แบรนด์รีไซเคิลของจากขยะ - Urban Creature

ชีวิตประจำวันของเราย่อมผูกพันกับการอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะกับคนเมืองที่วนเวียนอยู่กับการใช้จ่ายซื้อขายกันตั้งแต่ยังไม่ลุกจากเตียงดีด้วยซ้ำ เราใช้พลังงานจากร่างกายและเงินจากบัญชีธนาคารออกไปเป็นจำนวนมากเพื่อขับเคลื่อนชีวิตที่แสนเหนื่อยยากในหนึ่งวัน แลกกับผลผลิตที่มากบ้างน้อยบ้างตามโอกาสและโชคชะตาของแต่ละคน แต่จริงๆ แล้วยังมีอีกผลผลิตหนึ่งที่พวกเราทุกคนได้ช่วยกันคนละไม้คนละมือผลิตมันขึ้นมา รวมกันเป็นปริมาณที่ล้นทะลักเกินจะหาที่เก็บหมักหมมมหาศาลจนกลายเป็นภาระของบ้านเมือง และสุดท้ายได้กลายเป็นภาระของโลกที่พวกเราทุกคนควรต้องร่วมกันรับผิดชอบ ผลผลิตเหล่านี้เราเรียกมันว่า ‘ขยะ’

‘ขยะ’ คือวัตถุหรือสิ่งของสถานะอื่นที่เราไม่ได้ต้องการมันอีกแล้ว เมื่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งกลายเป็นขยะ มันก็ต้องลงเอยในถังขยะ และเมื่อเรานำขยะเหล่านั้นไปทิ้ง ปลายทางชีวิตของขยะก็จะถูกแยกออกตามลักษณะทางกายภาพของมัน ไม่ว่าจะแยกไปทำลาย แยกไปทิ้งรอการย่อยสลาย หรือแยกไปเพื่อรีไซเคิล ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการกับขยะในปัจจุบันก็คือการรีไซเคิลขยะเพื่อเป็นการลดปริมาณขยะลง และช่วยประหยัดพลังงานในการทำลายที่สูญเปล่า

หากหน้าที่ของพนักงานเก็บขยะคือการจัดเก็บขยะและนำไปกำจัดหรือรีไซเคิล หน้าที่ของพวกเราคนทิ้งก็คือการทิ้งให้ถูกวิธี เพื่อทำให้กระบวนการจัดการขยะดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งหมุดหมายสำคัญที่สุดของการแยกขยะ ก็คือการย้อนวงจรขยะใหม่ ถึงจะขึ้นชื่อว่าขยะแต่จริงๆ แล้วหากขยะนั้นอยู่ถูกที่ (หรืออยู่ในมือของผู้ที่เห็นค่าของมัน) ขยะเหล่านั้นจะแปรสภาพกลายไปเป็นสิ่งที่มีมูลค่ามากขึ้นได้

การทำขยะให้ไม่ใช่ขยะอีกต่อไปคือหัวใจหลักของการรีไซเคิลขยะ ปัจจุบันแบรนด์สินค้าชั้นนำหลากหลายแบรนด์ได้นำแนวคิดของการรีไซเคิลและการฟื้นฟูอนุรักษ์ธรรมชาติมาปรับใช้ใหม่ แนวโน้มของการสร้างสรรค์สินค้าที่แสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในฐานะของผู้ผลิต ได้เติบโตสูงขึ้นจนกลายเป็นมาตรฐานใหม่ที่ทุกแบรนด์รุ่นหลังต้องทำตาม ไม่ใช่เพียงเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าของสินค้านั้นๆ แต่เพื่อให้ตัวสินค้าเองเป็นกระบอกเสียงที่เน้นย้ำกลับไปหาความรับผิดชอบของผู้ผลิตขยะ และผู้สร้างมลภาวะอย่างพวกเรา ซึ่งบางครั้งการประชันกันระหว่างสินค้ารีไซเคิลเหล่านี้ก็กลายเป็นการ ‘แข่งขัน’ กันระหว่างแบรนด์ด้วยซ้ำ แต่ไม่ใช่การแข่งขันเพื่อแก่งแย่งผลกำไร เพราะเป็นการแข่งกันว่านวัตกรรมของใครจะ Eco-friendly ได้มากกว่ากัน เรียกได้ว่าศึกนี้ต่อให้ห้ำหั่นกันแค่ไหน คนที่ชนะที่สุดเห็นจะเป็นผู้บริโภค และเหล่าลูกหลานรุ่นหน้าที่ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งแวดล้อมในอนาคต


