พญาไท ดินแดนหอพักและกวดวิชา - Urban Creature

“Next station, Phaya Thai. Interchange with Airport Rail Link.”

ประโยคชินหูเวลาเราจะกลับที่พัก ใช่! เราเคยอยู่แถว ‘พญาไท’ และเชื่อว่าเด็กต่างถิ่นหลายคนคงเคยมีโมเมนต์กับย่านนี้แน่นอน เพราะที่นี่เรียกได้ว่าเป็นจุดหมายปลายทางลำดับต้นๆ ของคนจากทั่วทุกสารทิศที่อยากจะมาโบยบินในเมืองใหญ่ มีทั้งหอพักมากมาย ความสะดวกสบาย แถมยังกินง่ายอยู่ง่าย และใกล้สถาบันการศึกษา

นอกจากเป็นดินแดนแห่งการมาฝากชีวิตไว้ พญาไทเรียกได้ว่าเป็นสถานีแห่งความหวังทางการศึกษา เพราะอีกหนึ่งภาพจำก็คือเด็กวัยมัธยมฯ ที่แบกเป้ใบโตเพื่อมาเรียนพิเศษตามสถาบันกวดวิชาที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดไม่แพ้หอพัก ซึ่งวันนี้เรามีเวลาพอที่จะมาเดินโฉบแถวพญาไทอีกครั้ง ก็เลยแวะมาทักทายบรรยากาศเมื่อตอนยังเป็นเด็กนักเรียนผมสั้น ว่าแต่บรรยากาศเก่าๆ ที่เราเคยเห็นจะยังเหมือนเดิมหรือเปล่านะ

ปู๊น…ปู๊น ฉึกฉัก

เสียงหวีดรถไฟเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่ย่านนี้ เรียกว่ามองลงจาก BTS สถานีพญาไท ก็เห็นรางรถไฟเด่นชัดมาแต่ไกล ซึ่งนี่เป็นอีกตัวเลือกการเดินทางหนึ่งที่คนนิยมใช้กันไม่แพ้ใคร

เต็นท์ขายอาหารใต้รถไฟฟ้า

ใต้ BTS ใกล้กับตึกพญาไทพลาซ่า มีเต็นท์ขายอาหารที่เราเคยแวะมากินบ่อย มีร้านให้เลือกหลากหลาย แถมราคายังสบายกระเป๋า ร้านโปรดสมัยนั้นคือน้ำเต้าหู้ หมูทอด และโจ๊กร้อนๆ ยังจำได้เลยว่าเข้ามาเรียนพิเศษที่กรุงเทพฯ ครั้งแรกตอน ป.6 ก็มากินข้าวที่นี่

ซึ่งตอนนั้นเราอาศัยอยู่ตรงข้ามโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย แถวนั้นแทบจะไม่มีร้านอาหารใดๆ เลยต้องเดินผ่านใต้ตึกพญาไทพลาซ่า เพื่อทะลุมายังซอยเพชรบุรี 5 และ 7 ซึ่งเป็นอาณาจักรหอพักและของกิน

เจ๊มุก คนดี คนเดิม

2 ปีก่อนเรามีโอกาสได้คุยกับเจ๊มุก ผู้ยืนหนึ่งแห่งวงการร้านซักอบรีดในซอยเพชรบุรี จากแพสชันเรื่องซักผ้า ทำให้เจ๊มุกได้มีโอกาสไปออกสื่อต่างๆ รวมถึงได้สวมอีกหนึ่งบทบาท อย่างตัวแม่แห่งวงการนักวิ่งมาราธอน

