ประตูผี จากชุมชนริมกำแพงพระนครสู่ย่านสตรีทฟู้ด - Urban Creature

เมื่อพูดถึงย่านหลอนๆ ในความทรงจำของคนกรุงเทพฯ คิดว่าคงหนีไม่พ้น ‘ย่านประตูผี’ ส่วนหนึ่งของโซนเมืองเก่าในเกาะรัตนโกสินทร์ ที่มีเรื่องราวเล่าขานมาอย่างยาวนานถึงเรื่องชวนขนหัวลุก อย่าง ‘แร้งวัดสระเกศฯ เปรตวัดสุทัศน์’ ที่ตกเย็นเมื่อไร ผู้คนในยุคต้นพระนครต่างหวาดกลัว และไม่อยากย่างกรายผ่านย่านนี้

ท่ามกลางความมืดและเรื่องราวจากอดีต ทุกวันนี้ บรรยากาศของความน่ากลัวเปลี่ยนเป็นแสงไฟจากร้านค้าแผงลอยและร้านอาหารในอาคารพาณิชย์ต่างๆ รวมถึงความเงียบที่กลับกลายเป็นความคึกคักของเหล่านักชิมมากหน้าหลายตา ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ที่แวะเวียนกันมาลิ้มลองรสชาติอาหารต่างๆ ของย่านนี้

คอลัมน์ Neighboroot ชวนผู้อ่านแง้มประตูบ้านย่านประตูผี ตามหาแสงไฟร้านค้าของย่านในค่ำคืนก่อนวันฮาโลวีน สำรวจการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่แยกสำราญราษฎร์ไปจนถึงป้อมมหากาฬ กับบทบาทใหม่ที่ได้รับขนานนามในฐานะแหล่งรวมร้านอาหารเจ้าดังระดับโลกและสตรีทฟู้ดขึ้นชื่อ ที่กำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ในทุกวัน และกลบความสยองขวัญของย่านที่หายไปจนเหลือเพียงตำนาน

ย่านประตูผี แร้งวัดสระเกศฯ เปรตวัดสุทัศน์

ประตูผี คือหนึ่งในย่านหลอนๆ ของชาวพระนครช่วงต้นกรุง เพราะเป็นทางที่นำศพของผู้เสียชีวิตในเขตกำแพงเมือง ออกไปฌาปนกิจยังวัดสระเกศฯ ที่อยู่ด้านนอกคูเมือง โดยเฉพาะช่วงที่มีอหิวาตกโรคระบาดหนัก ก็ใช้เส้นทางนี้ลำเลียงศพออกไปแบบไม่หวาดไม่ไหว ต้องวางศพเกลื่อนลานเมรุวัดสระเกศฯ จนเป็นที่มาของคำว่า ‘แร้งวัดสระเกศฯ’ ที่โฉบลงมากินศพ เป็นที่สยดสยองและร่ำลือกันในหมู่ชาวพระนคร

ต่อมาย่านประตูผีได้เติบโตควบคู่ไปกับการตัดถนนบำรุงเมือง ถนนรุ่นแรกๆ ของเกาะรัตนโกสินทร์ที่ใช้เทคนิคการสร้างอย่างชาวตะวันตก ซึ่งคงสร้างทับเส้นทางขนศพในอดีตนี่แหละ พร้อมทั้งมีการปลูกสร้างเป็นอาคารพาณิชย์แบบชิโน-โปรตุกีสอยู่ตลอด 2 ฝั่งถนน ตั้งแต่เสาชิงช้าจนถึงแถบประตูผี แต่ปัจจุบันถูกรื้อหาย กลายเป็นบริเวณแยกสำราญราษฎร์

ร้านรวงต่างๆ จึงเริ่มเข้ามาจับจองพื้นที่ กลายเป็นย่านการค้าอีกแห่งของกรุงเทพฯ มีตลาดใหญ่ชื่อว่า ตลาดสำราญราษฎร์ ตลาดใต้ตึกแฟลต 3 ชั้น ที่มีสารพัดสินค้าตั้งแต่ของสด ของแห้ง ไปจนถึงอาหารนานาชนิด โดยตั้งอยู่ด้านหลังอาคารพาณิชย์ และติดกับวัดเทพธิดารามฯ

ต่อมาเมื่ออาคารที่ตั้งของตลาดถล่มลงมา ตลาดจึงต้องปิดตัว เจ้าของร้านต่างๆ ที่เคยอยู่ในตลาดก็ย้ายออกไปข้างนอกบ้าง ไม่ก็หันมาตั้งร้านอยู่บริเวณใกล้ๆ

