ผังเมืองจะทำให้เห็นเมืองของเราในอนาคต - Urban Creature

เมื่อไม่นานมานี้ ประเด็นเรื่องผังเมืองรวม กทม. กลายเป็นประเด็นร้อนแรงปลุกให้คนกรุงเทพฯ หันมาสนใจว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น ทำไมคีย์เวิร์ด ‘ผังเมืองใหม่เอื้อกับนายทุน’ โผล่มาให้เห็นบ่อยๆ ตามสื่อโซเชียลมีเดีย จนทำให้ กทม.แถลงชี้แจง และขยายระยะเวลารับฟังความคิดเห็นของประชาชนไปจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์

และแน่นอนว่าในฐานะคนเมือง เราย่อมได้ยินคำว่าผังเมืองอยู่บ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาพูดถึงปัญหาเมืองเรื้อรังที่แก้ไขไม่ได้ เช่น รถติด การเดินทางไม่สะดวก หรือกระทั่งเรื่องอากาศร้อน

Urban Creature ชวน ‘รศ. ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์’ อาจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ นักวิชาการจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นหนึ่งในผู้จัดทำ ‘ร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 4’ มาให้ความเข้าใจถึงเรื่องผังเมืองอย่างง่ายๆ ว่าคืออะไร และปัจจัยนี้เป็นสาเหตุของหลายปัญหาเมืองจริงไหม ลองไปหาคำตอบจากบทสัมภาษณ์นี้กัน

ผังเมือง นพนันท์ ตาปนานนท์ นักวิชาการผังเมือง ปัญหาเมือง

ในเชิงวิชาการ คำว่า ‘ผังเมือง’ มีความหมายว่าอย่างไร

ถ้าให้ผมสรุปสั้นๆ ผังเมืองเป็นการกำหนดภาพอนาคตของเมือง เป็นกายภาพ มองเห็น จับต้องได้ เพื่อรู้ว่าเมืองนี้มีภาพในอนาคตข้างหน้าเป็นอย่างไร หน่วยงานภาครัฐใช้ภาพนี้ดำเนินการตามบทบาทหน้าที่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ขนส่ง สาธารณูปโภค สาธารณูปการ ส่วนเมืองมีการพัฒนาโดยภาคเอกชนและประชาชน คือ การสร้างที่อยู่อาศัย การสร้างอาคารพาณิชย์ สำนักงานที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน ยกตัวอย่าง โซลก็มีปัญหารถติดเหมือนกรุงเทพฯ แต่พอปรับระบบราง คนเกาหลีหันไปใช้ระบบราง ไม่พึ่งรถยนต์ ถนนและทางด่วนก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป

ส่วนคลองชองกเยชอนเป็นภาพเมืองของโซลที่อยากให้เป็นในอนาคต หน่วยงานที่ทำงานด้านคมนาคมจึงปรับระบบขนส่งสาธารณะ ปรับให้มีทางเดิน ทำทางจักรยาน หากมีภาพกายภาพของอนาคตเมืองแล้ว ภาครัฐและภาคเอกชนต่างก็จะทำตามบทบาทหน้าที่ของตนโดยมีเป้าหมายเดียวกัน นี่แหละคือพื้นฐานของผังเมืองจริงๆ

แล้วในฐานะอาจารย์สอนเรื่องผังเมือง คุณมองผังเมืองไทยเป็นยังไง

ผังเมืองเป็นสับเซตองค์ย่อยของการวางแผน ถ้าหากจะไปสู่อนาคตด้วยความรู้ความเข้าใจในปัจจุบัน เราต้องเดินไปสู่อนาคตโดยมีกรอบความคิดเชิงการวางแผน แต่ประเทศเราเป็นประเทศไร้แผน ประเทศเราเกิดความสูญเสียจากการสร้างบางสิ่งบางอย่างมากเกินไป น้อยเกินไป หรือสร้างไม่ถูกที่ถูกทาง

