ความรู้สึกหลังชมงาน ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ - Urban Creature

งานศิลปะถือว่าเป็นตัวกลางรูปแบบหนึ่งที่ก่อให้เกิดความรู้สึกร่วมในหลายๆ ทาง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถาม การตระหนักรู้ หรืออาจเป็นการเรียนรู้บางเรื่องราวที่ศิลปินนำเสนอผ่านชิ้นงาน เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้น

เช่นเดียวกันกับงาน ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ ที่คราวนี้ขึ้นเหนือไปจัดแสดงผลงานศิลปะกันถึงจังหวัดเชียงราย โดยผลงานที่จัดแสดงนั้นก็ได้สะท้อนถึงความน่าสนใจของเมืองเชียงรายที่ซุกซ่อนอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ผ่านการตีความของศิลปินที่เข้าร่วมงานนี้

และในช่วงเดือนสุดท้ายของการจัดแสดงงาน Urban Creature ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมผลงานบางส่วนมาด้วย เราจึงอยากพาไปย้อนชมผลงานเหล่านั้น เพื่อซึมซับความงดงามและตีความสารที่ศิลปินต้องการสื่อพร้อมๆ กัน

Thailand Biennale

Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

‘Thailand Biennale’ คืองานมหกรรมศิลปะระดับชาติที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ สองปี โดยปีก่อนๆ ที่ผ่านมานั้น จังหวัดที่เป็นสถานที่จัดงานล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ เรื่องราวทางวัฒนธรรม รวมถึงเป็นพื้นที่แห่งเมืองท่องเที่ยว ที่พร้อมเปิดให้คนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวต่างถิ่นได้เข้ามาใช้เวลาไปกับการชมงานศิลปะร่วมสมัยที่กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ของจังหวัด

เปิดโลก ที่เชียงราย

Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

สำหรับครั้งที่ผ่านมา ‘Thailand Biennale, Chiang Rai 2023’ จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงราย ในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงราย อำเภอเชียงแสน และ 13 พาวิลเลียนในจังหวัดเชียงราย จากศิลปินกว่า 60 คนทั่วโลก

โดยงานนี้มาพร้อมกับคอนเซปต์ ‘เปิดโลก’ หรือ ‘The Open World’ ที่มาจากพระพุทธรูปปางเปิดโลก วัดป่าสัก อำเภอเชียงแสน สื่อความหมายถึงการเปิดโลกการรับรู้ทางศิลปะที่เชื่อมโยงความจริง และนำไปสู่การตั้งคำถามผ่านผลงานศิลปะ และเชื่อมโยงร้อยเรียงเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

แหล่งรวมศิลปิน ชุมชน และศิลปะ

Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

นอกจากนั้น เชียงรายยังเป็นพื้นที่ที่มีชื่อเสียงในแง่การเป็นเมืองที่มีความเป็นพหุวัฒนธรรมสูง เพราะเป็นเมืองเก่าแก่แห่งอาณาจักรล้านนาที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และมีชายแดนที่เชื่อมต่อพรมแดนของ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว เมียนมา ทำให้ดินแดนแห่งนี้เป็นศูนย์รวมความหลากหลายที่มีผู้คนมากถึง 30 ชาติพันธุ์อาศัยอยู่ร่วมกัน 

ด้วยเหตุนี้ เชียงรายจึงมีอัตลักษณ์เฉพาะตัว และมีประเด็นร่วมสมัยน่าสนใจหลายประการ มากไปกว่านั้น ศิลปินในจังหวัดเชียงรายยังมีการรวมกลุ่มที่นำไปสู่การพัฒนาชุมชนศิลปะร่วมสมัยที่เข้มแข็งอีกด้วย

เมื่อพิจารณาในแง่มุมเหล่านี้แล้ว เชียงรายก็เหมาะสมกับการเป็นพื้นที่ที่เปิดรับการนำเสนองานศิลปะหลากหลายรูปแบบ และเป็นพื้นที่ให้ศิลปินหน้าใหม่หลายคนได้อาศัยช่วงเวลานี้ในการนำเสนอผลงานสู่สายตาคนทั่วไป

