รีโนเวต หอสมุดวังท่าพระอายุ 57 ปี ที่ศิลปากร - Urban Creature

ห้องสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากรในความทรงจำคุณเป็นแบบไหน?

หากคุณเป็นชาวศิลปากร อาจจดจำภาพห้องสมุดเล็กๆ ที่นักศึกษาล้อมวงแน่นรอบโต๊ะ เต็มไปด้วยเสียงพูดคุยจอแจ ซึ่งบ่อยครั้งต้องแย่งชิงที่นั่ง และต่อคิวยืมหนังสือแต่ละเล่มที่มีอยู่อย่างจำกัด

แต่ถ้าคุณเป็นผู้แวะเวียนมาใช้บริการเป็นครั้งคราว อาจพบว่าที่นี่คือสวรรค์ของคนรักหนังสือศิลปะ งานดีไซน์ สถาปัตยกรรม โบราณคดี และประวัติศาสตร์ ซึ่งเต็มไปด้วยมนตร์ขลังของบรรยากาศเก่าแก่

ไม่ว่าภาพจำจะเป็นแบบไหน แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป ห้องสุดเก่าในมหาวิทยาลัยศิลปะแห่งนี้ก็แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย

Architecture

ก่อนเป็น ‘หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร’ ห้องสมุดแห่งนี้เคยเปิดทำการครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 2507 โดยตั้งอยู่ภายในอาคารบริเวณหลังลานอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ก่อนย้ายมาสร้างด้านหน้าสำนักงานอธิการบดีเมื่อปี 2518 จนถึงปัจจุบัน เดิมทีออกแบบโดย ‘ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุริยา รัตนพฤกษ์’ เป็นสถาปัตยกรรมยุคโมเดิร์นที่เริ่มต้นไว้อย่างดี แต่ด้วยการปรับปรุงพื้นที่ตามกาลเวลา โดยไม่ได้มีแผนการพัฒนาชัดเจน จึงทำให้ภาพรวมการขยับขยายพื้นที่ค่อนข้างสะเปะสะปะ 

ในปี 2558 นับตั้งแต่เริ่มโครงการปรับปรุงวิทยาเขตวังท่าพระของมหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นการปรับปรุงพื้นที่ทั้ง 4 คณะวิชา ประกอบด้วย คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ คณะมัณฑนศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ และคณะโบราณคดี รวมถึงพื้นที่ส่วนกลางอื่นๆ ซึ่งหอสมุดเป็นหนึ่งในโปรเจกต์ที่ได้รับการยกเครื่องใหม่ ‘ผู้ช่วยศาสตราจารย์นันทพล จั่นเงิน’ หรือ ‘อาจารย์โอ๊ต’ ผู้อำนวยการสำนักหอสมุดกลาง ผู้ออกแบบหอสมุดวังท่าพระเวอร์ชันล่าสุด จึงตั้งใจที่จะพัฒนาและปรับปรุงให้อาคารหอสมุดมีภาพลักษณ์และภูมิทัศน์ที่ดีขึ้น และตอบโจทย์ผู้ใช้งานให้มากกว่าที่เคยเป็นมา

Man

เปลี่ยนห้องสมุดวังท่าพระให้ฟังก์ชันกับยุคสมัยกว่าเดิม

อ.โอ๊ตเล่าว่าเมื่อก่อนในห้องสมุดนี้ ถ้าเดินเข้ามาจะเจอบันไดลงไปชั้นใต้ดิน พื้นที่อ่านหนังสือและพื้นที่เก็บหนังสือจะมีทั้งที่อยู่ชั้นล่างและชั้นบน เวลาเดินในห้องสมุดก็จะเจอหนังสืออยู่ตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง อาจยังจัดการไม่ค่อยมีระเบียบมากนัก รวมถึงเวลาที่นักศึกษาจะไปยังห้องโสตทัศนูปกรณ์ ก็จะต้องเดินออกไปข้างนอกก่อน เพื่อที่จะขึ้นไปยังชั้น 3 ของตึกอีกที เพราะเป็นส่วนที่ตั้งอยู่แยกกัน 

