ธีสิส ‘NIMBY_TH : เปิดบ้านในฝันฉันอยู่ใต้น้ำ’ จะเป็นอย่างไรถ้า ‘กรุงเทพฯ’ จมน้ำเร็วกว่าที่เราคาดคิด - Urban Creature

“กรุงเทพฯ อาจกลายเป็นเมืองจมน้ำถาวรภายใน พ.ศ. 2593”

หากพูดถึงน้ำท่วมกรุงเทพฯ หลายคนคงนึกถึงเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ที่แม้เป็นวิกฤตใหญ่กินเวลาหลายเดือน แต่เมื่อน้ำลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติ ทุกคนก็กลับมาใช้ชีวิตปกติได้ แต่ถ้าในอนาคตไม่ใช่แบบนั้นล่ะ?

เพื่อแสดงให้เห็นว่าปัญหาน้ำท่วมไม่ใช่เรื่องเล็กที่ควรถูกมองข้าม ‘เอิร์น-อรญา คุณากร’ และ ‘ไอ่ไอ๊-อนวัช มีเพียร’ นิสิตจากภาควิชาการจัดการการสื่อสาร คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมมือกันสร้างสรรค์โปรเจกต์ธีสิสชื่อ ‘NIMBY_TH : เปิดบ้านในฝันฉันอยู่ใต้น้ำ’

ธีสิสนี้เกิดขึ้นในรูปแบบนิทรรศการที่ Slowcombo สามย่าน เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา ภายใต้โจทย์ Livable Community ที่ต้องการสื่อสารปัญหาเมืองและสิ่งแวดล้อม ให้ผู้คนตระหนักว่า หากไม่ใส่ใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่รุนแรงและแปรปรวนตอนนี้ บ้านในฝันของใครหลายคนอาจอยู่ใต้น้ำพร้อมกับระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้นก็เป็นได้

nimby th project

‘Global Warming’ จุดเริ่มต้นของ NIMBY

‘NIMBY’ ในชื่อธีสิสของเอิร์นและไอ่ไอ๊ คือสิ่งที่พวกเธอทั้งสองคนหยิบยืมมาจากวลี ‘Not in my Backyard’ ที่มักถูกใช้ในการประท้วงเรื่องสิ่งแวดล้อมในสหรัฐอเมริกา เมื่อประชาชนออกมาร่วมคัดค้านโครงการพัฒนาเมืองที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบกับชุมชนอย่างการสร้างโรงไฟฟ้า เพื่อสื่อว่า ‘การพัฒนาเมืองจะเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ แต่ต้องไม่ใช่ในชุมชนของฉัน’

ปรากฏการณ์นี้ตรงกับความสนใจของเอิร์นและไอ่ไอ๊ ในประเด็นสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว NIMBY หรือ Not in my Backyard จึงกลายเป็นชื่อตั้งต้นของโปรเจกต์นี้ เพื่อสื่อถึงปัญหาที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นในเมืองที่ตนอาศัยอยู่

เอิร์นบอกกับเราว่า NIMBY_TH เป็นโปรเจกต์ที่เต็มไปด้วยความท้าทาย เพราะคำว่า ‘สิ่งแวดล้อม’ เป็นคำที่กว้างมากสำหรับคนไทย และยิ่งมากเข้าไปใหญ่สำหรับกลุ่ม ‘Gen Z’ ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของนิทรรศการที่ทั้งคู่วางไว้ ทำให้ต้องพยายามมองหาแง่มุมในการนำเสนอที่แตกต่างออกไป เพื่อสร้างความเข้าใจและความรู้สึกร่วมให้ผู้คนไปกับประเด็นที่ต้องการสื่อ

nimby th project

พวกเธอเริ่มจากการสำรวจความสนใจของกลุ่ม Gen Z ในกรุงเทพฯ ที่มีต่อประเด็นสิ่งแวดล้อม ด้วยวิธีการสร้างแบบสำรวจกูเกิลฟอร์มผ่านช่องทางออนไลน์ และนัดติดต่อสัมภาษณ์ทำโฟกัสกรุ๊ป เพื่อให้ได้สิ่งที่เป็นความรู้สึกร่วมของคนในสังคมมาเป็นวัตถุดิบในการทำงานต่อ

