ระยะนี้ชื่อของ ‘ชุมชนตรอกสลักหิน’ ในโซเชียลมีเดียน่าจะผ่านตาของใครหลายคน เมื่อสปอตไลต์ฉายไปยังชุมชนกลางเมืองที่บางคนอาจยังไม่รู้จัก จนเป็นเหมือนแม่เหล็กดูดคนจากต่างถิ่นให้ปักหมุดมายังตรอกเล็กๆ หลังสถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง) แห่งนี้
ถัดจากด่านเก็บเงินทางพิเศษศรีรัช ขนาบข้างด้วยทางรถไฟ เดินไปตามถนนรองเมือง ไม่ทันไรก็มาถึงใต้ชายคาบ้านไม้สองชั้นที่แปรเปลี่ยนหน้าที่เป็นมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก สถานที่พักใจของเด็กๆ ในวันหยุดด้านหลังวัดดวงแข
วันนี้เป็นวันธรรมดา มูลนิธิไร้เงาเด็กน้อยเพราะไปเรียนหนังสือ เสียงจอแจเงียบหายไปเหมือนเสียงหวีดรถไฟที่ซาลงไปไม่กี่ปีมานี้ แต่จุดประสงค์ของเราไม่ใช่เยาวชนชาวตรอกสลักหิน ทว่าเป็นเบื้องหลังของกลุ่มเด็ก เพื่อฟังเรื่องราวจากปากชาวชุมชนที่ผลักดันให้เกิดทริปนี้ขึ้นมา
แหล่งอโคจรยุคอันธพาลครองเมือง
“ผมเห็นตั้งแต่ชุมชนไม่มีอะไร จนมูลนิธิฯ เข้ามาพัฒนา เอาศิลปะมาลง” ‘ปีโป้-เศรษฐศักดิ์ จตุปัญญาโชติกุล’ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เริ่มต้นเล่าถึงตรอกสลักหินที่เขารู้จัก “เมื่อก่อนใครจะเข้าชุมชนก็โดนตี ในช่วงอันธพาลครองเมือง ยาเสพติด การพนัน ค้าประเวณี”
ในช่วงปี 2499 ยุคอันธพาลครองเมือง บริเวณตรอกสลักหินและพื้นที่รอบๆ มีกลุ่มเจ้าถิ่นดูแลอยู่ตลอด เป็นพื้นที่อโคจรที่เต็มไปด้วยสิ่งผิดกฎหมาย ชื่อของตรอกเป็นที่รู้จักของคนวัยเก๋าในฐานะบ้านเกิดของ แดง ไบเลย์ หนึ่งในอันธพาลตัวเอ้ของพระนคร
ย้อนไปในอดีต ด้วยระยะทางที่ใกล้กับขนส่งมวลชนสำคัญในขณะนั้น ทำให้ผู้คนจากหลากที่มาต่างเข้ามาจับจองพื้นที่ในตรอกสลักหินเพื่อพักผ่อน เช้าก็ออกไปประกอบอาชีพรองรับผู้เดินทาง เช่น แม่ค้าส้มตำที่หาบจากในตรอกไปนั่งรอลูกค้าด้านหน้าสถานีหัวลำโพง จนเป็นเหมือนสัญลักษณ์ในวันวานที่หลายคนคุ้นตา
“บางคนก็อาศัยอยู่ในนี้ บางคนก็อาศัยในชุมชนวัดดวงแข มีห้องเช่าทั้งรายวัน รายเดือน ตอนนั้นคนที่มาหัวลำโพง ตอนที่รถไฟยังเยอะอยู่ ก็มีคนมาพัก ตอนเช้าครอบครัวหนึ่ง ตอนเย็นครอบครัวหนึ่ง”
ผลพวงคือพื้นที่รอบสถานีรถไฟและตรอกสลักหินจึงเป็นเสมือนศูนย์รวมของอาหารอันหลากหลาย เป็นแหล่งฝากท้องยามหิวของเหล่านักเดินทางไปด้วย
ความคึกคักของตรอกสลักหินแปรผันตามปริมาณผู้คนที่ใช้งานรถไฟ เมื่อวิธีการเดินทางที่สะดวกมีให้เลือกมากมาย และจำนวนเที่ยวรถไฟถ่ายเทไปสู่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ที่ย่านบางซื่อ ชุมชนในฐานะจุดแวะพักของคนเดินทางจึงค่อยๆ ซบเซาลง ทั้งคนนอกที่เข้ามาด้านใน รวมถึงคนในที่ทยอยย้ายออกไปด้วย
