พังก์ปาตานี: วัฒนธรรมพังก์ 3 จังหวัดชายแดนใต้ - Urban Creature

ดนตรีอาจเป็นสิ่งต้องห้ามในศาสนาอิสลาม ทว่าช่วงหนึ่งดนตรีและวัฒนธรรมพังก์กลับเคยรุ่งเรืองอย่างมากในดินแดนที่เรียกว่า ‘ปาตานี’

‘ปาตานี’ ในภาษามลายู เป็นชื่อเรียกพื้นที่ครอบคลุมตั้งแต่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนในจังหวัดสงขลา ทั้งสี่จังหวัดอยู่ติดกันบริเวณชายแดนสุดปลายด้ามขวานของประเทศไทย

ส่วน ‘พังก์’ คือ Pop Culture ที่ได้รับความนิยมมากในหมู่คนหนุ่มสาวทั่วโลก โดยเฉพาะความเฟื่องฟูช่วงปลายทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา บทเพลงเหล่านี้สอดแทรกนัยความขบถ การต่อต้านเชิงอำนาจที่แสดงผ่านพฤติกรรม การแต่งตัว การแต่งหน้า การทำผม การสักลาย และแน่นอน พังก์คือหนึ่งในแนวดนตรีร็อก มีจังหวะดิบๆ และเดือดดาล ส่งเสียงการขับร้องและการเล่นดนตรีอย่างเมามันเป็นเอกลักษณ์

คนใต้พังก์ ประเทศไทย

ใช่ เรากำลังพูดถึง ‘พังก์ปาตานี’ วัฒนธรรมที่เคยผลิบานสุดๆ ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ระหว่างราวปี 1995 จนกระทั่งถึงช่วงราวปี 2010 รวมระยะเวลากว่า 15 ปี ที่วัฒนธรรมได้โลดแล่นสร้างสีสันให้วัยรุ่นในพื้นที่ได้ปลดปล่อยความขบถของพวกเขาออกมาอย่างเต็มที่

ถ้าสมัยก่อนมีสื่อโซเชียลออนไลน์อย่างในปัจจุบัน เราคงได้เห็นภาพความสนุกสนานวาดลวดลายอย่างทั่วถึง แต่ด้วยยุคสมัย ภาพของชาวพังก์ปาตานีจึงหลงเหลือเพียงเศษเสี้ยวกระจัดกระจาย บ้างบนภาพถ่ายฟิล์ม บ้างในคลิปวิดีโอจากกล้อง Handycam และส่วนสำคัญคือความทรงจำในเนื้อตัวของชาวพังก์ร่วมสมัยที่เติบใหญ่จนมีอายุกลาง 30 ถึงปลาย 40 กว่าๆ 

แม้มีหลักฐานหลงเหลือไม่มาก แต่ประสบการณ์ยังคงแจ่มชัดในความทรงจำของอดีตชาวพังก์แดนปาตานีอย่าง ‘ราชิต ระเด่นอาหมัด’ ‘เอก-วาฤทธิ์ คาลิคกุล’ และ ‘ดี้-สมโภช เจ๊ะอาลี’ ผู้แบ่งปันความทรงจำสุดเหวี่ยงของวัยรุ่นพังก์ๆ ให้เราฟัง

คนใต้ ปัตตานี สายบุรี
‘ราชิต ระเด่นอาหมัด’ ‘เอก-วาฤทธิ์ คาลิคกุล’ และ ‘ดี้-สมโภช เจ๊ะอาลี’

ดินแดนพังก์ปาตานี

“วัฒนธรรมพังก์เข้ามาช่วงที่เริ่มเป็นวัยรุ่น เราอยากมีตัวตน อยากเป็นกลุ่มที่ขบถ และต่อต้านสังคม ก่อนหน้าเราก็ยังฟังเพลงใสๆ แต่เมื่อมาเรียนวิชาสถาปัตย์ ระดับ ปวช. ที่เทคนิคยะลา ได้เจอแก๊งเพื่อนสามจังหวัดที่มาจากหลายพื้นที่ เพลงที่เขาฟังเป็นเหมือนโลกอีกใบหนึ่ง จากเดิมที่เราเคยฟังแค่วงไมโคร ก็รู้สึกว่าดนตรีมันหนักแล้ว แต่พอมาเจอวง Manic Street Preachers และ Nirvana เข้าไป ก็คิดว่า เฮ้ย ดนตรีอะไรวะ ไม่เคยฟังมาก่อน และนี่คือสิ่งที่เรารู้สึกว่าต้องการมันจริงๆ 

