‘หลงยุคหลุดสมัย’ รวมเรื่องสั้นสะท้อนสังคมไทย - Urban Creature

เมื่อปีก่อน ฉันได้มีโอกาสอ่านรวมเรื่องสั้นฉบับกะทัดรัดที่ทางสำนักพิมพ์แซลมอน ซึ่งเป็นผู้จัดพิมพ์ให้คำจำกัดความไว้ว่า ‘โปรเจกต์ซาชิมิ’ เนื่องจากมีชิ้นพอดีคำ เนื้อหาสดใหม่ และไม่มีการปรับแก้ต้นฉบับ

ชื่อของหนังสือคือ ‘หลงยุคหลุดสมัย’ โดย วัน รมณีย์ นักเขียนที่ฉันไม่เคยได้ยินชื่อ และเสิร์ชหาข้อมูลเท่าไหร่ก็ไม่เจออะไรไปมากกว่าการที่เขาเป็นนักเขียนลึกลับ ฝีมือจัดจ้านเท่านั้น

สามเรื่องสั้นที่ประกอบรวมในเล่ม อันได้แก่ จ๊ะเอ๋ บุษบา และหลงยุคหลุดสมัย ทำให้ฉันอดรู้สึกตะลึงพรึงเพริดไม่ได้ อาจเพราะฉันไม่ได้อ่านงานเขียนไทยแนวนี้มานานมากแล้ว หรือเพราะความสดใหม่ของไอเดียการนำเสนอเรื่องราวโดยนักเขียนก็ตาม สุดท้ายฉันเลือกบันทึกชื่อของ ‘วัน รมณีย์’ ไว้ลึกๆ ในใจ คาดหวังว่าถ้าเขาเขียนงานใหม่ออกมาเมื่อไหร่ ฉันจะไปขวนขวายหาอ่านให้ได้

หนังสือรวมเรื่องสั้น หลงยุคหลุดสมัย

จนกระทั่งฉันได้มาเจอ ‘หลงยุคหลุดสมัย’ ในอีกเวอร์ชันหนึ่งที่เป็นฉบับครบรอบสามสิบปี โดยสำนักพิมพ์ Anthill Archive ที่ออกมาช่วงปลายปีที่แล้ว (แต่ในหนังสือระบุว่า พิมพ์เมื่อธันวาคม 2595 ที่สื่อว่ามาจากอนาคต!) ความพิเศษของฉบับนี้คือ มีเรื่องสั้นเพิ่มจำนวนขึ้นอีก 9 เรื่อง รวมเบ็ดเสร็จเป็น 12 เรื่อง แถมยังมีกิมมิก Ways to Read สำหรับการไล่อ่านแต่ละเรื่อง แบ่งเป็นตัวเลือกของนักเขียนและบรรณาธิการอีกแน่ะ แต่สุดท้ายเราก็เลือกไล่อ่านตามหน้าหนังสือไปเรื่อยๆ ตามที่นักเขียนแนะนำ

ก่อนหยิบเรื่องสั้นบางเรื่องในเล่มมาพูดถึง เราขอสาธยายถึงความรู้สึกหลังอ่านหนังสือเล่มนี้จบก่อน แน่นอนว่าเรื่องราวภายในเล่มมีถึงสามเรื่องที่เราเคยอ่านไปแล้ว แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา เพราะการอ่านซ้ำครั้งนี้ทำให้เราเห็นรายละเอียดและเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสิ่งที่ตัวละครพบเจอได้มากขึ้น ลึกซึ้งขึ้น แม้จะผ่านการอ่านครั้งแรกมาไม่กี่เดือนก็ตาม

และกับบางเรื่องที่เพิ่งอ่านครั้งแรก ก็สร้างความประทับใจให้เราได้อย่างล้นเหลือ ยิ่งอ่านยิ่งสัมผัสถึงมวลรวมความขำขื่น ตลกร้าย และเจ็บแสบกับการหยิบเอา ‘ยุคสมัย’ โดยเฉพาะ ‘ความล้ำ’ และ ‘ความก้าวหน้า’ ของสังคมไทยมาบอกเล่า พร้อมชวนให้เราทบทวนและตั้งข้อสงสัย เพื่อทำความเข้าใจอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของดินแดนบ้านเกิด

