Bangkok Haunted City - 6 ผี เฮี้ยนทั่วกรุงเทพฯ - Urban Creature

TW : Death, Suicide, Blood, (State) Violence

สมมติว่ากำลังอยู่ในโลกตะวันตกสักประเทศ วันที่ 31 ตุลาคมของทุกปี เมื่อฟ้ามืดคงได้ยินคำทักทายกันอยู่เนืองๆ ผ่าน 2 ตัวเลือกแกมเล่นแกมบังคับว่า ‘Trick or Treat’?!

ประโยคคำถามที่หมายความว่าจะยอมให้ผู้ห่มกายด้วยเครื่องแบบผีๆ ‘หลอกหลอน’ หรือต้องยอม ‘เลี้ยง’ ขนมลูกกวาดกับผู้ถาม

ขยับมาใกล้ตัวสักนิด ฝั่งโลกอุษาคเนย์อย่างสังคมไทย แม้การนำเข้าวัฒนธรรมฮาโลวีนจะยังไม่ชัดเท่าใดนัก แต่เชื่อว่าแม้ไม่ต้องนำเข้าวัฒนธรรม เรื่อง ‘ผีๆ’ ก็เด่นชัดและแทรกซึมในชีวิตประจำวันอยู่ไม่ขาด ไม่ว่าจะผ่านมิติทางศาสนา ‘ผี-พราหมณ์-พุทธ’ ความเชื่อ รายการล่าท้าผี หรือแม้แต่เรื่องจริง เหตุการณ์จริง สถานที่จริง ที่เฮี้ยนโดยไม่ต้องใช้เสียงหรือเทคนิคประกอบ

Urban Guide ฉบับนี้อยากชวนทุกคนเดินลัดเลาะทั่วกรุง อาจจะพกคู่มือสถานที่เฮี้ยนกลางกรุง (ที่พอหาได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต)ไปด้วยก็ได้ และอยากชวนมองสถานที่เหล่านี้ผ่านม่านหมอกที่ ‘Trick’ เราอยู่ 

ไม่แน่ว่าเบื้องหลังของผีสักตัว อาจจะเห็นผีอีกหลายตัว

ที่จ้องตาขมึง หลอกหลอนคนเป็น ให้ ‘Treat’ พวกเขาอย่างตรงไปตรงมา

ถ้าพร้อมแล้ว…ไปด้วยกัน 


1
‘Ghost Tower’ ตึกสยอง แต่พิษเศรษฐกิจสยองกว่า

01. Ghost Tower

‘Ghost Tower’ หรือ ‘สาธรยูนีค’ ตึกสูง 49 ชั้นที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ทำเลทองทางธุรกิจอย่างย่านสาทร ติดแม่น้ำเจ้าพระยา และไม่ไกลจากสถานีรถไฟฟ้า ถูกยกให้เป็นสัญลักษณ์และบทเรียนของวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย

ไม่ใช่เพราะความสำเร็จเป็นอนุสรณ์สถานที่โดดเด่นเตะตาเมื่อเดินทางผ่านบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นใน แต่หากเพราะตัวตึกไม่อาจเดินไปถึงเป้าหมายของการเป็นคอนโดมิเนียม “ระดับหรู” โดยฝีมือการออกแบบของ ‘รังสรรค์ ต่อสุวรรณ’ ได้

แม้ความพยายามอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นและหาความรับผิดชอบจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงปี 1997 – 1998 จะหลากหลาย ตั้งแต่ป้ายความผิดให้พ่อมดพ่อหมอทางการเงินอย่าง ‘จอร์จ โซรอส’ ไปจนถึงความพยายามวิเคราะห์ผลสืบเนื่องจากนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของรัฐเองที่เปิดโอกาสให้เอกชนลงทุน-เก็งกำไรจนพันเกี่ยวกันแน่นและเป็นอันต้องพังครืน เช่นเดียวกับชะตากรรมของ ‘สาธรยูนีค’