ยกตัวอย่าง กรุงเทพฯ จะต้องทำพื้นที่ฟลัดเวย์รับน้ำหลากจากเหนือลงใต้โดยต้องผ่านกรุงเทพฯ ผ่านสมุทรปราการลงไปสู่อ่าวไทย แต่ปรากฏว่าใต้พื้นที่ฟลัดเวย์กรุงเทพฯ เป็นสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งจริงๆ แล้วถ้ามีฟลัดเวย์จะต้องไม่มีสนามบินอยู่ด้านใต้หรือด้านบน ฟลัดเวย์จึงใช้ไม่ได้เพราะน้ำจะท่วมสนามบิน ทำให้สนามบินสุวรรณภูมิกลายเป็นสนามบินที่มีความเสี่ยงอุทกภัยเป็นอันดับหนึ่งของโลก

ส่วนเรื่องรถไฟฟ้า Heavy Rail Transit เรามีอยู่ 2 สาย ได้แก่ สายสีเขียวและสีแดง บรรทุกคนได้คันละ 20,000 คนต่อชั่วโมงต่อทิศทาง ซึ่งหมายความว่าบรรจุคนได้ 40,000 คนต่อชั่วโมง โดยวิ่งขนานกันตั้งแต่ในเมืองไปถึงชานเมืองโดยตรงกลางมีสนามบินดอนเมือง ซึ่งมีเขตควบคุมความปลอดภัยเรื่องการบิน สิ่งที่เป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่คือ ใช้ประโยชน์พื้นที่เต็มศักยภาพที่ควรจะเป็นไม่ได้ เช่น ไม่สามารถสร้างอาคารสูงได้ รองลงมาก็จะเป็นพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยและมลภาวะทางเสียง

ปกติเมื่อถึงชานเมืองรถไฟฟ้าวิ่งถ่างออกไปรับคนในแต่ละสายให้มากขึ้น แต่สายสีแดงยังอยู่ในแนวรถไฟเดิม ส่วนสายสีเขียววิ่งบนถนนพหลโยธิน รถไฟฟ้าทั้ง 2 สายอยู่ใกล้กันเกินไปและมีพื้นที่การให้บริการซ้อนกัน ทำให้รับคนย่านชานเมืองไม่ได้เยอะ

ประเทศเราชอบทำอะไรขัดแย้งกันเองแล้วเกิดความสูญเสียมหาศาล ถ้าประเทศเราไม่เป็นแบบนี้ ผมว่าไทยพัฒนาไปได้อีกไกล ผมรู้สึกว่าการวางแผนสำคัญ ประเทศเราก็มีการวางแผน 20 ปีข้างหน้าแต่ไม่มีเป้าหมายชัดเจน เราจะทำทุกอย่างที่มีโดยมีทิศทางไม่ชัดเจนว่าจะพัฒนาไปทิศทางไหน อย่างไร

ผังเมือง นพนันท์ ตาปนานนท์ นักวิชาการผังเมือง ปัญหาเมือง

องค์ประกอบในการสร้างผังเมืองต้องมีอะไรบ้าง

กฎหมายผังเมืองจะเป็นตัวระบุถึงองค์ประกอบของผังเมือง ตอนนี้เรามีกฎหมายผังเมืองฉบับแรกคือ พระราชบัญญัติการผังเมืองและผังชนบท พ.ศ. 2495 ตอนนั้นเราเลือกเอากฎหมายอังกฤษมาทำเป็นภาษาไทย เพราะประเทศอังกฤษเป็นประเทศแรกที่ก้าวเข้าสู่การผังเมืองสมัยใหม่

ส่วนกฎหมายผังเมืองที่เราใช้ตั้งแต่ พ.ศ. 2518 จนถึงฉบับปัจจุบัน มีฐานมาจากกฎหมายอเมริกา เนื่องจากมีการวางผังเมืองกรุงเทพฯ พ.ศ. 2500 แล้วไปเสร็จ พ.ศ. 2533 เราเรียกผังนี้ว่า ผังนครหลวง 2533 (Greater Bangkok Plan 1990)

