ค่านิยมสุขภาพจิตที่อยากให้คนทำความเข้าใจใหม่ - Urban Creature

เรารักสังคมที่เปิดกว้างและเข้าถึงเรื่องสุขภาพจิตอย่างง่ายดายขึ้นในไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้มากๆ

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่รักเลยกับการที่บางคนนำชุดความรู้จิตวิทยาบางอย่างมาวิเคราะห์กับทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม จนลืมไปว่า ทุกเหตุการณ์และตัวบุคคลล้วนมีความละเอียดอ่อนต่างกันโดยสิ้นเชิง 

แค่เพียงชุดความคิดเดียวที่แม้จะได้รับการพูดถึงเป็นวงกว้างขนาดไหน ก็ไม่ได้เป็นบทการันตีว่าจะสามารถนำมาใช้กับทุกคนบนโลกได้

ไม่มีใครคนไหนเหมือนกัน

และไม่ว่าอะไรแย่ๆ จะเกิดขึ้นในชีวิต ไม่จริงเลยที่สิ่งนั้นจะทำให้เรากลายเป็นคนต้องคำสาป

และมันไม่มีหรอก ปัญหาสุขภาพจิตไหนที่โหดร้ายเกินเยียวยา หากคนคนนั้นเลือกที่จะมีความกล้า ให้เวลา และเชื่อมั่นในตัวเอง เพื่อเดินทางไปสู่ชีวิตที่มีสุขภาพจิตดี

เพราะอยากให้คนในสังคมเปิดใจ มีมายด์เซตที่ไม่ตัดสินคนอื่นผ่านความสัมพันธ์ของพวกเขาไปก่อน เราขอแชร์บางชุดความคิดที่อยากกระตุ้นให้ทุกคนลองมองในมุมใหม่ดู

ค่านิยมสุขภาพจิตเกี่ยวกับความสัมพันธ์

“เกิดมาในครอบครัวที่ไม่อบอุ่น โตมาก็จะมีความสัมพันธ์ที่ไม่อบอุ่น”

เราขอเริ่มด้วยทฤษฎีทางจิตวิทยาที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกัน นั่นคือ ทฤษฎีความสัมพันธ์ในช่วงปี 1950s ที่ชื่อ Attachment Theory โดย John Bowlby 

เขาเชื่อว่า ทารกทุกคนเรียนรู้การสร้างความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดเพื่อเป็นทักษะในการอยู่รอด ซึ่งคนใกล้ชิดของทารกคือ ‘ผู้ดูแล’ นั่นเอง (เราขอใช้คำว่า ผู้ดูแล เพราะคนคนนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อหรือแม่เท่านั้น ใครก็ตามที่ใกล้ชิดและผูกพันกับเด็ก ไม่ว่าจะเป็นคุณยาย พี่เลี้ยง คนเลี้ยงเด็กในสถานสงเคราะห์ ฯลฯ ก็ถือเป็นผู้ดูแลทั้งสิ้น)

John Bowlby ได้ทำการทดลองกับหลายครอบครัว และได้บทสรุปที่กึ่งๆ เป็นคำทำนายอนาคตของเด็กแต่ละครอบครัวมาว่า ‘สิ่งที่คนใกล้ชิดเลือกปฏิบัติต่อเด็กและสิ่งที่เด็กเลือกตอบสนองนั้น จะช่วยสร้างแพตเทิร์นความสัมพันธ์ของเด็กคนนั้น เมื่อเขาโตมามีคนรักเป็นของตัวเอง’ โดย Attachment Theory มีอยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่

1) Secure Attachment : คนดูแลเลี้ยงดูเด็กอย่างทะนุถนอมและอบอุ่น เมื่อคนดูแลแยกกับเด็กแค่ชั่วคราว เด็กก็แสดงความไม่พอใจที่ต้องจากกัน แต่จะมีความสุขและปรับโหมดเข้าสู่ความปลอดภัยสบายใจได้ทันทีเมื่อคนดูแลของพวกเขากลับมา 

เวลาที่เด็กกลุ่มนี้โตขึ้น มักจะเลือกคนรักและรูปแบบความรักที่เฮลตี้ มีความเชื่อใจคนรัก มองโลกแง่บวกในความสัมพันธ์