“ช่วงที่เรียนสถาปัตย์ ต้องทำงานวิชา Sketch Design ในห้อง เพื่อนก็เปิดเพลงพังก์ ทำให้เราถูกจูนเข้าไปกับมันโดยไม่รู้ตัว เรารู้สึกว่าโครงสร้างดนตรีไม่ซับซ้อน การลีดกีตาร์แค่ไม่กี่คอร์ด กับจังหวะกลองที่กระแทกไม่ยั้งเนี่ย มันคือการปลดปล่อย แล้วสปีดมันๆ ของเพลงช่วยเร้าให้ทำงานได้ด้วยอารมณ์ปลดปล่อยล้วนๆ” ราชิตย้อนเล่าถึงความทรงจำช่วงเรียน ปวช.

“ลองนึกภาพนักเรียนเขียนแบบ ที่ทุกห้องจะมีเทปคาสเซ็ตอยู่ แล้วอาจารย์เขาอนุญาตให้เราเปิดฟังได้ ถ้าเปิดก็เลยต้องฟังกันทั้งห้อง คนไม่ชอบแนวนี้ก็ต้องฟังไปด้วย” ดี้เล่ากลั้วเสียงหัวเราะ

ปัตตานี ยะลา นราธิวาส

ทั้งราชิต เอก และดี้เล่าให้เราฟังว่า เพลงพังก์ได้รับความนิยมมากๆ ในหมู่เด็กสายเทคนิค ในขณะที่โลกของเด็กๆ มัธยมฯ อาจจะคุ้นชินกับการฟังเพลงไทยป็อปกระแสหลัก รสนิยมด้านการฟังเพลงพังก์จึงจำกัดอยู่ในวงเฉพาะ และบ่งบอกตัวตนมุทะลุของคนกลุ่มนี้ได้เป็นอย่างดี

โคตรพังก์

เพลงพังก์ที่โด่งดังในเด็กสามจังหวัดเป็นเพลงของวงระดับตำนานจากฝั่งตะวันตกตั้งแต่ Nirvana, Metallica, Silverchair, Guns N’ Roses, Radiohead, Green Day หรือวงไทยอย่างวงดอนผีบิน และวงอื่นๆ อีกมากมาย ถ้าได้ลองคุยกับชาวพังก์แต่ละคนก็อาจจะมีวงที่ฟังแตกต่างกันออกไปตามความชอบ ซึ่งจริงๆ แล้วบางวงอาจจะไม่ใช่ดนตรีแนวพังก์ร็อกโดยตรง ทว่าถูกเรียกรวมๆ กัน ในฐานะที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของวัฒนธรรม ที่วัยรุ่นสามจังหวัดชายแดนนิยามกันว่า ‘พังก์’ มันจึงไม่ใช่แค่แนวเพลง แต่คือวัฒนธรรมหรือไลฟ์สไตล์ที่ขับเคลื่อนกันเป็นวิถีในกลุ่มอีกด้วย

“เพลงมันดังกลุ่มเฉพาะ สมัยก่อนยังไม่มีอินเทอร์เน็ต กว่าจะหาข้อมูลแต่ละวงกันได้ ต้องอ่านจากนิตยสาร Music Express เพราะถ้าถามคนทั่วไปก็จะไม่รู้จัก เราพัฒนาการจากพังก์ จากนั้นก็เริ่มหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ หาวงใต้ดินเจ๋งๆ ที่ยังไม่เคยฟังมาฟังเพิ่มเติม” ราชิตเล่า


