ประกายแก้ว แบรนด์กระจกสีที่ซ่อมกระจกวัดถึงทำป้าย - Urban Creature

ในยุคที่เราตั้งคำถามกับการเปลี่ยนความชอบให้เป็นงาน อาจเป็นความโชคดีที่บางคนเจอสิ่งที่ชอบแล้วทำมันเป็นงานได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องจำเป็นเสมอไป กับบางคนที่ไม่ได้รักงานที่ทำมาก แต่งานนั้นมอบคุณภาพชีวิตดีๆ มีเวลาว่างให้ผ่อนคลาย นั่นอาจเป็นนิยามของชีวิตที่น่าพอใจแล้ว

ถึงอย่างนั้น เราก็ยังรู้สึกสนุกทุกครั้งเวลาได้เจอคนที่ทำงานในสิ่งที่รัก เหมือนกับวันนี้ที่เรามาเจอ ‘พวงแก้ว นันทนาพรชัย’ เจ้าของร้านและผู้ก่อตั้งร้าน ประกายแก้ว แบรนด์รับทำ-ซ่อมกระจกสีที่เพิ่งเป่าเทียนฉลองวันเปิด 29 ปีไปหมาดๆ โดยมี ‘ฌัลลกัณฐ์ นพวงศ์ ณ อยุธยา’ คอยหนุนหลังในฐานะทายาทผู้มารับช่วงต่อ

ประกายแก้ว แบรนด์กระจกสี พวงแก้ว นันทนาพรชัย

ในยุคที่เราตั้งคำถามกับการเปลี่ยนความชอบให้เป็นงาน ความหลงใหลในอะไรบางอย่างจะอยู่กับเราได้นานแค่ไหน ป้าพวงแก้วและฌัลลกัณฐ์คือตัวอย่างของคนที่อยู่กับกระจกสีมาได้อย่างยาวนาน, อย่างน้อยๆ ก็ 29 ปี 

แต่อยู่มานานก็ไม่ได้แปลว่าต้องทำแบบเดิมเสมอไป เพราะธุรกิจของพวกเธอดำเนินอยู่ในโลกซึ่งเปลี่ยนแปลงทุกวัน ในคำว่ายาวนานของร้านประกายแก้วนั้น มีการปรับตัวและพัฒนาบริการครั้งแล้วครั้งเล่า จากที่เคยรับทำกระจกสีซึ่งเราเห็นในบ้านและโบสถ์ ทุกวันนี้ประกายแก้วทำงานกระจกสีในรูปแบบใหม่เพื่อตอบรับกับกลุ่มลูกค้าอันหลากหลาย ตั้งแต่นักสะสมไปจนถึงแฟนคลับศิลปินเกาหลี 

ลัดเลาะเข้าไปในหมู่บ้านมหาวงษ์ 3 ในบ้านหลังไม่เล็กไม่ใหญ่ริมคลองพระโขนงอันเป็นที่ตั้งของร้านประกายแก้ว ป้าพวงแก้วและฌัลลกัณฐ์เล่าเบื้องหลังให้เราฟังท่ามกลางเสียงเจียกระจกในโรงงาน

ประกายแก้ว แบรนด์กระจกสี พวงแก้ว นันทนาพรชัย
ภาพจาก : Nipon Sutthiwilai

Puangkaew’s Glass Glitter Studio

ถ้าจะบอกว่าความสัมพันธ์ระหว่างกระจกสีกับป้าพวงแก้วเป็น ‘รักแรกพบ’ ก็คงไม่ผิดนัก

ป้าพวงแก้วเรียนจบโรงเรียนคาทอลิก หลงใหลในกระจกสีหรือ Stained Glass ถึงขนาดไปเรียนกับช่างทำกระจกสีอยู่ 2 ปี แต่จุดที่ทำให้สปาร์กจอยจนอยากเปิดร้านของตัวเองจริงๆ คือตอนไปเที่ยววัดนิเวศธรรมประวัติฯ 

ที่นั่นมีกระจกสีขนาดใหญ่ตั้งอยู่ในวัด ป้าพวงแก้วประทับใจกับภาพที่เห็นมากจนใฝ่ฝันว่าอยากลองทำงานกระจกสีใหญ่ๆ แบบนั้นสักวัน