2) Anxious Attachment : คนดูแลไม่ได้มอบความอบอุ่นอย่างที่เด็กต้องการ บางครั้งก็เพิกเฉยต่อเสียงร้องไห้ของเด็ก เมื่อคนดูแลแยกกับเด็กแค่ชั่วคราว เด็กจะเกิดอาการเครียด โวยวาย และลุกลี้ลุกลน เมื่อคนดูแลของพวกเขากลับมา เด็กก็รีบตามหาความสบายใจจากผู้ดูแลทันที เหมือนอยากจะทำโทษที่ปล่อยให้พวกเขาต้องอยู่คนเดียว

เวลาที่เด็กกลุ่มนี้โตขึ้น เมื่อมีความรักก็มักจะร้อนรน ไม่เชื่อใจคนรักตลอดเวลาเมื่อไม่ได้อยู่ด้วย โหยหาอยากจะอยู่กับอีกฝั่งตลอดเวลา

3) Avoidant Attachment : คนดูแลไม่ได้มอบความอบอุ่นอย่างที่เด็กต้องการ บางครั้งก็เพิกเฉยต่อเสียงร้องไห้ของเด็ก เมื่อคนดูแลแยกกับเด็กแค่ชั่วคราว เด็กกลับไม่แสดงอาการโกรธหรือไม่พอใจใดๆ เลย เมื่อคนดูแลของพวกเขากลับมา เด็กก็ไม่ได้มีความกระตือรือร้นที่จะไปหา อารมณ์ว่า ‘ฉันไม่อยากจะตั้งความหวังอะไรกับเธอแล้ว’

เวลาเด็กกลุ่มนี้โตขึ้น เมื่อสัมผัสได้ว่าคนรักเข้ามาในพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองเกินไป มักชอบตีตัวออกหากจากคนรัก อีกทั้งยังไม่ชอบแสดงความรักหรือความต้องการใดๆ ไม่สบายใจที่จะเปิดใจเพื่อความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีข้อสรุปว่า คนที่มี Anxious Attachment มักจับพลัดจับผลูไปคบกับคนที่มี Avoidant Attachment เพราะลึกๆ ก็ช่วยเติมเต็มกันและกันในสิ่งที่ขาด แต่มันไม่เฮลตี้ ส่วนคนที่มี Secure Attachment ก็มักเลือกคบกันเอง เพราะจดจำความสบายใจที่สัมผัสถึงในตอนเด็กๆ ได้ว่าความรักมีหน้าตาแบบนี้

ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่การันตีได้ว่า ทุกความสัมพันธ์โรแมนติกในชีวิตของคุณจะเป็นแบบนี้ไปตลอด 

คนที่เติบโตมาในครอบครัวที่โอบกอดเขาไว้ด้วยความรักมากๆ ก็อาจพลาดไปคบกับคนที่ทำร้ายจิตใจ จนคนคนนั้นมองโลกเปลี่ยนไป ในขณะเดียวกัน ใครที่โตมาในครอบครัวที่ไม่อบอุ่น ก็มีสิทธิ์โชคดีได้เจอคนที่สอนเขาว่า ‘ความรักที่แท้จริงควรเป็นอย่างไร’ 

ใดๆ เลยก็คือ ไม่ว่าคุณจะพลาดพลั้งไปตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่คำตอบของหัวใจขนาดไหน คุณยังมีพลังมากพอที่จะเดินไปสู่ความสัมพันธ์ที่ใช่เสมอ

ค่านิยมสุขภาพจิตเกี่ยวกับความสัมพันธ์

“คนที่ไม่ออกมาจากความสัมพันธ์เป็นพิษ (Toxic Relationship) คือคนที่ไม่เข้มแข็งพอ”

หนึ่งในพรที่เราอยากขอคือ ขอให้การโทษเหยื่อจงหมดไป เพราะหากเรากำลังชี้ไปยัง ‘ผู้ถูกกระทำ’ แล้วบอกว่า ‘เธอนั่นแหละเป็นคนผิด ที่ยอมอยู่ในความสัมพันธ์ที่ทำร้ายเธอเอง’

สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ถูกกระทำจะยิ่งรู้สึกอับอายและแย่กับตัวเอง (จากเดิมที่ทรมานมากอยู่แล้ว) ทั้งยัง รู้สึกเดียวดายกว่าเดิมเพราะไม่สามารถหันไปหาใครที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยได้ ทำให้ยิ่งเก็บตัวเงียบ ซึ่งส่งผลให้โดนทำร้ายในความสัมพันธ์บ่อยและง่ายกว่าเดิม

ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีหน้าตาใหญ่โตในสังคม เก่ง หรือได้รับการชื่นชมขนาดไหน มันยากมากที่คนคนหนึ่งจะตัดสินใจได้ทันทีว่าวินาทีไหนควรจะเดินออกมาจากความสัมพันธ์กับคนที่เขารักมากๆ 

เพราะบางครั้งความรักก็หน้าตาคล้ายกับอะไรหลายอย่างที่นำพาอันตรายมาให้ได้ ความรักคือเรื่องที่ละเอียดอ่อนกว่าที่คิด ความคุ้นเคยและความเคยชินของการมีอยู่ในความสัมพันธ์นั้นเป็นกาวที่ติดทนมากสำหรับใครคนหนึ่ง จนทำให้ยังเดินออกมาไม่ได้แม้จะพยายามแค่ไหนก็ตาม

มิหนำซ้ำ หากการร้องขอความช่วยเหลือล้มเหลว อาจเป็นโอกาสให้อีกฝ่ายเล่นงานคนคนนั้นหนักกว่าเดิม นั่นหมายถึงความเจ็บปวดที่มีมากกว่าเดิมก็เป็นได้ และบางครั้งอาจเป็นความเสียหายถึงชีวิต

ค่านิยมสุขภาพจิตเกี่ยวกับความสัมพันธ์

“การหย่า = ล้มเหลวในความรัก”

หากใครคนหนึ่งสามารถฟังเสียงตัวเองได้ชัดพอและกล้าเดินออกมาจากความสัมพันธ์ที่ไม่ใช่ ไม่ว่าผลที่ตามมาจะสร้างความยุ่งยากให้กับเขาขนาดไหน เมื่อไหร่ที่ตัดสินใจเลือกตัวเอง เมื่อนั้นคนคนนั้นจะชนะเสมอ

จริงอยู่ที่มันมีสัญญาณมากมายที่พอเป็นแสงนำทางได้ว่า หากแต่งงานกับคนคนนี้ โอกาสรอดของความสัมพันธ์จะมีมากน้อยแค่ไหน แต่ในขณะเดียวกัน ระหว่างทางของความสัมพันธ์นั้นอาจเกิดอะไรบางอย่างที่สร้างอิมแพกต์ให้กับมุมมองความคิด สภาวะทางกาย หรือแม้แต่อารมณ์ของแต่ละคน ที่ล้วนแล้วแต่ไม่มีอะไรแน่นอน 

สิ่งสำคัญที่ควรทำคือ คอยเช็กอินกับตัวเองและคู่ของเราอย่างสม่ำเสมอถึงหนทางความรักว่าหน้าตายังเหมือนกันอยู่ไหม 

และการที่ใครคนหนึ่งตัดสินใจหย่า บางครั้งมันก็ไม่ใช่ว่าเขาเห็นแก่ตัวหรือพยายามไม่มากพอในความสัมพันธ์

เราในฐานะคนนอก ไม่มีทางรู้อย่างละเอียดได้เลยว่าคนคนหนึ่งต้องเจออะไรบ้าง ก่อนที่ ‘การจบความสัมพันธ์’ จะกลายมาเป็นตัวเลือกสุดท้ายของเขา

ลองเปลี่ยนจากการรีบตัดสิน เพราะหวังดีอยากปรับทัศนคติให้ใครคนหนึ่งมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น เป็นการเฝ้ามองอย่างตั้งใจ เป็นพื้นที่ปลอดภัย และรับฟังเขาอย่างเปิดใจกันดีกว่า

ค่านิยมสุขภาพจิตเกี่ยวกับความสัมพันธ์

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.