“แนวทางการออกแบบก็คือ จะทำยังไงให้ทั้งหมดมีความต่อเนื่องด้านการใช้งานที่ดีขึ้น และมีประสิทธิภาพดีขึ้น ซึ่งในการออกแบบห้องสมุด เราไม่อยากทำให้ห้องสมุดเป็นแค่ห้องเก็บหนังสือ แต่ต้องการจะให้มันเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ไร้ขอบเขตให้กับทุกคน ทั้งนักศึกษา อาจารย์ รวมถึงบุคคลทั่วไป”

ส่วนของภูมิทัศน์ภายนอกอาคารที่ผ่านมา ตัวอาคารหอสมุดมีการปรับปรุงเพิ่มส่วนต่อเติม มีส่วนยื่นออกมาจนแทบจะชิดไปกับซุ้มประตูวังท่าพระฝั่งถนนหน้าพระลานที่ออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทำให้ไม่มีช่องว่างระหว่างอาคารสองอาคาร ยิ่งไปกว่านั้นคือบริเวณด้านหน้าก็ถูกบดบังด้วยที่ตั้งของสมาคมศิษย์เก่าและกองบริการวิชาการ

สำนักหอสมุดกลาง

“ช่วงที่ผมเข้ามาปรับปรุง จะมีส่วนต่อเติมที่ทุกอย่างมันเบียดอัดตัวซุ้มประตู ภูมิทัศน์ค่อนข้างไม่ค่อยดีเท่าไร ตอนนั้นมันมีการก่อสร้างไปเรื่อยๆ และไม่ได้เอามาพิจารณาในภาพรวม แทนที่พื้นที่นี้จะเป็นเพชรเม็ดงาม และมีมวลอากาศโอบล้อมก่อนที่จะเป็นอาคาร แต่มันขาดทรานสิชันหรือจุดเชื่อมต่อ กลายเป็นว่าการอยู่ร่วมกันของกลุ่มอาคารมันค่อนข้างแออัด พอปี 2558 เรามานั่งประชุมกันในระดับผู้บริหาร ทุกคณะวิชาและรวมผู้ออกแบบเข้าไปด้วย เราก็คิดว่ามหา’ลัยควรสร้างพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว หรือจุดเปิดโล่งให้กับพื้นที่มากขึ้น เพื่อรองรับกิจกรรมของเด็กๆ”

โจทย์ของการรีโนเวตห้องสมุดครั้งนี้ไม่ง่ายอย่างที่คิด ด้วยความที่พื้นที่ภายในตึก มีกฎหมายควบคุมความสูงอาคารในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ทำให้การปรับปรุงครั้งนี้ต่อเติมอะไรเพิ่มไม่ได้ และส่วนหนึ่งต้องการคงโครงสร้างหลักเดิมๆ ที่ ผศ.สุริยา รัตนพฤกษ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ของ อ.โอ๊ต ได้ออกแบบไว้ ซึ่งในอดีตมีการเพิ่มพื้นที่ในชั้นใต้ดินมาแต่แรกแล้ว

Bangkok

“อาจารย์สุริยาวางรากฐานมาดี เขาไม่ต้องการให้อาคารนี้มีความสูงจนค้ำกำแพงแก้วเยอะ อาจารย์พยายามทำอาคารเป็นแบ็กกราวนด์ให้กับตัวกำแพงวังท่าพระ เขาไม่ได้ต่อเติมให้สูงอะไรมาก ก็เลยสร้างเป็นชั้นใต้ดินลงไปแทน ซึ่งเทคโนโลยีในสมัยนั้นทำใต้ดินได้ขนาดนี้ก็เก่งมากแล้ว 

