‘หัวร้อน เครียดง่าย’ เกิดขึ้นได้เพราะอากาศร้อน - Urban Creature

เมื่อพูดถึงฤดูร้อน ภาพจำจากสื่อต่างๆ อาจเป็นภาพของช่วงเวลาแห่งการพักผ่อน ความสนุกสนาน ความสดใส หรือการใช้เวลาไปกับการนั่งรับลมริมทะเล แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน (จัด) อย่างเต็มตัว นอกจากสุขภาพกายที่เราต้องคอยระวังโรคลมแดดหรือฮีตสโตรกแล้ว สุขภาพจิตเองก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน

หากรู้สึกว่าช่วงนี้หงุดหงิดง่าย ไม่มีอะไรได้ดั่งใจสักอย่าง ขี้โมโหจนเหมือนเป็นคนละคน หรือรู้สึกขี้เกียจจนไม่อยากทำอะไรทั้งสิ้น ก็อย่าเพิ่งตกใจกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป บางทีมันอาจไม่ได้เป็นที่นิสัยลึกๆ ของตัวเองโดยตรง เพราะพฤติกรรมเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้จากอุณหภูมิของอากาศที่เพิ่มสูงขึ้นทุกวัน

อ่านแล้วดูเหมือนเป็นการโทษอากาศและธรรมชาติ แต่ Dr.Nick Obradovich นักวิทยาศาสตร์สังคมเชิงคำนวณจาก Max Planck Institute for Human Development อธิบายว่า ความร้อนนั้นเป็นอันตรายต่อทุกคนอยู่แล้ว และอุณหภูมิที่สูงขึ้นก็มีความเชื่อมโยงกับความผิดปกติทางสุขภาพจิต เช่น ความเหนื่อยล้า ความก้าวร้าว และการฆ่าตัวตาย ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะช่วงที่อุณหภูมิสูงขึ้นเท่านั้น แต่ยังพบได้บ่อยในผู้คนที่อาศัยในบริเวณที่มีอากาศร้อนตลอดเวลา และถึงแม้ว่าจะยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ว่าเป็นเพราะอะไร แต่นักวิทยาศาสตร์ต่างลงมติว่า ความร้อนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สุขภาพจิตแย่ลงแน่นอน

อากาศยิ่งร้อน ผู้ป่วยสุขภาพจิตยิ่งเพิ่มขึ้น

งานวิจัยของ Amruta Nori-Sarma นักวิทยาศาสตร์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมจาก Boston University School of Public Health ที่ตีพิมพ์ใน JAMA Psychiatry มีบันทึกทางการแพทย์ของผู้ใหญ่จำนวนกว่า 2.2 ล้านคนที่เข้ารับการรักษาในแผนกฉุกเฉินทั่วสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2010 ถึง 2019 พบว่า มีการไปตรวจในแผนกฉุกเฉินเพิ่มขึ้นประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ในวันที่ร้อนที่สุดของฤดูร้อนมากกว่าวันที่อากาศเย็นที่สุด โดยสาเหตุเกิดจากการทำร้ายตัวเอง การใช้สารเสพติด เกิดความวิตกกังวล ภาวะทางอารมณ์ และความผิดปกติของโรคจิตเภทนั้นก็เพิ่มจำนวนขึ้นตามอุณหภูมิเช่นกัน

นอกจากนี้ จากข้อมูลการสำรวจชาวอเมริกัน 1.9 ล้านคนระหว่างปี 2551 – 2556 พบว่า ในวันที่อุณหภูมิสูงเกิน 21 องศาเซลเซียส ผู้ที่ตอบแบบสอบถามมีแนวโน้มที่จะรู้สึกมีความสุขลดลง รวมถึงมีความเครียด ความโกรธ และความเหนื่อยล้าเพิ่มขึ้นมากกว่าวันที่อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 10 และ 15.5 องศาเซลเซียส เนื่องจากความรู้สึกไม่สบายตัวเพราะความร้อน

Dr.Martin Paulus ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์และประธานสถาบัน Laureate Institute for Brain Research เสริมว่า เมื่อร่างกายพยายามควบคุมอุณหภูมิตัวเองให้เย็นลงในอากาศที่ร้อนจะยิ่งเกิดความเครียดมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้คนที่มีภาวะสุขภาพจิตอยู่แล้วมีความเสี่ยงเป็นพิเศษที่จะทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม

ทั้งนี้ ยังมีการศึกษาในประเทศอังกฤษและเวลส์ระหว่างปี 1993 – 2003 ที่เผยให้เห็นว่า เมื่ออุณหภูมิในช่วงเวลาหนึ่งสูงกว่า 18 องศาเซลเซียส และเพิ่มขึ้นทุกๆ 1 องศาเซลเซียส จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายของประชากรเพิ่มขึ้นถึง 3.8 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

อากาศยิ่งร้อน ทำฮอร์โมนเปลี่ยน นอนไม่พอ อารมณ์เสียง่าย

อีกหนึ่งการศึกษาที่เผยแพร่กับ National Library of Medicine ที่สอดคล้องกับความเชื่อมโยงของอากาศร้อนและสุขภาพจิตพบว่า การที่อุณหภูมิสูงขึ้นนั้นมีส่วนในการส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระดับเซโรโทนิน (Serotonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญในการปรับความรู้สึก อารมณ์ และพฤติกรรม ที่ปกติหากระดับของเซโรโทนินอยู่ในค่าสมดุล ก็จะช่วยให้สภาวะจิตใจคงที่ สงบ มีสมาธิ

แต่เมื่ออากาศร้อนจัดจนส่งผลให้ระดับของเซโรโทนินลดต่ำลง ก็จะส่งผลให้เกิดอาการใจร้อน กังวล โมโหง่าย หุนหันพลันแล่น ก้าวร้าว ไม่มีสมาธิ การตัดสินใจและการจดจำแย่ลง รวมไปถึงอาจส่งผลให้นอนหลับไม่สนิท คุณภาพการนอนแย่ลง และเมื่อพักผ่อนไม่เพียงพอก็ยิ่งส่งผลให้อารมณ์แปรปรวนและฉุนเฉียวง่ายขึ้นด้วย

Dr.Obradovich ยังมองว่าอากาศอบอุ่นทำให้การนอนหลับแย่ลง เป็นไปได้ว่าคำอธิบายเกี่ยวกับผลกระทบของความร้อนต่อสุขภาพจิตอาจมาจากการรวมกันของทฤษฎีต่างๆ เหล่านี้ก็ได้

อากาศยิ่งร้อน ยิ่งขี้เกียจ

ถ้ารู้สึกขี้เกียจมากขึ้นในหน้าร้อน ก็ไม่ต้องเป็นกังวลใจว่ารู้สึกไปเองคนเดียวหรือเปล่า เพราะ Dr.Elisabeth Philipps นักประสาทวิทยาทางคลินิกอธิบายว่า เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น การทำงานของสมองจะลดลง เนื่องจากความร้อนส่งผลต่อสมอง โดยหยุดการทำงานของเส้นใยประสาท และช่วงเวลาที่อากาศร้อนจัดแบบนี้ ทำให้ร่างกายต้องใช้พลังงานมากขึ้นจากการทำให้ตัวเองเย็นลง เป็นสาเหตุที่อาจทำให้เรารู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนแรงเร็วกว่าปกติ รวมถึงความร้อนจะส่งผลให้สมองของคนเรายิ่งจดจ่อกับการคลายร้อน จนไม่เหลือสมาธิไปโฟกัสอย่างอื่น เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องหงุดหงิดตัวเองที่รู้สึกว่าไม่อยากทำอะไรทั้งนั้น

จากวิกฤตโลกรวนที่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นตลอดทุกปีเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คงเป็นการปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตท่ามกลางความร้อนได้อย่างปลอดภัย โดยเริ่มจากการพยายามไม่ให้ร่างกายขาดน้ำด้วยการดื่มน้ำบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางแดดร้อนจัดเป็นเวลานาน ใส่เสื้อผ้าสีสว่างๆ ที่ระบายอากาศได้ดี พยายามพักผ่อนให้เพียงพอ และอย่าลืมสังเกตอาการของตัวเองให้ดีว่ามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจนเสี่ยงประสบปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่


Sources : 
JAMA Psychiatry | bit.ly/3Md4PEO
National Library of Medicine | bit.ly/3MgbDlc
Nature | go.nature.com/3GgKzOV
Popsugar | bit.ly/3U8BSMm
Psychiatric Times | bit.ly/40KPXSQ
ScienceDaily | bit.ly/3zu7en7
The Conversation | bit.ly/3nDFA4l
The New York Times | nyti.ms/3JZMad2
The World Economic Forum | bit.ly/4368b2s
พบแพทย์ | bit.ly/3Mf141Y

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.