เสียงสะท้อนจากเหล่าบุคลากรทางการแพทย์ - Urban Creature

จากกระแส #แพทย์ลาออก ที่กลายเป็นประเด็นร้อนของสังคมในตอนนี้ ทำให้บุคลากรทางการแพทย์หลายต่อหลายคน ทั้งคนที่กำลังเรียนอยู่ กำลังอยู่ในช่วงทำงานใช้ทุน หรือกระทั่งทำงานมานานแล้ว ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงประเด็นนี้กันข้ามวันข้ามคืน

เพราะบุคลากรทางการแพทย์ก็เป็นคนทำงานเหมือนๆ กับทุกอาชีพ ที่ต้องการระบบการทำงานที่ดี มีเพื่อนร่วมงานที่ไม่เป็นพิษ Work-life Balance ที่เหมาะสม และคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นกัน

ด้วยวาระนี้เอง Urban Creature จึงติดต่อไปหา 5 บุคลากรทางการแพทย์ เพื่อเป็นพื้นที่ให้พวกเขาส่งเสียงสะท้อนถึงระบบการทำงานที่ไม่เอื้อต่อการมีชีวิตที่ดี ทั้งยังทำให้คนทำงานหมดแรงหมดใจไปเรื่อยๆ

แพทย์ลาออก

อ. อายุ 24 ปี
แพทย์จบใหม่ที่พยายามอยู่ในระบบให้ได้

เราเป็นแพทย์จบใหม่ที่เพิ่งเข้ามาอยู่ในระบบราชการได้ราวๆ 1 เดือน เหตุผลที่ตัดสินใจยังอยู่ในระบบเพราะการเรียนต่อเฉพาะทางในสาขาที่เราสนใจ

เราโชคดีที่จับฉลากได้อยู่จังหวัดใกล้กรุงเทพฯ ซึ่งต้องแก่งแย่งกับเพื่อนๆ จากโควตาภาคกลางอันน้อยนิด บางคนโชคร้ายต้องไปอยู่ไกลบ้านมากๆ บางคนต้องไปอยู่จังหวัดที่พูดชื่อขึ้นมาก็ยังนึกไม่ออกว่าอยู่ตรงไหนในแผนที่ประเทศไทยด้วยซ้ำ

การทำงานในทุกๆ วันมีความเครียดและกดดัน ทั้งคนไข้ปริมาณมหาศาลที่ต้องตรวจให้หมดในเวลาอันจำกัด การต้องอดนอน ทำงานติดต่อกันหลายวัน รวมถึงความเครียดจากสตาฟฟ์เวลาปรึกษาปัญหาของคนไข้ กลายเป็นว่าบางครั้งเราต้องเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ยากๆ คนเดียว ทั้งที่เราเองก็ไม่ได้มีประสบการณ์

การเป็นหมอเคยเป็นสิ่งที่เรารู้สึกชอบและสนุกเวลาทำงาน แต่ด้วยระบบและสิ่งแวดล้อม มันค่อยๆ บั่นทอนแพสชันของเราและเพื่อนไปเรื่อยๆ จนตอนนี้ในหัวคิดไปเป็นวันๆ ว่าเราจะผ่านวันนี้ไปยังไงให้สุขภาพจิตของเรายังดีเหมือนเดิม

แพทย์ลาออก

โอ๊ต อายุ 23 ปี
แพทย์จบใหม่ที่ไม่ขอเรียนต่อเฉพาะทางในไทย

ตอนนี้เราเป็นแพทย์ใช้ทุนอยู่ภาควิชาชีวเคมี ที่คณะแพทย์ ที่แตกต่างจากคนอื่นคือผมไม่ได้ไปเพิ่มพูนทักษะ มาใช้ทุนที่ภาควิชาเลย ไม่ต้องจ่ายเงิน บวกกับได้เงินเดือนด้วย ภาระงานคือจัดการรายวิชาน้องๆ ปี 1 – 2 ที่ภาควิชาดูแล ที่เหลือเป็นงานจิปาถะ ช่วยการเรียนการสอนของคณะแพทย์ทุกชั้นปี ส่วนช่วยอาจารย์ทำวิจัยเป็นทางเลือก

