ซอยนานา เยาวราช กลางคืน - Urban Creature

นานา ซอยเพื่อนบ้านเยาวราชแต่รสชาติต่างกัน
นานา เคยเป็นแหล่งซ่องสุมในยุคจิ๊กโก๋ครองเมือง
นานา ผลัดใบสู่ย่านแห่งการค้าขายยาจีนสุดคึกคัก
นานา เปลี่ยนผ่านสู่ย่านซบเซา เจ้าถิ่นทยอยย้ายไปหาความศิวิไลซ์
นานา ถูกปลุกให้มีชีวิตอีกครั้งโดยคนรุ่นใหม่

นานา แปลงร่างเป็นไนต์ไลฟ์ของคนชอบกินดื่ม และเสพงานศิลป์ที่ใครต่างก็รู้จักใน พ.ศ. นี้ แถมเป็นซอยที่ยังมีร่องรอยของสถาปัตยกรรมแสนละเมียด

ทว่าซอยนานาต้องชะงักความคึกคักไปชั่วครู่ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลายเป็นช่วงเวลาอันย่ำแย่ของคนทำมาค้าขายหลายเจ้าที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ ณ ย่านนี้

เสียศูนย์ได้…แต่ทุกชีวิตต่างไม่หยุดลุกขึ้นมาสู้ใหม่ ซอยนานาวันนี้เป็นอย่างไร ผมอยากพาทุกคนไปถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกับแต่ละชีวิตในซอยนานา

ป.ล. บทความนี้ได้เกิดขึ้นก่อนโควิด-19 ระลอก 3

เชื่อว่าหลายคนต้องเคยสับสนระหว่าง ‘ซอยนานา’ เยาวราช กับ ‘ซอยนานา’ สุขุมวิท ผมสืบสาวราวเรื่องก็พบว่า ซอยนี้มีเจ้าของเดียวกัน คือ ‘ตระกูลนานา’

หากย้อนไทม์แมชชีนกลับไปสัก 60 ปี ที่บอกว่าเป็นยุคอันธพาลครองเมือง ก็ต้องเล่าว่าในยุคนั้นวัฒนธรรมตะวันตกกำลังหลั่งไหลเข้ามา วัยรุ่นขาโจ๋ก็มักไปปล่อยใจตามสถานบันเทิงเริงรมย์ที่กระจุกอยู่ในตัวเมือง นั่นคือโซนย่านเก่าในปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็น Downtown ของเมืองไทยในอดีต บริเวณนี้จึงเป็นอีกที่หนึ่งที่ผู้คนมักนัดพบปะ และเกิดเหตุกระทบกระทั่งกันของเหล่าจิ๊กโก๋ให้เห็นจนชินตา

ในปี 2501 หลังรัฐประหารของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีนโยบายสำคัญคือ การปราบปรามเหล่านักเลงและอันธพาล จนตำนานยุคอันธพาลครองเมืองได้จบสิ้นลงในที่สุด

ซอยนานาเปลี่ยนผ่านสู่ ‘ตรอกซินแซโกย’ คือตลาดยาจีนที่มีร้านขายยาจีนเรียงรายกันทั้งซอย ซึ่งกลิ่นความอบอวลของสมุนไพรจีนก็ยังคงมีให้เราสัมผัสมาจนถึงทุกวันนี้ เพียงแต่ความคึกคักอาจจะไม่สู้สมัยก่อน

เมื่อความเจริญแผ่ขยายออกไป ตัวเมืองค่อยๆ เปลี่ยนหน้าตาเป็นย่านเก่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในซอยนานาก็เริ่มทยอยย้ายออกไปหาความศิวิไลซ์ ทำให้บริเวณนี้เริ่มเงียบงันและซบเซา วันดีคืนดีมีคนรุ่นใหม่มองเห็นศักยภาพของตึกเก่าเหล่านี้ว่าต่อยอดเป็นอะไรต่อมิอะไรได้อีกมากมาย จึงเกิดการปัดฝุ่นซอยนานาแห่งเยาวราชครั้งใหญ่

Oneday Wallflowers อาณาจักรดอกไม้ผู้เห็นการผลัดใบของนานา

หลังจากอยู่ในวงการสถาปนิกจนพอใจ และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของร้าน Casa Lapin จนเป็นที่จดจำ ลักษณ์-ณัฐพัชร สุริยะกำพล ได้คำตอบในชีวิตแล้วว่า ‘การจัดดอกไม้’ คืองานอดิเรกที่เขาตกหลุมรัก เป็นงานประจำที่หาเลี้ยงปากท้อง และเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดตัวตนของลักษณ์ได้เป็นอย่างดี

แม้บ้านของลักษณ์จะอยู่โซนสุขุมวิท แต่เขาชอบตึกเก่า ลักษณ์เคยมีโอกาสไปทำงานที่ภูเก็ตอยู่ช่วงหนึ่ง และประทับใจในบริเวณย่านเก่าภูเก็ต (Phuket Old Town) เขาวาดภาพในหัวไว้ว่า หากได้พาตัวเองไปอยู่บรรยากาศนั้นจริงๆ ก็คงจะดีไม่น้อย