ความขบถในวัฒนธรรมพังก์ชายแดนใต้ 

“ตอนนั้น เราอายุแค่สิบเจ็ดสิบแปดปี จริงๆ แล้วศาสนาอิสลามจะไม่ให้คนเล่นดนตรี แต่นั่นคือความขบถ อยากแหกคอก โชคดีที่สมัยก่อนต่อให้แหกคอก เขาก็จะไม่วิจารณ์อะไรมาก ถ้าสมัยนี้อาจมีดราม่าในโซเชียล แต่ก่อนคนแค่รับรู้ แต่ไม่ได้มีการแอนตี้ เด็กศาสนาที่ฟังก็เยอะ เป็นตัวนำเทรนด์ (หัวเราะ) เราแค่ต้องมีกาลเทศะ เข้ามัสยิดก็ต้องใส่เสื้อวงกลับด้าน หมุนปีกหมวกแกปไปไว้ด้านหลัง แล้วก็สามารถละหมาดได้เหมือนเดิม

“วัยรุ่นเป็นวัยขบถ ต่อต้านสังคม ต้องการพื้นที่ปลดปล่อย เพื่อแสดงออกสิ่งที่เรารู้สึก เพลงเป็นอย่างหนึ่งที่เราทำได้ เราไม่ได้ไปทำลายข้าวของหรือสร้างความวุ่นวาย แค่ฟังให้ซาวนด์มันกระแทกใจ ยิ่งเปิดดังๆ โห รู้สึกปลอดโปร่ง อย่างการดูมิวสิกวิดีโอ แต่ก่อนหายากมาก ต้องดูจากช่อง MTV หรือ Channel V คอยเฝ้ารอ เพราะพลาดนิดเดียวก็อดดู เรากับเพื่อนๆ ต้องรอกดอัดเพื่อเซฟไว้ เพราะต้องการมิวสิกวิดีโอตัวนั้นๆ” 

ผู้ชาย พังก์ปาตานี

นอกจากมิวสิกวิดีโอความสนุกของคอดนตรีพังก์ยุคนั้น คือการศึกษาข้อมูลวงดนตรีจากสื่อสิ่งพิมพ์อย่างหนังสือและนิตยสาร เพื่อนำมาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันสนุกๆ ซึ่งรวมถึงเนื้อเพลงที่หายาก ทำให้เวลาร้องตามต้องเริ่มจากการร้องดำน้ำ และแกะเนื้อเพลงให้ละเอียดกันในขั้นตอนต่อมา ยิ่งไปกว่านั้น เด็กวัยรุ่นแถบนี้อาศัยการจูนคลื่นวิทยุจากประเทศมาเลเซียเพื่อฟังเพลงสากลอีกต่อหนึ่งด้วย

ด้วยแนวเพลงที่กระแทกกระทั้น ทั้งสามเล่าขำๆ ว่าเวลาเปิดฟังในรถที่มีพ่อแม่อยู่ด้วยก็จะถูกปรามให้เปิดเบาๆ หน่อย หรือผู้ใหญ่อาจจะไม่เข้าใจนักว่า พวกเด็กๆ ฟังเพลงอะไรกัน แต่เมื่อได้เห็นว่าลูกๆ ที่เข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมพังก์ ไม่ได้เกเรหรือยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดจึงไม่ได้ต่อต้านอะไร

“ที่คณะจะมีอาร์ตปาร์ตี้ มีการแสดงของแต่ละวงดนตรี เราก็เอนจอย เฮ้วๆ กันในวิทยาลัยเทคนิคจังหวัดยะลา ภาพคนภายนอกอาจคิดว่า พังก์มากับของมึนเมา แต่เปล่าเลย พวกเราไม่เล่นยา และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งขัดแย้งกับความชื่นชอบพังก์ของพวกเรามากๆ” ดี้พูดจบก็หัวเราะ

ทั้งสามเล่าให้เราฟังว่าจุดที่ทำให้ซีนชาวพังก์ที่นี่ไม่เหมือนใคร นอกจากจะเป็นเรื่องของพื้นที่และผู้คนที่มีอัตลักษณ์ของตัวเอง รายละเอียดของศาสนายังทำให้พวกเขาไม่ดื่มแอลกอฮอล์ และไม่สักลายบนตัวเหมือนภาพพังก์ในสื่อกระแสหลัก ถ้าใจรักจะสัก ทำได้มากสุดคือการเพนต์ลายดิบเท่บนตัว

