3’Orn Co-living ธีสิสหอพักย่านสะพานเหลือง - Urban Creature

หนึ่งในปัญหาใหญ่ของวัยเริ่มทำงานคือ การต้องตัดสินใจเลือกระหว่างที่พักที่เดินทางไปทำงานสะดวกในราคาสูง หรือลดราคาที่พักลงมาแต่ต้องแลกกับการเดินทางที่ค่อนข้างลำบาก ซึ่งเมื่อคำนวณแล้ว สุดท้ายอาจไม่คุ้มกันอยู่ดี 

จะดีกว่าไหม ถ้ามีที่อยู่อาศัยที่ทั้งใกล้ขนส่งมวลชน เดินทางง่าย ห้องพักอยู่สบาย และราคาเหมาะสมที่ไม่ถึงกับต้องตัดค่าใช้จ่ายบางส่วนทิ้งไป

‘อัน-อรวรา เวโรจน์วิวัฒน์’ นิสิตภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มองเห็นปัญหานี้ รวมไปถึงปัญหาการล่มสลายของชุมชนอยู่อาศัยดั้งเดิมในเมืองชั้นใน ซึ่งเกิดจากความต้องการที่อยู่อาศัยในเมืองที่เพิ่มขึ้น ทำให้พื้นที่เมืองชั้นในถูกรื้อ ส่งผลให้ผู้คนในชุมชนย้ายออก ร้านค้าซบเซา มีจำนวนตึกว่างให้เช่าหรือขายเพิ่มขึ้นในพื้นที่ชุมชน 

เธอจึงนำมันมาเป็นไอเดียสำหรับการทำธีสิสในหัวข้อ ‘โครงการพัฒนาย่านที่อยู่อาศัยสะพานเหลืองเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชากรวัยทำงานตอนต้นและผู้อาศัยดั้งเดิม’

และไม่ใช่แค่การออกแบบผ่านโครงงานจนได้เป็นวิทยานิพนธ์ดีเด่นประจำปี 2562 เท่านั้น แต่ธีสิสหัวข้อนี้ยังกลายเป็น ‘หอพัก 3’Orn Co-living’ ที่เปิดให้คนเข้าพักได้จริงในย่านสะพานเหลือง ตรงกับความตั้งใจของผู้ออกแบบที่ต้องการทำที่อยู่อาศัยราคาเข้าถึงได้ และช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กลุ่ม First Jobber อย่างตัวเอง

3'Orn Co-Living

First Jobber และปัญหาค่าครองชีพในเมือง

“ด้วยความที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัดเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ได้รับเงินค่ากินอยู่เป็นรายเดือน ทำให้เป็นกังวลต่อการแบ่งค่าใช้จ่าย ค่ากิน ค่าอยู่ ยิ่งตอนปี 5 ใกล้จะเรียนจบ ก็เริ่มคิดว่าเราจะไปทำงานที่ไหน จะอยู่ยังไง จะจัดการค่าใช้จ่ายยังไง ซึ่งคาบเกี่ยวพอดีกับช่วงที่ทำธีสิส เราเลยเอาความกังวลและคำถามเหล่านั้นไปศึกษาต่อ 

“จริงๆ ทำเพื่อตอบคำถามให้ตัวเองแหละ แต่พอไปรีเสิร์ชต่อก็พบว่ามันไม่ใช่ปัญหาของเราเพียงคนเดียว แต่เป็นปัญหาของ First Jobber หรือคนที่เพิ่งเรียนจบ ที่ต้องเจอปัญหาเหมือนกับเรา”

อันเล่าถึงจุดเริ่มต้นไอเดียในการทำธีสิสเรื่องนี้ขึ้นมา โดยเป็นมุมมองจากตัวเองในฐานะเด็กต่างจังหวัดผู้เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ไม่มีบ้านหรือคอนโดมิเนียม การอยู่อาศัยในเมืองจึงเป็นการเช่าห้องพักในหอพักตามทำเลต่างๆ ทำให้เธอสนใจเรื่องค่าครองชีพของกลุ่ม First Jobber หรือเด็กจบใหม่ ที่ต้องก้าวเข้าสู่ชีวิตวัยทำงานด้วยเงินเดือนอันน้อยนิด สวนทางกับค่าครองชีพอย่างค่าที่อยู่อาศัย ค่ากิน และค่าเดินทางที่ต้องใช้จ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

3'Orn Co-Living

แต่เมื่อพิจารณาอย่างจริงจังแล้ว อันมองว่าทั้งค่าที่อยู่และค่าเดินทางเป็นปัจจัยที่เชื่อมโยงกันและสามารถควบคุมได้ เธอจึงเลือกที่จะนำปัญหาที่อยู่อาศัยและการเดินทางมาวิเคราะห์ต่อ จนทำให้เกิดธีสิสที่มีเนื้อหาว่าด้วยโครงการพัฒนาย่านที่อยู่อาศัยขึ้นมา
“ว่ากันตามตรง ประเทศเราก็มีรัฐซัปพอร์ตเรื่องที่อยู่อาศัยอย่างการเคหะฯ ซึ่งราคาถูกจริง แต่การเดินทางไม่ได้สะดวกสบาย หรือถ้าเป็นของหน่วยงานเอกชนก็จะเป็นคอนโดฯ ที่มีเยอะมากในเมือง ใกล้แหล่งงานหรือสถานศึกษา แต่ค่าเช่าต่อเดือนก็สูงมาก