“รู้สึกว่าสิ่งก่อสร้างทุกอย่างมันสร้างได้ แต่บางสตอรี่มันสร้างใหม่ไม่ได้ อย่างแถวนี้เป็นเมืองเก่าที่หลายๆ ที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง เราเดินหลงมาแล้วรู้สึกว่าตรอกซอกซอยนี้มันมีเสน่ห์ มันเป็นอะไรที่ไม่สามารถหาได้ในสุขุมวิทใกล้บ้าน ตรอกซอกซอยนี้เหมือนหนังฮ่องกง เราชอบอิฐเก่าที่มีตะไคร่ขึ้น มีมอสส์ขึ้น ทางเดินไม่ถึงเมตร พวกนี้มันเป็นอะไรที่ไม่สามารถออกแบบได้ 

“เมื่อก่อนตอนกลางวันแถวนี้ดูแล้วไม่มีอะไรเลย ร้างมาก มีแค่ร้านขายยาจีนที่อยู่กันได้ ตอนมาเปิดร้านดอกไม้ หลายคนก็ตั้งคำถามและสงสัยว่า เฮ้ย จะอยู่ยังไง (หัวเราะ) เขาอาจจะไม่เข้าใจคอนเซปต์ของเรา” ลักษณ์เผยที่มาของอาณาจักรดอกไม้ Oneday Wallflowers

Oneday Wallflowers อยู่คู่ซอยนานาแห่งเยาวราชมาเลยครึ่งทศวรรษ ผ่านช่วงเวลาล้มลุกคลุกคลานมามากมาย ตั้งแต่การบุกเบิกเป็นร้านจัดดอกไม้เจ้าแรกของซอย ทำเอาคนในย่านสงสัยว่าธุรกิจแนวนี้ ทำไมจึงมาลงหลักปักฐานที่ย่านนี้

การต่อยอดจากร้านดอกไม้สู่ Wallflowers Cafe บาร์และคาเฟ่ที่จริงจังเรื่องกาแฟ เพื่อสร้างอรรถรสให้แบรนด์ตัวเองและย่าน เพราะเพียงแค่ก้าวเท้าเข้าไปในร้าน ก็เหมือนหลุดไปในโลกของดอกไม้และกาแฟอย่างไรอย่างนั้น

“ช่วงโควิดเราปิดตัวเองก่อนที่รัฐบาลจะสั่งห้ามขาย เพราะได้ยินมาแล้วเรื่องการเฝ้าระวัง เด็กๆ ในร้านไอทีหนึ่งก็ระแวงกันแล้ว เราเลยเตรียมตัวกันก่อน ช่วงนั้นเป็นช่วงที่เราต้องทบทวน และพักฟื้นตัวเอง

“อีกอย่างเป็นเพราะเราสร้างฐานลูกค้าไว้แน่นตั้งแต่เริ่มเปิดร้าน พอหลายอย่างเริ่มซาเราก็ยังกลับมาได้ เพราะเราเชื่อว่าลูกค้าเขาโดนบังคับให้อยู่แต่บ้านมาสองสามเดือน เขาก็โหยหาที่พักผ่อนหย่อนใจ ซึ่งที่นี่เราฟังฟีดแบ็กตลอด เช่น มาแล้วสบายใจนะ มาแล้วได้รับแรงบันดาลใจ เราก็พยายามทำให้มันดีต่อใจเขาเสมอ” นี่คือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้ลักษณ์อยากปั้นแบรนด์ Wallflowers ต่อไป

นะฮิม จากร้านยาจีนเก่าสู่คาเฟ่ที่เยาว์วัยตลอดกาล

“เรามาเช่าที่นี่เพราะรู้จักแถวนี้มาก่อน บ้านอาม่าอยู่ซอยตรอกโรงหมู แต่ก็ไม่คิดว่าโตมาจะได้เปิดร้านอยู่ในย่านนี้”

พิม-ชโลชา นิลธรรมชาติ เจ้าของคาเฟ่ชื่อน่ารักนาม ‘นะฮิม’ (Nahim) ผู้เรียนจบหญิงล้วน และจบปริญญาตรีด้วยสกิลบัลเลต์จัดเต็ม (คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกนาฏศิลป์สากล) เธอรู้ตัวเองตอนเรียนจบว่าไม่ชอบเต้นเป็นอาชีพ เลยพาตัวเองไปอยู่ในวงการคาเฟ่ที่เธอชื่นชอบ ด้วยหน้าที่การตลาดและประชาสัมพันธ์ของธุรกิจร้านอาหารและร้านกาแฟชื่อดัง จนได้คำตอบแล้วว่า นี่แหละ คือสิ่งที่เธอตามหา

“ตอนที่เราใกล้ออกจากออฟฟิศ เราเอาเงินที่เก็บจากที่ทำงานออฟฟิศมาสามปีไปเที่ยวญี่ปุ่นคนเดียวหนึ่งเดือน เพื่อที่จะดูว่าทำไมคาเฟ่ที่มันมีความญี่ปุ่นถึงชนะใจคนส่วนใหญ่ อยากรู้ว่าความญี่ปุ่นคืออะไร สุดท้ายมารู้ว่ามันไม่มีอะไรเลย (หัวเราะ) แต่มันต้องเติมเต็มคนให้ได้แค่นั้นเอง 

