ในฐานะคนที่สนใจเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ ชื่อของ กลุ่มทำทาง ผ่านหูผ่านตาเราหลายหน เราเคยเห็นข่าวคราวของการรณรงค์เรื่องทำแท้งปลอดภัย เคยอ่านบทความที่ออกมาแชร์ประสบการณ์จริงของผู้หญิงที่เคยทำแท้งจากเว็บไซต์และเพจของพวกเธอ และเคยฟังพอดแคสต์ที่ชวนคิดชวนคุยในหัวข้อเดียวกันนี้มาบ้าง
กระทั่งเมื่อต้นปีที่แล้ว ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ชี้ว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 301 ซึ่งกำหนดความผิดแก่หญิงที่ทำให้ตนเองแท้งว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ นำมาซึ่งการแก้ไขกฎหมายให้สามารถทำแท้งได้ภายในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์โดยไม่ถือว่ามีความผิดทางอาญา นอกจากนี้ยังแก้กฎหมายอาญา มาตรา 305 ให้หญิงที่มีอายุครรภ์ 12 – 20 สัปดาห์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้เช่นกัน แต่ต้องตรวจและรับคำปรึกษาจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมและผู้ประกอบวิชาชีพอื่น
การแก้ไขกฎหมายเรื่องนี้นำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลายขั้วจากคนในสังคม แม้จะล่วงเลยเวลามานานกว่าหนึ่งปีก็ยังเป็นที่พูดถึงบนหน้าไทม์ไลน์ฉันเสมอ ในวาระที่กลุ่มทำทางเพิ่งจัดงาน ‘Bangkok Abortion กรุงเทพทำแท้ง’ เสร็จไปหมาดๆ เราเลยไม่พลาดที่จะนัดคุยอัปเดตสถานการณ์เรื่องนี้กับพวกเธอ
น่าสนใจที่เมื่อเราถามความรู้สึกของ ‘นิศารัตน์ จงวิศาล’ หนึ่งในสมาชิกที่มานั่งคุยกับเราวันนี้ต่อกฎหมายยุติการตั้งครรภ์ข้อปัจจุบัน เธอบอกว่า ‘ยังไม่แฮปปี้’ และการปรับเปลี่ยนข้อกฎหมายก็ไม่ได้แปลว่าผู้ที่อยากยุติการตั้งครรภ์เข้าถึงการรับการบริการมากขึ้น
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น-ให้บทสนทนาในบรรทัดถัดไปเล่าให้ฟัง
ทำไมคุณถึงยังไม่แฮปปี้กับกฎหมายทำแท้งที่เพิ่งอัปเดต
เราว่าการเปลี่ยนข้อกฎหมายมันก็ดี ในแง่ที่ทำให้ผู้ให้บริการสบายใจขึ้น และผู้รับบริการรู้สิทธิ์ตัวเอง มันดีหมดแหละ แต่สิ่งที่เราอยากได้จริงๆ ตั้งแต่แรกคือการยกเลิกมาตรา 301 ไปเลย คนที่ทำแท้งต้องไม่มีความผิดทุกกรณี อันนี้คือจุดมุ่งหมายแรกของเรา