“เราพยายามคงรูปแบบตึกเดิมทั้งหมดอยู่ ถามว่าพื้นที่เดิมมันหายไปไหม แน่นอน พื้นที่หาย แต่พื้นที่นั่งจะเยอะมากขึ้น มันขึ้นอยู่กับวิธีการออกแบบและจัดสรร เพราะว่าเราต้องกลับมาวิเคราะห์หลายๆ ส่วน ตั้งแต่พื้นที่ออฟฟิศ แทนที่จะนั่งเป็นโต๊ะนักเรียน เราก็เปลี่ยนเป็นระบบไอซ์แลนด์ คือวางเรียงกันเป็นเกาะ เพื่อลดพื้นที่ทางเดินระหว่างโต๊ะ แล้วเอาพื้นที่นั้นไปเพิ่มให้มีที่นั่งมากขึ้นแทน”

รวมห้องสมุดเข้ากับห้องโสตฯ ที่เคยแยกจากกันให้เป็นหนึ่งเดียว

บริเวณโถงกลางของหอสมุดวังท่าพระโดดเด่นสะดุดตาเพราะชั้นวางที่จัดดิสเพลย์หนังสือในตู้กระจกและจัดไฟอย่างสวยงาม ซึ่งแต่เดิมเป็นห้องเก็บวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ซึ่งข้างบนติดฝ้าและมีตู้หนังสือสูงเพียง 2 เมตร จึงเกิดการวิเคราะห์ทั้งระบบโครงสร้างของงานระบบอาคาร และความเป็นไปได้ในการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดการเชื่อมต่อกันของตึกที่เคยแยกออกจากกัน ซึ่งเคยมีปัญหาการใช้งาน เพราะถ้าผู้ใช้บริการจำเป็นต้องใช้งานห้องโสตทัศนูปกรณ์ เพื่อยืมสื่อจำพวกดีวีดีหนัง จะต้องเดินออกไปข้างนอก และเดินขึ้นบันไดเพื่อไปยังห้องโสตฯ โดยปรับเปลี่ยนมาใช้พื้นที่ทั้งหมดให้เต็มศักยภาพ ด้วยการตัดคานแล้วเพิ่มบันไดทำชั้นลอยเชื่อมต่อห้องสมุดขึ้นสู่ชั้น 3 ไปยังห้องโสตฯ และห้องน้ำได้ใกล้และง่ายขึ้น พื้นที่โถงตรงกลางจึงมีลักษณะเป็นดับเบิลวอลุ่มที่ดูโปร่ง สวยงามดึงดูดสายตา พร้อมฟังก์ชันที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการห้องสมุดได้อีกด้วย

interior design

“มีแนวคิดที่จะทำห้องนี้ให้เป็นทั้งคล้ายๆ Memorial Space ให้กับ ศ. ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ด้วย ซึ่งแต่เดิมห้องสมุดของท่านคือส่วนที่ถูกต่อเติมแล้วยื่นไปแทบจะชิดซุ้มประตูด้านหน้า แต่พื้นที่ตรงนั้นน้ำรั่ว และทรุดลง เราจึงตัดสินใจรื้อ แล้วทำเป็นพื้นที่สีเขียว เวลาเด็กนั่งอ่านหนังสือ เขาสามารถทอดสายตามองพื้นที่สีเขียว มีพื้นหลังเป็นซุ้มประตู มองชำเลืองไปทางซ้ายจะเป็นท้องพระโรงของวัง รวมไปถึงเปิดมุมมองจากเดิมที่เป็นกำแพงทึบ มีหนังสือกั้น ก็เปิดให้เห็นบริเวณท่าช้าง ตรงนั้นจะมีอาคารอนุรักษ์ต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และมีคุณค่าด้านการหล่อหลอมความเป็นศิลปากร 