ร้านกระจกสี ประกายแก้ว
ภาพจาก : Nipon Sutthiwilai

เสมือนเป็นบุพเพสันนิวาส ป้าพวงแก้วได้โอกาสทำงานกระจกสีให้กับสถาปนิกท่านหนึ่งพอดี แต่เส้นทางการเป็นช่างกระจกสีมืออาชีพก็ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ความโหดหินของงานนั้นทำให้เธอถูกกระจกบาดนิ้วมือแทบทุกนิ้วจนเกือบถอดใจ

“แต่พอตอนไปติดตั้งให้ ลูกค้าทุกคนยิ้มหมดเลย” เหตุผลที่ทำให้อยากทำงานต่อเรียบง่ายอย่างนั้น “ป้าเลยคิดว่างานนี้ดีนะ มันทำให้คนมีความสุข ตอนนั้นแหละที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ทำร้านประกายแก้ว”

อย่างที่หลายคนเดาออก ชื่อร้านประกายแก้วพ้องกับชื่อจริงของคุณป้า ขณะเดียวกันมันก็เชื่อมโยงกับคำว่า Glass Glitter ซึ่งหมายถึงประกายของกระจกแก้วและเจียปลี (รูปแบบหนึ่งของการเจียขอบกระจกให้สวยงาม) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในบริการที่โดดเด่นของทางร้าน

ร้านกระจกสี ประกายแก้ว ฌัลลกัณฐ์ นพวงศ์ ณ อยุธยา

รู้ตัวอีกที ร้านกระจกสีประกายแก้วก็เปิดมาได้ 29 ปี มีอายุพอๆ กับฌัลลกัณฐ์ผู้ลืมตาดูโลกในช่วงปีแรกของร้าน เด็กสาวเติบโตขึ้นมาท่ามกลางประกายวิบวับแวววาวของกระจกสี คอยช่วยงานแม่พวงแก้วในบางโอกาส ช่วงเวลาว่าง ฌัลลกัณฐ์เล่นสนุกกับการออกแบบกระจกสีแนวแอบสแตร็ก และสามารถขายดีไซน์กระจกสีชิ้นแรกของตัวเองได้ตั้งแต่อายุ 14 ปี

แม้ผู้เป็นแม่จะไม่ได้บังคับ แต่เหมือนฌัลลกัณฐ์รู้ตัวว่าวันหนึ่งจะได้มารับช่วงต่อ หลังจากเรียนจบปริญญาตรีด้านแฟชั่นดีไซน์และประกาศนียบัตรด้าน Interior & Product Design เธอจึงเข้ามาทำงานที่ร้านเต็มตัวในปี 2558

“เราสนใจเรื่องการผลิตสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อโลก นั่นคืออีกหนึ่งเหตุผลที่เรามารับช่วงต่อที่ร้าน เพราะถึงแม้ว่ากระจกสีอยู่ในสินค้าประเภทของฟุ่มเฟือยและไม่ใช่ของรักษ์โลกอะไรขนาดนั้น แต่อายุการใช้งานจริงๆ ของมันสามารถอยู่ได้เป็นพันๆ ปี” ทายาทรุ่นที่สองเอ่ยกับเรา

ร้านกระจกสี ประกายแก้ว

คุณค่าที่มากกว่าการซ่อมบำรุง

งานของร้านประกายแก้วแบ่งเป็น 3 ส่วน หนึ่ง-ออกแบบและผลิตใหม่ สอง-ซ่อมกระจกสีของลูกค้าและร้านกระจกสีเจ้าอื่นๆ สาม-ซ่อมบำรุงเชิงอนุรักษ์ให้กับกระจกเก่าแก่ เช่น การซ่อมกระจกอายุร้อยกว่าปีในวัดคริสต์ ซึ่งเจ้าของร้านออกปากว่าข้อสุดท้ายนี่แหละเป็นงานละเอียดที่สุด แต่ก็มีคุณค่าต่อจิตใจมากที่สุดเช่นกัน