แพลนของเราคือ ใช้ทุน 2 – 3 ปี แล้วไปหาที่เรียน ป.โท และ ป.เอก เรื่อง Genomic Medicine หรือ Bioinformatics ที่ต่างประเทศ อยากทำเรื่องเกี่ยวกับมะเร็งเป็นหลัก เช่น ภูมิคุ้มกันบำบัด การตรวจคัดกรองมะเร็งทางเลือก และการรักษาเฉพาะบุคคลของโรคมะเร็ง โดยน่าจะไปทางสายวิจัยเป็นหลัก อาจจะดูคนไข้บ้าง เพราะการทดลองก็ต้องทดลองกับคนไข้จริง

ส่วนจะเป็นหมอต่อไหม ยังตอบไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ปิดโอกาสการเรียนต่อเฉพาะทางที่ต่างประเทศ แต่ไม่เรียนต่อที่ไทยแน่ๆ (เรียนต่อไม่ได้ด้วย เพราะไม่มีใบเพิ่มพูน) แต่ทุกวันนี้ก็ยังได้ใช้ความรู้หมอนะ ออกไปรับพาร์ตไทม์ตามคลินิกกับโรงพยาบาลต่างๆ บ้าง แต่ส่วนใหญ่จะรักษาพวกโรคทั่วไป

ส่วนเหตุผลที่เราไม่อยากเรียนต่อเฉพาะทางที่ไทย เพราะการจะเรียนต่อเฉพาะทาง ส่วนใหญ่ต้องมีใบเพิ่มพูนทักษะ ซึ่งเท่ากับการออกไปปฏิบัติงานที่โรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไปในปีแรก ส่วนใหญ่ถ้าไม่ได้สมัครแบบกำหนดสาขากับโรงพยาบาลที่รับ ยังไงก็ต้องจับฉลากอยู่ดี ซึ่งมีความเสี่ยงมากๆ ที่เราจะได้ที่ที่ไกลบ้านหรือที่ที่เราไม่อยากไป

ลองมานั่งคิดดูว่า เราเป็นคนกรุงเทพฯ เรียนหมออย่างหนักมาตั้ง 6 ปี ทำไมเราต้องเสี่ยงดวง จับฉลากไปจังหวัดไหนก็ไม่รู้ เพื่อไปทำงานหนัก อดหลับอดนอน ไม่ได้เจอคนที่เรารัก มีโอกาสจะโดนสตาฟฟ์ทำตัวท็อกซิกใส่อีก ไหนจะญาติคนไข้ ไหนจะความเสี่ยงอื่นๆ จากการทำงาน ค่าตอบแทนที่ได้มันไม่คุ้มเลยสักนิด

ถ้าจะให้เห็นภาพชัดๆ คือ มานั่งรับพาร์ตไทม์เอกชน ทำงานแค่ 40 ชั่วโมง/อาทิตย์ เฉลี่ยได้ชั่วโมงละ 500 แค่ไม่ถึงครึ่งปีก็มีเงินไปใช้ทุน 4 แสนแล้ว เทียบกับทำงานมากกว่า 80 ชั่วโมงต่ออาทิตย์ ได้เงิน 5 – 7 หมื่นบาท ชีวิตมันต่างกันมาก ยิ่งเราเป็นคนให้คุณค่าเรื่องการอยู่บ้าน อยากมีเวลาเป็นของตัวเอง และรักความสบาย เลยคิดว่าไม่น่าไปรอด ไปก็น่าจะลาออกอยู่ดี พอมีหนทางที่ไม่ต้องจ่ายเงินและไม่ต้องไปอินเทิร์นแบบนี้ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเท่าที่จะคิดได้

อีกอย่าง ถึงเรียนต่อเฉพาะทางเราก็ต้องเสียเวลาอยู่แต่ในโรงเรียนแพทย์ไปอีก 3 – 4 ปี ส่วนใหญ่คือต้องเอาทุนมา เรียนจบก็ต้องกลับไปทำงานต่างจังหวัด ลาออกมาก็ไม่รู้จะหาเอกชนดีๆ ลงได้ไหม เท่าที่ทราบ พี่ๆ ที่เรียนจบมาก็มีปัญหากันหลายสาขา ระบบมันแย่เกินกว่าจะบรรยายได้ ตราบใดที่ผู้มีอำนาจยังไม่รู้สึกว่านี่เป็นปัญหา ระบบสาธารณสุขไทยมันไม่สามารถไปไหนได้เลย