วันนี้เราแวะมาทักทายเจ๊มุก คำกล่าวทักทาย รอยยิ้มพิมพ์ใจ และความเป็นกันเองของเจ๊แกยังคงเหมือนเดิม เราเลยไม่แปลกใจที่ชาวหอย่านพญาไทมักจะมาฝากเสื้อผ้าให้เจ๊มุกขจัดคราบเปื้อนให้หมดไป ซึ่งบทสนทนาส่วนใหญ่ต่างจากการคุยครั้งก่อน ครั้งนี้เจ๊แกดูมีไฟลุกโชนกับการวิ่งมากเป็นพิเศษ ถึงขนาดในช่วงโควิด-19 ที่ทำเอาสวนสาธารณะปิด เจ๊แกก็เลยวิ่งรอบซอยเพชรบุรีแทน

เจ๊มุกแบกกระเป๋ากับสองเท้ามาเป็นชาวพญาไทเมื่อช่วงปี พ.ศ. 2542 ซึ่งนานพอที่จะเห็นพญาไทในช่วงเวลาหนึ่ง

“ช่วงนั้นฟองสบู่กำลังแตกพอดี หอพักแถวนี้ก็เลยมีแคมเปญ เช่น ถ้าเราพาใครมาพัก แล้วทำสัญญาเช่า 1 ปีได้ เราก็จะได้ทองสลึงหนึ่งด้วย อย่างหอเอเวอร์กรีนนี่ก็ขึ้นมาใหม่ในตอนนั้น ช่วงนั้นเราโฟกัสแค่ว่าจะหาที่ทางทำมาหากินยังไง เราไม่รู้เลยนะว่าเด็กเตรียมอุดมฯ คืออะไร เด็กจุฬาฯ คืออะไร เราก็ซักผ้าไป กลายเป็นว่าเราได้รู้จักสถาบันต่างๆ จากการซักรีดของเรานี่แหละ รู้เลยว่าแถวนี้คนส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียน นักศึกษา และหนุ่มสาวออฟฟิศที่มาจากต่างจังหวัด”

เจ๊มุกเล่าถึงย่านพญาไทในช่วงที่ความเป็นเมืองกำลังชัดเจนขึ้น ซึ่งเหตุผลที่ทำให้เจ๊มุกและชาวดอกหญ้าที่อยากมาโบยบินในป่าปูนเลือกมาอยู่ย่านนี้ ก็หนีไม่พ้นความสะดวก จะไปไหนก็ไปได้หมด อย่างทุกวันนี้เจ๊มุกไปวิ่งที่สวนลุมฯ ก็นั่งรถไฟฟ้าไปได้สบาย

ป้ากบเจ้าเก่า

“บางคนเรียนจบไปเมืองนอกกลับมา เขาก็มาแวะซื้อน้ำป้ากบแล้วบอกว่ารสชาติเหมือนเดิมเลย”

คูหาติดกัน คือร้าน ‘น้ำป้ากบ’ ผู้เป็นชาวซอยเพชรบุรีแท้ๆ ป้าแกเห็นบริเวณนี้มาตั้งแต่ยังไม่มีพญาไทพลาซ่าหรือรถไฟฟ้า ทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกขายน้ำเป็นเจ้าแรกๆ ในย่านนี้ ทำให้แขกไปใครมา หรือนักเรียน นักศึกษาที่เคยมาฝากชีวิตไว้ที่ย่านพญาไท ต้องรู้สึกผูกพันกับน้ำหวานเย็นชื่นใจสไตล์ป้ากบอย่างแน่นอน

ตอนเช้าๆ จะมีตลาดสดสุดคึกคัก แต่สายหน่อยก็ยังเห็นพ่อค้าแม่ขายกำลังขอดเกล็ดปลาอยู่

เคยอยู่ย่านนี้มาช่วงหนึ่ง แต่ไม่เคยรู้เลยว่าชื่อนี้มีที่มาอย่างไร ก็เลยเสิร์ชดูจนพบว่า พญาไท ตั้งชื่อตามพระราชวังพญาไท เคยได้รับการจัดตั้งเป็นอำเภอพญาไทมาก่อนที่จะเปลี่ยนเป็นเขตพญาไท เมื่อปี พ.ศ. 2515 ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปกครองเรื่อยมา จนส่วนหนึ่งของพญาไทถูกแบ่งไปเป็นเขตราชเทวี รวมถึงถนนพญาไทเองก็ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ของเขตอีกต่อไป