การหยุดชะงักของการก่อสร้างจากการขาดเงินลงทุน กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ ‘สาธรยูนีค’ กลายเป็นพื้นที่ผจญภัยโลดโผน จุดโลเคชันถ่ายรูป จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในช่วงปี 2556 และถูกขนานนามว่าเป็น ‘Ghost Tower’ – ตึกผีสิงนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ธันวาคม 2557 ความหลอกหลอนที่ถูกจุดประเด็นขึ้นก่อนหน้าได้รับการตอกย้ำหลังจากช่างภาพรายหนึ่งพบศพของชาวสวีเดนที่กระทำอัตวินิบาตกรรมบนตึกชั้น 43

จะเชื่อมโยงกันกับแรงจูงใจของการกระทำของชายผู้นั้นหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้ วิกฤตเศรษฐกิจซึ่งตัวตึกตั้งตระหง่านเป็นบทเรียนที่ไม่อยากให้เกิดซ้ำ กับอัตราการฆ่าตัวตายในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจนั้นมักจะเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่สัมพันธ์กันเสมอ หลังจากวิกฤตเศรษฐกิจปลายศตวรรษที่ 20 3 ปี วารสารทางการแพทย์ The Lancet ได้เผยแพร่รายงานวิจัยและชี้ให้เห็นว่าอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ

‘พรรษิษฐ์ ต่อสุวรรณ’ ลูกชายของ ‘รังสรรค์’ ผู้รับช่วงต่อจากพ่อให้จัดการภาระทางธุรกิจและสารพันเงื่อนทางกฎหมายของสาธรยูนีคแห่งนี้ได้สารภาพความรู้สึกที่มีต่อตึกนี้ของเขากับผู้อ่านในหนังสือ Ghost Tower & Me ว่า เขาเคย “หวาดกลัวและอยากจะหนีจากมันไปให้ไกลมากที่สุด”

ไม่ใช่เพราะความหลอกหลอนของภูตผีปีศาจ แต่เป็นเพราะความหนักอึ้งที่ต้องรับภาระหนี้ผูกพัน การเจรจาธุรกิจ และการต้องรับมือกับกฎหมายของรัฐที่เรียกได้ยากว่า ‘Treat’ พวกเขาอย่างยุติธรรม พรรษิษฐ์ทิ้งท้ายในหนังสือเล่มที่สองในชีวิตของเขา ดังนี้

“ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าฝรั่งคนแรกซึ่งเป็นผู้ขนานนามตึกร้างสาธรยูนีคว่าเป็นโกสต์ทาวเวอร์นั้น เขาเรียกแบบนี้ด้วยเหตุผลอะไร […] แต่สำหรับตัวผมเองนั้น ผมมองเห็นผีอยู่แทบทุกวัน มีทั้งซาตานผู้ทรงเกียรติ ผีเปรตผีปอบผู้หิวโหย และซอมบี้ไร้สติที่รายล้อมรอบอยู่เต็มไปหมด”

ด้วยการต้องล้มลุกคลุกคลาน “ตลอดระยะเวลาเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมานี้ ผีห่าซาตานพวกนี้มันได้กลืนกินจิตสำนึกความเป็นคนของผมไปจนเกือบหมดสิ้น

“ในทุกวันนี้เวลาผมมองตัวเองในกระจกเงาก็ยังไม่แน่ใจเลยว่าที่เห็นปรากฏอยู่ตรงนั้น คือคนหรือผี”

2
สุสานทารกแท้งเถื่อน กับ สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้หญิงที่ไม่มีจริง

02.- Phai Ngoen

ย้อนเวลากลับไปกว่า 10 ปี ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่าจุดเริ่มต้นของการค้นพบศพทารกกว่า 2,002 ศพคือ หมา ‘สังกัดวัดไผ่เงิน’ – วัดไผ่เงินโชตนาราม เขตบางคอแหลม คาบถุงพลาสติกกลิ่นเหม็นเน่าเดินเตร่จนทำให้ตลาดแตกกระเจิง