ประเทศสหรัฐอเมริกาให้ความช่วยเหลือในการวางผังเมืองและร่างตัวกฎหมายผังเมือง เราก็ใช้วิธีการอเมริกาคือ การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Land-use Planning) ผมว่าเป็นทางเลือกที่ดี เพราะว่าเป็นกฎหมายที่เป็นต้นทางของการปรับวิธีคิดทางด้านผังเมือง ส่วนกฎหมายสหรัฐอเมริกาที่เรานำมาใช้ก็เหมาะกับสภาพประเทศที่มีเมืองเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเรานำกฎหมายสหรัฐอเมริกานี้มาเป็นส่วนหนึ่งของผังเมืองรวม ซึ่งอยู่ในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518

องค์ประกอบของผังเมืองจะมีผังเมืองรวมเฉพาะ แล้วแต่ละผังก็จะมีองค์ประกอบตามที่เขียนในพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2562 โดยมีอยู่ 6 แผนผัง ได้แก่ แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่จำแนกประเภท แผนผังแสดงที่โล่ง แผนผังแสดงโครงสร้างคมนาคมและขนส่ง โดยแสดงการเชื่อมต่อโครงข่ายการคมนาคมและการขนส่งไว้ด้วย แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแผนผังแสดงผังน้ำ

ผังเมือง นพนันท์ ตาปนานนท์ นักวิชาการผังเมือง ปัญหาเมือง

ทำไมประชาชนควรทำความเข้าใจเรื่องผังเมือง

เป็นเรื่องปกติที่ประชาชนในเมืองต้องให้ความสนใจผังเมือง แล้วควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจากหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลเรื่องผังเมือง เพราะถ้าข้อมูลไม่ได้มาจากผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ ก็อาจจะได้รับข้อมูลผิดพลาดหรือถูกจุดประเด็นทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. นี่เป็นสิ่งที่ประเทศพัฒนาแล้วเขาไม่ทำกัน

ผังเมืองคือการถามตอบ การให้ความเห็น การให้ข้อมูล ยกตัวอย่าง ผังเมืองฉบับนี้ทำไมมีถนนเยอะ ก็เพราะกรุงเทพฯ มีรถเยอะ วันหนึ่งมีรถจดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นมา 1,200 คันต่อวัน เฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคล รถตู้ รถกระบะ ยังไม่รวมมอเตอร์ไซค์ ตอนนี้เรามีสถิติรถสะสม 12 ล้านคันทั้งกรุงเทพฯ เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลประมาณ 8 ล้านคัน มากกว่าประชากรในกรุงเทพฯ เสียอีก

เราไม่ได้สร้างถนนขึ้นมาให้รถวิ่ง แต่สร้างถนนเพื่อลดปัญหาการจราจร มีการศึกษาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่พูดถึงการสร้างถนนสายรองเพื่อลดปัญหาการจราจรของถนนสายหลัก ถ้าเราทำให้พื้นที่ขนาดใหญ่มีทางลัด โครงข่ายถนนพวกนี้สามารถลดปริมาณการจราจรบนถนนทางหลักไปได้ 18 เปอร์เซ็นต์

และการขยายถนน 148 สาย ความยาวประมาณ ​ 600 กิโลเมตรที่พูดกัน จะถูกพัฒนาโครงข่ายถนนให้สมบูรณ์เข้าถึงขนส่งมวลชน เป็นถนนที่พยายามทำให้คนได้เดินโดยปลอดภัย เนื่องจากถนน 1 กิโลเมตรจะมีทางเท้า 2 กิโลเมตรเพราะมีสองด้าน

ผังเมือง

ถ้าฝันว่าอยากมีทางเท้าที่ดี มีทางจักรยาน มีทางให้คนพิการเข็นวีลแชร์ แต่จะทำได้อย่างไรถ้าประชาชนไม่ยอมแบ่งปัน ฝรั่งเขามีคำว่า Not in My Back Yard อะไรก็ได้แต่อย่ามาอยู่ที่ของฉัน ส่วนคนกรุงเทพฯ จะบอกว่า Not in My Front Yard อะไรก็ได้แต่อย่ามาอยู่หน้าบ้านฉัน ไม่ใช่เรื่องผิดที่ทุกคนจะหวงที่ดินของตัวเอง แต่บางทีรัฐก็มีความจำเป็นต้องใช้พื้นที่ตรงนั้น เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกที่เราอยากได้