Pain Point ที่กลุ่มทำทางเจอคือการไม่มีสถานที่บริการทำแท้ง ซึ่งถึงจะแก้กฎหมายแล้วก็ไม่ได้ดีขึ้น คนมักเข้าใจผิดว่าพอกฎหมายทำแท้งเปลี่ยนแล้วสถานที่บริการก็จะบูมขึ้นมาเต็มไปหมด แต่จริงๆ ไม่ใช่เลย มันแทบจะมีเท่าเดิม ถ้าจะเพิ่มก็เพิ่มแค่ที่สองที่ และเป็นการเพิ่มแบบมีเงื่อนไข
ยกตัวอย่างโรงพยาบาลรัฐบางแห่งที่เข้าร่วมกับเครือข่าย RSA (เครือข่ายแพทย์ที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัย) หลังแก้กฎหมายเขาก็ลองเปิดให้บริการดู แต่เป็นการเปิดบริการแบบกล้าๆ กลัวๆ ไม่กล้ารับทุกกรณีที่เข้ามา ขอรับเฉพาะวัยรุ่น คนที่ทำหมันแล้วหลุดท้อง หรือขอรับคนที่ฝังยาแล้วหลุดท้อง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่แคบมากนะ กลายเป็นว่ามีสถานบริการเพิ่มแต่ไม่ได้แปลว่าคนที่ได้รับบริการจะเพิ่มขึ้น
แต่ประโยชน์ในอีกแง่หนึ่งคือประชาชนทราบสิทธิ์ตัวเองแล้วว่าจริงๆ เราทำแท้งได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่ต้องการทำแท้งเดินเข้าไปที่โรงพยาบาลตามสิทธิ์เพื่อเรียกร้องหาบริการทำแท้ง หรือหมอที่อยากให้บริการเขาก็กล้าที่จะให้บริการอย่างมั่นใจ เพราะก่อนหน้านี้พวกเขากลัวถูกตั้งข้อหาเนื่องจากกฎหมายมาตรา 305 เก่า ซึ่งตำรวจสามารถทลายคลินิกทำแท้งแล้วให้หมอไปสู้กันในชั้นศาล พอเป็นกฎหมายใหม่ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว ทั้งหมอที่ให้บริการอยู่แล้วและคนที่อยากให้บริการเพิ่มก็สบายใจ มีคลินิกเอกชนเพิ่มขึ้น 2 – 3 แห่งตั้งแต่แก้กฎหมายมา อันนี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน
กลุ่มทำทางได้ทำทางมายาวนานกว่า 11 ปีแล้ว ถึงตอนนี้คุณทำงานด้วยความรู้สึกแบบไหน
เรามีความหวังนะ พอได้เห็นว่างานที่เราทำมันเปลี่ยนสังคมจริงๆ แค่นี้มันก็อยากทำต่อแล้ว
ถ้าให้พูดในนามของกลุ่ม ความตั้งใจแรกของกลุ่มเริ่มจากที่พี่ชมพู่ (สุพีชา เบาทิพย์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มทำทาง) เขาแค่อยากแชร์ประสบการณ์และแบ่งปันข้อมูลที่ตัวเองมี นั่นคือจุดเริ่มต้นของงานให้คำปรึกษา หลังจากนั้น เรากลายเป็นหน่วยงานให้คำปรึกษาเรื่องทำแท้งกลุ่มแรกในประเทศไทย โดยความตั้งใจคือการทำให้คนเข้าถึงบริการที่มีอย่างจำกัดจำเขี่ย ในแต่ละปีเราให้คำปรึกษาไปหลายพันคน จนต่อมามันค่อยๆ ขยายงานออกมาเรื่อยๆ ไปถึงเรื่องกฎหมาย การคุยกับหมอ การรณรงค์
