางอ้อม ‘ประเทศในทวีปยุโรป’ มีแนวโน้มที่จะเจอผลกระทบรุนแรงกว่าใคร หลังจากก่อนหน้านี้ได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรกดดันให้รัสเซียยุติสงคราม ผ่านนโยบายแบนการนำเข้าและส่งออกสินค้าหลายรายการจากแดนหมีขาวอย่างการห้ามนำเข้าทองคำ น้ำมัน ถ่านหิน เป็นต้น

แต่มาตรการเหล่านี้ส่อแววไม่ได้ผลและอาจทำให้ยุโรปลำบากเสียเอง เพราะรัสเซียได้ปิดท่อส่งก๊าซหลักไปยังยุโรปอย่าง นอร์ด สตรีม 1 (Nord Stream 1) อย่างไม่มีกำหนด โดยให้เหตุผลว่าพบการรั่วไหลของน้ำมัน แต่ทางยุโรปเชื่อว่านี่คือข้ออ้างที่รัสเซียใช้โต้ตอบมาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก 

ที่น่ากังวลคืออีกไม่กี่เดือนยุโรปจะย่างเข้าฤดูหนาวแล้ว หลายฝ่ายกลัวว่าชาวยุโรปจะต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวเย็นจาก ‘วิกฤตขาดแคลนพลังงาน’ เนื่องจากพลังงานราว 60 เปอร์เซ็นต์ที่ยุโรปใช้คือพลังงานที่นำเข้าจากรัสเซียทั้งสิ้น รวมไปถึงความทุกข์ในการดำเนินชีวิตจากค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่หลายประเทศกำลังก้าวเข้าสู่ ‘ภาวะเศรษฐกิจถดถอย’ เต็มรูปแบบ

ค่าไฟฟ้า ค่าครองชีพ แพงหูฉี่

วิกฤตพลังงาน ยุโรป รัสเซีย ยูเครน

สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนคือหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้มหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกอย่างยุโรปกำลังเจอกับ ‘วิกฤตเงินเฟ้อ’ ส่งผลให้ภาคธุรกิจและครัวเรือนโอดครวญกันเป็นแถวจากค่าไฟฟ้า ค่าครองชีพ และต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้นจนแทบแบกภาระไม่ไหว

ถ้าดูเป็นตัวเลขจะยิ่งน่าตกใจ เพราะเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ยุโรปทุบสถิติอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 9.1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในรอบ 25 ปี หรือตั้งแต่ปี 1997 เลยทีเดียว 

การปิดช่องทางส่งออกก๊าซธรรมชาติของรัสเซียไม่เพียงแต่ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังผลักให้ราคาอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ตัวอย่างคือ ‘สหราชอาณาจักร’ ที่แม้ว่าจะพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเพียง 3 เปอร์เซ็นต์ แต่สถานการณ์เศรษฐกิจตอนนี้ค่อนข้างกระท่อนกระแท่น เพราะเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 สหราชอาณาจักรมีอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 10.1 เปอร์เซ็นต์ นับเป็นสถิติที่สูงสุดในรอบ 40 ปี 

ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (มกราคม-กันยายน 2565) ค่าไฟฟ้าในสหราชอาณาจักรได้เพิ่มมากขึ้นกว่า 3 เท่าแล้ว เจ้าของร้านเบเกอรีแห่งหนึ่งในกรุงลอนดอนเล่าว่า ปัจจุบันเธอต้องจ่ายค่าไฟมากถึง 5,500 ปอนด์ต่อเดือน (ราว 233,000 บาท) จากเดิมที่จ่ายเพียงเดือนละประมาณ 1,500 ปอนด์ (ราว 64,000 บาท) เท่านั้น