“แม้หลายคนจะเข้าใจและรับรู้ปัญหาเรื่อง Global Warming คล้ายๆ กัน แต่ที่น่าสนใจคือ แต่ละคนมีความรู้สึกร่วมต่อประเด็นเหล่านี้ไม่เท่ากัน จากการสัมภาษณ์เราเลยแบ่งคนออกเป็นสองกลุ่มคือ มนุษย์สีเขียวอ่อน ที่สนใจประเด็นสิ่งแวดล้อมแต่ยังไม่ได้รู้สึกว่าต้องลงมือทำอะไร และ มนุษย์สีเขียวเข้ม ที่ใช้เรียกกลุ่มคนที่ตระหนักถึงปัญหาและพร้อมลงมือทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง”

เอิร์นเล่าถึงบทสรุปของขั้นตอนการสัมภาษณ์ ก่อนจะพัฒนาเป็น ‘เปิดบ้านในฝันฉันอยู่ใต้น้ำ’ ธีสิสที่อยากนำเสนอประเด็นสังคมไปยังคน Gen Z ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่กำลังจะเติบโตขึ้นมามีบทบาทต่อสังคมในอนาคต ให้รู้สึกเชื่อมโยงและตระหนักถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จนเกิดเป็นการลงมือทำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง

เปิดบ้านในฝันฉันอยู่ใต้น้ำ

เปิดบ้านในฝันฉันอยู่ใต้น้ำ คือผลงานชิ้นแรกของ NIMBY_TH ที่ตั้งใจถ่ายทอดความน่ากังวลของประเด็น ‘Sea Level Rise’ หรือการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Emergency Declaration) ที่เกิดจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก ทำให้ธารน้ำแข็งและแผ่นน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลายจนไปเพิ่มปริมาณน้ำในมหาสมุทร โดยเล่าผ่านภาวะที่กรุงเทพฯ อาจกลายเป็นเมืองจมน้ำถาวรภายในปี 2593 อ้างอิงจากรายงานขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (NOAA)

nimby th project

“เราเลือกประเด็นนี้เพราะมองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวคนกรุงเทพฯ เราต้องการสร้างความตระหนักว่า หากกรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองจมน้ำจริงๆ จะเกิดผลกระทบที่หนักมากกว่าเหตุการณ์น้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 2554 และนี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ” ไอ่ไอ๊กล่าว

“แม้จะมีงานวิจัยที่เชื่อถือได้ แต่ข้อมูลเหล่านี้ก็เป็นเพียงการคาดคะเนจากสถิติ ความจริงเราไม่มีทางรู้เลยว่าระดับน้ำทะเลจะเพิ่มขึ้นจนทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองจมน้ำภายในปี 2593 จริงหรือไม่ หากเปรียบเทียบกับประเด็นสิ่งแวดล้อมอื่นที่มีตัวชี้วัดชัดเจนอย่างปริมาณขยะพลาสติก การตัดไม้ทำลายป่า หรือคาร์บอนฟุตพรินต์” ไอ่ไอ๊เล่าถึงความท้าทายในการทำโปรเจกต์ที่ทำให้พวกเธอทั้งสองตัดสินใจหยิบเรื่องนี้มาคุยกันอย่างจริงจัง