เราอยู่กับกลุ่มทำทางมา 7 ปี วันแรกที่เราเข้ามา รายการประเภทจิตสัมผัสยังโด่งดังมาก มีคนพูดถึงเรื่องการแก้กรรมเยอะ ถ้าพูดถึงการทำแท้งปุ๊บจะมีคำว่าแม่ใจยักษ์ขึ้นมาเลย แต่ทุกวันนี้เราพบว่าสื่อเปลี่ยนไป อาจจะไม่ได้เปลี่ยนทุกเจ้าแต่ในภาพรวมมันดีขึ้น มีการพูดถึงเรื่องการทำแท้งในเชิงปัญหาของสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ถามว่ามันเปลี่ยนเพราะอะไร เราก็ต้องให้เครดิตทั้งหมอกับกลุ่มของตัวเองด้วยที่คัดง้างกับระบบ มันมีหลายสิ่งมากที่เราทำเพื่อให้เกิดภาพเหล่านี้
ปัญหาที่คนมาปรึกษากลุ่มทำทางในอดีตกับตอนนี้ต่างกันไหม
ไม่ต่าง เพราะปัญหาของคนที่เข้ารับบริการไม่ได้คือเรื่องเงิน การที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมันดีเลย์เวลาของเขาออกไป หมายความว่าอายุครรภ์ของเขาก็เพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงว่าอายุครรภ์จะเกิน 12 สัปดาห์ ซึ่งจะหาสถานที่ให้บริการในประเทศไทยได้ยากมาก เพราะมีน้อยมาก แค่หลักหน่วย เพราะฉะนั้นเรื่องเงินจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ทั้งที่จริงๆ แล้ว สปสช. (สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ) ก็สนับสนุนหัวละ 3,000 บาท แต่สิทธิตรงนี้ไปไม่ถึงผู้รับบริการทั้งหมด
เพราะคลินิกหลายๆ แห่งมองว่าการทำเบิกเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก และงบ 3,000 บาทอาจไม่พอ ซึ่งเราก็เข้าใจนะ เพราะปกติในกรุงเทพฯ ถ้าคุณมีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์แล้วไปคลินิกเอกชน คุณต้องจ่าย 3,500 – 5,000 บาท แต่ถ้า 12 สัปดาห์พอดีก็ต้องจ่าย 4,900 บาทหรือแพงกว่านั้นถ้าคุณไปโรงพยาบาล
แต่ขณะเดียวกัน การเข้าถึงโรงพยาบาลรัฐเพื่อรับบริการก็เป็นเรื่องยาก การไปคลินิกเอกชนง่ายกว่ามาก แต่มันต้องใช้เงิน เพราะฉะนั้นเราจะย้ำเสมอว่าเงินเป็นประเด็นสำคัญในการรับบริการ
11 ปีที่ผ่านมา มุมมองของคนในสังคมที่มีต่อการทำแท้งเปลี่ยนไปบ้างไหม
เราว่าดีขึ้น ไม่รู้ว่าจะเอาตัวชี้วัดไหนมาวัด แต่จากที่เห็นในสื่อ เรามองเห็นการสนับสนุนเรื่องสิทธิในสัดส่วนที่มากกว่าเดิม อย่างถ้าเราลองไปดูในกรุ๊ปปรึกษาเรื่องเพศ แต่ก่อนพอมีคนปรึกษาเรื่องทำแท้ง เราจะได้ยินคำว่าอย่าทำ บาป ขึ้นมาเป็นคำแรกเลย ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังได้ยินอยู่ แต่มันมีความเห็นอื่นๆ ขึ้นมาให้ได้ยินเพิ่มขึ้น เช่น ถ้าจะทำแท้งไปทำที่นี่นะคะ ปรึกษา 1663 นะคะ สิ่งเหล่านี้เราไม่เคยเห็นมาก่อน มันเพิ่งมาเกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