นอกจากนี้ ชาวเมืองผู้ดีจำนวนไม่น้อยยังอาจต้องอดมื้อกินมื้อ เพราะค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้พวกเขาต้องตัดสินใจว่าจะนำเงินไปซื้ออาหารหรือจ่ายค่าไฟฟ้า รวมถึงค่าฮีตเตอร์เพื่อสร้างความอบอุ่นในช่วงเข้าสู่ฤดูหนาว แถมล่าสุดยังมีรายงานว่า สหราชอาณาจักรจะปรับขึ้นค่าไฟในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งอาจเพิ่มมากขึ้นถึง 139 – 1,277 ปอนด์ต่อปี (ราว 5,900 – 54,000 บาท)

จากวิกฤตค่าครองชีพที่แพงหูฉี่นี้ทำให้ประชาชนในยุโรปจำนวนไม่น้อยต้องหันไปพึ่งพาอาหารจาก Food Bank หรือคลังอาหารที่จัดหาอาหารเพื่อช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบาง เหมือนอย่างใน ‘เยอรมนี’ ที่สถานการณ์คลังอาหารทั่วประเทศเริ่มตึงเครียด เพราะมีประชาชนหันมาพึ่งพาอาหารจากศูนย์เหล่านี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้มีจำนวนมากกว่า 2 ล้านคนแล้ว

ประหยัดไฟ รัดเข็มขัดสู้เศรษฐกิจสุดฤทธิ์

วิกฤตพลังงาน ยุโรป รัสเซีย ยูเครน

นอกจากค่าครองชีพที่แพงขึ้นจะทำให้ผู้คนในยุโรปจำนวนมากหน้าซีดเวลาจ่ายเงินซื้อของกินของใช้กันแล้ว ภาคเอกชนและภาครัฐก็ได้รับผลกระทบไม่น้อยไปกว่ากัน ถึงขนาดต้องเริ่มออกมาตรการประหยัดต้นทุนและงบประมาณ เพื่อเอาตัวรอดจากวิกฤตที่ทำให้พลังงานในยุโรปราคาสูงขึ้นถึง 8 เท่า เมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

หนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตพลังงานคือ ร้าน ‘เบเกอรี’ ที่ปกติแล้วต้องใช้พลังงานจำนวนมากอบขนมปังประเภทต่างๆ แทบจะตลอดทั้งวัน ตัวอย่างเช่น Andreas Schmitt เจ้าของร้านเบเกอรี 25 สาขาในเมืองแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันเขาใช้เตาอบน้อยลงและไม่ทำขนมหลายประเภทเท่าแต่ก่อนแล้ว ซึ่งวิธีนี้ทำให้เขาลดการใช้พลังงานได้ราว 5 – 10 เปอร์เซ็นต์ 

ถึงอย่างนั้น ค่าไฟฟ้าและพลังงานของปีนี้ที่เขาต้องจ่ายราว 300,000 ดอลลาร์สหรัฐ (11,430,000 บาท) ก็อาจเพิ่มเป็นมากกว่า 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ (38,100,000 บาท) ในปีหน้า ทำให้เห็นว่าการประหยัดพลังงานเล็กๆ น้อยๆ ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาพรวมได้มากนัก ซึ่งผู้ประกอบการคนไหนที่สู้ต้นทุนการผลิตที่แพงขึ้นหลายเท่าตัวไม่ไหว ก็ต้องยอมปิดตัวตามกลไกของเศรษฐกิจไปตามๆ กัน

ส่วนภาครัฐของหลายประเทศในยุโรปก็ประกาศใช้มาตรการ ‘ปิดไฟ’ ตามสถานที่สาธารณะต่างๆ เช่น อนุสาวรีย์ อาคารประวัติศาสตร์ สถานที่ราชการ ฯลฯ โดยเราขอยกตัวอย่างจากประเทศกรีซ ที่ภาครัฐได้สั่งปิดไฟส่วนหนึ่งบนสะพานแขวนข้ามช่องแคบที่ยาวที่สุดในโลกอย่าง Rion-Antirion Bridge ซึ่งโดยปกติถ้าเปิดไฟครบทุกดวง ผู้คนจะเห็นถึงความยิ่งใหญ่ของสะพานแห่งนี้ได้ไกลจากหลายกิโลเมตร แต่ตอนนี้ที่ทางการสั่งปิดไฟ 800 ดวง หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของไฟทั้งหมดจาก 1,500 ดวง ทำให้สะพานความยาว 3 กิโลเมตรนี้เงียบเหงาและซบเซาลงกว่าเดิมมาก

