การรับมือและนโยบายป้องกันประชากรจาก Heat Wave - Urban Creature

“เขาว่ากันว่า ประเทศไทยมีสามฤดูคือ ร้อน ร้อนมาก ร้อนที่สุด” นี่คือคำพูดประชดประชันที่สะท้อนถึงความร้อนระอุของอากาศประเทศไทยที่เราไม่อยากชินชา แต่อุณหภูมิที่สูงขึ้นทุกปีนั้นไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เนื่องจากปัญหาอากาศร้อนสามารถส่งผลต่ออารมณ์และสภาพสังคม ซึ่งในปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบปัญหาอุณหภูมิสูงขึ้นอย่างผิดปกติ และหนึ่งในสาเหตุหลักคือ ‘Heat Wave’ หรือคลื่นความร้อน

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO) ได้กำหนดนิยามของคลื่นความร้อนว่า ภาวะที่อุณหภูมิสูงสุดประจำวันเกินค่าอุณหภูมิสูงสุดโดยเฉลี่ยประมาณ 5 องศาเซลเซียส ติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน

แน่นอนว่าในบรรดาประเทศที่เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว ล้วนได้รับผลกระทบมากมายจากความร้อนที่สะสมในพื้นที่ โดยเฉพาะในยุโรปและเอเชียที่เกิดความผิดปกติของอุณหภูมิอากาศค่อนข้างมาก ทำให้ในแต่ละปีจะมีผู้คนเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคที่เกี่ยวข้องกับความร้อน (Heat-related Illness) เป็นจำนวนไม่น้อย เนื่องจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิที่สูงขึ้นอย่างฉับพลันได้ ทำให้ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ที่เพิ่มสูงขึ้น

Heat Wave คลื่นความร้อน อากาศร้อน วิธีการรับมือ นโยบายป้องกัน heat stroke หน้าร้อน

นอกจากนี้ยังพบว่าในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อน ประชาชนในหลายพื้นที่มีอัตราการใช้พลังงานสูงขึ้น เพราะต้องใช้เครื่องปรับอากาศทำความเย็น จนส่งผลให้บางพื้นที่ประสบปัญหาขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า อีกทั้งปัญหาคลื่นความร้อนยังส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรเสียหายในปริมาณมาก รวมถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์อีกด้วย 

จากที่กล่าวมาข้างต้น เราจะเห็นว่าปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อผู้คนทั้งในด้านสังคมและเศรษฐกิจ นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หลายประเทศทั่วโลกจำเป็นต้องประกาศนโยบายและแนวทางการแก้ไขเพื่อรับมือกับคลื่นความร้อนที่รุนแรงขึ้นทุกปีๆ

Heat Wave คลื่นความร้อน อากาศร้อน วิธีการรับมือ นโยบายป้องกัน heat stroke หน้าร้อน

นโยบายมาตรการรับมือคลื่นความร้อนจากทั่วโลก

คลื่นความร้อนสร้างปัญหาให้เมืองมากกว่าแค่ทางความรู้สึก เพราะมันส่งผลถึงทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ รวมไปถึงปัญหาด้านพลังงาน ทำให้หลายประเทศสร้างแผนรับมือคลื่นความร้อน ซึ่งประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานรัฐบาลต่างๆ

ยกตัวอย่าง ประเทศฝรั่งเศส ที่มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทั้งการสร้างอาคารทนความร้อน โดยเฉพาะสถานที่สาธารณะ เช่น โรงพยาบาลและโรงเรียน เพื่อให้แน่ใจว่าอาคารเหล่านี้เย็นสบายและเป็นที่หลบภัยจากคลื่นความร้อน หรือการจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวระหว่างเกิดคลื่นความร้อน โดยนำเสนอพื้นที่สาธารณะที่มีเครื่องปรับอากาศหรือระบบทำความเย็นอื่นๆ ให้ผู้คนหลบร้อน

หรือประเทศออสเตรเลีย ที่มีการวางแผนผังเมืองรวมถึงปลูกต้นไม้เพื่อร่มเงาและลดผลกระทบจากการสะสมความร้อนในเมือง ซึ่งช่วยลดความร้อนในเมืองโดยรวมและทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้นในช่วงคลื่นความร้อน รวมทั้งการตั้งศูนย์พักผ่อนหย่อนใจชั่วคราวในช่วงเกิดคลื่นความร้อน เพื่อเป็นพื้นที่ปรับอากาศให้ผู้คนหลบหนีจากความร้อนได้

นอกจากแผนการป้องกันจากภายนอกแล้ว การรณรงค์แคมเปญต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันตัวจากคลื่นความร้อน ก็เป็นส่วนที่สำคัญไม่แพ้กัน

Heat Wave คลื่นความร้อน อากาศร้อน วิธีการรับมือ นโยบายป้องกัน heat stroke หน้าร้อน

แคมเปญสร้างความตระหนักรู้และการป้องกันโรคทางความร้อน

ในหลายประเทศมีการจัดตั้งแคมเปญให้ข้อมูลสาธารณะเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคจากความร้อน รวมทั้งอธิบายถึงอันตรายและวิธีการอยู่รอดปลอดภัยในช่วงเกิดคลื่นความร้อน อย่างในประเทศอินเดียก็มีแคมเปญสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนในเรื่องการป้องกันตัวเองในช่วงที่อากาศร้อนผิดปกติ 

แคมเปญที่ว่านั้นคือ ‘Beat the Heat’ ที่รณรงค์ให้ประชาชนดื่มน้ำมากๆ สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่อากาศร้อนจัด ตรวจสอบดูแลกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้มีปัญหาสุขภาพ ส่วนอีกแคมเปญคือ ‘Jal Shakti Abhiyan’ ที่มุ่งเน้นไปที่การอนุรักษ์น้ำ จัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างแหล่งน้ำสำรองเพื่อให้ประชาชนมีน้ำสะอาดเพียงพอสำหรับการบริโภคในช่วงอากาศร้อน