ย่านประตูผี ผัดไทยประตูผี  ร้านเจ๊ไฝ
ย่านประตูผี ผัดไทยประตูผี ร้านเจ๊ไฝ

จะเห็นได้ว่าเอกลักษณ์และเสน่ห์ของย่านประตูผีที่ยังคงอยู่คือ ความเป็นศูนย์รวมร้านอาหารของคนดั้งเดิมที่เกิดและโตในย่านอย่างแท้จริง ทุกวันนี้หลายคนยังเข็นรถจากบ้านออกมาขายของ หรือไม่ก็ปรับปรุงตึกเก่าของบ้าน เปลี่ยนเป็นร้านอาหารและคาเฟ่น่ารักๆ เต็มไปหมด

ที่สำคัญ ชื่อเสียงของร้านอาหารเจ้าดังแถบนี้อย่างทิพย์สมัย ผัดไทยประตูผี หรือร้านเจ๊ไฝ ที่ได้การันตีจากมิชลินสตาร์ ยังเป็นเหมือนสัญลักษณ์คู่ย่าน ที่ช่วยดึงดูดให้นักชิมจากทั่วโลกได้ลองมาสัมผัสสตรีทฟู้ดไทยๆ และดั้นด้นเดินทางมายังย่านประตูผีแห่งนี้

การออกสำรวจครั้งนี้เราเลยตั้งใจอาศัยการพูดคุยกับเหล่าผู้ประกอบการ ให้พวกเขาช่วยบอกเล่าเรื่องราวของย่านทั้งภาพที่เขาเห็นและการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาที่ผ่านมาให้ฟัง

ทว่าค่ำคืนนี้ยังอีกยาวไกล เราเลยมองหาร้านอาหารฝากท้องเสียก่อน และร้านแรกที่เราเริ่มต้นคือ ‘ข้าวต้มเป็ดอ้วน ประตูผีเจ้าเก่า’ หนึ่งในร้านอาหารเก่าแก่ ที่เปิดไฟสว่างไสวอยู่กลางซอยสำราญราษฎร์ ที่คั่นระหว่างชุมชนประตูผีกับวัดเทพธิดารามฯ

ข้าวต้มเป็ดอ้วน ประตูผีเจ้าเก่า

ข้าวต้มเป็ดอ้วน ประตูผีเจ้าเก่า l อาหารมื้อดึกของนักดื่มรุ่นเก๋า

“ประตูผีเป็นชื่อเรียกทั้งย่านนี้เลย จริงๆ แล้วประตูผีอยู่ตรงสี่แยกสำราญราษฎร์ แต่ก่อนเป็นประตู แต่เขาทุบทิ้งไปหมดแล้ว ร้านเราเลยตั้งชื่อว่าประตูผี เพราะอยู่ย่านนี้” ‘เฮียต้อย-นภัสศัย พัฒนกิจเจริญชัย’ ทายาทรุ่นที่ 2 ร้านข้าวต้มเป็ดประตูผี ซึ่งขายมากว่า 70 ปีแล้ว เล่าให้ฟังถึงย่านที่เขาเกิดและโตมาอย่างยิ้มแย้ม

อากงและพ่อของเฮียต้อยที่เป็นผู้บุกเบิกร้านข้าวต้มเป็ดประจำย่าน นำเอาสูตรอาหารติดตัวมาจากเมืองจีน โดยช่วงเปิดร้านแรกๆ ร้านมีเพียงเมนูเป็ด ทั้งเนื้อ กระเพาะ ไส้ ก่อนจะเพิ่มเมนูผัดๆ ตามสไตล์ร้านข้าวต้มกุ๊ยในเวลาต่อมา

เฮียต้อย-นภัสศัย พัฒนกิจเจริญชัย

จากความทรงจำของเฮียต้อย ทำให้เราทราบว่าในช่วงทศวรรษ 2510 ซอยสำราญราษฎร์ที่อยู่ติดกับกำแพงวัดเทพธิดารามฯ ยังเป็นซอยเงียบๆ ผู้คนไม่พลุกพล่าน เป็นเพียงเส้นทางผ่านชุมชนย่านประตูผีไปสู่แถบเสาชิงช้า

