โคลอมเบียผ่านกฎหมายทำแท้ง ครรภ์ไม่เกิน 6 เดือน - Urban Creature

โคลอมเบียคือประเทศล่าสุดที่ผ่านกฎหมายทำแท้ง บรรดาผู้หญิงและกลุ่มนักเคลื่อนไหวหลายร้อยคนต่างโห่ร้องดีใจและโบกธงฉลองวันแห่งชัยชนะบนท้องถนนในกรุงโบโกตา หลังจากพวกเธอต่อสู้เพื่อสิทธิในร่างกายของสตรีมานานหลายปี

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 หลังศาลรัฐธรรมนูญของโคลอมเบียมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เสียง ผ่านกฎหมายให้ผู้หญิงขอยุติการตั้งครรภ์หรือทำแท้งได้ทุกกรณีโดยไม่ถูกดำเนินคดีอาญา ถ้ามีอายุครรภ์ไม่เกิน 24 สัปดาห์ หรือ 6 เดือน ส่งผลให้โคลอมเบียเป็นประเทศที่สามในภูมิภาคลาตินอเมริกา ต่อจากเม็กซิโกและอาร์เจนตินา ที่ผ่านกฎหมายการทำแท้งในช่วง 14 เดือนที่ผ่านมา

การทำแท้งได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ถือเป็นก้าวสำคัญของโคลอมเบีย ประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก และมีค่านิยมแบบอนุรักษนิยม เพราะก่อนหน้านี้โคลอมเบียอนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้ภายใต้สามเงื่อนไขเท่านั้น ได้แก่ ชีวิตและสุขภาพของผู้หญิงตกอยู่ในความเสี่ยง ทารกในครรภ์มีรูปร่างผิดปกติทำให้ดำรงชีวิตไม่ได้ และการตั้งครรภ์เป็นผลมาจากการข่มขืนหรือร่วมประเวณีระหว่างพี่น้อง ซึ่งในอดีต ผู้หญิงและแพทย์ที่ทำแท้งนอกเหนือจากสามเงื่อนไขที่กล่าวมา อาจได้รับโทษจำคุกตั้งแต่ 16 – 54 เดือน ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาภายในประเทศ

ข่าวดีสำหรับเด็กผู้หญิงและผู้หญิงกว่า 50 ล้านคนในโคลอมเบียเกิดขึ้นหลังจากพันธมิตรของกลุ่มสนับสนุนการทำแท้ง Causa Justa ฟ้องร้องให้โคลอมเบียลบการทำแท้งออกจากประมวลกฎหมายอาญา โดยแย้งว่า การกำหนดให้การทำแท้งนอกเหนือจากทั้งสามเงื่อนไขเป็นอาชญากรรม ส่งผลให้แพทย์ที่ทำแท้งและผู้ป่วยถูกสังคมตีตรา 

Causa Justa ยังเปิดเผยอีกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของการทำแท้งในโคลอมเบียเกิดขึ้นอย่างลับๆ และไม่ได้มาตรฐาน ทำให้ชีวิตและสุขภาพของผู้หญิงตกอยู่ในความเสี่ยง นอกจากนี้ ระหว่างปี 2549 จนถึงกลางปี 2562 มีผู้หญิงประมาณ 350 คน ถูกดำเนินคดีและต้องรับโทษตามกฎหมาย เนื่องจากการทำแท้งผิดกฎหมาย โดยจากจำนวนดังกล่าว มีอย่างน้อย 20 คน ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี

เอริกะ เกววารา โรซาส์ (Erika Guevara Rosas) ผู้อำนวยการแอมเนสตี้อเมริการะบุว่า “พวกเราเฉลิมฉลองการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ในฐานะชัยชนะทางประวัติศาสตร์ของเหล่านักเคลื่อนไหวหญิงในโคลอมเบีย ที่ต่อสู้เพื่อสิทธิของพวกเธอมานานหลายทศวรรษ ผู้หญิง เด็กผู้หญิง และคนที่มีบุตรได้ ต้องเป็นผู้ตัดสินใจในร่างกายของตัวเอง” ยิ่งไปกว่านั้น ความก้าวหน้าของโคลอมเบียถือเป็นแบบอย่างให้ประเทศในแถบลาตินอเมริกาและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกขับเคลื่อนกฎหมายเรื่องการทำแท้งต่อไป 

ย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย เรามี ‘กฎหมายการทำแท้งฉบับใหม่’ เมื่อปี 2564 ที่อนุญาตให้ผู้หญิงทำแท้งได้ถ้ามีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ หากทำแท้งเกินช่วงเวลาที่กำหนด ต้องจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ นักวิชาการและแพทย์บางรายในไทยมองว่า กฎหมายการทำแท้งฉบับใหม่ไม่ได้ทำให้จำนวนการทำแท้งเพิ่มขึ้นมากนัก ส่วนหนึ่งเชื่อว่า ผู้หญิงยังไม่รู้ข้อมูล และเข้าไม่ถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัย นอกจากนี้ โรงพยาบาลหลายแห่งและบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนยังมีอคติต่อการทำแท้ง เช่น กลัวเสียภาพพจน์ หรือกลัวบาป เป็นต้น

ดังนั้น กรณีของประเทศไทยเอง ภาครัฐและภาคเอกชนอาจต้องช่วยกันผลักดันและส่งเสริมบริการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เป็นมิตร และเอื้อให้ผู้หญิงอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ส่วนสังคมภาพรวมก็ต้องมีความเข้าใจ ไม่ตัดสิน และตีตราแพทย์หรือผู้หญิงที่ทำแท้ง ผู้หญิงทุกคนควรมีสิทธิตัดสินใจเกี่ยวกับร่างกายของตัวเอง เพราะพวกเธอรู้ดีที่สุดว่าตัวเองพร้อมหรือไม่พร้อม

Sources : 
Bangkok Biz News | t.ly/JTce
BBC | t.ly/mhdY, t.ly/CcnI
CNN | t.ly/0B29
Matichon | t.ly/Mw3h
Sanook | t.ly/uzXc
VICE | t.ly/zj9n
The Guardian | t.ly/QWUR

Writer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.