ถนนรัชดาภิเษกที่เป็นวงแหวน มีคอขวดอยู่ตรงถนนอโศกมนตรีซึ่งทำอะไรไม่ได้เลย เพราะอีกด้านเป็นซอยวัฒนา อีกด้านเป็นซอยประสานมิตร มีสถาบันการศึกษาทั้ง 2 ฝั่ง จะทำอะไรก็ไม่ได้เพราะทั้งมหาวิทยาลัยและโรงเรียนไม่ยอม ทำให้ถนนรัชดาภิเษกทั้งเส้นเป็นถนนวงแหวนที่อัมพาต วันๆ รถติด 1 – 2 ชั่วโมง ผมมองว่าเราต้องทำอะไรสักอย่าง เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือความสูญเสียมากมายมหาศาล

หลายคนบอกว่าผังเมืองเป็นสาเหตุของปัญหารถติด น้ำท่วมกรุงเทพฯ แต่ขณะเดียวกัน คุณกำลังบอกว่าผังเมืองก็แก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้

กรุงเทพฯ มีปัญหาเยอะแยะไปหมด แต่เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำมีอยู่ 2 เรื่องคือ คมนาคมกับน้ำท่วม มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ฝนตกรถติด ผมออกจากที่ทำงานตั้งแต่ห้าโมงเย็น ถึงบ้านที่แจ้งวัฒนะตอนตีหนึ่ง นี่ไม่ใช่คุณภาพชีวิตปกติ ต้องบอกว่าคุณภาพชีวิตคนในกรุงเทพฯ อยู่ในระดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับมหานครใหญ่แห่งอื่น ดังนั้นการวางแผนคือคำตอบของการแก้ไขปัญหาเหล่านี้

อย่างแรก เราต้องกระจายปริมาณจราจรลงไปในพื้นที่ที่ควรกระจายได้บ้าง เช่น ถนนสายรองในตรอกซอกซอย ลดปัญหาจราจรบนถนนทางหลักประมาณ 1 ใน 5 ของปริมาณการจราจรสายหลัก เป็นตัวเลขฐานสำคัญมากกับการแก้ไขปัญหาจราจรที่เอาไม่อยู่ เพราะพื้นที่ถนนกรุงเทพฯ มี 8 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ถนนในกรุงเทพฯ ควรมีพื้นที่ 15 – 20 เปอร์เซ็นต์

อย่างที่สอง ต้องเร่งสร้างระบบราง เมื่อรัฐบาลชุดที่แล้วจากเดิมตั้งต้นแค่ 3 สาย ตอนนี้เพิ่มมา 7 สาย รวมเป็น 10 สาย และเมื่อสร้างรถไฟฟ้าแล้ว เราควรใช้ประโยชน์จากรถไฟฟ้า ทำยังไงให้คนมาอยู่ใกล้รถไฟฟ้า ทำยังไงที่จะทำให้เกิดการเดินทางจากรถไฟฟ้าออกไปได้ดีที่สุด นี่แหละคือเป้าหมายของผังเมือง

ผังเมือง

จากดราม่าเรื่องผังเมือง เรามักเห็นคำว่า FAR ที่เป็นเครื่องมือของการแก้ไขปัญหาผังเมืองอยู่บ่อยๆ อยากให้คุณช่วยอธิบายว่ามันทำงานยังไง

FAR เป็นคำย่อมาจาก Floor Area Ratio ภาษาไทยแปลว่าอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน เป็นเครื่องมือในการควบคุมความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่แต่ละบริเวณให้เหมาะสมและสอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐาน

สมมติกำหนดให้ FAR 2:1 หมายความว่าพื้นที่ 1 ไร่ 1,600 ตารางเมตรจะสร้างอาคารได้ไม่เกิน 3,200 ตารางเมตร เราจะรู้ว่าคนแต่ละบริเวณมีความหนาแน่นเท่าไร แล้วโครงสร้างพื้นฐานอย่างไฟฟ้าและประปา จะคำนวณจากความต้องการของความหนาแน่นประชากรตรงนี้