ร้านนี้จึงเป็นจุดหมายของนักเที่ยว-ดื่มในเวลานั้น เพราะหลังจากท่องเที่ยวผับบาร์คาเฟ่บนถนนราชดำเนินเสร็จ รวมถึงคนที่เพิ่งดูหนังที่ศาลาเฉลิมไทยจบ ต่างก็มุ่งหน้ามาหาอาหารรอบดึกที่ร้านข้าวต้มเป็ดแห่งนี้

“แต่ก่อนเราเปิดตอนบ่ายสอง เก็บร้านตอนตีสองตีสาม เนื่องจากมีโรงหนังเฉลิมไทย ห้างเมอร์รี่คิงส์ เส้นราชดำเนิน-ปิ่นเกล้าก็มีผับบาร์คาเฟ่ คนทำงานเสร็จเที่ยวเสร็จก็เข้ามาหาข้าวกิน แต่เดี๋ยวนี้พอไม่มีก็เงียบไป หลังโควิดมานี้ยิ่งเงียบหนักเลย แต่ตอนนี้ดีขึ้นหน่อย เริ่มมีนักท่องเที่ยวกลับมา”

ตอนนี้ร้านข้าวต้มเป็ดขยับเวลาเปิดเร็วขึ้นเป็นตั้งแต่ประมาณ 11 โมง เพื่อรับลูกค้าที่เป็นข้าราชการ กทม. และคนที่ทำงานกระทรวงในย่านนี้ รวมถึงปิดเร็วกว่าแต่ก่อน เพราะเฮียบอกว่าพอสัก 5 ทุ่มก็เริ่มเงียบแล้ว

ข้าวต้มเป็ดอ้วน ประตูผีเจ้าเก่า

เมื่อถามเจ้าของร้านข้าวต้มเป็ดถึงบรรยากาศของร้านค้าต่างๆ บริเวณถนนใหญ่ด้านหน้าในช่วงที่ยังไม่บูมขนาดนี้ เฮียต้อยบอกว่าร้านในสมัยก่อนนั้นมีไม่มากนัก รวมถึงนักชิมก็ไม่ได้เยอะเท่าทุกวันนี้

“สมัยก่อนมีแค่ผัดไทย ราดหน้าเจ๊ไฝ ที่เขาเรียกราดหน้าดารา เพราะเวลาพวกดารามาโรงหนังเฉลิมไทย จะชอบแวะมากินกัน แวะมาร้านเราบ้างก็มี ร้านที่เห็นๆ กันนี่เพิ่งจะมาเกือบๆ ยี่สิบปีที่แล้ว ไม่ถึงสามสิบปีนะ ค่อยๆ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ”

Tai Soon Bar คราฟต์เบียร์บาร์

Tai Soon Bar l ดื่มด่ำคราฟต์เบียร์ใต้ชายคาร้านยาเก่า

ด้านหน้าตลาดสำราญราษฎร์เมื่อกว่าร้อยปีก่อน บริเวณตึกมุมตรงปากประตูตลาดพอดิบพอดี เคยเป็นร้านขายยาจีนชื่อว่า ‘ไท่ซุนตึ๊ง’

“ตึกตรงนี้อายุเป็นร้อยปี ตอนอากงมาซื้อก็มีคนอยู่มาก่อนแล้ว เราอยู่ที่นี่ตั้งแต่เกิดเลย ตอนนั้นเป็นร้านยาจีนกับไทยคนละครึ่ง”

แม้ว่าร้านยาจีนที่ช่วยเยียวยาสุขภาพคนในย่านนี้จะปิดกิจการไปนานหลายสิบปีแล้ว ทว่าทุกวันนี้ ‘พี่ฟลุ๊ค–ชัญญาพัชร์ ปลื้มธีระธรรม’ ทายาทผู้สืบทอดก็ยังคงสร้างพื้นที่ช่วยบำรุงใจให้ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมา ด้วยการเปิดคราฟต์เบียร์บาร์ในชื่อ Tai Soon Bar

Tai Soon Bar คราฟต์เบียร์บาร์

ที่มาของแนวคิดการเปิดร้านคราฟต์เบียร์ เกิดจากการต่อยอดร้านโชห่วยในตำนาน Well Shop ของพี่ชายที่อยู่ด้านในซอย ข้างร้านข้าวต้มเป็ดที่เราเพิ่งเดินออกมา ซึ่งมีคราฟต์เบียร์ขวดและกระป๋องขาย ประกอบกับเห็นว่าแถบนี้ยังไม่มีร้านคราฟต์เบียร์สดเป็นหลักเป็นแหล่ง