งานศิลป์ที่ยึดโยงกับชุมชนและพื้นถิ่น

Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

แม้ว่าจะเป็นการแสดงผลงานของศิลปินจากหลากหลายพื้นที่ แต่ผลงานส่วนใหญ่ล้วนมีความเชื่อมโยงกับจังหวัดเชียงราย เพราะทางทีมภัณฑารักษ์ได้มีการพาศิลปินลงพื้นที่สำรวจประเด็นน่าสนใจ เพื่อจุดประกายความคิดให้เกิดแรงบันดาลใจในการสะท้อนความเป็นเมืองพหุวัฒนธรรมของเชียงรายผ่านผลงานศิลปะ เพื่อนำเสนอและถ่ายทอดข้อมูลให้กับผู้ชมได้ซึมซับงานศิลป์และอินไปกับความเป็นเชียงรายด้วย

Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

งานแรกที่เราอยากยกตัวอย่างคือ ผลงานศิลปะขนาดใหญ่หน้าศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังเก่า โดย ‘ไมเคิล ลิน’ ศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานด้วยแรงบันดาลใจจาก ‘ลายผ้า’ ที่เป็นความทรงจำร่วมทางสังคมและอัตลักษณ์ท้องถิ่น

สำหรับผลงานชิ้นนี้ ไมเคิลได้ผสมลวดลายและสีสันของผ้าจากชาวเขาในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ โดยเปรียบผืนผ้าเหมือนงานฝีมือที่รำลึกถึงสหภาพแรงงานและชุมชน เป็นการผสมผสานเสียงที่หลากหลาย รวมพลังที่ขัดแย้งระหว่างผู้ปกครองจากส่วนกลาง และฝ่ายที่ถูกปกครองจากชายขอบ แสดงถึงการเจรจา ต่อรอง และตั้งคำถามต่อบทบาทของศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัยที่มีความหลากหลายและสลับซับซ้อนของภูมิภาคนี้

Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

อีกแห่งคือ ‘ไทยวนปิ๊กบ้าน : การสืบทอดและส่งต่อ’ ผลงานของ ‘บ้านนอก ความร่วมมือทางศิลปวัฒนธรรม (Baan Noorg Collaborative Arts And Culture)’ ตั้งอยู่ใน ‘โบราณสถานหมายเลข 16’ ที่แม้ว่าศิลปินจะมาจากจังหวัดราชบุรี แต่ผลงานชิ้นนี้เป็นการเล่าเรื่องราวของชุมชนยวนพลัดถิ่นในตำบลหนองโพ จังหวัดราชบุรี ที่อพยพจากเมืองเชียงแสนเนื่องจากบรรพบุรุษถูกกวาดต้อน โดยศิลปินได้พยายามสืบค้นร่องรอยของคนไทยวนด้วยการจินตนาการถึงอดีตที่ย้อนกลับไปไม่ได้ และแสดงออกมาให้เห็นผ่านเจดีย์เป่าลมและแพเป่าลม ที่ชวนให้ผู้ชมได้ปีนป่ายและขึ้นไปกระโดดบนผลงาน

โดยในช่วงระยะเวลาหนึ่งที่ยืนชมผลงานอยู่ เราจะเห็นได้ว่าเจดีย์เป่าลมนั้นค่อยๆ แฟบลงจากการถูกปล่อยลมออก ก่อนที่จะค่อยๆ กลับไปตั้งตรงอีกครั้ง และวนซ้ำอยู่อย่างนี้ เพื่อเป็นการเปรียบเทียบการสร้างชีวิตให้กับวัตถุที่มีสภาวะชั่วขณะ เกิดขึ้น และจางหาย วนเวียนต่อเนื่องไป