จะด้วยแรงจูงใจอะไรก็ตามที่สัปเหร่อของวัดรับศพทารกมาซุกซ่อนไว้ในโกดัง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในต้นสายปลายน้ำของเหตุการณ์สะเทือนใจนี้คือ ปมปัญหาของการทำแท้งผิดกฎหมาย ที่ต้องทำกันอย่างหลบซ่อน ซึ่งเชื่อมโยงให้ไปถึงประเด็นใหญ่ว่าด้วย ‘สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์’ (Reproductive Right) ของผู้หญิง

พูดกันโดยกว้าง คำว่า ‘อนามัยเจริญพันธุ์’ ครอบคลุมตั้งแต่ความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศ สุขภาพอนามัย หรือประเด็นด้านการแพทย์อย่างโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การคุมกำเนิด ไปจนถึงปัญหาทางสังคมที่เกี่ยวโยงกับศีลธรรมและการบังคับใช้กฎหมายคือการทำแท้ง

คงปฏิเสธได้ยากว่าความกระอักกระอ่วนใจเกิดขึ้นบนโต๊ะสนทนาทุกครั้งเมื่อกล่าวถึงประเด็นปัญหาเหล่านี้ ประเด็นการเรียนการสอน หรือบทสนทนาเปิดกว้างเพื่อความเข้าใจเรื่องเพศ กลับถูกกลบด้วยศีลธรรม หน้าที่ของ ‘ผู้ชาย’ ความประพฤติปฏิบัติที่สมควรของ ‘ผู้หญิง’

ข้อความ “ไม่มีผู้หญิงคนไหนตั้งใจท้อง เพื่อไปทำแท้ง” เป็นเสียงสะท้อนคล้อยไปกับความยากลำบากที่ผู้หญิงต้องเผชิญเมื่อ ‘ท้องไม่พร้อม’ ที่ ‘ไม่พร้อม’ ทั้งปัจจัยด้านร่างกาย สุขภาพ หรือเงื่อนไขทางสังคมและเศรษฐกิจ แต่ในขณะเดียวกัน จนถึงปี 2564 ‘การทำแท้งเสรี’ ยังไม่เกิดขึ้นจริงทางกฎหมาย แม้จะเปิดกว้างให้ผู้หญิงมีอำนาจการตัดสินใจมากขึ้นจากการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 และ 305

หากมองให้ลึกไปกว่าความเฮี้ยนที่ก่อร่างสร้างตัวจากรายการล่าท้าผีหรือไกด์บุ๊กแนะนำสถานที่หลอน การพบศพทารกที่วัดไผ่เงินไม่ใช่เรื่องหลอน หรือ ‘อุทาหรณ์สอนหญิง’ ให้ประพฤติปฏิบัติตัวในกรอบที่ถูกกำหนด แต่เป็นประเด็นปัญหาสำคัญที่ต้องหาทางออก ไม่ใช่เป็นปัญหาของเพศใดเพศหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์จากรั้วธรรมศาสตร์เปิดเผยจากงานวิจัยของตัวเองว่า “[การท้องไม่พร้อม] ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นเยาวชนเท่านั้น หากแต่ยังมีผู้หญิงในกลุ่มอื่นๆ ที่ต้องเผชิญปัญหานี้ไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านอายุ 30 ปีขึ้นไป”

เธอกล่าวต่อว่า “การทำแท้งหรือไม่ทำควรจะเป็นทางเลือกของตัวเขาเอง ไม่ใช่รัฐเป็นคนเลือกไว้ให้ เพราะเราไม่ใช่เขา จึงไม่มีทางรู้ว่าเขาต้องเผชิญแรงกดดันอะไรบ้างในชีวิต

“ถ้าคุณคิดว่ามันเป็นเรื่องผิดศีลธรรม ผิดบาป ก็ให้เจ้าตัวเป็นคนเลือกเองว่าจะทำบาปไหม” ชลิดาภรณ์ทิ้งท้าย