นอกจากนี้ อีกสาเหตุหนึ่งคงเป็นเพราะชุมชนถูกทางยกระดับศรีรัชตัดผ่าน ภูมิปัญญาดั้งเดิมหลายอย่างก็เลยสูญหายตามไป
“ตอนแรกสองฝั่งเป็นชุมชนเดียวกัน แต่พอปี 2535 ทางด่วนตัดผ่านก็แบ่งเป็นสองส่วน” ปีโป้ไล่ไทม์ไลน์
กระนั้น ปัจจุบันตรอกสลักหินก็ยังเป็นชุมชนใหญ่ มีบ้านเรือนกว่า 231 หลัง และสมาชิกเกือบ 1,000 คน
ชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลที่ (เคย) ถูกลืม
ที่ผ่านมา หลายคนมองว่าตรอกสลักหินอยู่ในทำเลศักยภาพที่ตั้งระหว่างย่านเมืองเก่ากับเมืองใหม่ มีระบบขนส่งแวดล้อมอย่างครบครันทั้งถนนหนทางและรถไฟฟ้า ทว่ากลับไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ซ้ำร้ายชุมชนนี้ยังขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในชุมชนแออัดของกรุงเทพฯ
ปัญหาที่คนในชุมชนมองเห็นคือ ขณะที่ชุมชนชาวจีนอย่างสำเพ็ง เยาวราช ตลาดน้อย ปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ของสังคมมาตลอด กลับกันอีกปลายทางของชาวจีนโพ้นทะเลที่อยู่ไม่ไกลกันอย่างตรอกสลักหิน ถูกหลงลืมจากความทรงจำของผู้คนไป แม้มีความเป็นมายาวนานกว่าร้อยปี และมีภูมิปัญญาในชุมชนมากมาย
ไม่ว่าจะเป็นบ้านทำกระดุม ทำธูป-เทียน โรงมุ้ง ทำสมุด ทำไชโป๊ พับกระดาษไหว้เจ้า และที่มาของชื่อตรอกสลักหินคืออาชีพแกะสลักป้ายหน้าหลุมศพแบบจีน ซึ่งสิ่งเหล่านี้แทบไม่เหลือแล้วในปัจจุบัน รวมถึงการรับรู้ของคนรุ่นใหม่
“เมื่อก่อนคนรู้จักแค่สถานีหัวลำโพง ตลาดน้อย เยาวราช ย่านฮิตๆ แต่ไม่รู้จักชุมชนที่อยู่ใกล้หัวลำโพง แต่ตอนนี้คนก็มาที่สลักหินมากขึ้น มีโฮสเทล คาเฟ่ ชาวต่างชาติก็เข้ามา” เจ้าถิ่นอัปเดตให้ฟัง
ปีโป้เป็นเด็กที่โตในชุมชน สนามเด็กเล่นในมูลนิธิฯ เขาก็เคยเล่นมาก่อน แล้วจึงก้าวมารับหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ และส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับรุ่นน้องในย่านรองเมืองทั้ง 4 ชุมชนคือ วัดดวงแข แฟลตรถไฟ จรัสเมือง และตรอกสลักหิน
เขาเล่าว่า ในช่วงกว่าสิบปีมานี้ กิจกรรมจากนิสิต-นักศึกษาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เข้ามาทำงานในย่านเกินจะนับนิ้วไหว โปรเจกต์ต่างๆ พรั่งพรูมายังชุมชนแห่งนี้ ทั้งออกแบบโซนนิงให้ชาวชุมชน วางเส้นทางท่องเที่ยว และสร้างสรรค์กิจกรรมให้คนภายนอกรู้จักมากขึ้น โดยชาวชุมชนก็เต็มใจให้ความร่วมมือ เพราะหวังให้บ้านของพวกเขาพัฒนา
“กิจกรรมเริ่มนานแล้ว แต่ประมาณห้าถึงหกปีหลังจึงเริ่มเป็นเส้นทางการเรียนรู้ของชุมชน” ปีโป้เล่าย้อนไปวันที่บ้านของเขาเริ่มเป็นที่รู้จัก โดยเริ่มจากมีนักศึกษาติดต่อเข้ามาทำกิจกรรมเพื่อสังคม