คิดว่ามุมมองที่เปลี่ยนไปนี้เกิดขึ้นเพราะเด็กเจนฯ ใหม่ด้วยหรือเปล่า
เราไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องเจนฯ เพราะเด็กเจนฯ ใหม่หลายคนก็ยังเชื่อเรื่องเวรกรรม เราเชื่อว่าเป็นเรื่องของการสื่อสารสาธารณะ ซึ่งไม่ได้มีแค่กลุ่มทำทางที่ทำหน้าที่สื่อสารออกไป ยังมีเครือข่ายแบบ Choices ที่ทำงานสื่อสาธารณะเหมือนกัน และเป็นเพราะกฎหมายด้วยเนื่องจากเป็นหลักนำสังคม การที่กฎหมายออกมาบอกว่าคุณทำสิ่งนี้ได้โดยไม่ผิด มันเป็นข้อยืนยันว่าทุกคนมีสิทธิแล้ว
พูดถึงเวรกรรม ทุกวันนี้ Stigma เรื่องเวรกรรมยังมีผลต่อการทำงานของคุณไหม
มี อย่างคนที่มาทำงานกับกลุ่มทำทาง บางคนก็ออกไปเพราะรู้สึกว่าอยู่นานๆ แล้วบาป รวมถึงคนที่ครอบครัวมีปัญหากับการมาร่วมงานกับกลุ่มทำทาง อย่างเราเองครอบครัวก็ถามว่าเมื่อไหร่จะหยุดทำงานเรื่องทำแท้งสักที จริงๆ มันก็บั่นทอนเนอะ เพราะมันคือเรื่องที่ส่งผลในเชิงปัจเจก
แต่ในเชิงการทำงานให้คำปรึกษา ก็มีคนที่มาปรึกษาแล้วพูดว่า ‘หนูจำเป็นต้องทำจริงๆ แต่มันบาป ไม่อยากทำเลยแต่มันจำเป็น รู้สึกแย่ นั่นฆ่าเขาเลยนะ’ คำพูดเหล่านี้เราได้ยินจากคนที่ท้องไม่พร้อม ซึ่งมันเกิดจากการที่สังคมปลูกฝังความรุนแรงเข้าไปในตัวเขาตั้งแต่แรก
บาปกรรมมันทำร้ายใจของเราทุกคน ทั้งที่จริงๆ แม่งก็ไม่แฟร์
ทำไมถึงมองว่าไม่แฟร์
อ้าว มันจะแฟร์ได้ยังไง พอเราบอกว่าท้องไม่พร้อมขึ้นมา คนก็จะถามว่าไม่รู้จักถุงยางเหรอ ทำไมไม่คุมกำเนิด ซึ่งในสังคมแบบนี้การคุมกำเนิดไม่ได้เป็นอำนาจที่อยู่ในมือเรานะ การคุมกำเนิดอยู่ในมือของผู้ชาย ส่วนหนึ่งคือการใช้ถุงยาง ไหนจะการคุมกำเนิดด้วยฮอร์โมนที่ต้องใช้ร่างกายของเราไปรับความเสี่ยงอีก
ดังนั้น บางครั้งเราก็ควบคุมการคุมกำเนิดของตัวเองไม่ได้ทั้งหมด หรือแม้กระทั่งเราคุมแล้วมันก็หลุดได้ บางครั้งบอกให้ผู้ชายใส่ถุงยางมันก็แอบถอด ไม่มีใครรู้เรื่องที่เกิดขึ้นบนเตียง แต่สังคมพูดเหมือนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นแต่จริงๆ ไม่รู้ อีนี่ท้องเพราะไม่ใส่ถุง ไม่กินยาคุมแน่ๆ เราถูกตีตราทันทีว่าเป็นคนร่าน คนมักง่าย ไม่คิดถึงอนาคต มันแฟร์ตรงไหน
แนวคิดนี้มันออกมาในรูปของศาสนาด้วยว่าการกระทำเป็นเหตุทำให้เกิดบาปขึ้น และบาปของการกระทำนี้มันหนักหนา ถ้าคุณไม่กระทำแต่แรกบาปก็จะไม่เกิด ศาสนาก็เอาชุดความคิดนี้มาย้ำเข้าไปอีกว่าถ้าเราไม่มักมากในกาม ไม่ประพฤติผิดทางเพศ ก็จะไม่เกิดการท้องและแท้ง มันเลยทับกันมาหลายชั้น