“ตั้งแต่เดินเข้าร้าน เพลงที่เปิด กลิ่น ขนม เครื่องดื่ม ทุกอย่างมันต้องหลอมให้เราอยากกิน อยากทำ อยากใช้เงิน มันเป็นการสร้างบรรยากาศ ก็เลยคิดว่าความญี่ปุ่น มันคือการใส่รายละเอียดเข้าไปทุกตารางมิลฯ ซึ่งเป็นโจทย์ที่สนุกมาก” พิมในวัย 26 ปี ตอนนั้นรู้สึกว่า ‘ฉันต้องกางปีก’ เธอตามดูโลเคชันแทบทุกที่ โดยเล็งอารีย์เป็นย่านแรก เพราะความชอบส่วนตัว และคงไม่มีใครเถียงว่าถ้าพูดถึงย่านแห่งคาเฟ่ ก็ต้องคิดถึงอารีย์เป็นลำดับต้นๆ 

เธอเล่าติดตลกต่อว่า ตอนนั้นสู้ค่าเช่าไม่ไหว แต่ไม่เป็นไร หาโลเคชันต่อ จนซอยนานาแห่งเยาวราชดึงดูดให้พิมลองมาสำรวจ อาจเป็นเพราะเธอคุ้นเคยกับย่านนี้มาตั้งแต่เด็ก เลยไม่ลังเลหากจะลองเปิดคาเฟ่ที่นี่ดูสักตั้ง

นะฮิมอยู่คู่ซอยนานาเข้าสู่ปีที่ 6 พิมบอกผมว่า ทุกวันนี้มีหลายสิ่งเกิดใหม่ขึ้นมา กลายเป็นว่านะฮิมเหมือนเด็กยุค Hi5 ที่ต้องมาเล่น TikTok บางทีพิมก็ตามไม่ทัน เธอเลยต้องมองมุมกลับปรับมุมมอง

“ถ้าเราเป็นเจ้าของคาเฟ่ที่อายุโตขึ้นไปเรื่อยๆ แต่อยากทำร้านที่ทำให้วัยรุ่นเข้า เราก็ต้องมีทีมงานที่วัยรุ่นมาช่วยเราคิด ไม่ใช่ว่าเราจะมองแต่ตัวเอง เพราะถามว่าตอนนี้นะฮิมมาจากพิมเต็มร้อยเหมือนห้าหกปีที่แล้วไหม ก็ไม่ใช่ แต่เราปรับตามลูกค้าวัยนี้ด้วย ถ้าเรายังอยากยืนหยัดคอนเซปต์ความสดใส ให้จุดนี้เป็นเหมือน Oasis นะ คนไปช้อปปิงเยาวราชแล้วมาเจอแอร์เย็น ดื่มน้ำอร่อย กินขนมหวาน ถ่ายรูป เรายังอยากให้นะฮิมเป็นแบบนั้น ฉะนั้นมันก็จะไม่ใช่ตัวเราร้อยเปอร์เซ็นต์แล้ว

“เมื่อก่อนตรงนี้เป็นร้านขายยาจีนกับโกดังเก็บผ้าไหม ตอนเราเปิดร้านเดือนแรก มีครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่งมานั่งที่ร้าน แล้วบอกว่าเคยอยู่บ้านนี้ตอนเกิด เขาไม่เคยเห็นการเปลี่ยนแปลงของมัน ก็เลยพาอากงอาม่ามาดู เรารู้สึกว่าจริงๆ ทุกที่มันมีประวัติศาสตร์ของมัน แค่มันเป็นประวัติศาสตร์ของใคร”

บ้านเลขที่ 78 ซอยนานา อาจเคยเป็นบันทึกหน้าหนึ่งของบางคน แต่เวลานี้มันคือไดอารีของนะฮิม ที่บันทึกช่วงเวลาตั้งไข่ ช่วงเวลาคนพลุกพล่าน ช่วงเวลาที่ฮอตจนสื่อหลายสำนักขอเข้ามารีวิว แม้ตอนนี้อาจสะดุดไปบ้างจากสถานการณ์ไวรัสระบาด

“โควิดเป็น Shortcut ที่ทำให้ทุกคนรู้ว่าจะเอายังไงต่อกับธุรกิจ พอมันเป็นย่านที่ติดเทรนด์ไปแล้ว พอมีข่าวลบอะไรนิดหนึ่งมันก็เงียบไปเลยเหมือนกัน เราไม่เคยมาซีเรียสเรื่องเดลิเวอรี เพราะเราคิดว่าร้านเราน่ารัก เดี๋ยวคนก็อยากมา พอโควิดมา ตอนนี้ 5 แอปฯ เราเอาหมด เรื่องงานหลังบ้านก็สำคัญ เราทำโดนัทของเราให้ติดตลาด ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ร้านยังอยู่ได้ แต่ยังไงหน้าร้านก็ยังสำคัญ เพราะมันเป็นเหมือนโชว์รูมของเรา”