ReMUJI
การเย็บทับ ปะชุน หรือย้อมสีใหม่ เพื่อซ่อมแซมเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายให้กลับมามีสภาพที่ใช้งานได้ เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ชาวญี่ปุ่นผูกพัน และถ่ายทอดกันในท้องถิ่นมาหลายยุคสมัย และในปี 2014 แบรนด์ไร้ตราชื่อดังสัญชาติญี่ปุ่น มูจิ ได้หยิบเอาแนวคิดนี้มาปรับใช้กับตนเองได้อย่างสร้างสรรค์น่าปรบมือให้ จากไอเดียง่ายๆ แต่ทรงประสิทธิภาพยิ่ง ก็คือการรับบริจาคเสื้อผ้ามูจิจากเจ้าของเก่าทั่วญี่ปุ่น นำมาคัดแยกตัวที่มีสภาพใช้การได้ เพื่อนำไปสู่กระบวนการย้อมแปลงโฉมมันเสียใหม่ ด้วยเทคนิคการย้อมครามแบบพิเศษ เพียงเท่านี้เสื้อโทรมจากเจ้าของเก่าก็จะกลายเป็นสินค้าใหม่แกะกล่อง เวียนกลับไปจำหน่ายยังร้านมูจิในราคาเท่ากันทุกชิ้น คือ 2,900 เยน (ราว 740 บาท)

เอกลักษณ์อีกอย่างของ ReMUJI ก็คือ เสื้อผ้าทุกชิ้นเกิดจากการทำมือ ไม่มีแพตเทิร์น ไม่มีการผลิตซ้ำ มีตัวเดียวในโลกจริงๆ Re MUJI วางขายในร้านมูจิครั้งแรกที่ฟุกุโอกะ และได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมากในเวลาอันสั้น จนทำให้เกิดการขยายจุดจำหน่ายไปยังสาขาอื่นๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนเสื้อผ้าที่มีสภาพผ่านการใช้งานมามากเกินเกณฑ์ มูจิจะส่งมอบเสื้อผ้าเหล่านั้นต่อให้ Fuku Fuku Project โครงการรีไซเคิลเส้นใยผ้าเป็นไบโอเอทานอลที่ก่อตั้งมาเมื่อปี 2010 เพื่อนำเสื้อผ้าเหลือใช้เหล่านั้นเวียนกลับไปเป็นพลังงานสะอาด เรียกได้ว่าเก็บเนี้ยบทุกดีเทลตะเข็บ สมกับเป็นมูจิจริงๆ

‘Your trash is my treasure’

Rubber Killer
แบรนด์ Eco-friendly ดิบเท่สัญชาติไทยยอดนิยม ก่อตั้งโดยสเริงรงค์ วงษ์สวรรค์ ภายใต้แนวคิดที่หนักแน่นทรงพลังอย่าง ‘Your trash is my treasure’ สเริงรงค์เริ่มต้นการสร้างแบรนด์นี้จากจุดเริ่มต้นง่ายๆ ในการทำของเล็กๆ น้อยๆ แจกให้กับเพื่อนร่วมงาน ก่อนจะได้แรงบันดาลใจในการนำยางในรถสิบล้อมาทำสินค้าจากช่างพื้นถิ่นในเชียงใหม่ สเริงรงค์เริ่มทำกระเป๋าแต่ละแบบจากยางในรถสิบล้อที่ผ่านการใช้งานจริงมาแล้วกว่าสองหมื่นกิโลเมตร โมเดลที่ดังที่สุดและเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จก็คือ Tote สีดำ Manee ที่เป็นการผสมผสานกันระหว่างผ้าและยางในส่วนพื้น ซึ่งการนำยางในรถสิบล้อมาทำเป็นส่วนของพื้นรองใต้กระเป๋า นอกจากจะให้ความรู้สึกแปลกใหม่ด้านวัสดุแล้ว ในแง่ของฟังก์ชันการใช้งานยังเป็นวัสดุที่ทนทานและดูแลรักษาง่ายอีกด้วย

Freitag
อีกหนึ่งแบรนด์กระเป๋ายอดฮิตจากสวิตเซอร์แลนด์ การันตีโดยรางวัลจากวงการดีไซน์มากมาย Freitag ก่อตั้งเมื่อปี 1993 โดยสองพี่น้องนักออกแบบกราฟิก ที่เริ่มต้นจากการอยากมีกระเป๋าสะพายข้างที่ทนทาน สามารถกันน้ำได้ และสามารถสะพายได้ ไม่เกะกะขณะปั่นจักรยาน เมื่อไม่มีสินค้าไหนในตลาดที่ใกล้เคียงกับความต้องการ พวกเขาเลยผลิตมันขึ้นเองเสียเลย Freitag เป็นกระเป๋ากันน้ำคุณภาพสูงที่ตัดเย็บจากวัสดุที่ผ่านการรีไซเคิลจริงมาแล้วทั้งใบ ไม่ว่าจะเป็นผ้าใบคลุมรถบรรทุกหลากลวดลาย ขอบตะเข็บที่กุ๊นโดยวัสดุจากยางในจักรยาน และใช้สายเข็มขัดนิรภัยมาเป็นสายสะพายซะอย่างนั้น