ส่วนตัวคุณนับถือศาสนาไหม
นับถือพุทธจีน ไหว้เจ้า
แล้วคุณใช้ชุดศีลธรรมแบบไหนในการทำงาน
ถ้าเป็นเรื่องทำแท้ง เรามองว่าการทำให้คนที่ลำบากผ่านพ้นภาวะวิกฤตได้ นั่นแหละคือความดี
ศาสนาพุทธมีคำอธิบายทางศาสนาแบบอื่นอยู่นะ อย่างพระชาย วรธัมโม ซึ่งเป็นพระเฟมินิสต์รูปหนึ่ง ท่านเคยบอกว่าบาปเกิดขึ้นในทุกๆ วัน เรากินเนื้อสัตว์ เราบาปไหม ผึ้งจะบินมาต่อยเรา ถ้าเราตีมันฆ่ามัน เราบาปใช่ไหม แต่มันเป็นบาปที่จำเป็น เรากินเนื้อสัตว์เพื่อให้มีชีวิตรอด เราฆ่าผึ้งเพื่อให้เราไม่โดนต่อย ถ้าเราไม่ทำสิ่งนี้ ชีวิตของเราก็ไปต่อไม่ได้
เหมือนกับการทำแท้งนั่นแหละ บางคนทำเพื่อให้ใช้ชีวิตได้ต่อ เป็นบาปเหมือนกันหมด แล้วทำไมบางคนมีปัญหากับบาปแค่บาปเดียว แต่บาปอื่นถึงไม่มีปัญหาล่ะ
นอกจากเรื่องบาปกรรมแล้ว มีปัจจัยอื่นไหมที่ทำให้ผู้ตั้งครรภ์ไม่กล้าไปทำแท้ง
ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยในการทำแท้ง เขาเข้าใจว่าการทำแท้งจะทำให้มีลูกไม่ได้อีก หรือเกิดผลร้ายแรงกับร่างกายเขา ซึ่งความเชื่อนี้มาจากหนังและละครที่ฉายภาพคนทำแท้งที่ถ่างขาในคลินิกแล้วมีเลือดไหลเป็นทาง หรือบางคนเข้าใจว่าทำแท้งแล้วจะมีลูกยาก มดลูกพัง มดลูกทะลุ บางทีความเชื่อเหล่านี้ก็ชะลอให้เขาตัดสินใจยากขึ้นนานขึ้น
ความจริงแล้ว ยิ่งทำแท้งตอนอายุครรภ์น้อยยิ่งส่งผลกับร่างกายน้อย ถ้าเป็นการแท้งในอายุครรภ์น้อยกว่า 6 สัปดาห์มันเหมือนประจำเดือนมาเลย ไม่ได้ส่งผลกับสุขภาพระยะยาว เทคโนโลยีการทำแท้งในปัจจุบันก็ก้าวหน้าไปมากแล้ว อย่างเครื่องดูดที่ใช้ในคลินิกหลายที่ก็ปลอดภัยมาก ใช้เวลาไม่ถึง 2 นาที และไม่ทำร้ายผนังมดลูก
ดังนั้น ความเข้าใจว่าการทำแท้งอันตรายมากมันเป็นมายาคติของสังคม เป็นหน้าที่ของผู้ให้คำปรึกษาและหมอที่จะบอกพวกเขาว่าจริงๆ แล้วคุณทำแท้งได้ ปลอดภัย
รากของมายาคติเหล่านี้คืออะไร
ปิตาธิปไตย เป็นคำที่เฝือมากเลยนะ แต่ต้องพูด และมันคือ Misogyny หรือการเกลียดกลัวผู้หญิง
ถามว่าเกี่ยวกันยังไง ปิตาธิปไตยทำให้คนไม่กล้าทำแท้ง เพราะความเชื่อในระบอบปิตาธิปไตยคือผู้หญิงต้องเป็นแม่ เมื่อเป็นผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว แต่ถ้าแต่งงานแล้วต้องไม่ปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์กับคู่