คนสามจังหวัดชายแดนใต้

จากคำบอกเล่า สะท้อนว่าในพื้นที่ปาตานี จังหวัดยะลามีซีนพังก์ที่ใหญ่และเฟื่องฟูที่สุด ทั้งนี้วัดได้จากความคึกคักของกลุ่มคน พื้นที่ผับจัดแสดงขนาดใหญ่ และแหล่งซื้อ-ขายเทปที่มีให้เลือกสรรมากที่สุดในสถานีรถไฟ จังหวัดยะลา 

“มีอีเวนต์เยอะนะ เสาร์-อาทิตย์เอาเรื่องเลย คนมารวมตัวกันเยอะประมาณสามถึงสี่ร้อยกว่าคน ผมจำได้ว่า แต่ก่อนมีรถเมล์สายปัตตานี-ยะลา เวลาเที่ยงๆ พังก์ก็อยู่เต็มรถ ชาวบ้านสูงอายุที่นั่งก็จะงง เพราะได้เห็นพังก์โผล่มา คนเห็นเราแต่งตัวจัดเต็มก็มีตกใจกันบ้าง

“เราได้มีกลุ่มเพื่อนมุสลิมที่อยากตั้งวงดนตรี ก็เลยฟอร์มวง เริ่มจากอยากเป็น Nirvana อยากเป็นแบบ Kurt Cobain ก็รวมกันได้สามคนพอดี มีเพื่อนคนหนึ่งตีกลองเป็นคนจีนยะลา และมีมือเบสเป็นคนจีนเบตง ตอนนั้นไปเช่าห้องซ้อมดนตรีราคาชั่วโมงละหกสิบถึงแปดสิบบาท และเริ่มเล่นดนตรีตั้งแต่ตอนนั้น” ราชิตเล่า

เมื่อก้าวเข้าสู่การฟังเพลงพังก์อย่างจริงจัง ทำให้วัยรุ่นในพื้นที่เริ่มตั้งวงดนตรีคัฟเวอร์ อย่างราชิตเอง ก็เคยตั้งวง Hate และช่วงต่อมาก็ทำวงชื่อ Rough Club เริ่มจากคัฟเวอร์เพลงที่ชอบจนหมด เมื่อเล่นซ้ำๆ นานวันเข้าก็ถึงขั้นแต่งเพลงที่พูดเรื่องชนชั้นที่เล่าว่ามนุษย์นั้นมีความเท่าเทียมกัน ในขณะที่เอกก็เคยทำเพลงพังก์ที่พูดเรื่องปีศาจในจิตใจมนุษย์ด้วย

วงดนตรีพังก์

อีเวนต์แบบพังก์ๆ ของวัยโจ๋ปาตานี

นอกจากราชิต ดี้ และเอกจะฟังเพลง และผันตัวมาเล่นดนตรีแบบพังก์ เอกยังเป็นหนึ่งในคนขับเคลื่อนการจัดงานอีเวนต์คอนเสิร์ตพังก์ในปาตานีหลายๆ งาน โดยทำหน้าที่เป็นเหมือนโปรโมเตอร์ที่อำนวยการให้การแสดงและปาร์ตี้ต่างๆ เกิดขึ้นจริง ซึ่งนี่เป็นหัวใจสำคัญให้คอมมูนิตี้พังก์ในสามจังหวัดในอดีตได้เคลื่อนไหวมาเรื่อยๆ 

พังก์ คอนเสิร์ต

“ปี 2003 เฟื่องฟูมากๆ ผมจัดเฟสติวัลที่ริมทะเลสงขลา ทำไปก็เจ๊งแบบขาดทุนยับ เชิญวงพังก์มาสี่สิบกว่าวง วันแรกเป็นวงแนว Black Metal ดนตรีสายหนัก วันที่สองเป็นวงแนว Nu-metal 

“ตอนนั้น เราทำกับรุ่นพี่ชาวนครศรีธรรมราช ตังค์ก็ไม่มีสักบาท ต้องไปกู้มา มัดจำเครื่องเสียงกับค่ารถทัวร์นักดนตรี ส่วนค่าตัววงดนตรีไม่มี ก็หวังเอาเงินจากการจำหน่ายบัตรคอนเสิร์ตมาจ่ายเขา งานนั้นสเกลใหญ่สุด มีนักดนตรีเข้ามาร่วมทั้งวงไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซียก็ยังมา