แม้หลายเรื่องอาจดูไซไฟเกินจริง ดูไม่น่าเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้นี้ แต่ใช่ว่ามันจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากพิจารณาสถานการณ์ประเทศในห้วงขณะนี้ ในห้วงเวลาที่ค่าแรงขั้นต่ำต่ำเตี้ยเรี่ยดินสมชื่อ ในห้วงเวลาที่อะไรๆ ก็เทคโนโลยี AI จะเข้ามาแทนที่ ในห้วงเวลาที่เกิดตึกสูงระฟ้าล้ำหน้ามากมาย แต่บางคนยังไม่มีแม้แต่ที่ซุกหัวนอน

หนังสือรวมเรื่องสั้น หลงยุคหลุดสมัย
หนังสือรวมเรื่องสั้น หลงยุคหลุดสมัย

หลงยุคหลุดสมัย
นักเขียนผู้ทรงภูมิกับยุคสมัยที่ไม่รั้งรอ

“ใหม่ไม่ได้แปลว่าดี และสักแต่แปลกก็ไม่ได้แปลว่าสร้างสรรค์” (จากหน้า 21 – 22)

นี่คือเสี้ยวส่วนความนึกคิดของนายจรูณ สายจำเริญ นักเขียนอาวุโสผู้กำลังเผชิญชะตากรรมอันหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ ความล่มสลายของเส้นทางสายอาชีพวรรณกรรม กับการต้องมารับหน้าที่กรรมการตัดสินงานเขียนในรูปแบบสมัยใหม่ จนทำให้หวนนึกถึงความศักดิ์สิทธิ์และยุคสมัยอันเรืองรองของวรรณกรรมไทยที่ผ่านมา

ยุคสมัยที่มีนักเขียนผู้ทรงภูมิที่เก่งกาจ วรรณกรรมแบบดั้งเดิมที่ได้รับการสนับสนุนโดยศิลปินรุ่นใหญ่ หลักการเขียนภาษาไทยที่ห้ามบิดพลิ้ว เรื่องราวต้องเต็มไปด้วยความเป็นไทย น้ำเสียงสั่งสอนของใครสักคนที่แค่อยู่ในวงการมานาน ไปจนถึงรางวัลวรรณกรรมระดับประเทศที่บัดนี้ไม่มีใครสนใจเสียแล้ว

ยุคสมัยที่ใครจะเป็นนักเขียนก็ได้ สำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่พิมพ์งานของตัวเอง ใช้ถ้อยคำร่วมสมัยไทยคำภาษาต่างชาติคำ นิยายแชต แฟนฟิกชัน บทกวีบนดอกไม้ งานเขียนที่ตั้งต้นจาก AI ไปจนถึงแผ่นโค้ดดิงที่ให้อรรถรสของเหล่าตัวอักษรได้เพียงแค่วางบนลิ้น

หนังสือรวมเรื่องสั้น หลงยุคหลุดสมัย

ในฐานะที่ฉันพอติดตามแวดวงวรรณกรรมไทยมาบ้าง ด้วยการวางตัวเป็นนักอ่านนอกวงการที่บางทีก็มีโอกาสสนทนากับคนในวงการ ขอสารภาพว่าฉันอ่านเรื่องนี้ไปขำไปอย่างยั้งอาการไม่อยู่ เพราะมันดูบอกเล่าสถานการณ์ของโลกวรรณกรรมไทยได้อย่างไม่ไว้หน้า ทว่าตรงไปตรงมา

การปะทะกันของยุคสมัยน้ำหมึก (ที่ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็นแป้นพิมพ์) ขอบเขตของความเป็นนอก-ในวงการ ต้องเขียนเท่าไหร่ และต้องเป็นใครถึงจะนิยามตนว่าเป็นนักเขียนได้

อุ๊ย นี่แค่ไม่กี่เรื่องที่หยิบมาพูดนะเนี่ย

จงโต้เถียงกันไปเถอะ ยกให้วรรณกรรมไทยอยู่บนหิ้งกันเข้าไปเถอะ กีดกันกันเข้าไปเถอะ อย่างไรโลกก็ต้องเปลี่ยนไป และไม่ว่าจะกี่ชื่อเสียง กี่รางวัล กี่การการันตี ก็คงไม่สามารถหยุดยั้งอนาคตได้

“อย่ากลัวอนาคต” (หน้า 61)