โปรเจกต์การรีโนเวตคืนชีวิตให้กับตึกเก่าของครอบครัวจึงเกิดขึ้น แม้จะติดเรื่องการเป็นอาคารอนุรักษ์ในโซนเมืองเก่า ทำให้ปรับปรุงด้านนอกอาคารไม่ได้มากนัก แต่ด้านในถือว่าเปลี่ยนโฉมไปมาก ออกมาเป็นบาร์สไตล์จีน ให้อารมณ์หนังหว่องเหงาๆ ประดับประดาด้วยโคมไฟสีแดง

“คนออกแบบบอกว่าทำแนวจีนเนี่ยแหละ เข้ากับครอบครัวของเรา เพราะเป็นคนจีน” เธอเผยคอนเซปต์ของร้าน “แต่จริงๆ ย่านนี้เป็นย่านคนไทย ไม่เห็นจะจีนตรงไหน ไล่มาจากตรงเรือนจำพิเศษฯ ก็เห็นเป็นคนไทยมาตลอด ถึงแถวนี้คนจีนจะอยู่เยอะ แต่ภาพจำเรามองว่าเป็นย่านในประวัติศาสตร์ไทยมากกว่า เพราะมันมีเรื่องของวัดสระเกศฯ วัดสุทัศน์”

Tai Soon Bar คราฟต์เบียร์บาร์

ใครที่อยากพักผ่อนยามพลบค่ำ หลังจากทำงานมาเหน็ดเหนื่อย หรือถ้ามีโอกาสได้แวะเวียนมาแถวย่านนี้ แล้วกำลังมองหาสถานที่ดื่มสักหน่อยก่อนกลับบ้าน ไท่ซุนบาร์ในวันนี้มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เลือกทั้งคราฟต์เบียร์กระป๋องและคราฟต์เบียร์สดกว่า 18 แทป ให้ได้ลองชิมกัน

“ตั้งแต่พี่เปิดร้านจนถึงวันนี้ เบียร์มีหลากหลายขึ้นมาก สุดท้ายเลยเพิ่มอีกห้าแทป” พี่ฟลุ๊คเจ้าของร้านเล่าถึงสาเหตุของการเพิ่มเบียร์จากเดิมที่มี 13 แทป เพราะตั้งใจให้เป็นเลขลักกี้นัมเบอร์ล้อไปกับย่านหลอนๆ อย่างประตูผี 

ล่าสุด ไท่ซุนบาร์ยังขยายขึ้นไปยังชั้น 3 ของบ้าน เพื่อรองรับนักดื่มให้มากขึ้นอีกด้วย

Tai Soon Bar คราฟต์เบียร์บาร์

“ในอดีตถ้าไม่ใช่คนในพื้นที่ก็มีกลุ่มข้าราชการ คนทำงานกลางวันและกลางคืน และคนมากินข้าว เที่ยงคืนแถวนี้ก็เงียบแล้ว เพราะวัดเยอะ คนมักมาทำกิจกรรมตอนกลางวันกัน มาเที่ยววัด เที่ยวภูเขาทอง มีแค่ถึงช่วงเย็น กินข้าวเสร็จก็กลับ” ทายาทร้านยาจีนเผยกับเรา เมื่อขอให้เธอเล่าถึงย่านนี้

เมื่อหลายสิบปีก่อน พอตกค่ำ ถัดจากตรงแยกสำราญราษฎร์ไปก็เงียบแล้ว ยิ่งใกล้วัดสระเกศฯ ก็ไม่ค่อยมีใครกล้าเดินไปนัก ผิดกันกับทุกวันนี้ที่ภาพระหว่างเปิดบทสนทนามีรถราวิ่งอยู่ตลอดเวลา นักท่องเที่ยวเดินกันขวักไขว่ด้านหน้าร้าน เราเลยอดถามต่อไม่ได้ว่า ในมุมของคนที่อยู่ตรงนี้ อะไรคือเสน่ห์ที่ทำให้ประตูผีต่างไปจากย่านอาหารอื่นๆ 

“ตรงนี้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนเยาวราชเท่าไหร่ ส่วนตัวเห็นว่าแถวนี้เป็นธุรกิจครอบครัว อย่างผัดไทยก็ทำมานานแล้ว อีกอย่างคือมันยังพอมีสเปซอยู่บ้าง เพราะที่อื่นเต็มหมด ส่วนใหญ่ร้านที่มาเปิดแถวนี้ก็เป็นเจ้าของบ้านเจ้าของตึกทั้งนั้น เข้ามาทำกันเอง เสียตรงที่แถวนี้ไม่มีที่จอด คนเลยไปที่อื่นกัน”