FAR เป็นเครื่องมือพื้นฐานของผังเมือง โดยจะคุมอยู่ 2 เรื่องหลัก อย่างแรกคือ การใช้ประโยชน์ที่ดิน โดยคุมว่ากิจกรรมอะไรที่มีผลกระทบต่อการใช้ที่ดิน เช่น คุมไม่ให้มีอะไรรบกวนย่านที่อยู่อาศัย ได้แก่ ไม่ตั้งโรงงาน ไม่เปิดสถานบริการปิดตี 4 ในย่านที่อยู่อาศัย อย่างที่สอง คุมความหนาแน่นประชากรเพื่อใช้วางแผนสาธารณูปโภคกับการคมนาคม

นอกจากนี้ FAR ยังคำนวณได้ว่าถนนแต่ละบล็อกมีคนอยู่เท่าไหร่ เพื่อคำนวณเรื่องการเดินทาง การใช้รถยนต์ และการสัญจรภายในพื้นที่ ทำให้วางโครงข่ายถนน วางโครงข่ายการสัญจรเสริม ทางเดินและทางจักรยานตามจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ตรงนั้นได้

ผังเมือง

สมัยก่อนตอนเช้าที่นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงอาบน้ำพร้อมกัน ถนนซอยหน้าหอพักมหาวิทยาลัยจะน้ำท่วม เพราะน้ำลงมาพร้อมกันแล้วเอ่อล้นท่อมาที่ถนน คนต้องลุยน้ำที่นักศึกษารามฯ อาบออกมาที่ถนน สาเหตุมาจากการไม่คำนวณ FAR เลยทำให้ไม่รู้ว่าคนแต่ละบล็อกใช้น้ำประปาเท่าไร มีน้ำเสียที่จะเกิดขึ้นเท่าไร

ก่อน พ.ศ. 2549 ผังเมืองรวมกรุงเทพฯ หรือผังเมืองรวมทุกแห่งในประเทศไทยไม่มีการใส่ FAR เข้าไป ทำให้เราไม่สามารถคุมพื้นที่อาคารที่เกินความต้องการไปมากกว่า 100 ปีความต้องการได้ ซ้ำร้ายมีตัวกระตุ้นอย่างการปั่นราคาที่ดิน และการสร้างอาคารเพื่อหนีการควบคุมทางด้านกฎหมายเรื่องของพื้นที่อาคาร ส่งผลให้มีการเร่งการสร้างอาคารขนาดใหญ่เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2535 ในที่สุด 5 ปีต่อมาเราก็รู้ว่ามันผิดตอนที่เกิดภาวะฟองสบู่แตก เกิด Oversupply ไป 100 ปีของความต้องการ ทั้งที่จากเดิมเราต้องการอาคารปีละ 1 ล้านตารางเมตร ใน 10 ปีเราอนุญาตให้มีอาคาร 10 ล้านตารางเมตร ทำให้มูลค่าความเสียหาย 5 แสนล้านบาทกลายเป็นเศษอิฐ

คุณคิดว่าเมื่อมีผังเมืองแล้ว อีกกี่ปีถึงจะแก้ไขปัญหาได้จริงๆ

กรุงเทพฯ จะฉลอง 250 ปีอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่เราเพิ่งมีผังเมืองฉบับรูปแบบที่กำลังใช้ในปัจจุบัน ช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการวางผังต่อเนื่องกัน แต่เป็นการวางผังเมืองพื้นที่ไม่ใช่ผังเมืองรวม ถ้าผมจำไม่ผิดเราสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เราสร้างแนวถนนพหลโยธิน เราทำการพัฒนาพื้นที่ฝั่งซ้ายของถนนพหลโยธิน มีการวางผัง ตัดถนนเป็นตาราง ผมว่านั่นน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายของการวางผังเมืองกรุงเทพฯ

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่มีใครกล้ามีลูกเพราะไม่รู้สงครามจะหยุดเมื่อไร แต่พอรู้ว่าสงครามหยุดแน่ชัด คนทั่วโลกก็มีลูกพร้อมกันโลก เราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า เบบี้บูม (Baby Boom) ซึ่งเป็นช่วงที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