งานศิลปะที่ชวนให้ขบคิดและตั้งคำถาม

Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

นอกจากการเปิดโลกนี้จะพาเข้าสู่โลกศิลปะแล้ว หลายผลงานยังชวนให้เกิดการตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ รอบตัว ผ่านการแสดงออกในรูปแบบของศิลปะด้วย อย่างที่ ‘พิพิธภัณฑ์บ้านดำ’ มีผลงาน ‘ตำนานนางบัวแดง’ งานโฟโต้คอลลาจของ ‘กมลลักษณ์ สุขชัย’ โดยเป็นการนำนิทานเรื่องเล่าแต่โบราณที่เกิดขึ้นจากการหลอมรวมกันของอำนาจจากศาสนาหลักอย่างพุทธ พราหมณ์ และผี โดยเฉพาะการใช้ความเชื่อเป็นเครื่องมือในการช่วงชิงพื้นที่อำนาจระหว่างเพศชายและเพศหญิง มาสะท้อนโครงสร้างและอุดมการณ์ทางสังคม

ตำนานนางบัวแดงเป็นเรื่องเล่าที่ว่าด้วยนางบัวแดง หญิงสาวที่ลอยมากับน้ำและถูกเจ้าเมืองบังคับให้ไปอยู่กับฤๅษีในป่า เรื่องเล่าในส่วนนี้แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างทางสังคมที่ผู้หญิงไม่มีเสรีภาพในการตัดสินใจเลือกชีวิตของตนเอง ชวนให้ตั้งคำถามว่า ความเชื่อที่สอดแทรกมากับตำนานเหล่านี้ ส่งอิทธิพลและกำหนดบทบาททางเพศในสังคมอย่างไรบ้าง

Thailand Biennale, Chiang Rai 2023

อย่างไรก็ตาม พื้นที่แห่งนี้ได้ชื่อว่าเต็มไปด้วยศิลปะแห่งความเป็นชาย เพราะภายในบ้านดำมีแต่งานศิลปะที่มีความเป็นชายอยู่เต็มไปหมด ด้วยเหตุนี้ การที่พื้นที่เดียวกันนี้มีการจัดแสดงผลงานของศิลปินหญิงอีกสามคนที่มีความเฟมินีนมาก จึงช่วยเน้นย้ำภาพการกดทับทางเพศของหญิงสาวทั้งในงานศิลปะและพื้นที่อย่างเข้มข้น เพื่อที่ผู้เข้าชมจะได้เกิดการตั้งคำถามผ่านเรื่องราวและรูปแบบการนำเสนอผลงานด้วย

นอกจากนี้ยังมีผลงานที่ทำให้เกิดความตระหนักต่อการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นปัญหามลภาวะ หรือ PM 2.5 ของทางภาคเหนือ ที่สะท้อนผ่านผลงานจาก ‘all(zone)’ และ ‘รชพร ชูช่วย’, ผลงานที่ใช้ยางล้อรถเก่ามาสร้างสรรค์ สะท้อนปัญหาจากระบบอุตสาหกรรม ลัทธิบริโภคนิยม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดย ‘ชาไคอา บุคเคอร์’ หรือการสร้างความตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง ผ่านผลงานสารคดี Summer Holiday with Naga โดย ‘วิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์’ และ Path 14, The River Flows Two Ways โดย ‘โบดี วิดจายา’ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของงาน Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ที่เรามีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมมา น่าเสียดายที่งานนี้เพิ่งจบไปเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา หากใครที่สนใจแต่พลาดโอกาสทำความรู้จักและเรียนรู้พื้นที่ผ่านงานศิลปะในครั้งนี้ไปก็ไม่ต้องเสียใจ เพราะครั้งต่อไป Thailand Biennale จะจัดขึ้นในปี 2568 ที่จังหวัดภูเก็ต

รับรองว่าเทศกาลครั้งหน้าก็จะเต็มไปด้วยผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์และน่าสนใจมากมายไม่แพ้กับปีอื่นๆ แน่นอน

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.