“เราวิเคราะห์บริบทที่อยู่รอบๆ กับศักยภาพของพื้นที่ภายใน แล้วเห็นว่าสามารถสร้างให้ห้องสมุดเชื่อมต่อกับบริบทภายนอกได้ ผมเชื่อว่าไซต์หรือที่ตั้งมันแวดล้อมด้วยบริบทโดยรอบ ซึ่งพื้นที่นี้ต้องการอาคารที่มีคุณลักษณะสอดคล้องกับตัวมันเอง ไม่อย่างนั้นห้องสมุดนี้ก็ไปอยู่ตรงไหนก็ได้ แต่พอมันอยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์ มีบริบทแวดล้อมแบบนี้ การออกแบบและปรับปรุงอาคาร จึงถ่อมตัวและคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ตัวมันตั้งอยู่ด้วย”

จากที่แต่เดิมอาคารหอสมุดแห่งนี้มีอยู่เพียงสองชั้นเท่านั้น แต่ปัจจุบันเมื่อเกิดการเชื่อมต่อด้วยบันไดขึ้นไปยังห้องโสตทัศนูปกรณ์ที่เป็นชั้นลอย จึงทำให้ในที่สุดตัวอาคารหอสมุดวังท่าพระจึงมีทั้งหมดสามชั้นด้วยกัน

Books

ประสบการณ์ใหม่ของห้องสมุดที่ยืมได้มากกว่าหนังสือ

นอกจากส่วนของชั้นหนังสือแล้ว ภายในหอสมุดวังท่าพระยังมีโซนแผ่นเสียง ภาพยนตร์ และพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะรวมกัน เรียกได้ว่าเป็นห้องสมุดทางด้านศิลปะ การออกแบบ และประวัติศาสตร์โบราณคดี ซึ่งมีทรัพยากรสารสนเทศที่อาจหาที่ห้องสมุดอื่นๆ ในไทยไม่ได้ เนื่องจากมีการสะสมสื่อเฉพาะทางด้านศิลปะต่างๆ มานาน รวมถึงการที่บุคลากรในแวดวงศิลปะ การออกแบบ และประวัติศาสตร์โบราณคดีที่นำหนังสือมาบริจาค อีกทั้งยังมีหนังสือที่ ศ. ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล มอบให้จำนวนประมาณหมื่นกว่าเล่ม ซึ่งล้วนเป็นหนังสือหายากและทรงคุณค่า ตามที่ท่านเคยกล่าวไว้ว่า “ผมเห็นว่า คนเราเกิดมานี่เหมือนน้ำหยดหนึ่งในมหาสมุทร เพราะฉะนั้นไปเอาอะไรกันนักกันหนา ต่อไปวันหนึ่งเราตายมันก็จางหายไป ผมพูดตามตรง ไม่ต้องการจะทิ้งอะไรเอาไว้ในโลกนี้เลย ยกเว้นห้องสมุดของผมเพียงอย่างเดียว” 

สุภัทรดิศ ดิศกุล

“เราพยายามที่จะประเมินว่าของที่เรามีอยู่ มีอะไรดี แล้วของที่ดีนั้น ถ้าเราเอาไปวางไว้บนเชลฟ์ จะวางแบบไหน เพราะฉะนั้นเราละเอียดลออแม้กระทั่งการจัดวาง ผมยกตัวอย่างเช่น ในห้องโถงใหญ่ตรงกลางนี้ เรามีการคัดเลือก ทั้งหมดทางด้านล่างคือหนังสือที่ ศ. ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงนิพนธ์ เราก็นำหน้าปกมาโชว์

“การจัดไฟที่เชลฟ์คือการให้คุณค่ากับสิ่งของ เหมือนการปล่อยแสงไปที่วัตถุ ต้องเน้นของที่สำคัญ เรามองว่าหนังสือเหล่านี้สำคัญ ช่วยทำให้เกิดมุมมองที่เห็นหนังสือสำคัญขึ้นมา โดยได้ทีมนักออกแบบแสง จาก FOS Lighting Design Studio ซึ่งเป็นศิษย์เก่าของคณะสถาปัตย์ ศิลปากรมาทำหน้าที่ตรงนี้”

