‘แต่ละคนมีช่วงเวลาผลิบานของตัวเอง’ อย่าไปกลัวโลกที่เราช้าลงเมื่อไหร่ คนอื่นพร้อมวิ่งแซงเมื่อนั้น
‘รู้สึกผิดมากเลย ที่ต้องมาเครียดเรื่องความรัก แทนที่จะไปเครียดเรื่องงาน’ สาวผู้บริหารคนหนึ่งเคยบ่นกับเรา เพราะเธอเพิ่งอกหักจากความรักที่คาดหวังไว้มาก ตั้งแต่เมื่อไหร่กันนะ ที่ผู้คนวัยทำงานเริ่มหันมามองการดูแลทะนุถนอมหัวใจว่าเป็นเรื่องที่เสียเวลา มันคืออะไรกันแน่ที่ทำให้ ‘บทสนทนาเรื่องความรู้สึก’ ได้รับการยอมรับน้อยกว่าบทสนทนาเรื่องการลงทุน ผลกำไร หรือการแข่งขันทางเศรษฐกิจ เราขอตอบเลยว่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพวกเรานั้นล้วนอาศัยอยู่ในโลกแห่งทุนนิยม ทุกคนพอจะเข้าใจดีว่า หน้าตาของระบบทุนนิยมคือระบบเศรษฐกิจที่เน้นการแข่งขัน เร่งผลผลิต และคืนกำไรขึ้นไปสู่นายทุน อ่านมาถึงตรงนี้คงเริ่มคิ้วขมวดกันว่า เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจนั้นเกี่ยวข้องอะไรกับสุขภาพจิตเราด้วย เพราะในความเป็นจริงแล้ว สุขภาพจิตที่ดีแทบสร้างได้ยากมากๆ หากมาจากเราเพียงฝ่ายเดียว เราทุกคนล้วนได้รับผลกระทบทางจิตใจไม่ว่าในทางดีหรือไม่ดี จากสังคมที่เราอยู่หรือผู้คนที่รายล้อมเราเสมอ สิ่งที่ระบบทุนนิยมมีอิทธิพลต่อการกระทบใจเราก็คือ 1) ชีวิตเสพติดการแข่งขัน2) ชีวิตที่ไม่อยากคิดจะหยุดพัก3) ชีวิตที่ไม่อยากจะสนใจเรื่องหัวใจและความรู้สึก สภาพแวดล้อมที่ดำเนินด้วยความเร็วและการแข่งขัน การทำงานในแต่ละวันที่ต้องเร่งรีบ ยิ่งทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันได้ยิ่งดี ไปจนถึงความเครียดจากงาน บางครั้งกลายเป็นถ้วยรางวัลแห่งความมุ่งมั่นของบางคน หากวันไหนที่เราร่วงโรยจากการจดจ่อกับงาน เมื่อนั้นจะรู้สึกว่านี่คือบาดแผลของนักรบผู้ยิ่งใหญ่ ในขณะเดียวกัน ความเครียดเรื่องงานในจังหวะชีวิตที่เร่งรีบนี้เป็นบ่อเกิดของ Anxiety หรือก้อนความวิตกกังวลให้ใครหลายๆ คน อีกหนึ่งโรคใหม่ที่หนุ่มสาวออฟฟิศคุ้นเคยเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือ ‘โรคกลัวไลน์’ เพราะรู้สึกมีคนต้องการตามตัวเราไม่จบไม่สิ้น ต้องตื่นตัว พร้อมรับมือปัญหาจากงานตลอดเวลา หลายคนไม่ใช่แค่รู้สึกถึงความจำเป็นในการเอาชนะบริษัทคู่แข่ง แต่เพื่อนร่วมงานเองก็รู้สึกอยากเอาชนะด้วยเหมือนกัน เพียงเพราะอยากหลีกหนีให้ไกลๆ กับ ‘ความรู้สึกดีไม่พอ’ เราขอยกตัวอย่างความเร็ว ความแรง ความต้องแอ็กทีฟตลอดเวลาผ่านวงการเหล่านี้ […]