“เราเลยมาดูอีกตลาดหนึ่ง เป็นที่อยู่อาศัยราคาปานกลางไปจนถึงเกือบสูง โดยราคาเริ่มต้นที่ห้าพันบาทไปจนถึงเก้าพันบาท ขึ้นอยู่กับสภาพความใหม่-เก่าและขนาดของห้อง ขณะเดียวกัน แม้ราคาจะเป็นมิตร อยู่ใกล้แหล่งงานและสถานศึกษาก็จริง แต่ความต้องการก็สูงมาก อย่างนักศึกษาจากต่างจังหวัดที่เพิ่งทราบผลสอบก็เช่าไม่ทัน ต้องออกไปหาที่อยู่ที่ไกลออกไปแทน”

ย่านที่อยู่อาศัยที่ราคาเป็นมิตร เดินทางง่าย เชื่อมโยงกับชุมชน

อันอธิบายว่า ถ้าไปดูค่าใช้จ่าย 2 ใน 3 ของคนเมือง ส่วนใหญ่ล้วนหมดไปกับที่อยู่อาศัยและการเดินทาง ซึ่งไม่ใช่แค่เด็กจบใหม่เท่านั้นที่ประสบปัญหานี้ เธอจึงมองหาหนทางการลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ และคิดไปด้วยว่าจะทำที่อยู่อาศัยราคาถูกได้อย่างไร

อันได้เลือกออกแบบโมเดลธุรกิจโดยมีองค์ประกอบในการพัฒนาย่านคือ การสำรวจอาคารที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์น้อย โดยเฉพาะตึกแถวในชุมชนมาประเมินความเป็นไปได้ทางธุรกิจ วิเคราะห์รูปแบบการใช้ประโยชน์อาคารโดยรอบและตำแหน่งที่ตั้ง เพื่อกำหนดแนวทางการออกแบบองค์ประกอบของย่านที่มีทั้งหมด 4 องค์ประกอบ ได้แก่ อาคารที่ไม่ได้ใช้งาน (Underused Building) พื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ (Public Park) พื้นที่สาธารณะขนาดเล็ก (Pocket Space) และถนน/ทางเดินเท้า (Route) เพื่อเอื้อให้ผู้อยู่อาศัยกลุ่มเดิมและกลุ่มที่ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ได้มีโอกาสทำความรู้จักกัน เกิดความสัมพันธ์ในชุมชน นำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

สำหรับเกณฑ์ของพื้นที่ที่อันตั้งใจนำมาใช้นำเสนอในธีสิสคือ ต้องเป็นตึกแถวที่ไม่ได้ใช้งาน อยู่ในพื้นที่ที่ใกล้แหล่งงาน และใกล้สถานีรถไฟฟ้าเพื่อควบคุมค่าเดินทาง เนื่องจากที่ดินเปล่าในกรุงเทพฯ หาได้ยากและราคาสูงมาก ตึกแถวที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือใช้ได้ไม่เต็มศักยภาพในพื้นที่จึงเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการนำมาพัฒนาให้เป็นที่อยู่อาศัย

3'Orn Co-Living

หลังจากไปสำรวจมาในหลายพื้นที่ อันได้เลือกย่านสะพานเหลืองไปนำเสนออาจารย์ เพราะจากบริเวณนี้มีแหล่งงานสำคัญอยู่ไม่ไกล นั่นคือ ย่านสีลมและสาทร รวมถึงอยู่ไม่ไกลจากรถไฟฟ้า ประกอบกับอาม่าของเธออาศัยอยู่ในย่านนี้ เธอจึงได้มาแถวนี้บ่อยๆ และมีโอกาสลงพื้นที่สำรวจบ้านและเหล่าอาคารที่ไม่ได้ใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นอาคารปล่อยเช่า ขาย ปิดร้าง หรือปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ 

จากการสำรวจ ทำให้อันพบว่าย่านสะพานเหลืองยังมีความเป็นชุมชนและวัฒนธรรมอยู่ ยกตัวอย่างการเป็นชุมชนจีนที่มีความเป็นที่อยู่อาศัย มีตลาด การขายของ และวิถีวัฒนธรรมของพื้นที่ ดังนั้นนอกจากการมองหาพื้นที่ทำที่อยู่อาศัยราคาถูกแล้ว ธีสิสหัวข้อนี้ยังครอบคลุมไปถึงการพัฒนาที่อยู่อาศัยอย่างยั่งยืนด้วย