“จากที่แต่ก่อน วงดนตรีทางปัตตานีและยะลาจะนิยมทำวงคัฟเวอร์กันเยอะ แต่เมื่อมีอีเวนต์ที่เราจัดขึ้นมา มันก็เป็นเหมือนอีกแรงบันดาลใจให้เขาตั้งวงแต่งเพลงกันเอง ทำให้มีการผลิตผลงานตัวเองของตัวเองจริงๆ ออกมา” เอกกล่าว

“ความรุนแรงยุคก่อน ไม่เหมือนช่วงปี 2547 ขบวนการมันมีมาตั้งนานแล้ว แต่เขาไม่มาทำร้ายคนในเมือง ไม่ทำร้ายคนบริสุทธิ์ และไม่มีระเบิด ความรุนแรงเป็นอีกบริบท วัยรุ่นเลยเต็มที่กับการใช้ชีวิตได้มากกว่านี้ ไม่ต้องกังวลมาก” ราชิตตอบ เมื่อเราถามเขาว่า สมัยก่อน การจัดอีเวนต์พังก์ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยมากหรือน้อยแค่ไหน


ตลาดนัดชาวพังก์แดนใต้

ในชีวิตประจำวันชาวพังก์ดินแดนปาตานีจะใส่เสื้อ สวมกางเกงและรองเท้าตามกระแสของวงที่กำลังโด่งดัง ณ ขณะนั้น เรียกได้ว่า เป็นการจัดเต็มเสื้อผ้าหน้าผมแบบครบสูตรเมื่อต้องออกอีเวนต์ที่รวมคอมมูนิตี้พังก์ใหญ่ๆ 

สำหรับแหล่งช้อปปิงเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายของชาวพังก์ปาตานี จะหาซื้อได้ตามตลาดนัดในพื้นที่ได้ไม่ยาก เช่น ย่านตลาดเก่า ‘จะบังติกอ’ จังหวัดปัตตานี หรือจะหาไอเทมเท่ที่ตลาดนัดท้องถิ่นอื่นๆ ก็มีให้เลือกสรรไม่ต่างกัน ยุคนั้นชาวพังก์จะแต่งตัวจัดเต็ม ตื่นตั้งแต่ตีสี่ เพื่อแต่งหล่อ-สวยออกไปเลือกหาชุดเท่ๆ ตลาดนัดจึงเป็นพื้นที่หนึ่งที่วัยรุ่นชาย-หญิงใช้ประชันสไตล์กันแบบไม่มีใครยอมแพ้ใคร

วัยรุ่นพังก์ปาตานี Rock

“เราจะไปซื้อเสื้อผ้าที่ตลาดนัด ก็คงคล้ายๆ กรุงเทพฯ ที่เด็กพังก์จะไปซื้อของตามสะพานพุทธ ของเราก็จะมีหลาดพร้าว (ตลาดมะพร้าว จังหวัดยะลา) หลาดบุดี (ตลาดบุดี จังหวัดยะลา) เป็นแหล่งช้อปปิง สามจังหวัดมีตลาดนัดเยอะมาก คนจะไปปล่อยของ ซื้อของเพื่อแต่งตัว พอตีสี่-ตีห้าตลาดเปิดกระสอบก็รีบไปจับจองกันเลย” เอกกล่าว

“ในกลุ่ม เวลาเราเห็นชุดที่นักร้องในนิตยสาร Music Express เขาใส่เสื้ออะไร ใส่แว่นแบบไหน สมัยก่อนเคิร์ต โคเบน ใส่รองเท้า Jack Purcell  ถ้าเขาเขียนบนรองเท้าว่าอะไร ก็จะทำตาม ตอนนั้นกระแสแจ็ค เพอร์เซลล์ฮิตมาก อย่างพวกที่คลั่ง Nirvana จะตามซื้อเสื้อเก็บจำนวนสิบกว่าตัว ใส่ยีนส์เซอร์ๆ ขาดๆ ทั้งมือหนึ่งและมือสอง เพราะมันเท่มาก แต่ความเป็นจริงไม่เห็นมีใครทักว่าเราเท่เลย รู้ว่าเท่กันเองในกลุ่มมากกว่า (หัวเราะ)” ราชิตเสริมเรื่องเทรนด์ของแฟชั่นพังก์ 