พิมยังทิ้งท้ายกับผมอีกว่า นะฮิมเตรียมจะทำโชว์รูมใหม่ให้เติบโตขึ้นไปพร้อมกับตัวเธอเอง แต่ไม่ทิ้งคาแรกเตอร์ที่เธอสร้างมากับมือ ผมเลยสัญญากับเจ้าของร้านคนเก่งว่า ถ้านะฮิมปรับลุคเสร็จเมื่อไหร่ จะไม่พลาดแวะมาเยี่ยมแน่นอน

Patani Studio แล็บล้างอัดฟิล์มหนึ่งเดียวในซอยนานา

หลังเรียนจบจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ลาดกระบังฯ เต้-ธวัชชัย พัฒนาภรณ์ ก็เป็นช่างภาพอิสระเรื่อยมาราว 10 ปี เขาทำโปรเจกต์ถ่ายรูปสารคดี และถ่ายรูปสัมภาษณ์ให้นักเขียน จนเมื่อปี 2011 มีโอกาสได้ทุนสนับสนุนทางศิลปะ และได้เดินทางไปทำโปรเจกต์ภาพถ่ายที่ประเทศญี่ปุ่นและอีกหลายที่

หลังจากกลับมา ยุคนั้นเป็นยุคที่ทุกคนวิ่งเข้าหาโลกดิจิทัล หลายคนเลิกใช้ฟิล์ม หลายเจ้าก็เลิกให้บริการกันไป ทว่าเต้อยากใช้สกิลด้านการล้างและอัดฟิล์มที่มีมาสวนกระแส เพื่อดูว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร และมันคงจะท้าทายตัวเองไม่ใช่น้อย จึงเกิดเป็น Patani Studio (ปาตานี สตูดิโอ) แห่งซอยนานาขึ้น

“จุดหนึ่งเราก็อยากมีสตูดิโอที่เป็นบ้านด้วย ทำงานภาพถ่ายได้ด้วย ซึ่งงานของเราจะเป็นงานแอนะล็อกทุกขั้นตอน ต้องใช้ห้องมืด พอดีมีเพื่อนเป็นช่างภาพฝรั่ง เขาเคยมีสตูดิโออยู่แถวนี้ เราเลยรู้ว่าตรงนี้น่าสนใจ มันมีหลายส่วนผสม บางคนที่มาอยู่ก่อนก็เป็นศิลปินที่มาจากหลากหลายชาติ UK ฝรั่งเศส สเปน” 

เต้พา Patani Studio มาบุกเบิกซอยนานาในยุคที่ยังมีห้องว่างให้เช่าอยู่เพียบ และถือเป็นยุคแรกๆ ที่ซอยนานาเริ่มมีกลิ่นอายของศิลปะ ก่อนจะเริ่มมีธุรกิจบาร์และคาเฟ่เกิดขึ้นตามมา

“ชอบย่านนี้ตรงความหลากหลายและมันเดินได้ จะไปเยาวราช หัวลำโพง หรือพลับพลาไชยซึ่งเป็นย่านขายอุปกรณ์เคมีและฟิล์มเก่าก็เดินไปได้ หลายอย่างมันเอื้อให้เราใช้ชีวิต มีของกิน ร้านกาแฟ ที่ขายเมล็ดกาแฟ จะซื้อผ้าก็ไปพาหุรัด จะซ่อมกล้องก็ไปสะพานเหล็ก ชีวิตเราก็อยู่แถวนี้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปในเมือง” คำบอกเล่าของเต้ยืนยันกับผมได้ดีว่า ย่านนี้เกิดมาเพื่อเขาแค่ไหน

สิ่งที่ผมอดถามไม่ได้คือ ในสถานการณ์ที่เพื่อนบ้านของ Patani Studio ต้องหยุดความคึกคักกันไปชั่วคราว สตูดิโอของเขายังยืนหยัดอยู่ได้หรือเปล่า…

เต้บอกผมว่า Patani Studio อยู่ได้เพราะไม่ใช่ธุรกิจที่ถูกรัฐบาลสั่งปิด ซึ่งนั่นอาจเป็นความโชคดี ประจวบเหมาะกับกระแสที่หลายคนหันมาจับกล้องฟิล์ม และหวนคิดถึงงานแอนะล็อก ก็ยิ่งทำให้เห็นว่า สตูดิโอล้างอัดฟิล์มแห่งนี้ยังคงเติบโตต่อไปได้ท้าทายกระแสที่รุดหน้าไปเรื่อยๆ

103 Bed & Brews ที่พักและคาเฟ่ของทายาทซอยนานา

พอรู้ว่าหนึ่งในเจ้าของร้านอย่าง บอล-อธิป นานา คือลูกหลานเจ้าของซอยแห่งนี้ ก็แอบตื่นเต้นที่จะได้คุยกับเขาตัวเป็นๆ บอลชิงบอกผมก่อนเลยว่า แม้จะเป็นทายาทซอยนานา แต่ใช่ว่าจะรู้จักที่นี่ดีไปกว่าใคร