Heat Wave คลื่นความร้อน อากาศร้อน วิธีการรับมือ นโยบายป้องกัน heat stroke หน้าร้อน

ประเทศไทยเองก็มีการรณรงค์ป้องกันตนเองจากความร้อนเช่นกัน จากทั้งโรงพยาบาลต่างๆ และกรมอุตุนิยมวิทยาที่ออกมาเตือนในช่วงเวลาที่อากาศร้อนจัดทุกปี ซึ่งแม้บ้านเราจะอากาศร้อนราวกับอยู่ในนรกอย่างที่หลายคนพูดกัน ไทยก็ยังไม่เคยเผชิญหน้ากับคลื่นความร้อนตรงๆ แต่เกิดจากปัญหาอื่นที่ส่งผลระยะยาวต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นทั่วทั้งโลกอย่างภาวะโลกร้อน

คลื่นความร้อนที่อาจกระทบประเทศไทยในอนาคต

ทำไมประเทศไทยถึงร้อนขนาดนี้!? นัยตรงอาจเป็นคำถาม แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นคำบ่นที่ทุกคนล้วนระบายออกมาเป็นประจำเวลาต้องเดินกลางแดด

ถึงอย่างนั้นเราก็อยากอธิบายให้ฟังว่า สภาพอากาศที่ร้อนจัดในช่วงฤดูร้อนของไทยมาจากความร้อนจากความกดอากาศต่ำปกคลุมอย่างต่อเนื่อง มีการสะสมของความร้อน ประกอบกับการตั้งฉากของดวงอาทิตย์ ทำให้รับแสงเป็นจำนวนมากและมีแดดแรง ส่วนเรื่องของคลื่นความร้อนในประเทศไทย เท่าที่ผ่านมายังไม่เคยมีรายงานว่ามีพื้นที่ใดในประเทศมีอุณหภูมิอากาศเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติอย่างรวดเร็วจนเกิดเป็นคลื่นความร้อน

เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีมวลอากาศร้อนจัด ไม่มีทะเลทราย แต่มีพื้นที่อยู่ใกล้ทะเลจึงได้รับความชื้นเข้ามาปกคลุม ประกอบกับได้รับอิทธิพลจากลมต่างๆ ที่พัดปกคลุมพื้นที่ตลอดปี อีกทั้งยังได้รับมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนที่แผ่ลงมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดฝนตก ดังนั้นโอกาสที่จะมีความร้อนสะสมในพื้นที่จนเกิดคลื่นความร้อนนั้นเป็นไปได้น้อย

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านโลกร้อนของไทยบางคนได้ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยอาจมีโอกาสเกิดคลื่นความร้อนได้ในอนาคตเช่นกัน เนื่องจากปัญหาภาวะโลกร้อนที่ทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นทุกปีอย่างน่ากังวล และสภาพอากาศแปรปรวนทั่วโลกที่ประเทศไทยต้องเตรียมรับมือ

Heat Wave คลื่นความร้อน อากาศร้อน วิธีการรับมือ นโยบายป้องกัน heat stroke หน้าร้อน

ทุกวันนี้ที่ประเทศไทยมีอุณหภูมิร้อนจัด ส่วนหนึ่งเพราะปรากฏการณ์เอลนีโญที่ทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังทวีปอเมริกาใต้ ส่งผลให้บ้านเราขาดฝนและเกิดความแห้งแล้ง แต่ส่วนหลักคือการมีความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศสูง ซึ่งทำให้เรารู้สึกร้อนกว่าอุณหภูมิจริง เช่น ถ้าอากาศอุณหภูมิ 36 องศาเซลเซียส แต่มีความชื้นสัมพัทธ์ 40 เปอร์เซ็นต์ ร่างกายเราจะรู้สึกถึงอุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส เพราะอัตราการระเหยของเหงื่อลดลง ทำให้การระบายความร้อนแย่ลงตามไปด้วย วิธีป้องกันคือดื่มน้ำมากๆ สวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆ ระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่อากาศร้อนจัด และลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ลองคิดภาพประเทศไทยที่ปัจจุบันยังร้อนขนาดนี้ ถ้าเกิดได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อนเข้าไปอีก การใช้ชีวิตนอกบ้านคงเป็นเรื่องที่ต้องกลับมาครุ่นคิดอีกครั้ง ดังนั้นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อลดอุณหภูมิของโลกและแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนให้ได้เร็วที่สุด

Heat Wave คลื่นความร้อน อากาศร้อน วิธีการรับมือ นโยบายป้องกัน heat stroke หน้าร้อน

Sources :
Ecologie Gouv | bit.ly/4aMwmGx
Pib Delhi | bit.ly/4b8yXKV
SciJinks | bit.ly/3wa2pkT
SciMath | bit.ly/3QgMVSQ
Thai PBS | bit.ly/3WiJ2Rr
World Health Organization | bit.ly/3WaG8xS

Writer

Graphic Designer

SEND YOUR STORY

REQUEST INTERVIEW

ติดตามอ่าน “Urban Creature”
นิตยสารออนไลน์ที่จะทำให้คุณรักเมืองที่คุณอยู่ รักตัวเองมากขึ้นด้วยการเปิดมุมมองและนำเสนอแนวทางการใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ และสร้างแรงบันดาลใจใหม่ๆ ในการใช้ชีวิต
Better Life. Better Living.

Max. file size: 256 MB.