เลยกลายเป็นว่าคนบางส่วนก็จะเรียกโซนนี้ตามความคุ้นเคยของตัวเองซะมากกว่า อย่างหอพักหรือคอนโดฯ แถวนี้ซึ่งเป็นเขตราชเทวี แต่พอเห็นว่าใกล้ BTS สถานีพญาไท ก็ไม่น่าแปลกใจที่จะมีคนเรียกย่านนี้ว่า “พญาไท”

นานทีปีหนจะเห็นร้านขายหนังสือในตึกแถวเก่า ก็เลยแวะซื้อนิตยสารสักเล่ม เพราะชอบในความคลาสสิกของร้านขายหนังสือสไตล์นี้ แถมยังมีเจ้าหมารุ่นเก๋ามาทักทายส่ายหางทุกครั้งที่มีคนเดินเข้าร้าน

“แต่ก่อนขายหนังสือนี่กองโตเลยนะ แต่เดี๋ยวนี้คนอ่านหนังสือน้อยลงเลยเหลือเท่านี้แหละ” คุณป้ากล่าวทักทายด้วยความรู้สึกดีใจที่เห็นเราเข้าไปเลือกซื้อนิตยสารในดวงใจ ซึ่งก่อนเราจะเดินออกจากหน้าร้าน คุณป้ายังบอกอีกว่า แถวนี้คนต่างจังหวัดมาอยู่กันเยอะมาก (ลากเสียงยาว) ยิ่งช่วงนี้เป็นปกติเลยที่จะผู้ปกครองเริ่มพาลูกหลานมาดูหอพัก เพื่อเตรียมพร้อมเปิดเทอมที่กำลังจะมาถึง

คงถูกใจคอการ์ตูนและคนที่ชอบหนังสือเก่า เพราะในซอยเพชรบุรี 5 ยังคงมีร้านเช่าหนังสือให้เห็นอยู่ ยิ่งในยุคดิจิทัลแบบนี้ เจ้าของต้องใจรักในการอ่าน ชื่นชอบกลิ่นกระดาษ และสัมผัสที่หาไม่ได้จากการอ่านบนหน้าจอ เราขอนับถือเลย

เมื่อเดินผ่าน ‘วาเลนข้าวมันไก่’ แล้วคิดถึงช่วงที่ต้องทำการบ้านส่งอาจารย์ตอนดึกๆ เพราะนี่คือร้านข้าวมันไก่ที่ยืนหนึ่งในใจมนุษย์กลางคืน เพราะเปิด 2 ทุ่ม ถึงบ่ายสอง

แวะซื้อน้ำอัดลมใส่ถุงที่ไม่ได้กินมานาน ความซ่าในราคา 13 บาทยังเป็นความรู้สึกดีๆ ที่เราหาไม่ได้ตามร้านสะดวกซื้อ

“แต่ก่อนอยู่แถวราชประสงค์ แล้วก็โดนไล่ที่จนมาอยู่ตรงนี้กว่า 43 ปีแล้ว ตอนนี้โชห่วยในซอยน่าจะมีไม่ถึง 10 ร้าน อีกหน่อยก็คงจะหมดไปแน่นอน ทุกวันนี้ก็ขายเพื่อแก้เหงาน่ะ” อาม่าเจ้าของร้านบอกกับเรา

เดินผ่านหอพักซึ่งเรียงรายทั่วซอยเพชรบุรี 5 ถัดมาคือซอยเพชรบุรี 7 ที่สามารถเดินเชื่อมถึงกันได้ เสน่ห์ของซอยนี้คือเป็นถิ่นของชาวมุสลิม และมีมัสยิดหลังงามแทรกตัวอยู่ในซอย มีบ้านเรือน ร้านอาหาร และร้านขายข้าวของเครื่องใช้สำหรับชาวมุสลิมโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นความวาไรตี้ที่พบเจอได้ในย่านพญาไท

