ออกแบบเมืองให้พร้อมรับมือปัญหาน้ำท่วม - Urban Creature

ในปัจจุบันกรุงเทพฯ ยังคงประสบปัญหาน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ สาเหตุนั้นมาจากหลากหลายองค์ประกอบ ทั้งการขยายตัวของเมือง การสร้างถนน ตึกและสิ่งก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นทุกปี ผลที่ตามมาคือ เมืองหลวงของไทยมีพื้นที่รับน้ำน้อยลง ส่วนคลองที่เคยเป็นช่องทางเดินน้ำก็มีขนาดเล็กลงและระบายน้ำยากขึ้นทุกวัน

นี่ยังไม่รวมถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ของกรุงเทพฯ ที่เป็นแอ่งกระทะ และมีพื้นที่เป็นดินเหนียวอุ้มน้ำ มีขยะจำนวนมากอุดตันขวางทางเดินน้ำ ผังเมืองเจ้าปัญหา รวมถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งล้วนส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนมีมากกว่าปกติ น้ำจากภูมิภาคทางเหนือที่ไหลบ่าลงมา และการหนุนสูงของน้ำทะเลก็มากขึ้น กรุงเทพฯ จึงเกิดปัญหาน้ำท่วมขังและมีสภาพเป็นเสมือนประตูระบายน้ำที่ต้องรอการระบายหนักกว่าเดิมในทุกๆ ปี

ด้วยเหตุนี้ คอลัมน์ Urban Sketch จึงอยากหยิบนวัตกรรมและการรับมือปัญหาน้ำท่วมจากเมืองต่างๆ ทั่วโลกมานำเสนอ เพราะไอเดียเหล่านี้น่าจะมีส่วนช่วยทำให้เมืองที่เราอาศัยอยู่สามารถรับมือน้ำท่วมได้ดียิ่งขึ้น

Resilient City ออกแบบเมืองให้พร้อมรับมือปัญหาน้ำท่วม

ปัญหาระดับโครงสร้างเมือง

พื้นที่ชุ่มน้ำ

‘สวนสาธารณะ’ นอกจากจะเป็นพื้นที่สีเขียวให้คนเมืองพักผ่อนหย่อนใจหรือใช้ออกกำลังกายแล้ว ยังเป็นพื้นที่รับน้ำให้กับเมืองได้ด้วย

เช่น Climate Park ในเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่มีการออกแบบพื้นที่ให้สามารถรองรับน้ำได้เป็นอย่างดี มีลักษณะขั้นบันไดที่ด้านล่างเป็นแอ่งกระทะและใช้เป็นสนามกีฬาได้ เมื่อน้ำมาก็กลายเป็นสระน้ำให้ผู้คนมานั่งเล่นพักผ่อนได้

อย่างในกรุงเทพฯ ก็มีสวน 100 ปี จุฬาฯ ที่ตั้งใจออกแบบพื้นที่สาธารณะซึ่งตอบโจทย์หลากหลายฟังก์ชันทั้งการทำกิจกรรม เป็นพื้นที่สีเขียว และเป็นแหล่งรับน้ำของเมือง ถือเป็นตัวอย่างของการออกแบบที่หน่วยงานต่างๆ ควรนำไปปรับใช้กับพื้นที่สีเขียวทั่วเมือง

เพิ่มท่อระบายน้ำขนาดใหญ่

การทำให้เส้นเลือดใหญ่อย่าง ‘อุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ’ ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยทำให้น้ำท่วม น้ำหนุน น้ำเน่า ฯลฯ สามารถระบายน้ำออกสู่แม่น้ำได้ดีมากยิ่งขึ้น

ซึ่งปัจจุบันกรุงเทพฯ มีอุโมงค์ยักษ์ที่ก่อสร้างแล้ว 4 แห่ง และเตรียมการสร้างอีก 6 แห่งในอนาคต ต้องติดตามกันต่อไปว่าวิธีแก้ไขและการดำเนินงานก่อสร้างจะเป็นไปตามเวลาและงบประมาณที่วางแผนไว้มากน้อยแค่ไหน

ระบบจัดการน้ำอัตโนมัติ

หลายครั้งที่เกิดน้ำท่วม ‘เวลา’ เป็นสิ่งที่สำคัญ ดังนั้นเราจึงต้องเร่งพัฒนาระบบปฏิบัติการที่สามารถสั่งการ ตรวจสอบการทำงานของเครื่องสูบน้ำ เปิดปิดประตูน้ำจากที่ไหนก็ได้ เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถกระจายกำลังไปทำงานอื่นๆ ได้รวดเร็วและมากขึ้น

ปัญหาระดับเส้นเลือดฝอย

เพิ่มจุดทิ้งขยะ

อีกหนึ่งปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขอย่างด่วนที่สุดนั่นคือ ‘ขยะ’ น้ำท่วมทุกครั้งเราจะพบขยะที่ไปอุดตันตามท่อระบายน้ำ ดังนั้นการจัดการพื้นที่สำหรับทิ้งขยะให้เป็นระเบียบเรียบร้อยจะช่วยลดตัวปัญหาที่ขวางทางเดินน้ำได้ รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันแยกขยะเพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานสะดวกขึ้น

ฝาท่อกรองขยะ

เวลาเราเดินอยู่บนถนนนอกจากต้องระวังรถราที่วิ่งกันรวดเร็วแล้ว ยังต้องคอยระวังฟุตพาทที่ไม่สม่ำเสมออีกด้วย และที่ขาดไปไม่ได้เลยคือ ‘ฝาท่อ’ ที่บิดเบี้ยวชำรุดซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ทุกเมื่อ