ส่วนเรียนจบจะทำอะไรต่อ คิดว่าก็คงหาโอกาสทำงานที่ต่างประเทศต่อ กลับไทยมาก็คงต้องเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ซึ่งรายได้ค่อนข้างน้อยถ้าเทียบกับไปทำงานที่ต่างประเทศอย่างต่ำๆ ก็ 4 เท่าตัว จะกลับมาเปิดสตาร์ทอัป ประเทศของเราตอนนี้ก็ยังไม่ได้มี Ecosystem ที่พร้อมขนาดนั้น แต่กว่าเราจะเรียนจบ ตอนนั้นอะไรหลายๆ อย่างคงเปลี่ยนไป ถ้าดูตามเทรนด์แล้ว เราอาจจะกลับมาที่นี่มากกว่าอยู่ต่างประเทศก็ได้

แพทย์ลาออก

แนน อายุ 30 ปี
แพทย์ที่อยากให้รุ่นน้องมีเวลาทำงานที่เหมาะสม

เราเป็นหมอเฉพาะทางที่ยังอยู่ในระบบ เพราะมองว่ามีสวัสดิการที่ดี พ่อแม่เราได้สิทธิข้าราชการด้วย และการที่อยู่โรงพยาบาลใหญ่มันทำให้เราดูแลพ่อแม่ได้ แม้ว่าค่าตอบแทนจะไม่ได้มากมาย

ปัจจุบันเราทำงานที่โรงพยาบาลเดิมที่อินเทิร์น ซึ่งตอนนั้นก็หนักมาก ทรมานร่าง แต่ระบบมันก็ปรับปรุงมาเรื่อยๆ แหละ อย่างรุ่นน้องๆ ก็ดีกว่ารุ่นเรา ยกตัวอย่าง ตอนรุ่นเราอยู่เวรดึกตั้งแต่เที่ยงคืนถึงเช้า และต้องทำงานต่อจนครบวัน ไม่มีเวลาพัก แต่พอมีการเรียกร้องประท้วง ปีต่อมาก็เลยให้อยู่เวรดึกกันสองคน เพื่อที่น้องจะได้แบ่งกันพัก รวมถึงปรับค่าเวรให้มากขึ้น แต่ปรับยังไงก็ยังมีการบังคับขายเวรสตาฟฟ์ให้น้องๆ อยู่ดี ซึ่งจริงๆ น้องๆ อาจไม่ได้อยากอยู่เวรก็ได้ เพราะมันหนัก

อีกอย่างคือด้วยความที่เป็นแพทย์เฉพาะทางแล้ว เราไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับใครมาก คนทำงานก็ให้เกียรติกัน มันจะไม่เหมือนแพทย์ที่ไปอยู่ รพช. (โรงพยาบาลชุมชน) ที่ต้องคอนซัลต์เพื่อขอรีเฟอร์มายังโรงพยาบาลใหญ่ พอเราไม่ต้องติดต่อกับใครเลยไม่ค่อยโดนอะไรเท่าไหร่ แต่คนที่ไปอยู่ รพช.ต้องทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ดูเคสที่บางทีก็ไม่ได้มีความถนัด เขาเลยต้องหนีมาเรียนเฉพาะทางเพื่อให้ไม่ต้องดูทุกอย่าง ไม่ต้องรับความเสี่ยงจากการดูทุกเคส

แต่ทั้งหมดทั้งมวลที่ประสบมาคือเราสงสารอินเทิร์นนะ ถ้าถามว่าอยากให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรในระบบ คือต้องดูแลอินเทิร์นก่อน ด้วยการไม่ให้ชั่วโมงน้องเยอะเกินไป มีวันให้เขาได้พักบ้าง ไม่งั้นคนจะอยู่ไม่ไหว อย่างรุ่นเราก็มีคนที่ทนไม่ได้แล้วลาออกไปคนหนึ่ง โดยทุกคนที่เหลือก็ทนกันจนผ่านมาได้ แต่มันไม่ควรเป็นเรื่องที่เราต้องทนไง รวมถึงหมอเฉพาะทางเองก็ควรจะยอมอยู่เวรหรือทำงานของตัวเอง ไม่ใช้หรือพึ่งพาน้องอย่างเดียว