“ซอยนี้คนมุสลิมเยอะ แต่ก็อยู่ร่วมกับคนพุทธได้ปกติดี แต่ช่วงนี้พญาไทก็จะเงียบหน่อย เพราะเด็กปิดเทอมและยังมีโควิดอีก เทศกาลเราะมะฎอนก็ยกเลิก มัสยิดก็ห้ามจัดพิธี แต่อีกสักพักถ้าเด็กเปิดเทอมน่าจะคึกคักขึ้น” คุณป้าสำราญผู้ขายข้าวเกรียบปากหม้อ ต้นซอยเพชรบุรี 7 เล่า

อันที่จริงยังมีร้านรวงในดวงใจเราอีกนับไม่ถ้วนที่ไม่ได้แวะเวียนไป แต่ก็เหมือนกับที่คุณป้าคุณน้าหลายคนบอก คือช่วงนี้เป็นเวลาแห่งการเปิดเทอมของนักเรียนนักศึกษา ที่สำคัญก็คือสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำเอาย่านพญาไทดูจะเหงาจนผิดหูผิดตา

เมื่อออกมาจากโซนซอยเพชรบุรี เราไม่พลาดที่จะแวะเติมคาเฟอีนกันที่ Factory Coffee – Bangkok ซึ่งที่นี่คือคาเฟ่ที่นิยามตัวเองว่าเป็นโรงงานกาแฟเล็กๆ ประจำย่านพญาไท สำหรับเรามองว่า นี่คืออีกรสชาติหนึ่งของย่านท่ามกลางหมู่มวลหอพักและสถาบันกวดวิชา ที่เป็นเสมือนฮับที่รอทุกคนเข้ามาเยี่ยมเยียนพญาไทผ่านรสชาติและกลิ่นหอมจากกาแฟ

Factory Coffee ไม่ใช่ร้านกาแฟหน้าใหม่ที่ไหน เพราะโรงงานกาแฟแห่งนี้อยู่คู่ย่านพญาไทมาราว 7 ปีแล้ว เลยไม่แปลกใจที่เราจะเห็นคอกาแฟแวะเวียนกันมาแบบไม่ขาดสาย

“พี่ไม่ใช่คนพญาไท แต่ตั้งใจให้ Factory Coffee มาอยู่ที่พญาไท ซึ่งก่อนจะเปิดร้าน ตอนแรกมีพี่ในวงการกาแฟเขาอยากเซ้งร้านแถวพญาไท เขาเลยถามว่าสนใจไหม เราเลยได้มาดูที่ทางแถวนี้ แล้วก็รู้สึกว่าชอบมาก พี่ชอบในความที่โลเคชันมันไม่พลุกพล่านเท่าสยามหรืออนุสาวรีย์ฯ ที่อยู่ข้างๆ ถ้าเปิดร้านก็น่าจะได้ความสงบแต่ยังอยู่ในเมือง”

บิว–เศรษฐการ วีรกุลเทวัญ หนึ่งในเจ้าของโรงงานกาแฟแห่งนี้บอกถึงความผูกพันกับย่านพญาไท ที่มีความเจริญขั้นสุด แต่ก็ไม่ได้ศิวิไลซ์จนเกินไป เรียกว่าผสมผสานกันได้เป็นอย่างดี ซึ่งสำหรับบิว เขานิยาม Factory Coffee ว่าเป็นโรงงานที่จะเป็นฟันเฟืองในการเสิร์ฟกาแฟดีๆ ของย่านนี้