เรามีบทบาททางเพศที่ต้องทำ สังคมอนุญาตผู้ชายแต่ไม่อนุญาตผู้หญิงในเรื่องเดียวกัน อย่างเรื่องความสุขทางเพศ ผู้ชายชักว่าวได้ถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าเราบอกว่าผู้หญิงช่วยตัวเอง บางคนจะแบบ เฮ้ย เธอ (เสียงสูง) และด้วยความที่สังคมบอกว่าผู้หญิงต้องรักนวลสงวนตัว อย่ามีผัวเยอะ อย่าไปชอบเรื่องเซ็กซ์ การทำแท้งจึงเป็นหลักฐานว่าคุณเคยมีเพศสัมพันธ์ ยิ่งไปทำแท้งแล้วแต่ยังไม่ได้แต่งงาน
การทำแท้งนี้ถือเป็นหลักฐานว่าเรามีเพศสัมพันธ์ก่อนสมรส แถมยังไม่รักตัวเองด้วยเพราะไม่รู้จักคุมกำเนิด จะมีคำพูดแนวๆ ‘เธอมีมดลูก ทำไมไม่รู้จักหนีบขาเอาไว้ ทำไมไม่ฉีดยาคุม’ หรือถ้าเราท้องขึ้นมาก็ ‘มึงไปเอากับเขาเอง ท้องได้ก็ต้องเลี้ยงได้ดิวะ’ ทุกอย่างมาจากชุดความคิดว่าผู้หญิงต้องเป็นแม่ ต้องยอมรับความผิด และใช้ความเป็นแม่ในการลงโทษด้วย ปิตาธิปไตยทำงานเป็นทอดๆ แบบนี้
เรื่องนี้โยงไปถึงอำนาจที่ไม่เท่ากันในชีวิตคู่ด้วย ผู้หญิงบางคนมีสามีแล้ว แต่ไม่กล้าทำแท้งเพราะกลัวสามีรู้แล้วจะไม่รัก บางคนมีสามีที่ใช้ความรุนแรง ขังไม่ให้ออกไปทำแท้งก็มี หรือบางคนต้องแอบสามีไปทำแท้ง เพราะถ้าสามีรู้แล้วจะไม่ยอม มันมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น และนี่คือภาพที่สังคมไม่เห็น สังคมนึกว่าคนทำแท้งคือวัยรุ่นใจแตก แต่จริงๆ ไม่ใช่ ปัญหามันซับซ้อนกว่านั้น มันมีเรื่องความรุนแรงในครอบครัวด้วย หรือกระทั่งบางคู่มีลูกมากเกินไป เลี้ยงไม่ไหวแล้ว คนที่ 4 แล้ว เห็นไหมว่ามันไม่ใช่แค่ภาพของเด็กใจแตกที่ใช้ถุงยางไม่เป็น
มายาคติเหล่านี้ส่งผลต่อคนอื่นที่ไม่ใช่ผู้ยุติการตั้งครรภ์ด้วยหรือเปล่า อย่างผู้ให้บริการ?
มีผลมากๆ อย่างการที่ผู้รับบริการบางคนถูกด่าจากสถานบริการแบบแรงๆ ถูกปฏิเสธ หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลที่ให้บริการทำแท้งอยู่แล้ว บางครั้งคนไข้โชคร้ายเข้าไปเจอพยาบาลที่มีทัศนคติไม่ดี ด่วนตัดสินทำนองว่า ‘มาทำแท้งเหรอ อายุแค่นี้เอง เรียนที่ไหนเนี่ย เรียนที่นี่เหรอ เดี๋ยวฉันโทร.บอกอาจารย์เธอเอาไหม อายเขาไหมเนี่ย’ เหล่านี้คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริงแม้กระทั่งในโรงพยาบาลที่ให้บริการ และบุคลากรเองยังคิดว่าเขาด่าคนที่มารับบริการได้อย่างถูกต้องด้วย
พอมีมายาคติเหล่านี้กดทับอยู่ เราในฐานะประชาชนคนทั่วไปทำอะไรกับมันได้บ้าง