‘อรุณสวัสดิ์หัวลำโพง’ และหลากหลายกิจกรรมจากการระดมไอเดียของกลุ่มริทัศน์บางกอก ในงาน Bangkok Design Week 2024 เมื่อต้นปีที่ผ่านมา อาจบอกได้ว่าเป็นอีกตัวช่วยกระตุ้นให้คนภายนอกรู้จักกับชุมชนเล็กๆ หลังสถานีรถไฟของชาวกรุงเทพฯ แห่งนี้ กับกิจกรรมและงานศิลปะที่พาผู้คนเข้ามายังชุมชนมากขึ้น
เมื่อมีหลายกลุ่มก้อนเข้ามาทำกิจกรรม เด็กในชุมชนก็เลยเริ่มลองพาคนเดินทัวร์ในบ้านของพวกเขา โดยผลตอบรับคือผู้มาเยือนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ชอบวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชนนี้
“แผนที่นี้น้องวาดเองหมดเลย เราคุยกับน้องว่าอยากทำเส้นทางไหน และสิ่งที่อยากสื่อไปให้คนภายนอกรู้คืออะไร” เจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ อธิบายถึงภาพศิลปะเป็นเส้นทางในแผ่นพับของทริป ‘เด็กสลักหินพา PLAY’ ที่เพิ่งจัดขึ้นโดย Mutual Ground : มิวทวล กราวน์ เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ระหว่างพาเราเดินเข้าไปในชุมชนตรอกสลักหิน
เด็กกลุ่มนี้เป็นไกด์รุ่นที่ 2 แล้วที่ตั้งใจรับหน้าที่พาคนภายนอกเข้าไปสัมผัสบ้านเกิด โดยมีอายุตั้งแต่ 10 – 14 ปี ขณะที่เส้นทางที่พวกเขาพาเดิน ไม่ใช่การตามไกด์ไปฟังประวัติศาสตร์ชุมชนอย่างที่หลายคนคุ้นชิน ทว่าเด็กๆ ตั้งใจนำไปตามสถานที่ในความทรงจำและที่ที่พวกเขาเห็นอยู่ทุกวัน ร้านอาหารที่เขาการันตีความอร่อย พร้อมกับทำภารกิจต่างๆ เช่น เซลฟีกับเจ้าโมจิสุนัขประจำชุมชน, ดูกำแพงหัวแตก วีรกรรมแสนซนของเด็กๆ, อัดเสียงนกกรงหัวจุกของชาวบ้าน ฯลฯ
“น้องจะพาเดินชุมชน ไปชิมอาหารต่างๆ พาไปจุดที่เล่นตั้งแต่เด็ก เช่น จุดหน้าบ้านหัวแตก น้องเขาอยากให้คนภายนอกรู้ว่าเป็นที่เล่นของหนู ไม่เชิงเป็นประวัติของชุมชน แต่เราให้คนสมัครมาเดินกับน้อง มาเล่นกับน้อง” พี่ปีโป้ของน้องๆ เสริมข้อมูล
“ฝั่งหนึ่งคนไทย ฝั่งหนึ่งคนจีน” ไกด์ของเราพูดแกมหยอกเมื่อเข้ามาสู่ถนนหลักของชุมชน ระหว่างสองข้างทางเล็กๆ เต็มไปด้วยบ้านเรือนตั้งเรียงเป็นแถว อีกนัยหนึ่ง คำพูดนี้ยังสะท้อนถึงหลากหลายกลุ่มคนที่อยู่ร่วมกันในชุมชน
เมื่อก่อนชุมชนตรอกสลักหินเต็มไปด้วยหมู่ชาวจีนที่มาจากหลายถิ่น พูดกันหลายภาษาอยู่ร่วมกัน ก่อนจะมีคนไทยจากภายนอกสับเปลี่ยนเข้ามาอาศัย แม้วันนี้กิจการร้านค้าของคนจีนหายไปเกือบหมด แต่ยังพอเห็นร่องรอยจากศาลเจ้าทีกง 1 และทีกง 2 เทพเจ้าฟ้าดินที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวบ้านที่ในชุมชนมีถึง 2 ศาล
“แต่ก่อนมีไฟไหม้อยู่ตรงกลางชุมชน คนตื่นมาเห็นเหมือนมีคนพัดอยู่ทั้งสองฝั่งไม่ให้ไฟลาม” ปีโป้พูดถึงความเชื่อและศรัทธาของชาวบ้าน