เราหยิบเมนูขึ้นมาดู แล้วก็ต้องสะดุดตากับเมนูที่ชื่อว่า ‘Phayathai’ โดยบิวบอกว่า ชื่อนี้เขาผสมผสานมิติความเป็นผู้ใหญ่ผ่านกาแฟดำ และความซ่าของวัยรุ่นผ่านโทนิค รวมถึงเสริมกลิ่นหอมจากเลมอนเข้าไป ซึ่งเป็นการตีความสุดสร้างสรรค์ถึงย่านพญาไทที่มิกซ์คนหลากหลายวัยเข้าไว้ด้วยกัน พอเราได้ลิ้มรสแค่จิบแรกก็รู้สึกสดชื่นทันที ลบความคิดว่ากาแฟดำนั้นกินยากไปเลย

ส่วนตัวเราเวลาเข้าร้านกาแฟ มักจะสั่งมอคค่าเสมอ ครั้งนี้เราเลยขอลอง ‘Mocha Sea Salt’ (ทางด้านซ้าย) ซึ่งถูกใจเราไม่แพ้อีกเมนู เพราะเครื่องดื่มมีความหอมของช็อกโกแลต แถมมีรสเค็มแทรกก่อนดื่มด่ำกับกาแฟสุดเข้มข้นที่อยู่ด้านล่าง ให้ความรู้สึกแปลกใหม่ดีเหมือนกัน

ต่อให้คุณจะเป็นคนพญาไทหรือไม่ใช่ ก็อยากให้ลองแวะมาจิบกาแฟ และเสพบรรยากาศที่นี่ดูสักครั้ง Factory Coffee อยู่ใต้ Airport Link สถานีพญาไท และเปิดทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8 โมงเช้า ถึง 6 โมงเย็น

ตึกวรรณสรณ์วันนี้ดูเงียบแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งที่ปกติช่วงเวลาปิดเทอมแบบนี้ เด็กกรุงเทพฯ และเด็กต่างจังหวัดจะต้องอัดเดินจาก Factory Coffee มาไม่ไกล คือตึกสูงใหญ่นามว่า ‘วรรณสรณ์’ เรื่องนี้ทุกคนรู้ แฟนคลับรู้ วรรณสรณ์ หรือ ‘ตึกอุ๊’ คือดินแดนแห่งสถาบันกวดวิชา ซึ่งเราก็เคยมาฝากความหวังทางการศึกษาไว้ที่นี่อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง

แน่นกันอยู่แทบทุกจุดภายในตึก แต่ก็เข้าใจได้ว่าเป็นเพราะสถานการณ์โควิด-19 สถาบันกวดวิชาเลยต้องขยับไปสอนแบบออนไลน์แทน เราเลยได้เห็นตึกอุ๊ในวันที่ไร้เด็กเช่นนี้

แม้จะไร้เสียงจอแจของเด็กวัยมัธยมฯ แต่บรรยากาศยังชวนให้คิดถึงสมัยก่อนซึ่งตอนนี้ก็ยังคงไม่เปลี่ยน เช่น บันไดเลื่อนที่วางตัวซิกแซ็กอยู่ตรงกลางตึก หรือลิฟต์ที่ต้องมีโปสเตอร์เด็กได้คะแนนสูงแปะอยู่ ซึ่งวันข้างหน้า หากสถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น ภาพความคึกคักของสถาบันกวดวิชาคงกลับมาเหมือนเดิม

พอเราเริ่มเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ก็ไม่ค่อยได้กลับมาโฉบแถวย่านนี้บ่อยสักเท่าไหร่นัก วันนี้ภารกิจกลับมาถิ่นที่คุ้นเคยช่วยให้เรากระชุ่มกระชวยขึ้นมาได้บ้าง แม้หลายอย่างจะดูผิดหูผิดตาไปสักเล็กน้อย โดยเฉพาะภาพความคึกคักของร้านอาหาร หอพัก และสถาบันกวดวิชา แต่เราเชื่อว่าทุกอย่างจะกลับมาในเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิม

ขอบคุณ ‘พญาไท’ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต และมันจะอยู่ในความทรงจำวัยมัธยมฯ ของเราตลอดไป

Writer & Photographer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.