เสื้อผ้าหรือเสื้อวงพังก์ร็อกที่ขายในตลาดนัดแถบสามจังหวัดชายแดนใต้ ส่วนใหญ่มาจากแหล่งตลาดโรงเกลือ ซึ่งในสมัยก่อน เสื้อผ้าบางส่วนมีแหล่งที่มาจากคลองแงะ จังหวัดสงขลา บางส่วนมีคนหิ้วมาจำหน่ายเองจากประเทศมาเลเซียและปากีสถาน ราชิตเสริมว่า จากที่สิบกว่าปีที่แล้วราคาเสื้อผ้าเหล่านี้ขายในหลักร้อย กาลเวลาผ่านไปเสื้อก็เริ่มหายากขึ้นเรื่อยๆ จนไต่ระดับมาขายกันที่หลักหมื่นบาท

พังก์ร็อก แฟชัน

“พวกผมตื่นแต่เช้ามาทำสีผม บางคนทำทรงโมฮอว์กหัวแหลม ในอิสลาม เราจะสักไม่ได้ ก็เพนต์ตัวเอา แต่งหน้าทาขอบตาดำๆ เวลาคนเห็นก็คิดว่าพวกเราดุมาก 

“เวลาไปผับประจำที่ยะลา ต้องผ่านร้านอาหารชื่อหลีตงฮึ้ง คนเขาเห็นพังก์รวมตัวก็ตกใจ เพราะจำนวนคนเยอะ สามร้อยกว่ามารวมตัวกัน แต่เราแค่มาแสดงศักยภาพของการแต่งตัว บางคนสวม Dr. Martens หุ้มถึงเข่า ใส่กางเกงรัดรูปจนเข้าห้องน้ำที ต้องให้เพื่อนช่วยถอดกางเกง (หัวเราะ)

“ผับใหญ่ๆ มีเยอะสุดในจังหวัดยะลา หลายครั้งจะรวมเอาคนที่แต่งตัวโทนสีดำ หน้าตาดุๆ บ้างผมทรงโมฮอว์ก บ้างสกินเฮด แต่ชีวิตปกติเราไม่ได้แต่งเต็มแบบนี้ทุกวัน แต่มาปลดปล่อยสุดๆ ในผับ” ราชิตย้อนความทรงจำ

พังก์ร็อก ดนตรี

เทรนด์เปลี่ยนไป แต่จิตวิญญาณพังก์ปาตานีไม่เคยเปลี่ยนแปลง

เวลาเดินหน้าคือสัจธรรม และเทรนด์โลกก็หมุนเวียนเปลี่ยนไปทุกวัน ซึ่งแน่นอนกระแสวัฒนธรรมพังก์ก็เจือจางลงไปด้วย

“กระแสเพลงเปลี่ยนไป กระแสดนตรีพังก์ นูเมทัลจางลงเรื่อยๆ ตามยุคสมัย ดนตรีร็อกก็จางลงไปมาก ปัจจุบันกลายเป็นกระแสของดนตรีแนวฮิปฮอป EDM หรือ Surf music ยุคหลังไม่มีวงแม่เหล็กที่รวมคนไว้ได้นานๆ เหมือนสมัยก่อน มีสื่อให้นักดนตรีเกิดได้ทุกวัน ซึ่งอุตสาหกรรมดนตรีก็เปลี่ยนไปมากๆ เมื่อก่อน เวลาเราชอบแนวเพลงหนึ่ง ก็จะมีวงของยุคเป็นวงแกนหลัก ทำให้คนฟังรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเหนียวแน่น” ราชิตเล่า