“จริงๆ ซอยนี้ผมเคยได้ยินมาตั้งแต่เด็ก แต่ผมไม่ค่อยคุ้น ผู้เช่าของผมส่วนหนึ่งจะเป็นผู้เช่าที่อยู่อาศัยกันมานาน ผมเคยถามว่า ‘เฮียๆ เฮียก็ร่ำรวยแล้วนะ ทำไมเฮียไม่ย้ายบ้าน’ เขาบอกเขามีบ้าน บ้านหลังใหญ่นะ แต่ว่าไม่ถูกใจ เพราะเขามีความผูกพัน เขาโตมาที่นี่ เขาวิ่งเล่นที่นี่ เขารู้ว่าร้านไหนอร่อย 

“พอเริ่มมีบาร์ มีร้านขายดอกไม้เข้ามา ตอนนั้นเป็นเพราะเรย์ แมคโดนัลด์ พาร์ตเนอร์ 103 Bed & Brews บอกว่า ‘เฮ้ย ซอยมึงกำลังดังแล้วนะ’ ผมเลยมาดู แล้วก็ชอบ ผมกับเรย์ชอบอะไรที่มีสตอรี่ มีความหลัง ชอบอะไรวินเทจ ก็เลยมาลงเอยที่ห้องหัวมุมนี้ กลายเป็นว่าผมเพิ่งมาสนิทกับคนในซอย และเริ่มเข้าใจวิถีของคนที่อยู่อาศัยที่นี่หลังจากมาเปิดร้าน พอเรามาเห็นอย่างนี้ เราเข้าใจ แล้วก็สนับสนุนธุรกิจที่อยากมาเช่า

“ผมเห็นเลยว่าแต่ละร้านตั้งใจและพิถีพิถันสร้างเสน่ห์ให้พื้นที่ของตัวเอง ซึ่งถ้าถามว่าทำไมเราไม่ทำให้เป็นร้านค้าทั้งหมด เร่งให้เติบโตเร็วๆ หรือรับผู้เช่าเป็นใครก็ได้ มันก็จะไม่ต่างจากข้าวสารที่ Commercial จัด ซอยนี้ยังดีเพราะมันยังมีของอยู่ ผมว่าเสน่ห์มันยังอยู่” บอลเล่า

บ้านเลขที่ 103 แห่งซอยนานา ทำหน้าที่เป็นทั้งคาเฟ่และที่พักคอยต้อนรับทุกคนเรื่อยมา บอลเล่าว่า แม้จำนวนห้องข้างบนไม่ได้เยอะมาก แต่มีคนจองเต็มตลอด เจ้าของที่อย่างเขายังแทบไม่ได้นอน แต่พอเจอโควิดปุ๊บ ก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือทันที

“โควิดอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของ 103 และอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนของทั้งซอยด้วย เพราะปกติฐานลูกค้าคือต่างชาติ เรียกว่าเป็นย่านนักท่องเที่ยวพอสมควร ทีนี้เราก็ต้องปรับตัว พยายามให้ได้ทุนคืน มีค่าจ้างพนักงาน เราอยู่ได้ คนอื่นไม่เดือดร้อน จากที่เคยมุ่งขายต่างชาติ เราก็ต้องเปลี่ยนมาโฟกัสลูกค้าคนไทยมากขึ้น ลูกค้าคนไทยชอบถ่ายรูป เราก็เลยเพิ่มมุมถ่ายรูป 

“จุดประสงค์ของร้านจากที่เคยทำกำไร เราก็ต้องปรับเปลี่ยนมาเป็นเอาตัวรอด (หัวเราะ) มันเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครเดาได้ และที่สำคัญคือ ตอนนี้ประมาณปีหนึ่งแล้ว คนเริ่มเข้าใจมัน แต่ก็ยังไม่สามารถพยากรณ์ว่าจะลงเอยยังไง เมื่อไร และผลออกมายังไง มีวัคซีนแล้ว แต่เรื่องเดินทางล่ะทำได้ไหม ยังไม่มีข้อมูลอะไรทั้งนั้น เพราะฉะนั้น คิดว่าเราต้องอยู่แบบนี้ไปอีกประมาณปีหนึ่งเต็มๆ”

บอลกล่าวปิดท้ายกับผมอย่างงดงามว่า “คนเรามันไม่มีทางลงตลอดเวลาหรอก เราก็หวังว่าเราถึงจุดต่ำสุดแล้วเดี๋ยวมันก็มีแต่ขึ้น”

ป.ล. แว่วมาว่า 103 Bed & Brews เพิ่งปรับปรุงร้านโฉมใหม่ไปหมาดๆ ถ้าสถานการณ์หรืออะไรหลายอย่างเริ่มดีขึ้น สัญญาเลย ผมไม่พลาดกลับไปเยือนเป็นแน่

Ba Hao บาร์และบูทีกโฮเต็ลใต้ชายคาบ้านเลขที่ 8

คงเป็นเพราะความโชคดีที่หนึ่งในหุ้นส่วนอย่าง ภูมิ สมบูรณ์กุลวุฒิ ผู้เป็นคนในละแวกนี้โน้มน้าวเพื่อนๆ ให้มารู้จักความสวยงามของตึกเก่าแห่งซอยนานา จนหุ้นส่วนทั้ง 6 คนเห็นพ้องต้องกันว่า บ้านเลขที่ 8 หลังนี้แหละต่อยอดเป็นอะไรเจ๋งๆ ได้ 