ถ้าเป็นตอนนี้ เราอยากให้กำหนดเลยว่าวันไหนที่เวรดึก วันต่อมาต้องให้น้องพัก เพราะเราเคยผ่านประสบการณ์นี้มา แล้ววันต่อมามันเบลอมาก ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความผิดพลาดต่อคนไข้ก็ได้

แพทย์ลาออก

นะดา อายุ 26 ปี
พยาบาลที่อยากเห็นระบบสาธารณสุขไทยดีขึ้น

ตอนที่เลือกเรียนพยาบาล เราทำใจมาแล้วว่าจะเจออะไรบ้าง เช่น ค่าตอบแทนน้อยถ้าเทียบในสายงานบุคลากรสาธารณสุข งานหนัก ความก้าวหน้าทางอาชีพดูไม่ค่อยเยอะมาก แต่พอมาเรียนก็ไม่คิดว่าพยาบาลจะต้องเรียนเยอะขนาดนี้ เพราะคิดว่างานเราไม่น่ามีอะไรมาก น่าจะเป็นงานรูทีน สรุปพอมาทำงานจริงๆ พยาบาลทำอะไรเยอะมาก และพอเรียนจบ 5 ปีแล้วก็ต้องเรียนเฉพาะทางอยู่ตลอดเวลา มันเลยเหมือนเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย

เรารู้สึกว่าด้วยบทบาทอาชีพ เราก็มีความต้องทำงานหนักประมาณหนึ่งอยู่แล้ว แต่พอมาทำจริงๆ เรามองว่าพยาบาลทำงานเยอะเกินไป ต่อให้ค่าตอบแทนสูง แต่ถ้าเทียบกับภาระงานที่ทำมันไม่สอดคล้องกัน และบางเรื่องเราไม่เคยเรียนในระดับอุดมศึกษามาก่อน เช่น ทำไมพยาบาลต้องมาเคลมประกัน จัดการเอกสาร คิดการเงินคนไข้ รวมถึงบางเรื่องที่ไม่น่าอยู่ในกรอบวิชาชีพพยาบาล น่าจะอยู่ในกรอบวิชาชีพอื่นมากกว่า แต่ทำไมเราต้องมาทำให้

อย่างที่ต่างประเทศ พยาบาลไม่ต้องเจาะเลือด เพราะมีเทคนิเชียนมาเจาะให้ หรือการเปิดเส้น ให้ยา ก็จะมีคนในสาขาวิชาชีพนั้นๆ มาทำให้โดยเฉพาะ แต่บทบาทพยาบาลในประเทศไทยคือทำทุกอย่าง หรือพูดได้ว่าเป็นคนแบกระบบของโรงพยาบาลเอาไว้เลย เหมือนคิดอะไรไม่ออกให้บอกพยาบาล แทนที่เราเข้ามาทำงานจะได้ดูแลคนไข้ ต้องมาเรียนรู้ระบบโรงพยาบาล แผนกนั้นกับแผนกนี้ไม่เหมือนกัน ต้องจำว่าวันนี้วันคู่หรือวันคี่ เพื่อที่จะได้ปรึกษาแผนกถูก หรือต้องไปตรวจตึกไหน กับใคร ซึ่งข้อมูลมันมากเกินไป

ยกตัวอย่าง เราทำงานโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่ ซึ่งแปลว่าเราจะไม่สามารถรีเฟอร์ไปที่อื่นได้ เพราะเราคือโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงสุดของประเทศแล้ว เพราะฉะนั้นเคสหนักมากที่สุดของโรงพยาบาลเล็กๆ หรือระดับกลางที่เขารักษาไม่ได้ก็จะส่งมาที่เรา แต่มันกลายเป็นว่าคนไข้ที่ไม่ได้อาการหนัก มีอาการเจ็บป่วยทั่วไป หรือถือสิทธิ์ประกันสุขภาพที่อื่น แต่ไม่อยากไปที่นั่นหรือกระทั่งมีความเชื่อมั่นในโรงพยาบาลนี้ ทุกคนก็ตัดสินใจว่าอยากมาหาหมอที่นี่ ซึ่งมันก็เข้าใจได้ แต่ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลรัฐก็รับภาระหนักเกินไป เพราะคนทะลักมาที่โรงพยาบาลใดโรงพยาบาลหนึ่ง เกิดเป็นปัญหาคนไข้ที่เยอะเกินอัตรากำลังของเจ้าหน้าที่ที่รับไหว ทำให้คนไข้ต้องรอนานและเกิดการตกหล่น