บนแท่นบูชาในศาลทีกง 2 ยังมีเครื่องยืนยันความเก่าแก่ของชุมชน คือกระถางธูปที่นำมาจากเมืองจีนอายุร้อยกว่าปี โดยในแต่ละปี ชาวชุมชนจะนำงิ้วมาแสดงที่ลานเล็กๆ ด้านหน้าศาลในช่วงต้นปีและปลายปี แต่หลังจากโควิด-19 ระบาด เทศกาลประจำปีก็เงียบหายไป
ย้อนกลับไปก่อนที่การพัฒนาจะพาดผ่าน ตรอกสลักหินเคยมีซุ้มประตูทางเข้าชุมชนขนาดใหญ่ ที่ปัจจุบันเหลือเพียงแค่ภาพวาดสตรีทอาร์ตบนกำแพงเป็นที่ระลึกถึง ขณะที่อีกฝั่งของทางยกระดับยังพอเห็นเค้าโครงของประตู ข้างๆ ทาวน์เฮาส์แบบฮ่องกงที่เหลืออยู่เพียง 3 – 4 ห้อง
“แต่ก่อนตรงกลางเป็นทาวน์เฮาส์สไตล์ฮ่องกง มีอาชีพทำธูปทำเทียนตรงนั้น พอทางด่วนผ่านก็ไม่ค่อยมีอาชีพนี้เหลืออยู่แล้ว” เขาเล่าถึงจุดไฮไลต์ที่ถูกรื้อไป
ส่วนสาเหตุที่เรียกว่าบ้านสไตล์ฮ่องกง มาจากเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมห้องแถวสีสด ที่มีบันไดขึ้นชั้น 2 ได้เลย โดยไม่ต้องผ่านประตูเข้าจากชั้น 1
“ไม่มีที่อื่นแล้ว ตรงนี้เหลือแค่ไม่กี่หลัง ใกล้ๆ ก็ไม่มีแล้ว” ปีโป้ปิดท้าย
ตรอกข้างสถานีรถไฟหัวลำโพง ในวันที่ชาวชุมชนอยู่กันอย่างไม่ลำพัง
อดีตของทาวน์เฮาส์แบบฮ่องกงและบ้านทำธูป-เทียนในความทรงจำของชาวบ้าน เปลี่ยนเป็นภาพทางด่วนผ่ากลางชุมชน ด้านล่างเป็นสนามเด็กเล่น ศูนย์สุขภาพชุมชน และที่ทำการของประธานชุมชน รวมถึงเป็นพื้นที่ส่วนกลางให้คนในชุมชนได้ใช้จัดงานและพักผ่อนกัน
เราได้พบกับ ‘โกวพัชรี เกิดไพบูลย์ลักษณ์’ ประธานชุมชนตรอกสลักหิน อีกหนึ่งฟันเฟืองที่ช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของชาวชุมชน ผู้นิยามให้ตรอกสลักหินเป็น ‘ชุมชนเปิด’ ที่พร้อมต้อนรับผู้มาเยือน
“พอเราเป็นชุมชนเปิด ก็ให้โอกาสคนที่อยากทำกิจกรรมเข้ามาเยอะ เราไม่ได้ปิดกั้น” ประธานชุมชนเผยอย่างยิ้มแย้ม ก่อนเล่าต่อถึงความเปลี่ยนแปลงของชุมชนที่เธออาศัยมาตั้งแต่อายุเพียง 1 ขวบ จนกระทั่งวันนี้ที่มีแขกจากภายนอกผลัดเปลี่ยนเวียนแวะมาทำกิจกรรม
“ชุมชนก็เปลี่ยนไปบ้าง เพราะจากการที่ชุมชนอยู่กลางเมือง พอถามคนภายนอกเขาไม่รู้หรอกว่าตรงนี้มีชุมชน พอเรามีกิจกรรมตรงนี้ ทั้งจากหน่วยงาน มหาวิทยาลัยต่างๆ และมูลนิธิฯ ด้วย ก็มีคนเข้ามาเรื่อยๆ ทำให้คนรู้จักมากขึ้น คนก็มาศึกษาประวัติ มีทีมเด็กๆ เป็นมัคคุเทศก์น้อยพาไปดูกำแพงมีชีวิตที่เราใช้เล่าประวัติศาสตร์”
อย่างที่บอกไปว่า สถานีรถไฟที่เคยเบียดเสียดไปด้วยผู้คนจากทุกสารทิศเงียบเหงาลงไปจากเดิมมาก โกวพัชรีในฐานะของเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงก็ยอมรับว่ามีหลายสิ่งที่เปลี่ยนไปจากวันวาน
“บางสิ่งค่อยๆ หาย จากเดิมที่หัวลำโพงเป็นศูนย์รวมประชาชนจากหลายจังหวัด บ้างมานั่งรถไฟ บ้างเข้ามาค้าขาย อย่างจากอยุธยาก็มีแม่ค้ามานั่งค้าขายกับข้าวประจำทางเข้าชุมชน ตอนหลังเขาก็ขายไม่ได้”