ก่อนจบบทสนทนาในคืนนี้ พี่ฟลุ๊คทิ้งท้ายว่าในอนาคต ย่านประตูผีน่าจะคึกคักขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีแผนการสร้างสถานีรถไฟฟ้า MRT แห่งใหม่ขึ้นไม่ไกลจากร้าน และโครงการปรับปรุงแถบถนนราชดำเนิน ที่น่าจะทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลมายังโซนประตูผีมากขึ้น

ชุมชนป้อมมหากาฬ

เราเดินตามฟุตพาทไปทางถนนราชดำเนิน บังเอิญพบกับ ‘ลุงกวาง’ ชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ที่ยืนอยู่ไม่ไกลจากกำแพงพระนครตรงข้ามวัดราชนัดดารามฯ เราจึงขอให้เขาช่วยบอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่บริเวณติดกับย่านประตูผี

“สมัยก่อนผมอยู่ฝั่งตลาดพระ แล้วย้ายไปอยู่โรงหนังเฉลิมไทยเก่า ก็เลยมาอยู่ตรงนี้” แกเกริ่น พร้อมพาเดินดูบ้านคนนั้นคนนี้ในความทรงจำ ที่ปัจจุบันกลายเป็นทางเดินในสวนสาธารณะ ชาวบ้านย้ายไปอยู่แถบเกียกกายที่ทางการจัดหาให้

เราจินตนาการภาพตามที่ลุงกวางเล่า ทั้งลานกลางชุมชน บ้านเรือนไทยเก่า ตรอกนกเขาที่แขวนกรงนกทั่วบ้าน บรรยากาศงานบุญสงกรานต์ของคนที่นี่ รวมถึงวิถีชีวิตที่อยู่คู่กับโบราณสถานประจำชุมชน และมรดกของชาติอย่างป้อมมหากาฬ

น่าเสียดายว่าการต่อสู้ของชาวบ้านชุมชนป้อมมหากาฬ ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่ต้นกรุงที่ยังหลงเหลืออยู่ ไม่อาจต้านทานการพัฒนาของเมือง เหลือเพียงความทรงจำอันรางเลือนของหลายๆ คน ว่าตรงนี้นอกจากจะเป็นพื้นที่โบราณคู่กรุงแล้ว ยังมีชื่อเป็นตลาดค้าพลุที่ใหญ่แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ

“ตอนนี้ไม่มีแล้ว แต่ผมไม่เคยทิ้งป้อมมหากาฬ” หนึ่งในชาวชุมชนป้อมมหากาฬทิ้งท้าย

ชุมชนป้อมมหากาฬ

การเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาเมืองอาจมีทั้งดีขึ้นและแย่ลง น่าสนใจว่าในพื้นที่ติดกันสะท้อนให้เราเห็นภาพของทั้ง 2 มุมได้อย่างน่าใจหาย ทั้งชาวชุมชนสำราญราษฎร์ หรือแถบประตูผี ที่กำลังพัฒนาเป็นย่านอาหารการกินขึ้นชื่อระดับโลก กลบความน่ากลัวของย่านด้วยแสงไฟจากร้านอาหาร

กลับกัน เดินไปไม่ถึง 100 เมตร กรณีของชาวชุมชนป้อมมหากาฬ ที่ทุกวันนี้ไม่หลงเหลือหลักฐานอะไรให้เราเห็น ซ้ำร้ายยังผลักผู้อยู่อาศัยให้ออกไปจากบ้านเรือนที่เคยอยู่กินมาแต่เกิด จากชุมชนที่มีชีวิตชีวากลายเป็นสวนสาธารณะมืดๆ ที่ไม่ค่อยมีใครเข้ามาใช้งานมากนัก

บางทีผีของเมืองกรุงเทพฯ อาจไม่ใช่เรื่องที่เล่าขานกันจนเป็นตำนานสยองๆ อย่างประตูผี แต่เป็นการพัฒนาเมืองโดยหลงลืมรากเหง้า และทิ้งคนดั้งเดิมของย่านไว้ข้างหลังอย่างไม่ไยดี

ชุมชนป้อมมหากาฬ

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.