พอเกิดปัญหาแบบนี้ บุคลากรก็ต้องทำงานหนักขึ้นและคอยระแวดระวังว่าจะเกิดข้อผิดพลาดตรงไหนไหม ซึ่งการทำงานในความกดดันที่สูงแบบนี้บ่อยๆ ทั้งยังต้องรองรับอารมณ์คนทำงานและคนไข้ด้วย จึงทำให้คนในระบบส่วนใหญ่ท้อ

พอส่งฟีดแบ็กไปหาผู้บริหาร เขาก็แก้อะไรให้ไม่ได้ คือเขาพยายามทำในส่วนที่ทำได้แล้วแหละ แต่มันเป็นเรื่องของโครงสร้าง เช่น ต้องการจะเปิดตึกเพิ่มเพื่อรองรับคนไข้ โรงพยาบาลก็ต้องหาบุคลากรไปเสริมตรงนั้นให้ได้ แต่เราไม่มีบุคลากรเลยไม่สามารถเปิดห้องได้ เป็นต้น ซึ่งรุ่นพี่หรือเพื่อนเราหลายคนก็ลาออกเพราะงานที่หนักเกินไปจนทำไม่ไหว

เพราะสุดท้ายแล้วคนทำงานมันแค่อยากได้เวลาของตัวเอง ชีวิตเราไม่ได้มีบทบาทแค่อาชีพ เราไม่ได้เป็นพยาบาลอย่างเดียว ต้องไปทำอะไรอย่างอื่นด้วย

แพทย์ลาออก

สิริน อายุ 34 ปี
ทันตแพทย์ที่ทนระบบรัฐไม่ไหว จนต้องลาออกไปตายเอาดาบหน้า

ขอเปิดโหมดเครื่องด่าแบบรวมมิตรจากหลายหมอของรุ่นสิรินนะคะ

1) จับฉลากเสี่ยงดวงโรงพยาบาล มีคนไฟแรงมากอยากใช้ทุน ถูกส่งไปอยู่กิ่งอำเภอชายแดนที่เพิ่งอัปเวลมาเป็นอำเภอ แต่สภาพบ้านพักอยู่ในป่าใกล้ชายแดน ประตูล็อกไม่ได้ เปลี่ยว ต้องลาออกเลย กลัวโดนข่มขืนตายก่อน

2) กฎระเบียบหยุมหยิม ตั้งแต่เริ่มคือการอบรมข้าราชการใหม่ บางเขตให้ไปฝึกกับทหาร เหมือน รด. ด่านแรกก็ต้องเจอคนแก่วางอำนาจ เพราะเจอทหารที่โดนนายกดขี่มาตลอด ได้มาออกคำสั่งหมอเลยวางก้ามสุดๆ เอาลงไปลุยดินลุยโคลนเหมือนเขาชนไก่ 

3) คนเก่าที่อยู่มาก่อนโซตัสโซใจ อะไรที่คิดว่ามีแต่ในละครพี่ฉอด ที่จริงมีอยู่ในองค์กรรัฐ ต้องคอยระวังพวกฟ้องนายขายเพื่อน คนพวกนี้จะเป็นแนวคนสนิทนาย แล้วเอาเรื่องไปเล่าแบบใส่สีตีไข่เวลาไม่ชอบใคร ถ้าอยากให้ชอบต้องส่งส่วย เอาขนมไปให้เอาใจ ส่วนใหญ่เป็นทันตาภิบาลแก่ๆ ผู้ช่วยที่ทรงอิทธิพลเพราะอยู่มานาน