ประมาณ พ.ศ. 2500 คนยุคเบบี้บูมทั่วโลกอพยพเข้าเมืองขนาดใหญ่ แต่เมืองใหญ่ๆ ในประเทศพัฒนาแล้วเขามีผังเมืองทำงานตอบรับกับการอพยพเข้าเมืองกันค่อนข้างดี แต่กรุงเทพฯ เราเอาไม่อยู่ เพราะไม่ได้มีวิธีคิดทางผังเมืองแบบโลกตะวันตกที่เขาพัฒนาการใช้ผังเมืองมานานแล้ว และกรุงเทพฯ โตแบบไร้ทิศทาง ปราศจากการวางแผน ครั้งสุดท้ายที่เราพัฒนาเมืองคือถนนพหลโยธิน

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2486 จนมาถึงผังเมืองแรก พ.ศ. 2535 เป็นเวลาประมาณ 50 ปีที่เราปล่อยให้เมืองเติบโตโดยไม่มีการวางแผน

เพราะไม่มีผังเมืองเลยมีปัญหารถติด สลัม แต่ตอนนี้เรามีผังเมืองแล้ว ก็ต้องใช้ผังเมืองแก้ปัญหาข้างหน้าต่อไป จะย้อนหลังไปแก้ไขปัญหาที่สะสมมานาน 50 ปีคงไม่ทัน เพราะอนาคตยังเดินต่อไปอยู่ สมดุลการทำผังเมืองจะประสบความสำเร็จเมื่อไรก็คงต้องมีการคาดการณ์ก้าวไปข้างหน้าว่าได้ประมาณเท่าไร ผมเดาว่าอีกสักประมาณ 30 ปีจากปัจจุบันที่เราจะเข้าสู่เมืองที่ดีภายใต้การวางแผน

ผังเมือง นพนันท์ ตาปนานนท์ นักวิชาการผังเมือง ปัญหาเมือง

นอกจากปรับผังเมืองแล้วเราต้องทำอะไรควบคู่กัน เพื่อทำให้ผังเมืองมีประสิทธิภาพมากขึ้น

คนไทยไม่เข้าใจว่าผังเมืองคืออะไร หลายคนยังคิดว่านักผังเมืองใส่สีในผังเมือง กทม. แล้วขีดเส้นลากถนน ผังเมืองก็เสร็จ แต่นี่เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของระบบการวางแผนทั้งหมดทั้งของประเทศของเมืองเท่านั้น นักผังเมืองพยายามจะโยงผังกับแผนแต่คนทำแผนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องโยง ซึ่งสาเหตุที่ต้องโยงแผนและผังทำงานสอดรับกัน ก็เพื่อจัดทำแผนงานและโครงการให้ดำเนินการได้ ไม่ใช่แค่แผนและผังเมืองต้องโยงกันเท่านั้น

ผังนโยบายระดับประเทศที่อยู่ในกฎหมายผังเมืองตัวใหม่ต้องโยงกับแผนชาติ ผังนโยบายระดับภาคต้องโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของระดับภาค ผังเมืองกรุงเทพฯ ก็ต้องโยงกับแผนพัฒนากรุงเทพฯ แต่ตอนนี้ 2 ตัวนี้ไม่โยงกัน

ตอนที่มหาธีร์ โมฮัมหมัดเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในปี 1990 ปีต่อมา มหาธีร์ โมฮัมหมัดทำให้ระบบการวางแผนกับการวางผังเป็นระบบที่เชื่อมโยงกัน นั่นกลายเป็นจุดเปลี่ยนประเทศจากประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้ว เพราะมีแผนและผังซึ่งเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการประเทศให้ไปสู่การทำงานในทิศทางเดียวกัน และทำให้มาเลเซียเปลี่ยนไปมาก

ในทัศนคติอาจารย์สอนผังเมืองคิดว่า ผังเมืองที่ดีควรมีหน้าตาอย่างไร

ผังเมืองที่ดีต้องมองภาพระยะยาวใกล้เคียงกับสิ่งที่น่าจะเกิดได้มากที่สุด การวางแผนเป็นเรื่องที่ไม่มีความแน่นอนเพราะเราไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง แต่คนวางแผนต้องกำหนดภาพอนาคตที่น่าจะใกล้เคียงกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้มากที่สุด