ด้วยข้อจำกัดในการทำโปรเจกต์ภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือน ทำให้ NIMBY_TH ไม่สามารถรวบรวมข้อมูลจำนวนมากมากางไว้ในนิทรรศการได้ สุดท้ายเอิร์นและไอ่ไอ๊จึงเลือกหยิบทักษะที่พวกเขาถนัดอย่างการสื่อสารเพื่อให้คนเกิดความรู้สึกมาใช้ นำมาสู่การเล่าเรื่องผ่านตัวการ์ตูน ‘นก’ และ ‘เห็ด’ ในรูปแบบวิดีโอบนแพลตฟอร์มออนไลน์ TikTok และ Instagram ชื่อ nimby_th

nimby th project

“ที่เลือกใช้ตัวการ์ตูนนกและเห็ด เพราะในธรรมชาติ เชื้อเห็ดราเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความเชื่อมโยงกับพื้นดิน หากความชื้นหรือระดับน้ำในพื้นดินมีการเปลี่ยนแปลง เห็ดจะรับรู้ก่อนเสมอ ส่วนนกที่บินอยู่บนท้องฟ้าอาจไม่ได้รู้สึกถึงปัญหาทันที แต่อย่างน้อยต้องได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ในงานของเรา นกและเห็ดจึงเป็นตัวแทนที่มาร่วมมือกันสื่อสารปัญหาที่เกิดขึ้นให้สังคมรับรู้ก่อนทุกอย่างจะสายเกินไป” เอิร์นเล่าถึงที่มาของตัวการ์ตูนใน NIMBY_TH ให้เราฟัง

หากเข้าไปดูเพจของ NIMBY_TH ทุกคนจะได้ติดตามการเดินทางของนกและเห็ดในวันที่บ้านของพวกเขาจมน้ำหายไปทั้งหลัง ทำให้ทั้งคู่ต้องเก็บของและออกเดินทางหาที่อยู่ใหม่ จนสุดท้ายนกและเห็ดสามารถตั้งรกรากในบ้านใต้น้ำแห่งหนึ่งได้ พวกเขาจึงอยากเชิญชวนเพื่อนๆ มาร่วมงานเปิดบ้านในฝันของพวกเขาผ่านนิทรรศการ ‘NIMBY_TH : เปิดบ้านในฝันฉันอยู่ใต้น้ำ’

นิทรรศการที่เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนระหว่างผู้จัดและผู้เข้าร่วม

ภายในนิทรรศการ เราจะเห็นว่าบ้านหลังใหม่ของนกและเห็ดถูกแบ่งออกเป็น 3 ห้อง ได้แก่ ‘ห้องทำงาน’ ที่เปิดให้ผู้เข้าร่วมจินตนาการออกแบบบ้านในฝันของตนเองเมื่อถึงวันที่ต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วม ‘ห้องนั่งเล่น’ พื้นที่สำหรับพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นว่า ถ้าหากวันหนึ่งกรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองจมน้ำจริงๆ จะเป็นอย่างไร และ ‘ห้องนอน’ ห้องสุดท้ายที่มาพร้อมวิวหน้าต่างแสดงถึงระดับน้ำกำลังเพิ่มสูงขึ้นและบทสนทนาระหว่างตัวละคร

nimby th project

“ด้วยความที่นิทรรศการในครั้งนี้เป็นงานขนาดเล็ก แต่เสน่ห์ของมันคือ เราได้มีโอกาสพูดคุยกับคนที่มางานนิทรรศการเกือบทุกคน มีปฏิสัมพันธ์และคุยแบบตัวต่อตัว ทำให้สามารถสร้างความรู้สึกร่วมถึงปัญหากับผู้เข้าร่วมงานได้ง่ายผ่านกิจกรรมและการจัดสถานที่” เอิร์นกล่าว

เอิร์นและไอ่ไอ๊แบ่งการรับผิดชอบในการต้อนรับผู้มางานนิทรรศการ โดยแบ่งตามกลุ่มคนที่ได้มาจากการทำโฟกัสกรุ๊ป คือ เอิร์นดูแลมนุษย์สีเขียวอ่อน และไอ่ไอ๊ดูแลมนุษย์สีเขียวเข้ม ทำให้ทั้งคู่มีประสบการณ์จากการพูดคุยกับคนกลุ่มต่างกัน

“การพูดคุยกับมนุษย์สีเขียวอ่อนทำให้เราได้สัมผัสและเข้าใจมุมมองความคิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยคิดมาก่อน” เอิร์นเล่าถึงสิ่งที่ได้จากการจัดนิทรรศการ