รถไฟพาคนเข้ามาในย่านและนำพาความเจริญสู่ชุมชน เช่นกันกับเมื่อรถไฟเปลี่ยนเส้นทาง ก็ส่งผลถึงชุมชนไม่น้อย
“รถไฟค่อยๆ ย้าย ก็กระทบกับชุมชนแถวนี้ทั้งหมด ไม่ใช่แค่ที่นี่ คนที่เคยเอาของไปขายในสถานีก็ขายไม่ได้ คนที่ขายไก่ย่างอยู่ข้างหน้าสถานีก็ขายไม่ได้ มีย้ายออกไปบ้าง แต่ก่อนจะย้ายก็สร้างฐานะได้พอสมควร จากการที่เห็นเขานั่งสามล้อไปซื้อของ ต่อมาก็นั่งกระบะ” โกวพัชรีเล่ายิ้มๆ ก่อนพูดต่อถึงสถานการณ์ปัจจุบัน
“ณ ตอนนี้ หัวลำโพงเงียบ ปกติมีคนทั้งคืน ไม่น่ากลัว มีคนที่อยู่ตรงนั้นทั้งสามล้อ แท็กซี่ รถเมล์ มีร้านขายยา อาหาร ปากซอยทางเข้ามีโรงแรม มีร้านค้าที่ขายขนมปัง น้ำดื่ม เดินเข้ามามีก๋วยเตี๋ยว ผลไม้ ของกินสารพัด ตอนนี้หายหมดแล้ว
“โลกมันเปลี่ยน ทุกอย่างในละแวกนี้ค่อยๆ เปลี่ยนไป ก็เป็นปัญหากับการใช้ชีวิตของพวกเขาเหมือนกัน”
ลมหายใจของสถานีรถไฟใกล้ชุมชนค่อยๆ โรยรา แต่ขณะเดียวกัน ตรอกสลักหินก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งจากบทบาทใหม่คือ ‘ย่านสร้างสรรค์’
“ตอนนี้น่าจะกลับมาบูมใหม่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะน้องๆ เองช่วยกันคิด ตอนนี้คนก็เข้ามาในชุมชนเยอะ มาจากหลากหลายที่ กิจกรรมก็เข้ามาเยอะ ขอบคุณคนที่เห็นคุณค่า มาทำให้ชุมชนเรามีคนรู้จักมากขึ้น” โกวพัชรีเสริมต่อว่า เมื่อมีคนจากภายนอกเข้ามา นอกจากสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านแล้ว ยังทำให้คนในชุมชนสนุกกับการคิดสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆ และต่อยอดมาพัฒนาชุมชน โดยเฉพาะการส่งไม้ต่อให้กับกลุ่มเด็กๆ ที่เป็นเหมือนอนาคตของตรอกสลักหินในวันหน้า
“สิ่งสำคัญคือเราพยายามเติมเต็มให้เขา ทั้งจากการเรียนรู้จากหน่วยงานหรือน้องๆ ที่มาทำกิจกรรม มองว่าเด็กกลุ่มนี้มีความสนใจ ถ้าเขาสนใจแล้วเราเติมให้เขา มันจะไปได้ไกล พอไปได้ไกล เขาถ่ายทอดให้รุ่นน้องต่อไปทีละรุ่น ชุมชนก็ยั่งยืน” ประธานชุมชนบอกสิ่งที่คนในตรอกสลักหินกำลังทำ
ชุมชนตรอกสลักหินเพิ่งได้รับงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมย่านสร้างสรรค์จากกรุงเทพมหานคร จึงทำให้ย่านนี้เป็นอีกหมุดหมายสำคัญในการเข้ามาเยี่ยมเยือนย่านกลางเมือง กับอีเวนต์ต่างๆ ที่จะทยอยเกิดขึ้นในปี 2567 นี้
ในชุมชนที่ผู้คนร่วมกันพัฒนาจากแหล่งอโคจรระดับตำนานที่เคยถูกกล่าวขานผ่านจอเงินยุคเก่า ให้กลายเป็นย่านสร้างสรรค์และศิลปะ ที่เด็กๆ ตรอกสลักหินพร้อมใจพาทุกคนเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และภูมิปัญญาของชาวจีนโพ้นทะเลที่ยังพอหลงเหลืออีกแห่งหนึ่งของไทย