บัว-กานต์ชนิต เจริญยศ หนึ่งในหุ้นส่วนรอต้อนรับผมอย่างเป็นมิตร เธอไม่รีรอเท้าความถึง Ba Hao ให้ผมฟังอย่างออกรส

“ภูมิบ้านอยู่ข้างหลังนี้เลย พวกเราเป็นเพื่อนแฮงเอาต์มานานมากๆ ถ้าเพื่อนมาแถวเยาวราช ภูมิจะชอบเป็นไกด์พาไปเดินเล่นตลาดน้อย ทรงวาด ตั้งแต่สมัยเจ็ดแปดปีที่แล้ว ไอ้เราชอบเดิน ชอบเที่ยว และชอบตึกเก่าอยู่แล้ว ก็อยากเป็นเจ้าของโรงแรมตั้งแต่มัธยมฯ 

“วันหนึ่งภูมิก็เจอว่าตึกนี้ให้เช่า มันก็อยากเปิดบาร์ และจำได้ว่าเราอยากทำโรงแรม เลยชวนเรามาดูสถานที่ คุยกันว่าข้างล่างเป็นบาร์ ข้างบนทำเป็นโรงแรม เราก็สนใจ เพราะว่าสเกลโอเค ตอนมาดูตึกรอบหนึ่ง โอ้โห โทรมมาก แต่ไฟแรงไง ตอนนั้นทำงานได้สักสามสี่ปี เริ่มมีเงินเก็บ แต่ก็ขอเวลาคิดดูก่อน

“ผ่านไปสักอาทิตย์หนึ่ง ตอนนั้นไปเที่ยวที่เสียมเรียบกัน ภูมิก็โทรมาบอกว่า เฮ้ย ต้องตัดสินใจแล้ว มีคนจะเอา ถ้าจะเอาก็กลับมาเซ็นสัญญาเลยนะ เพื่อนมันก็ส่งสัญญามาให้ดูก่อน ก็อ่านๆ ไปไม่มีความรู้เลย ไม่เคยทำสัญญาอะไรมาก่อน ตอนนั้นยังมีแค่สามคน คือ ภูมิ บัว และพี่โน้ต ที่มาดูตึกด้วยกันสามคน พอกลับมาก็เซ็นสัญญาเช่า บัวก็เลยไปพาเพื่อนอีกคนหนึ่งมาดู เป็นสถาปนิกชื่อท็อป มาดูปุ๊บก็บอกว่าน่าจะได้นะ นี่คือมึงเซ็นสัญญาแล้วเหรอ (หัวเราะ) บอกว่า เออใช่ เซ็นแล้วว่ะ ต้องทำแล้ว” 

ไม่หมดเท่านี้ ภูมิ บัว โน้ต และท็อป ยังชวนเก๋และจิมมาเสริมทัพให้บาร์และบูทีกโฮเต็ลแห่งนี้ครบรสยิ่งขึ้น 

Ba Hao อาจเกิดจากความจับพลัดจับผลู แต่หุ้นส่วนทุกคนก็มีความคิดไปในทิศทางเดียวกัน และตั้งใจชุบชีวิตโกดังเก็บของร้างๆ ให้มีลมหายใจคู่ซอยนานาขึ้นมาได้

สำหรับผมแล้ว Ba Hao ถือเป็นอีกหนึ่งร้านแฮงเอาต์ที่ฮิตติดลมบน นึกถึงซอยนานา ก็ต้องมี Ba Hao ติดอยู่ในลิสต์ เมื่อร้านเดินทางเข้าสู่ปีที่ 2 จากบาร์และบูทีกโฮเต็ลได้ต่อยอดปั้น Ba Hao Tian Mi แบรนด์พุดดิ้งคู่เยาวราชที่แขกไปใครมาก็ต้องแวะชิม จนมาถึงช่วงโควิด-19 นี่ก็เป็นอีกเจ้าที่สะดุดเช่นกัน

“ก่อนมีโควิด ต้นปี 2019 เราแพลนว่าจะปรับเมนูใหม่ครั้งใหญ่ เราใช้คำว่า Revamped Ba Hao เลยตอนนั้น ทั้งเรื่อง Branding เราจะทำโซเชียลมีเดียให้ชัดขึ้น ความเป็น Ba Hao คืออะไร อาหารเปลี่ยนใหม่ เครื่องดื่มเปลี่ยนใหม่ ยกเครื่องใหม่หมด แพลนกันอยู่ปุ๊บก็โควิด (หัวเราะ) จอดเลยตอนนั้น 

“เดือนมีนาคม ปี 2019 รัฐบาลก็บอกว่าปิดสถานบันเทิง ซึ่งตอนแรกเราก็แบบ เราไม่ใช่สถานบันเทิงนะ เราขายข้าว เราก็ไม่ปิดแล้วกัน เปิดได้อีกหนึ่งวันเขตฯ มา (หัวเราะ) บอกว่าเข้าข่ายนะ ปิดค่ะ