หนังสือรวมเรื่องสั้น หลงยุคหลุดสมัย

วิไล
เทคโนโลยีน่ากลัวแค่ไหนก็ไม่เท่าใจคน

ในช่วงเวลาที่นวัตกรรม Smart Home หรือบ้านอัจฉริยะ กำลังเป็นกระแสมาแรง ชนชั้นกลางค่อนไปทางสูงที่พอมีเงินเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ก็เริ่มรับเทคโนโลยีเข้ามาภายในที่อยู่อาศัยของตัวเอง เพราะมั่นใจในประสิทธิภาพการใช้งาน ฟังก์ชันที่อำนวยความสะดวกสบาย ความปลอดภัยที่แน่นหนา และตามทันเทรนด์สังคม

สำหรับเรื่องสั้นลำดับที่ 4 นักเขียนหยิบเอาเรื่องนี้มาใช้ในการเล่าเรื่องด้วย โดยกำหนดให้ ‘วิไล’ อุปกรณ์สมาร์ตโฮมวัตถุทรงกลมที่ทำหน้าที่ตรวจตราความเป็นไปต่างๆ ภายในบ้านเป็นอีกหนึ่งตัวละครหลัก นอกเหนือจากสามีภรรยาคู่หนึ่งที่เพิ่งได้บ้านหลังใหม่ราคาย่อมเยามาครอบครอง เนื่องจากเจ้าของเดิมประสบโศกนาฏกรรม

แม้จะฟังดูไม่ชอบมาพากลไปบ้าง แต่การเป็นชนชั้นกลางที่อาศัยในบ้านเดี่ยวซึ่งเพียบพร้อมไปด้วยเทคโนโลยีล้่ำๆ ก็น่าจะทำให้คู่สามีภรรยาที่ใกล้จะมีสมาชิกใหม่เป็นลูกน้อยมีความสุข ถ้าไม่มีเรื่องมือที่สามของฝ่ายชายเข้ามาเสียก่อน

เรื่องราวดูจะเลวร้ายขึ้นเรื่อยๆ จากการเข้ามายุ่มย่ามของผู้หญิงอีกคนผ่านระบบ ‘วิไลพลัส’ ที่เธอมอบสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวทั้งหมด เพื่อทำให้อุปกรณ์สุดสมาร์ต ‘วิไล’ กลายเป็นตัวตนของเธอ 

และนั่นทำให้บ้านของคู่สามีภรรยาไม่เป็นของทั้งสองอีกต่อไป เมื่อมีใครอีกคนเร้นกายเข้ามาในระบบที่หล่อเลี้ยงบ้านทั้งหลัง

แม้พอเดาตอนจบได้นิดๆ แต่เรื่องราวที่ชวนติดตามราวกับเราอยู่ร่วมในสถานการณ์ด้วยก็ทำให้วางหนังสือไม่ลง ราวกับกำลังดูซีรีส์ไซไฟสยองขวัญในบริบทบ้านเมืองเราสักเรื่อง

แต่เอาเข้าจริง ที่ผ่านมาประชาชนอย่างเราๆ ก็ถูกเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายๆ อยู่แล้ว แถมคนที่ทำก็มีอำนาจจนไม่รู้จะไปไล่บี้กับใคร ต่อให้ไม่ได้อยู่ในสมาร์ตโฮมหฤหรรษ์ แต่บ้านหลังใหญ่ที่มีชื่อว่าประเทศไทยก็ดูไม่ปลอดภัยพอๆ กัน

บอกทีว่าฉันคิดไปเอง

ทวิช
ความทรงจำที่ถูกตกแต่งและทำให้หายไป

ในวันที่มนุษย์ยังตั้งคำถามคลาสสิกทั้งในเชิงโรแมนติกและปรัชญาว่า ‘หากให้เลือกหลงลืมความทรงจำได้ คุณจะเลือกทำมันไหม แล้วอยากลืมความทรงจำไหนที่สุด’ วัน รมณีย์ ก็พาเรามาสำรวจถึงประเด็นนี้ผ่านอาชีพนักตกแต่งความทรงจำและผู้ถูกลบความทรงจำบางส่วน

“คล้ายการตัดต่อฟุตเทจภาพยนตร์ แต่ฟุตเทจนั้นกระจัดกระจาย สับสน ปะปนยุ่งเหยิง เป็นงานที่ต้องอาศัยทักษะและความอดทนสูง ผมค่อยๆ ควานคว้าหาชุดความทรงจำที่ต้องการ หยิบวางลงตรงตำแหน่งอันเหมาะควร จากตัวเลือกนับหมื่นแสน ส่วนไหนไม่ต้องการก็ตัดทิ้ง ทั้งความโศก ทุกข์เศร้า สะเทือนใจ…” (จากหน้า 120)