3
‘NEVER FORGET SANTIKA’ โศกนาฏกรรมวิศวกรรม

ค่ำคืนของวันที่ 31 ธันวาคม 2551 – ซานติก้าผับ สถานบันเทิงย่านเอกมัยตั้งชื่องานเคานต์ดาวน์ปีใหม่ว่า ‘Goodbye Santika’

‘Goodbye’ อย่างแรกคือปี 2551 ที่จะผ่านพ้นไปในอีกไม่กี่ชั่วโมงในขณะนั้น

แต่ ‘Goodbye’ ที่ไม่คาดคิดให้เกิดขึ้นคือชีวิตกว่า 67 ราย ด้วยเพลิงไหม้ที่ต้นตอเริ่มจากอุปกรณ์ฉายแสงสีและดอกไม้ไฟที่ทำให้เกิดสะเก็ดไฟจนลามไปทั่วตึก

ผลลัพธ์ของเพลิงไหม้ทวีความเสียหายมากขึ้นด้วยโครงสร้างของซานติก้าผับที่ไม่มีระบบป้องกันอัคคีภัยที่เพียงพอ อนุกรรมการศึกษา วิจัย และพัฒนาด้านอัคคีภัยภายใต้คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.) ในสมัยนั้นสรุปสาเหตุของความสูญเสียในคืนวันที่ 31 นั้นไว้ 7 ข้อ

หนึ่ง ซานติก้าผับไม่ใช่ ‘สถานบริการตามกฎหมาย’ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนตามกระบวนการ สอง การประกอบการ “ไม่ได้ยื่นแจ้งผลการตรวจสอบอาคาร” เพื่อรับรองความปลอดภัยตามกฎหมาย สาม โครงสร้างหลักของอาคารเป็นเหล็ก และหลังคาก็ “เคลือบด้วยวัสดุฉนวนติดไฟได้” สี่ วัสดุที่ตกแต่งภายในติดไฟได้ง่าย และมีคุณสมบัติที่สามารถปล่อยควันและก๊าซพิษซึ่งทำให้หมดสติหากติดไฟไปเพียงเล็กน้อย ห้า ประตูหลักมีเพียงด้านหน้าอาคารเพียงแห่งเดียว แม้จะมีประตูด้านอื่น 3 บานแต่เป็นขนาดเล็ก ส่วนหน้าต่างนั้นมีเหล็กดัดที่ไม่เอื้อต่อการหลบหนี หก ไฟฉุกเฉินถูกติดตั้งไว้แค่ที่หน้าห้องครัวและไม่มีป้ายบอกทางหนีไฟ และสุดท้าย ซานติก้าผับไม่มีระบบแจ้งเตือนไฟไหม้และหัวกระจายน้ำดับเพลิงอัตโนมัติ รายงานระบุต่อไปอีกว่าแม้จะพบถังดับเพลิง 3 ถัง แต่ 2 ถังยังไม่เคยถอดสลักใช้งาน

คำถามที่ตามมาหลังจากสรุปบทเรียนคือ เหตุใดซานติก้าผับจึงหลุดจากการตรวจสอบและเปิดบริการได้ตามปกติ และใครควรเป็นผู้รับผิดชอบ?

กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลฎีกาตัดสินให้ ‘วิสุข เสร็จสวัสดิ์’ ผู้บริหารซานติก้าผับจำคุกเป็นเวลา 3 ปี และเมื่อพ้นโทษเมื่อปี 2562 ก็ถูกตัดสินให้เป็นบุคคลล้มละลาย

แต่ในด้านผู้เสียหายในเหตุการณ์ จากการเปิดเผยผ่านรายการ ‘โหนกระแส’ พบว่าผู้ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์จำนวน 46 รายยังไม่ได้รับค่าชดเชยความเสียหาย “แม้แต่บาทเดียว”