“พอปิดก็เอาไงดี ไม่เคยไปยุ่งกับเดลิเวอรีมาก่อนเลย จนวันที่ถูกสั่งปิด ถ้าไม่ทำอะไรก็ตาย ลูกน้องเพียบเลย ก็เลยคิดแบรนด์ใหม่ขึ้นมาเลย ชื่อ ‘ปาเฮ่า ข้าวอบหม้อดิน’ ทำอะไรที่มันง่ายๆ จานเดียว แล้วก็ทำส่งเดลิเวอรี รีบสมัคร Grab และ LINE MAN พนักงานเราทุกคนไม่มีเลิกจ้าง ก็ต้องประคองกันไป

“ผู้ประกอบการในซอยก็ให้กำลังใจกัน บัวว่าโชคดีอีกอย่างหนึ่งคือ ผู้ประกอบการทุกคนในซอยนี้มีคาแรกเตอร์ แล้วก็มีจรรยาบรรณ คือเราจะไม่ทับไลน์กัน ทุกคนมีจุดเด่นของตัวเอง เวลามีสถานการณ์อะไรก็จะแชร์กัน เป็นคอมมูนิตี้เดียวกัน” บัวแบไต๋

เทพบาร์ คอนเซปต์บาร์ไทยในย่านจีน

ราตรีนี้ยังอีกยาวไกล ผมเดินทางมายัง เทพบาร์ (Tep Bar) ที่หลายคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี นี่คือบาร์เจ้าแรกๆ ที่เข้ามาริเริ่มทำให้ซอยนานามีชีวิตอีกครั้ง 

ก้อง เลิศกังวาลไกล หนึ่งในเจ้าของเทพบาร์ อดีตนักโฆษณาและนักเรียนสถาปัตย์ฯ พาผมย้อนไปฟังจุดเริ่มต้นของบาร์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยอย่างเป็นกันเอง

“พี่ทำโฆษณามาใช่ไหม ตอนนั้น ปี 2013 เริ่มเบื่อละ อยากทำอะไรกันเอง พี่เคยไปอยู่เมืองนอกมาแปดปี รู้สึกว่าความเป็นไทยในสายตาของคนไทยมันเชย ตอนทำโฆษณาก็เคยมีลูกค้าคนไทยเนี่ยแหละมาบอกว่าให้ช่วยทำแบรนด์นี้ให้ดูเป็นญี่ปุ่นหน่อย เจออะไรอย่างนี้มาเยอะตอนอยู่เมืองนอก นั่นก็เป็นอินไซด์ที่ทำให้เราอยากทำอะไรที่เกี่ยวกับความเป็นไทย 

“เราเริ่มคุยกับเพื่อนๆ ว่าเราอยากทำบาร์ไทยๆ ที่ทำใหม่โดยใส่ความสร้างสรรค์และความร่วมสมัยเข้าไป โดยคาดหวังว่า คนไทยรุ่นใหม่ๆ จะเปิดรับมัน แรกๆ มีแต่คนว่าว่าทำไมมาเปิดแถวนี้ เพราะถ้ามองในหลักการตลาดมันผิดไปหมด (หัวเราะ) แต่หลังจากเราเปิดก็เริ่มมีคาเฟ่ มีบาร์อื่นๆ ตามกันมา”

ก้องรับผิดชอบในส่วนของแนวคิดและการออกแบบ เมื่อเอาแนวคิดของร้านเป็นสารตั้งต้น เขามองว่าตัวร้านควรอยู่ในที่ที่อบอวลด้วยประวัติศาสตร์ จึงมาจบที่ซอยนานา ซึ่งตอนนั้นบ้านแต่ละหลังในซอยนี้ถูกพ่นสีสะเปะสะปะ และขึ้นป้ายให้เช่าเรียงรายกันเต็มไปหมด

ลูกค้าหลักของเทพบาร์คือชาวต่างชาติ อาจโชคดีที่ช่วงปีแรกเทพบาร์ได้ลงหนังสือต่างชาติมากมาย ทั้งตั้งใจและโดยบังเอิญ ก้องเล่าว่า วันดีคืนดีมีลูกค้าต่างชาติทักมาขอสัมภาษณ์เพื่อนำไปลง The New York Times ทำให้คนเริ่มแห่ตามกันมา 

ส่วนลูกค้าคนไทยในยุคแรกเริ่มก็เป็นคนทำงานด้านครีเอทีฟ หรือลูกค้าที่เข้าใจและให้คุณค่ากับ ‘คอนเซปต์’ เสียส่วนใหญ่ ซึ่งทำให้กลุ่มอื่นๆ ทยอยตามมาทำความรู้จักเทพบาร์ บาร์ที่จัดจ้านด้วยคอนเซปต์ความเป็นไทยเจ้าแรก จนนักเที่ยวได้เริ่มทำความเข้าใจความเป็นไทยในมุมมองของก้อง โดยไม่ต้องใช้เงินโปรโมตสักบาทเดียว