“งานบางชิ้นมีอายุร้อยกว่าปี ถ้าเราไม่อนุรักษ์ไว้ ไม่ซ่อมบำรุง เขาก็มีแต่จะผุพังไปตามกาลเวลา เป็นเรื่องน่าเสียดาย” ป้าพวงแก้วเล่าแนวคิดอันเป็นที่มาของการตั้งราคาซ่อมบำรุงที่ไม่ได้สูงมากนัก นั่นเพราะพวกเธออยากเพิ่มโอกาสในการทำงานอนุรักษ์ ดูแลกระจกโบราณซึ่งพวงแก้วเปรียบเสมือนครูของตนได้มากขึ้น

ร้านกระจกสี ประกายแก้ว

นอกจากความสวยงาม สิ่งที่ร้านประกายแก้วให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือโครงสร้างที่แข็งแรง

“กระจกสีเป็นหนึ่งในห้าของหัตถกรรมชั้นสูงของยุโรป เป็นศิลปะที่มีอายุยืนยาวกว่าพันปี เพราะฉะนั้นเรื่องความแข็งแรงทนทานจึงเป็นสิ่งที่ถูกสืบทอดต่อกันมา” ป้าพวงแก้วเท้าความ ก่อนฌัลลกัณฐ์จะเสริมต่อ 

“จริงๆ คนสมัยก่อนฉลาดมากเลยนะ เขารู้จักวิธีเลือกใช้วัสดุ รู้จักการทำงานกับกระจกสี ทั้งที่มีเครื่องมือและนวัตกรรมน้อยกว่ายุคนี้ เพราะฉะนั้นวัสดุที่เขาเลือกทั้งหมดมันจึงดีอยู่แล้วตั้งแต่แรก อย่างการใช้ตะกั่วซึ่งเป็นโลหะที่ไม่ค่อยเกิดสนิมเมื่อเทียบกับเหล็ก หรือกระจกสีเองก็เป็นวัสดุที่ค่อนข้างแข็งแรง ทำมาจากแค่ไฟกับทราย 

“เราใช้วัสดุที่คนโบราณเขาเลือกใช้อยู่แล้ว แต่ทำให้แข็งแรงขึ้นด้วยการเสริม Brace Bar เหล็กชุบซิงก์นำเข้ามาจากแคนาดาที่ช่วยให้โครงสร้างของกระจกแข็งแรงกว่าเดิม” ฌัลลกัณฐ์เล่าเคล็ดลับ

ร้านกระจกสี ประกายแก้ว

จวบจนวันนี้ ประกายแก้วรับซ่อมบูรณะกระจกสีให้วัดและโบสถ์ในไทยมาแล้ว 11 แห่ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือวัดกาลหว่าร์ หนึ่งในวัดเก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ รวมถึงอาสนวิหารที่จันทบุรีซึ่งเป็นอาสนวิหารที่มีกระจกสีมากเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ 

จากงานทั้งหมดที่ผ่านมา ฌัลลกัณฐ์เปิดเผยว่า ความยากของการซ่อมเชิงอนุรักษ์นั้นคือการทำให้เหมือนแบบเดิมที่สุด

“มันยากตรงที่ต้องเทียบวัสดุให้เหมือนแบบเก่า หรือบางทีเราต้องเพนต์กระจกใหม่ ก็ต้องเพนต์ให้ใกล้เคียงกับแบบเก่าที่สุด มีงานหนึ่งเข้ามาหาเราแบบที่มีแต่โครง กระจกเดิมแตกละเอียดเลย โชคดีที่เขามีดีไซน์เดิมเก็บไว้ เราจึงสามารถทำให้เหมือนเดิมได้” ผู้รับช่วงต่อเล่า

กระจกสีบันทึกประวัติศาสตร์

ที่เล่ามาทั้งหมดไม่ได้แปลว่าประกายแก้วโฟกัสกับการซ่อมบำรุงของเก่าเท่านั้น เพราะความจริงแล้ว ตลอดเวลา 29 ปีที่ผ่านมา สินค้าและบริการของร้านมีการปรับตัว เปลี่ยนแปลงเพื่อตอบโจทย์ตลาดอยู่หลายครั้ง