อดไม่ได้หากจะเทียบเคียงเหตุการณ์เหล่านี้กับภาพยนตร์สารคดี ‘Collective’ เมื่อกรณีไฟไหม้สถานบันเทิงในโรมาเนียในปี 2558 เป็นจุดไม้ขีดไฟเล็กๆ ที่ช่วยให้ say ‘Goodbye’ ระบบการเมืองเก่า ด้วยความพยายามขุดค้นหาข้อมูล ความเชื่อมโยงเหตุการณ์เล็กๆ เข้ากับโครงสร้างทางการเมืองภาพใหญ่

แต่หลังควันไฟสงบ ซากปรักหักพังของซานติก้ายังคงอยู่ไม่เลือนหายไปไหน — เช่นเดียวกับรอยแผลอื่นของสังคมไทย การ say ‘Goodbye Santika’ ที่ดีที่สุดคือการสะสางหาต้นสายปลายเหตุเพื่อเรียนรู้ไม่ให้เกิดซ้ำ และเยียวยาให้ความยุติธรรมแก่ผู้สูญเสีย

และหากยัง ‘Goodbye’ กันไม่ได้ ก็คงต้องไม่ลืมมัน

… ‘Never Forget Santika’

4
‘ลิฟต์แดงธรรมศาสตร์’ รอยเลือดจากความอยุติธรรมที่ลบไม่ได้

หนึ่งในเรื่องราวสยองขวัญเล่าขานกันในรั้วเหลือง-แดง ท่าพระจันทร์ คือ ‘ผีลิฟต์แดง’ ที่ตึกคณะศิลปศาสตร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า รุ่งสางของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อตำรวจ หน่วยตระเวนชายแดน และมวลชนฝ่ายขวาได้บุกเข้ามาพร้อมอาวุธสงครามมาล้อมปราบเพื่อ “กวาดล้าง” นักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ชุมนุมในบริเวณมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งได้หนีเพื่อเอาชีวิตรอดทั้งกระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกทำร้าย ถูกจับ แม้กระทั่งเผาทั้งเป็น

เรื่องเล่าเริ่มต้นหลังจากนี้…เมื่อนักศึกษาบางส่วนตัดสินใจลงลิฟต์เพื่อหนีการไล่ล่า แต่ก็หนีไม่พ้นความตาย และเลือดของนักศึกษาในลิฟต์ไม่อาจล้างออกได้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงทาสีแดงเพื่อปกปิดรอยเลือดที่ลิฟต์ดังกล่าว

เรื่องหยุดไว้แค่นี้ แต่ที่ถูกสานต่อคือเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของผู้อยู่ในเหตุการณ์ตามวิจารณญาณของแต่ละคน และทั้งการสร้างเป็นภาพยนตร์สยองขวัญจำนวนหนึ่ง

และถึงจุดนี้จึงพอจะเห็นว่าเรื่องเล่าและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในวันนั้นไม่ได้แตกต่างอะไรกันมากนัก เมื่อมองให้ลึกไปกว่าความหลอกหลอนของสถานที่และเรื่องราว เราจะมองเห็นอะไร?

หากจะลองแปลความของสารที่สื่อออกมา ผีที่หลอกหลอนคือตัวแทนของนักศึกษาที่ถูกฆาตกรรมในเช้าวันนั้นใช่หรือไม่ ภายใต้ความเฮี้ยนที่ไม่หายไปไหนเชื่อมโยงกันกับสภาวะลอยนวลพ้นผิดของผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ในวันนั้นใช่หรือไม่

ทั้งหมดนี้อาจจะเป็นคำถามที่อิงแอบอยู่ในรอยเลือดที่ลบไม่ออกในวันนั้น และความอยุติธรรมที่ยังไม่ได้รับการสะสางของสังคมไทยในวันนี้

5
‘โค้งร้อย (สิบสอง) ศพรัชดา’

นับตั้งแต่ถนนรัชดาภิเษกสร้างเสร็จพร้อมใช้งานเมื่อปี 2536 โดยเฉพาะบริเวณทางโค้งหน้าศาลอาญามักจะเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจนได้ชื่อว่า “โค้งร้อยศพ”

เมื่อมืดบอดจากคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลในสมัยนั้น จึงหลีกเลี่ยงที่จะมีการสรรค์สร้างให้เป็นสิ่งลี้ลับไปเสียไม่ได้