ขณะเดียวกัน ใครที่มีโอกาสไปเยือนยุโรปในช่วงไม่กี่เดือนต่อจากนี้ อาจต้องท่องเที่ยวแบบไม่อภิรมย์เท่าไหร่ เพราะบรรดาร้านค้าต้องปิดเร็วกว่าปกติ ร้านอาหารให้บริการได้ไม่เต็มที่ ส่วนพื้นที่แลนด์มาร์กต่างๆ อาจเหลือเพียงไฟสลัวๆ ไม่มีแสงสีจัดเต็มเหมือนแต่ก่อน เพื่อช่วยภาครัฐประหยัดพลังงานและงบประมาณที่แพงขึ้นเรื่อยๆ

เร่งกักตุนฟืน หันกลับไปพึ่งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

วิกฤตพลังงาน ยุโรป รัสเซีย ยูเครน

เหตุผลที่ยุโรปต้องรัดเข็มขัดประหยัดพลังงานกันแบบสุดๆ ไม่ใช่เพราะราคาที่แพงขึ้นเท่านั้น แต่ยังกลัวว่าประชาชนอาจมี ‘พลังงานไม่เพียงพอ’ สำหรับสร้างความอบอุ่นในช่วงฤดูหนาวที่กำลังมาถึงด้วย ถ้าเป็นแบบนั้นจริง หมายความว่ายุโรปต้องเผชิญกับความมืดมิดและความหนาวเย็นไปอีกหลายเดือนเลย

เพราะกังวลว่ารัสเซียอาจตัดช่องทางการส่งพลังงานทั้งหมด ยุโรปจึงต้องเพิ่มการนำเข้าพลังงานจากประเทศอื่นๆ เช่น นอร์เวย์และอาเซอร์ไบจาน รวมถึงเริ่มมองหาแหล่งพลังงานอื่นๆ เตรียมไว้ใช้ในอนาคต ซึ่งรายงานจาก Washington Post ระบุว่า ตอนนี้สิ่งที่มีค่าเหมือนทองคำก็คือ ‘ฟืน’ เพราะผู้คนในหลายประเทศ เช่น สาธารณรัฐเช็ก กรีซ ฝรั่งเศส บัลแกเรีย เยอรมนี ฯลฯ กำลังเร่งกักตุนฟืนไว้ใช้ในฤดูหนาว ซึ่งความต้องการฟืนที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้สินค้าประเภทนี้มีราคาสูงขึ้นเหมือนกัน

แต่ขณะเดียวกัน สถานการณ์ที่ทำให้คนต้องกลับมาใช้ฟืนก่อไฟสร้างพลังงานความร้อน ก็ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่จะตามมา เนื่องจากการเผาฟืนคือแหล่งสร้างมลพิษที่เป็นอนุภาคที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนในสหภาพยุโรปไปแล้วมากกว่า 1,000 คนต่อวัน ที่สำคัญ การใช้พลังงานที่สร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศนี้ยังย้อนแย้งกับนโยบายสหภาพยุโรปที่ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้มากที่สุดด้วย

ยังไม่พอ ประเทศที่มีแนวคิดก้าวหน้าอย่างเยอรมนีก็ถึงกับต้องเปลี่ยนแผน จากเดิมที่ตั้งเป้าปิด ‘โรงไฟฟ้านิวเคลียร์’ ทั้งหมดในประเทศภายในสิ้นปี 2022 แต่วิกฤตพลังงานทำให้เยอรมนีต้องเก็บโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ 2 แห่ง เพื่อเป็นแหล่งพลังงานสำรองหากรัสเซียหยุดส่งก๊าซให้ยุโรป พูดได้ว่าเยอรมนีตื่นตัวกับวิกฤตพลังงานมากเป็นพิเศษ เพราะปกติประเทศนี้นำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียมากถึง 55 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เยอรมนีเร่งทบทวนการปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั่วประเทศ เพราะเห็นตัวอย่างผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในฟูกูชิมะเมื่อปี 2011 ซึ่งการระเบิดของสารเคมีครั้งนั้นสร้างความเสียหายให้อาคารหลายหลัง และประชาชนจำนวนมากยังต้องเจ็บป่วยในระยะยาวจากการสัมผัสสารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลออกมาด้วย