ทำแท้งเป็นเรื่องของทุกคน ถ้าหากคุณเป็นคนธรรมดาทั่วไปที่ในใจลึกๆ เห็นด้วย มันต้องมีสักวันหนึ่งที่ชีวิตคุณจะเกี่ยวข้องกับการทำแท้ง อาจไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวคุณเอง แต่มันอาจเป็นวันที่เพื่อนคุณบอกว่า เมนส์ไม่มาว่ะ ทำไงดี หรืออาจเป็นวันที่เพื่อนผู้ชายของคุณบอกว่า ไอ้ฉิบหาย เมียกูเมนส์ไม่มาแต่กูไม่พร้อมจะเป็นพ่อ
สิ่งที่คุณทำได้คือคุณให้ข้อมูลเขา บอกเขาเลยว่า มันทำได้เว้ยมึง การทำแท้งเป็นทางเลือกหนึ่ง มึงไม่ต้องกลัว ถ้าไม่รู้ว่าทำได้ที่ไหนบ้างให้โทร 1663 ก่อน คุยกับกลุ่มทำทางก่อน ไปดูเว็บไซต์พวกเขาสิ คุณเอาข้อมูลให้คนที่ต้องการความช่วยเหลือ แค่นี้คุณก็ช่วยให้ชีวิตของเขาไปต่อได้แล้ว
ถ้าว่างๆ ไม่มีอะไรทำ สมมติคุณเป็นนักศึกษาอยู่ ต้องหาหัวข้อพรีเซนต์เรื่อง Public Speech คุณจะพูดเรื่องนี้ก็ได้ พูดให้เป็นเรื่องธรรมดา ทุกๆ คนมีคอมมูนิตี้ของตัวเอง ซึ่งคนในคอมมูฯ ต้องมีเพศสัมพันธ์อยู่แล้ว ก็จำไว้ว่าถ้ามีเหตุแบบนี้เมื่อไหร่ก็พูด แค่นั้นเลย คุณไม่ต้องถึงขนาดลุกมาชูป้ายรณรงค์หรอก เอาแค่คุณไม่ห้ามคนที่จะทำ และให้ข้อมูลคนที่ต้องการข้อมูลก็ดีมากแล้ว
ภาพฝันสุดท้ายของสังคมไทยที่คุณอยากเห็นเป็นแบบไหน
เอาในเชิงนโยบาย มันมีนโยบายหนึ่งที่ 1663 พูดขึ้นมาแล้วเราซื้อมากคือ 1 สถานบริการ 1 ตำบล หรืออย่างน้อย 1 อำเภอก็ได้ สำหรับอายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ และ 1 โรงพยาบาล 1 จังหวัดสำหรับอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์
ถ้ามันมีสิ่งนี้เกิดขึ้นและมีการสื่อสารออกไปให้ประชาชนในพื้นที่รู้ว่าอยากทำแท้งต้องไปที่ไหน ผู้ใหญ่บ้านแปะประกาศ เสียงตามสายวัดบอก มันจะช่วยชีวิตคนได้มากมาย นี่คือภาพที่เราอยากเห็นในประเทศไทย ส่วนเรื่องความคิด ความเชื่อนี่ต้องค่อยๆ ทำกันไป มันเป็นสิ่งที่ใช้เวลานานในการเปลี่ยน
ถ้าฝากคำแนะนำถึงคนที่อยากยุติการตั้งครรภ์ได้ คุณจะบอกเขาว่าอะไร
ถ้ามั่นใจแล้วคุณทำเลย ถ้ามีใครมาห้ามคุณว่าอย่าไปทำเลย บาปงั้นงี้ นั่นเป็นเรื่องของเขา เรื่องของคุณคือสิ่งที่คุณคิดมาแล้ว คุณพิจารณาทุกอย่างในชีวิตของคุณมาเรียบร้อยแล้ว และคุณตัดสินใจแล้ว เราเชื่อคุณ ต่อให้ใครบอกว่าคุณแม่งคิดสั้นว่ะ แต่ถ้าคุณมาบอกทำทาง ทำทางจะเชื่อคุณ เราเป็นกำลังใจให้ ถ้าจำเป็นต้องทำ ทำเลย นึกไม่ออกว่าจะทำที่ไหนก็ทักมาหาเรา