ส่วนเจ้าหน้าที่แผนกอื่นๆ เราจะฟีดแบ็กอะไรไปตรงๆ หรือชี้ปัญหาไม่ได้ เพราะเขาจะบอกว่าเราเป็นตัวปัญหาแทน แล้วเอาไปฟ้องนาย สุดท้ายเรากลายเป็นเด็กก้าวร้าว พูดจาไม่ดี อยู่ดีๆ ฉันก็เป็นเด่นจันทร์ ชลธี เพราะเขามาทำสำรวจเรื่องเออร์โกโนมิกส์ (Ergonomics) ในแผนกทันตกรรม แล้วเราตอบไปว่า ไม่ถูกเออร์โกโนมิกส์ค่ะ ทั้งที่ความจริงคือเขาต้องการรายการที่ไม่มีปัญหา ถ้ามันมี นั่นคือคุณเป็นตัวปัญหา

4) หมอรุ่นพี่และอาจารย์หมออารมณ์ร้าย เอาเปรียบ กินแรง การทำงานจะมีกฎที่กำหนดขึ้นแล้วแต่ใจของนาย แต่จะเข้มงวดยังไงก็มีข้อยกเว้นให้พวกตัวเองและพี่ๆ ยกตัวอย่าง ห้ามมาสาย = คุณห้ามมาสาย ส่วนพี่ๆ จะสายก็เรื่องของเขา 

นอกจากนี้ อาจารย์ยังไม่ค่อยเต็มใจรับเคส (รวมถึงหมอสาขาอื่น เวลามีเคสก็ชอบเหยียดด้วย ปรึกษาไปแล้วด่าก็มี) แถมยังสองมาตรฐาน ถ้าไม่สวยไม่ช่วย ถ้าเป็นคนสวยยอมให้ Catcall หยอกไก่จะชอบ ยังไม่นับเรื่องปาข้าวของ ด่าหยาบ ทำร้ายร่างกายผู้ช่วย โยนงานตัวเองให้เด็ก พอเด็กประท้วงก็แก๊สไลต์ว่าไม่มีใจทำงาน เห็นแก่ตัว

5) เพื่อนเราเผาเรือนและรุ่นน้องนิสัยไม่ดี เนื่องจากระบบงานรัฐเหมาจ่าย ทำมากได้น้อย ทำน้อยได้เท่ากัน เลยมีพวกชอบกินแรง แกล้งทำช้าๆ ถ้าเห็นทรงว่าคิวต่อไปจะเป็นคนไข้วอร์ด ต้องมาเคลียร์รัวๆ ก่อนผ่าตัด หรือบางทีก็ทำเป็นคุยกับคนไข้นานๆ เป็นหมอที่คนไข้จะชมว่าให้เวลากับเขา แต่จริงๆ คือแทคติกโบ้ยงานให้เพื่อน

6) บังคับทำโอทีของโรงพยาบาล ซึ่งได้เงินน้อยกว่าเอกชน แต่ต้องทำ ไม่งั้นหมอก็คงไม่ลงเนอะ เสียเวลา เสียแรงงาน ยังไม่นับรวมพวกงานนอกสถานที่ โครงการของโรงพยาบาล ต้องเอารถไปเองอีก งานจุกจิกไร้สาระ

รวมๆ คือส่วนมากคนไม่ได้อยากอยู่ในระบบ ยกเว้นเอาสวัสดิการเบิกตรงให้พ่อแม่ สามีภรรยา หรือเพื่ออนาคตเรียนต่อ ส่วนตัวอยากอยู่ใช้ทุนครบสามปีแล้วออก ส่วนคนอื่นต้องอยู่ในระบบเพราะต้องการเรียนต่อในสาขาฮิต พวกนี้ต้องใช้อาจารย์แนะนำหรือโรงพยาบาลต้นสังกัดส่งเรียน เลยต้องทนๆ ทำไป เพียงแต่ยุคสมัยใหม่เด็กมันไม่สนแล้ว ไม่ประนีประนอมแบบคนเจนฯ วายใจมด ไม่เรียนแล้วค่ะ จะเทรนนอกระบบ เน้นรับเงิน ไม่ยี่หระต่อมายาคติศีลธรรมปลอมๆ ที่เราต้องเห็นประโยชน์คนอื่นก่อน แต่คนอื่นเห็นแก่ตัวใส่เรา

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.