และคงเป็นความโชคดีในโชคร้าย ช่วงโควิด-19 ระบาด เทพบาร์ซึ่งมัดใจกลุ่มลูกค้าคนไทยไว้ได้อยู่หมัดตั้งแต่ขวบแรกที่เปิดร้าน ในวันที่ไร้เงาลูกค้าต่างชาติ จึงยังพอจะยืนได้ด้วยสองขาที่มี แต่อย่างไรก็ดี ใช่ว่าเทพบาร์จะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะนี่คือธุรกิจแรกที่ถูกรัฐบาลสั่งปิดเสียดื้อๆ

“เราเป็นธุรกิจแรกที่โดนห้ามขาย เจอวิกฤตกูโดนก่อน แต่ผ่อนคลายกูได้ทีหลังสุด (หัวเราะ) เราก็ต้องปรับตัวกันไป เราเริ่มด้วยการเอาเมนูที่ลูกค้าชอบในร้านมาทำเป็นข้าวกล่องเดลิเวอรี ต่อมาทำม็อกเทลที่เอากลับไปชงเองที่บ้านได้ 

“พอโดนปิดรอบ 2 เราก็คุยกันว่าจะเอายังไงต่อ เราก็นึกถึงหนังเรื่อง เจ็ดประจัญบาน เลยต่อยอดเป็นเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เข้ากับความต้องการของคนยุคนี้ที่รักสุขภาพ ออกมาเป็น ‘เทพฯ ชนะ Booster’ เครื่องดื่มสมุนไพร 7 ชนิด 7 สูตร ที่ใช้ชื่อล้อกับแคมเปญของรัฐบาล” ก้องไม่ทิ้งให้เวลาเสียไป แต่แก้เกมได้อย่างน่าสนใจ จนเทพบาร์พยุงตัวเองฝ่าวิกฤตมาได้อย่างมีชั้นเชิง

การที่คนทำมาหากินแต่ละเจ้าพาตัวเองมาพักพิงในย่านใดสักย่าน แน่นอนว่าคนเหล่านั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของย่านไปโดยปริยาย เทพบาร์เองก็เช่นกัน

“ก่อนพี่จะเปิดร้าน อย่างแรกเลยคือพี่ต้องทำความรู้จักย่านที่เราจะเข้ามาอยู่ในเชิงประวัติศาสตร์ จากที่ปกติพี่ไม่รู้เรื่องราวของมันเลย เช่นใกล้ๆ กับซอยนานา คือวงเวียน 22 กรกฎาคม มันเกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 รัชกาลที่ 6 มีพระราชประสงค์จะสร้างเครื่องแทนความหมายเรื่องความสัมพันธ์ เราก็ได้รู้ว่าถนนสามสายที่ตัดกันตรงนี้พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์หมดเลย คือถนนไมตรีจิตต์ ถนนมิตรพันธ์ และถนนสันติภาพ

“ต่อมาคือ ‘คน’ ที่ทำให้ย่านแต่ละย่านแตกต่างกัน ไม่ใช่แค่ซอยนานา แต่เมืองทุกเมือง ย่านทุกย่านมันมีเสน่ห์เพราะคน ไม่อย่างนั้นมันก็เป็นแค่ตึกรามทั่วไป ซึ่งถ้าวันนั้นเทพบาร์ไปเปิดที่อารีย์หรือทองหล่อ มันก็อาจจะไม่ใช่แบบนี้”

ก่อนโบกมือลาแสงไฟในบาร์แห่งนี้ไป ก้องแชร์ประเด็นหนึ่งให้ผมฟังอย่างน่าสนใจ คือเรื่องการเข้ามาในย่านดั้งเดิมของคนกลุ่มใหม่ ทำให้คนกลุ่มเดิมต้องโยกย้ายกันออกไป อย่างในประเทศไทย เห็นได้ชัดเลยว่าเวลาย่านไหนมีคนให้ความสนใจมากเข้า คนเข้ามาทำมาหากินมากขึ้น การใช้จ่ายดีขึ้น การท่องเที่ยวดีขึ้น มันจะตามมาด้วยนายทุน และนำมาซึ่งช่วงเวลาแห่งการผลัดใบสู่การเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา 

เราเห็นบาร์ที่เจ้าของเป็นฝรั่งเกิดขึ้น เราเห็นคาเฟ่ยุคใหม่อย่างกับหลุดออกมาจาก Pinterest ต่อให้ย่านนั้นยังมีคนเจเนอเรชันดั้งเดิมอยู่ แต่เจนฯ ต่อไปมันเกิดการเปลี่ยนแปลงแน่นอน ยิ่ง พ.ศ. นี้มีสถานการณ์โควิด-19 บวกเข้าไปด้วย เราอาจได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในแต่ละย่านที่ชัดขึ้นและเร็วขึ้นแน่นอน

ซอยนานาในอีก 50 – 60 ปี อาจจะไม่ใช่นานาแบบวันนี้…เยาวราชในวันข้างหน้า หน้าตาอาจจะเปลี่ยนไปจนคนรุ่นผมแทบจำไม่ได้ก็ได้

Writer

Photographer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.