ย้อนกลับไปหลายปีก่อน ประกายแก้วเคยทำกระจกสีในสเกลอุตสาหกรรม นั่นคือเน้นผลิตเยอะๆ ใช้ลวดลายซ้ำๆ และส่งไปขายตามร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้าง ก่อนปรับมาเป็นกระจกสีแฮนด์เมดแบบดั้งเดิมซึ่งทำมาจนถึงทุกวันนี้ ด้วยเหตุผลว่ามันคงทน แข็งแรงกว่า 

ที่น่าสนใจคือ สินค้าที่รับทำในวันนี้ไม่ได้มีแต่กระจกสีที่ถูกติดตั้งในบ้านหรือวัดเท่านั้น แต่รวมไปถึงของชิ้นเล็กๆ อย่างโคมไฟ สกายไลต์ กระจกเงา ของแต่งถาด เทอร์ราเรียม โมไบล์ห้อยหน้าต่าง ไปจนถึงป้ายชื่อขนาดเท่าฝ่ามือ ซึ่งแปรผันไปตามลูกค้าของร้านที่มีหลากหลาย

ไล่ตั้งแต่ลูกค้าเก่าจากโบสถ์และวัดไทย นักสะสม Stained Glass ผู้เก็บกระจกสีไว้ชื่นชมในบ้าน เพื่อนเจ้าสาวที่สั่งทำป้ายกระจกสีเพื่อเป็นของขวัญแต่งงานให้เพื่อน ไปจนถึงแฟนคลับดาราเกาหลีที่สั่งทำป้ายชื่อเล็กๆ เพื่อส่งให้ศิลปินในดวงใจ

“เราไม่เคยถามลูกค้าโดยตรง แต่เดาว่าคนยุคมิลเลนเนียลถึง Gen Z น่าจะไม่ค่อยได้เห็นกระจกสีบ่อยๆ ถ้าไม่ได้เข้าโบสถ์ เขาจะไม่ค่อยเห็น Material ประเภทนี้อยู่ในชีวิตประจำวันเลยมองว่ามันแปลกใหม่ เป็นของที่น่ารัก น่าสนใจ น่าส่งให้คนที่เขาชอบ” 

ฌัลลกัณฐ์เล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น ก่อนเปิดตัวอย่างงานอื่นๆ ให้เราดู ชิ้นแรกคืองานป้ายกระจกสีรูป Pudgy Penguin น้องเพนกวินสุดน่ารักจากโลก NFT ที่ลูกค้าสั่งทำเป็นของขวัญให้เพื่อน อีกรูปคือกระจกสีรูปดอกกุหลาบในการ์ตูน Beauty and the Beast ซึ่งคนสั่งทำเป็นแฟนดิสนีย์ตัวยง หรือแม้แต่ลูกค้าสายเกม ก็เลยมาออเดอร์ให้ร้านทำกระจกสีบานใหญ่เป็นรูปตัวละครจาก Diablo 3

ไม่ว่าจะเป็นศิลปะแบบไหน ประกายแก้วสามารถแปลงร่างให้มันมาอยู่บนกระจกสีได้หมด

“การทำดีไซน์ให้คนรุ่นใหม่สำคัญกับร้านประกายแก้วนะ เพราะกระจกสีไม่ได้มีเพียงฟังก์ชันเป็นโครงสร้าง เป็นหน้าต่าง เป็นประตูเท่านั้น ในเวลาเดียวกันมันมีฟังก์ชันของการเป็น Aesthetic (ความสุนทรีย์) ตามยุคสมัย เพราะฉะนั้นอะไรก็ตามที่เป็นดีไซน์ตามยุคตามสมัย อย่าง Art Deco, Art Nouveau, Industrial Art, Modern Art ดีไซน์ที่เป็นของยุคนั้นก็เอามาทำให้เป็นกระจกสีได้ ทำให้กระจกสีเหมือนเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ของยุคนั้นไปโดยปริยาย ซึ่งนอกจากสไตล์ที่บ่งบอกยุคสมัยแล้ว เนื้อกระจกและลวดลายก็บอกได้ว่ากระจกชิ้นนั้นมาจากยุคไหน เป็นรุ่นของโรงงานไหน