แต่ด้วยประสิทธิภาพของวัสดุแสนทนเหล่านั้น ทำให้ Freitag กลายเป็นกระเป๋าดีไซน์สวยที่สมบุกสมบันมากๆ ทนทานเสียยิ่งกว่ากระเป๋าที่ทำจากวัสดุผลิตใหม่ ทำให้ Freitag ได้รับความนิยมแทบจะทันทีหลังวางขาย และได้แพร่กระจายสาขาออกจากสวิตเซอร์แลนด์ไปยังเยอรมนี อเมริกา ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศทั่วโลก

Rags2Riches
กิจการเพื่อสังคมอันทรงคุณค่าจากประเทศฟิลิปปินส์ ก่อตั้งเมื่อปี 2007 โดย Reese Fernandez วีรสตรีผู้เปลี่ยนแปลงชีวิตของครอบครัวคนเก็บขยะชาวฟิลิปปินส์นับหมื่นครัวเรือน เธอมองเห็นปัญหาของอาชีพคนเก็บขยะ ที่ขยะอันมีค่าเหล่านั้นถูกส่งต่อไปยังพ่อค้าคนกลางมือต่อมือจนทำให้ปริมาณเงินที่กลับเข้าถึงตัวคนเก็บขยะจริงๆ เหลือน้อยนิด เหลื่อมล้ำกับมูลค่าของแรงงานที่พวกเขาทำได้ Reese เห็นว่า ทั้งขยะและเหล่าครอบครัวคนเก็บขยะมีค่ามากกว่านั้น เธอจึงเริ่มทำสิ่งที่จะพลิกวัฏจักรอันไม่เที่ยงธรรมนี้ Reese เริ่มต้นด้วยการพยายามที่จะ ‘เพิ่มมูลค่า’ ให้กับเหล่าขยะที่คนเก็บหามาได้ ด้วยการเชิญนักออกแบบและแฟชั่นดีไซเนอร์ชื่อดังลงมาร่วมมือในโครงการ เหล่าขยะถูกแปลงร่างให้กลายเป็นสินค้าคุณภาพหลากหมวดหมู่ ทั้งกระเป๋า รองเท้า แว่นตา ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังจัดการอบรมการผลิตสินค้าเหล่านั้นให้กับเหล่าครอบครัวคนเก็บขยะ เพื่อสร้างความยั่งยืนในการผลิตโดยไม่ต้องง้อพ่อค้าคนกลางอีกต่อไป โครงการนี้จึงไม่ใช่เพียงการหาวิธีที่จะลดขยะและมลภาวะ แต่เป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิตของสังคมและชุมชนให้น่าอยู่มากขึ้น

Pass The Baton
แบรนด์รีเทลสินค้ามือสองจากญี่ปุ่นที่มุ่งเน้นงานดีไซน์และของวินเทจเป็นหลัก โดยให้ความสำคัญกับประวัติความเป็นมาของสินค้านั้นๆ เหมือนการส่งไม้ต่อให้เจ้าของใหม่พร้อมเรื่องราวใหม่ อีกทั้ง Pass The Baton ได้เชิญนักออกแบบชื่อดังชาวญี่ปุ่นให้เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตสินค้าที่ระลึกจากขยะและวัสดุเหลือใช้หลากประเภท โดยทางร้านได้เรียกกระบวนการนี้ว่า New Recycle เพื่อเน้นย้ำและเชิญชวนให้นักออกแบบรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการรีไซเคิลมากขึ้น

แคมเปญที่น่าสนใจมากของ Pass The Baton มีชื่อว่า 1000 creators meets pass the Baton เป็นการเชิญนักออกแบบทั่วโลกเข้ามามีส่วนร่วม และมีกติกาง่ายๆ คือ ในแต่ละเดือน ทาง Pass the Baton จะเลือกสุ่มวัสดุขึ้นมาหนึ่งอย่างเป็นธีมในการออกแบบ นักออกแบบที่เข้าร่วมก็จะออกแบบสินค้าภายใต้วัสดุนี้ส่งเข้ามาแข่งขันกัน แบบที่ชนะการแข่งขันก็จะได้วางขายจริงในร้าน Pass The Baton ต่อไป

ไม่ใช่เพียงแบรนด์ดังๆ ที่ใช้วิธีการรีไซเคิลเข้ามาเพิ่มคุณค่าให้กับสินค้า ผู้บริโภค ผู้ผลิตรายย่อย จนไปถึงช่างท้องถิ่นจำนวนมากก็ประสบความสำเร็จในการนำขยะกลับมาสร้างเป็นสินค้า ด้วยการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพ เราจะทำให้ขยะค่อยๆ ลดลงจนอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ควบคุม และนำมาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การประหยัดพลังงาน และการลดมลภาวะของสิ่งแวดล้อมได้

การแยกขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลอาจดูเป็นสิ่งที่ยุ่งยาก และดูไม่เห็นจะส่งผลดีอะไรกับคนรอบข้างก็จริง แต่ในที่สุดแล้ว เมื่อเราเข้าใจในวัฏจักรชีวิตของขยะที่เราทิ้งทั้งหมด เราจะพบได้เองว่าวิธีกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพที่สุดในโลกก็คือการให้คุณค่ากับมัน

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.