สิ่งที่ตามมาคือเกิดการผูกผ้าสีเข้ากับต้นโพธิ์กลางถนน เครื่องเซ่นไหว้ต่างๆ ก็ตามมา จนถึงศาลเพียงตาที่ถูกนำมาวางไว้คู่ต้นโพธิ์ แม้เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์จากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ จะพยายามชี้ให้เห็นว่าแรกเริ่มเดิมที การนำผ้ามาผูกไว้ที่ต้นโพธิ์เกิดจากความคิดของวิศวกรควบคุมการก่อสร้างทางเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้คนมาปัสสาวะส่งกลิ่นเหม็นที่เกาะกลางถนน

แม้ฟังดูเป็นเหตุเป็นผลในตัวเองก็ตาม แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ลดลงเพราะปัญหาว่าด้วยการออกแบบถนนยังไม่ได้รับการแก้ไข

“ม้าลายไม่มีที่ยืนแล้ว” – สัญลักษณ์ ‘ม้าลาย’ ที่เชื่อมโยงถึงความปลอดภัยบนท้องถนนถูกนำมาตั้งเพื่อเป็นเครื่องเตือนใจที่ศาลบริเวณเกาะกลางถนนรัชดาฯ

ต่อให้ม้าลาย (ตัวใหม่ๆ) ไม่มีที่ยืนเพราะจำนวนมากเกินไปตามจำนวนของอุบัติเหตุก็ตาม หรือต่อให้ม้าลายไม่มีที่ยืน (ที่เดิม) เพราะถูกย้ายศาลออกไปในปี 2558 เพราะทางสำนักเขตจตุจักร ผู้ดูแลพื้นที่เชื่อว่าบดบังทัศนียภาพและการมองเห็นของผู้ใช้รถใช้ถนนก็ตาม แต่อุบัติเหตุและปัญหาต้นตอก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

แม้ว่าปัจจุบันศาลเพียงตาหรือรูปปั้นม้าลายจะไม่มีให้เห็นอยู่แล้วที่เกาะกลางถนน และอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เพราะพื้นผิวถนนถูกปรับเพื่อสอดคล้องกับบริบทการใช้งานมากขึ้น หรือจะมีเทคโนโลยีการใช้สี สัญญาณเตือนภัยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ และไม่ค่อยได้ยินข่าวอุบัติเหตุเกิดขึ้นแล้ว

แต่สถานที่ใกล้เคียงกับ ‘โค้งร้อยศพ’ นั้นน่าสนใจทีเดียวในเชิงประวัติศาสตร์ทางการเมือง ช่วง 2563 – 2564 ระยะเวลา 2 ปีมานี้ การบังคับใช้และดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 112 มีมากขึ้นและโทษทวีความรุนแรงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

หรือย้อนกลับไปเกือบทศวรรษ คดีของนายอำพล ตั้งนพกุล หรือ ‘อากง SMS’ ที่เสียชีวิตข้างในเรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพฯ เพราะไม่ได้รับสิทธิประกันตัวให้ออกมารับรักษาตามอัตภาพของ ‘อากง’ และพิธีศพของ ‘อากง’ ได้ถูกตั้งเพื่อทำพิธีทางศาสนาที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาฯ เดียวกันนี้เป็นเวลา 1 คืน

ข้อมูลล่าสุดจากการรวบรวมของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงปลายเดือนตุลาคม 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้วทั้งสิ้น 154 คน จาก 159 คดี ยังไม่นับรวมถึงความหนักของโทษตามกฎหมาย การต่อสู้คดี (ที่แทบจะไม่มีหวัง) หรือแม้แต่ความรู้สึกอันหนักอึ้งที่ต้องแบกรับของผู้ที่ถูกตีตราด้วยกฎหมายฉบับนี้