“เพราะฉะนั้นการดีไซน์กระจกสีให้คนรุ่นใหม่ ถ้าหากเราคิดว่ามันจะอยู่ไปอีกพันปีเหมือนกับกระจกสีเก่าแก่ที่เคยมีมา สิ่งนี้ก็เหมือนกับการบันทึกเรื่องราวของเราตอนนี้ไว้ในอนาคตเหมือนกัน” หญิงสาวยิ้ม

ศิลปะไม่มีวันตาย

ในฐานะคนที่ทำงานกระจกสีมากว่า 30 ปี ป้าพวงแก้วบอกว่าสิ่งที่วัสดุแวววาวชนิดนี้สอนเธอคือ คุณค่าของมันช่างใหญ่กว่าขนาดของบานกระจกหลายเท่า-และแน่นอนว่าใหญ่กว่าตัวคนทำเช่นกัน

“เรามองว่าสิ่งที่ทำคือศิลปะ และศิลปะมีคุณค่าต่อเมืองที่เราอยู่ ในแง่ที่ว่ามันเป็นจุดที่ทำให้ผู้คนได้เรียนรู้กัน บางทีเรานึกว่าคนมีความแตกต่าง แต่จริงๆ ศิลปะมันหลอมรวม” ป้าพวงแก้วบอก “ศิลปะไม่ได้แบ่งแยกคน กลับเป็นการหลอมรวมคนด้วยซ้ำ เพราะเวลาที่เราไปดูกระจกสี เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามันสวยงามอลังการมาก 

“นอกจากนี้ นามธรรมหลายอย่างก็เกิดขึ้นตอนที่เราไปชมงานศิลปะ เช่น คำว่าศรัทธาอันยิ่งใหญ่ กระจกสีในโบสถ์แสดงให้เราเห็นว่ามันเป็นแบบนี้ มันถูกแสดงออกมาผ่านกระจกสีแบบนี้ ป้าคิดว่ามันทำให้เมืองของเราน่าอยู่ เพราะเราเปิดใจที่จะเรียนรู้ ยอมรับความแตกต่าง”

นอกจากงานแล้ว กระจกสีมีความหมายในแง่อื่นต่อชีวิตของพวกคุณบ้างไหม-เราถาม

ป้าพวงแก้วยิ้มให้ แล้วบอกว่ามันคือความสนุก

“เพราะสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา ป้าไม่ทำอย่างอื่นเลยนอกจากทำกระจกสีและคิดถึงกระจกสีแทบจะตลอดเวลา” ป้าบอก ก่อนฌัลลกัณฐ์จะบอกเหตุผลของตัวเองต่อ

“ของเรามันคืองานศิลปะ เราชอบงานศิลปะอยู่แล้ว ถึงจะไม่ค่อยมีเวลาทำงานของตัวเองก็ตาม (หัวเราะ) แต่เราก็สนุกกับการลุ้นว่าไอเดียที่เราคิดไว้ในหัวให้ออกมาเป็นชิ้นงานกระจกสีได้หรือเปล่า

“แต่ถ้าถามว่าเสน่ห์ที่ทำให้เราอยากทำทุกวันคืออะไร สำหรับเราน่าจะเป็นความท้าทาย เพราะถึงทำมานาน เราก็ยังอยากเรียนมันต่อ ในแง่ของเทคนิคที่จะสามารถใส่ไปในชิ้นงาน ความซับซ้อนที่จะเพิ่มเข้าไปได้ เรายังไม่ได้เก่งที่สุด เราอยากจะดีกว่านี้” เธอยอมรับตามตรง

“สำหรับเรา การทำกระจกสีมันสนุกตรงที่เราไม่ได้มองว่าสไตล์ของศิลปะยุคก่อนเป็นสิ่งที่แตะไม่ได้ขนาดนั้น อย่างงานยุควิกตอเรียนทุกวันนี้ที่เราทำก็ไม่ใช่แบบดั้งเดิม เพราะเราไม่ใช่คนยุคนั้นแล้ว เราทำได้แค่เลียนแบบและทำวิกตอเรียนสไตล์ของเราและเข้ากับสิ่งที่ลูกค้าต้องการ

“เพราะเราเชื่อว่าไม่ว่ายังไง อะไรก็ตามที่ไม่ปรับตัว มันจะตาย”

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.