“ส่วนเราทำหน้าที่ต้อนรับมนุษย์สีเขียวเข้ม จำพวกกลุ่มองค์กรเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง Chula Zero Waste และ Greenpeace สิ่งที่เราเห็นคือพวกเขาดูใจฟูและมีความหวังเมื่อเห็นคนรุ่นใหม่สนใจประเด็นที่พวกเขาสื่อสารมาตลอด” ไอ่ไอ๊กล่าว

nimby th project

จากงานธีสิสสู่พื้นที่สื่อสารประเด็นสังคม

แม้นิทรรศการแรก เปิดบ้านในฝันฉันอยู่ใต้น้ำ จะจบไปแล้ว พร้อมสถานะการเป็นนิสิตของเอิร์นและไอ่ไอ๊ แต่จากการพูดคุยกัน เราก็รับรู้ได้ว่าพวกเขายังหวังที่จะใช้ NIMBY_TH สื่อสารประเด็นสังคมในอนาคตต่อไปบนโลกออนไลน์ โดยเริ่มจากประเด็นที่ตนเองสนใจภายใต้วลี Not in my Backyard เช่น สิ่งแวดล้อมในมุมอื่นๆ รวมถึงเรื่องสุขภาพจิต เป็นต้น อีกทั้งยังพร้อมต้อนรับสมาชิกใหม่ หากมีเพื่อนคนไหนสนใจจะใช้ช่องทางนี้สื่อสารประเด็นสังคมร่วมกับพวกเขา

“ในอนาคตเราอาจเพิ่มคาแรกเตอร์ใหม่เข้ามาอีก เหมือน Inside Out 2 ที่มีตัวละครเพิ่มขึ้นตามคอนเทนต์ ตอนนี้เราเปรียบให้ตัวเองเป็นเห็ดและมีเอิร์นเป็นนก ซึ่งหากไปดูในวิดีโอจะสังเกตได้ว่า ตัวละครเหล่านี้มีวิธีการสื่อสารที่ต่างกัน เช่น เห็ดจะตะโกนถึงปัญหา ส่วนนกจะคอยช่วยซัพพอร์ต” ไอ่ไอ๊กล่าว

nimby th project

การทำ NIMBY_TH ในฐานะผลงานชิ้นสุดท้ายในรั้วมหาวิทยาลัย ถือเป็นปุ๋ยเร่งการเรียนรู้ของเอิร์นและไอ่ไอ๊เป็นอย่างมาก โดยเอิร์นบอกกับเราว่า ในฐานะนักเรียนสื่อ เธอได้เรียนรู้ว่าหากต้องการสื่อสารอะไรสักอย่างออกไป ต้องเริ่มจากทำความเข้าใจผู้รับสาร โดยต้องบาลานซ์ประเด็นไปพร้อมๆ กับวิธีการเล่า เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ในขณะที่ไอ่ไอ๊มองว่า เขาได้ทำความรู้จักสิ่งแวดล้อมในประเด็นที่ลึกขึ้นจากการหาข้อมูลมาทำงานชิ้นนี้ พร้อมการประยุกต์ใช้เครื่องมือสื่อสารที่เคยเรียน ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ การโฆษณา การออกแบบและผลิตสื่อ และการจัดงานนิทรรศการ มากไปกว่านั้นคือการหาตรงกลางระหว่างความคาดหวังและข้อจำกัดของตนเอง โดยไม่ฝืนตัวเองและเพื่อนร่วมงานมากเกินไป

“เราอาจจะไม่ได้ทิ้งรอยเท้าอันใหญ่ว่าเราเป็นงานธีสิสที่ใหญ่และเจ๋งที่สุด แต่มันก็เป็นงานที่มองกลับไปแล้วรู้สึกภูมิใจและดีใจที่ได้ทำสิ่งนี้ร่วมกับเอิร์น และถ้าในอนาคตเราทั้งสองคนยังมีแรง ไม่กลายเป็นทาสของโลกทุนนิยม ก็หวังว่าเราจะได้เจอกันอีก” ไอ่ไอ๊ทิ้งท้าย

nimby th project

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.