3'Orn Co-Living

“เหมือนมีสองหัวข้อในธีสิสคือ เรื่องการทำที่อยู่อาศัยที่มีราคาเหมาะสม และการที่จะทำยังไงให้คนใหม่ๆ อยู่กับชุมชนดั้งเดิมอย่างกลมกลืนไปด้วยกัน เราเลยตั้งคอนเซปต์การพัฒนาย่านเป็น ‘ย่านยินดีที่รู้จัก’ เมื่อเราเอาคนใหม่ๆ เข้ามา คนที่เข้ามาก็จะไม่เป็นคนแปลกหน้าระหว่างคนในชุมชนอีกต่อไป” 

จากแปลนในธีสิสสู่หอพัก 3’Orn Co-living 

“งงเหมือนกันนะ เพราะหอพักแห่งนี้เป็นทั้งความตั้งใจและไม่ตั้งใจ” อันตอบพลางหัวเราะ เมื่อเราถามถึงความรู้สึกตอนที่เห็นอาคารหอพักแห่งนี้เกิดขึ้นจริง

เธอเสริมว่า หอพัก 3’Orn Co-living แห่งนี้เกิดขึ้นจากความรู้สึกผิดที่ติดต่อคุณยายเจ้าของตึกเพื่อเข้าไปสำรวจภายในสำหรับเป็นตัวอย่างในการออกแบบผลงาน โดยใช้ชื่อแม่มาอ้าง แต่สุดท้ายแม่เธอก็สนใจตึกนี้จริงๆ และโปรเจกต์นี้ก็เริ่มต้นขึ้นเมื่อประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา

“เราเอาธีสิสให้แม่ดูด้วยว่า ถ้าอยากทำหอพักก็ทำได้จริงตามที่เราออกแบบเอาไว้เลย เพราะเราเข้ามาดูแปลนที่นี่ งานของเราก็ออกมาเป็นแบบที่นี่เลย”

3'Orn Co-Living
3'Orn Co-Living

นอกจากเป็นหอพักที่ราคาเป็นมิตรต่อผู้เช่ากลุ่มเด็กจบใหม่ ประโยชน์ต่อชุมชนที่อันตั้งใจสร้างขึ้นอีกคือ อยากให้หอพักนี้เป็นพื้นที่ที่สว่างเพื่อลดความน่ากลัวในตอนกลางคืน มีพื้นที่สาธารณะให้ผู้คนในบริเวณนั้นได้ใช้พักผ่อน และมีจุดเด่นสังเกตง่าย เพราะพื้นที่ตรงนั้นค่อนข้างหายากและทำให้คนหลงอยู่บ่อยๆ

เมื่อหอพัก 3’Orn Co-living ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ก็สามารถให้ประโยชน์กับชุมชนได้จริง แต่ไม่ทั้งหมดตามที่อันตั้งใจไว้ เพราะตอนนี้เธอยังไม่สามารถนึกภาพออกได้ว่าจะทำอย่างไรให้หอพักเป็นจุดสังเกต แต่อย่างน้อยเธอก็พยายามติดไฟเพื่อให้หอพักมีแสงสว่างตลอดเวลา และสร้างพื้นที่สาธารณะขนาดย่อมด้วยม้านั่งหน้าหอพัก เพื่อให้คนในชุมชนที่เดินผ่านไปผ่านมาใช้นั่งพักผ่อนได้

เพราะแม้ว่าตัวธีสิสจะมีไอเดียและเป้าหมายในการเชื่อมโยงชุมชน โดยสิ่งที่เชื่อมผู้คนทั้งใหม่และเก่าคือพื้นที่สาธารณะหรือ Pocket Area ตามที่ออกแบบเอาไว้ แต่เมื่อโปรเจกต์นี้ทำในอาคารขนาดเล็ก มีจำนวนผู้เข้าพักเพียง 6 ห้อง เลยยังไม่ได้มีการเริ่มต้นทำพื้นที่สาธารณะระดับชุมชน ทำให้ยังไม่ได้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนเก่าและกลุ่มคนใหม่เท่าไรนัก

อันบอกกับเราว่า หากมีหน่วยงานที่สนใจอยากพัฒนาพื้นที่ตรงนี้ เธอเองก็อยากนำเสนอไอเดียเหล่านี้ เพื่อหวังให้เกิดการนำไปต่อยอดและสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นจริง นอกจากนี้ เธอยังทิ้งท้ายว่า หากมีโอกาสเจอตึกที่ไม่ถูกใช้งานหรือใช้งานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพแบบนี้ในย่านสะพานเหลืองอีก เธออาจจะพัฒนาอาคารกับพื้นที่ในย่านได้มากขึ้น และเป้าหมายอื่นๆ ที่วางเอาไว้ในธีสิสก็อาจเกิดขึ้นจริงตามความตั้งใจของเธอก็เป็นได้

3'Orn Co-Living

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.