ส่วนหนึ่งจากคำให้สัมภาษณ์ของพรพิมล หนึ่งในผู้ถูกกล่าวหาคดี 112 เปิดเผยความรู้สึกว่า “ชีวิตเปลี่ยนไปมากตั้งแต่ได้รับ ม.112 หนูเสียเพื่อน เสียครอบครัว เสียเงิน เสียหน้าที่การงาน และที่สำคัญ หนูเหมือนคนเสียสติ หนูอยู่ไม่เป็นที่เลยหลังจากที่ออกมา หนูกระวนกระวาย กลัวมาก ย้ายที่อยู่ตลอดเวลาเพราะคิดว่าที่ไหนก็ไม่ปลอดภัย” 

แก้ความเฮี้ยนของ ‘โค้งร้อยศพ’ ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ แล้ว ‘ร้อยสิบสอง’ จะแก้อย่างไร?

6
‘นวมทอง ไพรวัลย์’ กับ ผีรัฐประหารหลอกหลอนสังคมไทย

31 ตุลาคมอาจจะเป็นวันเตรียมฉลองฮาโลวีนของหลายคน

31 ตุลาคมอาจจะเป็นวันธรรมดาเตรียมขึ้นเดือนใหม่

แต่ 31 ตุลาคม 2549 ของนวมทอง ไพรวัลย์คือวันที่เขาตัดสินใจผูกคอปลิดชีวิตตัวเองที่สะพานลอย ถนนวิภาวดีรังสิตขาออก บริเวณหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่ง

1 เดือนก่อนหน้า – 30 กันยายน 2549 หลังจากรัฐประหารล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 11 วัน ‘นวมทอง’ นำรถแท็กซี่ที่ตัวเองขับเพื่อเลี้ยงชีพพุ่งชนรถถังบริเวณพระบรมรูปทรงม้า

ผลคือ ‘นวมทอง’ ได้รับบาดเจ็บสาหัส เพียงแต่วันนั้นเขาไม่ได้หวังจะมีชีวิตรอดกลับไป ด้วยข้อความประจักษ์ตรงท้ายรถว่า “พลีชีพ” เพียงแต่เขา “คำนวณความเร็วของรถ Taxi ผิดพลาด”

ตามข้อความที่ระบุในจดหมายลาตายของเขา หลังจากได้รับบาดเจ็บสาหัส เขาไม่คิดจะทำ “วีรกรรม” หรือพลีชีพอะไรอีก เพียงแต่ต้องการขับรถแท็กซี่หาเลี้ยงชีพดังเดิม

เพียงแต่หน้าหนังสือพิมพ์ที่ ‘นวมทอง’ ติดตามข่าวสารได้ลงข่าวเดียวกันถึงคำสบประมาทของ พ.อ. อัคร ทิพโรจน์ที่ว่า “ไม่มีใครมีอุดมการณ์มากขนาดยอมพลีชีพได้”

เป้าหมายการทำอัตวินิบาตกรรมที่สะพานลอยวันนั้นของ ‘นวมทอง’ คือตั้งใจลบคำสบประมาทดังกล่าวของรองโฆษกคณะรัฐประหาร และด้วยความตั้งใจทิ้งท้ายที่อยากเห็นต้นประชาธิปไตยเติบโตในสังคมไทย ที่ว่า

“สุดท้ายขอให้ลูกๆ และภรรยาภูมิใจในตัวพ่อ ไม่ต้องเสียใจ ชาติหน้าเกิดมาคงไม่พบเจอการปฏิวัติ [รัฐประหาร] อีก”

แต่หลังจากวันนั้นอีกราว 8 ปี – 22 พฤษภาคม 2557 คณะรัฐประหารในนามของ ‘ผู้รักษาความสงบ’ ก็ทำรัฐประหารอีกครั้งและหมุนเข็มนาฬิกาสังคมไทยกลับไปโดยไม่หวนคืน

ระหว่าง ‘ผีนวมทอง’ ที่วิภาวดีฯ หรือ ‘ผีรัฐประหาร’ ในทุกที่ของสังคมไทย อย่างไหนเฮี้ยนกว่ากัน?

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.