นอกจากจะต้องเร่งแก้ไขทำให้ฝาท่อเรียบเสมอกันและมีดีไซน์ที่สวยงามแล้ว เมืองต้องออกแบบฝาท่อให้มีระบบที่ช่วยกรองขยะ ไขมัน และสิ่งปฏิกูล ซึ่งเป็นตัวปัญหาที่อุดตันขวางทางเดินน้ำ เพื่อช่วยให้น้ำไหลผ่านไปได้อย่างเต็มที่ และยังเอื้อประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ที่ดูแลความสะอาดให้ทำงานได้ง่ายมากขึ้น

แท็งก์เก็บน้ำฝน

ที่อยู่อาศัยในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นอะพาร์ตเมนต์ คอนโดฯ หรือบ้านจัดสรร สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ ที่อยู่อาศัยทุกแห่งต้องมีพื้นที่รับน้ำประจำตำแหน่ง อย่าง ‘แท็งก์กักเก็บน้ำ’ นอกจากจะทำหน้าที่เป็นที่หน่วงน้ำไว้รอระบายแล้ว ยังสามารถนำน้ำที่กักเก็บไว้ไปใช้ล้างคราบสกปรกหลังผ่านช่วงน้ำท่วม รดน้ำต้นไม้ หรือใช้ทำความสะอาดสุขภัณฑ์ต่างๆ ได้อีก

Resilient City ออกแบบเมืองให้พร้อมรับมือปัญหาน้ำท่วม

ปัญหาระดับครัวเรือน

ประตูกั้นน้ำ

ภาพที่เราต่างคุ้นเคยเวลาเกิดวิกฤตน้ำท่วมคือ การนำกระสอบทรายมาใช้เป็นแนวกั้นน้ำ แต่กระสอบทรายนั้นมีน้ำหนักมาก เคลื่อนย้ายลำบาก ส่งผลให้การรับมือกับน้ำท่วมมักติดขัดและไม่ทันท่วงที

ในปัจจุบันทั่วโลกมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมามากมายเพื่อใช้รับมือกับปัญหาน้ำท่วม อย่างเช่น Quick Dam ที่มีลักษณะคล้ายกระสอบทราย แต่มีน้ำหนักเบากว่า เมื่อนำไปวางขวางทางน้ำ วัสดุชนิดนี้จะดูดซับน้ำ พองตัว และมีน้ำหนักขึ้นมาได้ในเวลาเพียงสิบนาที แถมยังมีหลายขนาดและมีความยืดหยุ่นสูงด้วย

ยังมีผนังกั้นน้ำท่วมอย่าง Dam Easy ที่ออกแบบให้ผู้ใช้งานสามารถติดตั้งได้ด้วยตนเองภายในเวลาไม่เกิน 5 นาที และยังมีนวัตกรรมประตูกั้นน้ำอัตโนมัติ (Self-Closed Flood Barrier) ที่เมื่อน้ำท่วมสูงขึ้นเมื่อไหร่ แรงดันของน้ำจะยกกำแพงกั้นน้ำให้สูงขึ้นเพื่อขวางทางน้ำ โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าหรือคนในการทำงาน

ทุกวันนี้มีนวัตกรรมต่างๆ ให้เลือกใช้ประโยชน์อยู่มาก หากนำมาประยุกต์ใช้ก็น่าจะช่วยให้ความเป็นอยู่ในระดับครัวเรือนดีขึ้นได้

บ้านที่รองรับน้ำท่วม

ปัญหาน้ำท่วมเป็นสิ่งที่ทุกคนโดยเฉพาะคนที่อยู่อาศัยในเมืองต้องพบเจอเป็นประจำ การวางแผนจัดการที่อยู่อาศัยอยู่เสมอ จะช่วยให้เกิดความพร้อมและลดความเสียหายให้เหลือน้อยที่สุด เช่น การยกบ้านให้สูงขึ้น ขนย้ายสิ่งของต่างๆ ขึ้นที่สูง ย้ายทรัพย์สินมีค่าไปยังที่ปลอดภัย ติดตั้งปลั๊กไฟในระดับที่พ้นน้ำ เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์หรือวัสดุที่กันน้ำ ติดตามข่าวเพื่อการรับมือ กักเก็บอาหารและน้ำสำหรับกินดื่ม สำรองเบอร์ฉุกเฉินสำหรับกู้ภัยช่วยเหลือน้ำท่วม เป็นต้น

เมืองที่อยู่ร่วมกับน้ำได้

ปัญหาน้ำท่วมถือเป็นเรื่องที่แก้ไขยาก เพราะว่านอกจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่กล่าวมาในช่วงต้น อีกหนึ่งสาเหตุที่ปฏิเสธไม่ได้คือ ปัจจัยทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ควบคุมและคาดเดาได้ยาก ทำให้ในอนาคตเมืองของเราอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมกันอยู่เรื่อยๆ

เพราะแต่เดิมการมีอยู่ของเมืองต้องปรับตัวให้กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ แต่ในวันนี้การขยายเมืองที่ไม่สัมพันธ์กับธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ย่อมส่งผลให้เรื่องการจัดการน้ำเป็นวิกฤตที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี

การจัดการปัญหาน้ำท่วมนั้นมีหลากหลายวิธี หวังว่าเมืองที่เราอาศัยอยู่จะนำไอเดียบางส่วนมาใช้ เพื่อพัฒนาเมืองที่ผู้คนสามารถปรับตัวและรับมือกับน้ำได้ทุกสถานการณ์


Source:
Aggeres | bit.ly/3CVjYoC
CNN | cnn.it/3raS45k
Dameasy | bit.ly/3r89krL
Iurban | bit.ly/44voOEU
Quickdams | quickdams.com
workpointTODAY | bit.ly/447xhOP

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.