อาจารย์โอ๊ตเล่าว่าห้องสมุดแห่งนี้มีแพลนจะทำคิวอาร์โค้ดให้นักศึกษาที่เข้ามาในห้องสมุดแล้วสนใจหนังสือบนเชลฟ์ในห้องโถงเปิดดูรูปแบบ E-books ได้ หรือหากต้องการอ่านเล่มจริงก็เดินไปบอกกับบรรณารักษ์ แล้วพี่บรรณารักษ์ก็จะมาไขกุญแจเปิดให้ เนื่องจากเป็นหนังสือทรงคุณค่า จึงต้องถนอมรักษาให้ดีที่สุด

University

นอกจากนี้ ทางด้านบนแถวชั้นลอยยังเป็นการรวมคอลเลกชันหนังสือชุดพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รวมประมาณสามสิบกว่าเล่ม ไปจนถึงหนังสือของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ซึ่งเป็นตำราศิลปะก็ถูกรวบรวมไว้ทั้งหมดและนำมาจัดแสดงไว้ด้วยเช่นกัน

“เราจัดแสดงเพื่อจุดไฟให้เด็กๆ คือทุกคนรู้จักอาจารย์ศิลป์ แต่ทุกคนไม่รู้ว่าอาจารย์ศิลป์มีผลงานอะไรมากไปกว่าการเป็นประติมากรเอกของประเทศเรา ความจริงท่านเขียนตำราไว้มากมาย ซึ่งถ้าดูในนิทรรศการ ‘The Memoirs of Prof. Silpa Bhirasri’ ที่จัดเพื่อรำลึกศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ก็แสดงให้เห็นว่าท่านมีความรัก ความห่วงใย และมีความหวังดีกับวงการศิลปะร่วมสมัยไทยอย่างไร ท่านแสดงความอุทิศตนให้กับลูกศิษย์ในวงการการศึกษา เมื่อหกสิบถึงเจ็ดสิบปีที่แล้ว ไม่มีหนังสือด้านศิลปะ ท่านก็เขียนหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์และแบบอย่างศิลปะโดยสังเขป (A Bare Outline of History and Styles of Art)’ ขึ้นมาซึ่งภาพที่ดิสเพลย์อยู่คือเอกสารประกอบการสอนที่เราได้รับความอนุเคราะห์มาจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ ซึ่งจริงๆ เขามีอีกเป็นสิบฉบับ ก็มีการพูดคุยกันว่าไม่ใช่ฝีมืออาจารย์ศิลป์หรอก บางคนก็บอกว่าอันนี้คือภาพที่อาจารย์ศิลป์สเก็ตช์เพื่อสอนนักศึกษา มันก็เป็นเสน่ห์ของการถกเถียงกัน แต่ทั้งหมดเป็นเอกสารประกอบการสอนของอาจารย์ศิลป์แน่ๆ แต่บอกไม่ได้ว่าใครเป็นคนเขียน หลายคนก็บอกว่าตัวเอส (S) นี้เป็นเอสของอาจารย์ศิลป์เลย ซึ่งการถกเถียงมันก็มีความน่าสนใจ”

นอกจากห้องสมุดแห่งนี้จะเป็นแหล่งความรู้ด้านศิลปะ การออกแบบ และประวัติศาสตร์โบราณคดี เต็มไปด้วยหนังสือเฉพาะทางที่มีจำนวนมาก ยังเป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้โดยมีนิทรรศการศิลปะจัดขึ้นสลับสับเปลี่ยนให้นักศึกษาและผู้ใช้บริการได้รับประสบการณ์ความน่าสนใจใหม่ๆ ที่อยู่นอกเหนือจากหน้ากระดาษหนังสือคล้ายกับว่าเป็นอาร์ตแกลเลอรีเสริมไปกับห้องสมุดนั่นเอง 