พังก์ร็อก ดิบเถื่อน

อุตสาหกรรมดนตรีโลกเปลี่ยนไป มีแพลตฟอร์มดนตรีที่เข้าถึงได้ง่ายและหลากหลาย คนไม่จำเป็นต้องเปิดเทปหรือซีดีเพื่อฟังทั้งอัลบัมเหมือนในอดีต ทั้งยังเลือกฟังเพลงต่อเพลงได้ตามใจชอบ ไม่เพียงแค่นั้น เอกยังเสริมว่ารสนิยมการฟังเพลงของคนยังสามารถเปลี่ยนไปตามบริบทแวดล้อม ช่วงวัย และความสนใจใหม่ๆ ตลอดเวลา อย่างเรื่องของกิจกรรมก็เห็นได้ชัดว่า เด็กๆ ในปัจจุบันก็เบนความสนใจไปที่การทัวร์คาเฟ่ การออกแคมป์ และทำคอนเทนต์ผ่านโซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์ม

พังก์ปาตานีจึงเป็นรอยทรงจำร่วมของเจเนอเรชันหนุ่มสาวเมื่อ 10 – 15 ปีที่แล้ว เป็นหลักฐานของความเมามัน ความขบถต่อกรอบสังคมตามครรลองที่ผู้ใหญ่รุ่นก่อนกำหนดไว้ให้ ทำให้วัยรุ่นหลายๆ คนอยากแหกคอกออกมาทดลองใช้ชีวิตในวิถีทางของตน ก่อนจะกลับมาเดินบนเส้นทางของวัยผู้ใหญ่ที่มีเหตุผลของการมีชีวิตอยู่แตกต่างกันออกไป บางคนมีครอบครัว บางคนทำงาน และบางคนกลับสู่ร่มของศาสนาที่หล่อหลอมพวกเขามาตั้งแต่ยังเด็ก 

“เรารู้สึกโชคดีที่สมัยก่อนได้ทำอะไรแบบนั้น ครั้งหนึ่งเคยได้ปลดปล่อยสิ่งที่ตัวเองรู้สึกข้างใน ถ้าเป็นตอนนี้คงไม่มีเพื่อนและแก๊งที่มาร่วมทำอะไรแบบนั้นอีกแล้ว เป็นความทรงจำที่เราได้ทำแค่ครั้งเดียว ทั้งการเล่นดนตรี การออกไปดูคอนเสิร์ต ถือเป็นประวัติศาสตร์ของช่วงชีวิตและสังคมร่วมของพวกเรา ถ้าตอนนี้คนใหม่ๆ มาจัดงานพังก์ขึ้นมา ก็คงไม่เหมือนในอดีตอีกแล้ว” ราชิตกล่าว

Punk Rock Patani

“ถึงเราจะโตแล้ว และกลับไปฟังเพลงพังก์ช่วงที่คิดถึงบ้าง แต่แนวคิดของมันก็มาในรูปแบบการทำงาน และการใช้ชีวิต ความรู้สึกพวกเรายังคงอยู่ ถ้าให้เราหาว่าตัวตนพังก์ที่หล่อเราจนทุกวันนี้คืออะไร ก็คงเป็นความคิดของเราที่แอนตี้วิธีการเก่าๆ ระบบซ้ำซากในชีวิตคนที่มันไม่เวิร์ก เราไม่ยอมรับเอาสิ่งนั้น เพียงแต่ไม่ได้ออกมาในรูปแบบของการต่อต้านโดยตรง แต่เราอยากทำงานต่อยอดและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่แตกต่างจากวิถีทางเดิมๆ มากกว่า

“สมัยก่อนก็เอาความมันลูกเดียว อย่ามาถามเรื่องโครงสร้างดนตรีเลย ขนาดคุมซาวนด์ก็ไม่รู้ เล่นสดก็เน้นให้มันสุดๆ คือใส่ไม่ยั้งเลย ทำให้คนดูคึกคักเป็นพอ 

“กลับมาย้อนนึกถึงตัวเองและเพื่อนๆ ตอนนั้นก็ตลกดี ตอนเป็นวัยรุ่นมึงเล่นอะไรวะ มุทะลุ ไม่รู้เรื่องเลย” ราชิตหัวเราะ 

“ใช่ แค่ปลดปล่อยตัวตนออกมา แต่ Attitude มันต้องได้!” เอกเน้นเสียงปิดท้ายอย่างอารมณ์ดี

จังหวัดปัตตานี ความรุนแรงภาคใต้

Writer

Graphic Designer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.