การมีโลกทัศน์ที่กว้าง การศึกษาวิเคราะห์คาดการณ์โดยใช้ข้อมูล การคาดการณ์แนวโน้มที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ การใช้เครื่องไม้เครื่องมือในการดำเนินการไปสู่อนาคต เป็นสิ่งที่ควรจะทำ อย่างประเทศพัฒนาแล้วจะมีภาพปี 2040 ว่าจะเป็นยังไง แล้วจะทำทุกอย่างไปในเป้าหมายปีที่กำหนดไว้

ช่วงประมาณปี 2030 ประเทศเหล่านี้จะมองแล้วว่าเป้าหมายยังอยู่ในทิศทางที่ถูกต้องหรือเปล่า แล้วเป้าหมายปี 2040 ที่ตั้งไว้ตั้งแต่ตอนแรกในปี 2020 ควรจะเป็นอย่างนั้นอยู่ไหม ตอนปี 2030 ไปเป็นปี 2050 จะเป็นยังไง เพราะฉะนั้นการก้าวไปข้างหน้าจะมีการตั้งเป้าไปข้างหน้าเรื่อยๆ นี่คือวิธีการของประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ประเทศเราพรุ่งนี้เป็นยังไง เรายังไม่แน่ใจเลย

ผังเมือง นพนันท์ ตาปนานนท์ นักวิชาการผังเมือง ปัญหาเมือง

ท้ายสุดนี้ คุณอยากฝากอะไรถึงคนเมืองที่กำลังคาดหวังถึงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ใหม่ฉบับล่าสุด

ผมว่าเราพยายามทำดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ แต่ก็ยากเพราะมีการสั่งสมปัญหามาอย่างยาวนานและมีความซับซ้อน การแก้ไขผังเมืองไม่ได้เนรมิตชั่วข้ามคืน ต้องใช้เวลา เมืองที่แย่กว่าเรา เช่น ลอนดอนช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม โตเกียวถูกถล่มยับเยินช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้วไม่มีเงินเพราะต้องชดใช้ค่าเสียหายในการทำสงครามมากมายมหาศาล เขาก็ยังพยายามสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ 

ผมพูดในฐานะนักพัฒนาผังเมืองเลยว่า ผังเมืองไทยเป็นแค่เสือกระดาษที่ไม่ได้นำไปใช้อย่างที่ควรจะเป็น ผังเมืองไม่ได้จบตรงที่ทำเสร็จแล้วบังคับใช้ แต่มันคือการดำเนินการปฏิบัติทางผังเมือง

เรารู้แน่ชัดว่า รถไฟฟ้าสายสีส้มจะเปิดให้บริการไม่ปีนี้ก็ปีหน้า แล้วยังรู้อีกว่าคนที่อยู่บนคลองแสนแสบเข้าถึงรถไฟฟ้าสายสีส้มไม่ได้เพราะไม่มีถนน ฉะนั้นต้องรีบสร้างถนนข้ามคลองแสนแสบที่เชื่อมระหว่างถนนรามคำแหงและถนนเสรีไทยให้เสร็จพร้อมกับวันที่เปิดใช้รถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่ใช่ 5 ปีหลังจากรถไฟฟ้าสายสีส้มเปิดให้บริการแล้วถึงคิดจะทำถนนข้ามคลองแสนแสบ

กว่าที่เราเริ่มคิดจะทำ เริ่มจะวางแผน ได้งบประมาณก่อสร้าง รถไฟฟ้าเปิดใช้เป็นปีที่ 5 แล้วคนเพิ่งข้ามคลองแสนแสบได้ แทนที่ผังเมืองจะเป็นเครื่องมือลดความสูญเสียของเวลาและสถานที่ แต่กลับสร้างความสูญเสียให้เมือง

ผังเมือง นพนันท์ ตาปนานนท์ นักวิชาการผังเมือง ปัญหาเมือง

Sources :
Thai PBS | bit.ly/42I3lst
The MATTER | bit.ly/49foyMZ
สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย | bit.ly/3I11TI8

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.