Space

อีกส่วนหนึ่งที่น่าสนใจคือพื้นที่ห้องถ่ายเอกสารเดิม ซึ่งอยู่ติดกับห้องโถงตรงกลาง ถูกปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานศิลปะอีกหนึ่งจุด ปัจจุบันกำลังจัดแสดงผลงานในโครงการหนังสือศิลปิน หรือ Artist’s Books

“ถ้าเราไปดูมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ทั้งฮาร์วาร์ด โคลัมเบีย เขาจะมีคอลเลกชันหนึ่งที่เรียกว่า Artist’s Books คือการให้ศิลปินตีความหมายความเป็น ‘หนังสือ’ ในมุมมองของเขา เพื่อทำออกมาเป็นงานศิลปะ ซึ่งงานนี้เราได้ร่วมมือกับศิลปินจากคณะจิตรกรรมฯ และศิลปินที่มีชื่อเสียง ซึ่งมีทั้งหมดประมาณสี่สิบกว่าชิ้น แต่ละชิ้นมาจากทั้งศิลปินแห่งชาติ หรือศิลปินศิลปาธรมาช่วยสร้างสรรค์ผลงานให้ห้องสมุด เรานำผลงานไปจัดแสดงที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ก่อน แล้วเอาผลงานสิบห้าชิ้นมาหมุนเวียนจัดแสดงไปเรื่อยๆ ที่ห้องสมุดนี้ 

“เราอยากจะผสมผสานส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน เพราะความเป็นพื้นที่เรียนรู้ต้องไม่ได้มีแค่หนังสือ แต่จะต้องมีนิทรรศการ และมีสื่อด้านอื่นๆ มาผสมผสานเข้าไปกับพื้นที่การเรียนรู้แห่งนี้ เราต้องการจะจัดกิจกรรมให้เกิดการพูดคุยกันด้วย จึงสร้างพื้นที่นั่งต่างระดับไหลลงไป เอื้อให้เกิดการพูดคุย”

หอสมุดวังท่าพระ

เมื่อถามอาจารย์โอ๊ตถึงต้นแบบและแรงบันดาลใจของการรีโนเวตครั้งนี้ เขาเล่าว่าได้ศึกษางานออกแบบจากหลากหลายที่ ไม่ว่าจะเป็น เซนได มีเดียเทค ในประเทศญี่ปุ่น หรืองานของห้องสมุดที่ประเทศฟินแลนด์ ซึ่งด้วยข้อจำกัดพื้นที่หอสมุดวังท่าพระที่มีขนาดเล็ก จึงต้องคำนึงว่าการนำมาปรับใช้สามารถทำอะไรได้บ้าง 

“ผมว่าปัจจุบันบทบาทของห้องสมุดเปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่แค่สถานที่มานั่งเงียบๆ อ่านหนังสือเพียงอย่างเดียวแล้ว เดี๋ยวนี้การเรียนรู้คือการได้พูดกับคนอื่น ได้ฟัง เขียน คิด และทำ อย่างในต่างประเทศเขาจะมีพื้นที่ Making Space มีห้องเวิร์กช็อป และห้องเครื่องพิมพ์สามมิติ (3D Printer) ห้องสมุดบางแห่งเขาเรียกว่าห้องสมุดคน เพื่อให้คนมาเจอกันและมาพูดคุยกันได้ ซึ่งแผนของเราคือทำให้ห้องที่เอาไว้จัดแสดง Artist’s Books กลายเป็นห้องสมุดภาพ”

อาจารย์โอ๊ตอธิบายความเป็น ‘ห้องสมุดภาพ’ เพิ่มเติมโดยใบ้ให้ว่า ถ้าคนมาห้องสมุด เพื่อยืมหนังสือ แต่ถ้าเป็นห้องสมุดภาพล่ะ เราจะมายืมอะไร

