กรุงเทพฯ มี ‘โอ่งอ่าง’ คลองที่สวยที่สุดในเมืองกรุง แต่ในปี 2025 ‘โซล’ เมืองหลวงของประเทศเกาหลีใต้กำลังจะมีสวนสาธารณะวัฒนธรรมริมน้ำ ที่มีสามดีเทลสำคัญเป็นหัวใจหลักของการดีไซน์พื้นที่
หนึ่ง. ศิลปะ
สอง. วัฒนธรรม
สาม. สเปซที่เชื่อมต่อทั้งย่าน Seongdong เข้าด้วยกันให้เดินไปมาหาสู่กันได้แบบทะลุปรุโปร่ง
ทั้งสามรายละเอียด ถูกคิดค้น ออกแบบเพื่อตอบโจทย์วิถีการใช้ชีวิตของคนเมืองให้ทุกคนเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย และได้พักผ่อนหย่อนใจ คลายเครียดทั้งร่างกายและจิตใจกันถ้วนหน้า
ทั้งนี้ในปี 2025 เรากำลังจะได้ยลโฉมสเปซบริเวณลำธาร Jungnangcheon (중랑천) ซึ่งจะถูกแปลงโฉมใหม่ทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนเกาหลีได้มีพื้นที่ทางวัฒนธรรมริมน้ำแห่งใหม่ ซึ่งผสมผสานระหว่างศิลปะและการพักผ่อนหย่อนใจเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว
คลองหรือลำธารจุงนังเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำฮัน มีต้นกำเนิดมาจากหุบเขา Dorak ใน Yangju จังหวัด Gyeonggi ซึ่ง Cheonggyecheon ก็เป็นลำน้ำสาขาของ Jungnangcheon ลุ่มน้ำทั้งหมดมีพื้นที่ 299.9 ตารางกิโลเมตร ลำธารส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองอึยจองบูและกรุงโซล
อภิมหาโปรเจกต์ของรัฐบาลโซล (The Seoul Metropolitan Government) ครั้งนี้จะมีการสร้างถนนใต้ดินระหว่างสะพาน Changdonggyo และสะพาน Sanggyegyo ภายใต้ลำธาร Jungnangcheon และในส่วนของถนนใต้ดินบริเวณทางด่วน Dongbu ไปยังอึยจองบู และจะมีการสร้างสวนวัฒนธรรมริมน้ำขนาดใหญ่ถึง 20,000 ตารางเมตร ซึ่งใหญ่กว่าลาน Open Space หน้าศาลาที่ว่าการกรุงโซลอย่าง Seoul Plaza ถึง 1.5 เท่าเลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังจะมีสะพานแห่งใหม่ เพื่อเชื่อมระหว่างสวนวัฒนธรรมริมน้ำกับคลองจุงนัง ซึ่งคาดการณ์กันว่าโปรเจกต์นี้จะเป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมต่อฐานสำคัญต่างๆ ของเมือง อาทิ Seoul Arena (อารีนาจัดแสดงคอนเสิร์ตขนาดใหญ่สุดในประเทศ ซึ่งทุ่มงบไปเกือบหกร้อยพันล้านวอน โดยประมาณการว่าจะเปิดใช้งานในปี 2024) และศูนย์นวัตกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Cluster) ที่จะก่อตั้งขึ้นในศูนย์เศรษฐกิจใหม่ชางดองและซังกเยด้วย
เรียกได้ว่าเล่นใหญ่และใจถึง เพราะรัฐบาลโซลทุ่มเททั้งงบประมาณและเวลาการก่อสร้างอย่างมหาศาล แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ไม่ลืมใส่ใจเรื่องการพัฒนาเมืองอย่างครอบคลุม ทั้งในแง่พลเมือง การคมนาคม เศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรมที่จับต้องได้ และเกาหลีใต้เองก็น่าจะได้กำไรกลับคืนมาอย่างล้นเหลือในไม่ช้า
Source :
Seoul In My Hand I https://mediahub.seoul.go.kr/archives/2002623