ถ้อยคำเหล่านี้ทำให้เรารับรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของนักตกแต่งความทรงจำ ซึ่งเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย แต่สุดท้ายตัวละครในเรื่องที่ทำงานนี้ก็ต้องกลับไปประกอบวิชาชีพของเขาอีกครั้งหลังลาออกมา เพราะอาการทรอม่าที่ได้รับจากความทรงจำคนอื่นๆ

หนึ่งความแตกต่างจากเรื่องอื่นๆ คือ นักเขียนเล่าเรื่องผ่าน 3 มุมมองตัวละคร ได้แก่ นักตกแต่งความทรงจำ ทวิช ผู้เป็นอดีตนักโทษชายที่เพิ่งรับรู้ว่าตัวเองเคยก่อคดีร้ายแรงเอาไว้ และหญิงสาวคนหนึ่งที่ต้องการแก้แค้นทวิช

ความสนุกของเรื่องนี้คือการหักมุมไปมา และในขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงคนตัวเล็กที่ไม่มีอำนาจทำอะไร จนกลายเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจที่จะทดลองหรือทำอะไรตามใจชอบ ทั้งยังชวนตั้งคำถามถึง ‘ความทรงจำ’ และ ‘ตัวตน’ ที่อาจแยกออกจากกันไม่ได้

ในวันที่เรากลายเป็นคนอื่นอย่างที่คนอื่นอยากให้เป็นเสียแล้ว นั่นยังเป็นชีวิตของเราหรือไม่ ทวิชทำให้ฉันขบคิดถึงเรื่องนี้

นิชา
หญิงสาวในความทรงจำ

ที่จริงแล้วในเล่มยังมีอีกหลายเรื่องให้พูดถึง แต่เกรงว่าหน้ากระดาษจะยาวเกินไป และทำลายอรรถรสของผู้ที่อยากตามไปอ่านเสียก่อน ฉันจึงขอปิดท้ายด้วยเรื่องสั้นลำดับที่ 8

เรื่องนี้ว่าด้วยความทรงจำในวัยเด็กของชายคนหนึ่งที่แอบชอบ ‘นิชา’ เด็กผู้หญิงเรียนเก่งหน้าตาน่ารักประจำห้อง และในที่สุดก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับเธอ แต่ที่น่าประหลาดใจคือ มันมีเหตุการณ์แปลกๆ เกิดขึ้นด้วย

หลังจากแยกย้ายกันไปหลังเรียนจบ ชายหนุ่มก็ไม่เคยพบกับนิชาอีกเลย จนกระทั่งได้พูดคุยกับเพื่อนๆ ในวันกลับไปเยี่ยมโรงเรียนเก่า และพาให้เขากระจ่างแจ้งถึงความจริง

ในบรรดาเรื่องสั้นทั้งหมด ฉันคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สั่นสะเทือนหัวใจที่สุด และไม่บ่อยนักที่จะได้เห็นนักเขียนไทยหยิบเอาประเด็นนี้มาสื่อสาร มันทำให้ฉันหวนนึกถึงเรื่องราวของใครอีกหลายๆ คนที่เคยออกมาเล่าผ่านสื่อ ถึงวัยเด็กของตัวเองที่ถูกผู้ใหญ่เอาเปรียบและรังแกโดยไม่รู้ตัว

“ผมไม่แน่ใจว่าเธอรู้สึกอย่างไร แต่ก็พูดออกไปว่าบางที อาจไม่ใช่เพราะการเป็นผู้หญิง ที่ทำให้เธอต้องพบเรื่องเลวร้าย ด้วยผมเอง ซึ่งเป็นผู้ชาย ก็รู้สึกว่าชีวิตตัวเองเลวร้ายเหมือนกัน บางที…บางทีนะบางที อาจไม่ใช่เพราะเราเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย มันอาจเป็นเพราะคนอื่นต่างหากที่เลือกใจร้ายกับเรา” (หน้า 217)

ฉันหวังเหลือเกินว่า ถ้าคนโตแบบเราๆ ไม่สามารถเป็นคนดี เลี้ยงดูเด็กๆ ด้วยความโอบอ้อมอารีได้ 

ก็อย่าไปเป็นความชั่วร้ายในชีวิตของพวกเขาเลย

หนังสือรวมเรื่องสั้น หลงยุคหลุดสมัย

Writer

Photographer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.