คำตอบคือผู้ใช้บริการเข้ามายืมภาพได้ ซึ่งทางด้านศิลปินก็จะมีพื้นที่แสดงผลงานมากขึ้น ด้วยการเปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้เสพงานศิลปะมากขึ้น ซึ่งแนวคิดนี้เกิดจากการศึกษาต้นแบบห้องสมุดในเมืองสตุทท์การ์ต ประเทศเยอรมนี ที่สร้างสรรค์เป็นพื้นที่เปิดให้กลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ๆ มาวางผลงานไว้ และปล่อยให้คนมายืมไปได้ เพื่อให้คนในเมืองมีโอกาสในการเข้าถึงศิลปะได้ ในขณะเดียวกันเหล่าศิลปินรุ่นใหม่ก็มีโอกาสที่จะเผยแพร่งานของตัวเอง ซึ่งเป็นการช่วยให้ความรู้คนในภาพรวม และยังช่วยเกื้อกูลกันกับศิลปินอีกด้วย

ศิลปากร วังท่าพระ

มองก้าวต่อไป อาจารย์โอ๊ตเล่าว่าจะไม่ได้มีแค่ภาพเท่านั้น อาจจะมีผลงานประติมากรรมชิ้นเล็กๆ ให้คนสามารถยืมไปดิสเพลย์ที่บ้านชั่วระยะเวลาหนึ่งได้ สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ยืมไปตกแต่งร้านอาหาร หรือนำไปเป็นพร็อปประกอบฉากเพื่อทำสื่อต่างๆ ได้ 

นอกจากการเป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้อย่างเปิดกว้าง หอสมุดวังท่าพระก็ได้มีการทำ MOU ร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยกับ TCDC หรือ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบอีกด้วย ซึ่งจะมีทั้งการแลกเปลี่ยนทรัพยากร บุคลากร และวิทยากรกันในทุกๆ ปี เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่หลากหลายมากขึ้น

“อยากให้ห้องสมุดนี้เป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่ไร้ขอบเขต ให้มีการพูดคุย การเสวนา และการแลกเปลี่ยน อย่างล่าสุดคณะดุริยางคศาสตร์ก็อยากมาเล่นดนตรีที่นี่ คณะมัณฑนศิลป์ก็อยากมาจัดงานเดินแบบแฟชั่นตรงบันไดชั้นลอย ผมว่าเป็นมูฟเมนต์ที่น่าสนใจ เพราะฉะนั้นสิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้ากายภาพไม่ตอบโจทย์ เรากำลังทำกายภาพให้เกิดขึ้น เหมือนมีฮาร์ดแวร์ ก็ต้องมีซอฟต์แวร์ หนังสือก็เช่นกัน มีฮาร์ดแวร์อยู่ในตัวมัน มีคอนเทนต์ที่อยู่ในหนังสือ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น ผู้คนที่เข้ามาเกิดการพูดคุยสนทนา ผมว่ามันคือซอฟต์แวร์ที่ดีอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดความหลากหลาย”

Magazine

อาจารย์โอ๊ตอธิบายให้เห็นถึงเป้าหมายในอนาคตของหอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร โฉมใหม่แห่งนี้ ด้วยแนวคิดที่น่าสนใจว่าสถาปัตยกรรมเองก็สามารถปฏิสัมพันธ์ (Extrovert) กับภายนอกได้เช่นกัน และคาแรกเตอร์ของห้องสมุดก็ไม่ได้มีเพียงภาพจำแบบเดิมๆ ว่าจะต้องเป็นพื้นที่เงียบๆ (Introvert) อย่างเดียวเท่านั้น แต่มีความเป็นไปได้มากกว่านั้น เพื่อเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่ไร้ขอบเขต รวมถึงเชื่อมต่อกับผู้คนและบริบทแวดล้อมภายนอกได้ดีอีกด้วย 


Facebook : หอสมุดวังท่าพระ มหาวิทยาลัยศิลปากร




Writer

Graphic Designer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.