แม้เยอรมนีจะพยายามกำจัดพลังงานที่สกปรกและอันตรายนี้ แต่ทุกคนคงเห็นแล้วว่า วิกฤตพลังงานบังคับให้รัฐบาลต้องปัดฝุ่นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกครั้ง ซึ่งไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ แดนอินทรีเหล็กยังจำเป็นต้องถอยหลังไปไกลกว่านั้น โดยการผ่านกฎหมายฉุกเฉินเพื่อเปิดใช้ ‘โรงไฟฟ้าถ่านหิน’ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สกปรกและปล่อยก๊าซมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศเช่นกัน 

เห็นแบบนี้ก็พอสรุปได้ว่า เมื่อเกิดวิกฤตขาดแคลนพลังงานขึ้นมา หลายประเทศก็จำเป็นต้องเลือกความอยู่รอดของประชาชน มากกว่าการเดินหน้าใช้พลังงานสะอาดเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อม

ทุ่มงบเยียวยาภาคธุรกิจและประชาชน

วิกฤตพลังงาน ยุโรป รัสเซีย ยูเครน

นอกจากบรรดาประเทศในยุโรปต้องเร่งกักตุนพลังงานหลายรูปแบบให้เพียงพอสำหรับฤดูหนาวที่จะถึงแล้ว ภาครัฐยังช่วยเหลือภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ผ่านนโยบายมอบเงินอุดหนุนค่าครองชีพ ไปจนถึงการควบคุมราคาขายส่งสินค้าต่างๆ โดยข้อมูลเมื่อเดือนสิงหาคม 2022 ระบุว่า ประเทศสหภาพยุโรปทุ่มงบประมาณไปกับนโยบายเหล่านี้แล้วกว่า 276,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 10.2 ล้านล้านบาท)

ประเทศที่ใช้งบประมาณไปกับนโยบายนี้มากที่สุดคือเยอรมนี นั่นคือมากกว่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.2 ล้านล้านบาท) โดยหนึ่งในนโยบายที่เยอรมนีเลือกใช้คือ ‘ตั๋ว 9 ยูโร’ ซึ่งเป็นโครงการที่ให้ประชาชนสามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรถประจำทาง รถไฟ รถไฟฟ้า รถราง แบบไม่จำกัดเที่ยว โดยเหมาจ่ายเพียง 9 ยูโรต่อเดือนเท่านั้น (ราว 330 บาท) 

ถือเป็นโครงการที่ลดการใช้พลังงานที่ประสบความสำเร็จ เพราะ 1 ใน 5 ของจำนวนคนที่ซื้อตั๋วทั้งหมดราว 52 ล้านใบคือกลุ่มคนที่ปกติใช้รถยนต์ส่วนตัว ซึ่งนโยบายนี้ทำให้ระหว่างเดือนมิถุนายน-เดือนสิงหาคม 2022 เยอรมนีสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 1.8 ล้านตัน

ส่วนตัวอย่างนโยบายสนับสนุนค่าครองชีพในประเทศยุโรปอื่นๆ มีดังนี้

– อิตาลี : แรงงานและผู้รับบำนาญได้รับโบนัสค่าครองชีพคนละ 200 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7,500 บาท) รวมไปถึงมาตรการลดหย่อนภาษีให้กับอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง

– สหราชอาณาจักร : เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้นสามเท่าในช่วงฤดูหนาวนี้ สหราชอาณาจักรจึงมอบเงินช่วยเหลือให้ครัวเรือนละ 447 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 16,800 บาท)

– โปแลนด์ : รัฐบาลมอบเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 640 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 24,000 บาท) เพื่อให้ประชาชนนำไปซื้อถ่านหินสำหรับสร้างพลังงานความร้อน

ไทยเตรียมรับแรงกระเพื่อมจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

วิกฤตพลังงาน ยุโรป รัสเซีย ยูเครน

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงคิดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจที่วุ่นวายในโลกตะวันตกดูเป็นเรื่องไกลตัว เราไม่น่าเกี่ยวอะไร แต่ความจริงแล้วประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากสมรภูมิรัสเซียบุกยูเครน ทั้งทางตรงและทางอ้อมเช่นเดียวกัน 

ผลกระทบทางตรงที่เห็นได้ชัดคือราคาน้ำมันที่แพงขึ้นมาก เนื่องจากรัสเซียส่งออกน้ำมันและพลังงานได้น้อยลง ส่วนผลกระทบทางอ้อมคือ การที่ไทยต้องรับแรงกระเพื่อมจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะจากวิกฤตเงินเฟ้อและปัญหาในห่วงโซ่อุปทานซึ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียของหลายประเทศ

เราเชื่อว่าหลายคนคงได้สัมผัสกับวิกฤตเงินเฟ้อในประเทศไทยแล้ว เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้บรรดาสินค้าอุปโภคบริโภคทยอยปรับราคาขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงค่าไฟที่แพงขึ้นจนน่าตกใจ สาเหตุสำคัญมาจากการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศปรับ ‘ค่า Ft’ เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนเชื้อเพลิงที่แพงขึ้นนั่นเอง

วิกฤตพลังงานและภาวะเงินเฟ้อที่กำลังป่วนโลกชวนให้เราตั้งคำถามว่า การใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียได้ผลจริงหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าผลกระทบจะย้อนกลับมาทำลายเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของโลกตะวันตกเสียเอง จนอาจทำประชาชนจำนวนมากขาดแคลนอาหารและพลังงานในช่วงฤดูหนาวที่จะถึงนี้ 

ยิ่งไปกว่านั้น หลายธุรกิจยังอาจต้องปิดตัวลงเนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ได้ ซึ่งแน่นอนว่านโยบายและมาตรการเยียวยาที่ประเทศยุโรปใช้อยู่ตอนนี้ ก็อาจไม่เพียงพอและไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้

ขณะนี้สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ลากยาวมานานกว่า 7 เดือนแล้ว และยังไม่มีท่าทีจะสิ้นสุดลงง่ายๆ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่น่ากังวล เพราะอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ผลักให้เศรษฐกิจทั่วโลกก้าวเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เมื่อถึงเวลานั้น ประเทศเศรษฐกิจขนาดเล็กอย่างไทยก็คงรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ ไม่ต่างกัน เพราะหนีไม่พ้นผลกระทบที่จะตามมาแน่ๆ 


Sources : 
Anadolu Agency | bit.ly/3ygoiN6
AP News | bit.ly/3rxzod2, bit.ly/3Eematf, bit.ly/3rB9gxC, bit.ly/3SUFBv1
Bloomberg | bloom.bg/3M87WvF
Business Insider | bit.ly/3SPbeq8
CNN | cnn.it/3SI7O8L
Euronews | bit.ly/3MaTyTt, bit.ly/3rwtpVD, bit.ly/3Cg4CKK, bit.ly/3yj8toZ
France 24 | bit.ly/3yhdG0A
Krungsri | bit.ly/3SX9vyR
Metro | bit.ly/3e58E0l
NPR | n.pr/3SAOw4Z
The Guardian | bit.ly/3EezCNG
Visual Capitalist | bit.ly/3Rwcayx
VOA | bit.ly/3yg4gT6
YouTube : WION | bit.ly/3yirTKN

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.